02 ก.พ. 2568 | 16:45 น.
KEY
POINTS
แสงแดดยามเช้าสาดส่องผ่านหมอกบาง ๆ ที่ลอยอยู่เหนือยอดดอย ณ หมู่บ้านบ้านยาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อันจุดเริ่มต้นของเส้นทางการพัฒนาที่ไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ชื่อ ‘ดอยคำ’ แบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พนักงาน หรือผู้บริโภค ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
“ตื่นเช้ามา ผมอยากมาทำงานทุกวัน” พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หรือ ‘พี่พงษ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ตอบคำถามที่เราถามว่า “ความสุขจากการทำงานที่ดอยคำคืออะไร?” ระหว่างพาเราเดินชมแปลงสาธิต ไม่ห่างจากโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ที่ยืนหยัดผลิตสินค้าคุณภาพมากว่า 30 ปี “ทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองโรงเรือนหรือวิธีการปลูกแบบใหม่ ๆ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เกษตรกร นำไปสู่รายได้ที่สูงขึ้น เพราะเราเชื่อว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเติบโตไปด้วยกัน”
การเติบโตที่ว่านี้กำลังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย ซึ่งในอนาคตอันใกล้ อาจเปลี่ยนโฉมไปเป็นพิพิธภัณฑ์และที่พัก เนื่องจากชุมชนขยายตัวประชิดโรงงานมากขึ้น ทำให้การผลิตในช่วงกลางคืนเป็นไปได้ยากเพราะเสียงรบกวน “เราต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป” พี่พงษ์อธิบาย
การย้ายโรงงานไปยังตำบลจันจว้านี้ ไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อรองรับการขยายตัวและปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพ โดยเฉพาะกระแสการลดการบริโภคน้ำตาล “เราต้องฟังผู้บริโภคตลอดเวลาและปรับตัวตามตลาด” พี่พงษ์เน้นย้ำ พร้อมเล่าถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญจากตลาดน้ำผลไม้ที่หดตัว “โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้คนหันมาดื่มน้ำผลไม้แทนการกินวิตามินเม็ด”
ความท้าทายนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อดูจากข้อมูลของบริษัทวิจัยเนลสัน ที่ชี้ว่าน้ำผลไม้ 100% มียอดขายลดลง ในขณะที่เครื่องดื่มที่ใช้สี กลิ่น และน้ำตาล กลับมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอีโคโนมี ส่วนสินค้าพรีเมียมและระดับกลางกลับมียอดตกลง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายนี้ ผลิตภัณฑ์ 5 อันดับแรกของดอยคำที่ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลมะเขือเทศ โดยเฉพาะน้ำมะเขือเทศโลโซเดียม น้ำมะเขือเทศ 99% รวมถึงน้ำผึ้งและผลไม้อบแห้งอย่างมะม่วง ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่ายังมีผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพอยู่ไม่น้อย
การรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลเกษตรกร ระหว่างพาเราเยี่ยมชมไร่สตรอว์เบอร์รีบนพื้นที่ลาดเชิงเขา พี่พงษ์เล่าว่า “เราไม่ได้แค่ซื้อผลผลิต แต่ให้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรด้วย เราไม่ได้เดินนำหน้าชุมชน แต่เราเดินเคียงข้างไปด้วยกัน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เราอยู่เคียงข้างเกษตรกรตลอด และรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม เพราะเราเชื่อว่าความยั่งยืนต้องเริ่มจากคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร”
แนวคิดเรื่องความยั่งยืนนี้ยังนำไปสู่การปรับโมเดลธุรกิจในหลายด้าน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการรวมกลุ่มคัดแยกเสาวรส แทนที่จะขนผลเสาวรสทั้งลูกเข้าโรงงาน เกษตรกรจะแยกเนื้อออกจากเปลือกก่อน “เดิมเปลือกเสาวรสเป็นขยะถึง 65% เท่ากับว่าเราขนขยะมาเปลืองน้ำมัน แต่ตอนนี้เปลือกถูกนำไปเลี้ยงโคนมใต้ถุนบ้าน ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม”
นอกจากการพัฒนาในประเทศ ดอยคำยังได้รับแรงหนุนจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา ส่งผลให้ยอดขายผลไม้อบแห้งเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน แม้ยอดขายน้ำผลไม้ในประเทศจะลดลง แต่ตลาดต่างประเทศกลับเติบโต โดยเฉพาะในเกาหลี ที่สั่งน้ำมะเขือเทศไปถึง 10 ตู้คอนเทนเนอร์ในปีที่ผ่านมา
การขยายตัวนี้ยังสอดรับกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก คือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากวัตถุดิบในประเทศอย่างต่อเนื่อง “เราพยายามใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากที่สุด แม้แต่ส้มยูซุก็ปลูกในเมืองไทย รวมถึงกะท้อน มะขาม” พี่พงษ์เล่าถึงกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม “เรามีโครงการรับคืนกล่องน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพร โดยให้เงินคืนชิ้นละหนึ่งบาทในการแลกซื้อสินค้า ตั้งเป้าไว้ปีละ 25 ล้านชิ้น” อีกทั้งยังเตรียมวางจำหน่ายมะเขือเทศสดในบรรจุภัณฑ์กระดาษรีไซเคิลที่ห้างชั้นนำในเร็ว ๆ นี้
“เราคิดเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต ทั้งการใช้พลังงานในการขนส่ง การจัดการของเสีย และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทุกอย่างต้องคำนึงถึงอนาคตของประเทศ” พี่พงษ์กล่าว และเมื่อถามถึงการสานต่อโครงการเหล่านี้ในอนาคต เขายิ้มก่อนตอบว่า
“ผมอาจจะเกษียณจาก day-to-day operation แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องส่งต่อคือหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นตัวกำหนดทุกอย่างในดอยคำ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์องค์กร วิธีปฏิบัติ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของคนดอยคำ ทุกอย่างล้วนยึดโยงกับหลักการที่พระองค์ทรงสอน”