รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’

รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’

รวมภาพบรรยากาศการเสวนาจากงาน ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’ พร้อมสรุปเนื้อหาจากผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 4 ท่าน ที่ประกอบไปด้วย ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า, ธนากร ท้วมเสงี่ยม, ว่าที่ ร.ต.ประยุทธ เสตถาภิรมย์ และ ดวงพร ทรงวิศวะ


Hang Over Forum เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน” วงเสวนาโดย The People ที่มาพร้อมแง่มุมอันหลากหลายเกี่ยวกับความแฟร์ของกรอบกฎเกณฑ์อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอาไว้ผ่าน ‘ภาษี’ ที่เกี่ยวโยงกับสิทธิเสรีภาพในความเมาของผู้บริโภคและความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในฝั่งของผู้ผลิตจากการควบคุมภาษีอันลักลั่นจากรัฐ เพื่อเป็นการถกหาแนวทางและโอกาสในวันข้างหน้า พร้อมหาวิธีขจัดอุปสรรคที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมความเมาอยู่ในปัจจุบัน

ในการที่จะกล่าวถึงเนื้อหาหรือถกถึงปัญหาให้ลึกถึงแก่นอย่างรอบด้าน ผู้ร่วมเสวนาในงานนี้จึงประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝั่งของผู้ผลิตอย่าง ‘ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า’, ตัวแทนจากผู้บริโภค ‘ธนากร ท้วมเสงี่ยม’, ตัวแทนจากรัฐ ‘ว่าที่ ร.ต.ประยุทธ เสตถาภิรมย์’ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านโภชนศาสตร์ ‘ดวงพร ทรงวิศวะ’ ที่ทั้งหมดได้ผสานรวมกัน จึงทำให้เกิดเป็นเสียงการเสวนาที่มีความสมดุลและจะช่วยเขยื้อนให้ความเมาของชาวนักดื่ม…เท่ากัน

โดยการเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 เวลา 13.30 - 16.00 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์ (Crystal Box) ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท (Gaysorn Urban Resort) แยกราชประสงค์ พร้อมถ่ายทอดบรรยากาศงานเสวนาผ่านทั้งช่องทางเฟซบุ๊กและยูทูบของ The People 

รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’

ก่อนที่การเสวนาจะเริ่มขึ้น ‘ธนพงศ์ พุทธิวนิช’ บรรณาธิการบริหาร The People ก็ได้ก้าวขึ้นเวทีเพื่อกล่าวเปิดงานพร้อมทั้งบรรยายถึงวัตถุประสงค์การจัดเสวนาครั้งนี้ว่าเพราะอะไร…ความเมาของเราชาวไทยถึงไม่เท่ากัน

ด้วย The People เป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องราวของ ‘คน’ ผ่านบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของการกินดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มักจะเป็นประเด็นอ่อนไหวอยู่เนือง ๆ

เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งผืนโลก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และวิถีชีวิตของประชาชนคนไทย ดำเนินคู่กันมาอย่างแยกไม่ออก จากอดีตเป็นเพียงบริโภคเพื่อการอยู่รอดและเริงรมย์ พัฒนาสู่ยุคปัจจุบันที่เกี่ยวโยงอย่างสำคัญกับเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในทำเนียบนักดื่มลำดับที่ 41 ของโลก เรียงได้จากสุรา เบียร์ และไวน์ ตามลำดับ โดยธนพงศ์ได้กล่าวว่าตัวเลขที่ก่อเกิดเป็นสถิตินี้ถือเป็นทั้ง ‘โอกาส และความท้าทาย

โอกาส ในที่นี้คือโอกาสของคราฟต์เบียร์และสุรากลั่นพื้นบ้านไทย ในวันนี้ที่กระแสความเป็นท้องถิ่นกำลังเป็นเอกลักษณ์ และจุดขายสำคัญของ Soft Power อย่างโซจู ที่ถูกหอบหิ้วไปกับอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีเพื่อสื่อสารกับโลก

ในส่วนของความท้าทายนั้น คือการลดอัตราการดื่ม หรือลดนักดื่มหน้าใหม่ ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของกำแพงภาษี ซึ่งเปรียบเสมือนสองด้านของเหรียญ ที่กำลังกลายเป็นความคาดหวังและคำถาม 

ความคาดหวัง’ ของหลาย ๆ คนที่ต้องการผลักดันเบียร์และสุราไทยให้ไปไกลสู่ระดับสากล ที่กำลังพยายามปีนกำแพงภาษีเท่าที่แรงของตัวเองจะเอื้ออำนวย ‘คำถาม’ ถึงการคำนวณภาษีตามดีกรีที่จะเป็นอีกแรงหนุนที่ทำให้เกิดความหลากหลาย และแรงขับเคลื่อนให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ มาพัฒนาคุณภาพของวงการ เพราะประเทศไทยนั้นยังไม่ได้พัฒนายกระดับวิธีการเก็บภาษีให้เทียบเคียงประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ที่กำกับดูแลโดยใช้หลักเกณฑ์ของปริมาณแอลกอฮอล์เป็นตัวตั้ง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับผู้ค้า และผู้ผลิตรายย่อย จึงเป็นที่มาในการจัดงานวันนี้เพื่อให้ผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการมองไปที่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเพื่อสุขภาพ โอกาสทางเศรษฐกิจที่มีเอกลักษณ์และเท่าเทียม

คำถาม’ นี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากปริมาณการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น เบียร์ที่มีระดับแอลกอฮอล์ประมาณ 4 - 7% แต่กลับถูกเก็บภาษีสูงที่สุด 22% ในขณะที่เครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีระดับแอลกอฮอล์น้อยกว่ากลับถูกจัดเก็บภาษีในระดับที่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มประเภท ‘Ready to Drink’ (RTD) ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 4 - 10% แต่ถูกจัดเก็บภาษีเพียง 10% หรือเหล้าสีและเหล้าขาวที่มีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับ 28 - 40% แต่กลับถูกเก็บภาษีเพียง 20% และ 2% ตามลำดับ

ซ้ำเติมคำถามที่ค้างอยู่ภายในใจของใครหลายคน จากการที่เครื่องดื่มซอฟต์ดริ๊งค์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ แต่กลับถูกเก็บภาษีประมาณ 14% ที่นับว่ามากกว่าเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์บางชนิดเสียด้วยซ้ำ…

งานเสวนาในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลประการหนึ่งเพื่อพูดคุยคลายข้อสงสัยถึงมาตรการการเก็บภาษีดังที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งถกหาทางออกในอนาคตของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านแง่มุมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อที่วันหนึ่งจะทำให้ความเมาของเราทุกคนเท่ากัน

 

รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’

ผู้เสวนาท่านแรกคือ ‘ธนากร ท้วมเสงี่ยม’ ตัวแทนจากกลุ่มประชาชนเบียร์ ที่จะมาขึ้นเวทีเสวนาจับไมค์เป็นตัวแทนเสียงของประชาชนนักดื่มและผู้ผลิตอีกนับพันแบรนด์ที่มีต่อกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่เสมือนว่าเป็นการ ‘กีดกัน’ มากกว่า ‘ส่งเสริม’ หรือ ‘สนับสนุน’ ให้ธุรกิจเล็ก ๆ ได้เติบโต หรือประชาชนได้มีทางเลือก

เราอยู่ในสังคมที่มองว่าเป็นเรื่องผิดปกติมานานจนเกินไปแล้ว นานจนถึงขนาดที่แม้แต่การพูดว่าเหล้าเบียร์อร่อยก็ผิดกฎหมาย… มันเพราะอะไร?

ธนากรมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกตีตราว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายในสังคม ถูกป้ายสีเหมารวมว่าเป็นเครื่องดื่มคู่เคียงกับคนไม่ดี จากวัฒนธรรมและความเชื่อก็ได้หล่อหลอมกลายเป็นกฎเกณฑ์จนถึงขั้นที่ว่าการเอ่ยชมว่า ‘เบียร์อร่อย’ ก็กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายได้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดื่มกินเพื่อเมาเพียงอย่างเดียว จริง ๆ เราก็มองว่ามันเกี่ยวกับทุกภาคส่วนเลย เรามองว่ามันเกี่ยวกับเรื่องการเมือง การปกครอง เราสามารถใช้สุราเป็นตัวเชื่อมประสานในกลุ่มคนในวงเดียวกัน เพื่อพูดในเรื่องเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถพูดสิ่งที่อยู่ในใจเราแล้วไม่กล้าพูด ถ้ายังไม่เมา ถ้าเมาก็จะออกไปเยอะกว่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเสียที่ปรากฏอันเป็นผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มคือข้อเท็จจริงที่เห็นกันอย่างประจักษ์ชัด แต่สิ่งที่ธนากรอยากจะชี้ให้เห็นคือการที่สังคมไทยไฮไลต์เพียงด้านมืดของมันเสียจนข้อดีทั้งหมดถูกกลบมิด จนกลายเป็นว่าเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นวายร้ายที่ไม่มีใครควรข้องแวะ ถึงกระนั้นจุดมุ่งหมายก็หาใช่ว่าจะชูเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ดีเลิศไร้พิษภัย เพียงแค่อยากให้รัฐมองมันจาก ‘ความไม่ปกติ’ ให้กลายเป็น ‘ความปกติ’ ดังที่มันควรจะเป็น

นักดื่มหน้าใหม่’ หรือการที่จะมีประชาชนเปิดประตูเข้าสู่วังวนการดื่มเพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลที่ภาครัฐหวังจะแก้ไข ธนากรได้กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า

มันเป็นสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้ในสังคมโลกมนุษย์ มันหนีไม่พ้น… แล้วการที่คุณไปแตะมันนิดหนึ่ง มันไม่ได้ทำให้คุณตาย มันไม่ได้ทำให้เมา ไม่ได้ทำให้ติดด้วย

ตัวแทนจากประชาชนเบียร์กล่าวอย่างมั่นใจว่าประเด็นดังกล่าวไม่ควรเป็นเรื่องที่รัฐควรกังวลถึง เพราะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนที่ก้าวเข้าสู่อายุ 20 ปีบริบูรณ์ พวกเขามีสิทธิ์อย่างถูกต้องที่จะเลือกดื่มแอลกอฮอล์ และแตกต่างจากยาเสพติด ธนากรชี้ว่าคนเราไม่สามารถติดแอลกอฮอล์ได้ด้วยการลิ้มลอง หากคนที่ไม่ต้องการจะดื่ม คะยั้นคะยอบุคคลเหล่านั้นก็ไม่ดื่ม

นอกจากนั้นธนากรยังได้เอ่ยถึงความไม่สมเหตุสมผลของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการบริโภคของประชาชนเกินความจำเป็น หรือว่ากติกาที่ไม่เป็นธรรมสำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้จนทำให้ผู้ครองตลาดมีเพียงไม่กี่รายในประเทศ

ก่อนจะมีผู้ที่ถือกฎหมาย มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่ถูกบ่มเพาะมาจากศาสนาส่วนหนึ่ง เพราะมันผิดศีลธรรม เรายึดโยงตรงนั้นมาเขียนกฎหมายต่อ แล้วก็เป็นแนวทางนโยบายของรัฐที่ทำให้บังคับใช้ได้อย่างเปิดกว้าง เราก็นำมาเปิดใช้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนไปเลย ผมว่ามันเลยเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ศาสนา ลามไปจนถึงกฎหมาย มันจะเป็นสามสิ่งแรกที่เราจะต้องเริ่มแก้ก่อน

 

รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’

ผู้เสวนาท่านถัดไปเดินทางมาพร้อมกับความรู้ด้านโภชนศาสตร์อยู่เต็มกระเป๋า พร้อมก้าวขึ้นเวทีเพื่อแบ่งปันและช่วยเคล้าบทสนทนาในวงเสวนาให้มีรสชาติเพิ่มขึ้น เธอคนนั้นคือ ‘ดวงพร ทรงวิศวะ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์ และพิธีกรรายการกินอยู่คือ

โดยประเด็นแรกที่เธอกล่าวถึงคือรากเหง้าของ ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่บรรพกาล แต่ไม่ใช่เพราะเพื่อสังสรรค์เมามายเป็นหลักดังภาพจำในปัจจุบัน แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริโภคเพื่อมีชีวิตอยู่รอดจากเชื้อโรคที่แฝงตัวอยู่ในน้ำดื่มที่ยังไม่ถูกฆ่าเชื้อ นอกจากนั้นในหลาย ๆ วัฒนธรรมยังถูกพัฒนากลายเป็นยารักษาโรคอีกด้วย

ดวงพรชี้ให้เห็นที่มาที่ไปของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อที่จะให้เห็นภาพใหญ่ในการเดินทางของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางวัฒนธรรมและสังคม หาได้เป็นแค่เครื่องดื่มที่อุบัติขึ้นเพื่อเมามายมนุษย์เพียงอย่างเดียว การมองเช่นนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าในแง่ของ ‘ภูมิปัญญาทางอาหาร’ หรือ ‘Culinary Heritage’ ที่เราไม่ควรละลายทิ้งเพียงเพราะข้อเสียบางประการของมัน

เฉกเช่นเดียวกับในกรณีของธนากร สิ่งที่ดวงพรพยายามจะสื่อไม่ใช่การเชิดชูเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเมินข้อเสียที่ตามมาของมัน ในฐานะนักโภชนศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการบริโภคอาหาร เธอทราบดีถึงผลร้ายที่ตามมาไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว แต่เธอมองว่าวิธีการต่อกรของรัฐต่อสิ่งเหล่านี้โดยการปิดกั้นไม่ให้มี ‘นักดื่มหน้าใหม่’หรือห้ามไม่ให้ประชาชนของตนข้องแวะกับสิ่งเหล่านี้ผ่านเจตนาที่กล่าวอ้างว่า ‘หวังดี’ คงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่เป็น ‘โภชนปัญญา’ หรือ ‘Food Literacy’ เสียมากกว่า

คำว่านักดื่มหน้าใหม่เราอาจจะตั้งประเด็นผิด เพราะสุดท้าย…อย่างไรเราก็ต้องดื่ม แต่เราจะทำอย่างไรให้คนดื่มทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าดื่มอย่างมีความรับผิดชอบมากกว่า มีสติ มีความรับผิดชอบ ตอนนี้ FAO (องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ) เขามีคำออกมาว่า ‘Food Literacy’ แปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า ‘โภชนปัญญา’ คือปัญญาในการกินและดื่ม

ท้ายที่สุดในฐานะนักโภชนศาสตร์ ดวงพรกล่าวถึงเรื่องการเก็บภาษีว่า เครื่องดื่มที่ประชาชนจะจับจ่ายและบริโภคควรจะ ‘แพงเพราะคุณภาพ’ หาใช่ ‘ภาษี’ เพราะแม้จะเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้คนก็ต้องเมาเป็นเรื่องธรรมดาอยู่ดี ดังนั้นถ้าจะเมาทั้งที ประชาชนก็ควรได้ ‘เมาอย่างมีคุณภาพ’ จาก ‘สินค้าที่มีคุณภาพ’ ส่วนในแง่ผลกระทบที่ตามมาก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปลูกฝังโภชนปัญญาและให้ความรู้ประชาชนอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ใช้วิธีปิดหูปิดตาและชี้โทษว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งเลวร้าย

 

รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’


ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า’ เจ้าของ CHIT BEER แบรนด์คราฟต์เบียร์ไทยบนเกาะเกร็ด คืออีกหนึ่งผู้เสวนาที่ขึ้นเวทีในฐานะเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยโดยตรง โดยเขาเชื่อว่าวัฒนธรรมการเมาจากอดีตถึงปัจจุบันยังคงไม่เลือนหายไป หาได้ต่างจากในอดีต เพียงแต่กรอบกฎหมายทำให้ประชาชนเมาได้น้อยแบบ แทนที่จะมีทางเลือกหลากหลายดังที่ควรจะเป็น เพราะมีเพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน

ผมต้องการเห็นออปชัน เห็นทางเลือก เพราะถ้าเราเมาแต่ของเดิม ๆ ผมเชื่อว่ามันไม่ส่งกับคุณภาพ มันจะลดคุณภาพลง เพราะเรารู้ดีว่าจุดนวัตกรรมต่าง ๆ มันอยู่ที่รากฝอย ความคิดสร้างสรรค์ มันอยู่ที่คนตัวเล็ก ๆ แต่วันนี้คนตัวเล็ก ๆ ได้รับโอกาสหรือเปล่า นั่นหมายความว่าคนที่ไม่ได้รับโอกาส โอกาสที่จะเกิดนวัตกรรม คนที่ทำทางด้านนี้อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ซึ่งเราก็รู้ว่ามันมีข้อได้เปรียบเยอะมาก วัฒนธรรมการเมาเราก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ดร.วิชิตมองว่าวัตถุดิบในประเทศไทยนั้นมีศักยภาพที่จะนำพาคุณภาพและความพิเศษของผลิตภัณฑ์ให้ไปได้ไกลกว่านี้ได้อีกมาก ไหนจะความคิดสร้างสรรค์อีกมากมายที่รอการปะทุจากผู้ประกอบการรายย่อยที่พร้อมจะพาความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเข้าสู่ตลาด แต่เมื่อเผชิญกับข้อจำกัดทางภาษีและกติกา จึงทำให้ศักยภาพเหล่านี้ถูกเหนี่ยวรั้งเอาไว้ จนทำให้ ดร.วิชิตตั้งคำถามว่า โครงสร้างภาษีที่รัฐออกมาเพื่อสนับสนุนประชาชนจริง ๆ หรือเพื่อหวังจะบีบผู้ประกอบการจนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้กันแน่?

เบียร์ของพวกเรามีสตอรี่ มีคาแรกเตอร์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีที่มาที่ไป แต่กฎหมายกลับทำเหมือนกับว่าเป็นการทำร้ายคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ พอเรื่องของมูลค่าตรงนี้ ต้องแยกว่ามันลักชัวรีอิมพอร์ตหรือโดเมสติก ถ้าภาครัฐคิดว่าเราพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่าสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันคือ Domestic Product จริง ๆ ตรงนี้รัฐต้องมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ผมว่าภาครัฐยังไม่ละเอียดพอ ไม่ละเอียดพอตรงที่ว่า รักเราจริงหรือเปล่า หรือไม่ได้รักเรา...

นอกจากนั้นในด้านของภาษี ดร.วิชิตก็มองว่าไม่แฟร์ และนิยามว่าไม่ต่างจากเตี้ยอุ้มค่อม เสมือนว่ารัฐกำลังปฏิบัติกับคนตัวเล็กเหมือนคนตัวใหญ่ที่สามารถค้ำจุนตัวเองได้แล้ว แทนที่จะค่อย ๆ ช่วยฟูมฟักให้เขาเติบโตจนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้เสียก่อน 

ในวันนี้ถ้าเราปฏิบัติกับเขาเหมือนพี่ใหญ่ ก็เหมือนเป็นการทำร้ายเขา นั่นหมายความว่าเขาไม่มีโอกาสได้เกิดเลย ซึ่งเราก็รู้ดีว่าอย่างนี้ เรื่องแบบนี้ก็อยากฝากไว้ว่าคิดใหม่อีกทีว่าคนตัวเล็กจะต้องประคบประหงม จะต้องเพาะเลี้ยงเขา เพราะเราพูดอยู่เสมอว่า ‘ส่งเสริม’ ถ้าไม่พูดคำว่าส่งเสริมอันนั้นค่อยว่ากันอีกที

 

รวมภาพบรรยากาศวงเสวนา ‘Hang Over เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน’

ปิดท้ายด้วย ‘ว่าที่ ร.ต.ประยุทธ เสตถาภิรมย์’ ผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานและการจัดเก็บภาษี 1 กรมสรรพสามิต ตัวแทนจากฝั่งรัฐและกรมสรรพสามิตที่จะมาตอบคำถามคลายข้อข้องใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ที่ก่อกำเนิดเป็นข้อสงสัยในความคิดของผู้บริโภคและผู้ผลิตหลายคน 

ในประเด็นการจัดเก็บภาษีและข้อบังคับต่าง ๆ จากกรมสรรพสามิตและภาครัฐ ว่าที่ ร.ต.ประยุทธให้เหตุผลว่ามีไว้เพื่อปกป้องประชาชนและสร้างความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคมจากผลพวงของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเปลี่ยนแปรพฤติกรรมของผู้ดื่มและอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ก่อนจะย้ำว่า ‘เหรียญมีสองด้าน’ เสมอ

บางรูปแบบดื่มสุราแล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อสังคม แต่บางพวกบางกลุ่มก็จะมีผลกระทบต่อสังคม เช่น การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ แล้วก็บางส่วนถ้าบริโภคมากไป ก็จะมีผลต่อสุขภาพ มีภาระต้นทุนทางด้านสาธารณสุขที่ต้องดูแล เพราะฉะนั้นนี่คือผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคสุราที่เกินกว่าขอบเขตที่กำหนดไว้ ภาครัฐเองก็ต้องกลับมาควบคุมดูแล

กรมสรรพสามิตเอง นอกเหนือจากการจัดเก็บภาษีแล้ว เราก็มีหน้าที่เข้ามาทำให้ลดการบริโภคด้วย เพื่อที่จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านสังคมต่าง ๆ อันนี้คือมุมมอง เหรียญมันมีสองด้านเสมอ เวลาเรามอง เราต้องมองทั้งสองด้าน ประเด็นสำคัญคือถ้าเราบริโภคอย่างมีสติ มันจะลดผลกระทบทางด้านสังคมเป็นอย่างมาก

นอกจากจะพยายามควบคุมดูแลการบริโภคของประชาชนแล้ว อีกปัญหาประการสำคัญที่ ว่าที่ ร.ต.ประยุทธกล่าวว่ากรมสรรพสามิตให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือการควบคุมจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น จุดสำคัญคือมาตรการของรัฐ ในเรื่องการควบคุม นอกเหนือจากการพัฒนาภาษีแล้ว มันจะมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การควบคุมเรื่องระยะเวลาในการจำหน่าย หรือในกรณีวันสำคัญทางศาสนาอันนี้ก็ห้าม อีกสำคัญคือการให้ความรู้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะเขาจะต้องโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ให้เขาโตแบบยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราต้องให้ความรู้ในหลาย ๆ อย่างกับเขาเพื่อที่จะลดผลกระทบตรงนี้ คือเวลามอง ผมมองในทุกมิติ เพราะว่าสังคมมันจะเติบโตได้เนี่ย มันต้องโตอย่างยั่งยืน

ถึงกระนั้น ว่าที่ ร.ต.ประยุทธ เสตถาภิรมย์ ก็ย้ำเตือนอย่างชัดเจนว่าทางภาครัฐพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนเสมอ เพียงแต่ต้องการให้ทุก ๆ คนมาร่วมหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศและประชาชนร่วมกัน 

ผมจะบอกว่าภาครัฐรับฟังมุมมองของคนรุ่นใหม่ และรับฟังอย่างเข้าใจ และมองในมุมของภาครัฐรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นสังคมมันสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะต้องรับฟังเขา คุยด้วยกัน หาทางออกว่าทางไหนจะดีที่สุดสำหรับประเทศ อยากจะโฟกัสตรงนี้ว่าภาครัฐรับฟังความเห็น แล้วคงไม่ได้ควบคุมอย่างเดียว แต่คงต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่าทำไมถึงทำแบบนี้ แล้วถ้าออกไปแล้วมีผลกระทบตามมา เราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้