ไทยแลนด์: ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สว. โหวต ผ่าน!! ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ชวนทุกคนฉลองชัยชนะให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน

ไทยแลนด์: ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สว. โหวต ผ่าน!! ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ชวนทุกคนฉลองชัยชนะให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน

การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย หลัง สว. โหวตผ่าน ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ชนาธิป ตติการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แสดงข้อคิดเห็นต่อการผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ โดยวุฒิสภาว่า ประเทศไทยได้ก้าวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไปสู่การเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการแต่งงานของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศในทางกฎหมาย ช่วงเวลาสำคัญนี้เป็นรางวัลสำหรับการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม และสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ต่อสู้เพื่อชัยชนะครั้งนี้

“แม้ว่ากฎหมายรับรองการแต่งงานสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ยังมีสิ่งที่ต้องทำต่ออีกมากเพื่อรับประกันการคุ้มครองกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอย่างเต็มที่

“ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเผชิญกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี (Technology-facilitated Gender-Based Violence – TfGBV) ซึ่งเป็นการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีในการข่มขู่และก่อให้เกิดความรุนแรง โดยมักมุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

“ทางการไทยต้องผลักดันและดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อปกป้องสิทธิและประกันสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง”

ข้อมูลพื้นฐาน

สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นในวันนี้ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2567) วุฒิสภาซึ่งเป็นสภาสูงของรัฐสภาไทยได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวในระหว่างการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ร่างกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิกับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคู่รักต่างเพศในเรื่องการแต่งงาน เช่น การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ความยินยอมด้านการรักษาพยาบาล การรับมรดก รวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่พึงมี 

หลังจากนี้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะถูกส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทย โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้ผ่านพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และ/หรือการแสดงออกและลักษณะทางเพศ (SOGIESC) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) ได้แจ้งข้อกังวลต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ให้ข้อยกเว้นการห้ามการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเพศตามหลักการทางศาสนาหรือความมั่นคงของชาติ

ในรายงานเรื่อง "อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง: BEING OURSELVES IS TOO DANGEROUS" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 พบว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทยต้องเผชิญกับการสอดแนมทางดิจิทัลแบบกำหนดเป้าหมายและการคุกคามทางออนไลน์เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขา หลายคนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรง และมีประสบการณ์เลวร้ายที่ส่งผลให้พวกเขาต้องลดการเคลื่อนไหวลง ไปจนถึงหยุดการเคลื่อนไหวในที่สุด

สำหรับประเทศไทย เป็นชาติที่สามในเอเชียที่ได้ผ่านร่างกฎหมายนี้ ขณะที่ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันในปี 2562 ส่วนเนปาลเป็นชาติที่สอง โดยมีการจดทะเบียนแต่งงานครั้งแรกของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ในเดือนพฤศจิกายน 2566