ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

‘กุ๊ก’ ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร ผู้ติดแฮชแท็กในไอจีด้วยความภาคภูมิใจว่าตนเองเป็น ‘ชายข้ามเพศ’ หรือ ‘ทรานส์แมน’ ตอบคำถาม The People ในประเด็นเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ ซึ่งเขาตั้งตารอคอยให้เป็นจริงเสียที

คืนวันอาทิตย์ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ของชาว LGBTQIAN+ เรามีนัดพูดคุยกับชายข้ามเพศคนดัง ‘กุ๊ก’ ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร ผ่านทาง zoom เพราะตอนนี้เจ้าตัวย้ายจากกรุงเทพฯ ไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่หาดใหญ่แล้ว 

“สวัสดีครับ ผมชื่อ กุ๊ก ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร ตอนนี้อายุ 31 ปี เป็น transman (ผู้ชายข้ามเพศ) ครับผม” กุ๊กเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวด้วยความมั่นใจ อาจเป็นเพราะเขาได้เข้าสู่กระบวนการก้าวข้ามจาก ‘หญิง’ มาเป็น ‘ชาย’ นานกว่า 10 ปีแล้ว

การค้นพบตัวตนที่แท้จริงของกุ๊ก เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนประถมในโรงเรียนหญิงล้วน รายล้อมแต่เพื่อนที่เป็นผู้หญิง จนวันหนึ่งเขาก็เกิดไปปิ๊งรุ่นพี่ที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน 

“ตอนนั้นกุ๊กก็ไม่รู้หรอกว่าผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชาย ไม่รู้ด้วยว่าหญิง-หญิง, ชาย-ชาย คบกันได้ไหม รู้แค่ว่าเราชอบคนคนหนึ่ง แล้วเราก็ไปสารภาพรักกับเขา แต่เขาไม่ได้ตอบรับรักเรากลับมา เขาบอกว่าเขาไม่ได้ชอบผู้หญิง” 

หลังจากนั้นกุ๊กจึงเริ่มถอยกลับมาถามตัวเองว่า สรุปแล้วตัวเองเป็นคน ‘แปลก’ หรือไม่ ที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน หรือที่เป็นอยู่นี้จะเรียกว่า ‘ทอม’ อย่างที่เพื่อนหลายคนเป็นกัน กุ๊กจึงลองทำตัวเป็นทอมดูบ้าง เมื่อที่บ้านสังเกตว่าลูกสาวคนเล็กเริ่มมีพฤติกรรมไม่เหมือนเด็กผู้หญิง เขาจึงถูกส่งไปเรียนโรงเรียนสหศึกษาในช่วงมัธยม แต่กลายเป็นว่ายิ่งมีเพื่อนผู้ชาย กุ๊กยิ่งมั่นใจว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิงแน่ ๆ และอาจข้ามขั้นไปไกลกว่าการเป็นทอมด้วย

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

 

เขาเพียรหาข้อมูลเพื่อหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นอะไร จนเจอรุ่นพี่ที่อยู่ต่างประเทศ จึงได้รู้จักคำว่า ‘FTM’ (Female-to-Male) ซึ่งหมายถึงคนข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย ที่มีการเข้ารับฮอร์โมนเป็นเรื่องเป็นราว 

“พอกุ๊กรู้แค่พอยท์นั้น กุ๊กก็รีบหาข้อมูลในไทยเลยว่าที่ไหนมีรับฮอร์โมนได้บ้าง พอเจอปุ๊บก็ตัดสินใจเริ่มข้ามเพศเลย”

ในช่วงรับฮอร์โมน กุ๊กเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เขาต้องอยู่หอ นาน ๆ จึงกลับบ้านที ซึ่งที่บ้านก็ยังไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ เพราะความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มปรากฏชัดก็ต่อเมื่อรับฮอร์โมนนาน 4 ปีขึ้นไป เมื่อเสียงเริ่มแหบขึ้น ที่บ้านก็เข้าใจว่าเขาแค่ไม่สบายนิดหน่อย 

เรื่องมาแดงว่าลูกสาวคนเล็กของบ้านกลายเป็นผู้ชายข้ามเพศก็ตอนที่เขาเริ่มออกสื่อ หลังจากนั้นที่บ้านก็ต้องเปลี่ยนจากการแนะนำเขาในฐานะ ‘ลูกสาว’ เป็น ‘ลูกชาย’ แทน 

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

“ตอนที่เขา (พ่อแม่) เรียกกุ๊กว่าลูกชาย ความรู้สึกแรกคือดีใจนะ เขาน่าจะเห็นว่ากุ๊กได้รับการยอมรับจากสังคมและสื่อ เขาก็ภูมิใจที่เรามีจุดยืน และก้าวผ่านอะไรหลาย ๆ อย่าง แม้กระทั่งคำพูดของเขาเอง แล้วกุ๊กก็เป็นหนึ่งในกำลังใจที่ทำให้คนอื่นก้าวข้ามความกลัวที่จะเป็นตัวเอง มันเลยกลายเป็นความภูมิใจของเขา เขาก็ชมว่าเก่งนะมาถึงจุดนี้ได้ เพราะต้องผ่านการผ่าตัดเอย รับฮอร์โมนเอย เวลาเจอใครถามก็ต้องตอบ

“กุ๊กเองก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย ทั้งเรื่องการเรียน การงาน หรือทำอะไรก็ได้ให้สังคมยอมรับ พอพ่อแม่เห็นแล้วว่ากุ๊กอยู่ในสังคมได้มีความสุข มีคนรัก มี FC มีคนคอยซัพพอร์ต แค่นี้เขาก็สบายใจแล้ว เขาก็เลยไม่ได้มองว่ากุ๊กเป็นเพศอะไรตอนนี้ กลายเป็นว่าเขายอมรับกุ๊ก แบบเป็นเด็กผู้ชาย เป็นลูกชาย”

ผ่านด่านอรหันต์ในบ้านได้สำเร็จแล้ว เราเลยชวนกุ๊กคุยเรื่องปฏิกิริยาจากคนนอกบ้านบ้าง โดยเฉพาะ ‘คำพูด’ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจที่เขาเคยเจอ 

กุ๊กสารภาพตามตรงว่า เขาไม่เคยเก็บคำพูดใครมาคิด แต่ที่ได้ยินบ่อย ๆ คือประโยคประเภท “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” หรือ “นิ้วเย็น ๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่น ๆ” ซึ่งทอมแทบจะทุกคนต้องเคยเจอแซวทำนองนี้ 

“เหมือนกับเขา (ผู้ชาย) รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าเราทุกอย่าง แค่อวัยวะเพศ มันเลยทำให้เขารู้สึกเหนือกว่า นี่คือจากที่กุ๊กเคยถามเพื่อนมา เป็นเพื่อนที่เคยด่า เคยบูลลี่ เคยแกล้งกุ๊ก คือเขารู้สึกว่าเพราะเขามีอวัยวะเพศ เขาเลยสามารถพูดกับเราได้ เพราะกุ๊กไม่มีไง แล้วกุ๊กจะไปมีได้ยังไงอะ ในเมื่อตอนนั้นการผ่าตัดหรืออะไรก็ยังไม่มี” 

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

อีกอย่างที่กุ๊กรู้สึกว่าเป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” คือการที่ผู้คนมักจะตั้งคำถามเรื่อง ‘อวัยวะเพศ’ ทันที เมื่อรู้ว่าเขาเป็น ‘นางสาว’ แต่ร่างกายบึกบึนกำยำเป็นชายชาตรี 

“พอเขารู้สึกว่าเราไม่ใช่นาย เราเป็นนางสาวปุ๊บ เขาก็จะเปลี่ยนการปฏิบัติตัวกับเราเลย คำถามของเขาจะถามลงไปที่อวัยวะเพศตลอด ยิงคำถามลงข้างล่างอย่างเดียว ถามว่ากุ๊กตอบได้ไหม กุ๊กตอบได้นะ แต่เอาจริง ๆ ก็ไม่ชอบ ไม่รู้เป็นเพราะสังคมมองว่าเพศคือตัวกำหนดทุกอย่างหรือเปล่า เพราะไม่ว่าจะพูดเหตุผลอะไรก็คือจะดึงลงมาที่อวัยวะเพศหมดเลย แล้วก็จะมีอยู่แค่นี้ 2 เพศ ถ้าเป็นเพศที่ 3 – 4 – 5 – 6 ก็คือแปลกกว่าคนอื่นทันที ถูกปฏิบัติแบบแปลกไปในทันที อันนี้คือสิ่งที่เจอบ่อย” 

เมื่อเปิดพื้นที่ให้กุ๊กบอกอะไรสักอย่างกับคนที่พูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ชวนให้เขารู้สึกอึดอัด เขากลับขอเรียกร้องแทนคนอื่นมากกว่า เพราะตัวเขานั้นเจอมาเยอะจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ ‘เบา’ ไปแล้ว 

“จริง ๆ ทุกคนสามารถตั้งคำถามได้หมดนะครับ แต่หากบางคำถามมันจะทำให้ฝ่ายที่ฟังรู้สึกแย่ คุณก็ไม่ควรถาม สำหรับกุ๊ก กุ๊กเจอมาเยอะจนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เบาไปแล้ว แต่สำหรับบางคนที่เขารับสภาพไม่ได้ มันอาจจะเป็นคำพูดที่สามารถฆ่าเขาได้เลย จากที่เขาเคยมั่นใจ เขากลับต้องมารู้สึกไม่มั่นใจล่ะ มันก็จะกลายเป็นดาบที่คอยทิ่มแทงเขาตลอดเวลา แล้วเขาก็จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า สรุปว่าเขาข้ามเพศมา เขาผิดปกติหรือ เขาแตกต่างจากคนอื่นหรือ เขาเป็นสิ่งแปลกหรือ 

“เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเข้าหาใคร ช่วยเห็นใจกันหน่อย แล้วก็ช่วยเข้าใจเราหน่อย ถ้าเราเลือกเกิดได้ เราก็คงอยากจะเกิดมาเป็นเพศที่ตรงกับความรู้สึกเรา ที่เราอยากจะเป็น แต่ ณ วันนี้ เราเลือกไม่ได้ อยากให้ทุกคนเปิดใจให้พวกเราหน่อย เพราะพวกเรากว่าจะมาถึงจุดนี้ เราต้องผ่านการพยายามหลาย ๆ อย่าง ทั้งการผ่าตัด เจ็บตัว หรือแม้กระทั่งการเทคฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นกุ๊ก เป็นทรานส์ เป็นสาวประเภทสอง หรือว่าพี่ ๆ เกย์ต่าง ๆ นานา ที่เขาจะต้องก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง แล้วก็จะต้องมาเจอคำถามของสังคมอีก คือบางคนอาจจะรับไม่ได้ ก็แค่อยากให้เห็นใจเพื่อนร่วมโลก แล้วอยู่ด้วยกันแบบมีความสุขดีกว่า” 

อย่างไรก็ตาม เมื่อให้เขาสะท้อนเรื่องความเข้าใจของสังคมที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ เขามองว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าสมัยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนเยอะ เพราะตอนนั้นคำว่า transman แทบไม่เป็นที่รู้จัก แต่ ณ วันนี้ หากต้องไปติดต่อสถานที่ราชการ เพียงแค่บอกว่าเป็นเพศที่สาม ทุกคนก็เข้าใจ และไม่มีคำถามต่อท้ายมากเหมือนสมัยก่อน 

ในที่สุดก็มาถึงคำถามส่วนตัวที่เราค่อนข้างเกรงใจ นั่นคือเรื่อง ‘การแปลงเพศ’ ซึ่งคำตอบของเขาได้ขยับขยายพื้นที่ในหัวใจเราให้กว้างขึ้นอีก

เดิมทีกุ๊กก็คิดว่าตัวเองจะต้องไปถึงขั้นสุดคือการผ่าตัดแปลงเพศเพื่อให้เป็นชายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เขาได้ใคร่ครวญในหลายปัจจัยจนได้ข้อสรุปว่าตัวเองจะไม่ไปถึงขั้นนั้น

“การผ่าตัดของผู้ชายข้ามเพศ กว่าจะสมบูรณ์เกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ มันจะประมาณ 2 ปี ซึ่ง 2 ปีนั้น กุ๊กยังอยากจะใช้ชีวิต หาเงิน ดูแลครอบครัว ยังอยากเที่ยว ยังอยากสนุก คือยังไม่พร้อมที่จะเอาร่างกายมาเสี่ยง แล้วก็กลัวโรคแทรกซ้อนด้วย เห็นได้จากประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์

“แล้วก็โชคดีที่กุ๊กคุยกับแฟน คุยกับครอบครัว คือตอนนี้ที่บ้านเขายอมรับในแบบที่กุ๊กเป็น โดยที่กุ๊กไม่จำเป็นจะต้องมีอวัยวะเพศชาย แฟนก็แฮปปี้ เธอไม่จำเป็นจะต้องมีอวัยวะเพศชาย ฉันก็รักเธอ อีกอย่างคือการที่กุ๊กเป็นแบบนี้ ร่างกายกุ๊กแข็งแรงดี เราไม่ต้องเอาร่างกายไปเสี่ยง สุขภาพร่างกายกุ๊กก็แข็งแรงสมบูรณ์ดี เลยมองว่าแค่นี้ก็เป็นผู้ชายแบบสมบูรณ์แล้วนะสำหรับกุ๊ก”

กุ๊กยังพูดติดตลกด้วยว่า “เอาจริง ๆ ตอนเดินข้างนอก ก็ไม่ได้มีใครมาขอดูของเรา เราไม่ต้องถกกางเกงโชว์ใครเพื่อยืนยันว่าเป็นผู้ชาย” 

ทุกวันนี้กุ๊กยังคงเทคฮอร์โมน ควบคู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งเขาบอกว่ามีจุดเริ่มต้นจากตอนเด็กที่มักจะป่วยบ่อย ๆ และมีโรคประจำตัวคือภูมิแพ้ จึงต้องพยายามทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งผลพลอยได้ก็คือรูปร่างที่กำยำ และทำให้เขาตกหลุมรักการออกกำลังกาย จนถึงขั้นผันตัวมาเป็นเทรนเนอร์

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

“พอเป็นเทรนเนอร์ก็มีนักเรียนที่เป็น transman เหมือนกันมาฝึกด้วย แล้วก็มีผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ คือมีทุกเพศครับที่มาเรียนกับกุ๊ก แล้วมันเหมือนกับเราได้ช่วยพากันไปถึงเป้าหมาย สุขภาพก็ดี หุ่นก็ดี ยิ่งทำให้กุ๊กรู้สึกว่าการออกกำลังกายของเรา สามารถช่วยใครได้หลายคนด้วย อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ทรานส์ หรือใครหลาย ๆ คน เฮ้ย ทำไมกุ๊กทำได้ ฉันก็ต้องทำได้ เป็นเหมือนพลังบวกให้ใครหลาย ๆ คน เลยทำให้กุ๊กไม่หยุดออกกำลังกาย ยังคงรักษาหุ่น ยังคงเล่นอยู่ต่อเนื่อง แม้ว่าตอนนี้จะมาเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว แต่งานเทรนเนอร์ก็ยังรับอยู่”

แม้ชีวิตส่วนตัว หน้าที่การงาน จะดูสมบูรณ์แล้ว แต่อีกสิ่งที่กุ๊กและแฟนปรารถนาเช่นเดียวกับคู่รัก LGBTQIAN+ ส่วนใหญ่คือ ‘การสมรสเท่าเทียม’ เขาตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน เขากับแฟนก็จะรีบไปใช้สิทธิ เพราะครั้งหนึ่งเคยเกือบเอาชีวิตไม่รอด จากการที่แฟนไม่สามารถเซ็นรับรองการรักษาให้เขาได้ แม้จะมีการจัดพิธีแต่งงานเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการแต่งงานตามกฎหมาย 

“เรื่องสมรสเท่าเทียม กุ๊กมองถึงเรื่องการดูแลรักษากันมากกว่าครับ เพราะว่าใคร ๆ เขาก็แต่งงานกันได้ เหมือนกุ๊กก็แต่งงานกับแฟน แต่เป็นแค่การประกาศให้สังคมรู้ ให้ทุกคนรู้ว่านี่คือแฟนฉัน ฉันคือแฟนเธอ แต่การสมรสเท่าเทียม กุ๊กมองว่ามันมีประโยชน์ อย่างเช่นตอนที่กุ๊กป่วยแล้วไปหาหมอ คือเราอยู่กรุงเทพฯนะครับ แล้วญาติ ๆ เราอยู่หาดใหญ่หมดเลย คือมันไม่สามารถทันท่วงทีอะ 

“เหมือนกุ๊กป่วยหนัก เขาก็ถามอยู่นั่นแหละว่าอันนี้มันนางสาว แต่ที่นอนมามันเป็นผู้ชาย ใครจะมายืนยัน แฟนก็ยืนยันไม่ได้ แล้วกุ๊กก็นอนเป็นผักอยู่ตรงนั้นสักพักหนึ่ง คือมันถึงขั้นว่าไอเป็นเลือดแล้ว จริง ๆ คือควรเอาเราเข้าไปในห้องตรวจก่อน ก็ถามนู่นนี่นั่น ไม่มีใครยืนยันได้ แฟนก็ยืนยันไม่ได้ เซ็นรับรองไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้เลย คือ ณ วันนั้นถ้าพูดตรง ๆ ถ้าตายก็คือตายตรงนั้นเลย คือมันกลายเป็นแบบรับรองอะไรกันไม่ได้ เป็นแค่คำว่าแฟน 

“หรือแม้กระทั่งสิทธิซื้อบ้านร่วมกัน กุ๊กซื้อบ้านมาน่าจะเกิน 5 - 6 ปี ณ ตอนนั้นที่ซื้อ เขาบอกว่าสามารถเซ็นกู้ร่วมได้ แต่พอเรายื่นเอกสารไปปุ๊บ อ้าว กู้ร่วมไม่ได้เพราะมันยังไม่ได้สิทธิสมรสเท่าเทียม ทีนี้ก็ต้องเป็นชื่อของใครคนใดคนหนึ่ง ถ้า ณ วันนี้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นอะไรไปปุ๊บ ทุกอย่างก็คือเท่ากับโมฆะถูกไหมครับ มรดกก็ไม่ได้ร่วมกันอีก นี่คือปัญหาที่กุ๊กกับแฟนเจอจริง ๆ คือสิทธิการรักษา มรดกร่วมกัน หรือถ้าสมมติเราวางแผน มีบุตร เราก็รับรองบุตรด้วยกันไม่ได้อีก คือมันติดแค่คำนำหน้า ติดสมรสเท่าเทียม

“เรื่องสมรสเท่าเทียม จริง ๆ กุ๊กแค่อยากให้มันเสมอภาคเทียบเท่ากับชายหญิง จริง ๆ ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งบนโลก ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว เพราะเราจ่ายภาษีเหมือนกัน ทุกคนเท่าเทียมกันหมดเลย คือเราทำทุกอย่างเท่าเทียมกับเพศหญิงเพศชายหมดเลย ปฏิบัติตัวในสิ่งที่ดี ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมย ทุกอย่างเหมือนกันหมด ข้อกฎหมายใช้เล่มเดียวกันหมด แต่เพียงแค่ว่าพอเราเป็นเพศที่สามปุ๊บ ทำไมเราถึงไม่ได้เท่ากันล่ะ อันนี้คือสิ่งที่เราตั้งคำถามเหมือนกัน ถ้าสมมติเซ็นผ่านปุ๊บ อันดับแรกกุ๊กก็ต้องจด (ทะเบียนสมรส) กับแฟนอยู่แล้ว เพราะว่ามันสามารถดูแลกันได้ เรามองถึงเรื่องการดูแลซัพพอร์ตกันมากกว่า”

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

เราปิดท้ายการสนทนากับกุ๊ก ด้วยการขอคำนิยามเรื่อง ‘ความรัก’ จากเขา ซึ่งเขามองว่าความรักของตัวเองกับแฟนไม่ได้แตกต่างอะไรกับคู่ชาย – หญิง เลย 

“สำหรับกุ๊กกับแฟน คือ ณ วันนี้การที่มีเขาอยู่ กุ๊กมองว่าทุกอย่างคือความรักหมดเลย คือการที่อยู่แล้วก็ซัพพอร์ตกัน เหมือนเพื่อนกัน มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ปัญหา คือเรารู้สึกว่าเราโชคดีที่มีเขาดีกว่า เพราะว่าหนึ่งเลย ทุก ๆ คนนะครับ เวลาเรามองตัวเอง เรารักตัวเองใช่ไหม เราก็ต้องหาสิ่งดี ๆ ให้ตัวเองถูกไหม แต่เขาเป็นคนหนึ่งที่ทำให้กุ๊กมองเห็นข้อดีตัวเอง คือตอนเด็ก ๆ กุ๊กเป็นเด็กที่ไม่เอาถ่าน แค่รู้สึกว่าอยากเป็นทอม อยากเป็นผู้ชาย ไม่มีใครยอมรับ งั้นทำตัวมีปัญหา ไม่เรียน ทำตัวเกเร แต่พอเราได้มาเจอจูน เรารู้สึกว่าเขาผ่านช่วงเวลาชีวิตของเขามาค่อนข้างเยอะ เขาโตมาด้วยตัวคนเดียว ที่บ้านไม่ได้ซัพพอร์ตเขา แล้วเราแค่รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมคนคนนี้มันเก่งจัง ดูแลตัวเองได้ยังไง แล้วเดินทางถูกมาตลอดได้ยังไง ทั้ง ๆ ที่เราอะพยายามเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา อยากลอง แต่เขาคือเดินตรงแบบตั้งใจเรียน เรียนเก่ง กิจกรรม ทุกอย่าง 

“พอเรามาคบเขา มันเลยทำให้เราถึงจุดเปลี่ยนว่า เอ๊ะ ทำไมคุณขยัน งั้นลองขยัน ลองตั้งใจเรียน อ้าว สรุปมันเป็นผลดีกับตัวกุ๊กนะ แล้วกุ๊กเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่ชอบพูดกับใครเลย แต่เขาเป็นคนสอนให้เรากล้าพูด กล้าคุย กล้าเจอคนอื่น ทำให้กุ๊กไปในทิศทางที่ดีขึ้นในเกือบทุกเรื่อง มันเลยทำให้เรารู้สึกว่านี่ใช่ไหมที่เขาเรียกว่าความรัก โดยที่ไม่ต้องบอกว่ารัก คือเขาเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้น”

นอกจากสิ่งที่กุ๊กพูดมา สิ่งที่เรายกย่องความรักของทั้งคู่ คือการที่คนรักของกุ๊กยอมรับเขาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าร่างกายของเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งกุ๊กได้พูดถึงเรื่องนี้ด้วยว่า 

ฐิติกาญจน์ จตุรพิตร: “ถ้าคุณมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้แล้ว”

“จนถึงทุกวันนี้กุ๊กก็สงสารเขานะ เพราะมันไม่มีใครหรอกที่อยู่ดี ๆ จะมายอมรับได้เลย จากที่เราน่ารักใส ๆ แล้วตัวเราก็นุ่มนิ่ม ตัวหอม ๆ แบบผู้หญิง แล้ววันหนึ่ง แม้แต่ตัวเรายังรู้สึกเหม็นตัวเองเลย เพราะร่างกายมันเปลี่ยนจนมีกลิ่นผู้ชาย เราก็ยังบอกแฟน เธอ ๆ เขาเหม็นเนอะ แล้วแฟนก็จะแซวแบบ เออ ก็ใช่ไง แต่ก็รักอะ ประมาณนั้น กุ๊กมองว่าเขาก็ค่อนข้างที่จะปรับตัวเยอะอยู่

“กุ๊กดีใจนะที่เขาบอกเสมอว่า ทำอะไรก็แค่บอกเขา เขาไม่เคยจะมาปิดกั้นเราเลย เขาแค่เป็นห่วงเฉย ๆ แต่สุดท้ายแล้วกุ๊กก็ยังเป็นกุ๊กในวันที่เขารักนั่นแหละ แค่มันเปลี่ยนไปในส่วนของรูปร่าง หุ่น หรือว่าอะไรต่าง ๆ นานา” กุ๊กกล่าวด้วยรอยยิ้ม 

 

สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: อินสตาแกรม kook_indyz