27 มิ.ย. 2567 | 13:30 น.
สืบเนื่องจากเหตุการณยิงสังหารรอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการก่อความไม่สงบ
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เหตุการณ์อันน่าสะเทือนขวัญครั้งนี้ เน้นย้ำถึงอันตรายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของไทยต้องเผชิญ
“การสูญเสียในครั้งนี้น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรอนิง เป็นผู้ทำงานช่วยเหลือเหยื่อของการทรมาน และมีรายงานข่าวว่าตัวเขาเองก็เคยเป็นเหยื่อการทรมานเช่นกัน แต่เขาก็มาถูกยิงจนเสียชีวิตก่อนหน้า ‘วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล’ (International Day in Support of Victims of Torture) เพียงวันเดียว”
“ทางการไทยต้องทำดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ ยึดความโปร่งใส เป็นอิสระ ต่อกรณีการเสียชีวิตของรอนิง และให้นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
“การสอบสวนเช่นนี้ ไม่เพียงจะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมต่อรอนิงและผู้คนที่เขารักและใกล้ชิดเท่านั้น หากยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของประเทศไทย”
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและคนที่รักรอนิง”
ข้อมูลพื้นฐาน
วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 21.00 น. รอนิง ดอเลาะ ถูกยิงสังหารโดยมือปืนไม่ทราบฝ่ายสองคน บริเวณหน้าบ้านของเขาเอง ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
รอนิงเป็นผู้ประสานงานที่ทำงานกับกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ ด้วยความสนับสนุนจากกองทุนสหประชาชาติแบบสมัครใจเพื่อเหยื่อจากการทรมาน (UN Voluntary Fund for Victims of Torture) โดยเขาคอยช่วยเหลือเหยื่อที่รอดชีวิตเพื่อการฟื้นฟูจากการถูกทรมานในพื้นที่ดังกล่าว
ตามข้อมูลของกลุ่มด้วยใจ รอนิงได้เข้าร่วมทำงานกับกลุ่ม หลังจากมีการกล่าวหาว่า เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารกระทำการทรมาน ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ในจังหวัดปัตตานี
นับแต่ปี 2547 ได้เกิดการโจมตีเพื่อก่อความไม่สงบมากขึ้นโดยกลุ่มติดอาวุธของชาวมลายูมุสลิม เพื่อต่อต้านรัฐไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซีย
พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ตามข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 7,594 คน ระหว่างเดือนมกราคม 2547 - เมษายน 2567
นับตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการบันทึกข้อมูลและพบการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในพื้นที่ โดยทางการไม่สามารถอำนวยให้เกิดความยุติธรรมในคดีที่สงสัยว่าจะเป็นการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ
ในระดับโลก วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันในนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” เพื่อรณรงค์ให้ยุติการทรมาน ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อผู้ถูกทรมานทั่วโลก