19 ต.ค. 2567 | 11:30 น.
วันที่ 18 ตุลาคม 2567 'ไทยรัฐกรุ๊ป' และมูลนิธิไทยรัฐ ได้จัดงาน Thairath Afternoon Gala 2024 ภายใต้แนวคิด Empowering Through Education เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย, คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ รวมถึงกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ได้ร่วมเสวนาแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการศึกษาที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ
จิตสุภา วัชรพล กล่าวถึงการศึกษาไทยว่า สมัยเรียนตนเองยังอยู่ในยุค 2.0 โตขึ้นมากับการท่องจำไปสอบ การสอนในห้องเรียนไม่ได้เน้นให้มีการคิดวิเคราะห์มากเท่าไร แต่ในรุ่นลูก ซึ่งตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ป.1 จะเห็นความแตกต่างของหลักสูตรไทย กับหลักสูตรอินเตอร์ สังเกตได้จากการบ้านของหลักสูตรอินเตอร์จะมีคำถามให้เด็กได้ Critical Thinking ตั้งแต่ ป.1 ในตอนที่สอนการบ้านให้ลูกจะเห็นได้ว่าวิธีการสอนมีความต่างกันจริง ๆ
ถามว่าอยากให้ลูกเรียนต่อต่างประเทศหรือไม่ เรื่องนี้ถ้าเลือกได้ก็อยากให้ลูกที่ยังเล็กอยู่เมืองไทย ได้อยู่ใกล้ตัว โดยเรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่ในระดับอุดมศึกษา มองว่าการส่งไปเรียนเมืองนอก อาจจะได้อะไรที่มากกว่าความรู้ในหลักสูตร คือการได้ใช้ชีวิต ฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และได้เจอผู้คนหลากหลายสำหรับแนวทางการสอนลูกให้เข้าถึงการศึกษา หรือเทคโนโลยีแบบใหม่ ส่วนตัวจะมีลิมิตให้ลูกเพราะช่วงอายุยังไม่เยอะมาก โดยสิ่งที่เราเลือกให้ลูกดูบนจอเป็นเกม แอปพลิเคชันที่สอนอ่านหนังสือ บวกลบเลข ที่เขาได้เรียนรู้ โดยเราจะกำหนดเวลาไว้ เช่น ครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง
ในส่วนเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ส่วนตัวมองว่า จริง ๆ แล้ว การทำมูลนิธิไทยรัฐ โรงเรียนไทยรัฐวิทยาตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2513 เป็นความตั้งใจที่ ผอ.กำพล วัชรพล ที่ทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร แล้วจัดทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องน้ำ บางโรงเรียนมีการสร้างหอให้เด็กพักในละแวกนั้น บางโรงเรียนมีรถรับส่ง และบางโรงเรียนมีครูเดินทางไปรับนักเรียนหน้างานจริง ๆ เป็นชีวิตจริงของคนในต่างจังหวัด คือ จนทรัพย์ จนใจ จนปัญหา คนไม่รู้จะไปเรียนหนังสืออย่างไร แค่เงินจะกินข้าวมื้อเย็นยังไม่มีเลย หรือเด็กหลาย ๆ คนที่มาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาก็ไม่มีข้าวเช้าทาน บางโรงเรียนจึงต้องเอางบที่ทางรัฐสนับสนุน บวกกับงบที่เราใส่เพิ่ม บริหารจัดการงบตรงนี้เจียดไปทำอาหารเช้าให้เด็กได้ทานด้วย เพราะเมื่อเด็กอิ่ม เขาจะเรียนได้อย่างมีสมาธิ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จิตสุภา วัชรพล กล่าวอีกว่า ตนไม่แน่ใจว่าคำว่า "ปฏิรูปการศึกษา" เราใช้กันมากี่ปีแล้ว แต่เรายังพูดคำนี้กันอยู่ในปี พ.ศ. นี้ ตั้งแต่เราทำโรงเรียนไทยรัฐวิทยาตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปัจจุบัน ยังคงพบปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา แม้ทางภาครัฐมีการเรียนฟรีมา 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวมาก ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนฟรี 15 ปีที่ทางภาครัฐให้ ยังมีหลายเคสที่ทางมูลนิธิไทยรัฐ และโรงเรียนไทยรัฐวิทยาช่วยเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ในตอนแรกที่ตนเริ่มเข้ามาบริหารงานของที่บ้านยังไม่ได้ช่วยงานในมูลนิธิไทยรัฐมากเท่าไร แต่เมื่อมีลูกก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้า ลูกของเราจะโตขึ้นมาในสังคมแบบไหน ประเทศเราจะเป็นอย่างไรในอนาคตอีกไกล ๆ ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการทำเพื่อลงทุนให้กับอนาคตมากกว่าการทำเพื่อสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้เริ่มต้นสร้างไว้ โดยส่วนตัวแล้วมูลนิธิไทยรัฐยังต้องดำเนินต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่เราจะมีพละกำลังทำไหวต่อไป
จุดประสงค์ของเราไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่รูปแบบวิธีการอาจจะเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป แม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาของภาครัฐ สพฐ. จากจำนวนล้านคน พบว่าลดลงมาเกือบครึ่ง หมายความว่า อาจจะมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณ หรือทรัพยากรต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับยุคสมัย
นอกจากนี้ในช่วงที่สองของงานจะมีการประมูลของรักจากผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการเพื่อระดมทุนเข้ามูลนิธิไทยรัฐ นำไปใช้สนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมสร้างอนาคตของเยาวชนอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาทานกับทางไทยรัฐกรุ๊ป ที่ไม่ได้มาร่วมในงาน "Thairath Afternoon Gala 2024" สามารถร่วมสมทบทุนได้ที่ เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือที่บัญชีเงินฝาก มูลนิธิไทยรัฐ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวิภาวดีรังสิต กระแสรายวัน เลขที่ 196-3-061591 ร่วมเป็นหนึ่งในพลังต่อยอดและเติมเต็มการศึกษากับเยาวชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม