15 ต.ค. 2567 | 13:30 น.
“เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกเปลี่ยนชีวิตได้ด้วยการศึกษา”
นั่นถือเป็นทั้งความหวัง และความเชื่อของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ตลอดมา ในฐานะของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวงการศึกษาไทยมานานนับศตวรรษ ทั้งในฐานะของครูสอนหนังสือ นักวิชาการ นักการเมืองผู้ขับเคลื่อนนโยบายประเทศ หรือกระทั่งความเป็นนักการศึกษาที่ฝังรากลึกอยู่ทำให้แม้ผ่านเลยวัยเกษียณมาจนอายุ 84 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เคยหยุดผลักดันการศึกษาไทย นั่นก็เพราะตัวคุณหญิงเองเข้าใจถึงความยากลำบากของการไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมเป็นอย่างดี
ภาพชีวิตของเด็กหญิงกัลยาที่เกิด และโตในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สมัยที่น้ำ-ไฟยังเดินทางไปไม่ถึง ชีวิตประจำวันของเธอจึงมักคุ้นเคยกับเดินไปขนน้ำจากคลองกลับมาใช้ที่บ้าน เวลาว่างแทนที่จะเที่ยวเล่นกับเพื่อน ก็ต้องออกไปเดินขายน้ำฝนตามรางรถไฟ หรือขลุกอยู่กับแม่หน้าแผงขายขนมตามงานแสดงงิ้ว
การเรียนสำหรับเธอจึงถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด และถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่นำพาคน ๆ หนึ่งก้าวย่างมาจนถึงวันนี้
ตั้งแต่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา ต่อด้วยมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสตรีวรนารถ เทเวศร์ ก่อนจะจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท รุ่นที่ 21
ด้วยความชื่นชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณหญิงกัลยาจึงไม่ลังเลที่จะสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบมาด้วยคะแนนเกียรตินิยม ก่อนจะได้รับทุนโคลัมโบ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และได้รับทุนต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก ที่อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้าน ฟิสิกส์นิวเคลียร์ เมื่อปี พ.ศ. 2513
ทั้งหมดนี้ คือ ชีวิตที่เปลี่ยนได้ด้วยการศึกษา
การได้รับโอกาสให้ไปใช้ชีวิตต่างแดน ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในตัวคุณหญิงกัลยาว่า อนาคตของประเทศนี้จะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องยกระดับผ่านการศึกษาเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในหมวกใบไหน สิ่งที่เธอทำจึงมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุน และเสริมสร้างความแข็งแรงทางการศึกษาให้กับสังคมไทยเสมอ
อย่างการขับเคลื่อนให้เกิดโครงการ ‘T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม’ ในปี พ.ศ. 2566 ฟันเฟืองสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ก็เพื่อผลักดันให้คนไทยก้าวไปสู่ระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากความถนัดในวงการการศึกษา ตัวคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ถือว่า ผ่านมาแล้วหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และกรรมการและเลขานุการ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนประเทศได้เลย หากไม่ลงสู่สนามการเมือง และนั่นทำให้เธอเลือกเข้าร่วมพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2544 พกอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้กลายเป็นกระแสระดับโลกมาอย่างเต็มเปี่ยม
จากความมุ่งมั่น และความตั้งใจ ทำให้คุณหญิงกัลยาได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2551ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2562 สมัยรัฐบาล พล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหตุผลที่ว่า ทำไมคุณหญิงกัลยาอยากผลักดัน T-WAVE ในช่วงเวลานี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องลงมือลงแรงเองด้วยซ้ำ เธอให้คำตอบอย่างเรียบง่ายว่า เป็นเพราะอยากเห็นเด็กไทยมีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศ และหัวใจของคุณหญิงเองก็เรียกร้องว่าต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นใจของเธอคงรวดร้าวไม่น้อยที่ต้องเห็นประเทศไทย ก้าวช้ากว่าประเทศอื่นลงทุกวัน ทั้ง ๆ ที่มีศักยภาพเหลือล้น
“เราเป็นคนทำงานยากและนาน เพราะงานง่าย ๆ คนอื่นเอาไปทำหมดแล้ว (หัวเราะ)”
น้ำเสียงอารมณ์ดีแม้จะดูเหมือนทีเล่นทีจริง แต่สิ่งที่เธอกล่าวไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด สตรีตรงหน้าเราเธอเคยปลูกต้นไม้กว่า 20 ล้านต้นใช้เวลานานถึง 38 ปีมาแล้ว เพราะความเชื่อว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลดีต่อแผ่นดินไทย หรือการเป็นกรรมการและเลขานุการ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน กว่าจะทำเป็นสำเร็จแต่ละเล่มใช้เวลา 2-3 ปี ต่อเล่ม ขณะที่บางเล่มใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ก็ดูจะเป็นเครื่องยืนยันคำพูดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
“การจะพัฒนาไปสู่สากลได้นั้น ต้องมีเครื่องมือ ซึ่งต้องปรับให้มีความทันสมัย ต่างประเทศมี K-WAVE เราก็ต้องมี T-WAVE เป็นคลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม ประเทศไทยเรามีวัฒนธรรมประเพณีมาเป็นเวลาหลายร้อยปี สิ่งเหล่านี้เป็นที่ทราบกัน เพราะฉะนั้นการจะผลักดัน เราต้องทำยังไงก็ได้ให้เอาสิ่งที่มีคุณค่านี้มาเพิ่มมูลค่าโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย และแน่นอนสามารถเพิ่มมูลค่าในแง่ของเศรษฐกิจได้อีกทาง”
“เราจึงควรจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า T-WAVE มาผลักดันการศึกษาไทยให้มันน่าสนใจ เอาสิ่งที่มีคุณค่ามาเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี และให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันนำพาไปสู่สากล”
หากจะบอกว่า T-WAVE หรือคลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม คือความหวังของประเทศไทยคงไม่ผิดนัก เพราะถ้ามองย้อนกลับไปยังต้นกำเนิด คลื่นแต่ละลูกล้วนผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และกลั่นกรองหลายต่อหลายขั้นตอนมาอย่างแยบยล จนถูกประกอบสร้างออกมาเป็นคลื่น 3 ลูกที่หวังจะเข้าไปสร้างแรงกระเพื่อมอย่างยิ่งใหญ่ให้สังคมไทย
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ อาจยังเป็นเรื่องใหม่ในสายตาคนไทย ซึ่งคุณหญิงกัลยาเองก็ยอมรับตามตรงว่า เธอพยายามเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง แต่คลื่นลูกนี้ก็ยังไม่สามารถทลายใจผู้นำได้อย่างใจหวัง
“จริง ๆ เรื่อง T-WAVE ยังเป็นเรื่องใหม่เป็นคำใหม่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เราเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็จริงแม้จะนำเสนอไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะนำเสนอให้เข้าถึงในวงกว้างได้ จึงยังไม่มีผลิตผลที่เห็นได้ชัด เนื่องจากว่าเป็นรัฐมนตรีช่วยเสียงก็เลยไม่ดัง ก็อยากจะให้ประชาชนที่อยากเห็นลูกหลานเรียน อยากให้การศึกษาช่วยเสริมคุณค่านี้ให้ประเทศไทยอย่างทันสมัยด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่”
คุณหญิงกัลยาเน้นย้ำมาตลอดว่าประเทศจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้นั้น ต้องอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้วันหนึ่งคลื่นลูกนี้ไม่ถูกลมพายุพัดหายไปตามกาลเวลา
“ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ผันผวน สลับซับซ้อน ไม่แน่นอน คลุมเครือ” คุณหญิงกล่าวช้า ๆ ราวกับย้ำเตือนว่าหากไม่เริ่มปรับตัว คงถูกโลกใบนี้ถล่มใส่จนไม่เหลือที่ยืน
“ฝรั่งเขาเรียกว่า VUCA World เราจะชอบหรือไม่ชอบ แต่โลกใบนี้มันมาถึงแล้ว เมื่อเราต้องเผชิญกับสิ่งนี้ เราไม่สามารถที่จะสอนทุกวิชาทุกเรื่องให้กับเด็กได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้เด็กมีพื้นฐานทางความคิด มีการวางแผน มีความเป็นเหตุเป็นผล คิดเป็น วางแผนเป็น แก้ปัญหาเป็นตั้งแต่เด็ก แล้วโตขึ้นก็จะเก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ต่อให้โลกจะผันผวนแค่ไหน เราก็ไม่กลัวแล้ว เราสู้ได้ เพราะฉะนั้นเด็กจะเรียนอะไรให้เด็กเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ต้องมี Coding”
Coding คืออีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่คุณหญิงกัลยาเอ่ยถึงระหว่างสนทนา เธอย้ำว่าคำนี้ไม่อาจแปลเป็นภาษาไทยให้มีความหมายครอบคลุมทั้งบริบท จึงต้องขออธิบายให้เห็นภาพแทน โดยยกตัวอย่างว่า Coding คือ กระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล (Logical Thinker) ซึ่งแทรกซึมอยู่ในทุกมิติในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนาน
อันที่จริงเรื่อง Coding ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณหญิงกัลยาเอ่ยถึงเป็นคนแรก ๆ ของประเทศไทย เพราะหลังจากเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2562 เธอก็เป็นคนเสนอให้รัฐบาลนำไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน จนกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับที่ 7 ให้นักเรียนไทยเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา
“เนื่องจากโลกในยุคดิจิทัลศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดยั้ง บุคคลหรือเยาวชนที่จะโตขึ้นมาในสังคมอย่างนี้ จำเป็นที่จะต้องมีทักษะใหม่ 6 ทักษะ ประกอบด้วย 1.ทักษะการอ่าน 2.ทักษะการเขียน 3.ทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล มีตรรกะ 4.ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงคำนวณ 5.ทักษะการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน และ 6.กล้าตัดสินใจ ลงมือทำ ทำผิดแล้วทำใหม่ได้”
“แล้ว Coding ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่ Coding เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เราเรียกว่า Unplugged Coding คือ Coding ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีเครื่อง ไม่ต้องเสียบปลั๊ก นี่คือกุศโลบายให้เยาวชนหรือคนไทยคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล เพื่อจะสร้างสมองคนให้เหมือนสมองกล ให้คิดเป็น คิดอย่างละเอียด คิดเป็นขั้นเป็นตอน แก้ปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ด้วยคณิตศาสตร์ จึงไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยคำเดียวที่จะแปล Coding ได้”
“และหากเด็กของเรามีทักษะเหล่านี้ ไม่ว่าจะเผชิญอีกกี่สถานการณ์ โลกจะเปลี่ยนไปอีกกี่หน พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีความสุข”
เมื่อถามถึงการใช้ Coding ในชีวิตประจำวัน คุณหญิงกัลยายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกว่า
“แม้กระทั่งเด็ก ๆ ประถมศึกษาปีที่ 1 ก็สามารถเรียน Coding แล้วยังช่วยลดภาระแม่ยังไงได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนนี้แม่ต้องบอกให้ลูกลุกไปอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว จัดกระเป๋า เตรียมหนังสือ ใส่รองเท้า เพื่อจะไปทันรถโรงเรียน ถ้าเด็กเขามี Coding เขาก็จะรู้แล้วว่าเขาต้องตื่นให้ทัน ไม่ต้องกุลีกุจอล้างหน้า แปรงฟัน กินข้าว แต่งตัวให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่รถจะมารับ”
“แบบนี้ลดภาระแม่ไหมคะ” คุณหญิงกัลยาถามกลับด้วยรอยยิ้ม เราพยักหน้าตอบ
เธออธิบายจากเรื่องที่ดูไกลตัวให้ดูเป็นเรื่องใกล้เพียงนิดเดียว และเสริมว่าการใช้ Coding ในชีวิตประจำวันช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ
“ถ้าเด็กตื่นก่อนสัก 10 นาที แต่งตัวอาบน้ำอะไรเสร็จแล้วยังพาแม่ไปส่งที่ตลาดก่อน แล้วถึงจะไปโรงเรียน นี่คือการเพิ่มมูลค่าของตัวเอง เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย ถ้าทุกคนมี Coding ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งตัวเองและครอบครัว”
ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร ทุกคนควรจะต้องมี Coding ในทุกกระบวนการของชีวิต – คุณหญิงกัลยาสรุป
นอกจากการศึกษาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คุณหญิงกัลยาให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การนำวิถีเกษตรกรรมมาสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะอาหารคือปัจจัยสำคัญในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์
“มันคือวิถีชีวิตไทย คือคนไทย ประเทศไทยคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรแต่ดั้งเดิม ทูตอิสราเอลบอกกับเราว่าบ้านคุณเนี่ยหักขาเก้าอี้ปักก็ขึ้นแล้ว (ยิ้ม) หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย เพราะฉะนั้นเกษตรกับคนไทยกับการศึกษาจึงแยกกันไม่ออก”
“แม้กระทั่ง บิล เกตส์ (Bill Gates) ยังซื้อที่ตั้ง 600,000 ไร่เพื่อในอนาคตจะทำอาหารทำเกษตรเลี้ยงชาวโลก เทคโนโลยีจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย”
คำตอบที่ได้จากคุณหญิงกัลยา ทำให้ฉุกคิดได้ไม่น้อย ถึงเธอจะอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่ยั่งยืนที่สุดจากประสบการณ์ชีวิตกว่าแปดทศวรรษ คือการหวนกลับสู่วิถีแห่งความเรียบง่าย แต่ถึงอย่างไร ความเรียบง่ายเหล่านั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้เลย หากประชาชนในประเทศไม่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม
“มนุษย์เราต้องการ 4 อย่าง นั่นคือเรียนสนุก ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วมีงานทำแข่งขันได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเราเชื่อว่าหากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาบอกให้ทำ เมื่อหัวเริ่มขยับ ภาคส่วนอื่นจะขยับตามไปด้วย เราสามารถขยายผลไปได้ไกล ไม่ต้องลงทุนอะไรให้มากความ”
“และถ้าทำ T-WAVE ได้เราไม่ต้องห่วงเด็ก ๆ เลย ต่อไปถ้าจะไปเผชิญกับอะไรเขาก็แก้ได้ คือเราต้องฝึกให้เขามี Coding กับ STI (Science, Technology และ Innovation) รวมกันจึงทำให้คนนั้นสมบูรณ์ แล้วก็มีภูมิคุ้มกันที่ดีโดยไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว”
ถึงประตูแห่งความหวังในการเปลี่ยนการศึกษาประเทศไทยผ่าน T-WAVE จะแง้มออกมาให้เห็นอยู่รำไร แต่ต้องไม่ลืมว่าความพยายามครั้งนี้จะไม่เกิดผล หากไม่ได้ผู้นำที่มีความสามารถคอยส่งเสียง ชี้นำ และกรุยทางให้ผู้มีอำนาจในประเทศเล็งเห็นความสำคัญ ซึ่งคุณหญิงกัลยาเองก็พยายามมาโดยตลอด และหวังว่าสักวันหนึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เธอหว่านลงไปบนผืนแผ่นดินไทยจะงอกงามเกิดผลเป็นที่ประจักษ์
“การทำตรงนี้ได้ต้องมาจากใจ ของพวกนี้ต้องอิน ไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่ต้องมีใจและเข้าใจ เพราะเราเกิดในบ้านนอก ขาดแคลนทุกอย่าง ถ้าเราไม่เรียนหนังสือ เราคงไม่มาถึงจุดนี้ เราเห็นกับมาตาว่าการเรียนเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ได้มหาศาลขนาดไหน”
ตลอดการสนทนาทำให้ได้เห็นควาใมตั้งใจจากก้นบึ้งของหัวใจผู้หญิงคนหนึ่ง ว่าเธออยากเห็นคนไทยทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยใช้ Coding และ STI เป็นแกนหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิต
แน่นอนว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องอื่นไกล หากแต่สามารถพบได้ใน T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม เกลียวคลื่นที่พร้อมเข้ามาพลิกโฉมการศึกษาของไทยให้ไปไกลระดับโลก