11 เม.ย. 2567 | 21:29 น.
KEY
POINTS
The People Awards 2024 คือ รางวัลที่มอบให้ ‘คน’ ต้นแบบที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมเพื่อทะยานเข้าสู่อนาคตที่ก้าวล้ำ ภายใต้แนวคิด People Go Beyond
โดยปีนี้ The People มอบรางวัลให้กับ 10 บุคคลต้นแบบในหลากหลายสาขา และหลากหลายศาสตร์ ได้แก่
1. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ที่อุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์ทะเลไทย และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. ‘9arm’ ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล
อินฟลูเอ็นเซอร์สายเทคโนโลยี เจ้าของช่องยูทูบ '9arm' และเจ้าของฉายา รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลและเวทมนตร์
3. จรีพร จารุกรสกุล
แม่ทัพหญิงแห่ง WHA Group ผู้บริหารมากฝีมือที่บุกเบิกธุรกิจโลจิสติกส์เมืองไทย
4. จิราพร คูหากาญจน์
ทายาทนักธุรกิจส่งออกที่ขอเดินในเส้นทางที่ตัวเองเลือกกับบทบาทผู้สื่อข่าววิดีโอประจำแนวหน้าในสมรภูมิรบของสำนักข่าวรอยเตอร์
5. ยุทธนา บุญอ้อม
ผู้บริหารบริษัทจัดงานแสดงดนตรี ผู้สร้างสรรค์ “เทศกาลดนตรี” ประเทศไทย และผู้ดำเนินรายการ 'ป๋าเต็ดทอล์ก' รายการที่เจาะไปถึงเบื้องลึกของผู้ที่มาให้สัมภาษณ์
6. คัลแลน - พัค กีดึก และ พี่จอง
คัลแลน-พี่จอง สองหนุ่มยูทูบเบอร์เกาหลี ผู้สร้างปรากฏการณ์ใจฟู และกำลังมาแรงสุดตอนนี้
7. วิทย์ สิทธิเวคิน
พิธีกร ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการ 8 Minute History ที่ใครหลายคนมักจะรู้จักกันดีในชื่อ 'เฮียวิทย์' เขาคือผู้ทำให้เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเปิดมุมมองผู้ฟังทั้งในแง่มุมตัวบุคคล การเมือง และเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อความเป็นไป ณ ห้วงเวลานั้น
8.สมบัติ บุญงามอนงค์
อดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้มีนามแฝงบนโลกออนไลน์ว่า 'บ.ก.ลายจุด' และริเริ่มโครงการเพื่อสังคมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น จ้างวานข้า, อาสาดับไฟป่า และชรารีไซเคิล
9.ธิติ ศรีนวล
ผู้กำกับภาพยนตร์สัปเหร่อ หนังไทยที่ทำเงินสูงสุดในปี 2566 ด้วยตัวเลข 700 ล้านบาท
10.พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ
นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองโอลิมปิก และเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
บทความนี้ The People ชวนทุกคนมาถอดความคิดของ 10 บุคคลต้นแบบที่ได้รับรางวัล The People Awards 2024 ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคม
“เมื่อมีคนเห็นคุณค่า เมื่อมีคนคิดว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เมื่อมีคนคิดว่ามีเด็ก ๆ มีน้อง ๆ อยากทําตามเรา เอาเราเป็นแบบอย่าง แน่นอนว่ามันเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดสําหรับคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง”
นี่คือส่วนหนึ่งของคำพูดรับรางวัล The People Awards 2024 ของ ‘ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทะเลที่สนใจเรื่องท้องทะเลตั้งแต่เด็ก และตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า อยากจะทำงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องไปกับการพัฒนาด้วย
เขาเลือกเรียนต่อวิทยาศาสตร์ทางทะเล บินไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียในเรื่องเดียวกัน ก่อนจะกลับมาทำงานเป็นนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตลอดเส้นทางการผลักดันเรื่องทะเล ดร.ธรณ์มีส่วนช่วยใหเกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่าวมาหยา เกาะตาชีน และผลักดันให้ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก
การทำงานที่ค่อย ๆ ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปทีละน้อย ก้าวข้ามกาลเวลา ก้าวข้ามความสำเร็จ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่น่าอยู่ในคนรุ่นถัดไป
เป้าหมายความสำเร็จของดร.ธรณ์จึงไม่ใช่ความสำเร็จเพื่อใคร แต่เป็นความหวังว่าทะเลเสื่อมโทรมลงไปมากกว่านี้
“ยิ่งทะเลโดนทําลายเท่าไร ต่อให้มันเป็นความสําเร็จส่วนบุคคล ผมก็ไม่รู้สึกว่าผมสําเร็จ แล้วผมก็รู้ดีว่าผมคงจะต้องไขว่คว้าความสําเร็จไปตลอดชีวิต เพราะว่าทะเลไม่มีทางที่จะสําเร็จสวยงามสมบูรณ์ได้ในอุดมคติของผม ผมกําลังต่อสู้กับทะเลที่ทรุดโทรมลง ต่อสู้กับความโลภที่มีมากขึ้นของมนุษย์ ต่อสู้กับโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน”
คำว่า Go Beyond ในมุมมองของดร.ธรณ์ คือ การตั้งเป้าหมาย และทำให้เป้าหมายของตัวเองเป็นจริง
“อยู่มาให้ได้ 20-30 ปีนั่นคือ Go Beyond ขีดจํากัดคือกาลเวลา ขีดจํากัดคือเวลาว่าคุณจะสามารถอยู่ในจุดที่คุณรู้สึกว่าคุณประสบความสําเร็จต่อไปเรื่อย ๆ ได้อย่างไร อะไรคือแรงผลักดัน ในเมื่อแรงผลักดันของคุณไปถึงเป้าหมายเรียบร้อยแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน สําหรับผมมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นนะครับ คือผมรักทะเล
“หน้าที่ของผมคือพูดและกระทําเพื่อปกป้องในสิ่งที่โดนทําร้ายโดยน้ำมือของพวกเรา และเขาไม่สามารถแม้กระทั่งบอกได้ว่าเขาเจ็บ เขาปวด เขาใกล้ตาย นั่นคือหน้าที่ของผม”
ถ้าพูดถึงชื่อ ‘ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล’ หลายคนอาจไม่คุ้น แต่ถ้าพูดถึงว่า เขาคือ ‘9arm’ อินฟลูเอ็นเซอร์สายเทคโนโลยีทุกคนคงเคยได้ยินชื่อกันบ้าง
ย้อนกลับไป 9arm เข้าวงการยูทูปเบอร์จากการรีวิวเกม เขาก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเองครั้งแรก ๆ ด้วยการตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกสาขา Computer Science ที่สหรัฐอเมริกา ดีกรีเป็นหนึ่งในผู้พัฒนา Frontier ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพระดับโลก
ช่วงนั้นเขาก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคม หันมาเล่าเรื่องเทคโนโลยีเปลี่ยนเรื่องยากให้ง่าย และยังแต่งตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลและเวทมนตร์
แต่ด้วยแรงซัพพอร์ตของชาวแชตและคนหลังบ้านนายอาร์ม ทำให้เขาขึ้นแท่นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่หลายคนรู้จักและยอมรับ
การค่อย ๆ ก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นายอาร์มมองว่า ถ้าไม่กล้าออกจากพื้นที่เดิม กลัวผิดพลาด เราจะไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่หรือกล้าท้าทายตัวเองได้
ส่วนหนึ่งของคำพูดรับรางวัลของนายอาร์มใน ‘The People Awards 2024’ เขาจึงอยากให้ทุกคนลองออก
“ผมเข้าใจว่าใน comfort zone มันก็ดี มันดูเซฟ มันไม่มีอะไรมาทําร้ายเราได้ แต่ว่าถ้าเกิดว่าเราจะโต เราจะต้องก้าวออกไปอย่างน้อยนิดหนึ่ง ไปลองดู ถ้าเกิดอาจจะก้าวออกไปแล้วโดนซัดกลับมาก็ไม่เป็นไร รอบใหม่เราก้าวออกอีกทางหนึ่ง เราค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเหลาตัวเองให้คมไปเรื่อย ๆ
“เพราะความผิดพลาดจริง ๆ ถ้ามองย้อนกลับไป ไอ้ความผิดพลาดนั่นแหละเป็นตัวที่ define เราในตอนนี้”
“เมื่อทำแล้ว มีแต่ I am possible ไม่มีคำว่า impossible”
ครั้งหนึ่ง ‘จรีพร จารุกรสกุล’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ ‘ลงทุนแมน’ ว่าก่อนจะทำสิ่งใหม่ สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูลให้เยอะที่สุดก่อนลงมือทำ
เธอยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้คิดว่าเธออยากทำอะไร แต่ดูว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งกลายเป็นที่มาของ ‘ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป’ (WHA Group) บริษัทด้านโลจิสติกส์ที่ใช้คลังสินค้าแบบ Built to Suit คลังสินค้าที่สร้างขึ้นตามความต้องการของผู้เช่า
จากปี 2546 WHA Group ก็เติบโตจนเป็นผู้นำและเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโลจิสติกส์ในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในที่สุด
ผู้นำแบบจรีพร คือ การมองการณ์ไกล และมองไปข้างหน้า ตั้งโจทย์ แล้วไปให้ถึง
ในบทสัมภาษณ์เดียวกัน จรีพรยังบอกหลักคิดในการทำงานของตัวเองด้วยว่า ต้องมี ‘3 กล้า’ กับ ‘1 พร้อม’
“กล้าแรก คือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน กล้าที่ 2 คือกล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่ 3 คือกล้าที่จะบุกเบิก
“ถ้าคุณมี 3 กล้านี้ คุณจะทำทุกเรื่องได้หมดเลย อย่างพี่เอง เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายเป็นนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลให้กับหลาย ๆ คน ส่วนกล้าที่จะแตกต่าง คนส่วนมากเห็นว่าอะไรดีก็ทำตาม แต่พี่ต้องหาความแตกต่างให้เจอและก้าวขึ้นเป็น Leader ให้ได้”
“การทำข่าวในแนวหน้าของสมรภูมิรบ เราเตรียมใจถึงขั้นที่ว่าไม่มีชีวิตรอดเลยนะก่อนที่เราจะไป เราก็ทำทุกอย่างที่เราคิดว่ามันน่าจะทำได้ เป็นเหมือนเป็นการ Say good bye ไปกินข้าวกับคนที่บ้าน คนที่รัก บอกลาแมว ทำเหมือนว่าถ้าเกิดว่าเราไม่ได้เจอกันแล้ว ”
10 ปีก่อน ‘กวาง’ จิราพร คูหากาญจน์ เริ่มอาชีพสื่อมวลชนด้วยการสมัครเป็นช่างภาพข่าว จนมาหยุดที่ตำแหน่งโปรดิวเซอร์ และผู้สื่อข่าววิดีโอประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ปิดฉากความฝันด้วยการเป็นนักข่าวท่ามกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน คือ สถานที่สุดท้ายที่เธอใช้ปิดฉากความฝัน ก่อนจะไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาปริญญาโท ด้าน Cinematic Arts ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย
การเป็นสื่อมวลชนท่ามกลางสงครามไม่ใช่เรื่องง่าย เธอต้องก้าวข้ามความกลัวและความกังวลในใจ เพื่อทำให้งานของเธอออกมาได้ดีที่สุด
“อย่างที่เราเคยพูดตลอดว่า เรื่องของสุขภาพจิต เรื่องของการทํางาน เป็นเรื่องสําคัญ เราก็อยากจะไฮไลต์เรื่องนี้ต่อไป เพราะการทํางานพื้นที่ใน war zone มันไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะก้าวข้ามความกลัว ความกังวล ในแต่ละวันไปได้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด”
ไม่เพียงแค่ต้องก้าวข้ามสิ่งที่อยู่ในใจ แต่เธอยังต้องก้าวข้ามสิ่งแวดล้อมรอบตัว พิสูจน์ตัวเองว่า เธอคือนักข่าวหญิงที่ทำงานในภาวะความขัดแย้งได้ ดูแลตัวเองได้
“การทํางานใน war zone เราก็เป็นผู้หญิง การใช้ชีวิตวันต่อวันมันลําบากมาก แต่ถ้าเกิดว่าเราสามารถจัดการกับเรื่องนั้นได้ การทํางานมันก็จะมีประสิทธิภาพกับการทํางาน แล้วมันก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการทํางาน
“เราก็อยากให้ทุกคนน่ะเชื่อว่า เรามีความฝัน เราก็ต้องเดินไปถึงจุดนั้นให้ได้ ไม่ว่าคนจะพูดว่าอย่างไร เพราะว่าสุดท้ายแล้ว การทําข่าวไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าจะมีประโยชน์กับใครมากน้อยขนาดไหน
ณ วันนี้ 'ป๋าเต็ด' ยุทธนา บุญอ้อม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลดนตรี Big Mountain แต่วันนี้เขาเป็นพิธีกรออนไลน์ที่ชวนศิลปินมาพูดคุยเรื่องราวชีวิตเบื้องหลังผ่านรายการ ‘ป๋าเต็ด ทอล์ก’
ปี 2023 ป๋าเต็ดให้สัมภาษณ์กับ The People เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อวันข้างหน้าว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การหันหน้าไปทางอื่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เป็นการที่เรารู้ตัวว่า เราอยากเปลี่ยนอะไร แล้วเริ่มลงมือทำ
เช่นเดียวกับที่ป๋าเต็ดค่อย ๆ ผลักดันวงการเพลงไทย จากยุค Hotwave มาถึง Big Mountain และรายการป๋าเต็ดทอล์ก
เส้นทางระหว่างทางไม่ง่าย แต่วันนี้เขาก็พิสูจน์ว่า การเปลี่ยนแปลงทีละน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่จำไปสู่เป้หมายและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
วันที่ป๋าเต็ดเดินขึ้นรับรางวัล The People Awards 2024 คำกล่าวรับรางวัลจึงเป็นการ empower ให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่รักและสิ่งที่เป็น
เพราะนั่นหมายความว่า คุณได้ลงมือทำอะไรบางอย่างแล้ว
“ผมรู้สึกว่า สิ่งหนึ่งที่ผมชอบและภูมิใจมากในวันนี้ รางวัล The People มอบรางวัลให้กับคนที่คุณทำอะไรก็ได้ แล้วทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ในแบบที่คุณคิดว่ามันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ถ้าพูดในมุมใหญ่ ถ้าพูดในมุมเล็ก ๆ คือ ทำในสิ่งที่เชื่อว่ามันดีที่สุดและทำแบบที่เราเป็น ผมดีใจที่ผมได้จัดทำมิวสิกเฟสติวัล ทำรายการในแบบที่สนุก และอยากให้คนสนุกด้วย และดีใจมากกับทุกคนที่ได้รับรางวัลในวันนี้”
ถ้าจะพูดถึงยูทูปเบอร์สายเที่ยวที่มาแรงในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ก็ต้องยกให้ ‘컬렌 Cullen HateBerry’ ที่ประกอบด้วยสองหนุ่มสัญชาติเกาหลีใต้ คือ คัลแลน (พัค กีดึก) และ พี่จอง
พวกเขาไม่ได้เพียงแค่พาไปเที่ยวเฉย ๆ แต่พาชมชีวิตวิถีชาวบ้านของไทย จนหลายคนอยากไปเที่ยวตาม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในการชวนคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ
ถ่ายทอดมุมมองสายตาของคนต่างชาติที่เพิ่งเคยเห็น เพิ่งรู้จัก และเพิ่งมาเป็นครั้งแรก ก้าวข้ามความกลัวจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตในต่างแดน
ไม่กลัวที่จะผิดพลาด และก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษา มอบความรู้และสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม
ไม่ได้จำกัดสิ่งที่ควรเป็น - ควรทำ ในมุมมองของชาวเกาหลีเท่านั้น แต่พวกเขาเปิดกว้างทางความคิด พร้อมเรียนรู้ ‘ลองของ’ อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ
“มนุษย์ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อที่เราจะสามารถเดินหน้าได้ดีขึ้น”
ประโยคสำคัญของ ‘วิทย์ สิทธิเวคิน’ ผู้ได้รับรางวัล The People Awards 2024 ที่เชื่อว่าการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์จะทำให้คนในสังคมเดินหน้าได้อย่างมั่นคง
ในงานรับรางวัล The People Awards 2024 วิทย์บอกว่า รายการพอดแคสต์ที่เขาทำ เริ่มต้นจากรายการที่ไม่มีมูลค่าทางการตลาด สู่รายการที่ครองใจผู้ชมเพื่อมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ไปด้วยกัน
“วันนี้ผมดีใจ ไม่ใช่แค่นี้ The People อุตส่าห์ให้รางวัลกับรายการที่ไม่มีคุณค่าทางการตลาดเลย ยุคปัจจุบัน เราพยายามทำคอนเทนต์ในศาสตร์หลากหลายสาขามาก เราจะเห็นคนที่ทำรายการชีววิทยา รายการวิทยาศาสตร์ รายการคณิตศาสตร์ ศาสตร์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งผมถือว่ามันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรู้มากขึ้น”
และการทำรายการประวัติศาสตร์นี้จะเป็นหมุดหมายที่ดีที่ทำให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ไทย เสพประวัติศาสตร์ไทย และทำให้คนทั่วโลกเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวจาดอดีตน่าสนใจไม่แพ้ชาติไหน
อีกทั้งตัวเขาเองก็เชื่อว่า ประวัติศาสตร์จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้เช่นกัน
คำพูดทิ้ท้ายของเขาในการปรับรางวัล เขาบอกว่า “ผมพูดแบบนี้ History inspire people to write new chapter all the time”
สิ่งที่สมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา และผู้อำนวยการภารกิจดับไฟป่า เชื่อมาตลอด คือ ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้
เขาริเริ่มโครงการเพื่อสังคมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น จ้างวานข้า, อาสาดับไฟป่า และชรารีไซเคิล ไปพร้อมกับการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในนาม ‘บ.ก.ลายจุด’
“ผมมองว่ามันเปลี่ยนไปเยอะมากเลย มันเปลี่ยนแล้ว แม้ว่ามันไปไม่ถึงจุดที่คุณตั้งธงไว้ สำหรับผม ขอให้มีความเปลี่ยนอยู่ มีวิวัฒนาการ ผมยอมรับได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องฝืนไม่ได้ เปลี่ยนแน่นอน จะเปลี่ยนช้า เปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนในรูปแบบไหนเท่านั้น แล้วมันจะถึงตรงนั้นได้ เมื่อวันหนึ่งวันนั้นเป็นของรุ่นคุณ คุณถึงจะเปลี่ยนสิ่งนั้นได้ มันจะมาแน่นอน”
ที่งาน The People Awards 2024 สมบัติเล่าถึงสถานกาณ์ไฟป่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขาเป็นผู้ประสบภัย ห็นหมอกควันตอนเช้าในจังหวัดเชียงใหม่ จึงอยากลุกขึ้นมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับสังคม
“ผมเล่าเรื่องอาสาดับไฟป่านิดนึง เมื่อปี 2541 ผมทำงานอยู่บนดอยอยู่ที่เชียงราย ทำงานอยู่ที่นั่น 7 ปี ผมเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยหลายล้านคนในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคเหนือ ทุกปีจะมีเหตุการณ์เรื่องไฟป่าหมอกควัน มีบางทีตอนเช้าที่เราตื่นขึ้นมา อากาศเป็นสีน้ำตาล ถ้าเอาเครื่องวัดมาวัดอากาศในปัจจุบันไปจับ จะทะลุปรอทไปเลย 800 1,000 นึง ถ้าท่านอยู่ในสภาวะนั้น ท่านจะรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างกับสิ่งนี้
“แต่ว่า ณ เวลานั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมยืนอยู่หน้าไฟ ยืนต่อหน้าภูเขาที่มีไฟเป็นหางมังกร ผมบอกตัวเองเลยว่าผมไม่รู้จะทำอะไรกับมันดี แล้วก็รู้สึกพ่ายแพ้ แต่ว่าใจรู้ว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ จน 5 ปีที่แล้ว มีน้องคนนึงเข้าไปเป็นอาสาเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า อยู่ 3 ปี ช่วยบินโดรน เอาโดรนไปบินให้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เขาไม่มีโดรน”
การก้าวข้ามความแตกต่าง ลุกมาสร้างการเปลี่ยนแปลง สังคมจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วสมบัติก็เชื่อว่าวันหนึ่ง ปัญหาก็จะถูกแก้ ไม่ว่าช้าหรือเร็ว
‘สัปเหร่อ’ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากสุดในรอบทศวรรษ
คนที่อยู่เบื้องหลัง คือ ผู้กำกับวัย 28 ปี อย่าง ‘ต้องเต’ ธิติ ศรีนวล ที่ผ่านประสบการณ์จากหนังหลายเรื่องในจักรวาลไทบ้าน
คีย์เวิร์ดการทำงานของต้องเต คือ ความเป็นมนุษย์
เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว และอยากเล่าจนกลายเป็นหนังที่ทำรายได้มากกว่า 500 ล้าน ทั้งยังเป็นปรากฎการณ์ที่ชวนคนไทยเข้าโรงภาพยนตร์อีกครั้ง
นี่คือส่วนหนึ่งของคำพูดรับรางวัล The People Awards 2024 ของชายคนนี้
“หนังไทย หลังจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าโรงหนัง ยากมากที่จะมีหนังที่จะได้ร้อยล้าน แทบจะไม่คาดหวังแล้ว แล้วก็ปีนี้เป็นปีที่หนังไทยกลับมา แล้วแข่งขันกันดุเดือดมาก และอยากให้ทุกเรื่องประสบความสำเร็จ ฝากทุกคนสนับสนุนหนังไทยด้วย ขอบคุณครับ”
‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เป็นนักกีฬาที่เริ่มต้นจากความผิดหวัง แต่สามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นนักเทควันโดอันดับ 1 ของโลก
ตอนเด็ก เทนนิสเป็นเด็กรูปร่าง ผอมบาง ไม่แข็งแรง คุณพ่อและคุณแม่ของเทนนิสจึงพาลูกสาวออกกำลังกาย ลองเล่นกีฬาหลายอย่างจนมาเจอ ‘เทควันโด’ ในวัย 7 ปี ถึงจะตกรอบหลายครั้ง แต่ก็ไม่ยอมแพ้สู้กับตัวเองเรื่อยมาจนขึ้นเป็นนักกีฬาเทควันโดความหวังของประเทศไทย
เธอคือคนที่ต่อสู้และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองมาตลอด ไม่หวั่นแม้จะอยู่ท่ามกลางการแข่งขัน เพราะเธอเชื่อว่า “ถึงจะยาก แต่ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้”
และทิ้งท้ายว่า “เพราะว่าตอนนี้มีอาการบาดเจ็บค่อนข้างเยอะ ฝากเป็นกำลังใจ เชียร์ให้หนูคว้าเหรียญทองที่สองให้กับประเทศไทย ได้สร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่อันนี้ให้กับประเทศของเราด้วยนะคะ อย่างที่บอกว่ายากไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ หนูจะทำให้ได้ค่ะ ฝากเชียร์ด้วยค่ะ”
อ้างอิง
คุณจรีพร นักธุรกิจหญิง ผู้สร้างอาณาจักร WHA 60,000 ล้าน | ตกตะกอน EP.5 / ลงทุนแมน
นำแบบจรีพร WHA เบื้องหลังวิสัยทัศน์แสนล้าน / The Secret Sauce