‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ จากพิธีกรสู่ผู้นำปฏิวัติวงการสื่อให้ ‘Better Tomorrow’

‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ จากพิธีกรสู่ผู้นำปฏิวัติวงการสื่อให้ ‘Better Tomorrow’

จากเด็กหนุ่มผู้คว้าเงินล้านในวัย 16 สู่ผู้นำสื่อที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ‘หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ พร้อมพลิกโฉมวงการสื่อไทยอีกครั้งด้วยการผสาน AI เข้ากับ content พร้อมเผยแนวคิดการเป็นผู้นำในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

KEY

POINTS

  • เผยวิสัยทัศน์การปฏิวัติวงการสื่อครั้งใหม่ด้วย AI ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ชมไปตลอดกาล
  • ถอดรหัสความสำเร็จในการนำองค์กรผ่านยุคเปลี่ยนผ่าน จากทีวีสู่ดิจิทัล และกำลังก้าวสู่ยุค AI
  • เปิดตัว BT Awards รางวัลรูปแบบใหม่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนกล้าเปลี่ยนแปลงสังคม

“ไม่เปลี่ยนก่อนก็คือตาย เพราะบริษัทเราเล็ก ถ้าเรารอให้คนอื่นเปลี่ยนแล้วเราค่อยเปลี่ยน เราจะเละเทะไปนานแล้ว” คำพูดที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ของ ‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘หนุ่ย แบไต๋’ CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด และพิธีกรด้านไอทีชื่อดังของประเทศไทย ที่ไม่เคยหยุดนิ่งกับการเปลี่ยนแปลง

ในวัย 16 ปี เด็กหนุ่มคนหนึ่งได้สร้างความฮือฮาด้วยการคว้าเงินรางวัลหนึ่งล้านบาทจากการประกวดรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง จนมีคนสลักชื่อไว้ในห้องน้ำโรงเรียนว่า ‘หนุ่ยเงินล้าน’ และต้องขึ้นรายงานหน้าเสาธงถึงความสำเร็จครั้งนั้น

เงินรางวัลก้อนแรกในชีวิตถูกนำไปลงทุนกับสิ่งที่คนทั่วไปในยุคนั้นยังเข้าถึงได้ยาก นั่นคือ ‘คอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต’ จุดเริ่มต้นของการ “เกาะคลื่นอินเทอร์เน็ตลูกแรก” ของเมืองไทย ที่ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของอาชีพในอนาคต

แม้จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจบนเวที แต่พงศ์สุขยอมรับว่าในอดีตเขาเป็นคนขี้อาย มือเย็น และตื่นเต้นเวลาต้องออกรายการโทรทัศน์ “สมัยก่อนนะ ถ้าเป็นฟอร์แมตรายการทีวีเนี่ย ผมจะกระวนกระวายอย่างมาก มือเย็น สั่น และปากอาจจะกระตุกนิดหน่อยเวลาพูด”

จากความกลัวและความไม่มั่นใจ เขาได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็น ‘พิธีกรมืออาชีพ’ โดยเริ่มจากงานอีเวนต์แรกที่ไม่เกี่ยวกับไอทีเลย แต่เป็นงานเปิดตัวแบรนด์เครื่องสำอาง ความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองมีความสุขกับการเป็น ‘ซูเปอร์แมน’ ที่ช่วยปัดเป่าความกังวลให้ลูกค้า

‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ จากพิธีกรสู่ผู้นำปฏิวัติวงการสื่อให้ ‘Better Tomorrow’

“ผมชอบแล้วก็ได้รับค่าจ้างด้วย ผมก็รู้สึกว่า เออ งานนี้เป็นงานที่ดี” เขาเล่าถึงความรู้สึกในวันนั้น “เราสนุกกับการที่พวกเขาอาจจะรับโจทย์ยากมา แล้วเราทำให้เขาง่ายขึ้น”
 

26 ปีในฐานะพิธีกรไอที และ 24 ปีในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท เขาได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสื่อมาหลายยุคสมัย “ผมอยากจะทำอาชีพนี้ไปได้ตลอด ฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนผ่าน”

ยุคแรกของการทำงานในวงการสื่อ เขาต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารายการไอทีมีคนดู แม้หลายคนจะไม่เชื่อมั่น และผลักให้ไปออกอากาศช่วงดึก “โอ้ น้องเป็นไอที น้องพูดเก่งมากเลย แต่ว่าน้องไปอยู่ตีหนึ่งละกัน เพราะว่าคนไอทีน่าจะนอนดึกนะ เวลากลางวันมันเป็นเงินเป็นทองอะ”

แต่ด้วยความมุ่งมั่น และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าไอทีเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่นอนดึก “ผมเนี่ยพยายาม challenge ให้โทรทัศน์ไทยมีไอทีมาโดยตลอด”

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล “เราต้องเปลี่ยนผ่าน ถามว่าทำยังไงไม่ให้พลาด เปลี่ยนแปลงมันซะก่อนจะหมดโอกาส เพราะว่าถ้าเรารอการเปลี่ยนแปลงมาปะทะตัว เราจะเปลี่ยนไม่ทัน”

‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ จากพิธีกรสู่ผู้นำปฏิวัติวงการสื่อให้ ‘Better Tomorrow’

จากยุคทีวีที่รายได้หลักมาจากการโฆษณา สู่ยุคออนไลน์ที่ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง “เมื่อก่อนโฆษณาจะอยู่ในช่วงของมัน พักสักครู่ครับ ตัดเข้าโฆษณา แต่วันนี้รูปแบบการหารายได้เปลี่ยนไป เฟซบุ๊กและยูทูบ เอาไปกินหมด”

การปรับตัวครั้งสำคัญคือการแยก content เป็นสองส่วนชัดเจน “Original content ก็คือสิ่งที่เราคิดว่าอะไรเป็นประโยชน์กับคน เราทำ แต่ Branded content จะเปิดประตูให้กับสินค้าและแบรนด์ที่จะสนับสนุนเราได้”

ในฐานะผู้นำองค์กรที่ต้องพาทีมฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง พงศ์สุขมองว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ “การจะให้คนเข้าใจเหมือนกันมันยากมาก สิ่งที่ชื่อว่ามนุษย์เนี่ยยากสุด”
 

การสร้างทีมให้เข้มแข็ง และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “เราต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร” นี่คือหลักคิดที่เขาย้ำกับทีมงานเสมอ เพื่อให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน แม้จะอยู่ในยุคที่ทุกคนแข่งขันกันผลิต content สั้นเพื่อตอบสนองกระแส

“มันต้องดูจบแล้ว มันต้อง call to action ได้ ดูแล้วต้องรู้สึกอยากทำในสิ่งที่นำเสนอ” เขาเน้นย้ำถึงคุณค่าของ content ที่ต้องมีมากกว่าแค่ความบันเทิง นี่คือหนึ่งในหลักการที่ทำให้ BT แตกต่างจากสื่ออื่น ๆ

ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางนี้ เขาจึงตัดสินใจปฏิวัติวงการสื่ออีกครั้งด้วยการนำ AI มาผสานกับการนำเสนอ content “ผมอยากได้ยินเสียงผู้ชม ผมจะเอา AI เข้ามาผสานทำให้สื่อที่กำลังถูกนำเสนออยู่เนี่ย สามารถคุยกับคนดูได้”

แนวคิดนี้เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมผู้ชมที่มักจะพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นระหว่างดูรายการ “เวลาเค้าเปิดทีวีจอใหญ่ เค้านั่งอยู่ในบ้านกินข้าว เค้ามีพฤติกรรมเถียงจอทั้งนั้นแหละ”

การนำ AI มาใช้จะช่วยให้การมีส่วนร่วมของผู้ชมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น “เราก็ตอบเค้าโดย Generative AI” ซึ่งจะแก้ปัญหาการ comment ที่ไม่ทันท่วงทีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เขายังริเริ่มการมอบรางวัล ‘The First BT Awards’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ด้วยแนวคิดที่แตกต่างจากการมอบรางวัลทั่วไป

“เราจะมีหนัง 12 เรื่องที่คุณผู้ชมหรือแขกผู้มีเกียรติที่อยู่ในงาน จะได้ดื่มด่ำก่อนว่าเขาได้เพราะอะไร” เป็นการมอบรางวัลที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีผู้เข้าชิง แต่เน้นการเล่าเรื่องราวของผู้ได้รับรางวัล

การมอบรางวัล BT Awards สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก รางวัลนี้จะมอบให้กับ 11 องค์กรและ 1 บุคคลที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้สังคม “องค์กรที่สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มัน Better Tomorrow เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน เราขอยกย่อง” ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาการทำงานของ BT ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้สังคม

การมอบรางวัลจะแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่มักจะเน้นเชิงปริมาณ “ส่วนใหญ่เราจะเจอภาพว่าคนนี้ได้เดินขึ้นไปรับ ขอบคุณครับ ลง” แต่สำหรับ BT Awards จะเน้นการเล่าเรื่องราวผ่านภาพยนตร์สั้นที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงคุณค่าของผู้ได้รับรางวัลอย่างแท้จริง

ในฐานะผู้นำ เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตัวเองก่อน “ผมคนเดียวเปลี่ยนไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าผมแค่จะทำตัวอย่างให้ดูก่อน” เช่นเดียวกับที่เคยทำมาในอดีต เมื่อครั้งที่ร่วมนำรายการไอทีเข้าสู่รายการโทรทัศน์

การปรับตัวเข้าสู่ยุค AI ก็เช่นกัน เขาพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง “ยุคหน้าเนี่ย สื่อต้องเป็น Life Companion หมายความว่า Media Company มีแต่จะลดมูลค่าลง”

ภายใต้แบรนด์ BT หรือ Better Tomorrow พงศ์สุขต้องการสร้างสื่อที่จะพาสังคมไปข้างหน้า “ผมทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องมีเพื่อนสื่ออีกหลายคนที่เห็นดีด้วย และมีคนที่ทำแบบนี้อยู่ ผมขอเติมทัพตรงนี้เพื่อให้มันผลักดันไปข้างหน้า”

การริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนเหนื่อยล้าจากการวิ่งตามความเปลี่ยนแปลง “เพื่อนสื่อตามที่ต่างๆ พูดเป็นคำเดียวกัน เหนื่อย” แต่ในวัย 49 ปี พงศ์สุขได้เรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาองค์กรกับการดูแลตัวเอง

จากประสบการณ์อันยาวนานในฐานะผู้นำ เขาค้นพบว่าการดูแลสภาพจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ “จากความกลัว และความไม่มั่นใจในวัยหนุ่ม วันนี้ผมชอบความจริง และรู้จักแยกแยะระหว่าง fact กับ opinion” นอกจากนี้ เขายังจัดสรรเวลาพิเศษทุกสัปดาห์เพื่อเติมพลังให้ตัวเอง

ในฐานะผู้นำ เขายังเชื่อในการเลือกที่จะ ‘ไม่ทำ’ บางสิ่งเพื่อให้สิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่าและความหมาย “Choose what not to do ศาสตร์ของการทำที่แท้จริงอะ มันคือรู้ว่าจะทำอะไร และไม่ทำอะไรต่างหาก”

‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ จากพิธีกรสู่ผู้นำปฏิวัติวงการสื่อให้ ‘Better Tomorrow’

“วันนี้ beat ในการใช้ชีวิตช้าลง แต่งานที่ต้องรับผิดชอบมันมากขึ้น คือเราต้องทำให้องค์กรเราก้าวข้ามการ disruption รอบสองอีกครั้ง” เห็นได้ชัดว่าแม้จเขาะชะลอจังหวะชีวิตลง แต่วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นยังคงแรงกล้าเหมือนเดิม

ท้ายที่สุด พงศ์สุขทิ้งท้ายด้วยประโยคที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน “เราต้องเปลี่ยนแปลงซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ถ้าเราไม่เปลี่ยน เราจะไม่มีโชว์โนลิมิตที่เดินมาถึงปี 2025 จากปี 2000 ได้”

 

สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า

ถ่ายภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม