07 ธ.ค. 2561 | 11:12 น.
วันที่ 7 ธันวาคม 1941 กองทัพญี่ปุ่นได้ลอบโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่ฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่กำลังของสหรัฐฯ ไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือ ทำให้เกิดความความสูญเสียครั้งใหญ่ เรือรบและเครื่องบินกว่าครึ่งถูกทำลาย มีผู้เสียชีวิตกว่าสองพันราย กลายเป็นชนวนที่ชักนำสหรัฐฯ เข้าสู่สมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก่อนหน้านั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรรวมถึงสหรัฐฯ (ที่ขณะนั้นยังวางตัวเป็นกลาง) น่าจะรู้ก่อนแล้วว่า ญี่ปุ่นมีแผนที่จะโจมตีสหรัฐฯ จากการถอดรหัสข้อมูลที่ได้จากการดักสัญญาณโทรเลขของ "ฮิโรชิ โอชิมะ" ทูตญี่ปุ่นประจำเยอรมนี "สหภาพโซเวียตสามารถถอดรหัสข้อมูลโทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศที่มีไปถึงทูตญี่ปุ่นในเยอรมนีซึ่งเผยถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นที่จะทำสงครามกับสหรัฐฯ ทั้งนี้จากข้อมูลในเอกสารที่ถูกลดชั้นความลับของ NKVD หน่วยข่าวกรองก่อนยุค KGB [ของโซเวียต]" ตอนหนึ่งของรายงานข่าวของ The Japan Times เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2004 ระบุ โทรเลขฉบับดังกล่าวสั่งให้ โอชิมะเข้าไปอธิบายกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีและโจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอป (Joachim von Ribbentrop) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแบบลับๆ ว่า การเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ไม่คืบหน้าไปไหน และญี่ปุ่นอาจจะทำสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ เร็วกว่าที่คาดกันไว้ รายงานของสื่อญี่ปุ่นชี้ว่า โซเวียตซึ่งเป็นหนึ่งในฝ่ายสัมพันธมิตรหลังเข้าร่วมสงครามในช่วงต้นปี 1941 น่าจะถอดรหัสข้อมูลดังกล่าวได้ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ขณะที่สหรัฐฯ น่าจะถอดรหัสได้ในวันที่ 1 ธันวาคม ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮิโรชิ โอชิมะ เป็นลูกหลานตระกูลซามูไรจากกิฟุ พ่อของเขา ฮิโรชิ เคนอิจิ เคยเป็นรัฐมนตรีสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาเดินตามรอยพ่อด้วยการเข้าโรงเรียนทหาร และได้ดิบได้ดีในฐานะทูตทหารโดยเริ่มรับตำแหน่งทูตทหารประจำกรุงเบอร์ลินตั้งแต่ปี 1934 เขาสามารถพูดภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสนิทสนมกับผู้นำระดับสูงของนาซี หลังฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศสงครามกับนาซี ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ พยายามดักข้อมูลการสื่อสารของนาซีและญี่ปุ่น และสามารถถอดรหัสการสื่อสารทางการทูตของญี่ปุ่นได้บางส่วนตั้งแต่ก่อนสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโดยเฉพาะข้อมูลโต้ตอบของโอชิมะกับฝ่ายนาซี ว่ากันว่าลำพังปี 1943 เพียงปีเดียว สหรัฐฯ สามารถอ่านข้อมูลที่ออกมาจากโอชิมะได้กว่า 400 ชิ้น (The New York Times) ข้อมูลที่สหรัฐฯ สามารถอ่านได้ก็มีเช่นกรณีที่ฮิตเลอร์บอกกับโอชิมะในช่วงเดือนกันยายน 1943 ว่าแผนการพัฒนาจรวด V1 และ V2 ต้องล่าช้าออกไปเพราะได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร และเดือนต่อมาก็บอกถึงสถานการณ์ที่กองทัพนาซีต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับในการรบกับโซเวียต ซึ่งฮิตเลอร์บอกว่าเขาไม่ได้กังวลกับเรื่องดังกล่าว การรู้ข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามสร้างความได้เปรียบในการรบให้กับทางสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก จอร์จ มาร์แชล (George Marshall) อดีตเสนาธิการกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามจึงได้เตือน โธมัส ดิวอี (Thomas Dewey) ผู้อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันในปี 1944 ถึงความสำคัญดังกล่าว หลังได้ข่าวว่าดิวอีเตรียมยกเรื่องที่รัฐบาลละเลยข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามที่ได้จากการถอดรหัสขึ้นมาโจมตีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น มาร์แชลกล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการของฮิตเลอร์ในยุโรปที่ทางสหรัฐฯ ได้มาล้วนได้มาจากโอชิมะ ทูตญี่ปุ่นประจำเบอร์ลิน ซึ่งหากเรื่องนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นการเมืองล่วงรู้ไปถึงฝ่ายตรงข้ามก็จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร หลังได้รับคำเตือนดิวอีตัดสินใจไม่ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาโจมตีรูสเวลต์ และการเลือกตั้งครั้งนั้นก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของดิวอี แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็สามารถอ่านข้อมูลลับของฝ่ายญี่ปุ่นได้จนจบสงครามโดยที่โอชิมะเองก็ไม่รู้ว่าเขาคือผู้ทำความลับของรัฐบาลญี่ปุ่นรั่วไหล ทั้งนี้ มีทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อกันว่า รูสเวลต์รู้ดีว่าญี่ปุ่นเตรียมตัวที่จะ "โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อไหร่" แต่รูสเวลต์จงใจเพิกเฉย เพราะเขาตั้งใจที่จะเข้าสู่สงครามแต่แรกแต่ยังหาเหตุไม่ได้จนกระทั่งถูกญี่ปุ่นโจมตีในครั้งนั้น อย่างไรก็ดีข้อมูลสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวก็ยังค่อนข้างไร้น้ำหนัก ที่มีน้ำหนักก็คือ สหรัฐฯ คาดหมายได้ว่าญี่ปุ่นเตรียมจะทำสงครามกับตน แต่ไม่ถึงขนาดรู้ว่าการโจมตีจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่แน่ "เขาไม่ทันได้ตั้งตัวเลยกับเรื่องนี้" จีน เอ็ดเวิร์ด สมิธ (Jean Edward Smith) ผู้เขียนชีวประวัติของรูสเวลต์กล่าวกับ NPR "บันทึกที่มีมันชัดเจน ไม่มีหลักฐานการเคลื่อนทัพของญี่ปุ่นเข้าสู่เพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ตกมาถึงมือวอชิงตัน"