07 ธ.ค. 2561 | 10:59 น.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนยังมีสงครามภายในต่อไป ฝ่ายก๊กมินตั๋งจากยูนนานต้องถอยร่นมาตั้งหลักในแถบรัฐฉาน หวังที่จะใช้เป็นฐานเพื่อโจมตีฝ่ายคอมมิวนิสต์ สร้างความไม่สบายใจให้กับฝ่ายพม่า ที่กลัวว่าสถานการณ์นี้จะกลายเป็นข้ออ้างของจีนในการรุกรานเข้ามาในพรมแดนของตน
ณ ช่วงเวลานั้น จาง ซีฟู (Chang Chi-fu) หรือ "ขุนส่า" (เกิด 17 กุมภาพันธ์ 1934) ลูกของทหารก๊กมินตั๋งกับสาวไทใหญ่ในรัฐฉาน กำลังอยู่ในช่วงเติบโตสร้างฐานอำนาจ ตัวเขาเองไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนในโรงเรียนตามระบบ แต่ได้การฝึกรบเมื่อเขาตัดสินใจเดินตามรอยพ่อบังเกิดเกล้าด้วยการไปเป็นนักรบให้กับกองทัพก๊กมินตั๋ง
ตอนนั้นกองทัพก๊กมินตั๋งในพม่า (กองพล 93) ได้รับการอุดหนุนจากทั้งไทย ไต้หวันและสหรัฐฯ เพื่อเป็นกันชนให้กับรัฐคอมมิวนิสต์ (แม้จะละเมิดอธิปไตยของพม่า) แต่เป้าหมายของกองพล 93 ที่ตั้งใจจะรวมกำลังเข้าตีจีนแผ่นดินใหญ่ต้องเปลี่ยนไป เมื่อความพยายามครั้งใหญ่ประสบความล้มเหลวจนเสียกำลังไปมาก จึงหันมาเน้นการตั้งมั่นอย่างถาวรในพื้นที่ของรัฐฉาน เพื่อรวบรวมการข่าวให้สปอนเซอร์ และการค้าฝิ่นก็กลายมาเป็นรายได้สำคัญของกองทัพ ภายใต้การสนับสนุนของซีไอเอ (เช่นเดียวกับในอัฟกานิสถาน) ยิ่งจีนคอมมิวนิสต์ทลายฐานผลิตฝิ่นในยูนนาน ก็ทำให้กองพล 93 กลายเป็นผู้ผูกขาดการค้าฝิ่นในย่านนี้ไปโดยปริยาย
และเมื่อกองทัพก๊กมินตั๋งต้องถอนตัวออกจากพม่า เนื่องจากแรงกดดันจากนานาชาติหลังปี 1961 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายที่ไต้หวันได้มาช่วยเคลื่อนย้ายกำลังออกไป ก็เปิดช่องว่างให้ขุนศึกท้องถิ่น รวมถึงทหารก๊กมินตั๋งที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้เติมช่องว่างในธุรกิจนอกกฎหมาย
และหนึ่งในนั้นก็คือ "จาง ซีฟู"
ในปี 1962 เน วิน ผู้นำทหารพม่าได้ทำรัฐประหารอ้างเพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่นของสหภาพ จากนั้นก็มีนโยบายให้การสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธที่ภักดี ด้วยการให้สิทธิทำการค้าข้ามพรมแดน การใช้ถนนหนทางที่ควบคุมโดยภาครัฐ พร้อมสิทธิคุ้มกันทางกฎหมายในการค้ายาเสพติด แลกกับการคอยก่อกวนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจางก็ได้หันมาเป็นหนึ่งในหัวหน้าหน่วยกองกำลัง KKY (Ka Kwa Ye) ที่กองทัพพม่าหนุนหลัง
ห้าปีต่อมา จางพยายามขยายอิทธิพลในการค้ายา จนไปล้ำเส้นเจ้าเก่ารายใหญ่อย่างกองทัพก๊กมินตั๋งที่ยังเหลืออยู่ (และเขาเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่ง) ด้วยการปฏิเสธที่จะจ่ายค่าผ่านทางในการขนฝิ่นข้ามชายแดนไปยังประเทศลาว นำไปสู่การปะทะอย่างรุนแรง แถมยังถูกดัดหลังจากกองกำลังฝ่ายลาว นำโดยนายพลอ้วน รัตติกอนที่ซุ่มลอบทำร้าย ทำให้เขาต้องสูญเสียอย่างหนักทั้งคนและฝิ่น ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงกับรัฐบาลทหารพม่ายังซ้ำเติมทำให้เขาถูกจับตัวไปคุมขังในย่างกุ้งนานห้าปี ตั้งแต่ปี 1969 ถึง 1974
หลังออกจากคุกได้ จางกลับมาซ่องสุมกำลังเพื่อค้ายาเสพติดอีกครั้งที่บ้านหินแตก บริเวณเทือกเขาชายแดนใกล้กับเชียงราย ตั้งชื่อกองกำลังของตัวเองว่า Shan United Army อ้างอุดมการณ์เพื่อปลดปล่อยรัฐฉานเป็นอิสระ แม้ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะเข้ากับฝ่ายพม่า เพื่อต่อต้านการแยกตัวของชาวไทใหญ่ก็ตาม
ในช่วงเวลานี้เองที่เขาหันมาเรียกตัวเองว่า "ขุนส่า" ซึ่งแปลว่า "เจ้าผู้รุ่งเรือง" (Prince Prosperous)
กลับมาคราวนี้ ขุนส่าสามารถจัดการกับกลุ่มอิทธิพลฝ่ายลาวที่เคยลอบทำร้ายขบวนขนยาของเขาได้สำเร็จ และแม้จะต้องปะทะกับกองทัพไทยหลายครั้ง แต่เขาก็ยังรวบรวมกำลังพลได้นับหมื่น สามารถควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดนไทยพม่าได้เกือบทั้งหมด ก่อนขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐฉาน
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นเวลาที่ขุนส่ารุ่งเรืองที่สุด สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ ประเมินว่ากว่า 45% ของเฮโรอีนในตลาดโลกมีต้นกำเนิดมาจากสามเหลี่ยมทองคำ และการที่ขุนส่าสามารถควบคุมการค้าเฮโรอีนกว่า 70% ในพื้นที่ ทำให้เขามีเงินมากพอที่จะเลี้ยงดูกองทัพกว่า 20,000 นาย พร้อมด้วยอาวุธที่ดีเสียยิ่งกว่าอาวุธของกองทัพพม่า
ด้วยความมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม เขาเคยให้สัมภาษณ์กับแมกกาซีน Bangkok World (ซึ่งปิดตัวไปแล้ว) โดยเรียกตัวเองว่า "ราชาแห่งสามเหลี่ยมทองคำ" (พื้นที่ติดพรมแดนสามประเทศคือ พม่า ลาว และไทย)
ขุนส่ามักจะอ้างว่า สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับเขาก็คือประชาชนชาวฉาน (แต่รายงานของ The Economist อ้างว่าในสายตาของชาวฉาน [นอกเหนือไปจากคนที่ชื่นชมแล้ว] ขุนส่าก็ไม่ต่างไปจากขุนศึกค้ายารายอื่นๆ และยังสงสัยในความเป็นฉานของเขา เนื่องจากการที่เขามีพ่อเป็นคนจีน) โดยขุนส่าได้ให้เหตุผลถึงการที่เขาต้องค้ายาว่า เขาจำเป็นต้องทำเพื่อหาเงินไปซื้อเครื่องยังชีพ ทั้งเสื้อผ้าอาหารมามอบให้กับชาวบ้านเท่านั้น
เขาได้ยื่นข้อเสนอกับทางสหรัฐฯ ว่า ถ้าอยากให้เขาเลิกค้ายาก็เอาเงินมาแลกกับธุรกิจค้ายาของเขาซะสิ เขาจะได้มีเงินไปดูแลชาวบ้าน แต่สหรัฐฯ ปฏิเสธ ก่อนตอบโต้ด้วยการตั้งค่าหัวเขาไว้ที่ 2 ล้านดอลลาร์ในข้อหาลักลอบนำเข้ายาเสพติด ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้มีนักข่าวบุกป่าฝ่าดงขอไปสัมภาษณ์เขามากมาย และครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า "พอ DEA (สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ) ให้เงินไทย พวกไทยก็มาไล่ล่าโจมตีผม พอผมให้เงินพวกเขาบ้าง พวกเขาก็หายไป" (The Diplomat)
ถึงทศวรรษที่ 90 โลกกดดันกองกำลังของขุนส่า (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพเมิงไต) มากยิ่งขึ้น กองทัพว้าแดง (กองกำลังที่แตกตัวมาจากอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า) ที่หันมาจับมือกับกองทัพพม่า ได้ร่วมกันกดดันกองกำลังของขุนส่าอย่างหนัก การแทรกซึมของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ เข้าไปในเครือข่ายขนยาเสพติดของขุนส่า ทำให้รายได้ของขุนส่าลดลงไปมาก เมื่อรัฐบาลไทยให้ความร่วมมือกับพม่าด้วยการปิดชายแดนตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของขุนส่า ก็ยิ่งทำให้ขวัญกำลังใจของกองทัพเมิงไตระส่ำ นำไปสู่ความแตกแยกภายใน
ปี 1996 ขุนส่าจึงตัดสินใจยอมจำนนแลกกับการคุ้มครองจากรัฐบาลพม่า จากการดำเนินคดีทั้งในและนอกประเทศ เขาเกษียณจากชีวิตพ่อค้ายามาเป็นนักลงทุนในหลายด้าน ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และการทำเหมืองหยกเหมืองพลอย ใช้ชีวิตกับภรรยาสาวชาวฉานสี่คนอย่างสงบสุขในคฤหาสถ์ในย่างกุ้ง ก่อนจากโลกนี้ไปในวันที่ 26 ตุลาคม 2007 ในวัย 73 ปี
ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์บางรายให้เครดิตกับขุนส่าเป็นอย่างสูง เช่น อัลเฟรด แมคคอย (Alfred McCoy) ซึ่งบรรยายว่าขุนส่าคือ "ขุนศึกฉานรายเดียวที่มีองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการขนของผิดกฎหมายอย่างแท้จริง สามารถขนย้ายฝิ่นได้เป็นปริมาณมาก" และถือเป็น "ขุนศึกสามเหลี่ยมทองคำรายแรกที่สมควรได้รับฉายา 'kingpin' (ราชามาเฟีย) "
แต่ เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ (Bertil Lintner) ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าอีกรายบอกว่า จากที่เขาได้เคยพูดคุยกับขุนส่า เขาเชื่อว่าขุนส่าเป็นแค่คนบ้านนอกไม่รู้หนังสือเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นหัวหน้าหรือมันสมองที่จะบริหารองค์กรยาเสพติดขนาดยักษ์ได้ น่าจะเป็นแค่หุ่นเชิดให้กับสมาชิกเชื้อสายจีนที่มีอิทธิพลสูงในองค์กรมากกว่า