13 ธ.ค. 2561 | 18:44 น.
การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์อย่างเช่นตับอ่อน หรือไตไม่ใช่ของใหม่ในยุคทศวรรษที่ 1960 แต่การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมนุษย์ยังเป็นเพียงทฤษฎีและจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้นหมอหลายคนพยายามเปลี่ยนทฤษฎีให้กลายเป็นการรักษาที่สามารถทำได้จริงในมนุษย์ มีการทดลองปลูกถ่ายหัวใจในสัตว์ประสบความสำเร็จหลายต่อหลายครั้ง จนหมอเริ่มมั่นใจว่า การปลูกถ่ายหัวใจในคนก็สามารถทำได้ไม่ต่างกัน ซึ่งศัลยแพทย์ที่มีความโดดเด่นและขับเคี่ยวกันเพื่อให้ถึงเป้าหมายนี้มีอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นแพทย์จากแอฟริกาใต้ คริสเตียน บาร์นาร์ด (Christiaan Barnard) และแพทย์จากสหรัฐฯ นอร์แมน ชุมเวย์ (Norman Shumway) ชุมเวย์และทีมของเขาประสบความสำเร็จในการกระตุ้นหัวใจสุนัขให้กลับมาเต้นได้อีกครั้งหลังจากที่มันหยุดเต้นและถูกแช่ในสารละลายน้ำเกลือนานหนึ่งชั่วโมง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมแรกที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสุนัขได้สำเร็จ และเมื่อมีการพบยาตัวใหม่ซึ่งช่วยแก้ปัญหาปฏิเสธอวัยวะใหม่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ชุมเวย์ก็ออกมาประกาศในเดือนกันยายน 1967 ว่าเขาพร้อมแล้วที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจมนุษย์ทันทีที่เขาพบผู้บริจาคที่่เหมาะสม ด้านบาร์นาร์ดหลังจบหมอแล้วก็ออกมาเป็นหมอรักษาโรคทั่วไปนับสิบปีจนกระทั่งเขาเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ จึงหันมาสนใจเรื่องการผ่าตัดหัวใจและมีโอกาสได้พบกับชุมเวย์ที่มหาวิทยาลัยมิเนโซนา หลังเรียนจบเขาเดินทางกลับไปแอฟริกาใต้และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมทดลองประจำโรงพยาบาล Groote Schuur และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ บาร์นาร์ดติดตามความเคลื่อนไหวของชุมเวย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในด้านประสบการณ์บาร์นาร์ดถือว่าด้อยกว่าชุมเวย์มาก หลังชุมเวย์ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจสุนัขครั้งแรกในปี 1959 เมื่อถึงปี 1967 เขาก็ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสุนัขมาแล้วกว่า 300 ตัว และกว่าสองในสามสามารถมีชีวิตรอดได้เกินกว่าหนึ่งปี ขณะที่บาร์นาร์ดพึ่งจะได้ทำการผ่าตัดลักษณะเดียวกันได้ราว 50 กรณีเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็มีชีวิตรอดได้ไม่เกิน 10 วัน แต่สิ่งที่เป็นใจให้กับบาร์นาร์ดมากกว่าก็คือเรื่องของกฎหมาย เพราะในสมัยนั้นที่สหรัฐฯ การผ่าตัดเอาอวัยวะของผู้ป่วยสมองตายไปปลูกถ่ายจะทำได้ก็ต่อเมื่อหัวใจของผู้ป่วยหยุดเต้นโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่อย่างนั้นหมอผู้ทำการผ่าตัดก็อาจถูกเอาผิดฐานฆ่าคนตายได้ ด้วยเหตุนี้แม้ชุมเวย์จะมีความพร้อมมากกว่า แต่เมื่อกฎหมายไม่เอื้ออำนวยเขาก็ยังไม่อาจทำการผ่าตัดได้สักที ในทางกลับกันที่แอฟริกาใต้มีกฎหมายที่เปิดกว้างมากกว่า โดยเปิดช่องให้ประสาทศัลยแพทย์เป็นผู้ยืนยันการตายของผู้ป่วยได้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อแสงและความเจ็บปวด และทันทีที่ญาติผู้ป่วยให้ความยินยอม หมอก็สามารถผ่าตัดเอาอวัยวะของผู้ตายไปปลูกถ่ายได้ทันที ในวันที่ 14 กันยายน 1967 หลุยส์ วาชางก์ซี (Louis Washanksy) วัย 55 ปี ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล Groote Schuur ด้วยปัญหาโรคเบาหวานและอาการหัวใจผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาได้ และไม่อาจอยู่รอดได้หากไม่มีเครื่องช่วยหัวใจเต้น แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ตลอดไป การปลูกถ่ายหัวใจคือทางเลือกเดียวสำหรับเขา ทำให้บาร์นาร์ดพบตัวผู้ป่วยที่ที่เหมาะสมในเดือนเดียวกันกับที่ชุมเวย์ประกาศความพร้อม และในวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน เดนิส แอน ดาร์วอล (Denise Ann Darvall) หญิงวัย 25 ปี ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาล Groote Shuur ก่อนถูกประการว่าสมองตาย เมื่อมีการตรวจว่ากรุ๊ปเลือดของเธอเข้ากันได้กับวาชางก์ซี พ่อของเธอก็อนุญาตให้ทางโรงพยาบาลผ่าตัดนำหัวใจของเธอไปปลูกถ่ายได้ "เมื่อสักก่อนเที่ยงคืนไม่เท่าไหร่ ผมอนุญาตให้หมอสามารถนำหัวใจและไตของลูกสาวไปปลูกถ่ายให้คนไข้อื่นได้ หลังได้รับแจ้งว่าเธอใกล้เสียชีวิตแล้ว" เอ็ดเวิร์ด จอร์จ ดาร์วอล (Edward George Darvall) พ่อของผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกล่าวกับผู้สื่อข่าว (New York Times) บาร์นาร์ดใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงในการปลูกถ่ายหัวใจก่อนกระตุ้นให้หัวใจเต้นอีกครั้งด้วยไฟฟ้า ช่วงวันแรกๆ ของการผ่าตัดทางโรงพยาบาลกล่าวว่าอาการของคนไข้เป็นที่น่าพอใจและไม่พบอาการแทรกซ้อน 30 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดวาชางก์ซีสามารถพูดได้อีกครั้งแต่อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต และการใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับการปฏิเสธอวัยวะก็ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวของวาชางก์ซ์ลดลงมาก จนมีอาการปอดติดเชื้อทั้งสองข้าง ในวันที่ 17 หลังการผ่าตัด คณะแพทย์ตัดสินใจให้เลือดกับเขาด้วยหวังว่าจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเขาได้ แต่สุดท้ายวาชางก์ซีก็เสียชีวิตลงในวันถัดมา ศาสตราจารย์ เจ. จี. ธอมป์สัน ผู้ทำการชันสูตรศพของวาชางก์ซียืนยันว่า วาชางก์ซีเสียชีวิตลงด้วยอาการปอดบวมอย่างรุนแรง และไม่พบสัญญาณของอาการหัวใจล้มเหลว "สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของการผ่าตัดคราวนี้ก็คือความสามารถในการหมุนเวียนกระแสเลือดของหัวใจที่ถูกปลูกถ่าย หัวใจดวงนี้สามารถทำงานได้เป็นอย่างดีตลอดจนถึงช่วงที่ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย" ธอมป์สันกล่าว ด้านบาร์นาร์ดกล่าวว่า "มีหลักฐานทางการรักษาเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ชี้ว่าการปฏิเสธอวัยวะคือสาเหตุที่ทำให้คุณวาชางก์ซีต้องเสียชีวิต" ก่อนเสริมว่าเขาจะเดินหน้ารักษาโรคหัวใจร้ายแรงด้วยวิธีการนี้ต่อไป ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้บาร์นาร์ดได้ทั้งการยกย่องในความก้าวหน้าทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงด้านจริยธรรมว่าการกระทำของเขาเข้าข่ายเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ เนื่องจากสมัยนั้นยังมีคนเชื่อว่า "หัวใจ" คือสาระสำคัญที่สุดในการขี้วัดการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ การทนต่อแรงกดดันทางสังคมของเขาและเพื่อนร่วมวิชาชีพมีส่วนทำให้ทัศนคติต่อความตายของคนค่อยๆ เปลี่ยนไป สังคมยอมรับการปลูกถ่ายหัวใจกันมากขั้นช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนมากที่หมดทางรักษา สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยผู้ป่วยคนหนึ่งของเขาสามารถมีชีวิตอยู่กับหัวใจดวงใหม่ได้นานถึง 23 ปี ในด้านชีวิตส่วนตัว บาร์นาร์ดผ่านการแต่งงานมาสามครั้ง โดยหลังจากประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจครั้งแรกได้ราวสองปี เขาก็หย่ากับภรรยาอยู่กันมากว่า 20 ปี ก่อนไปแต่งกับสาวรุ่นวัย 19 (ขณะนั้นเขาอายุได้ 48 ปีแล้ว) เขาอยู่กับภรรยาคนที่สองได้สิบสองปีก็หย่า ทิ้งช่วงไประยะเวลาหนึ่งเขาก็ไปแต่งงานกับนางแบบสาวและก็จบด้วยการหย่าร้างเช่นกัน โดยเขามีลูกกับภรรยาทุกคนรวมกันทั้งหมดหกคน บาร์นาร์ดเป็นคนหนึ่งที่แสวงหาหนทางที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว และเชื่อว่า ความชราคือ "ความผิดปกติ" เขาเคยฉีดเซลล์จากตัวอ่อนของสัตว์ให้ตัวเองโดยบอกว่า "มันคุ้มที่จะเสี่ยง" และปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เขาเชื่อว่าจะช่วยรักษาความเยาว์วัยเอาไว้ได้ก็คือการมีเซ็กซ์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามีคู่รักหลายคน ก่อนที่จะเสียชีวิตในฐานะพ่อม่ายเมื่ออายุได้ 78 ปี