17 ธ.ค. 2561 | 16:33 น.
เมื่อพูดถึงนักบินหญิงยุคบุกเบิก คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง เอมิเลีย เอียร์ฮาร์ต (Amelia Earhart) นักบินหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นนักบินหญิงคนแรกที่ทำการบินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นผู้ที่สร้างสถิติมากมาย ก่อนจะหายตัวไประหว่างพยายามทำการบินรอบโลก แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีนักบินหญิงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกเบิกการบินด้วยเครื่องบินแบบปีกตรึง (fixed wing) อยู่หลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ เรมอนด์ เดอ ลารอช (Raymonde de Laroche) นักบินหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่เครื่องบิน พัฒนาการทางด้านการบินยุคแรกเริ่ม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักประดิษฐ์หลายคนพยายามติดตั้ง "เครื่องยนต์" ให้กับเครื่องร่อน ซึ่งส่วนใหญ่ยังบินได้ไม่สูงและเดินทางไปได้ไม่ไกลนัก และฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่มีความสนใจในด้านนี้อยู่มาก มีนักประดิษฐ์และผู้ที่สนใจค้นคว้าเรื่องการบินอยู่หลายคน เช่น เฟอร์ดินองด์ แฟร์แบร์ (Ferdinand Ferber) นายทหารกองทัพฝรั่งเศสผู้เพียรพยายามออกแบบและทดสอบการบินด้วยเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่เขาคือผู้ที่เผยแพร่เรื่องราวความสำเร็จของพี่น้องตระกูลไรต์ และสร้างความเข้าใจในวิทยาการด้านการบินยุคใหม่ให้คนในภาคพื้นยุโรปรับรู้ และการบินด้วยเครื่องบินติดเครื่องยนต์ "อย่างเป็นทางการ" (มีสักขีพยานรับรองการบินเป็นเรื่องเป็นราว) ครั้งแรกของโลกเมื่อปี 1906 (หลังการบินของสองพี่น้องตระกูลไรต์ [ซึ่งไม่เป็นทางการ] ราว 3 ปี) ก็เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดย อัลเบอร์โต ซานโตส-ดูมองต์ (Alberto Santos-Dumont) นักบินและนักประดิษฐ์ชาวบราซิลที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งการบินโชว์ในครั้งนั้น เดอ ลารอช ก็ได้เดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย จากคนดูกลายมาเป็นนักบินหญิงคนแรก หลังจากนั้นสองปี สองพี่น้องตระกูลไรต์ ได้เดินทางมายังฝรั่งเศสเพื่อบินโชว์กว่า 120 รอบ ยิ่งทำให้ เดอ ลารอช สนใจการบินเป็นอย่างมาก และอยากจะทำการบินด้วยตัวเอง เธอที่อยู่ในวัยยี่สิบต้น ๆ มีโอกาสได้รู้จักกับคนในแวดวงการบินอยู่หลายคน รวมถึง ชาลส์ วัวซอง (Charles Voisin) นักประดิษฐ์เครื่องบินชาวฝรั่งเศส เธอจึงขอให้มิตรสหายรายนี้ช่วยสอนการขับเครื่องบินให้กับเธอ เดอ ลารอช มีโอกาสได้ขับเครื่องบินด้วยตนเองในวันที่ 22 ตุลาคม 1909 เครื่องบินที่เธอขับสามารถนั่งได้คนเดียว เธอจึงต้องบังคับเครื่องด้วยตัวคนเดียวโดยมีวัวซองคอยให้คำแนะนำอยู่ข้าง ๆ ซึ่งเธอก็สามารถนำเครื่องขึ้นบินและลงจอดได้สำเร็จ ทำให้ เดอ ลารอช เป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำการบินด้วยเครื่องบินลักษณะนี้ ไม่ย่อท้อแม้ต้องเสี่ยงอันตราย การบินสมัยนั้นยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ และหลังจากที่ เดอ ลารอช ขึ้นบินครั้งแรกราว 10 สัปดาห์ก็ต้องประสบอุบัติเหตุ เมื่อหางเครื่องบินไปชนกับต้นไม้ระหว่างลงจอด ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและกระดูกไหปลาร้าหัก เมื่อรักษาตัวจนหาย เดอ ลารอช ก็กลับมาทำการบินอีกครั้ง โดยได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของวัวซองเพื่อแสดงการบินในประเทศอียิปต์ และในวันที่ 8 มีนาคม 1910 เธอก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับใบอนุญาตการบิน และเป็นคนที่ 36 ของฝรั่งเศส หลังจากนั้น เดอ ลารอช มีโอกาสเดินทางไปบินโชว์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในรัสเซีย ต่อด้วยการแสดงการบินในบูดาเปสต์ กลับมาที่ฝรั่งเศสเธอประสบอุบัติเหตุอีกครั้งเมื่อบินชนกับเครื่องบินอีกลำ ทำให้เธอกระดูกหักหลายส่วน แต่เธอก็ยังไม่เข็ดกลับไปเป็นนักบินเช่นเดิม เดอ ลารอช เจออุบัติเหตุครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1912 แต่คราวนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุทางเครื่องบิน กลับเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ซึ่งทำให้วัวซองเพื่อนสนิทที่เดินทางมาด้วยกัน และเป็นผู้ที่ช่วยให้เธอได้เป็นนักบินหญิงที่มีใบอนุญาตคนแรกของโลกต้องเสียชีวิตลง เธอใช้เวลารักษาตัวอยู่นานก่อนกลับมาขับเครื่องบินอีกครั้ง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เธอต้องหยุดทำการบินเนื่องจากสมัยนั้นมีการออกกฎห้ามผู้หญิงขึ้นบิน เดอ ลารอช จึงไปทำหน้าที่เป็นคนขับรถฝ่าดงกระสุนปืนใหญ่ให้กับทหารฝรั่งเศส เมื่อสงครามยุติ เธอได้กลับมาขับเครื่องบินอีกครั้ง คราวนี้เครื่องบินได้พัฒนาไปมาก สามารถบินสูงจากพื้นได้เป็นระยะนับพันเมตร และ เดอ ลารอช ก็เป็นผู้สร้างสถิติสูงสุดของฝ่ายหญิงสองครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เธอทำไว้คือปี 1919 ที่ความสูง 4,785 เมตร ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เดอ ลารอช ได้รับข้อเสนอให้เป็นนักบินทดสอบสำหรับเครื่องบินรุ่นใหม่ ความท้าทายที่จะได้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความหวังที่จะเป็นนักบินทดสอบหญิงมืออาชีพคนแรก ทำให้เธอไม่ลังเลที่จะตอบรับข้อเสนอ แต่ในการบินทดสอบครั้งนั้นเครื่องบินที่ใช้เกิดสูญเสียการทรงตัวระหว่างนำเครื่องลงทำให้เครื่องตก ทว่าคราวนี้ เดอ ลารอช ไม่โชคดีเหมือนครั้งที่ผ่านมา ๆ อีกแล้ว...