21 ธ.ค. 2561 | 17:52 น.
ถ้าพูดถึง เทศกาลคริสต์มาส หลายคนอาจจะนึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุข และบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยแสง สี และโดยเฉพาะ “เสียงเพลง” ที่เป็นเหมือนกับไฮไลท์ประจำเทศกาลนี้ “Jingle Bells” หนึ่งในเพลงคริสต์มาสที่ฮิตที่สุดตลอดกาลเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นเมื่อราว ๆ ค.ศ. 1850 โดย เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์ นักแต่งเพลงชาวนิว อิงแลนด์ คุณลองคิดดูสิ ถ้าคุณคือทายาทของคนที่แต่งเพลงระดับตำนานเพลงนี้ คุณจะสามารถทำรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ได้มหาศาลขนาดไหน... แต่คุณเชื่อหรือไม่? เกือบ 170 ปีที่ผ่านมา ทายาทของเพียร์พอนต์แทบไม่สามารถสร้างรายได้จากเพลงฮิตนี้เลย เพราะเพลงดังกล่าวกลายเป็น “สมบัติสาธารณะ” หรือ Public Domain ไปเสียแล้ว
ชื่อเสียงของเพลง “Jingle Bells” อยู่ยืนยาวมากว่าศตวรรษ เฉกเช่นคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" แม้จะกลายมาเป็นเพลงที่โด่งดังทั่วโลก แต่น้อยคนนักจะรู้จักคนแต่ง ซึ่งชายผู้ที่สร้างสรรค์บทเพลงนี้ก็คือ เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์ นั่นเอง เพียร์พอนต์ เกิดที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปี 1822 ตอนนั้นเพียร์พอนต์รู้ดีว่าโลกที่เขาต้องการไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น ในวัย 14 ปี เพียร์พอนต์หนีออกจากโรงเรียนประจำเพื่อสมัครเป็นลูกเรือจับปลาวาฬ เขาใช้เวลาหลายปีกลางทะเลก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตที่บอสตันอีกครั้งและสร้างครอบครัว [caption id="attachment_1964" align="aligncenter" width="292"] เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์[/caption] เพียร์พอนต์ ไม่ใช่พ่อบ้านที่ดีเท่าไหร่นัก ในปี 1849 เขาตัดสินใจทิ้งภรรยาและลูกเพื่อออกเดินทางไปขุดทองในแคลิฟอร์เนีย แต่ท้ายที่สุดเขาก็ต้องคอตกกลับมา เพราะธุรกิจขุดทองที่นั่นล้มเหลวไม่เป็นท่า ปี 1853 เพียร์พอนต์เดินทางไปที่เมืองซาวันนาห์ จอร์เจีย เพื่อทำงานเป็นมือออร์แกนและผู้ดูแลด้านดนตรีในโบสถ์ลัทธิเอกภาพนิยม ที่ครอบครัวของเขาทำงานอยู่ เพียร์พอนต์ เริ่มต้นอาชีพนักแต่งเพลงที่นั่น "The Returned Californian" เพลงที่เล่าถึงความล้มเหลวในการทำธุรกิจขุดทองที่แคลิฟอร์เนียของเพียร์พอนต์ คือผลงานประพันธ์ชิ้นแรกของเขา ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ปี 1852
เพียร์พอนต์ เริ่มสร้างรายได้มากขึ้นจากการเป็นนักแต่งเพลง แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเขาเกิดขึ้นเมื่อปี 1857 หลังเพลง "The One Horse Open Sleigh" หรือ “Jingle Bells” ที่ทุกคนรู้จักกันดีในปัจจุบันได้ถูกเผยแพร่ "The One Horse Open Sleigh" ที่เพียร์พอนต์เคยเขียนเอาไว้ ถูกนำมาเรียบเรียงและใส่เมโลดี้ท่อนคอรัสใหม่ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Jingle Bells” เมื่อปี 1959 ซึ่งต่อมาเพลงดังกล่าวกลายเป็นที่นิยมอย่างมากไปทั่วโลกในฐานะเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เพียร์พอนต์ไม่ได้ตั้งใจแต่งเพลงนี้เพื่อไว้ใช้ในคริสต์มาส ! แรกเริ่มเดิมทีเขาตั้งใจนำไปใช้แสดงในคอนเสิร์ตงานวันขอบคุณพระเจ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งในซาวันนาห์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 1857 ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา รัฐจอร์เจียและรัฐแมสซาชูเซตส์พยายามออกมาเคลมสิทธิ์ที่ว่า เพียร์พอนต์แต่งเพลงนี้ขึ้นที่เมืองของพวกเขา ทฤษฎีการกำเนิด “Jingle Bells” มีหลายข้อมาก ข้อแรกว่ากันว่าเพียร์พอนต์แต่งเพลงนี้ขึ้นเมื่อปี 1850 ที่โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่งในเมดฟอร์ด แมสซาชูเซตส์ ข้อที่สองว่ากันว่าเพียร์พอนต์แต่งเพลงนี้ขึ้นที่เมืองซาวันนาห์ จอร์เจีย แต่ความจริงคืออะไร คงมีแค่เพียร์พอนต์เท่านั้นที่รู้ดี [caption id="attachment_1968" align="aligncenter" width="432"] ป้ายจารึกที่เมืองซาวันนาห์[/caption] ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพียร์พอนต์ใช้เวลาที่เหลือกับลูกชายของเขาที่บ้านในวินเทอร์ ฮาเวน ในฟลอริด้า ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ปี 1893
นับตั้งแต่เพียร์พอนต์เสียชีวิตลง ตลอดระยะเวลา 50 ปีหลังจากนั้นคือช่วงเวลาที่ทายาทและครอบครัวของเขาจะได้รับรายได้จากส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์เพลง ในกรณีที่เพลงถูกเล่นหรือนำไปทำซ้ำในรูปแบบต่าง ๆ ในปี 1880 ลูกชายของเพียร์พอนต์ คือ ดร. จูริอาห์ เพียร์พอนต์ พยายามทำสัญญาลิขสิทธิ์ของเพลง "Jingle Bells" ใหม่ โดยมีการบังคับให้ระบุชื่อของคนแต่งในทุกโอกาส แต่ปัญหาด้านการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเหมือนกับในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถทำเงินให้ครอบครัวเพียร์พอนต์ได้มากเท่าที่ควร และอีก 50 ปีต่อมาคือในปี 1943 "Jingle Bells" ก็ได้กลายเป็นเพลงที่เป็น “สมบัติสาธารณะ” ในที่สุด
ตามหลัก กฎหมายลิขสิทธิ์มีขึ้นเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็น บทเพลง หรือ วรรณกรรม ซึ่งตามหลักสากลจะครอบคลุมช่วงเวลาตลอดชีวิตของบุคคลผู้นั้น และยาวนานไปอีก 50 ปี หลังจากปีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ซึ่งเป็นเสมือนมรดกให้แก่ลูกหลานที่สามารถเก็บดอกผลจากการใช้ลิขสิทธิ์นั้น ๆ ต่อไปได้ ระยะเวลา 50 ปี นับเป็นระยะเวลาที่เชื่อกันว่ามีความเหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้มิได้ถือกำเนิดขึ้นจากสุญญากาศ แต่มาจากบริบททางสังคมและเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ดังนั้น ประชาชนและสาธารณชนพึงเข้าถึงลิขสิทธิ์นั้น ๆ ได้ โดยผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจะตกเป็นสมบัติของสาธารณะ (Public Domain) หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลา 50 ปี ดังกรณีบทเพลงของ โมสาร์ต เบโธเฟน หรือวรรณคดีร้อยกรองของ สุนทรภู่ เป็นต้น ในบ้านเรา คีตกวีเพลงลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2515 นั่นเท่ากับว่าลิขสิทธิ์เพลงของท่านที่อยู่ในความดูแลของ วันชัย ธรรมสังคีติ และลูกหลาน ย่อมสิ้นสุดลงและตกเป็นสมบัติสาธารณะใน พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ดี เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจลิขสิทธิ์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่อุตสาหกรรม ทางฝั่งธุรกิจในอเมริกาจึงมีความพยายามที่จะกดดันสภาคองเกรสให้มีการขยายระยะเวลานี้ออกไปอีก 25 ปี เป็นจำนวน 75 ปี ซึ่งประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดวิวาทะอย่างกว้างขวางว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ย้อนกลับมาที่ "Jingle Bells" เพลงนี้กลายเป็น 1 ใน 25 เพลงที่มีการบันทึกเสียงซ้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เคียงข้างเพลงอย่าง "Blue Skies", "I Got Rhythm" หรือ "Georgia on My Mind" นอกจากนี้ เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์ ยังเป็นนักแต่งเพลงที่มีชื่อติดอยู่ในหอเกียรติยศของสหรัฐฯ อีกด้วย ที่มา https://www.history.com/news/8-things-you-may-not-know-about-jingle-bells https://www.uuworld.org/articles/pierpont-mystery-jingle-bells