31 ต.ค. 2567 | 16:59 น.
นับเป็นความฝังใจอย่างใหญ่หลวงสำหรับเด็กยุค 90s ที่ทุกคืนวันพฤหัสบดี เวลา 4 ทุ่ม พ่อแม่ผู้ปกครองจะพร้อมใจกันไล่เด็ก ๆ ให้ไปนอน ทันทีที่มีประกาศจากรายการ ‘สี่ทุ่มแสควร์’ แจ้งเตือนว่า ถึงเวลานอนของน้อง ๆ หนู ๆ แล้ว
สำหรับเด็กที่เล็ดลอดจากสายตาผู้ใหญ่ในบ้าน ไม่ช้าไม่นานพวกเขาก็จะได้เห็นคุณลุงหน้าตี๋ใส่แว่น ปรากฏตัวในชุดสูททางการ พูดจาฉะฉาน มาทำหน้าที่ ‘พิธีกร’ พูดคุยกับแขกรับเชิญที่ส่วนใหญ่จะเป็นดารานักร้องชื่อดัง อย่างเป็นมิตร
ชายผู้เป็นดั่งโลโก้ของคืนวันพฤหัสทางช่อง 7 สี มีนามว่า ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’
วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘วีที’ ทำหน้าที่พิธีกรอย่างแข็งขันตลอด 40 ปี ตั้งแต่ยุคที่ทีวีในบ้านเรามีแค่ 5 ช่อง เรื่อยมาจนถึงยุคทีวีดิจิทัล ที่เขาหันมาทำรายการ ‘ตีสิบเดย์’ ทางช่อง 3 ด้วยรูปแบบรายการทอล์กโชว์ที่เป็นงานถนัด
ด้วยความที่ยุคนี้เป็นยุคปราบเซียนสำหรับผู้ผลิตรายการทีวี จากที่เคยขายโฆษณาในรายการนาทีละ 3 – 4 แสน จนฝ่ายขายต้องปฏิเสธลูกค้า วันนี้สถานการณ์ในอุตสาหกรรมพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และวีทีในวัย 70 ปี เลือกที่จะประกาศ ‘วางมือ’ จากตีสิบเดย์
“40 ปี ที่โลดแล่น แดนโทรทัศน์ วิทวัจน์ ขอเกษียณ หยุดสรวลเส หยุดรายการ 27 ปี ตีสิบเดย์ จึงขอเซย์ กู๊ดบาย ปลาย พอ.ยอ. ตีสิบเดย์ เทปสุดท้าย 30 พ.ย. 67 ไม่ไปต่อ ไม่มีดราม่าอะไรนะจ๊ะ”
แม้จะเป็นข่าวที่ชวนใจหายของสำหรับแฟนทีวีชาวไทยหลายรุ่น แต่เรื่องราวของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ จะไม่มีวันเลือนหายไป ในฐานะผู้สร้างตำนานหลายอย่างในวงการทีวีไทย
‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ เดิมชื่อ ‘วิทวัส’ เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 2497 ที่จังหวัดยะลา เขาเรียนอยู่ที่บ้านเกิดจนถึงอายุ 17 ปี จึงย้ายเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ แต่เอนทรานซ์ไม่ติดสักคณะ
ในรายการ ‘คุยแซ่บ Show’ ที่ออกอากาศเมื่อปี 2566 วิทวัจน์เล่าว่า พ่อเสนอให้เขาไปเรียนที่รามคำแหง แต่เขาขอไปเรียนต่อเมืองนอกเพราะชอบภาษา แต่ติดที่ที่บ้านไม่มีเงินส่ง โชคดีที่พี่ชายคนที่สองเห็นแวว เลยออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ แต่เป็นเครื่องบินขาไปเที่ยวเดียวเท่านั้น ไม่มีขากลับ นั่นหมายความว่า วิทวัจน์ต้องหาซื้อตั๋วกลับบ้านเองให้ได้
ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ไปเรียนคณะศิลปศาสตร์ที่ออสเตรเลียอยู่ 4 ปี โชคดีที่ยุคนั้นค่าเรียนฟรี วิทวัจน์ผู้ชื่นชอบด้านศิลปะจึงเรียนจบสมใจ และได้งานทำที่กระทรวงศึกษาธิการของซิดนีย์ในเวลาต่อมา จากนั้นจึงไปสมัครเป็น ‘อาร์ต ไดเร็คเตอร์’ ให้เกมส์โชว์เด็ก ซึ่งก็ทำได้เพียง 2 ปี รายการก็เป็นอันต้องยุติเพราะหาสปอนเซอร์ยาก เขาจึงถูกย้ายไปอยู่ฝ่ายข่าว เปลี่ยนจากหน้าที่อาร์ต ไดเร็คเตอร์ ไปเป็นกราฟฟิก ทำไตเติ้ลและออกแบบฉากประกอบรายการข่าวที่ Channel 9 ของออสเตรเลีย แทน
ทำหน้าที่อยู่ได้ 3 ปี เขารู้สึกว่าหน้าที่การงานไม่ก้าวหน้า เพราะถูกเลือกปฏิบัติ จึงตัดสินใจบินกลับเมืองไทย โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมาทำงานอะไรที่ไหน
แต่ดวงคนจะได้โลดแล่นบนหน้าจอ วันหนึ่งขณะที่เขานั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน เขาได้เห็น ‘ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล’ ผู้ปฏิวัติวงการข่าวของประเทศไทย นั่งอ่านข่าวอยู่ทางช่อง 9 จังหวะนั้นหนุ่มผู้มีประสบการณ์รายการข่าวจากออสเตรเลียเห็นเลยว่า มีหลายอย่างในรายการของ ดร.สมเกียรติ ที่ต้องได้รับการปรับปรุง
ไม่นานเขาจึงไปดักรอ ดร.สมเกียรติ ที่กำลังเดินมาขึ้นรถ แนะนำตัวพร้อมประสบการณ์เสร็จสรรพ ท้ายที่สุดจึงได้ทำงานที่ช่อง 9 อสมท สมใจ
หลังจากทำงานเบื้องหลัง ทั้งออกแบบฉาก ออกแบบไตเติลรายการข่าว ออกแบบโต๊ะ อยู่ประมาณ 1 ปี เขาเห็นจุดบอดในการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศ จึงเสนอคอนเซ็ปต์ใหม่ให้ ดร.สมเกียรติ พิจารณา พร้อมเสนอว่าควรจะมีผู้ประกาศสำหรับข่าวพยากรณ์อากาศโดยเฉพาะ
นั่นจึงเป็นที่มาให้หนุ่มตี๋ดีกรีนักเรียนนอกได้มาอ่านข่าวพยากรณ์อากาศ โดยที่ ดร.สมเกียรติ ให้เหตุผลว่า “ใครจะไปรู้ว่าต้องทำยังไง นอกจากคุณ คุณนั่นแหละอ่าน”
ทำรายการพยากรณ์อากาศได้ประมาณ 2 ปี จนเริ่มหมดมุก จึงไปเสนอ ดร.สมเกียรติ ทำรายการทอล์กโชว์ ซึ่งในเวลานั้นนับเป็นสิ่งใหม่ในวงการทีวีไทย เกิดเป็นรายการ ‘คืนนี้ที่ช่อง 9’ ซึ่งวิทวัจน์รับหน้าที่เป็น ‘โปรดิวเซอร์’ ก่อนที่ในเทปที่ 6 เขาจะรับหน้าที่พิธีกรด้วยตัวเอง หลังจากที่พิธีกรรายการขอลาออกไปทำงานวิชาการ
ความที่ต้องใช้ความครีเอทตลอดเวลา อาจเป็นเหตุผลให้วิทวัจน์ไม่สามารถทำงานเดิมได้นาน เมื่อเขารู้สึกว่าตัวเองเริ่มหมดมุก จึงไปลาออกจากบริษัทเดิม แล้วไปเริ่มต้นที่บริษัทใหม่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ผลิตรายการให้กับช่อง 7 เกิดเป็นรายการสี่ทุ่มสแควร์ ที่ยังมีทอล์กโชว์งานถนัดของเขาเป็นแกนหลัก และมีการนำโฮมวิดีโอซึ่งกำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ มาเป็นตัวสร้างสีสันในรายการ
4 ทุ่มสแควร์ ที่มีวิทวัจน์, ตุ๊ก ดวงตา และเด๋อ ดอกสะเดา เป็นพิธีกรมอบความสุขให้ผู้ชม ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืน ดำเนินได้ 7 ปี 7 เดือน ก็ถึงคราวต้องอำลาคนดู
ในรายการ ‘MINDSET เศรษฐี’ ทางช่องยูทูบ ‘2020 ENTERTAINMENT’ ซึ่งมี ‘ปอย’ นัทธชา สุนทรวิเนตร์ ลูกสาวคนโตของ ‘วิทวัจน์’ เป็นพิธีกร เทปแรกมีการเชิญ ‘วิทวัจน์’ มาเจิมรายการ และได้ถามถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ถามให้วีทีเปลี่ยนจากการเป็น ‘พิธีกรรับจ้าง’ มาเป็น ‘พิธีกรเจ้าของรายการ’
เจ้าตัวตอบว่า หลังจากที่ทำมาแล้วแทบจะทุกอย่างในรายการทีวี ก็มีความรู้สึกว่า “มันไม่ยากนี่หว่า แล้วเราจะมากินเงินเดือนไม่กี่หมื่นอยู่ทำไม เลยคิดว่าขอลาออก ไปตั้งบริษัทเองดีกว่า เพราะเรารู้หมด”
แต่เมื่อมาเป็นเจ้าของกิจการเอง เขาก็รู้เลยว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เขาไม่ถนัด
“ก็เพิ่งจะมารู้ว่าระบบการบริหารงานในรูปแบบของธุรกิจ มันมีอยู่ 3 อย่างคือ บริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน ไอ้ที่ยากที่สุดคือบริหารคนก็คือมนุษย์นี่แหละ ไอ้ลูกน้องที่นั่ง ๆ ไอ้พวกนี้ดูแลยากมาก มันดื้อ” อีกอย่างที่วีทีมองว่าเป็นเรื่อง ‘น่าหนักใจ’ ในการทำงานคือ คนไทยยังกลัวที่จะ ‘คิด’ กลัวที่จะต้องใช้ ‘มันสมอง’ เวลาถามอะไรไปก็พากันนั่งเงียบ หลบตา
“แต่ก็ไม่กล้าสอนพวกเขา เราก็แค่พูดเป็นนัย ๆ ว่ามันควรเป็นอย่างนี้ แล้วก็พยายามพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราพูด ไม่ผิดหรอก”
แต่การตัดสินใจมาเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อ บริษัท ทเว็นตี้ ทเว็นตี้ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด เพื่อผลิตรายการ ‘ตีสิบ’ ทางช่อง 3 ก็นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในช่วงที่พีคสุด รายการเคยได้ค่าโฆษณา 3 – 4 แสนต่อนาที ถึงขนาดที่ฝ่ายขาย ต้องเป็นฝ่ายปฏิเสธโฆษณา
เมื่อถูกถามถึงความยากในการทำทีวีสมัยนี้ เจ้าตัวยอมรับตามตรงว่า “ยาก” เพราะตอนนี้ทำอะไรก็มีคนอื่นทำไปหมดแล้ว จนถึงจุดหนึ่งพิธีกรระดับตำนานผู้นี้สารภาพว่า มีจุดที่ไม่อยากไปต่อกับอาชีพนี้แล้วเหมือนกัน ในช่วงที่เกิดทีวีดิจิทัล
“เมื่อก่อนนี้มีแค่ 3, 5, 7, 9, และ 11 แต่ทันทีที่ขึ้นมาเป็น 20 ช่อง ผู้ชมก็ถูกแย่งไป วิกฤตเกิดทันที การขายของเราจากที่เมื่อก่อนเคยปฏิเสธ ก็ต้องวิ่งตามหาโฆษณา” เขายังบอกด้วยว่า เมื่อสถานการณ์มาจนถึงจุดนี้ “ผมตัดเงินเดือนตัวเองลง 60%”
แต่เหตุที่วีทียังคงยืนหยัด ไม่ยอมปิดบริษัท เพราะคิดว่าทำงานคอนเทนต์มาตลอด หลายสิบปี และตอนนี้โลกออนไลน์ก็ต้องการคอนเทนต์ เลยขอเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาบุกออนไลน์สักตั้งหนึ่ง
ลูกสาวคนโตที่ตอนนี้หันมาเอาดีการเป็นพิธีกรเช่นเดียวกับบิดา ยังหยิบยกประเด็นเรื่องการเป็น “พิธีกรที่ดี” ให้วีทีได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ฟัง ซึ่งวีทีตอบได้อย่างน่าสนใจ
“ป๊าไม่ใช่เป็นพิธีกรที่ดี แต่บังเอิญป๊าเป็นคนฟังที่ดี การสนทนากับใครก็ตาม มันจะต้องฟัง ฟังแล้วก็คิดตามที่เขาพูด และเพราะมันเป็น one way communication พอพูดไปแล้วผู้ชมไม่สามารถที่จะถามในสิ่งที่เขาสงสัยได้ เพราะฉะนั้นเราต้องฟัง แล้วเราต้องสงสัยแทนผู้ชม ไอ้ตรงนี้ต่างหากที่คงทำให้ผู้ชมเขามีความรู้สึก เออ วิทวัส โอเคเลย โดนใจ ใช้ได้”
ในช่วงท้ายของรายการ มีพนักงานถามวีทีว่า “คิดว่าตัวเองจะทำอีกนานไหม” เขาตอบด้วยแววตาเปล่งประกายว่า “ส่วนหนึ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือความสนุก ผมยังสนุกกับงานโทรทัศน์อยู่ แม้ว่าจะต้องเจอกับคู่แข่งกับอะไรต่ออะไรมากมาย รอยหยักในสมองก็ยังมีอยู่ เพราะยังอยากจะคิดเรื่องแบบนี้”
หากฟังคำตอบนี้ เชื่อว่า ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ จะยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการคอนเทนต์ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจาก ‘ทีวี’ มาสู่ ‘โลกออนไลน์’ และไม่ว่าเขาจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง หวังว่าเขาจะครีเอทผลงานที่เป็นที่จดจำให้พวกเราได้เสพกันต่อไป
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ตีสิบเดย์ At Ten Day
อ้างอิง:
เปิดตำนานเส้นทางโทรทัศน์กว่า 30 ปีของ "วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์" | MINDSET เศรษฐี
คุยแซ่บSHOW : ที่นี่ที่แรก "วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์"เปิดเส้นทางวงการTVกว่า40 ปี พร้อมเผยชีวิตครอบครัว!