27 ธ.ค. 2561 | 15:36 น.
- ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส. ชาวฝั่งธนฯ คือผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้เกิดอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
- ทองอยู่ เป็นส.ส. ยุคแรกเริ่มประชาธิปไตยในไทย และยื่นเรื่องทำอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินฯ เสนอให้กับพระยาพหลฯ
“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านยังเป็นแค่ครูจน ๆ ครูสอนอยู่ที่วัดบวรฯ แต่ก่อนหน้านั้นสักห้าหกปี ตอนช่วงสมบูรณาญาฯ ท่านก็มีศรัทธาบอกว่าต้องทำอะไรให้เพื่อพระเจ้าตากแล้วปรากฏว่าตอนที่ท่านได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ธนบุรี ตอนนั้นยังใช้ว่าจังหวัดธนบุรีอยู่ แล้วท่านก็ได้เป็น ส.ส. 2477 คือตอนเลือกตั้ง 2476 เป็นปลายปีแล้ว
“2477 ท่านเป็น ส.ส. ปุ๊บ มิชชันแรกก็คือไปยื่นเรื่องกับพระยาพหลฯ (พระยาพหลพลพยุหเสนา) เลย เราจะต้องมาทำอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชกัน”
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เขียนเรื่อง “ชีวิตอุทิศแด่ 'พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และพระนิพพาน' ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กันยายน 2561) กล่าวกับ The People ถึง ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส. คนแรกของธนบุรี
ทองอยู่ พุฒพัฒน์ เกิดเมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2442 เป็นชาวฝั่งธนฯ เกิดที่บ้านหลังวัดอมรินทร์ บางกอกน้อย เป็นบุตรของขุนอินทราวาส (พ่วง พุฒพัฒน์) ข้าราชการกระทรวงกลาโหม กับนางอินทราวาส (สำอาง พุฒพัฒน์) ทองอยู่จบชั้นมัธยม 8 แล้วเรียนต่อวิชาครูมัธยมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบแล้วมาเป็นครูโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2476 ทองอยู่ได้ลาออกจากครูเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจาก ‘จังหวัดธนบุรี’ (ในขณะนั้น ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ) ซึ่งเขาก็ได้เป็นผู้แทนในจังหวัดบ้านเกิดสมใจ
ด้วยความเป็นคนฝั่งธนฯ และเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นอย่างมาก ทองอยู่ซึ่งเคยเป็นครูสอนประวัติศาสตร์มาก่อนเห็นว่า ประวัติศาสตร์ที่เรียนกันไม่ค่อยเป็นธรรมกับพระองค์มากนัก จึงอยากที่ผลักดันการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระองค์ “เพื่อลบรอยบันทึกของนักประวัติศาสตร์ที่มุ่งร้ายป้ายสี” (ตามความเห็นของทองอยู่)
ทองอยู่คิดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเคยเอาไปบอกเพื่อนฝูงที่เป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งได้เสียงตอบรับกลับมาว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นเรื่องน่าขบขัน เพราะสมัยนั้นยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใครคิดทำเรื่องเช่นนั้นอาจมีภัยถึงตัว คนที่หวังดีจึงเตือนให้ทองอยู่ เลิกคิดโครงการเช่นนั้นเสีย
จังหวะที่เขาได้เข้ามาเป็นผู้แทนของจังหวัดธนบุรี เมื่อเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีใครจะทำเสียทีจึงเรียกประชุมกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นก่อนมีมติส่งเรื่องไปถึงรัฐบาลขอให้ทำอนุสาวรีย์ให้กับพระเจ้าตากในปี 2477 แต่เห็นเรื่องก็เงียบ ๆ เขาจึงมีหนังสือถึง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น บอกว่า ถ้ารัฐบาลเพิกเฉยไม่สนใจแล้ว ประชาชนก็จะร่วมกันจัดสร้างขึ้นมาเอง
หลังจากนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งทองอยู่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย จนได้แบบเป็นพระบรมรูปทรงม้าพระหัตถ์ขวาเงื้อพระแสงดาบดังที่เห็นในปัจจุบันเมื่อราวปี 2480
แต่การก่อสร้างก็ไม่ได้เป็นไปโดยราบรื่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาขัดจังหวะ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายต่อหลายครั้งทำให้โครงการหยุดชะงักอยู่เป็นระยะ กว่าจะเสร็จสิ้นก็ถึงปี 2497 หรือราว 20 ปี หลังจากที่ทองอยู่เริ่มผลักดันเมื่อครั้งที่เขาเป็น ส.ส. สมัยแรก
ทองอยู่ได้เป็น ส.ส. อยู่สองสมัย หลังยุบสภาเมื่อปี 2481 ทองอยู่ก็ไม่ได้เล่นการเมืองในเวทีระดับประเทศอีก แต่หันไปเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นกับเทศบาลนครธนบุรี โดยเคยได้เป็นทั้งเทศมนตรี และประธานสภาเทศบาลนครธนบุรีในช่วงระหว่างปี 2483 ถึง 2492
นอกจากนี้ ทองอยู่ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเขาเคยไปอดข้าวประท้วง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2498 ให้ยกเลิก ‘ส.ส. ลากตั้ง’ จนถูกฟ้องฐานเป็น ‘กบฏอดข้าว’ แต่หลังจากนั้นเพียงสองปี ทองอยู่ก็หันหลังให้การเมืองและเรื่องทางโลกอย่างถาวร โดยนริศ ผู้ค้นคว้าเรื่องของทองอยู่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“ส.ส.ทองอยู่เป็นคนที่รักประชาธิปไตยมากจนเมื่อตอนสฤษดิ์ รัฐประหารปุ๊บ ตอนนั้นก็คือกึ่งพุทธศตวรรษปี 2500 ท่านก็บอกว่าหมดหนทางชนะแล้ว ท่านก็ยอมแพ้ ไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดทองธรรมชาติ วัดทองธรรมชาติห่างจากอนุสาวรีย์วงเวียนใหญ่นิดเดียว”