07 ธ.ค. 2561 | 14:35 น.
หนังสือธรรมะซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากเล่มหนึ่งคือ “ธัมมานุธัมมปฏิบัติ” เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องจากชาวพุทธทั้งภิกษุ ฆราวาสว่ามีทั้งความลึกซึ้ง ทั้งความแม่นยำ และเชื่อกันว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นการ “ถาม-ตอบ” ของสองเกจิชื่อดัง หลวงปู่มั่น (มั่น ภูริทตฺโต) และหลวงปู่จูม (จูม พนฺธุโล) แต่จากการค้นคว้ากว่าสี่ปีของสองสหายนักวิจัย คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ และดร.มาร์ติน ซีเกอร์ นักวิชาการจากอังกฤษพบว่างานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นของพระอาจารย์มั่นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับเป็นของสตรีรายหนึ่งที่ชื่อว่า “คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร” และหัวใจสำคัญที่ทำให้สองนักวิจัยมีความมั่นใจมากในการค้นคว้าของทั้งคู่ก็คือหนังสือ “อนุสรณ์งานศพ” ที่ช่วยยืนยันสมมติฐานที่ทั้งคู่ขวนขวายค้นคว้า จากความพยายามในครั้งนั้นทำให้คุณนริศสนใจเก็บหนังสืออนุสรณ์งานศพอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ค้นพบอะไรใหม่ๆ ในเรื่องเก่าๆ ที่หลายคนหลงลืมกันไปแล้วแต่ยังคงหลงเหลือเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในหนังสือเหล่านี้ The People : อยากให้เล่าความเป็นมาของการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพ นริศ : อนุสรณ์งานศพถ้าว่ากันตามแบบตามมาตรฐานจริงๆ ก็พิมพ์ตอนสมัย พ.ศ. 2420 กว่า สมัยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาหรือรู้จักกันดีว่า "พระนางเรือล่ม" อันนี้ว่ากันตามแบบ แต่บางทีก็อาจจะมีข้อถกเถียง บางคนบอกว่ามีก่อนหน้านั้น แต่ยังไงเราถือว่าเริ่มต้นจริงๆ สักช่วงนี้ก็แล้วกัน ช่วงประมาณ พ.ศ. 2420 กว่าราวๆ ยังถือว่าอยู่ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 The People : ธรรมเนียมนี้เริ่มมาจากในวัง? นริศ : ใช่ครับ เรื่องของบุคคลชั้นสูงและช่วงแรกๆ ก็จะเป็นเรื่องของบทสวดมนต์อะไรซะมากกว่า หลังจากนั้นแล้วก็จะมีเริ่มเป็นพวกธรรมะบ้าง เริ่มถัดมาสักประมาณ พ.ศ. 2440 -2450 ก็จะเป็นเรื่องของพวกหนังสือตามหอสมุด ตอนที่เริ่มเกิดหอสมุด อย่างของกรมพระยาดำรง (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ส่วนมากก็จะอยู่ในหมวดของหนังสือธรรมะ ในหมวดนี้ผมจะเก็บบ้างในบางส่วนที่เป็นหนังสือของพระ เพราะส่วนตัวผมวิจัยงานพระก็จะมีหลายเล่ม ที่จะเป็นเรื่องของพระซะมากกว่า The People : แล้วธรรมเนียมนี้ในพวกสามัญชน? นริศ : สามัญชนก็มีบ้าง สามัญชนถ้าพูดกันตามตรง ก็เป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มบุคคลชั้นสูงพอสมควร อย่างที่ทราบสมัยก่อนก็จะมีขุน หลวง พระ พระยา เราก็จะเห็นธรรมเนียมนี้ในรูปแบบของอนุสรณ์งานศพ