04 ม.ค. 2562 | 17:47 น.
"บุคคลทุกคนที่เกิดหรือได้รับสัญชาติสหรัฐอเมริกา และอยู่ใต้เขตอำนาจทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา และรัฐที่บุคคลนั้นอาศัย รัฐใดๆ ก็ไม่อาจบังคับหรือออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิหรือความคุ้มกันใดๆ ของพลเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา และรัฐใดๆ ก็ไม่อาจพรากชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของบุคคลโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมาย หรือปฏิเสธความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเสมอภาคภายใต้เขตอำนาจของตน" ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในมาตรา 1 ของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ลำดับที่ 14 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1868 กล่าวถึงการได้มาซึ่งสถานะพลเมืองของสหรัฐฯ และสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ถ้อยคำที่ใช้ฟังดูง่ายไม่ควรจะต้องตีความให้ซับซ้อน แต่บริบทของยุคนั้นการใช้คำว่า "ทุกคน" ไม่ได้หมายถึง "คน" ทุกคนแต่อย่างใด ชนชั้นนำมุ่งหมายที่จะจำกัดความหมายให้หมายถึงคนผิวขาวเท่านั้น ทำให้เกิดการออกกฎหมายชั้นรองเพื่อกีดกันชนชาติอื่น อย่างเช่นแรงงานชาวจีนอพยพ โดยในปี 1882 ได้มีการบังคับใช้กฎหมายกีดกันการอพยพของชาวจีน (Chinese Exclusion Act) เพื่อห้ามชาวจีนเดินทางเข้าสหรัฐฯ และห้ามการแปลงสัญชาติของชาวจีน ซึ่งคนขาวสมัยนั้นก็ยังพยายามตีความขยายขอบข่ายให้รวมถึงลูกหลานชาวจีนอพยพที่เกิดในแผ่นดินสหรัฐฯ ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้บังคับจะใช้ และ หว่อง คิม อาร์ก (Wong Kim Ark) ลูกหลานชาวจีนอพยพผู้เกิดในซานฟรานซิสโกเมื่อปี 1873 คือเหยื่อของการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว สมัยนั้นสหรัฐฯ กำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงและยาวนาน คนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจึงพยายามหาแพะมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหวยก็มาตกที่คนจีนอพยพ ครอบครัวของหว่องซึ่งมาค้าขายอยู่ในชุมชนคนจีนที่ซานฟรานซิสโก กลัวว่าตัวเองจะตกเป็นเป้าความรุนแรงจึงพากันอพยพกลับเมืองจีนไปตอนที่หว่องอายุได้ราวเก้าขวบ แต่เมื่อหว่องโตเป็นหนุ่ม เขาเห็นว่าอยู่เมืองจีนไปก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า จึงหวังมาแสวงโชคในแผ่นดินเกิดที่สหรัฐอเมริกาโดยเข้ามาทำงานเป็นพ่อครัว แรกทีเดียวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก่อนเดินทางกลับเมืองจีนอีกรอบในปี 1894 เพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้องและแต่งงาน เพราะคิดว่ามันก็เป็นสิทธิของเขา โดยได้เตรียมเอกสารสำคัญที่จะช่วยยืนยันตัวตนของเขาติดมือไปด้วย แต่ขากลับมาสหรัฐฯ จอห์น เอช. ไวซ์ (John H. Wise) เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรกลับปฏิเสธที่จะให้เขาเดินทางเข้าประเทศ โดยอ้างว่าหว่องไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ และสั่งให้จับหว่องไปขังก่อนเนรเทศออกนอกประเทศต่อไป หว่องได้สมาคมชาวจีนโพ้นทะเลช่วยเหลือหานักกฎหมายมือดีมาต่อสู้กับฝ่ายรัฐ ซึ่งพยายามลบล้างสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดของเขา โดยหาว่าการเกิดของหว่องเป็นเพียง "อุบัติเหตุ" ไม่ควรเป็นเหตุได้รับสัญชาติ เพราะทั้งการศึกษาและรากเหง้าทางการเมืองของหว่องล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับสหรัฐฯ คนที่คู่ควรจะได้สัญชาติสหรัฐฯ จะต้องเป็นทายาทของคนสหรัฐฯ เท่านั้น เรื่องนี้ต่อสู้กันจนมาถึงศาลฎีกา ซึ่งศาลตัดสินในปี 1898 ให้หว่องเป็นฝ่ายชนะแบบขาดลอยด้วยมติ 6 ต่อ 2 แม้แต่ตุลาการที่มีอุดมการณ์คนขาวเป็นใหญ่ (white supremacist) ก็ยังต้องเทคะแนนให้กับหว่อง โดยชี้ว่าบุคคลที่อยู่ในข่ายยกเว้นมีเพียงเด็กที่เกิดในครอบครัวของผู้นำหรือทูตต่างชาติ หรือเกิดในกองทัพศัตรูที่ครอบครองดินแดนของประเทศอยู่ และชนเผ่าอินเดียนที่ไม่ได้เสียภาษีและถือว่าไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งหว่องไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ข้างต้นเลย หว่องจึงได้สัญชาติสหรัฐฯ โดยการเกิดอย่างสมบูรณ์ หาไม่แล้วลูกหลานผู้อพยพผิวขาวก็ต้องไม่มีสัญชาติอเมริกันเช่นกัน "หากตีความว่าบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ตัดสิทธิในสัญชาติของเด็กที่เกิดบนแผ่นดินสหรัฐฯ จากพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศอื่น นั่นย่อมเป็นการปฏิเสธสัญชาติของคนหลายพันคนที่เป็นลูกหลานของชาวอังกฤษ สก็อต ไอริช เยอรมัน หรือชาวยุโรปอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาถือและได้รับการปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองของสหรัฐฯ ไปด้วย" ความเห็นส่วนหนึ่งของ ฮอเรส เกรย์ (Horace Grey) หัวหน้าคณะตุลาการศาลฎีการะบุ นี่จึงเป็นการยืนยันสถานะความเป็นพลเมืองอเมริกันของหว่อง (ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เขาไม่ตกอยู่ใต้บังคับของกฎหมายที่ออกมากีดกันการอพยพและการได้รับสัญชาติของชาวจีนซึ่งออกมาภายหลัง คำพิพากษานี้มีความสำคัญมากในเชิงหลักการ แต่มันกลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก และไม่ได้ช่วยให้ชาวจีนในสหรัฐฯ ในยุคนั้นมีสถานภาพที่ดีขึ้น รายงานของ Politico กล่าวว่า ตัวหว่องเองชนะคดีมาได้ก็แทบไม่ได้สิทธิประโยชน์อันใดในฐานะพลเมืองสหรัฐฯ เขายังต้องพกเอกสารพิเศษ เช่นลายเซ็นของคนขาวที่ยืนยันว่าเขาเกิดในแผ่นดินสหรัฐฯ ติดตัวอยู่ตลอด หากเขาจะเดินทางเข้าออกสหรัฐฯ และเชื่อว่าสุดท้ายเขาก็เดินทางกลับจีนและเสียชีวิตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2