14 ม.ค. 2562 | 18:12 น.
"คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด สิ่งที่คุณพูดอาจถูกใช้ในการพิจารณาคดีกับคุณในชั้นศาล คุณมีสิทธิที่จะมีทนายความ ถ้าคุณไม่สามารถจ้างทนายได้ ศาลจะแต่งตั้งทนายให้กับคุณ เมื่อคุณได้ทราบถึงสิทธินี้แล้ว คุณพร้อมที่จะตอบคำถามในข้อกล่าวหาที่มีต่อคุณอีกหรือไม่?" ประโยคข้างต้นใครที่ชอบดูซีรีส์อาชญากรรมอเมริกันน่าจะคุ้นเคยกันนี้ เพราะนี่เป็นคำเตือนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องแจ้งกับผู้ต้องสงสัยทุกครั้งเมื่อทำการจับกุม ไม่เช่นนั้นหลักฐานบางอย่างที่ได้มาอาจไม่สามารถใช้ว่ากล่าวในชั้นศาลได้ และที่มาของประโยคนี้ก็เกี่ยวข้องกับ เอร์เนสโต มิรันดา เป็นสำคัญ มิรันดา เป็นแรงงานยากจนเชื้อสายเม็กซิกันจากแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เขาถูกเชิญตัวไปโรงพักในเมืองฟีนิกซ์เมื่อเดือนมีนาคม 1963 เพื่อให้ผู้เสียหายชี้ตัวผู้ต้องสงสัยในข้อหาลักพาตัวและข่มขืนหญิงวัย 18 ปี หลังเจ้าหน้าตำรวจพบว่า รถบรรทุกและป้ายทะเบียนของเขาตรงกับคำบรรยายลักษณะตามปากคำของพี่ชายเหยื่อได้ให้ไว้ ซึ่งมิรันดาก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โดยมิได้ขัดขืน เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนต่อเป็นเวลาสองชั่วโมง ก่อนให้การรับสารภาพ โดยในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของเขามีถ้อยคำระบุว่า "...ข้าพเจ้าได้ให้ปากคำด้วยความสมัครใจจากเจตจำนงอิสระของข้าพเจ้า มิได้ถูกข่มขู่ บังคับ หรือได้รับคำสัญญาว่าจะได้สิทธิคุ้มกัน[การดำเนินคดี] และด้วยความเข้าใจในสิทธิตามกฎหมายทั้งปวงของข้าพเจ้า และรู้ว่าถ้อยคำใดๆ ที่ข้าพเจ้าให้ไว้อาจถูกนำมาใช้ยันกับข้าพเจ้าได้..." แต่จริงๆ แล้ว มิรันดาไม่ได้รับแจ้งสิทธิตามกฎหมายที่ตัวเองมีก่อนให้ปากคำกับเจ้าพนักงานแต่อย่างใด เมื่อคดีไปถึงชั้นศาล ทนายมิรันดาต่อสู้ว่า คำรับสารภาพของมิรันดาไม่สามารถใช้ปรักปรำเอาผิดกับเขาได้ เพราะเขาไม่ได้รับแจ้งสิทธิตามกฎหมายโดยเจ้าพนักงานเสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฟัง มีคำพิพากษาให้จำคุกมิรันดาสูงสุดถึง 30 ปี เมื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงแอริโซนา ศาลก็ยังพิพากษายืน ทำให้เรื่องนี้ไปถึงศาลฎีกากลางแห่งสหรัฐฯ ซึ่งรับพิจารณาคดีที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันอีกสามกรณี หัวใจของการพิจารณาคดีของศาลฎีกาในคดีนี้ก็คือ สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้ตนต้องตกเป็นพยานในการปรักปรำตัวเอง ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญลำดับที่ 5 (Fifth Amendment) ของมิรันดาถูกล่วงละเมิดหรือไม่? สิทธิในข้อนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกผู้บังคับใช้กฎหมายล่วงละเมิดระหว่างการดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าพนักงานไม่มีพยานหลักฐานใดๆ เลยในการเอาผิดกับจำเลย และใช้เพียงคำสารภาพของจำเลยเป็นหลักเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษ เพราะลำพังคำสารภาพอย่างเดียวย่อมมีความเสี่ยงสูงที่กระบวนการยุติธรรมจะถูกบิดเบือน หากผู้ถูกปรักปรำถูกบีบบังคับ หรือตกอยู่ใต้สภาวะกดดันจนทำให้จำเป็นต้องรับสารภาพ และศาลฏีกาก็ได้มีมติในเดือนมิถุนายน 1966 ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ระบุว่า คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานจะนำมาใช้ปรักปรำจำเลยได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานได้แจ้งต่อจำเลยถึงสิทธิที่จะมีทนายความ และ "สิทธิที่จะไม่พูด" แก่ผู้ถูกกล่าวหาแล้วเท่านั้น โดยหัวหน้าคณะผู้พิพากษาวอร์เรนได้ให้เหตุผลว่า "ในคดีเหล่านี้เราอาจไม่พบว่าคำให้การของจำเลยเป็นการได้มาโดยไม่สมัครใจตามแนวทางที่ถือปฏิบัติกันมา แต่ความกังวลถึงการสร้างเกราะคุ้มกันเพื่อรักษาสิทธิตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญลำดับที่ 5 ของเราก็มิได้ลดลงแม้แต่น้อย ในแต่ละคดีจำเลยถูกพาเข้าไปสู่ภาวะที่ไม่คุ้นเคยและต้องผ่านกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่น่าเกรงกลัว ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการบีบบังคับจึงเป็นสิ่งที่คาดหมายได้มาก ตัวอย่างเช่น ในคดีของมิรันดา ซึ่งเป็นชนเชื้อสายเม็กซิกันที่ยากจนและมีปัญหาทางจิตอย่างร้ายแรง ด้วยความหมกมุ่นกับจินตนาการทางเพศที่ฟุ้งซ่าน หรือในคดีของสจ๊วต ซึ่งจำเลยเป็นนิโกรยากจนในลอสแอนเจลิสที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันตอนชั้น ป.หก แม้จะไม่พบหลักฐานว่ามีการใช้กำลังหรือการบีบบังคับจิตใจมาเกี่ยวข้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีเหล่านี้ต่างก็ไม่พบว่า เจ้าพนักงานจะจัดให้มีมาตรการรักษาสิทธิของจำเลยในการสอบสวนมาแต่ต้น เพื่อให้แน่ใจว่าคำให้การที่ได้มาเป็นผลมาจากความสมัครใจโดยแท้" ตอนแรกที่คำพิพากษานี้ออกมา บุคลากรในแวดวงยุติธรรมก็แตกตื่นกันพอสมควร เพราะมาตรการนี้จะทำให้พวกเขาทำงานกันยากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และกลัวกันว่า "คนผิด" ที่ยอมสารภาพ (แต่ผู้ปรักปรำไม่มีหลักฐานอื่น) จะลอยนวลอยู่ในสังคมได้ต่อไป อย่างไรก็ดี ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับหลักการนี้ได้ มีการแจกแบบคำเตือนแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาให้เจ้าหน้าที่ได้ท่องจำ ซึ่งเรียกกันในภายหลังว่า "Miranda warning" ที่เราได้ยินในหนังหรือละครอาชญากรรมของอเมริกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งจริงๆ ภาพในหนังอาจสร้างภาพจำผิดๆ ได้เหมือนกัน เพราะโดยหลักการแล้วเจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งคำเตือนนี้กับผู้ต้องหาโดยทันทีขณะจับกุมก็ได้ แต่ขณะถูกควบคุมตัวซึ่งผู้ต้องหามักจะถูกคุมขังในห้องมิดชิด ตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สภาพร่างกายและจิตใจตกอยู่ใต้ความกดดันเป็นอย่างสูง ตรงนี้แหละที่เจ้าพนักงานจะต้องแจ้งเตือนถึงสิทธิของผู้ต้องหา เพื่อให้พวกเขารู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม หรือตอบในสิ่งที่เจ้าหน้าที่อยากได้ยิน เพื่อที่ตัวเองจะหลุดพ้นจากสภาวะกดดันนี้ไปได้ และเขาก็มีสิทธิที่จะมีทนายคอยให้คำปรึกษาระหว่างที่ถูกสอบปากคำด้วย ส่วนชะตากรรมของมิรันดา หลังศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคำสารภาพของเขาไม่สามารถใช้เอาผิดกับเขาได้แล้ว รัฐแอริโซนาก็ฟ้องคดีใหม่อีกรอบ คราวนี้มีการอ้างหลักฐานและพยานเพิ่มเติม หนึ่งในนั้นก็คือสาวที่มิรันดาใช้ชีวิตอยู่ด้วยในช่วงที่เกิดคดี ซึ่งสาวรายนี้ให้การว่า มิรันดาเป็นคนเล่าให้เธอฟังเองว่าเขาเป็นคนก่อคดีข่มขืน เขาถูกศาลตัดสินในปี 1967 ให้จำคุก 20 ถึง 30 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวโดยติดทัณฑ์บนตั้งแต่ปี 1972 พ้นจากคุกมาได้ มิรันดาสามารถหารายได้ได้ง่ายๆ ด้วยการแจกลายเซ็นบนการ์ดคำเตือนที่มาจากคดีของเขา ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1976 ด้วยวัยเพียง 34 ปี หลังจากถูกคนร้ายแทงจนถึงแก่ความตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยไว้ได้หนึ่งราย แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยตัว เนื่องจากผู้ต้องหารายนี้อ้าง "สิทธิที่จะไม่พูด" และเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีต่อได้ ฟังอย่างนี้หลายคนอาจมองว่าชะตากรรมในวาระสุดท้ายของมิรันดาเป็นตลกร้าย เมื่อสิ่งที่เขาสร้างขึ้นเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายเขาเสียเอง แต่หากนึกให้ดีแล้ว ที่ผู้ต้องหารายนี้รอดพ้นจากคดีไปได้ อาจเพราะเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงหาหลักฐานใดๆ มาเอาผิดกับเขาไม่ได้ และมันก็กลายเป็นบรรทัดฐานความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ทุกคนที่ถูกกล่าวหาเรื่อยมา