15 ก.ย. 2563 | 23:05 น.
- ฟรองซัว ดูว์วาลีเย ประธานาธิบดีแห่งเฮติ เป็นที่รู้จักกันว่า เอาความเชื่อเรื่องลัทธิเหนือธรรมชาติมาใช้ในโลกการเมือง
- เขาดำรงตำแหน่งยาวนาน 13 ปี และสั่งเสียให้ส่งต่อตำแหน่งไปให้ทายาทวัย 19 ปี
ในอดีตกาล การเมืองกับไสยศาสตร์คือสิ่งที่อยู่คู่กันมาเสมอ ความเชื่อและเรื่องเหนือธรรมชาติคือสิ่งที่สามารถมอบความสบายใจและความชอบธรรมบางอย่างให้กับผู้ปกครองได้ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ไสยศาสตร์ยังสามารถสร้างความหวั่นเกรงให้กับประชาชนจนทำให้พวกเขายอมอยู่ในการควบคุม เหมือนกับกรณีของประธานาธิบดีแห่งเฮติ ฟรองซัว ดูว์วาลีเย ที่เอาความเชื่อเรื่องลัทธิเหนือธรรมชาติมาใช้ในโลกการเมือง
ก่อน ฟรองซัว ดูว์วาลีเย (Francois Duvalier) จะโดดมาเล่นการเมือง เขาเป็นนักศึกษาแพทย์อนาคตไกล แต่ในเวลานั้นการเรียกร้องสิทธิสำหรับคนผิวดำกำลังเข้มข้น เขาจึงเบนเข็มมาเป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิวควบคู่กับเรียนหมอ ผลักดันให้รัฐบาลเอาใจใส่คนยากไร้โดยเฉพาะกับคนผิวดำ ทั้งยังขอให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญทางด้านการแพทย์มากขึ้น เพราะยังมีชาวเฮติอีกมากที่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคมาลาเรียและโรคสรับไทฟัส (โรคไข้รากสาดใหญ่)
นอกจากประเด็นสีผิวและการแพทย์ ฟรองซัวยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาให้ได้มาตรฐานแบบที่ชาวเฮติทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยตัวของฟรองซัวอ้างว่าประชาธิปไตยของเฮติสามารถพัฒนาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เรียกร้องความเท่าเทียม พูดเรื่องสิทธิ ค่าครองชีพ ไปจนถึงเรื่องการศึกษาที่หวังอยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้ฟรองซัวถูกสำนักข่าวทำข่าวอยู่บ่อยครั้ง ประชาชนเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตานักเคลื่อนไหวที่มีดีกรีเป็นถึงนายแพทย์จากมหาวิทยาลัยเฮติ แต่กลับลงมาสู้เพื่อชนชั้นล่างของสังคมจนถูกตั้งฉายาให้ ‘ปาปา ด็อก’ (Papa Doc)
เขาสะสมความนิยมและได้ใจประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เคยต้องหลบหนีซ่อนตัวเพราะถูกรัฐบาลตั้งข้อหาเพราะเขาออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร จนการเลือกตั้งเฮติปี 1957 มาถึง ผู้นำเก่าหมดอำนาจ เกิดการนิรโทษกรรมให้แพทย์หนุ่ม ฟรองซัวตัดสินใจลงเลือกตั้งท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผลที่ออกมาคือชัยชนะครั้งใหญ่ เขากวาดคะแนนไป 679,884 เสียง ทิ้งห่างคู่แข่งลำดับสองที่มีคะแนนเพียง 266,992 เสียง เส้นทางชีวิตของเขาเริ่มต้นจากหมอไปสู่นักเรียกร้องสิทธิ และในตอนนี้ฟรองซัว ดูว์วาลีเย ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งเฮติไปเสียแล้ว
การชนะเลือกตั้งและก้าวสู่อำนาจของฟรองซัวสร้างความหวังให้กับประชาชน พวกเขาเป็นคนเลือกชายที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียม คนที่ยืนหยัดว่าประเทศจะต้องจัดการกับความจนและการเหยียดผิว อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ก้าวเข้าสู่อำนาจนิสัยแท้จริงของเขาก็เริ่มเผยให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ การออกมายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยก่อนหน้านี้เป็นแค่เรื่องลวงโลก ประธานาธิบดีฟรองซัวพาเฮติเข้าสู่ระบอบเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่งตั้งคนดำพวกเดียวกันในตำแหน่งต่าง ๆ และพยายามกระจายอำนาจเข้าสู่กองทัพ
หลังมีอำนาจได้ไม่นาน ประธานาธิบดีฟรองซัวตกเป็นเป้าของกลุ่มอำนาจขั้วตรงข้าม นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนไม่พอใจที่ประธานาธิบดียัดคนของตัวเองเข้ามาทำงานในกองทัพ ในปี 1958 มีข่าวเจ้าหน้าที่กองทัพ 3 คน และทหารรับจ้างชาวอเมริกันอีก 5 คน พยายามลอบสังหารประธานาธิบดี ทว่าพวกเขาทำไม่สำเร็จ แถมถูกคนของผู้นำสังหารทิ้งทั้งหมด
เหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีฟรองซัวเกิดความหวาดระแวงต่อกองทัพ รู้ตัวว่าอำนาจของตนยังไม่สามารถเข้าควบคุมกองทัพได้ เขาจึงตั้งหน่วยพิทักษ์ประธานาธิบดี กองกำลังพิเศษที่มีแต่คนใกล้ชิดไว้ใจได้เพื่อคานอำนาจกับกองทัพที่เขาเข้าไม่ถึง ซึ่งความหวาดระแวงแสดงออกด้วยความเวอร์เมื่อการอารักขาประธานาธิบดีใช้คนจำนวนมากถึง 600 คน แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ทั้งทหารยามดูแลวังไปจนถึงสไนเปอร์
ในปี 1959 ประธานาธิบดีฟรองซัวได้รวบรวมกองกำลังอาสาสมัครจากชนบทโดยใช้ชื่อว่า Militia of National Security Volunteers แต่คนทั่วไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ตงตง มากุต’ (Tonton Macoute) หรือ ‘บูกี้แมน’ เป็นกองกำลังนอกเครื่องแบบทำหน้าที่เหมือนกับตำรวจลับ คอยจัดการคนที่เห็นต่างหรือต่อต้านประธานาธิบดี การจัดการเริ่มแรกของพวกเขาคือการลอบเข้าบ้านแล้วจับเหยื่อมัดไว้บนเก้าอี้ จากนั้นใช้มีดปาดคอและทิ้งศพไว้แบบนั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าใครที่ต่อต้านผู้นำจะต้องพบจุดจบแบบนี้
นโยบายของประธานาธิบดีฟรองซัวเป็นเผด็จการชาตินิยมแบบสุดโต่ง ออกคำสั่งไล่บาทหลวงต่างชาติออกจากประเทศ พร้อมกับยักยอกเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ส่งมาให้ประมาณ 15 ล้านดอลลาร์ โอนเงินที่ควรจะนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนเข้าบัญชีส่วนตัวของตัวเอง ควบคู่กับการสร้างภาพลักษณ์ผู้นำที่มีชีวิตสุดเรียบง่าย
แทนที่จะนำการศึกษามาสู่ประชาชน สอนเรื่องเทคโนโลยีพร้อมปลูกฝังความคิดให้ทันยุคสมัย ประธานาธิบดีฟรองซัวกลับกล่าวอ้างว่าตัวเองเป็นผู้นำลัทธิวูดู (Vodou) ไสยศาสตร์ความเชื่อที่ชาวเฮติส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่ามีอยู่ในสังคม ยกยอตัวเองว่าการนับถือผีและวิญญาณของคนที่ตายไปมีส่วนสร้างอำนาจยิ่งใหญ่ให้กับเขา ในตอนนี้ฟรองซัวเป็นทั้งประธานาธิบดี นักปฏิวัติ และนักบวช (หมอผี) สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน เพราะความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติยังคงแพร่หลายในสังคมเฮติ
วันที่ 24 พฤษภาคม 1959 ประธานาธิบดีฟรองซัวเกิดอาการหัวใจวายจากการใช้อินซูลินเกินขนาด เขามีโรครุมเร้ามากมายทั้งเบาหวาน หัวใจ และระบบไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติจนหมดสติไปเกือบ 9 ชั่วโมง ทีมแพทย์ที่ดูแลใกล้ชิดวินิจฉัยว่าระบบประสาทบางส่วนของเขาได้รับความเสียหายจนส่งผลต่อสุขภาพจิต และการวูบครั้งนี้อาจมีส่วนทำให้ความเพี้ยนของประธานาธิบดีเหนือจินตนาการขึ้นไปอีกขั้น
ระหว่างที่พักรักษาตัวนาน 16 เดือน ประธานาธิบดีฝากงานบริหารทั้งหมดไว้กับ คีมงต์ บาบู (Clement Barbot) ผู้นำกองกำลังตงตง มากุต จนกว่าตัวเองหายดีแล้วกลับไปทำงานอีกครั้ง ทว่าพอเขากลับมาดันกล่าวโทษบาบูว่าพยายามริบอำนาจช่วงที่เขาป่วย แถมที่เขาหายหน้าหายตาไปก่อนหน้านี้เป็นเพราะถูกบาบูขังไว้ในคุก ตอนนี้เขาสามารถกลับมาทวงคืนอำนาจได้แล้วจึงออกคำสั่งให้จับกุมบาบูเข้าไปอยู่ในคุกบ้าง โดยไม่มีใครรู้ว่าประธานาธิบดีฟรองซัวกล่าวหาลูกน้องที่ทำงานแทนตัวเองไปเพื่ออะไร
ในปี 1961 ประธานาธิบดีฟรองซัวแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง เขาละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 1957 แก้ข้อกฎหมายให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีพ และเป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยเพียงคนเดียว (เพราะกีดกันคนอื่นไว้หมดแล้ว) เมื่อไม่มีคู่แข่ง เขาก็ได้เป็นประธานาธิบดีต่อพร้อมกับยืดอกบอกสื่อว่า “ผมจะน้อมรับตามความต้องการของประชาชน เพราะในฐานะนักปฏิวัติ ผมไม่มีสิทธิเพิกเฉยต่อเจตจำนงของผู้คน” คล้ายกับบอกว่าประชาชนเป็นคนเลือกเขามาจึงต้องยอมรับผลด้วยการเป็นผู้นำประเทศต่อไป ทั้งที่เบื้องหลังทุกคนต่างรู้ดีอยู่แก่ใจว่าเขาโกงเลือกตั้งมา
การเลือกตั้งสุดฉาวที่มีผู้ลงสมัครเพียงคนเดียว แถมก่อนเลือกตั้งยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ก่อนอีก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สื่อทั่วโลกพากันประณามและตั้งคำถามเกี่ยวกับผลเลือกตั้ง สำนักข่าว The New York Times ถึงกับพาดหัวว่า “ลาตินอเมริกาได้มอบตัวอย่างการเลือกตั้งฉ้อฉลมากมายบนหน้าประวัติศาสตร์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีครั้งไหนอุกอาจได้เท่าการเลือกตั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในเฮติ”
ช่วงที่ประธานาธิบดีฟรองซัวอยู่ในอำนาจ เป็นช่วงเวลาเดียวกับการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (JFK) ผู้นำเฮติออกมาบอกว่าก่อนหน้านี้เขาได้พ่นคำแช่งสาปเคนเนดีไว้ก่อนแล้ว และเพราะคำสาปของเขาเลยทำให้เคนเนดีพบจุดจบแบบนี้ แม้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่พอใจผู้นำเฮติเอามาก ๆ แต่ก็ต้องสร้างสัมพันธ์ไว้พร้อมส่งเงินช่วยเหลือให้รัฐบาลเฮติช่วยต่อต้านการเข้ามาของลัทธิคอมมิวนิสต์
นอกจากเหตุการณ์ของ JFK ที่ประธานาธิบดีฟรองซัวเคลมว่าเป็นผลงานตัวเอง ในปีเดียวกันบาบูออกจากเรือนจำและวางแผนแก้แค้นฟรองซัวด้วยการลักพาตัวลูก ๆ ของเขา ทว่าแผนก็ล้มเหลวจนต้องรีบหนีออกจากเมือง ด้านประธานาธิบดีออกคำสั่งตามล่าบาบูกับพรรคพวกที่มีส่วนรู้เห็นแผนลักพาตัว อย่างไรก็ตาม เนื้อหาต่อจากนี้อาจจะแปลกจนไม่น่าเชื่อแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเฮติ ประธานาธิบดีฟรองซัวที่ถูกวินิจฉัยว่าสมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอาการหัวใจวาย เชื่อสนิทใจว่าบาบูไม่ได้หนีออกนอกประเทศแต่ปลอมตัวเป็นหมาสีดำซ่อนอยู่ในเมือง เขาจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตามจับหมาสีดำทุกตัวในเฮติไปฆ่าทิ้ง
ช่วงเดือนกรกฎาคม 1963 กองกำลังตงตง มากุต สามารถตามจับบาบูมาจนได้ เขายังคงเป็นผู้ชายปกติธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้แปลงร่างเป็นหมาสีดำอย่างที่ประธานาธิบดีฟรองซัวเข้าใจ เมื่อเขาพบบาบูก็ปัดความคิดเรื่องหมาสีดำทิ้ง ทำเหมือนคำสั่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยไม่ได้สนใจหรือรู้สึกรู้สาว่าตัวเองได้คร่าชีวิตสุนัขทั่วประเทศไปไม่รู้เท่าไหร่ เขาสั่งตัดหัวบาบู จากนั้นให้นำศีรษะไปแช่ในถังน้ำแข็งแล้วค่อยเอามาให้ตนเพื่อเขาจะได้ใช้หัวติดต่อกับคนในโลกหลังความตาย
ไม่ใช่แค่บาบูที่โดนตามล่า ประชาชนชาวเฮติคนอื่น ๆ ที่เห็นต่างหรือไม่พอใจการบริหารงานของผู้นำก็โดนตามล่าด้วยเช่นกัน ผู้คนที่โดนจับจะถูกทรมานด้วยวิธีการหลากหลาย นักโทษทางการเมืองส่วนใหญ่จะถูกจับขังรวมกันในห้องแคบ ๆ แล้วถูกนำตัวไปแช่ในอ่างน้ำกรดซัลฟิวริก (กรดกำมะถัน) ทั้งเป็น พวกเขาจะดิ้นทุรนทุรายอยู่ในอ่าง เพราะฤทธิ์ของกรดทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังกับดวงตาอย่างรุนแรง หากกลืนกรดหรือหายใจเอาไอควันเข้าไปจะทำให้ลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารไหม้ เกิดอาการน้ำท่วมปอด หายใจติดขัด อาจทำให้ช็อกจนเสียชีวิต ซึ่งประธานาธิบดีฟรองซัวก็ชื่นชอบที่จะยืนดูคนเห็นต่างนอนทรมานอยู่ในอ่างน้ำ
ประธานาธิบดีฟรองซัวสั่งสังหารประชาชนที่เห็นต่างไปกว่า 60,000 คน ออกคำสั่งเด็ดขาดห้ามชาวเฮติฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ หากใครจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายจะถูกนับว่าเป็นอาชญากรที่สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาล จะถูกยึดทรัพย์และโดนโทษประหารชีวิต ภายหลังสหรัฐฯ ยกเลิกเงินช่วยเหลือที่มอบให้ประเทศเฮติ ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องดูแลประชาชนของตัวเองอย่างสุดความสามารถ
13 ปี กับการใช้อำนาจตามใจชอบ ประธานาธิบดีฟรองซัวใช้อำนาจเด็ดขาดกับประชาชน ยึดที่ทำกินของชาวนาเพื่อแบ่งสันปันส่วนที่ดินเหล่านั้นกับพรรคพวกตัวเอง ประชาชนตาดำ ๆ ที่ถูกยึดที่ดินทำกินต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในย่านสลัม แออัดกันอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลกลับอุปถัมภ์กลุ่มชนชั้นสูง ยอมให้นายทุนติดสินบน หากคนรวยคนไหนไม่ยอม รัฐจะใช้อำนาจข่มขู่จนยอมทำข้อตกลงทางการค้าด้วยกันอยู่ดี
กลุ่มนักวิชาการชนชั้นกลางที่พอมีกำลังทรัพย์ต่างพากันหนีออกนอกประเทศ บางคนไปอยู่ที่นิวยอร์ก ไมอามี ปารีส หรือประเทศแถบแอฟริกาที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส การยึดที่ดินและการหนีของชนชั้นกลางส่งผลให้ประเทศเฮติขาดทั้งแรงงานชาวเกษตร แรงงานก่อสร้าง และนักวิชาการหลากสาขาที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เหลือเพียงแต่นักการเมือง นายทุนบางกลุ่ม ประชาชนที่โดนหลอกแต่ยากจนและไร้อำนาจเกินกว่าจะลุกขึ้นมาต่อต้านนักการเมืองโกงชาติ
ประธานาธิบดีฟรองซัว ดูว์วาลิเย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจและเบาหวานเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1971 ด้วยวัย 64 ปี ดำรงตำแหน่งผู้นำเฮติกว่า 13 ปี เขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้เรียนหนังสือ ป่วยเป็นวัณโรค ขาดสารอาหาร เศรษฐกิจตกต่ำขั้นหนักจนทำให้ประชากรมีรายได้ต่อคนอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในทวีปเดียวกันมีรายได้ต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 400 ดอลลาร์ต่อปี ยากที่จะวิ่งตามประเทศอื่นได้ทัน
คำสั่งเสียสุดท้ายของประธานาธิบดีฟรองซัวคือการส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับลูกชายวัย 19 ปี ฌอง-โคลด ดูว์วาลิเย (Jean-Claude Duvalier) ฉายา ‘เบบี้ ด็อก’ (Baby Doc) โดยไม่ต้องให้ประชาชนเป็นคนเลือก (เพราะเขาเลือกเองแล้ว) ด้วยวัยเพียงแค่ 19 ปี ทำให้เบบี้ด็อกกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในโลก บริหารประเทศได้ย่ำแย่ไม่ต่างจากบิดาเท่าไหร่นัก ก่อนจะโดนประชาชนรวมตัวขับไล่จนต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส 1986 และภายหลังกลับเข้าเฮติอีกครั้ง พร้อมกับถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชันกับข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
อ้างอิง: