26 พ.ย. 2561 | 15:47 น.
ในยุโรปสมัญญาของกษัตริย์ที่ประชาชนขนานนามให้ไม่ได้มีแต่ความหมายในเชิงบวกอย่าง "มหาราช" หรือ "The Great" เท่านั้น บางพระองค์ก็ได้สมัญญาที่ไม่ค่อยน่าฟัง แต่เป็นสมัญญาที่ใครได้ยินแล้วก็นึกออกทันที หรือไม่ก็เป็นชื่อที่สะท้อนผลงานของพระองค์โดยตรง ตัวอย่างเช่น กษัตริย์ชาลส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศสและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของสมัญญา "The Bald" หรือกษัตริย์ผู้มีศีรษะล้าน (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังเถียงกันอยู่ว่าพระองค์ศีรษะล้านจริงหรือไม่? เป็นเพียงการเปรียบเปรยจากการที่พระองค์เป็นเจ้าที่ไร้แผ่นดินมาก่อนรึเปล่า?) หรือกษัตริย์หลุยส์ที่ 5 แห่งฝรั่งเศสที่ได้สมัญญาว่า "The Do-Nothing" ด้วยความที่พระองค์ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ที่โปรตุเกสก็มีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งซึ่งมีสมัญญาที่น่าสนใจ นั่นก็คือ กษัตริย์มานูเอลที่ 1 (ประสูติ ค.ศ. 1469 สวรรคต ค.ศ. 1521) ผู้มีสมัญญาว่า "The Fortunate" หรือกษัตริย์ผู้โชคดี ความโชคดีของพระองค์เริ่มตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ เพราะพระองค์เป็นบุตรลำดับที่เก้าของ เจ้าชายเฟอร์ดินันด์ ผู้เป็นอนุชาของ กษัตริย์อัลฟองโซที่ 5 (ประสูติ ค.ศ. 1432 สวรรคต ค.ศ. 1481) ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ก็มีโอรสธิดาอยู่สามพระองค์ ทำให้โอกาสที่เจ้าชายมานูเอลจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์มีค่อนข้างน้อย แต่โอรสองค์แรกของกษัตริย์อัลฟองโซสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนโอรสองค์ที่สอง กษัตริย์อัลฟองโซให้สมรสกับภคินีของเจ้าชายมานูเอล และโอรสองค์นี้ก็ได้ขึ้นเป็น กษัตริย์จอห์นที่ 2 (ประสูติ ค.ศ. 1455 สวรรคต ค.ศ. 1495) ทำให้เจ้าชายมานูเอลมีสถานะเป็นทั้งลูกพี่ลูกน้องและน้องเขยของกษัตริย์จอห์นที่ 2 การแก่งแย่งอำนาจในราชสำนักเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานะของเจ้าชายมานูเอลค่อยๆ ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ เมื่อกษัตริย์จอห์นที่ 2 ขึ้นครองราชย์ พระองค์สั่งให้ประหาร ดยุคแห่งบรากานซา (Duke of Braganza) พี่เขยของเจ้าชายมานูเอลและเจ้าผู้ทรงอิทธิพลสูงที่สุดในอาณาจักรด้วยข้อหากบฏ รวมถึงเชษฐาองค์สุดท้ายที่เหลืออยู่ของเจ้าชายมานูเอลในข้อกล่าวหาที่คล้ายกัน เมื่อเจ้าชายอัลฟองโซผู้เป็นโอรสโดยชอบของกษัตริย์จอห์นมาสิ้นพระชนม์ไปก่อนอีก เจ้าชายมานูเอลจึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัชทายาท และแม้ภายหลังกษัตริย์จอห์นพยายามจะยกสถานะของเจ้าชายจอร์จโอรสนอกสมรสของพระองค์ให้กลายเป็นโอรสโดยชอบ แต่สุดท้ายพระองค์ก็ทำไม่สำเร็จ (การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องส่งเรื่องไปถึงวาติกัน สถาบันที่กำหนดมาตรฐานศีลธรรมของชาวคริสต์ซึ่งต่อต้านการมีสัมพันธ์นอกสมรส) เมื่อพระองค์สวรรคตลงเสียก่อน เจ้าชายมานูเอลลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ จึงได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์มานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกสในปี 1495 โปรตุเกสของพระองค์เป็นอาณาจักรขนาดเล็กที่มีประชากรน้อยและไม่ได้ร่ำรวยเมื่อเทียบกับอาณาจักรข้างเคียงในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แต่การที่โปรตุเกสมีดินแดนทอดยาวไปตามชายฝั่งของทะเลแอตแลนติก ทำให้ชาวโปรตุเกสมีทักษะในการเดินเรือในทะเลเปิด และนั่นก็ทำให้พระองค์มีบุคลากรเก่งๆ มากมาย ที่ช่วยให้อาณาจักรของพระองค์ขยายตัวกลายเป็นจักรวรรดิที่มีดินแดนอยู่รอบโลก ตอนนั้นโคลัมบัสได้เดินทางไปเจออเมริกาแล้ว ขณะที่นักเดินเรือชาวโปรตุเกสยังพยายามเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกาเพื่อเดินทางไปยังโลกตะวันออก ซึ่งสามปีหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ วาสโก ดา กามา ก็สามารถหาเส้นทางเดินเรือไปยังอินเดียได้สำเร็จ นอกจากนี้ ราชสำนักของพระองค์ยังมีนักการทหารที่เก่งกาจอย่าง ฟรานซิสโก เดอ อัลเมดา (Fracisco de Almeida) และ อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคิร์ก (Alfonso de Albuquerque) ซึ่งช่วยให้โปรตุเกสสร้างที่มั่นและผูกขาดการค้าทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียอย่างมั่นคง ทั้งที่เบื้องต้นพวกเขาใช้กำลังพลเพียงไม่กี่พันนาย แต่ด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของมหาสมุทรอินเดียมากกว่าชาติไหนๆ ในตอนนั้น ทำให้พวกเขาเลือกชัยภูมิในการตั้งท่าเรือและป้อมปราการได้อย่างเหมาะและกุมความได้เปรียบกองกำลังอื่นๆ ทั้งยังใช้กำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับมหาอำนาจอื่นนำไปสู่ยุคแห่งการล่าอาณานิคม) จักรวรรดิของพระองค์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการเจอบราซิลโดยบังเอิญในปี 1500 ตามด้วยการยึดเมืองกัวในอินเดีย ต่อด้วยมะละกา การสร้างสัมพันธ์กับอาณาจักรใหญ่ในตะวันออก ทั้ง จีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงรัฐอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้โปรตุเกสมีแหล่งวัตถุดิบและสินค้ามากมาย แม้การเดินเรือสมัยนั้นจะเป็นเรื่องอันตรายและพระองค์ต้องสูญเสียเรือไปเป็นจำนวนมาก แต่การผูกขาดการค้ากับโลกตะวันออก และการค้าทาสจากแอฟริกาก็ได้ทำให้โปรตุเกสกลายเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่ง ด้วยเหตุที่พระองค์เกิดมาโดยมีโอกาสไม่มากที่จะได้เป็นกษัตริย์แต่ก็ได้เป็น และแม้พระองค์จะไม่ใช่กษัตริย์นักรบแต่ด้วยขุนพลที่มากความสามารถก็ได้ช่วยให้พระองค์มีจักรวรรดิที่มีดินแดนอยู่รอบโลกได้สำเร็จเป็นเจ้าแรก และสามารถควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญได้สำเร็จทำให้โปรตุเกสก้าวเข้าสู่ยุคทองในชั่วระยะเวลาไม่นาน ประชาชนจึงขนานนามให้พระองค์ว่า "กษัตริย์ผู้โชคดี" ที่มา https://www.britannica.com/biography/Manuel-I Crowley, Roger. "The First Global Empire." History Today Oct. 2015. e-Magazine