12 พ.ค. 2565 | 15:30 น.
ความเชื่อเรื่องพลังอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตคนมาหลายศตวรรษแล้ว แต่ความเชื่อในเรื่องลึกลับของสิ่งที่ไม่อาจอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ยังคงมีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิตของชาวไทย และกล่าวได้ว่าไม่ใช่แค่ชาวไทย คนอีกหลายประเทศทั่วโลกยังมีความเชื่อลักษณะนี้เช่นกัน ความเชื่อลักษณะนี้ไม่ได้มีให้เห็นแค่ในโลกจินตนาการอย่างในนิยายหรือภาพยนตร์เท่านั้น ในอดีตมีผู้ศึกษาศาสตร์สายนี้อย่างจริงจัง มีตำราและองค์ความรู้ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หากจะบอกว่าในไทยมีผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแล้ว อาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร จะต้องถูกพูดถึงอย่างแน่นอน ก่อนจะอธิบายในเนื้อหาต่อไป จำเป็นต้องเอ่ยก่อนว่า การนำเสนอในที่นี้เป็นการบอกเล่าข้อมูลจากความเชื่อของกลุ่มบุคคลที่มีมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล ไม่ได้มีเจตนาชักจูง แนะนำ หรือบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลใด ๆ อันเนื่องมาจากความเชื่อด้านเวทมนตร์คาถาดังที่จะกล่าวถึง การนำเสนอมุ่งหวังเพียงบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อที่ปรากฏอยู่จริงในหมู่ผู้นิยมและศรัทธาต่อกิจกรรมด้านไสยเวทซึ่งบางครั้งความเชื่อเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบุคคลที่มีบทบาทในสังคมด้วย โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณาข้อมูล จากข้อมูลของส.สีมา นักเขียนชื่อดังชาวไทยอีกท่านหนึ่งเล่าไว้ว่า เทพย์ สาริกบุตร เกิดเมื่อพ.ศ. 2462 ภูมิหลังของครอบครัวยังไม่พบข้อมูลชัดเจน ทราบแต่ว่าบิดารับราชการ และมีประวัติว่าเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท มารดาสนิทกับพันเอก หลวงธรณีนิติญาณ ที่ชำนาญเรื่องโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ ส.สีมา ยังระบุอีกว่า อาของเทพย์ สาริกบุตร คือ หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร พ.ศ. 2427-93) อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ พุทธาคม และรอบรู้เรื่องวิชากรรมฐานสายสำนักวัดสิทธาราม เห็นได้ว่าวิถีชีวิตของเทพย์ สาริกบุตร รายล้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือเกี่ยวข้องกับด้านไสยเวท พุทธาคม และโหราศาสตร์ สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริบททางสังคมมีส่วนหล่อหลอมความสนใจเกี่ยวกับศาสตร์และความเชื่อในด้านนี้ไม่มากก็น้อย มีข้อมูลอีกว่าเมื่อครั้งที่บิดาเดินทางไปรับราชการนอกกรุงเทพฯ อ.เทพย์ ตระเวนศึกษาวิชาที่เรียกกันว่า ไสยเวทพุทธาคม โดยศึกษาวิชามาจากวัดสามปลื้ม วัดปทุมคงคา และวัดสามจีน รวมไปถึงสำนักวิชาหลายแห่งในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรี มีตั้งแต่สายวิชาสักยันต์ กรรมฐาน หล่อพระกริ่ง (ส.สีมา, 2555) หากอ้างอิงข้อมูลจากการรวบรวมโดยส.สีมา โดยรวมแล้ว อาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร เชี่ยวชาญตั้งแต่ไสยเวท พุทธาคม เครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโหราศาสตร์ ตำราและปฏิทินโหราศาสตร์โดยอาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร ไม่เพียงละเอียดและประณีต ยังสัมพันธ์กับปฏิทินดาราศาสตร์สากล (ส.สีมา, 2555) ผลงานเกี่ยวกับด้านศิลปะวิทยาการเกี่ยวกับด้าน ‘เวทมนตร์ - เลขยันต์’ ที่อาจารย์ เทย์ สาริกบุตร รวบรวมไว้มีหลากหลาย ชิ้นหนึ่งที่หยิบยกเป็นตัวอย่างมาเอ่ยถึงในที่นี้คือ ‘พุทธศาตราคม’ ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับเวทมนตร์ไสยศาสตร์ การทำสมาธิ มนต์ คาถา ยันต์ ความขลัง ความเสื่อม ไปจนถึงเรื่องวิชาคงกระพัน - ชาตรี ในการพิมพ์ฉบับหลังยังเขียนคำอธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลหลักฐานของผู้รู้มารวมเอาไว้เพื่อแก้ไขข้อสงสัยของผู้อ่าน อาจารย์ เทพย์ เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับวิทยาการนี้เอาไว้ในตอนต้นของหนังสือ ใจความส่วนหนึ่งว่า (คงตัวสะกดคำตามต้นฉบับ - ผู้เขียน) “ยุคที่วิทยาการเวทย์มนต์ – เลขยันต์นี้เฟื่องฟูเต็มที่ ก็คือในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และรัชชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และยุคที่วิชชานี้เริ่มเสื่อมโทรมแลแตกแยกกระจัดกระจายไป ก็คืนในระยะเมื่อเสียกรุงศรีอยุยานั่นเอง และตลอดมาจนกระทั่งยุคปัจจุบันนี้ ศิลปวิทยาการอันล้ำค่าเหล่านี้ ไม่มีทีท่าว่าจะงอกเงยขึ้นอีกเลย และที่มีเหลืออยู่บ้างก็มีทีท่าว่าจะสูญสลายตามกันไปอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะท่านผู้ที่รู้แตกฉานในวิชชานี้แล้ว ท่านก็มักจะพาวิชชานี้ติดตัวท่านตายตามไปด้วย โดยไม่ยอมถ่ายทอดให้ใคร ฉะนั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่ผู้ที่ได้เล่าเรียนกันต่อมา ก็เล่าเรียนกันไปโดยชนิดเดาสุ่มเอาเอง ความผิดพลาดก็อาจมีเกิดขึ้นได้ เลยกลายเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรมได้อีกประการหนึ่ง” หนังสือเล่มเดียวกันยังเขียนแยกประเภทของเวทย์มนตร์ไสยศาสตร์ออกเป็นหลายชนิด อาทิ ป้องกันตัว ทำร้ายผู้อื่น สะเดาะ ประสาน กันและแก้ภูตผี ไปจนถึงการทำเสน่ห์ อีกทั้งอธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดความเชื่อต่าง ๆ เทพย์ สาริกบุตร เขียนไว้ว่าผลสำเร็จของการใช้เวทมนตร์ขึ้นอยู่กับหลัก 3 ประการ ได้แก่ ผู้ที่กระทำ ๆ ไปโดยสุจริตใจ, ผู้ที่กระทำเป็นฝ่ายถูก แต่ได้รับความอยุติธรรม และผู้ที่ถูกกระทำนั้น ไม่มีการป้องกันตัว องค์ประกอบที่เทพย์ สาริกบุตร เน้นเป็นพิเศษคือด้านสมาธิ เห็นได้จากข้อเขียนของท่านว่า (คงการสะกดคำตามต้นฉบับ - ผู้เขียน) “การจะกระทำให้สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ได้ผล ก็เพราะที่เนื่องมาจากสมาธินั่นเอง และผู้ที่จะมีสมาธิได้ ผู้นั้นก็ต้องบริบูรณ์ด้วยศีลเสียก่อน ศีลเป็นสิ่งอุปถัมภ์สมาธิให้เจริญ เมื่อสมาธิเจริญแล้วก็เป็นเครื่องอุปถัมภ์ปัญญาต่อไป ตามหลักไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญาอันเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งในพระธรรมวินัย จะเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ครูบาอาจาริย์ท่านจำเป็นต้องสั่งสอนให้สมาทานศีลเสียก่อนทุกครั้งไป...ผู้ที่จะใช้เวทมนต์คาถาให้เกิดความขลังได้นั้น จำต้องปฏิบัติตนอยู่ในหลักของศีล ถ้าไม่อยู่ในศีลแล้วก็ต้องเกิดความเสื่อมคือทำไม่ขึ้น...” ด้วยความที่อาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร ศึกษาด้านไสยเวท พุทธาคม และการดูดวงอย่างจริงจังจนทำให้เทพย์ สาริกบุตร มีชื่อเสียงในด้านดูดวงชะตามากเป็นพิเศษ ท่านโด่งดังควบคู่กับ ประจวบ วัชรปาณ โหรชื่อดังอีกรายหนึ่งในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นที่ทราบกันว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คืออีกหนึ่งนายทหารชั้นสูงและผู้นำทางการเมืองที่เชื่อถือด้านโหราศาสตร์อย่างมาก มีหลักฐานบ่งชี้ว่า อ.เทพย์ สาริกบุตร เป็นหนึ่งในหมอดูที่มักดูดวงชะตาราศีให้จอมพล สฤษดิ์ เป็นประจำ สำหรับท่านที่ติดตามประวัติศาสตร์และการเมืองในอดีตอาจพอทราบกันว่า เหล่าผู้ก่อการรัฐประหารในอดีต หลายท่านเชื่อถือด้านโหราศาสตร์และฤกษ์ยามกันมาก มีหลักฐานเป็นทั้งคำบอกเล่าและบันทึกต่าง ๆ หลากหลายแหล่ง คุณพรทิพย์ สาริกบุตร ลูกสาวของอ.เทพย์ เคยเล่าไว้ด้วยว่า “คุณพ่อนี่ท่านเป็นโหรฯ ใหญ่ ท่านก็จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประเภทสองค่ะ ท่านมีเพื่อนเป็นนายทหารและก็เป็นท่านที่ดูหมอ ดูดวงชะตาราศีให้ท่านสฤษดิ์...อยู่ในวงหมอดูจอมพลสฤษดิ์... เรื่องข่าวสารนี่คุณพ่อจะรู้หมด มีสายสืบค่ะ ท่านเป็นเหมือนหน่วยสืบลับ เทียบกับสมัยนี้ก็เหมือนกับหน่วยงานความมั่นคง จะรู้หมด ใครจะเป็นอะไรท่านก็จะพูด พอดีท่านมาทานข้าวที่บ้าน คุณแม่ก็ทำกับข้าว หาอาหารให้ทาน เราก็แผนกเสิร์ฟน้ำ ก็จะรู้จักข่าวสารบ้านเมืองเมื่อมาคุยกับคุณพ่อ คุณพ่อก็จะทำนายเหตุการณ์ได้...” คำบอกเล่าของธิดาของอ.เทพย์ บ่งชี้ว่า สายสัมพันธ์ของเทพย์ สาริกบุตร ค่อนข้างกว้างขวางในสายสังคมและการเมือง สอดคล้องกับประสบการณ์ของดร. วีรพงษ์ รามางกูร นักเขียนและนักเศรษฐศาสตร์ที่เขียนบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อครั้งมีโอกาสไปพบและขอเป็นลูกศิษย์อ.เทพย์ สาริกบุตร ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2525 ดร. วีรพงษ์ รามางกูร เล่าไว้ว่า “พบท่านนั่งอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน พร้อมๆ กับนักข่าวไทยรัฐ 2-3 คน ข้าราชการหลายกรม หลายกระทรวง รวมทั้งพราหมณ์จากสำนักพระราชวัง” ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงพ.ศ. 2500 เทพย์ สาริกบุตร ในสถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ได้ลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา เช่นเดียวกับที่จอมพล สฤษดิ์ ลาออกจากพรรคช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ส.สีมา นักเขียนผู้คร่ำหวอดในวงการมายาวนานเล่าไว้อีกว่า “ครั้งหนึ่งอาจารย์เทพย์เคยมีปัญหาเรื่องการให้ฤกษ์ยามแก่คณะรัฐประหารคณะหนึ่งจนต้องไปบวชอาศัยร่มเงาสมณเพศ ณ วัดสีหไกรสร บางกอกน้อยนั้น และจําพรรษาอยู่ที่นั่นนานพอควร จนสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติจึงลาสิกขาในที่สุด (คณะรัฐประหารคณะนั้น อาจเป็นคณะเมื่อ ปี 2492 ซึ่งอาจารย์เทพย์มีอายุโดย ประมาณ 30 ปีเท่านั้น)” ที่น่าสังเกตคือ ไม่เพียงแค่อ.เทพย์ เท่านั้นที่ประสบปัญหาในเส้นทางส่วนตัว พ.อ.ประจวบ วัชรปาณ ก็ลี้ภัยการเมืองไปอยู่อินเดียหลายปี จากปากคำของดร.โกร่ง - วีรพงษ์ รามางกูร การลี้ภัยไปอยู่อินเดียทำให้ พ.อ. ประจวบ สามารถอ่านเขียนภาษาสันสกฤตได้จนแปลคัมภีร์โหรที่เป็นภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาไทยหลายเล่มเลยทีเดียว คำบอกเล่าข้างต้นล้วนบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างโหร การดูฤกษ์ยามในแวดวงสายการเมืองได้ไม่มากก็น้อย ในช่วงที่ยังมีกำลังวังชา ผู้ที่สนใจด้านวิชาโหราศาสตร์ยังสามารถไปเล่าเรียนวิชาจากเทพย์ สาริกบุตร ซึ่งท่านไปบรรยายที่สมาคมโหราศาสตร์แห่งประเทศไทย ในช่วงบั้นปลายด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น อ.เทพย์ เลิกบรรยายไป แต่ต้องบอกว่า ไม่ใช่ใครก็จะสามารถเล่าเรียนได้โดยง่าย การเป็นศิษย์ของท่านยังต้องผ่านการตรวจดวงชะตา เพื่อให้ “แน่ใจได้ว่าเป็นผู้มีศีลธรรม” จะไม่นำโหราศาสตร์ไปใช้ในทางไม่ดี ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ให้ข้อมูลว่า ลูกศิษย์ของอ.เทพย์ สาริกบุตร เป็นบุคคลจากสายทหาร แพทย์ วิศวกร คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายแห่ง บางคนไม่ได้อยากเปิดเผยตัวตนเพราะหวั่นว่าจะถูกมองว่างมงาย อ.เทพย์ สาริกบุตร เสียชีวิตเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ. 2536 จากข้อมูลของส.สีมา ช่วงป่วยจากโรคเบาหวาน อ.เทพย์ ต้องตัดขาทั้ง 2 ข้าง แม้ร่างกายจะจากไปแล้ว สิ่งที่หลงเหลือไว้คือมรดกทางภูมิปัญญาจากตำราโหร ตำราให้ฤกษ์ยาม ไปจนถึงตำราด้านไสยศาสตร์ เลขยันต์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถค้นหาหนังสือบันทึกต่าง ๆ ได้ แต่คงต้องย้ำว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อ้างอิง: บทสัมภาษณ์ - พรทิพย์ สาริกบุตร (สัมภาษณ์โดย ชัยวัฒน์ ตรีวิทยา), “ปากคำประวัติศาสตร์” : ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ฯ, ที่มา http://www.xn--tula-kpos.com/document/interview_porntip.html (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561.) อ้างถึงใน อิทธิเดช พระเพ็ชร.“จอมพล สฤษดิ์ โหราศาสตร์ และประวัติศาสตร์การเมืองไทย”. ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2563. นริศ จรัสจรรยาวงศ์. "โหราจารย์การเมืองสมัยปฏิวัติ 2475". ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2565. ส.สีมา. “ ‘เทพย์ สาริกบุตร’ นักโหราศาสตร์ชั้นครู ผู้เคยให้ฤกษ์คณะรัฐประหารจนต้องหนีบวช?”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2555. เทพย์ สาริกบุตร. พระคัมภีร์พระเวทย์ พุทธศาสตราคม ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ วีรพงษ์ รามางกูร. “เรียนวิชาโหราศาสตร์”. มติชน. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 14 พฤษภาคม 2563. เข้าถึงเมื่อ 12 พฤษภาคม 2565. < https://www.matichon.co.th/columnists/news_2182535 > ภาพ: เทพย์ สาริกบุตร จากหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ อ.เทพย์ สาริกบุตร