วิกฤตต้มยำกุ้ง: ครบรอบ 25 ปี มหาวิกฤตทางการเงินแห่งประเทศไทย

วิกฤตต้มยำกุ้ง: ครบรอบ 25 ปี มหาวิกฤตทางการเงินแห่งประเทศไทย

ครบรอบ 25 ปี ในการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทลอยตัวที่จะนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วภูมิภาคเอเชียและชีวิตของชาวไทยเอง ในบทความนี้จึงถึงเวลาหันมองย้อนดูอดีตเพื่อก้าวต่อไปในอนาคต เผื่อเราจะได้ไม่ล้มซ้ำแบบเดิม

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2540 ครั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงว่าจะปรับให้อัตราแลกเปลี่ยนไทยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ชีวิตของชาวไทยจากที่รุ่งโรจน์ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล จากเศรษฐีมีหุ้นครองที่ดินก็กลายเป็นผู้ล้มละลายติดหนี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีทางชดใช้ได้ พนักงานบางคนที่ชีวิตกำลังจะคงที่ก็ถูกเลย์ออฟจนชีวิตพลิกจากขาวเป็นดำ การสะดุดล้มเช่นนี้ก็เป็นเพราะเหตุอื่นไม่ได้จากการที่เราขึ้นสูง หลายคนก็เคยขึ้นสูง บ้างก็คงอยู่ได้ บ้างก็เดินก้าวลงอย่างนิ่มนวล บ้างก็ล้มหน้าคะมำ

หากจะอธิบายว่าประเทศไทยก้าวลงจากจุดสูงได้แบบใด ประเภทที่หน้าคะมำก็คงเป็นคำตอบ ในบทความนี้เราจะไปสำรวจกันตั้งแต่แรกเริ่มว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ถือกำเนิดมาได้อย่างไร อะไรเป็นชนวนเหตุและสารตั้งต้นที่จะนำไปสู่หายนะดังกล่าว แล้วมันทำอะไรกับเราบ้าง

 

#กระแสความเปลี่ยนแปลง

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตนับเป็นหมุดหมายที่บ่งบอกว่าโลกเสรีตะวันตกได้รับชัยชนะในสงครามเย็นที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ทุนนิยมได้ขนานนามว่าเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักอย่างเป็นทางการ พร้อม ๆ กัน กระแสการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ถือกำเนิดจากสหรัฐอเมริกานามว่า ‘ฉันทมติแห่งวอชิงตัน’ (Washington Consensus) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจดังกล่าว หากอธิบายอย่างง่าย ๆ ก็เปรียบเสมือนการโลกาภิวัตน์ทางการค้าที่เชื่อมตลาดของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันโดยการลดกำแพงต่าง ๆ เช่นภาษีหรืออัตราดอกเบี้ยลง ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้ง่ายมากขึ้น โดยหลักการทั้งหมดยึดหลักการเสรีทางการค้าและการเงินให้ประพฤติไปตามครรลองของกลไกตลาดตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และแน่นอนว่ากรอบแนวคิดดังกล่าวก็เข้ามามีอิทธิพลต่อนโยบายในประเทศไทยด้วย

แนวคิดดังกล่าวถือเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงแนวทางของเศรษฐกิจในประเทศไทยประการแรก แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ค่อนข้าง ‘เนื้อหอม’ มากระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็หันหน้าอยากมาลงทุนที่ไทย เหตุเพราะค่าเงินของเสือทั้งสี่ตัวในภูมิภาคเอเชียซึ่งประกอบไปด้วย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน แข็งขึ้น จาก ‘ข้อตกลงพลาซา’ หรือ ‘Plaza Accord’ ในปี 1985 ที่เป็นข้อตกลงให้ญี่ปุ่นปรับอัตราค่าเงินเยนให้แข็งขึ้น 

การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนจากญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาคเอเชียต่าง ๆ ทำให้ยอดส่งออกของประเทศเหล่านั้นไปสู่สหรัฐอเมริกาปรับตัวลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศเหล่านั้นหันมาตั้งโรงงานกันที่ไทย เพื่อที่จะส่งออกเหมือนเดิม แต่ใช้เงินบาท เป็นเพราะเงินบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ถือว่ายังต่ำกว่ามาก ดังนั้นปริมาณการส่งออกตามที่คาดการณ์น่าจะมีปริมาณมากกว่าเมื่อมาลงทุนในประเทศไทย 

นอกจากนั้น ประเทศไทยก็ยังถูกประเมินว่าเป็นตลาดที่เกิดใหม่และมีแนวโน้มว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country) ในอนาคต จึงทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่อยากลงทุน แล้วด้วยความรุ่งเรืองและการพัฒนาที่ไหลมาเทมาจากหลายทิศทาง เป้าหมายของการเป็น ‘เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย’ ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินฝันนัก ตอนนี้เส้นทางการเติบโตของประเทศไทยช่างดูมีความหวัง โอกาสที่หลั่งไหลเข้ามาช่างดูเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก การคว้าไว้และใช้ประโยชน์มันให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดก็คงเป็นทางเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในทุก ๆ เส้นทางล้วนมีขวากหนามรอเราอยู่หากเดินอย่างไม่ระวัง ซึ่งถ้าเป็นแค่หนามก็คงจะเจ็บเล็กน้อย หรืออย่างมากก็อาจจะมีเลือดออกซิบ ๆ ก่อนจะเดินหน้าต่อไปยังเป้าหมายที่วางไว้

แต่บางคราวสิ่งที่เรามองไม่เห็นอาจทำให้เรา ‘เจ็บ’ มากกว่าการที่หนามทิ่ม...

 

การเปิดเสรีทางการเงิน

ด้วยความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจไทยจากการลงทุนต่างชาติและความหวังที่จะเป็นเสืออีกตัวหนึ่งในเอเชีย แบงก์ชาติจึงตัดสินใจดำเนินนโยบายเสรีทางการเงิน (Financial Liberalization) ทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่าง ๆ ทำได้ง่ายดายขึ้น ไม่ว่าจะขาเข้าหรือขาออก เป็นการเปิดโอกาสให้การทำธุรกรรมประเภทต่าง ๆ ดำเนินการได้สะดวกกว่าเดิมหลายเท่า

ณ  ขณะนั้นเองแบงก์ชาติก็ตัดสินใจจัดตั้ง ‘กิจการวิเทศธนกิจ’ (Bangkok International Banking Facilities) ในปี 1993 โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ในประเทศได้อย่างง่ายดาย แถมในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีบริษัทเงินทุนมากมายหลายเจ้าถือกำเนิดขึ้นมา จึงทำให้การแข่งขันในการปล่อยกู้นั้นเป็นไปอย่างดุเดือด ผู้ปล่อยกู้ก็อยากปล่อย ผู้กู้ก็พร้อมจะกู้

แต่หากกล่าวถึงเพียงแค่กิจการวิเทศธนกิจก็คงไม่ครอบคลุมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปนั้นคือการที่อัตราการแลกเปลี่ยนถูกกำหนดให้คงที่ (Fixed Exchange Rate) กล่าวคือระดับของมันไม่ได้ผันแปรไปตามกลไกของตลาดและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์.

การตรึงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเมื่อผสานกับกิจการวิเทศธนกิจแล้ว ก่อให้เกิดช่องทางการทำมาหากินแบบ ‘กินส่วนต่าง’ กล่าวคือการกู้เงินจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเพื่อมาปล่อยกู้ในประเทศแล้วกินส่วนต่างกับดอกเบี้ยที่สูงกว่า 

 

เติบโตอย่างเปราะบาง

ไม่เพียงแต่การกินส่วนต่างดังกล่าวเป็นช่องทางในการหาเงินที่ง่ายดายให้กับผู้ที่นำมาปล่อยกู้แล้ว พอมาผสานกับการแข่งขันในการปล่อยกู้ของสถาบันทางการเงินในประเทศที่ใคร ๆ ก็อยากปล่อยกู้ ผู้คนที่เห็นช่องทางการลงทุนก็กู้ไปลงทุนในโปรเจกต์มากมาย โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแต่คนแห่ไปซื้อที่ดินและลงทุนกันอย่างล้นหลาม

เศรษฐกิจของไทยดำเนินไปอย่างคึกคัก การลงทุนผุดขึ้นดั่งดอกเห็ด ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี แต่หารู้ไม่ว่าความสวยงามเหล่านี้เกิดขึ้นบนสิ่งที่ผิดธรรมชาติตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เพราะหากอ้างอิงตาม ‘The Imposible Trinity’ ถ้าเงินทุนจะถูกเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ถ้านโยบายการเงินจะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามต้องการ อัตราการแลกเปลี่ยนจะไม่สามารถคงที่อยู่ได้ กล่าวคือ ทั้งสามปัจจัยไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างพร้อมกันได้ ต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เกิดขึ้น แต่ในตอนนี้ ทั้งสามนั้นปรากฏและมีอยู่ในเศรษฐกิจอันร้อนแรงของไทย มันคงต้องมีอะไรแปลก ๆ เบื้องหลังความคึกคักนี้เป็นอย่างแน่นอน

ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างร้อนแรง เพราะแทบจะทุกคน ณ ขณะนั้น เห็นภาพเดียวกันว่ามันกำลังไปได้สวย  แต่หารู้ไม่ว่าความแข็งแรงเช่นนี้ เบื้องหลังนั้นเปราะบางและพร้อมแตกหักอยู่ทุกเมื่อ เพราะหากมองลึกลงไปแล้ว ส่วนแบ่งใหญ่ ๆ ของการเติบโตครั้งนี้ล้วนมาจากเงินทุนของต่างชาติ ผสานกับในตอนนี้ หนี้ระยะสั้นที่สะสมขึ้นเรื่อย ๆ ก็เรียกได้ว่ามาก แถมการที่มีแต่สถาบันการเงินอยากปล่อยกู้ก็ทำให้การปล่อยกู้หลาย ๆ ครั้งถูกลงไปกับโปรเจกต์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก กล่าวคือแม้จะปล่อยเงินกู้ไป แต่โปรเจกต์เหล่านั้นไม่สร้างกำไรตอบแทนในภายหลังเลย นอกจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่กับช่องทางการกู้เงินที่สะดวกสบาย ทำให้เงินต่างชาติไหลเข้ามากขึ้น ด้วยเหตุทั้งปวงจึงทำให้ปริมาณหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นจนมากกว่าปริมาณเงินทุนสำรอง 

ภาวะดังกล่าวก็เปรียบกับฟองสบู่ที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ที่นับถอยหลังรอเพียงวันระเบิดเท่านั้น 

 

เทขายเงินบาท

และแล้วปัจจัยที่เผยให้เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ซ่อนอยู่ก็ปรากฏ เมื่อ GDP ของประเทศไทยลดลงจากอุปสรรคที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่นการที่ญี่ปุ่นคู่ค้าคนสำคัญของไทยมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของเราปรับตัวลดลงตามไปด้วย มากไปกว่านั้นก็ยังมีการที่ศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศจีนที่สูงกว่าเข้ามาท้าทายขีดความสามารถของประเทศไทย ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตระหนักดีถึงลางร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงริเริ่มนโยบายที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อพยายามจัดการกับเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างร้อนแรงมากเกินไป แต่หารู้ไม่ว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะแปรเปลี่ยนเป็นสารตั้งต้นที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ฟองสบู่นั้นแตกเร็วกว่าเดิม 

ภาคการก่อสร้างนับว่าเป็นโดมิโนตัวแรกที่ล้มจากสภาวะดังกล่าว ไม่เพียงแต่การที่สินค้าอย่างอสังหาริมทรัพย์นั้นล้นตลาด  เหตุเพราะมีแต่คนแห่ไปลงทุนในตลาดดังกล่าว แต่พอเศรษฐกิจชะลอตัวก็ทำให้เงินที่จะนำมาหมุนในการก่อสร้างนั้นมีไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบแบบลูกโซ่จนทำให้โปรเจกต์ต่าง ๆ ไม่เสร็จ ลูกหนี้ที่กู้เงินไปลงทุนก็ไม่แม้แต่ไม่ได้เงินกลับมา แต่โปรเจกต์อาจจะไม่เสร็จเสียด้วยซ้ำ เหตุนี้จึงทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถได้หนี้ที่ปล่อยไปกลับคืนมาได้ สถาบันการเงินจึงกลายเป็นโดมิโนลำดับถัดไปที่ล้มลง 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเปิดช่องโหว่ของค่าเงินบาทอย่างชัดเจน หลังจากที่ Moody’s Investors Service ประกาศลดความน่าเชื่อถือทางการเงินของไทย จากหนี้ระยะสั้นที่พอกพูนมาเรื่อย ๆ หลาย ๆ ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้เจ้าหนี้เริ่มเรียกเงินคืน นักลงทุนจึงเทขายเงินบาท และทำให้เงินทุนไหลออกจากระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนั้นการเผยจุดอ่อนเช่นนี้ก็ทำให้เงินบาทเป็นเป้าถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงในที่สุด และทำให้แบงก์ชาติต้องนำเงินทุนที่มีอยู่มาปกป้องการโจมตีค่าเงินในครั้งนี้จนทำให้ปริมาณของมันลดลงฮวบอย่างมาก จนท้ายที่สุดหลังจากปกป้องการโจมตีครั้งต่าง ๆ ไปได้เรียบร้อยแล้ว เงินทุนสำรองที่สะสมไว้จาก 24,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เงินบาทลอยตัวและผลกระทบ

แม้จะสามารถป้องกันการโจมตีค่าเงินจนผ่านพ้นมาได้ ปริมาณเงินทุนสำรองที่สะสมไว้ก็ร่อยหรอไปกว่าเดิมมาก ด้วยเหตุนี้ ในเวลาต่อมาเปลวไฟแห่งหายนะก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง แต่ครานี้ไม่ใช่ฝีมือของการโจมตีเงินทุนจากนักลงทุนของชาวต่างชาติอีกต่อไป แต่หากเป็นการไหลออกของเงินทุนจากนักลงทุนชาวไทยเอง หลังจากที่ได้ใช้เงินทุนสำรองส่วนใหญ่ไปกับการปกป้องค่าเงินคราวก่อน 

ดังนั้นทางเลือกของธนาคารแห่งประเทศไทยคงเหลือเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือการปล่อยให้อัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างที่ตรึงไว้อยู่นาน ‘ลอยตัว’ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงยอมปล่อยมือกับสิ่งที่รั้งมานาน แต่ฝันร้ายของเรื่องราวนี้คือการที่สิ่งที่ถูกกดมานานถูกปล่อย จึงทำให้ผลของมันทวีคูณขึ้นอย่างรุนแรง ค่าเงินไทยอ่อนตัวลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงขั้นที่ว่า การจะได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐมานั้น เราต้องใช้เงินบาทเป็นจำนวนกว่า 56.1 บาท จากระดับเดิมที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทเพียงเท่านั้น 

อนุสรณ์สถานที่มีไว้เตือนใจชาวไทยถึงวิกฤตการณ์ดังกล่าวก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ที่ถูกตั้งทิ้งไว้อย่างไม่ลืมเลือน ชีวิตของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะนักลงทุนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วพริบตา จากร่ำรวยมั่งคั่งก็สิ้นเนื้อประดาตัว หลังจากมีอนาคตที่สวยงามก็ดับวูบหลงทาง จากหนี้ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ก็ทวีคูณเป็นเท่าตัว เหตุเพราะค่าเงินที่เพิ่มขึ้นในจำนวนมหาศาล เพราะหนี้ส่วนใหญ่ที่กู้มาก็เป็นของต่างประเทศทั้งนั้น การที่ค่าเงินอ่อนค่าลงแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการมีหนี้อีกก้อนผุดขึ้นมารอให้ผู้ลงทุนจ่ายคืน (อยู่ดี ๆ ก็ต้องจ่ายหนี้แบบดับเบิล)

การจะชี้นิ้วกล่าวโทษใครคงไม่ใช่เป้าหมายที่เรามุ่งหวังในการจะเรียนรู้บทเรียนจากการร่วงหล่นลงหลุมในครั้งนี้ ชีวิตหลายคนได้จบลง ครอบครัวหลายคนได้เปลี่ยนแปลง คนไทยหลายคนได้ล้มลง บางคนก็อาจลุกขึ้นได้ แต่บางคนไม่ บทเรียนที่เราสามารถถอดได้จากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าวคงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบ และพยายามประเมินและคาดเดาสิ่งที่เราอาจมองข้ามไป 

แม้ความฝันที่จะขึ้นเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียจะดับไป แต่อย่างน้อย เรา - ชาวไทย - หรือใครก็ตามที่กำลังศึกษาเหตุการณ์แบบนี้ก็ได้เห็นถึงบทเรียนที่อาจเกิดขึ้นได้กับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และทำให้เราเห็นว่ามันสามารถสร้างผลกระทบของชีวิตผู้คนได้มากมายเพียงใด 

ภาพ: Stephen J. Boitano / Contributor

อ้างอิง:

50 Years The Making of The Modern Thai Economy โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร

https://waymagazine.org/20-yrs-tyk-crisis_1