23 เม.ย. 2562 | 17:55 น.
"ศาลมิใช่วิหารแห่งคุณธรรม อย่างไรเสียก็ต้องปล่อยให้คนทั่วไปไม่ว่าจะปากมากแค่ไหนก็ตามได้แสดงความเห็นทั้งในเชิงวิพากษ์และเคารพนับถือ" ลอร์ดแอตกิน (Lord Atkin) อดีตผู้พิพากษาอังกฤษกล่าว (The International and Comparative Law Quarterly) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญมากในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา ที่ต้องถือว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมแล้วว่ามีความผิดอย่างสิ้นสงสัย ซึ่งในบางกรณีสิทธิและเสรีภาพทั้งสองประการอาจเกิดขัดกันเองได้ บางประเทศจึงมีการกำหนดความผิดฐาน "หมิ่นศาล" และ "ละเมิดอำนาจศาล" เพื่อใช้เป็นกลไกหนึ่งในการประนีประนอมให้หลักการทั้งสองอย่างเดินไปด้วยกันได้ โดยเหตุผลสำคัญของการกำหนดความผิดฐานหมิ่นศาลก็เพื่อให้ศาลมีอิสระในการรักษาระเบียบในกระบวนการพิจารณา และความศักดิ์สิทธิ์ในคำพิพากษา เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับคู่ความทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของศาลเพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคม (ไม่ใช่เพื่อเชิดชูตัวเองให้วิเศษวิโสเหนือผู้อื่นแต่อย่างใด) แต่กฎหมายหมิ่นศาลก็มีใช้ในกลุ่มประเทศที่มีระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law - กฎหมายเกิดจากแนวคำพิพากษาของศาล) อย่างอังกฤษเท่านั้น มีปรากฏให้เห็นในประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิลลอว์ค่อนข้างน้อย (civil law - กฎหมายมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นไทยแต่ไทยได้อิทธิพลทางความคิดจากอังกฤษเยอะหน่อย) และในปัจจุบันอังกฤษเองก็เห็นว่ากฎหมายลักษณะนี้ล้าหลังไปเสียแล้ว (ทั้งนี้ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ อาจมีการกำหนดความผิดที่ซ้อนทับกับความผิดบางลักษณะที่อยู่ในกฎหมายหมิ่นศาลของระบบกฎหมายจารีตประเพณี ที่ต่างกันก็คือ ความผิดฐานหมิ่นศาลในระบบจารีตประเพณีของอังกฤษนั้น ให้ดุลพินิจกับศาลมากกว่าการกระทำลักษณะใดเข้าข่ายเป็นการหมิ่นศาลบ้าง ขณะที่ในระบบกฎหมายซีวิลลอว์นั้นจะมีการกำหนดลักษณะความผิดอย่างแคบ มากกว่าที่จะให้อำนาจดุลพินิจกับศาล) ก่อนจะไปดูว่า ทำไมอังกฤษถึงเห็นว่ากฎหมายนี้ล้าหลัง มารู้จักกันก่อนว่า หมิ่นศาลในแบบคอมมอนลอว์ของอังกฤษนั้นประกอบด้วยการกระทำลักษณะใดบ้าง? อย่างแรกก็คือ (1) การประพฤติไม่เหมาะสมในศาล หรือการดูหมิ่นต่อหน้าศาล (2) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล (3) เผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดอคติเบี่ยงเบนระหว่างคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และ (4) กล่าวหาว่าร้ายศาลทำให้สาธารณชนเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม จะเห็นว่า ความผิดสองลักษณะแรกนั้น เกี่ยวข้องกับการขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในเชิงกายภาพโดยตรง ซึ่งยังคงเป็นมาตรการที่มีความสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการพิจารณาคดีจะเดินหน้าไปได้โดยไม่ติดขัด ขณะที่ความผิดในสองลักษณะหลังเกี่ยวข้องกับการ “แสดงความคิดเห็น” ของประชาชนที่อาจกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในกรณีของการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดีนั้น หลักการคือ ถ้าหากเกิดการขัดกันระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมแล้วละก็ สื่อจะต้องงดเว้นการรายงานข้อมูลนั้น ๆ ไว้เสียก่อน จนกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอคติระหว่างการพิจารณาคดีจะได้ผ่านพ้นไป แต่หลักการดังกล่าวเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญสืบเนื่องจากกรณีที่ศาลอังกฤษสั่งให้ Sunday Times งดเว้นการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับยาธาลิโดไมด์ในปี 1972 โดยรายงานฉบับดังกล่าวเล่าถึงประวัติความเป็นมาของการใช้ยาและผลข้างเคียงของยาที่กระทบต่อพัฒนาการของทารก ซึ่งศาลอังกฤษมองว่าเป็นรายงานเพียงฝ่ายเดียว และอาจกระทบต่อคดีความระหว่างผู้ผลิตยากับพ่อแม่ของเด็กพิการซึ่งยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาล แต่เมื่อคดีมาถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป คณะตุลาการได้มีคำวินิจฉัยในปี 1979 ระบุว่า การแทรกแซงของศาลอังกฤษต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคราวนั้น "ไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมอย่างยิ่งยวดขนาดที่จะต้องได้รับความสำคัญเหนือประโยชน์สาธารณะว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" (The New York Times) ด้วยเหตุนี้ทางอังกฤษจึงต้องออกกฎหมายใหม่ (Contempt of Court Act 1981) เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป โดยกำหนดยกเว้นความผิดกรณีสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดีไว้สองกรณีคือ กรณีเป็นการรายงานที่ถูกต้องและเป็นธรรมโดยสุจริตถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และกรณีข้อมูลที่เผยแพร่นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์นั้นต้องมีน้ำหนักความสำคัญเหนือยิ่งกว่าปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความลำเอียง หรืออคติต่อคู่ความในคดี ส่วนกรณีสุดท้ายคือการ "ดูหมิ่นวิจารณ์ศาล" ให้เสียหายจนสาธารณะเสื่อมศรัทธานั้น (scandalising) ไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามความผิดนี้มานานเกือบศตวรรษ (ครั้งสุดท้ายที่มีการเอาผิดตามความผิดนี้คือเมื่อ 1931) จนอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นกฎหมายที่ "ตายไปแล้ว" คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษจึงได้ทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล และมีรายงานสรุปในปี 2012 แนะนำให้ "เลิก" ความผิดนี้เสีย (Law Commission) จากรายงานสรุปของคณะกรรมธิการฯ พวกเขามองว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาล เนื่องจากมันช่วยเปิดช่องให้มีการอภิปรายถกเถียงถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และพวกเขาไม่เชื่อว่า การลงโทษทางอาญากับการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมคือคำตอบที่ดี ด้วยปกติ (ที่อังกฤษ) ก็ไม่มีการใช้โทษทางอาญากับความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงอยู่แล้ว เพราะมีทางอื่นที่เหมาะสมกว่าในการจัดการกับการใส่ร้าย ทั้งการเอาผิดกับเสียงวิจารณ์ที่ไม่เหมาะสมเพียงน้อย ก็ยังอาจเกิดผลข้างเคียงทำให้คนไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไร แม้ว่ามันจะมีเหตุผลสมควรก็ตาม และจากการหยั่งเสียงจากบรรดาผู้พิพากษา พวกเขาเห็นว่าคำพูดใส่ร้ายศาลมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่มันสุดโต่งจนเหลือที่วิญญูชนจะเชื่อได้ การใช้โทษทางอาญาเอาผิดกับพฤติกรรมเยี่ยงนี้จึงมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี ประกอบกับการที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ถูกใช้มานานเกือบร้อยปี ก็แสดงให้เห็นว่ามันแทบไม่มีความ "จำเป็น" ใด ๆ ในสังคมประชาธิปไตยที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ "โดยสรุปเรามิได้กล่าวว่าการยกเลิกความผิดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่า การมีอยู่ของความผิดนี้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น เนื่องจากในกรณีที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นความผิดโดยครอบคลุมอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากเสียงตอบรับระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะโดยเฉพาะจากบรรดาผู้พิพากษา เราเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายในความผิดนี้ยังอาจนำไปสู่ผลในทางตรงกันข้ามได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่าการรักษาความผิดนี้เอาไว้ไม่ได้มีผลอันใดในเชิงปฏิบัติ จึงสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมและศาล โดยให้ยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล (scandalising) เสีย" ตอนหนึ่งของรายงานสรุปของคณะกรรมธิการปฏิรูปกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษระบุ