29 พ.ค. 2562 | 10:54 น.
เด็กหนุ่มที่เติบโตในฟาร์ม รับการศึกษาระดับกลาง ๆ ในท้องถิ่น ทำมาหากินมาหลายอาชีพ ก่อนมุ่งมั่นทำหนังสือพิมพ์ และได้ภรรยาดีช่วยเกื้อหนุนเปลี่ยนธุรกิจที่ไม่ทำกำไรให้กลายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงิน นี่คือเรื่องราวช่วงต้นของ วอร์เรน จี. ฮาร์ดิง (Warren G. Harding) ประธานาธิบดีคนที่ 29 ของสหรัฐฯ ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องราวชีวิตของชาวอเมริกันในอุดมคติ มีครอบครัวที่น่ารัก และสร้างเนื้อสร้างตัวได้ด้วยลำแข้งตัวเอง และในช่วงเวลาที่เขาขึ้นท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (1920) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากโอไฮโอ (ตำแหน่งเดิม) ผู้ประกาศต่อสาธารณะว่า "อเมริกาต้องมาก่อน" และสัญญาว่าจะพาประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีคนก่อน (วูดโรว์ วิลสัน) พาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสูบทรัพยากร แรงงาน และชีวิตประชาชนไปอย่างมาก ทำให้เขากลายมาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ได้คะแนนจากประชาชนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (ณ ขณะนั้น) แต่ภาพลักษณ์อันสวยงามทั้งหมดของเขาก็มาพังลงหลังเสียชีวิตขณะรับตำแหน่งบริหารสูงสุดของประเทศ ประธานาธิบดีฮาร์ดิงตั้งคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยคนที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งก็มีทั้งคนมีความสามารถและคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคนกลุ่มหลัง (ที่รู้จักกันในชื่อ "โอไฮโอแก๊ง") ได้ทำให้รัฐบาลของเขาเป็นที่จดจำในฐานะรัฐบาลที่ทุจริตที่สุดรัฐบาลหนึ่งในประวัติศาสตร์ แม้ว่าตัวฮาร์ดิงเองจะมิได้มีชื่อเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อันมิชอบด้วยก็ตาม เรื่องอื้อฉาวกรณีแรกคือคดีของ ชาร์ลส์ ฟอร์บส์ (Charles Forbes) ผู้อำนวยการองค์การทหารผ่านศึก ฮาร์ดิงรับรู้เรื่องนี้เมื่อ แฮร์รี ดอเฮอร์ตี (Harry Daugherty - อัยการสูงสุด เป็นอีกคนในรัฐบาลของฮาร์ดิงที่โดนตั้งคดีทุจริตเช่นกันแต่รอดคุกมาได้) เข้ามาเผยกับเขาในช่วงต้นปี 1923 ว่า ฟอร์บส์แอบเอายาในคลังของรัฐบาลไปขายให้กับเอกชนโดยผิดกฎหมาย ฮาร์ดิงได้ยินก็ด่าทอฟอร์บส์อย่างรุนแรงก่อนปล่อยให้ฟอร์บส์หลบหนีคดีออกนอกประเทศไปได้ (ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศในอีกสามปีให้หลังและถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลาสองปี ซึ่งเขารับโทษจริงไปหนึ่งปีกับอีกแปดเดือน) หลังจากนั้นไม่นาน ชาร์ลส์ แครนเมอร์ (Charles Cranmer) ที่ปรึกษาใหญ่ขององค์การทหารผ่านศึกก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ตามมาด้วย เจสซี สมิธ (Jesse Smith) เลขาส่วนตัวของดอเฮอร์ตีที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหนึ่งวันหลังเข้าพูดคุยกับฮาร์ดิงอย่างยาวนานที่ทำเนียบขาว ทำให้มีข่าวลือไปทั่วว่า สมิธและกลุ่ม "โอไฮโอแก๊ง" ได้รับผลประโยชน์มากมายจากการอาศัยอำนาจหน้าที่ในการทุจริตคอร์รัปชัน ว่ากันว่าเรื่องฉาวในคราวนั้นส่งผลต่อสุขภาพของฮาร์ดิงเป็นอันมาก เขาตัดสินใจเดินทางไปพักผ่อนกับภรรยาและคณะผู้ติดตามที่อลาสกาในช่วงกลางเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้นเอง และระหว่างที่เดินทางกลับบ้านในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ฮาร์ดิงก็เริ่มบ่นว่าปวดท้องแต่เมื่อได้พักสักหน่อยอาการก็ดูดีขึ้น แต่ในวันที่ 2 สิงหาคม เขาก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน (คาดว่าน่าจะเกิดจากหัวใจวาย หรือไม่ก็เส้นเลือดในสมองแตก) ระหว่างที่ภรรยาของเขาอ่านหนังสือให้ฟัง และเมื่อเขาเสียชีวิตลง เรื่องราวอื้อฉาวในรัฐบาลก็ยิ่งเป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้นเมื่อทางวุฒิสภาพยายามขุดคุ้ยเรื่องราวทุจริตของโอไฮโอแก๊ง และไปเจอกับคดีใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Dome Scandal" (หรือ เรื่องอื้อฉาวแห่งทีพอตโดม - ชื่อมีที่มาจากหินก้อนใหญ่ที่เคยมีหน้าตาคล้าย ๆ กาน้ำชาในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน) เรื่องนี้มีที่มาตั้งแต่ปี 1921 เมื่อ อัลเบิร์ต ฟอลล์ (Albert Fall) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยโน้มน้าวให้ฮาร์ดิงโอนย้ายอำนาจในการจัดการแหล่งน้ำมันสำรองสองแห่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคือที่ เอลก์ฮิลล์ (Elk Hill) ในแคลิฟอร์เนีย กับทีพอตโดมในไวโอมิง จากที่เคยอยู่ในความดูแลของกระทรวงทหารเรือให้มาอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยแทน ซึ่งฮาร์ดิงก็เออออตาม ฟอลล์เมื่อได้อำนาจในการดูแลมาสมใจจึงให้สัมปทานเช่าแหล่งน้ำมันทั้งสองแห่งกับบริษัทน้ำมันเอกชนไปก่อนมาปรากฏหลักฐานในการสอบสวนว่าเขาได้รับสินบนเป็นจำนวนหลายแสนดอลลาร์ ทำให้ถูกตัดสินในปี 1929 ว่ามีความผิดจริงฐานรับสินบนต้องโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี แต่รับโทษจริงเป็นเวลาเก้าเดือน ไม่เพียงเท่านั้น ชีวิตส่วนตัวของฮาร์ดิงเริ่มถูกขุดคุ้ยมากขึ้น แนน บริตตัน (Nan Britton) หญิงสาวข้างบ้านรุ่นลูกออกมาแฉในปี 1927 ว่าเธอตั้งท้องกับฮาร์ดิงจากการร่วมรักบนโซฟาในสำนักงานสมาชิกวุฒิสภา (ทั้งคู่มีสัมพันธ์สวาทกันตั้งแต่ก่อนฮาร์ดิงจะได้เป็นประธานาธิบดี) และเมื่อฮาร์ดิงได้ครองทำเนียบขาวทั้งคู่ก็เคยบรรเลงเพลงสวาทในตู้เก็บของในห้องรับรองของทำเนียบจนต้องตามช่างมาซ่อมตู้ที่ว่าอยู่หลายครั้ง ณ เวลานั้นบริตตันถูกประณามว่าเป็นแค่ผู้หญิงหิวเงิน น้อยคนนักที่จะเชื่อข้อกล่าวหาของเธอ ก่อนที่ในปี 2015 จะมีการพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอยืนยันว่าฮาร์ดิงเป็นพ่อแท้ ๆ ของลูกเธอจริง ๆ และความสัมพันธ์กับหญิงอีกรายของฮาร์ดิงก็อื้อฉาวไม่แพ้กัน เธอคนนี้ชื่อว่า แคร์รี ฟิลิปส์ (Carrie Philips) เธอคือภรรยาของเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขาเองซึ่งทั้งคู่มีสัมพันธ์แบบรักบ้างร้างบ้างเป็นเวลารวมราว 15 ปี ถึงช่วงที่ฮาร์ดิงได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ความอื้อฉาวของความสัมพันธ์นี้นอกจากเรื่องที่ทั้งคู่นอกใจคู่สมรสของตัวเองแล้ว ก็ยังมีเรื่องของแนวคิดทางการเมืองของฟิลิปส์ที่ให้ท้ายฝ่ายเยอรมนีศัตรูของประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเธอจะเป็นสายลับให้ฝ่ายเยอรมันหรือไม่? แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัด และเมื่อเธอรู้ว่าฮาร์ดิงจะได้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอยังข่มขู่ว่าจะเผยถึงสัมพันธ์ของทั้งคู่ให้สาธารณะรับรู้ถ้าฮาร์ดิงไม่ยอมจ่ายเงินปิดปาก ทางคณะกรรมการบริหารพรรครีพับลิกันรู้เรื่องจึงตัดสินใจยอมจ่ายเงินให้กับฟิลิปส์และสามีไปเที่ยวญี่ปุ่นบวกกับเงินขวัญถุงมูลค่าราว 20,000 ถึง 25,000 ดอลลาร์ และตัวฮาร์ดิงเองก็ยอมจ่ายให้เธอเป็นเงิน 5,000 ดอลลาร์ต่อปีระหว่างที่เขายังอยู่ในตำแหน่ง นอกจากนี้ความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งคู่ยังมีหลักฐานเป็นจดหมายรักติดเรตที่ถูกเก็บในฐานะเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่นานเกือบร้อยปี และถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งแรกในปี 2009 ในหนังสือเรื่อง The Harding Affair: Love and Espionage During the Great War โดย จิม โรเบนอลต์ (Jim Robenalt) นักกฎหมายจากโอไฮโอที่ตั้งทฤษฎีว่าชู้รักของฮาร์ดิงเป็นสปาย ในจดหมายของฮาร์ดิงประกอบด้วยถ้อยคำที่แสนเร่าร้อน บรรยายถึงความปรารถนาอันเอ่อล้นของเขา เช่น "ผมรักเถากุหลาบที่งอกงามในสวนของคุณ รักหอยทะเลสีชมพูที่เปล่งปลั่งเป็นประกาย" เขายังใส่รหัสลับในจดหมายด้วยการเรียกองคชาติของตนเองว่า "เจอร์รี" (Jerry) และโยนีของฟิลิปส์ว่า "คุณนายเพาเทอร์สัน" (Mrs. Pouterson) ตัวอย่างเช่น "ผมอยากพาคุณขึ้นภูเขาเจอร์รี จุดที่แสนมหัศจรรย์ ไม่ใช่ในเชิงภูมิศาสตร์ แต่เป็นสถานที่ที่เปรียบดังสวรรค์" หรือ "บางครั้งคุณแสดงออกว่าไม่ชอบในสิ่งที่ผมเขียนไป และไม่เคยยอมรับ ผมเดาว่าในสายตาคุณมันเป็นเรื่องชั่วที่จะเอ่ยถึงคำว่ารัก หรือจริง ๆ แล้ว คุณไม่สามารถ[แสดงออก]เช่นนั้นได้ ไม่ว่าอย่างไร เมื่อผมได้เห็นหน้าคุณนายเพาเทอร์สันเมื่อเดือนก่อน เธอพยายามบอกผมว่าคุณยังรัก ผมมีวันที่แสนสุขมากกับเธอ" เรื่องของฮาร์ดิงหลังจากที่เขาเสียชีวิตจึงมีแต่เรื่องสาดเสียเทเสีย (ตามหลักฐานที่พบใหม่ไม่ใช่หาเรื่องด่าแบบลอย ๆ) แต่ก็มีคนพยายามแก้ต่างให้เขาเหมือนกันว่า นอกจากเรื่องส่วนตัวแล้วเขาก็ไม่ได้ทำอะไรเสียหายเท่าไหร่เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งแค่ระยะสั้น ๆ เรื่องทุจริตก็ไม่ใช่เรื่องที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เขาอาจไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่เขาก็มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่โอเค ช่วยรัดเข็มขัดงบประมาณหลังหมดไปกับช่วงสงครามเสียเยอะ การประกาศไม่ให้โบนัสกับทหารผ่านศึกก็ยังได้รับคำชมว่ากล้าหาญทำในเรื่องที่จะถูกสังคมด่าเพราะนึกถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญ การถกเถียงเช่นนี้ถือเป็นข้อดีของสังคมที่เห็นเสรีภาพ และความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ (แม้กระทั่งเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อาจไม่ส่วนตัวก็ได้ เช่น แคร์รี ฟิลิปส์ ชู้รักฮาร์ดิงที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าเป็นสปายหรือไม่? และฮาร์ดิงเองเอาทรัพย์สินของรัฐไปปรนเปรอนางบำเรอคนอื่น ๆ ของเขาหรือเปล่า? [จ้างช่างมาซ่อมตู้เพราะเขากับบริตตันคู่ขาอีกคนมีเซ็กซ์จนตู้พังก็ถือว่าเข้าข่าย]) ซึ่งเรื่องแบบนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากสังคมอเมริกันยึดถือหลักว่า "คนตายไปแล้ว ก็อโหสิกรรมกันไปเถอะ" เรื่องสกปรกของคนตายถ้ามีก็ลืม ๆ กันไป เล่าแต่เรื่องดี ๆ ก็พอ ที่มา: https://www.nytimes.com/1972/03/26/archives/a-sort-of-rehabilitation-of-warren-g-harding-harding-rehabilitated.html?searchResultPosition=5 https://6thfloor.blogs.nytimes.com/2014/07/25/was-warren-harding-in-fact-a-terrible-president/?searchResultPosition=2 https://www.nytimes.com/2014/07/13/magazine/letters-warren-g-harding.html?ref=magazine https://www.vox.com/2014/7/9/5881009/in-defense-of-warren-harding https://slate.com/news-and-politics/2014/07/warren-harding-letters-could-they-spark-a-revisionist-view-of-the-much-maligned-president.html https://www.politico.com/magazine/story/2015/08/warren-harding-child-sex-sandal-121404 https://www.britannica.com/biography/Warren-G-Harding#ref329525