04 เม.ย. 2563 | 13:07 น.
กว่าศตวรรษที่ผ่านมา เรื่องราวของ แมรี มัลลอน (Mary Mallon) มักจะถูกยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเวลาที่โลกถึงคราวเผชิญโรคระบาด หรือไม่ก็นำมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการด้านสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุขของรัฐบาลหลายประเทศ กรณีของ แมรี มัลลอน คือตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐบาล ที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลนานถึง 26 ปี เพราะเชื่อว่านี่เป็นวิธีหยุดยั้งการแพร่เชื้อโรค นี่คือเรื่องราวของ super-spreader คนแรก ที่แนะนำให้วงการแพทย์อเมริการู้จักกับคำว่า ‘พาหะไม่แสดงอาการ’ เธอคือเจ้าของตำนานที่ถูกเรียกขานว่า ‘ไทฟอยด์ แมรี’ (Typhoid Mary) เรื่องราวของ ‘ไทฟอยด์ แมรี’ เริ่มต้นจากการที่เธอเป็นเด็กสาวไอริชวัย 15 ที่ตัดสินใจอพยพหลบหนีความอดอยากมาที่สหรัฐอเมริกา เพียงเพราะอยากมีอนาคตที่สดใส หลังจากอาศัยอยู่กับลุงและป้าได้ไม่นาน เธอก็เริ่มหางานทำโดยรับจ้างใช้แรงงานในหลากหลายอาชีพ ด้วยทักษะการทำอาหารที่ไม่ธรรมดา ทำให้แมรีสามารถไต่เต้าขึ้นมาจากงานแม่บ้าน สู่การเป็นแม่ครัวที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า แมรีทำงานเป็นแม่ครัวให้บ้านของเหล่าเศรษฐีได้เกือบ 10 ปี เส้นทางอาชีพนี้ก็ต้องหยุดชะงัก หลังจากแมรีได้รับการว่าจ้างให้ไปทำอาหารให้ครอบครัวของชาร์ลส์ เฮนรี วอร์เรน (Charles Henry Warren) นายธนาคารผู้ร่ำรวย ตอนที่ครอบครัวของเขาเดินทางไปเช่าบ้านพักตากอากาศในย่านออยสเตอร์ เบย์ เมืองลอง ไอส์แลนด์ ช่วงวันหยุดฤดูร้อนปี 1906 ครอบครัวของชาร์ลส์อาศัยอยู่ที่นั่นได้ราว 3 สัปดาห์ จู่ ๆ ลูกสาวของเขาก็เป็นคนแรกที่เริ่มป่วย เธอมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเมื่อยตามตัว และมีไข้อ่อน ๆ อาการเหล่านี้คือสัญญาณของ โรคไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อยไม่ผิดแน่ แต่อะไรล่ะคือสาเหตุที่ทำให้โรคที่มักจะเกิดในสถานที่แออัด ไม่ถูกหลักสุขอนามัย มาเกิดในบ้านของคนรวยที่รักษาความสะอาดอย่างดีได้ อาการป่วยเริ่มลามไปสู่สมาชิกหลายคนในบ้าน ไม่เว้นแม้แต่คนงาน หรือคนสวน ข่าวลือเสียหายเริ่มแพร่กระจายไปในย่านออยสเตอร์ เบย์ จนทำให้เจ้าของบ้านเช่าอย่าง จอร์จ ธอมป์สัน (George Thompson) ต้องรีบหาทางแก้ไข ก่อนที่ธุรกิจบ้านเช่าของเขาจะมีอันต้องเจ๊ง เพราะไปทำครอบครัวคนรวยทั้งบ้านล้มป่วย เขาตัดสินใจจ้าง จอร์จ โซเปอร์ (George Soper) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบค้นโรค เข้ามาตรวจหาสาเหตุของการแพร่ระบาด แม้โซเปอร์จะสืบละเอียดตั้งแต่สุขอนามัยของส้วม น้ำดื่ม และบ่อบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งสัมภาษณ์สมาชิกทุกคน ไม่ว่าจะแขก คนงาน หรือแม้แต่คนที่เคยเช่าบ้านหลังนี้ แต่ก็ยังไม่พบที่มาของเชื้อโรค ในที่สุดเขาก็พบว่ามีคนหนึ่งที่ตกหล่นไป เธอคือแม่ครัวที่จู่ ๆ ก็หายตัวไป หลังจากสมาชิกในบ้านเริ่มป่วยได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากสืบทราบว่าเธอชื่อ แมรี มัลลอน อายุ 37 ปี เป็นผู้อพยพชาวไอริช สูงประมาณ 5 ฟุต 6 นิ้ว นัยน์ตาสีฟ้า ผมบลอนด์ โซเปอร์ก็เริ่มควานหาตัวเธอจากบริษัทจัดหาแม่บ้านหลายแห่ง ยิ่งค้นประวัติการทำงานย้อนหลัง เขาก็ยิ่งมั่นใจว่าเธอนี่ล่ะ คือต้นตอของอาการป่วย เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าแมรีจะไปทำงานบ้านใคร ก็จะต้องมีโรคไทฟอยด์ระบาดในบ้านหลังนั้น ก่อนที่เธอจะย้ายงานไปแพร่เชื้อที่อื่นต่อ แม้ที่จริงงานของโซเปอร์จะจบลงแล้ว เพราะเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวบ้านไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เพราะ แมรี มัลลอน ยังคงเป็นพาหะของโรคระบาด เขาจึงตัดสินใจสืบหาตัวเธอต่อ แน่นอนว่าแทบไม่ต้องใช้เวลานาน เพราะไม่กี่เดือนต่อจากนั้น ก็มีข่าวโรคไทฟอยด์ระบาดในบ้านเศรษฐีย่านพาร์ค อเวนิว เกิดขึ้น โซเปอร์หาตัวแมรีจนพบ และได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอในช่วงต้นปี 1907 บทสนทนาของทั้งสองไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะโซเปอร์เข้าประเด็นเลยว่า แมรีน่าจะเป็นพาหะของโรคไทฟอยด์ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ บ้าน เขาจึงต้องการตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระของเธอไปตรวจ ทันทีที่แมรีได้ยินความต้องการของเขา เธอก็โมโหจนหยิบส้อมมาเตรียมแทงเจ้าคนประหลาดที่กล้ามาขออะไรเสียมารยาทจากคนที่เพิ่งพบกันครั้งแรก โซเปอร์พยายามอยู่อีก 2-3 ครั้ง แต่ก็ยังถูกปฏิเสธ สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจแจ้งตำรวจเพื่อจับกุมเธอส่งโรงพยาบาล และบังคับเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากเธอมาได้ โซเปอร์นำตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระของแมรีมาตรวจ แต่กลับไม่พบเชื้อ ตรวจรอบสองก็ยังไม่พบอีก เขาเริ่มคิดว่า หรือจะเป็นเขาเองที่คาดเดาผิดพลาด เพราะหลังจากไล่จับกันมาหลายที แมรีก็ดูแข็งแรงปกติดี และไม่มีอาการป่วย แต่เมื่อตรวจละเอียดลงไปในรอบที่สาม เขาก็พบว่าในร่างกายของเธอมีเชื้ออยู่จริง มันซ่อนอยู่ในถุงน้ำดี ที่ตอนแรกทีมแพทย์ไม่คิดจะเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่วงการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาได้รู้จักกับ พาหะนำโรคที่ไม่แสดงอาการป่วย เรื่องราวของเธอกลายเป็นข่าวใหญ่แพร่สะพัดไปทั่วนิวยอร์ก ทำให้ปี 1909 หนังสือพิมพ์ New York American ขนานนามเธอว่า ‘ไทฟอยด์ แมรี’ ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อที่ติดตัวเธอไปจนตาย แถมยังถูกบันทึกไว้ในหนังสือทางการแพทย์กว่าร้อยปีให้หลัง