เหรา: “น้อน” ที่เห็นแท้จริงคือ สัตว์หิมพานต์ที่ตำนานเล่าว่าเป็นตัวอิจฉา

เหรา: “น้อน” ที่เห็นแท้จริงคือ สัตว์หิมพานต์ที่ตำนานเล่าว่าเป็นตัวอิจฉา

สัตว์หิมพานต์ที่ตำนานเล่าว่าเป็นตัวอิจฉา

รูปปั้นเชิงบันไดที่ไม่ได้มีประติมากรรมลวดลายที่ให้ความรู้สึกโอ่อ่าอลังการอะไรนัก หากแต่เป็นรูปปั้นที่มีความเรียบง่ายแปลกตาไม่ได้มาตรฐานตามสัดส่วนอย่างที่เราเคยเห็นกันมาจากหลาย ๆ แห่ง สิ่งนี้กลับทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากบนสื่อโซเชียลจนเกิด #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ที่คนสายอาร์ตทั้งหลายมาวาดรูปเลียนแบบจนเกิดเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ กลายเป็นสิ่งมีชีวีตที่เรียกว่า “น้อน” “น้อน” ที่ว่าคือสัตว์หิมพานต์ที่เรียกว่า “เหรา” เหรานี้มีการสร้างมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อน แล้วมีไว้ทำไมกัน? รูปปั้นตรงเชิงบันได ถือเป็นอีกหนึ่งประติมากรรมตกแต่งที่สะท้อนแนวคิดคติความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่ยึดถือคติไตรภูมิเป็นหลัก โดยเปรียบดั่งสถานที่นั้นคือเขาพระสุเมรุ ที่มีสัตว์หิมพานต์คอยเฝ้าอยู่เชิงเขา เพื่อไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ และทำให้เกิดความสวยงามแก่ศิลปสถาน แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจนผ่านงานสร้างประติมากรรม ประติมากรรมเหรานี้ แต่ละแห่งจะมีการออกแบบที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น เชิงบันไดวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่, วัดหลวง จังหวัดแพร่, วัดไตรภูมิ จังหวัดนครพนม, วัดมโนภิรมย์ จังหวัดมุกดาหาร และอีกหลายแห่งในภาคอีสานและภาคเหนือ น้อน หรือรูปปั้นเชิงบันไดที่กำลังโด่งดังและเป็นกระแสอยู่ ณ ตอนนี้ด้วยความน่ารักและน่าเอ็นดูละม้ายคล้ายคลึงกับตัวการ์ตูนโปเกมอน ที่ตั้งอยู่วัดชัยภูมิการาม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี แท้จริงนั้นมีชื่อคือ เหรา  เหรา (เห – รา) ทางล้านนาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มกร (มะ-กอน หรือ มะ-กะ-ระ) แต่ถ้าหากเรียกตามตำนานแม่น้ำโขงจะเรียกว่าเงือกงู เป็นสัตว์ในจินตนาการอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างจระเข้กับพญานาค ที่จะมีลำตัวยาวและส่วนหัวคล้ายกับพญานาค มีขายื่นออกมาจากลำตัว 4 ขาและมีปากเป็นจระเข้ แต่ถ้าหากไปดูตำนานของฮินดู มกรจะเป็นสัตว์ประหลาดในทะเล มีลักษณะของสัตว์บกผสมกับสัตว์น้ำ เช่น ช้างผสมจระเข้ผสมปลา มักจะสร้างประดับตรงทางเข้าของเทวสถาน นอกจากนี้ตัวเหรายังมีตำนานที่กล่าวเล่าสืบต่อกันมาว่า เราได้เปรียบเหราเป็นตัวแทนของความอิจฉาริษยา หยิ่งทะนงในตน เป็นสัตว์ที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง อยากจะเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำโขง  ทำให้มีเรื่องเล่าว่า เหรารู้สึกอิจฉาพญานาคเป็นอย่างมาก เนื่องจากพญานาคถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนของผู้ที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา โดยเรียกผู้ที่เข้ามาบวชว่า ‘นาค’ ก่อนที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ จึงพยายามเอาชนะพญานาค โดยไปขอท้าประลองด้วย แต่เนื่องจากพญานาคไม่อยากให้การประลองส่งผลกระทบเดือดร้อนต่อเหล่าสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำโขง จึงได้ยื่นข้อเสนอว่า ถ้าหากเหรากลืนกินตนนั้นได้ทั้งตัวจะถือว่าเหราเป็นฝ่ายชนะ เหราตอบตกลงในข้อเสนอนี้แล้วได้ทำการเริ่มกลืนพญานาคขึ้นมาจากส่วนหางจนใกล้จะถึงส่วนหัว แต่สุดท้ายเหราก็ไม่สามารถกลืนพญานาคได้หมดเพราะยิ่งเหราอ้าปากกว้างขึ้นเท่าไร พญานาคก็จะยิ่งเพิ่มเศียรขึ้นเท่านั้นจาก 1 เศียรเป็น 3 เศียร 5 เศียร 7 เศียร  จากความเชื่อตรงนี้ ทำให้รูปปั้นพญานาคตามศาสนสถานทางภาคเหนือ ภาคอีสานมักจะสร้างเหราไว้เชิงบันไดโบสถ์ที่จะมีลักษณะหัวพญานาคโผล่ออกมาจากปากเหรา ถ้าสื่อในทางพุทธศาสนาตัวเหราจะเหมือนอุปาทาน ความยึดติด ความลุ่มหลง ส่วนพญานาค จะหมายถึง ความมีชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรา โดยเป็นคำสอนได้ว่าการไม่ยอมแพ้ให้กิเลสของความชั่วกลืนกินตัวเราได้ทั้งหมด ซึ่งบอกเป็นนัยได้ว่าให้คนที่มาที่โบสถ์หรือมาที่วัดให้ละทิ้งความทุกข์ ทิ้งความยึดติด ทิ้งความลุ่มหลงของตนเองเอาไว้ภายนอกโบสถ์ เพื่อที่จะได้ขึ้นไปรับเอาความสุข ความสงบร่มเย็น และปล่อยวาง แต่ถ้าหากเป็นความเชื่อทางด้านของประวัติศาสตร์ศิลปะในสมัยก่อนนั้น อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ที่ทางตอนเหนือของประเทศไทย มีอาณาจักรที่เรียกว่า อาณาจักรโยนกนคร หรือ โยนกนาคนคร กล่าวกันว่า ชาวเมืองนี้สืบเชื้อสายมาจากพญานาคจากเมืองบาดาล ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้ล่มสลาย ผู้ที่รอดชีวิตจึงพากันอพยพไปตั้งรกรากยังที่อื่นจนกลายเป็นดินแดนล้านนาและยังคงศิลปะที่มีนาคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ หากมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พม่าได้เข้าครอบครองอาณาจักรล้านนา การสร้างเชิงบันไดจึงมองได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นเหราคายพญานาคแทน ที่จะแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของการหลุดพ้นจากอิทธิพลศิลปะและการเมืองของพม่าที่เข้ามาครอบครองอาณาจักรล้านนาถึง 200 ปี       ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่คนในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์กันสนั่นถึง น้อนหรือเจ้าเหราสุดน่ารักตัวนี้ ทางพระใบฏีกา สุทัศน์ สติสัมปันโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการามได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า เหราตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ.2317 จากฝีมือช่างท้องถิ่น หรือช่างสกุลญวนในสมัยนั้น หากแต่ทางวัดเพิ่งได้มาบูรณะใหม่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยนำเอาสีทองที่เหลือจากการทำสีซุ้มประตูวัดมาทาให้จากสีขาวกลายเป็นสีทองอย่างที่เห็น  หลังจากนั้นมีคนสอบถามเข้ามาในเพจวัดว่า ทำไมถึงมีลักษณะแบบนั้นถือเป็นการดูถูกหรือเปล่า ให้ช่วยอธิบายหน่อย ทางวัดจึงได้มีการอธิบายไปว่าไม่ได้ทำด้วยความดูถูกแต่อย่างใด สร้างด้วยความจิตใจและความศรัทธา ที่ในสมัยก่อนอยากแสดงให้เห็นถึง การอยู่แบบไม่ต้องโอ่โถง อยู่แบบเรียบง่าย คือเน้นใช้งานและความเรียบง่ายเป็นแค่สร้างขึ้นมาเป็นปูนฉาบเรียบ “ตั้งแต่ที่มีข่าวออกไปที่เรียกกันว่าน้อนหรือโพสต์ล้อเลียนว่าเหมือนโปเกมอนบ้าง ตอนแรกอาตมาก็เกิดความสงสัยว่ามองเป็นโปเกมอนได้อย่างไร แต่สุดท้ายก็มองเป็นเรื่องของนานาจิตตังไป” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการามได้อธิบาย แล้วยังบอกอีกว่าตั้งแต่ที่มีกระแสน้อนนั้นในปัจจุบันจากแต่ก่อนที่มีแค่คนในพื้นที่ หรือคนใกล้เคียงเข้ามาในวัด หากทุกวันนี้มาจากที่ไกล ๆ ไม่ว่าจะทั้งภาคเหนือ ภาคกลางก็มีเพิ่มมากขึ้น หากมองในมุมมองของความสวยงาม เหราตัวนี้อาจไม่ได้สวยงามและดูประณีตเหมือนกับหลาย ๆ ที่ในไทย อย่างกับการที่เขาชอบพูดกันเล่น ๆ ว่า งานไม่ตรงปก หรือ ถ้าเป็นงานกราฟิกคงเป็นงานที่บรีฟไปแล้วที่ไม่ตรงบรีฟ สิ่งที่คิดกับสิ่งที่ได้แตกต่างกันจนเกินไป  แม้ถูกมองว่าบิดเบี้ยว แต่ก็ยังฟังก์ชันแบบของตัวเอง แต่ถ้าตัวเหรา ที่วัดชัยภูมิการามมองในมุมของศิลปะ คงจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ ศิลปะแบบ Naive Art (นาอีฟ อาร์ต) ที่เป็นงานศิลปะที่ไร้เดียงสา คือศิลปะที่สร้างขึ้นโดยคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาก่อน ศิลปะแบบชาวบ้าน เป็นงานที่มีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ละเลยกฎมุมมองต่าง ๆ แบบดั้งเดิม ผิดพลาดไม่เป็นไปตามรูปทรงเรขาคณิต ไม่เป็นรูปทรง ซึ่งงานศิลปะพื้นบ้าน นั้นก็มีแนวทางที่เรียบง่ายคล้าย ๆ กัน ไม่ได้มาจากบริบททางวัฒนธรรมหรือประเพณี เฉกเช่นเหราตัวนี้   เรื่อง : ภัคจีรา ทองทุม ภาพ: จากเพจวัดชัยภูมิการาม - วัดกลาง   ที่มา https://issuu.com/vajaradhonsimking/docs/makara_naga_luang__new_ https://www.silpa-mag.com/culture/article_35141 https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/116641 https://talk.mthai.com/inbox/370880.html http://www.sookjai.com/index.php?topic=18786.0;wap2 https://www.youtube.com/watch?v=8fQarzGkKJ8 https://www.youtu.be/ggGJRTmPmOg https://artsandculture.google.com/theme/what-is-naive-art/YwLC8yxnsRUtJA https://www.tate.org.uk/art/art-terms/n/naive-art http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=14&chap=3&page=t14-3-infodetail03.html