25 ม.ค. 2562 | 19:08 น.
วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม 1980 จอห์น เลนนอน อดีตสมาชิก เดอะบีเทิลส์ ใช้เวลาทำงานเกือบทั้งวัน ทั้งถ่ายภาพขึ้นปกนิตยสาร ให้สัมภาษณ์ แจกลายเซ็นให้กับแฟนๆ และทำเพลงใหม่ร่วมกับภรรยา โยโกะ โอโนะ หลายชั่วโมงกว่าจะได้ออกจากสตูดิโอ เขาและภรรยาเดินทางกลับมาถึงเดอะดาโกตา บ้านพักเกือบห้าทุ่ม ก่อนได้พบกับวาระสุดท้าย เมื่อ เดวิด แชปแมน แฟนเพลงที่ทั้งรักทั้งเกลียดเขา มายืนรอลั่นไกสังหารศิลปินคนโปรด เดวิด มาร์ก แชปแมน เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1955 ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นทหารและแม่เป็นพยาบาล เขาบอกว่าตอนเด็กๆ เขาต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวต่อพ่อบังเกิดเกล้า เพราะพ่อเขาชอบทำร้ายแม่ และเขาก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเขาหลงรักเดอะบีเทิลส์มาก เมื่อเดอะบีเทิลส์ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เขาก็เลียนแบบ และทำให้เขาหลอนหนักจนเพ้อว่าตัวเองเป็นจอห์น เลนนอน แต่หลังจากนั้นแชปแมนก็เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเขาได้พบศรัทธาใหม่จึงมุ่งมั่นอุทิศตนให้ศาสนา และหันมาทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งผู้อพยพชาวเวียดนามในสหรัฐฯ และยังเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามกลางเมืองถึงเลบานอน "เขาเคยเป็นคนหนุ่มที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความอ่อนโยนมากที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยเจอ" เดวิด มัวร์ ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายดูแลผู้อพยพประจำ YMCA องค์กรการกุศลของชาวคริสต์ กล่าวถึงแชปแมนหลังก่อเหตุยิงเลนนอน (The New York Times) และความศรัทธาในพระศาสนา ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาเริ่มเกลียดชังเลนนอน เมื่อเขาพบว่า เลนนอนเคยให้สัมภาษณ์ว่าเดอะบีเทิลส์ "ป๊อปปูลาร์" ยิ่งกว่าพระเยซู "เขาโกรธมาก บอกว่าจะไม่ฟังเดอะบีเทิลส์อีกต่อไป แล้วก็ทำลายแผ่นเสียงทั้งหมดของเดอะบีเทิลส์" ไมล์ แมคมานัส เพื่อนสมัยมัธยมปลายของแชปแมนกล่าว (CNN) ระหว่างที่เขาศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย แชปแมนเริ่มคิดถึงการฆ่าตัวตายหลังผลการเรียนไม่เป็นที่น่าพอใจ และเขาก็มีปัญหาด้านความสัมพันธ์เมื่อเขาแอบนอกใจคนรัก ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนบาปและล้มเหลว เขาตัดสินใจทิ้งการเรียน เดินทางไปอยู่ฮาวาย และพยายามฆ่าตัวตายด้วยการรมควันท่อไอเสีย แต่ล้มเหลวเพราะสายยางที่เขาต่อจากท่อไอเสียเข้าห้องโดยสารเกิดละลาย เขาจึงรอดมาได้ และเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลที่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้ ในปี 1978 แชปแมนออกเดินทางไปรอบโลก และเริ่มคบหากับ กลอเรีย อาเบะ ตัวแทนท่องเที่ยวชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นก่อนแต่งงานกันในปีต่อมา เขาเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลในฐานะลูกจ้าง ก่อนลาออกมาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ช่วงเวลานี้เขาเริ่มดื่มหนักและหมกมุ่นอยู่กับอะไรหลายๆ อย่างทั้งงานศิลปะ เดอะบีเทิลส์ โดยเฉพาะจอห์น เลนนอน รวมถึงหนังสือเล่มโปรด The Catcher in the Rye ของ เจ. ดี. ซาลินเจอร์ และเริ่มทำตัวเป็นเหมือน โฮลเดน คลอฟิลด์ ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นวัยรุ่นต่อต้านสังคมและเกลียดความ "ปลอม" ซึ่งจอห์น เลนนอน ก็เป็นคนหนึ่งที่แชปแมนเห็นว่าเป็นของปลอม "เขาบอกให้พวกเราจินตนาการถึงการไม่มีอะไรในครอบครอง แล้วดูเขาสิ มีเงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์ เรือยอชต์ตั้งเท่าไหร่ ไร่ฟาร์ม และยังมีคฤหาสน์นอกเมืองอีกเยอะแยะ แล้วมานั่งหัวเราะเยาะคนอย่างผมที่เคยเชื่อในคำโกหก หลงซื้อแผ่นเสียงและใช้ชีวิตตามเสียงเพลงของเขา" แชปแมนเดินทางมายังนิวยอร์กเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1980 พร้อมปืนลูกโม่หนึ่งกระบอก หลังสอบถามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมการบินถึงวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บอาวุธปืน ซึ่งทางศูนย์แนะนำให้เก็บใส่กระเป๋าเดินทาง พร้อมเตือนว่าความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วระหว่างการเดินทางอาจทำให้กระสุนปืนเสียหายได้ ทำให้เขาไม่ได้พกกระสุนมาด้วย และมันก็กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แผนฆ่าเลนนอนในรอบแรกล้มเหลว เพราะเขาไม่สามารถซื้อกระสุนได้ ต้องบินไปขอกระสุนจากเพื่อนเก่าถึงแอตแลนตา ก่อนเปลี่ยนใจเดินทางกลับฮาวายในราวสองอาทิตย์ให้หลัง ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม แชปแมนเดินทางมานิวยอร์กอีกครั้ง คราวนี้เขาเตรียมตัวมาพร้อมกว่าเดิม ในวันก่อเหตุแชปแมนมาดักรอเลนนอนหน้าเดอะดาโกตา โดยสวมเสื้อผ้าแน่นหนาเพื่อเตรียมรับอากาศหนาวทั้งวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดสังเกต เพราะปกติก็มีแฟนเพลงของเลนนอนมาดักรอขอลายเซ็นอยู่เป็นประจำ บ่ายวันนั้นแชปแมนได้พบกับเลนนอน และได้ลายเซ็นบนอัลบัม Double Fantasy แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมไปไหน ทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัยสงสัยและถามว่าเขายังจะรออะไรอีก แชปแมนจึงอ้างว่า เขาอยากจะได้ลายเซ็นของโยโกะ โอโนะ ซึ่งร่วมร้องในอัลบัมนี้ด้วย วันที่ 8 ธันวาคม 1980 เวลา 22 นาฬิกา 50 นาที หลังเสร็จธุระทั้งวัน จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ เดินทางกลับถึงเดอะดาโกตา "พอรถจอด โยโกะเดินลงมา อะไรบางอย่างในหัวบอกผมว่า เอาเลย! เอาเลย! เอาเลย! เอาเลย! เป็นอย่างนี้ซ้ำๆ พอเลนนอนลงจากรถ เอาเลย! ผมเดินลงจากขอบทาง เดินมา เลี้ยวตัว ชักปืนขึ้นแล้วก็ ปัง! ปัง! ปัง! ปัง! ปัง!" เลนนอนถูกยิงจากด้านหลังสี่นัด สองนัดถูกบริเวณหลังด้านซ้าย อีกสองนัดบริเวณไหล่ซ้าย เขาพาตัวเองขึ้นบันไดไปได้ห้าหกก้าวก่อนล้มลง พนักงานเฝ้าประตูรีบวิ่งมาช่วยเหลือและเรียกรถพยาบาล แต่แพทย์ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตของเขาเอาไว้ได้ โดยแพทย์ประกาศว่าเขาเสียชีวิตลงในเวลา 23 นาฬิกา 15 นาที ส่วนแชปแมนหลังก่อเหตุแล้วก็ยืนรอมอบตัวโดยไม่ได้หลบหนีไปไหน ทนายความของเขาพยายามอ้างความวิกลจริตเพื่อให้เขาพ้นผิดจากข้อกล่าวหา โดยยกปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ทำให้เขาพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วสองครั้ง หรือเสียงประหลาดที่สั่งให้เขาต้องลงมือ แต่สุดท้ายแชปแมนยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลตัดสินให้เขาต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อย 20 ปี ถึงตลอดชีวิต แชปแมนพยายามยื่นคำร้องขอปล่อยตัวก่อนกำหนดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งหนึ่งระหว่างให้การกับคณะกรรมการพิจารณาการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ เขายอมรับว่า สังหารเลนนอนก็เพราะต้องการ "ความสนใจ" "แน่นอนว่ามันไม่คุ้ม การเอาชีวิตของมนุษย์คนอื่นเพื่อที่ตัวเองจะได้มีตัวตนขึ้นมาเป็นความเห็นแก่ตัวที่งี่เง่าที่สุด แต่ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้เป็นแบบนี้" แชปแมนกล่าวกับคณะกรรมการฯ ในปี 2012 (The Denver Post) "ผมเสียใจอย่างสุดซึ้ง" แต่คณะกรรมการฯ ก็ยังไม่เห็นว่า แชปแมนสมควรได้รับสิทธินั้น โดยในการยื่นคำร้องครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2018 คณะกรรมการฯ ก็ยังปฏิเสธโดยให้ความเห็นว่า การปล่อยตัวเขาก่อนกำหนด "ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสังคม และการทำเช่นนั้นยังเป็นการละเลยถึงความร้ายแรงแห่งอาชญากรรมนั้น ซึ่งทำให้ความเคารพในกฎหมายเสื่อมคลายลงได้"