22 มี.ค. 2562 | 11:20 น.
ข่าวปลอมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมานาน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีระบบสื่อสารมวลชน ยิ่งมีระบบนี้ขึ้นมาการกระจายข่าวสารยิ่งดีขึ้น ผู้ไม่หวังดีที่มีอำนาจเข้าถึงระบบก็ยิ่งสามารถใช้มันกระจายข่าวปลอมให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแหล่งกระจายข่าวสารยิ่งมีอย่างจำกัด และหลายแหล่งต่างรายงานตรงกันแล้ว มันก็ไม่ยากที่ผู้รับสารจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง เช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม "...ที่นี่ชมรมวิทยุเสรี ที่นี่ชมรมวิทยุเสรี มีข่าวด่วนครับ เมื่อตอนเช้าวันนี้คณะวิทยาศาสตร์มหิดลได้ทำการปิดการเรียนของคณะวิทยาศาสตร์มหิดล ซึ่งเป็นตึกสูงอยู่ข้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อตอนเช้าวันนี้ได้มีมนุษย์อุบาทว์ขึ้นไปบนตึกหลังนั้นเพื่อส่องกล้องเข้าไปในบริเวณวังสวนจิตรลดา ทางอาจารย์ได้เข้าไปจับกุมและยึดกล้องไว้ได้ครับ..." "...นี่ก็เรียกว่ามีข่าวที่น่า...เรียกว่าน่าคิดก็แล้วกันนะครับว่าที่โรงพักจักรวรรดิได้รับแจ้งว่ามีรถบัสใหญ่บรรทุกปืนเต็มเลยนะครับ แล้วก็มีธงแดงติดอยู่ที่ข้างรถมาทางถนนอรุณอัมรินทร์ไปทางสี่แยกบ้านแขกได้มีการยิงปืนขึ้นฟ้าด้วยนะครับ..." "...ท่านผู้ฟังครับ ขณะนี้มีข่าวยืนยันที่แน่นอนมาแล้วครับ เมื่อเวลา 9 นาฬิกา 18 นาที ได้มีนักศึกษาสี่ถึงห้าคนนำถังน้ำมันประมาณสิบถังไปอยู่ที่บริเวณวัดบวรฯ ครับ โปรดฟังอีกครั้งครับ ข่าวยืนยันที่แน่นอน มีนักศึกษาประมาณสี่ห้าคนนำถังน้ำมันประมาณสิบถังไปอยู่ที่บริเวณวัดบวรฯ ครับ..." "...แถลงการณ์ชมรมข้าราชการเพื่อแผ่นดินไทย ประชาชนเพื่อนร่วมชาติและประชาชนที่รักความเป็นธรรมทั้งหลาย บัดนี้ความจริงได้ฉายออกมาแล้วว่า กลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้กระทำการเหยียบย่ำหัวใจคนไทยทั้งชาติโดยได้กระทำการอันอุบาทว์ชาติชั่วบังอาจหมิ่นพระบรมโอรสาธิราชโดยกระทำรูปที่มีใบหน้าเหมือนเจ้าฟ้าชายนำมาแขวนคอประท้วงในการขับไล่พระภิกษุถนอมให้ออกจากแผ่นดินไทย การกระทำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยนั้นเป็นการบ่งชัดแล้วว่าต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นหลักชัยของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งปวงเพื่อก่อให้เกิดการนองเลือดขึ้นในหมู่ของประชาชนชาวไทยเป็นการที่จะนำมาซึ่งการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์อันมีองค์การต่างประเทศชักใยอยู่เบื้องหลังและดำเนินการใต้ดินอยู่ในศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา และทุก ๆ ครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองจะมีการก้าวร้าวแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เสมอมา..." ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข่าวสารโดยชมรมวิทยุเสรี ผ่านสถานีวิทยุยานเกราะในช่วงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่เกิดการใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทางสถานีได้รายงานข่าวปลอมใส่ร้ายนักศึกษาที่ประท้วงการกลับประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เข้ามาบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงพยายามกล่าวหาว่านักศึกษาพยายามก่อวินาศกรรมทำลายวัดหลวงสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อหา "ล้มเจ้า" ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงจากกรณีกลุ่มนักศึกษาจำลองเหตุการณ์พนักงานการไฟฟ้าที่ถูกฆ่าตายก่อนหน้านั้นไม่นาน ทางชมรมฯ อ้างว่ากลุ่มนักศึกษาใช้ "รูปเหมือนเจ้าฟ้าชาย" แม้ว่าความจริงจะเป็นการใช้คนจริงไม่มีการใช้รูป แต่ก็เป็นการให้ข่าวไปในแนวทางเดียวกับสื่อขวาจัดอย่าง "ดาวสยาม" ที่ขึ้นหน้าหนึ่งด้วยภาพนักศึกษาที่ใบหน้าคล้าย "เจ้าฟ้าชาย" ซึ่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้แน่ว่ามีการตัดต่อตกแต่งภาพหรือไม่? โดยทาง Bangkok Post สื่อภาษาอังกฤษที่ลงภาพคล้าย ๆ กันแต่ไม่มีการใส่ข้อความชี้นำว่าเป็นการหมิ่นพระบรมราชานุภาพ เคยยืนยันว่าภาพที่พวกเขาเผยแพร่นั้นมิได้เป็นภาพตัดต่อ การตอกย้ำของสื่อฝ่ายขวาอย่างเป็นขบวนการจึงทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ถูกกล่อมด้วยอุดมการณ์ขวาจัดหลงเชื่อข้อมูลเท็จได้โดยง่าย และเห็นว่านักศึกษาเป็น “ศัตรู” ที่ไม่จำเป็นต้องปราณี จากข้อมูลของบันทึก 6 ตุลา ชมรมวิทยุเสรีคือกลุ่มสถานีวิทยุของทหารที่ร่วมประสานงานกันโดยมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนหลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 มี พ.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อาคม มกรานนท์ และอุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นโฆษกสำคัญ พวกเขาร่วมกับสื่อฝ่ายขวาแขวงอื่น ๆ ในการโจมตีขบวนการนักศึกษา ชี้นำให้เกิดการต่อต้านนักศึกษา โดยใช้เครือข่ายสื่อสารของรัฐเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่สื่อให้เห็นว่า ชมรมวิทยุเสรีทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์บัญชาการในการเล่นงานกลุ่มนักศึกษา เช่น กรณีกระทิงแดงบุกเผาธรรมศาสตร์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2518 ซึ่ง บันทึก 6 ตุลา ชี้ว่า ทางวิทยุยานเกราะได้ออกข่าวล่วงหน้าว่า กลุ่มกระทิงแดงจะแก้แค้นให้กับนักศึกษาอาชีวะที่ถูกนักศึกษามหาวิทยาลัยทำร้าย ซึ่งทั้งที่เป็นการออกอากาศก่อนเกิดเหตุการณ์ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสนใจที่จะรักษาความปลอดภัยในธรรมศาสตร์ และกลุ่มกระทิงแดงก็ได้ลงมือจริงดังที่ประกาศ ทั้งนี้ การที่ชมรมวิทยุเสรีเผยแพร่ข่าวสารทางวิทยุได้แบบทันเหตุการณ์ต่างจากหนังสือพิมพ์ที่ต้องไปตามอ่านหลังเหตุการณ์ผ่านไปนานแล้วทำให้การเผยแพร่ข้อมูลของพวกเขากระจายได้เร็วและกว้างขวางยิ่งกว่า การใช้น้ำเสียง เสียงประกอบ และเพลงปลุกใจก็ยิ่งเร้าอารมณ์ผู้ฟังให้เกิดความรู้สึกร่วมได้ดียิ่งขึ้นกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความแค้นทำให้หลายคนออกไปรุมประชาทัณฑ์นักศึกษาได้อย่างไม่รู้สึกผิดบาป ถึงปัจจุบันสื่อที่คอยปล่อยข่าวปลอมยิ่งเป็นปัญหาที่หนักหนาไม่น้อยกว่าเดิม แม้คนจะมีทางเลือกในการรับสื่อมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่สื่อที่เกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ดกลับมีส่วนสร้างความแตกแยกทางสังคมให้รุนแรงได้ไม่แพ้สมัยที่สถานีวิทยุถูกผูกขาดด้วยกลุ่มอำนาจกลุ่มเดียว เหตุเนื่องจากสื่อหลายเจ้าพากันละเลยหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกล้าแสดงอคติในการนำเสนอข่าวอย่างเปิดเผย แสดงตนว่าอยู่ข้างคนดู (กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) และคอยป้อนข้อมูลที่สอดรับกับความเชื่อและค่านิยมของคนดูในเครือข่ายเป็นสำคัญด้วยหวังเพียงยอดคลิกยอดวิว แม้บางกรณีจะเห็นชัด ๆ ว่าขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งแล้วก็ยังหาข้ออ้างที่จะนำเสนอข้อมูลเท็จนั้นให้ได้ และแม้ว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงในยุคอินเตอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องยุ่งยากนัก แต่ปัญหาคือ คนดูจำนวนมากพร้อมจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาเชื่ออยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้รับข่าวสารจากคนฝั่งเดียวกัน หรือเป็นข่าวที่ถูกแชร์มาในกลุ่มเพื่อนฝูงญาติมิตร การตรวจสอบข้อมูลนั้นย่อมยากจะเกิด เมื่อสื่อมวลชน (ที่บอกว่าเป็นมืออาชีพ) ซึ่งโดยหน้าที่ควรจะเป็นต้นทางในการกรอง "ขยะข้อมูล" เกิดเป็นง่อย หรือจงใจเป็นกลไกหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวปลอมราวกับเป็นแหล่งกระจายจดหมาย (ไลน์) ลูกโซ่เสียเอง มันก็ยิ่งทำให้คนหลงผิดหนักย่ำรอยปัญหาเก่าที่เคยเห็นเป็นบทเรียนมาก่อนแล้ว