07 พ.ย. 2565 | 16:32 น.
ลอยกระทงเคยมีทำในสมัยสุโขทัยไหม?
หรือเพิ่งมีเมื่อต้นรัตนโกสินทร์มานี้เอง?
เป็นปัญหาคาใจที่จริง ๆ แล้วก็ตอบไม่ยาก เพราะงานที่เสนอว่าเพิ่งมีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นทำไว้ดีมีหลักฐานมั่นคง!!!
อายุของต้นฉบับ
หลายคนเข้าใจว่า เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นจากการจุดประเด็นของ ‘ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ’ เล่มที่ชื่อ ‘ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย’ โดย บก. คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อ พ.ศ.2530
แต่ประเด็นนี้ ก็นับย้อนวิวาทะกลับไปได้เป็นร้อยปี ดังจะเห็นได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระนิพนธ์ ‘คำนำ’ ของ ‘เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ฉบับพิมพ์โดยหอสมุดพระวชิรญาณ เมื่อพ.ศ.2457 ก็ทรงเคยระบุเอาไว้ว่า
“ใครๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกต จะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ 2 กับที่ 3 ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่”
ในบทความที่ถือว่าดีเยี่ยมที่สุดของเรื่องนี้อย่างเรื่อง ‘นางนพมาศ: เรื่องจริงหรือนิยาย? ฐานะและบทบาทที่แท้จริงของวรรณคดีเรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ โดย สุพจน์ แจ้งเร็ว บก.ศิลปวัฒนธรรมท่านปัจจุบัน (2565) ซึ่งก็เป็นบทความชิ้นหนึ่งในเล่ม ‘ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย’ ได้แสดงหลักฐานว่า อีก 22 ปีต่อมา เมื่อพ.ศ.2479 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเปลี่ยนพระมติในเรื่องนี้โดยในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงพระยาอนุมานราชธน ได้ระบุว่า
“ฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์”
นั่นเพราะมีการค้นพบต้นฉบับสมุดไทยที่เจ้าพระยารัตนบดินทร์ มอบให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ ต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้เห็นสมุดนี้ก็มีรับสั่งว่า
“เปนลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘การกำหนดอายุโดยวิธีวิพากษ์ภายนอก’ การตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังมีวิธีที่เรียกว่า ‘วิพากษ์ภายใน’ คือการพิจารณาจากตัวบท (text) ของหลักฐาน
แม้ว่าบางแผนกจะระบุว่า เอกสารนี้เป็น “ตำรับโปราณาจารย์ พระศรีจุฬาลักษณ์ท่านกล่าวความสวัสดิเจริญของสตรีภาพ ผู้ประพฤติตามโอวาทแห่งท่านไว้ แต่สมัยจุลศักราชแรกตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระร่วงเจ้าโดยนิยมดั่งนี้”
แต่เนื้อความกลับมีที่หนึ่งกล่าวถึงศักราชของเหตุการณ์ว่า “ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินยังหาได้ลบศักราชตั้งจุลศักราชขึ้นใหม่ไม่” การลบศักราชเก่า-ตั้งศักราชใหม่นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา นางนพมาศถ้าเป็นคนในสมัยสุโขทัยนางจะรู้อนาคตล่วงหน้าได้อย่างไรว่าจะมีกษัตริย์ทำอะไรเช่นนั้นในอีกหลายร้อยปีต่อจากยุคของนาง
อีกทั้งสภาพบ้านเมืองที่คับคั่งไปชาวต่างชาติที่เรียกกันรวม ๆ ว่า ‘สิบสองภาษานานาชาติ’ อันที่จริงก็ไม่แปลกถ้าสุโขทัยจะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ที่แปลกก็คือต้นฉบับมีระบุถึงชาวต่างชาติที่คนไทยเรียกว่า ‘ฝรั่ง’ ซึ่งเพิ่งจะเข้ามาติดต่อค้าขายกับสยามในสมัยอยุธยา อาทิ ฝรั่งเศส, วิลันดา (ดัตช์หรือฮอลันดา), อังกฤษ, พุทะเกต (โปรตุเกส) หลักฐานสมัยสุโขทัยไม่พบมีชนชาติเหล่านี้เข้ามา
ที่สำคัญมีแห่งหนึ่งระบุถึงชนชาติฝรั่งที่ส่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นเรื่องแต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คือมีระบุถึง ‘ฝรั่งมะริกัน’ เพราะสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะตั้งประเทศเมื่อ ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319 ตรงกับสมัยธนบุรี) และอเมริกาก็เพิ่งจะส่งทูตเข้ามาติดต่อกับสยามเป็นครั้งแรกก็ในสมัยรัชกาลที่ 3
เป็นไปไม่ได้ที่คนสมัยสุโขทัยจะรู้จัก ‘ฝรั่งมะริกัน’ มันจึงชัดจนไม่รู้จะชัดไปกว่านี้ยังไงแล้วล่ะวิ!!!
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทำให้หน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยยังคงต้องยึดโยงกับคำอธิบายว่าลอยกระทงเป็นประเพณีเก่าแก่โบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ก็เพราะลอยกระทงถูกทำให้เป็นประเพณีสำคัญของรัฐชาติไทยไปแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องโยงใยกับความสำคัญของประวัติศาสตร์สุโขทัยในฐานะจุดเริ่มของประวัติศาสตร์ไทย
แม้ข้อเสนอที่ว่าลอยกระทงเป็นประเพณีใหม่ที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อต้นรัตนโกสินทร์จะดูน่าเชื่อถือมากกว่าด้วยเหตุผลและหลักฐานข้างต้น
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีลอยกระทงในสมัยเมื่อก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ร่นขึ้นไปพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักกำหนดให้เป็น ‘ยุคสุโขทัย’ ดังนั้นเรื่องนี้จึงแยกไม่ออกจากความสำคัญของประวัติศาสตร์สุโขทัยในสังคมวัฒนธรรมแบบไทย ๆ
จากเขมรเป็นไทย
ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับ ‘ยุคสุโขทัย’ นั้นเอง ที่เมืองพระนครของกัมพูชาก็ปรากฏมีหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของประเพณีนี้ คือประติมากรรมหินสลักที่ปราสาทบายน มีที่หนึ่งเป็นรูปสตรีกำลังถือกระทงจะนำไปลอยลงน้ำ ปราสาทบายนนั้นอยู่ในสมัยแรกสร้างในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปลายพุทธศตวรรษที่ 18
เวลานั้นเขมรยังเรืองอำนาจแผ่อิทธิพลไปทั่ว จารึกปราสาทพระขรรค์ซึ่งสร้างในรัชสมัยเดียวกัน ก็มีข้อความระบุถึงการส่ง ‘พระชัยพุทธมหานาถ’ ที่กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปสลักใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น ก็ถูกส่งมายังบริเวณบ้านเมืองในภาคกลางของสยาม ตั้งแต่ลวปุระ (ลพบุรี), สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี), ศรีชัยสิงหปุระ (กาญจนบุรีที่ปราสาทเมืองสิงห์ บางทฤษฎีว่าเป็นที่สิงห์บุรี), ศรีชัยราชบุรี (ราชบุรีที่ปราสาทวัดมหาธาตุ), ศรีชัยวัชรปุระ (พริบพรีหรือเพชรบุรีที่ปราสาทวัดกำแพงแลง) เป็นต้น
ส่วนสุโขทัยเองนั้นเรื่องของ ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ ถึงแม้จะยังเป็นปริศนาว่าหมายถึงชนชั้นปกครองเขมรจากที่ใด เป็นผู้นำของชาวรุ่งอรุณแห่งความสุขที่นับถือวัฒนธรรมแบบเขมร เป็นผู้นำที่ถูกส่งมาจากเขมรพระนคร เป็นผู้นำที่ถูกส่งมาจากลพบุรี
อย่างไรเสียไม่ว่า ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ จะเป็นใครมาจากที่ใด สำหรับในที่นี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากเท่ากับว่าเขาเป็นผู้นำในวัฒนธรรมแบบเขมรแน่ ๆ
แม้ว่าพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว จะทำสงครามเอาชนะและขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าอิทธิพลของเขมรจะหมดไปแทนที่ด้วยวัฒนธรรมไทยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่อย่างใด เพราะยังเห็นร่องรอยความสำคัญสืบต่อมา อาทิ การสถาปนา (ตั้งตัวนั่นแหล่ะ) ของปฐมกษัตริย์อย่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้นก็โดยการอ้างเป็นผู้ครอบครองพระขรรค์ชัยศรีที่ได้มาจากเมืองพระนคร แถมยังเฉลิมพระนามพระองค์ในภาษาเขมรว่า ‘กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์’
ตามมาด้วยร่องรอยสถาปัตยกรรมที่พบได้ในเมืองโบราณของสุโขทัยอย่างเช่น ปราสาทพระพายหลวง, ศาลตาผาแดง, วัดศรีสวาย ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดเจ้าจันทร์กับประติมากรรมรูปสี่หน้าที่กำแพงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง (วัดพระปรางค์) ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ปรางค์เขาปู่จาที่เชิงเขาหลวง สุโขทัย เป็นต้น
ลพบุรีนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย มีหลายสิ่งอย่างที่สะท้อนความเป็นศูนย์วัฒนธรรมหนึ่งของเขมรพระนคร ตั้งแต่จารึกปราสาทพิมานอากาศที่ระบุว่า ‘นฤปตินทรวรมัน’ ผู้ครองเมืองลวปุระนั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามมาด้วยปราสาทศาลพระกาฬ ปราสาทปรางค์สามยอด เทวสถานปรางค์แขก ปรางค์นางผมหอม เป็นต้น
อโธยาก่อนพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 จะสถาปนากรุงเมื่อ พ.ศ.1893 นั้น เอกสารล้านนาก็ระบุพระนามเรียกพระองค์ว่า ‘พระเจ้ากรุงกัมโพช’ อยุธยาต้นเองก็เต็มไปด้วยวัฒนธรรมเขมร
กระทั่งคนในราชสำนักก็มีเชื้อสายหรือสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเขมรพระนคร จนถึงกับอ้างสิทธิเหนือราชบัลลังก์ของเมืองพระนครในบางช่วงด้วยซ้ำ คำราชาศัพท์ พิธีกรรมราชสำนัก ร่องรอยโบราณสถานก็อย่างที่จะเห็นได้มากมายจากความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ พบได้ตามวัดสำคัญทั่วไป
หลังสุโขทัย
ที่กล่าวมาข้างต้นก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ก็ในเมื่อวัฒนธรรมเขมรปรากฏมากจนเหลือซากมากมายตามเมืองสำคัญอย่างสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี อโยธยา ฯลฯ มีกระแส ‘ขะแมร์ป็อป’ (Khmer-Pop) กันถึงเพียงนี้แล้วจะไม่มีลอยกระทงแบบที่ปรากฏในภาพสลักที่ปราสาทบายนด้วยเลยหรือ?
การที่วรรณกรรมพิธีกรรมของอยุธยาอย่าง ‘โคลงทวาทศมาส’ ไม่มีลอยกระทง ก็เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ คือหลักฐานของอยุธยาเนี่ย ผู้เขียนเคยพูดไว้หลายที่แล้วว่า อะไรที่ไม่มีปรากฏอยู่ในหลักฐานเหล่านี้ อย่าเพิ่งคิดว่าจะไม่มี
เพราะหลักฐานของอยุธยาที่เหลือปรากฏมาถึงทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานของชนชั้นนำ อะไรที่ชนชั้นนำทำ ไพร่ทาสราษฎรทั้งหลายก็อาจไม่ได้ทำ เช่นเดียวกันในทางตรงกันข้ามอะไรที่ไพร่ราษฎรทำกัน ชนชั้นนำก็อาจไม่เอาอย่างหรือทำตาม จะไม่มีในบันทึกของพวกเขาก็ไม่แปลก
แต่ต่อให้สุโขทัยและอยุธยาจะเคยมีลอยกระทง ลอยกระทงของสุโขทัยกับของอยุธยา และกับของรัตนโกสินทร์ ก็จะไม่มีความหมายเหมือนกันอย่างแน่นอน!!!
คงสร้างความไม่สบายใจให้แก่กองเชียร์ข้างวัฒนธรรมไทย ๆ ไม่น้อย เพราะจะยืนกรานถึงความมีอยู่ของวัฒนธรรมนี้ได้ ต้องอ้างอิงไปที่เมืองพระนครของกัมพูชา ที่ซึ่งไม่ไกลจากกันนั้นคำว่า ‘นี่เสียมกุก’ ในปัจจุบันถูกมือดีที่ไหนก็ไม่รู้ขูดทำลายเสียจนมองไม่เห็นตัวอักษรแล้ว แต่เป็นการกระทำที่จัดว่า ‘ฮามาก’ เพราะคำว่า ‘นี่เสียมกุก’ มันแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ ทั้งในไทยและเทศไปมหาศาล ถึงที่เดิมของมันจะไม่มีคำนี้หลงเหลืออยู่แล้วก็ตาม
หรือต่อให้ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย ก็ไม่ได้หมายความว่าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะไม่สามารถจัดงานลอยกระทงได้ นักวิชาการฝ่ายที่เห็นว่าไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านการจัดงานประเพณีดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้เขียนเองก็เคยไปเที่ยวชมงานประเพณีนี้อยู่หลายครั้ง
การเป็นประเพณีที่เพิ่งสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประเพณีที่ไม่ได้มีความสำคัญ หากแต่การอธิบายความสำคัญของประเพณีนี้นั้นจะต้องแยกออกเป็นคนละเรื่องกับประวัติศาสตร์สุโขทัย สุโขทัยก็เช่นเดียวกับอยุธยาตรงที่ไม่ค่อยมีประวัติศาสตร์ร่วมสมัย มีแต่ประวัติศาสตร์แบบย้อนหลังกลับไปเก่าแก่โบราณ นำมาสู่การมองอะไรที่สร้างทำกันในช่วงหลังไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ทำไม ‘ลอยกระทง’ จะถือว่าเป็นประเพณีในประวัติศาสตร์สุโขทัยไม่ได้?
เป็นได้ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นประวัติศาสตร์สุโขทัยช่วงเวลาไหน!!!
ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ เป็นเรื่องร่วมสมัยก็ได้ เป็นเรื่องย้อนหลังกลับไป 20-30 ปีมานี้ก็ได้ ไม่ต้องย้อนไปเป็นร้อยปีหรือพันปีหรอก
ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในวรรณกรรมสุโขทัย
เอกสารต้นทางอย่าง ‘เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ เดิมนักวิชาการของหน่วยงานราชการไทยเชื่อกันว่าเป็นวรรณกรรมมีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ก็เพราะเนื้อเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยดังกล่าว แต่วรรณกรรมทุกประเภทที่มีการเล่าเรื่องอ้างเป็นที่หนึ่งที่ใด หรือมีฉากท้องเรื่องกล่าวถึงยุคสมัยใดก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวรรณกรรมแต่งในสมัยนั้น อาจแต่งในสมัยหลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ในเรื่องมานานแล้วก็ได้
ตัวอย่างไม่ใกล้ไม่ไกล ก็เช่น ‘กรุงศรีอยุธยา’ ในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ ก็ไม่ได้หมายถึงอยุธยาที่เสียกรุงไปเมื่อ พ.ศ.2310 หากแต่คำว่า ‘กรุงศรีอยุธยา’ สำหรับในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังคงนิยมใช้เป็นชื่อเรียกเมืองหลวงคือกรุงเทพฯ อยู่
คำว่า ‘พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา’ ก็เป็นพระนามในเอกสารทางการใช้เรียกพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จนถึงรัชกาลที่ 3 เพิ่งจะเปลี่ยนใช้ ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ และให้เรียกเมืองหลวงเป็นทางการว่า ‘กรุงเทพ’ ก็ในสมัยรัชกาลที่ 4
คำว่า ‘กรุงเทพ’ ที่ใช้กันก่อนหน้านั้นยังไม่ใช่ ‘กรุงเทพมหานคร’ แบบที่เราเข้าใจกัน ‘กรุงเทพ’ ก็เป็นคำเรียกอยุธยาด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้นที่ใน ‘เรื่องนางนพมาศฯ’ ได้ระบุถึงบ้านเมืองของตัวเอก (คือนางนพมาศ) ไว้แห่งหนึ่งว่า “ณ จังหวัดแว่นแคว้นกรุงเทพมหานครสุโขทัยราชธานี” ก็จึงไม่ใช่กรุงเดียวกันกับ ‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์...’ หรือ ‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ อย่างในปัจจุบัน และก็ไม่ใช่พระนครรุ่งอรุณแห่งความสุขนั้นด้วย
เนื่องจากอยุธยายังคงถูกใช้เป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมแก่ชนชั้นนำใหม่ในฐานะผู้ฟื้นฟูราชอาณาจักร และเป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองจาก ‘กลียุค’ ให้กลับคืนสู่ ‘ยุคบ้านเมืองดี’ ซึ่งก็เป็นข้ออ้างเดียวกับที่ใช้ยึดอำนาจมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และเปลี่ยนย้ายศูนย์กลางของพระนครจากฝั่งตะวันตกมาเป็นฝั่งตะวันออกเมื่อ พ.ศ.2325
แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ราชวงศ์จักรีเริ่มมีอำนาจมั่นคงแล้ว การฟื้นฟูราชอาณาจักร-สร้างบ้านแปงเมือง เปลี่ยนประเด็นมาสู่การขยายพระราชอำนาจออกไปนอกอาณาจักร จากการทำสงครามกวาดต้อนผู้คนจากล้านช้างและกัมพูชา นำไปสู่การทำสงครามปราบปรามเจ้าอะนุวง เวียงจัน และการทำสงครามยาวนานกว่า 14 ปีเศษเพื่อชิงความเป็นใหญ่เหนือกัมพูชาและเวียดนามที่เรียกว่า ‘อานาม-สยามยุทธ์’
ข้อความใน ‘เรื่องนางนพมาศฯ’ ที่สรรเสริญพระเกียรติพระร่วงเจ้า บางช่วงบางตอนจึงเป็นการสรรเสริญพระนั่งเกล้าฯ ที่ทรงประสบความสำเร็จในการขยายพระราชอำนาจ ดังเช่นที่กล่าวว่า
“แลพระนครใดสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า ซึ่งมีพระเดชเดชานุภาพมากสะพรั่งพร้อมไปด้วยนิกรโยธาทแกล้วทหารอันเข้มแข็งในการรณรงค์สงคราม ทั้งเสนางคนายกพลก็รอบรู้ตำรับพิชัยยุทธ์ สามารถอาจล้างข้าศึกศัตรูได้ทุกทิศ แล้วก็สร้างสมสรรพศัตราวุธเรือรบเรือไล่...ไว้สำหรับพระนครเป็นอันมาก เที่ยวปราบปรามบ้านน้อยเมืองใหญ่ อันมีกำลังไพร่พลและสติปัญญาไม่เทียบเทียมให้อยู่ในอำนาจ เป็นเมืองขึ้นเมืองออก แผ่ผ้านพระราชอาชญาอาณาเขตออกไป”
‘พระราชอาณาเขตสยาม’ ในสมัยพระนั่งเกล้าฯ ปกแผ่ไพศาลเพียงใด เห็นได้จากแผนที่หลวง (The royal Siam Map) ที่กองทัพสยามจัดทำขึ้นในสมัยนั้น (ดูแผนที่นี้ได้ใน ‘The Royal Siamese Maps: War and Trade in Nineteenth Century Thailand’ by Santanee Pasuk and Phillip Stott)
ระยะนี้ ‘กรุงศรีอยุธยา’ ที่เสียท่าให้กับพม่า ไม่เป็นแหล่งความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นนำสยามในกรุงเทพฯ ใหม่ กรุงเทพฯ ที่เพิ่งปรากฏตัวเป็นรูปร่างจนสามารถแยกขาดจากอดีตกรุงศรีอยุธยา
เมื่อเกิดเงื่อนไขอย่างใหม่ขึ้นมา แหล่งความชอบธรรมก็ต้องแสวงหาใหม่เช่นกัน อีกทั้ง ‘ปม’ สำคัญหนึ่งที่ชนชั้นนำกรุงเทพฯ มีต่ออยุธยาก็คือในสมัยอยุธยานั้นต้นตระกูลของพวกเขาไม่ได้มาจากชนชั้นสูง หากแต่เป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ไม่ได้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อุปถัมภ์แล้วยากจะเติบโตจนมีอำนาจวาสนาถึงกับเปลี่ยนรัชกาล ตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินกันได้ กรุงศรีอยุธยาในทัศนะของชนชั้นนำกรุงเทพฯ ช่วงที่มีอำนาจมั่นคงแล้วอย่างในสมัยพระนั่งเกล้าฯ จึงไม่เพียงพอที่จะเป็นแหล่งความชอบธรรมเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป
ระยะนี้จึงมีความพยายามที่จะแสวงหาแหล่งความชอบธรรมใหม่จากอดีต แหล่งที่ว่านั้นสมัยนั้นต่างโฟกัสไปที่สุโขทัย ด้วยความเชื่อว่าสุโขทัยเป็นบ้านเมืองเก่าแก่รุ่งเรืองมาก่อนกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุผลชอบธรรมเพียงพอที่ชนชั้นนำใหม่ในสมัยกรุงเทพฯ จะสามารถอ้างอิงถึงได้ กระบวนการสร้างแหล่งอ้างอิงข้างต้นนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ คือ
(1) กลุ่มราชสำนักพระนั่งเกล้าฯ ที่เน้นการใช้วรรณกรรมคือ ‘เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’
(2) กลุ่มพระวชิรญาณภิกขุ (ร.4)-พระปิ่นเกล้าฯ (สมัยยังเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์) ให้ความสำคัญแก่ศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง)
การใช้หลักฐานทั้งสองนี้ (นางนพมาศฯ กับ ศิลาจารึก) ไม่เพียงเป็นเครื่องช่วยยืนยันถึงตัวตนความมีอยู่จริงของอาณาจักรสุโขทัย ยังใช้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรเก่าแก่แห่งนี้ด้วย
สำหรับชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์ สุโขทัยยังเหมาะสมในแง่ที่พวกเขามีความเชื่อว่าเป็นอาณาจักรที่ผ่านพ้นการปกครองของขอมหรือเขมรไปแล้ว จากการที่พ่อขุนทั้งสองได้เอาชนะขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เข้ากันได้กับช่วงเวลาที่สยามส่งกองทัพเข้าไปยึดครองกัมพูชากว่าครึ่งประเทศอย่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะประวัติศาสตร์สุโขทัยแสดงให้เห็นว่าชนชาติไทยสยามในอดีตก็เคยเป็นใหญ่และขับไล่ขอมมาแล้วนั่นเอง
ผิดกับอยุธยาที่คนในรุ่นนั้นมองว่ายังเจือปนกับวัฒนธรรมเขมรอยู่เป็นอันมาก ดังนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถตั้งให้เป็น ‘บรรพบุรุษ’ ของชนชั้นนำยุคกรุงเทพฯใหม่ ได้ลงรอยกับยุคแห่งการขยายอำนาจไปกัมพูชา ได้มากกว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งยังมีอีกพระนามคือ ‘พระเจ้ากรุงกัมโพช’ (ตามเอกสารล้านนา)
เอกสารล้านนาโดยเฉพาะ ‘เรื่องจามเทวีวงศ์ พงศาวดารหริปุญไชย’ เป็นเอกสารที่ผู้แต่ง ‘เรื่องนางนพมาศฯ’ รู้จักดีเป็นแน่ เพราะมีแห่งหนึ่งระบุว่า “ถ้าผู้ใดจะใคร่รู้ใคร่ฟังจงไปเสวนาในตำรับจามเทวีวงศ์โน้นเทอญ”
ถ้าเป็นการงานเขียนยุคปัจจุบัน ตรงนี้ก็เหมือนระบุในเชิงอรรถว่า ‘โปรดดู...’ หรือ ‘ขอให้ดู...’ หรือ ‘ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน...’ หรือถ้าภาษาอังกฤษก็จะประมาณว่า ‘See this detail in…’ คือเป็นการแนะนำเอกสารที่ผู้สนใจในประเด็นดังกล่าวนี้จะสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้แบบ ‘เต็มคาราเบล’ นั่นเอง
พระร่วงเจ้าอวตาร
คำถามต่อมาคือแล้วเหตุใด ทำไมจึงต้องเป็น ‘พระร่วงเจ้า’ ที่เป็นตัวละครเอกฝ่ายชายของ ‘เรื่องนางนพมาศฯ’ ทำไมไม่เป็นกษัตริย์องค์อื่น?
เอกสารต้นฉบับนั้นระบุพระนามพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระราชสวามีของนางนพมาศว่า ‘สมเด็จพระร่วงเจ้า’ ส่วนที่บอกว่าเป็นพ่อขุนรามคำแหงนั้นคือตีความกันไปเอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็สะท้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 3 อีกเช่นกัน สมัยสุโขทัยตามการรับรู้ของชนชั้นนำ เอกสารอ้างอิงหลัก ช่วงนั้นคือ ‘พระราชพงศาวดารเหนือ’ เป็นเอกสารที่รัชกาลที่ 2 สมัยยังเป็นเจ้านายวังหน้า ได้ทรงให้รวบรวมขึ้นเพื่อจะชำระเป็นพระราชพงศาวดารฉบับสมบูรณ์ แต่ยังมิได้ชำระ ก็ขึ้นครองราชย์เสียก่อน
แม้มิได้ชำระเอกสารนี้ก็มีอิทธิพลต่อกลุ่มกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ที่เติบโตมาจากวังหน้ายุคกรมขุนอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2)
ในเอกสารชิ้นนี้เล่าเรื่อง ‘พระร่วง’ เป็นกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการมากที่สุดของสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เป็น ‘ไอดอล’ ให้แก่กษัตริย์องค์อื่นจนกระทั่งอ้างอิงเป็นบรรพบุรุษของตนเอง ถึงได้เรียกกันภายหลังว่า ‘ราชวงศ์พระร่วง’ ไปด้วย ก็สมเหตุสมผล
‘พระร่วง’ เป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของชนชั้นนำในแถบตอนบนเหนือปากน้ำโพจรดล้านนา ท่ามกลางความแตกแยกระหว่างสายราชวงศ์ผู้ครองนครอิสระ เมื่อพญาลิไทขึ้นครองราชย์ต้องยกทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ ‘พระร่วง’ คือวีรบุรุษที่ชนชั้นนำสายขุนนาวนำถม-ศรีอินทราทิตย์ ใช้รวมศูนย์อำนาจและความศรัทธาต่อส่วนกลาง
พระร่วงยังมีประเด็นเรื่อง ‘ชาติกำเนิด’ ตามเอกสาร ‘พระราชพงศาวดารเหนือ’ เป็นโอรสกษัตริย์ที่เกิดกับนางนาค นัยของ ‘นางนาค’ คือทรงมีพระราชมารดาเป็นสามัญชนที่ไม่รู้หัวนอนปลายพระบาท จู่ ๆ พระอภัยคามมินีไปบวชเป็นฤาษีอยู่เขาหลวง แล้วก็มีนางนาคมาปรนนิบัติพัดวี ก็เกิดลูกคือพระร่วงขึ้นมา
เมื่อพระอภัยคามมินีเลิกเป็นฤาษีลงจากเขาเข้าเมือง ก็นำพระร่วงไปด้วย ส่วนนางนาค ตำนานว่ากลับพิภพบาดาลไป ฟังดูเข้าท่ากว่ากวางไปกินฉี่ฤาษีในรอยเท้าสัตว์แล้วออกลูกเป็นคน เหมือนอย่างในตำนานของทางล้านนา วีรุบุรุษผู้โลดโผนมากอิทธิฤทธิ์อย่างพระร่วงจะมีพระชาติกำเนิดธรรมดา ๆ เหมือนคนทั่วไปก็คงไม่ได้
สมัยรัชกาลที่ 3 นั้นก็ดังที่ทราบกันดีว่า ทรงมีพระชาติกำเนิดคล้ายพระร่วงนั่นแหล่ะ เพียงแต่พระราชมารดามิใช่นางนาคขึ้นจากพิภพบาดาล เป็นมนุษย์และเป็นเพียงพระสนมเอก ทำให้เมื่อปลายรัชกาลที่ 2 เกิดปัญหาว่าพระองค์เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากมิได้ทรงประสูติจากพระมเหสี แต่ทรงเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด ทรงว่ากรมท่าค้าขายจนรุ่งเรือง
ในขณะที่พระราชโอรสที่เกิดจากพระมเหสีอย่างเจ้าฟ้ามงกุฎ เวลานั้นยังมิได้ทรงพิสูจน์ให้เห็นเลยว่าทรงมีความรู้ความสามารถอย่างใด และยังผนวชอยู่
ระหว่างพระหนุ่มอ่อนประสบการณ์กับเจ้าสัวที่มีบทบาทและมั่งคั่งมาตลอดรัชกาลที่แล้ว เวลานั้นก็เห็น ๆ อยู่ว่าใครเหมาะ ใครควรจะเป็นฝ่ายหลีกทางให้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ‘เรื่องนางนพมาศฯ’ กับ ‘ศิลาจารึก’ นั้นก็ปรากฏว่า การใช้ประวัติศาสตร์สุโขทัยมาสร้างความชอบธรรมกลับก่อเงื่อนไขให้แก่อีกฝ่ายถัดมา เพราะกล่าวได้ว่าฝ่ายที่เล่นศิลาจารึกนั้น ‘ทรงพระซักเซส’ (success) มากกว่าฝ่ายที่เล่นวรรณกรรม (เรื่องนางนพมาศฯ)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กลุ่มพระวชิรญาณภิกขุมีบทบาทเป็นผู้แปลศิลาจารึกหลักนี้เป็นภาษาอังกฤษส่งไปราชสำนักอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวสยามมีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน อังกฤษมีแมกนาร์คาต้า สยามก็มีจารึกพ่อขุนรามฯ อะไรประมาณนั้น
แต่ไม่ใช่เฉพาะสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ ‘ประวัติศาสตร์สุโขทัย’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมแก่รัฐและชนชั้นนำไทย
ลัทธิสุโขทัยนิยม (Sukhothai-ism) ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
ในงานวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘Constructing the Ideal State: the Idea of Sukhothai in Thai History, 1893-1957’ (การสร้างตัวแบบรัฐ: แนวคิดสุโขทัยในประวัติศาสตร์ไทย 1893-1957) โดย Bryce G. Beemer เสนอต่อมหาวิทยาลัยฮาวายอิ ได้จัดแบ่งประเภทของจินตภาพเกี่ยวกับ ‘อาณาจักรสุโขทัย’ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ชาตินิยมไทยเอาไว้ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
(1) ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมกษัตริย์ (Royal Nationalist Historiography)
(2) ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมแบบชาตินิยมราชการ (Official Nationalist Historiography)
(3) ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมรุนแรง (Ultra-Nationalist Historiography) หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘ชาตินิยมล้นเกิน’ หรือ ‘คลั่งชาติ’ นั่นเอง
บีเมอร์มุ่งเน้นศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ลัทธิสุโขทัยนิยม’ (Sukhothai-ism) ซึ่งก่อตั้งมาได้ร่วมศตวรรษแล้ว นับตั้งแต่สมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งบีเมอร์จัดให้อยู่ใน ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมกษัตริย์’ เป็นกลุ่มงานต้นแบบของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยแบบพัฒนาการตามลำดับราชธานี จากสุโขทัย มาอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างแบบแผนการเขียนประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่งขึ้นมาแทรกแนวทางของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทรงย้อนกลับไปใช้ ศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) มาเป็นคู่มือเยี่ยมชมโบราณสถานในเมืองเก่าสุโขทัย แล้วกลับมาแต่งพระนิพนธ์เรื่อง ‘เที่ยวเมืองพระร่วง’
สุโขทัยมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ไทยด้วยภาพลักษณ์ว่าเป็น ‘ยุคศิวิไลซ์’ มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการเมืองการปกครอง บีเมอร์นิยามประวัติศาสตร์แนวทางนี้ว่า ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมราชการ’ (Official Nationalist Historiography) เพราะอาศัยความแพร่หลายในระบบราชการสมัยใหม่เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดความรู้
พอมาถึงหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 (พ.ศ.2491-2500) และสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2502-2506) ได้ยกระดับให้ ‘ลัทธิสุโขทัยนิยม’ นี้เข้มข้นรุนแรงขึ้น จนเรียกได้ว่า ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมรุนแรง’ (Ultra-Nationalist Historiography)
การปกครองแบบพ่อ-ลูก (Paternalism) ที่เชื่อว่ามีในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ถูกใช้อ้างอิงสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ธนะรัชต์ ดังที่งานของทักษ์ เฉลิมเตรียณ เรียกว่า ‘ระบอบเผด็จการพ่อขุนอุปถัมภ์’ ช่วงนี้สุโขทัยถูกทำให้กลายเป็น ‘รัฐในอุดมคติ’ ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย
สุโขทัยกลายเป็น ‘ยุคสว่าง’ ‘ยุคศิวิไลซ์’ ‘ยุคแห่งความเป็นไทยแท้’ ขณะที่อยุธยาก็ถูกเปรียบเทียบ โดยนัยว่าเป็น ‘ยุคมืด’ ‘ยุคเขมร-ไม่ไทย’ ระบบชนชั้นวรรณะลัทธิเจ้าขุนมูลนาย ตลอดจน ระบอบอุปถัมภ์ถูกมองว่าเป็นเพราะรับอิทธิพลต่างชาติคือเขมร เขมรตกเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์และศัตรูของความเป็นไทย ประหลาดแปลกแยกจากยุครุ่งเรือง
จนกระทั่งสุโขทัยถูกทำให้เป็นรัฐที่ไม่มีชนชั้นวรรณะและปกครองแบบพ่อ-ลูก ไม่เป็นศักดินาแบบอยุธยา เพราะในช่วงหลังทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาเป็นช่วงที่ ‘ประวัติศาสตร์ภาพฝัน’ ที่มีสุโขทัยเป็นแหล่งอ้างอิงกำลังถูกท้าทายอย่างมากจากแนวคิดของฝ่ายซ้ายไทย สุโขทัยถูกใช้แสดงรูปแบบสังคมในอุดมคติแบบไทยแท้ ไม่เป็นสังคมนิยมแบบตะวันตก
นางนพมาศ-ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ & การสร้างภาพตัวแทน ‘กุลสตรี’ ตามแนวคิดวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่
กลับมาที่ประเด็น ‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’!!!
สืบเนื่องจากตามเอกสารกฎหมายเก่าของอยุธยาที่รวบรวมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ ‘พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน’ ซึ่งอยู่ในชุดประชุมกฎหมายตราสามดวง กษัตริย์อยุธยามีพระสนมเอก 4 องค์จาก 4 หัวเมืองสำคัญ 4 ราชวงศ์ คือ (1) ‘ท้าวอินทรสุเรนทร์’ จากสุพรรณบุรี/ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (2) ‘ท้าวอินทรเทวี’ จากนครศรีธรรมราช/ราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช (3) ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ จากลพบุรี/ราชวงศ์ละโว้ (4) ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ จากพิษณุโลก/ราชวงศ์สุโขทัย
ช่วงหลังมามีข้อเสนอใหม่ว่า ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ เป็นตำแหน่งของเจ้านายสตรีในราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ไปอภิเษกสมรสกับเจ้านายชายในราชวงศ์สุโขทัย ข้อเสนอใหม่นี้สอดคล้องกับหลักฐานของอยุธยาที่พบการแต่งตั้งสตรีมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากสุพรรณบุรีเป็น ‘พระนางศรีจุฬาลักษณ์’ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
พระนางศรีจุฬาลักษณ์องค์นี้ไม่ใช่ใครอื่น เป็นน้องสาวของออกพระเพทราชา มีศักดิ์เป็นน้าสาวของหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ได้รับแต่งตั้งเป็น ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ ตัวจริงเป็น ๆ (มีหลักฐานซัปพอร์ต) แต่นางผู้นี้ได้เป็น ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ คนสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้เป็นอีก
เหตุก็เพราะมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น ทำให้คนรุ่นหลังที่ยังจดจำได้ไม่อยากจะเป็น เช่นเดียวกับที่เมื่อผู้เป็น ‘ศรีสุดาจันทร์’ มีเรื่องราวใหญ่โตขึ้นในสมัยหลังสิ้นพระไชยราชา ก็ไม่มีใครอยากจะเป็น ‘ศรีสุดาจันทร์’ อีก ตำแหน่งเลิกไปโดยปริยาย นั่นเป็นเรื่องของสตรีผู้ ‘สู้ตำแหน่งแต่ตำแหน่งสู้กลับ’ นั่นเอง
เรื่องของเรื่องก็คือว่าพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ได้ลอบคบชู้สู่ชายในช่วงจังหวะที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระเผลอ ชายชู้ของนางนั้นมีตั้งแต่หนุ่มลูกครึ่งรูปงามที่บ้านโปรตุเกส
ครั้งหนึ่งนาง ‘นัดกับผู้ชาย’ คนนี้ด้วยวิธีแสร้งทำขาเจ็บเพื่อจะได้ออกนอกวังไปรักษากับหมอที่บ้านโปรตุเกส ชู้รายต่อมาเป็นถึงพระราชอนุชาแถมเป็นพระราชอนุชาคนโปรดที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงหมายมั่นจะให้อภิเษกสมรสกับกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของพระองค์ และถูกวางตัวเป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์
เมื่อเรื่องแดงขึ้นถูกจับได้ แม้จะมีทั้งพี่ชายเป็นถึงออกพระเพทราชา ก็ไม่อาจช่วยเหลือนางได้ ซ้ำพระเพทราชายังเป็นผู้กราบทูลให้ลงโทษประหารชีวิตนางเสียอีก
ด้วยเหตุนี้ สำหรับในสมัยอยุธยา ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ มีภาพติดลบไม่เป็นหญิงดีหรือกุลสตรีไปแล้ว แต่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้มีการแต่งวรรณกรรมให้ ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ กลับมาเป็นต้นแบบของกุลสตรี ทั้งนี้เพราะความทรงจำต่อเรื่องราวเหตุการณ์เกี่ยวกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เกิดสูญหายหรือพร่าเลือนไป
“ข้าพระองค์พึงใจจะกล่าวแต่ความสวัสดิจำเริญแก่สตรีภาพทั้งปวง”
คือประโยคที่บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์การแต่งวรรณกรรมเรื่องนางนพมาศฯ
ก่อนหน้านี้วรรณกรรมคำสอนสตรีชิ้นสำคัญคือเรื่อง ‘กฤษณาสอนน้องคำฉันท์’ แต่งในสมัยธนบุรี
ทว่า ‘นางกฤษณา’ นั้นเป็นอีกชื่อของนางเทราปตี นางเอกของมหาภารตยุทธ นางมีผัวคราวเดียวถึง 5 คน นางจึงไม่เหมาะจะเป็น ‘ไอดอล’ ของหญิงดีในยุคสมัยผัวเดียว (แต่) หลายเมีย แบบรัตนโกสินทร์ๆ
และเมื่อพิจารณาว่า ‘เรื่องนางนพมาศฯ’ เป็นเรื่องแต่งโดยผู้ชาย เพื่อผู้ชาย โดยหวังใช้นางนพมาศเป็น ‘ไอดอล’ แล้วไซร้ ก็สะท้อนแง่มุมที่ผู้ชายสมัยนั้นอยากจะให้ผู้หญิงปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร
“ข้าพระองค์ผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ น้อมเศียรศิโรตม์กราบถวายบังคมพระบาทบรมนาถบพิตรสมเด็จพระร่วงเจ้าอยู่หัว”
สำหรับสมัยนั้น ชายใดได้สตรีที่กราบเท้าผัวเป็นเมีย คงจะ ‘ฟิน’ กันดีพิลึก แต่สำหรับสมัยนี้ผู้ชายอาจจะต้องเป็นฝ่ายกราบนางแทน เฮ้อ...พี่หมื่นไม่น่าเกิดผิดยุคเลยนะออเจ้า (555)
อ้างอิง:
Beemer, Bryce G. ‘Constructing the Ideal State: the Idea of Sukhothai in Thai History, 1833-1957’ Honolulu: Thesis in Asian Studies, University of Hawaii at Manoa, 1999.
Phasuk, Santanee and Stott, Phillip. The Royal Siamese Maps: War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok: River Books, 2004.
กำพล จำปาพันธ์. ‘กัมโพช: ละโว้-อโยธยาในเอกสารล้านนา’ วารสารมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557), หน้า 74-82.
กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
ทักษ์ เฉลิมเตรียณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561.
ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์สุโขทัย : พลังคน อำนาจผี บารมีพระ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2544.
บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ (บก.). ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองมรดกโลก. กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม, 2563.
พิริยะ ไกรฤกษ์. จารึกพ่อขุนรามคำแหง: วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2526.
เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2513.
วริศรา ตั้งค้าวานิช. ประวัติศาสตร์ ‘สุโขทัย’ ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
วิเชียรปรีชา (น้อย), พระ. พระราชพงศาวดารเหนือ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2516.
ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552.
สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.