ย้อน ‘วันวาเลนไทน์’ สมัยแรกยุคโรมัน ถึงลัทธิพิธีความรักยุคใหม่ในไทยทั้งมุมพุทธ-ฮินดู

ย้อน ‘วันวาเลนไทน์’ สมัยแรกยุคโรมัน ถึงลัทธิพิธีความรักยุคใหม่ในไทยทั้งมุมพุทธ-ฮินดู

‘วันวาเลนไทน์’ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีความเป็นมาจากยุคแรกเริ่มตั้งแต่สมัยโรมัน เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของตะวันตกซึ่งมีพัฒนาการร้อยเรียงและถูกเชื่อมโยงมาถึงความเชื่อและลัทธิพิธีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความรัก’ ในไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา

  • ‘วันวาเลนไทน์’ มีตำนานความเป็นมาอย่างหลากหลาย แต่ในปัจจุบันเทศกาลนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักในทางสากล
  • วันวาเลนไทน์มีพัฒนาการเรื่อยมาและถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และแน่นอนว่าปรากฏมาถึงความเชื่อและลัทธิพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความรัก’ ในไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ก่อนมีวันวาเลนไทน์ (รักและมีคู่กันอย่างไร?)    

ดังที่ทราบกันว่า ‘วันวาเลนไทน์’ (Valentine's Day) เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลกตะวันตกมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีของไทย ย้อนหลังกลับไปที่คริสต์ศตวรรษที่ 5 สมัยโรมัน 

และก่อนหน้าที่พระสันตปาปาเกลาซิอุส (Pope Gelasius) จะประกาศให้ 14 กุมภาพันธ์ เป็น ‘วันวาเลนไทน์’ อารยธรรมตะวันตกก็มีงานเทศกาลรื่นเริงของพวกนอกศาสนา (Pagans) ที่เรียกว่า ‘Lupercalia’ ซึ่งจัดกันในช่วงระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 

Lupercalia เป็นเทศกาลสำหรับบูชาเทพเจ้า (หลายองค์) ของชาวยุโรปเหนือ เรียกอีกอย่างว่า ‘เทศกาลหาคู่’ เพราะในวันดังกล่าวจะมีพิธีเสี่ยงทายโดยเขียนชื่อหญิงสาวลงไว้ในภาชนะ (อาจเป็นถ้วยชามหรือหม้อ แล้วแต่ว่ามีรายชื่อมากน้อยเพียงใด)

จากนั้นก็จะให้ชายหนุ่มมาหยิบเอากระดาษ ชื่อที่อยู่ในกระดาษนั้นถือว่าคือคู่รักที่ชะตาฟ้าลิขิตมาให้ ถึงจะเป็นการได้คู่รักจากการจับฉลาก แต่ก็มีความเชื่อว่าคู่รักที่ได้จากพิธีนี้จะครองรักกันยืนนานกว่าคู่ที่ไปหามาได้เอง เพราะเป็นคู่รักที่เทพเจ้าจัดหามาให้ ถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็จะต้องถูกเทพเจ้าลงโทษ 

คตินี้ถือว่าเทพทุกองค์ จะโลกิ ธอร์ หรือโอดิน ต่างก็บันดาลคู่รักให้ได้หมด แต่โดยมากเชื่อถือกันว่าเฟรย่า เป็นเทพที่ชำนาญในเรื่องนี้มากกว่าเทพองค์อื่นซึ่งเป็นเทพผู้ชายชื่นชอบแต่การทำศึกสงคราม แต่นอกเหนือจากเทพยุโรปเหนือแล้ว ทางแถบยุโรปใต้ ในอารยธรรมกรีก-โรมัน ก็มีเทพที่มีบทบาทหน้าที่หาคู่ให้แก่มนุษย์โดยตรงคือ ‘อีรอส’ (Eros) หรือ ‘คิวปิด’ (Cupid) บุตรของ ‘อะโฟร์ไดท์’ (Aphrodite) เทพีแห่งความรัก เป็นเทพเก่าแก่ที่จะแผลงศรให้คนรักกัน 

แต่จะคติของยุโรปเหนือหรือใต้ ที่เหมือนกันอยู่ตรงข้อใหญ่ใจความหนึ่งคือ ความรักเป็นเรื่องของเทพเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เองล้วน ๆ ความรักจึงถือเป็นเรื่องสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ งดงาม มีค่ามากมาย การบูชาความรักก็คือการเคารพยกย่องให้เกียรติเทพเจ้าไปด้วยในตัว เมื่อชาวยุโรปหันมานับถือศาสนาเทพเจ้าองค์เดียว คตินี้ก็ติดมาด้วย             

 

วาเลนไทน์สมัยโรมัน (ไม่ได้เหมือนกับวาเลนไทน์ช่วงหลัง)  

ตามที่จะเห็นจากงานหลายชิ้น พบว่ามี 2 กระแสเกี่ยวกับการอธิบายจุดกำเนิดของวันวาเลนไทน์ในสมัยโรมัน กระแสที่หนึ่งว่าเป็นเรื่องของนักบุญวาเลนตินัสหรือวาเลนไทน์ อีกกระแสเป็นเรื่องของชายไร้นามที่ถูกจับกุมคุมขังและตกหลุมรักกับลูกสาวผู้คุม บางกระแสก็รวม 2 กระแสนี้เข้าด้วยกัน ให้ชายไร้นามนั้นคือวาเลนตินัส ในบั้นปลายก่อนถูกประหารชีวิตนั่นเอง 

ความต่างของ 2 กระแสนี้คือความต่างระหว่างการนิยามความรักของชาวตะวันตกในช่วงหลังด้วย คือความรักมั่นในหลักปฏิบัติคำสอนของพระคริสต์ กับความรักมั่นที่มีต่อหญิงสาวแบบปัจเจก จึงน่าสงสัยว่า เรื่องของนักบุญวาเลนไทน์จะถูกกำหนดสร้างจากนิยามความรักในแบบทั้งสองนี้ก่อนที่จะพัฒนาเป็นสตอรีขึ้นมา

คริสต์ศาสนาไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อต้านความรัก ตรงข้าม ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นแกนหลักสำคัญในคำสอนของพระเยซู ก่อนที่ภายหลังจะพัฒนาไปเป็นแบบที่สารคดีตลกชุด Cunk on earth ของช่อง Netflix แชร์กันเป็นไวรัลในปัจจุบันนี้ล้อว่า “บุตรแห่งพระเจ้าผู้มีปาฏิหาริย์ ทุกคนบอกว่าเขาสอนให้ยอมรับและให้อภัย คำสอนนี้สำคัญอย่างยิ่งจนสาวกผู้เลื่อมใสลงมือเข่นฆ่าทุกคนที่ไม่ยอมฟังคำสอนนี้”

คลิกอ่านเรื่อง พิธีกรหน้าตายแห่งสารคดี Cunk on Earth เพิ่มเติมที่นี่

แต่สำหรับในช่วงแรกเริ่มที่ชนชั้นนำโรมันยังไม่ได้รับนับถือพระคริสต์ ความรักไม่ได้ถูกแยกเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลและเป็นเรื่องของเสรีภาพ สำหรับชนชั้นนำโรมันแล้ว ความรักเป็นอุปสรรคขัดขวาง ไปกันไม่ได้กับความภักดี โรมเป็นรัฐทางการทหาร ต้องการให้เหล่าชายชาตรีภักดีต่อตนเองแล้วไปตายในสนามรบ ความพยายามในการควบคุมความรักจึงเกิดขึ้น โดยจักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2 (Emperor Claudius II) ได้ออกประกาศห้ามชายหนุ่มไม่ให้แต่งงาน เพราะเชื่อว่า ‘ทหารที่ดีกว่าสร้างได้จากชายโสดมากกว่าชายที่แต่งงานแล้ว’ 

การเดินทัพในยุคก่อนต้องใช้เวลานานกว่าทหารจะได้กลับบ้าน ยิ่งจักรวรรดิโรมันแผ่ขยายอำนาจออกไปไกล ระยะเวลาเดินทางก็ยิ่งนานขึ้น ความวิตกกังวลคิดถึงลูกเมียคิดถึงคนรักถูกมองเป็นอุปสรรคทางการทหาร บ่อนเซาะความมั่นคงของรัฐ

สถาบันกษัตริย์ของโรมเวลานั้นพยายามสร้างนิยามความรักอีกแบบหนึ่งขึ้นมาแทนที่ความรักแบบหนุ่มสาว กองทัพและจักรวรรดิเป็นครอบครัวใหญ่ ส่วน Sex ก็ถูกชดเชยด้วยการอนุญาตให้สามารถร่วมเพศเดียวกันได้ การรักเพศเดียวกันจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความกลมเกลียวกันภายในกองทัพ 

แต่เรื่องนี้มีผู้เห็นต่าง โดยที่ฝ่ายจักรวรรดิกับคริสตจักรสมัยนั้นยังไม่ได้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงมีบาทหลวงคริสต์จำนวนหนึ่งเป็นผู้เห็นต่างและลอบสนับสนุนความรักต่างเพศในหมู่หนุ่มสาว และกระทั่งฝ่าฝืนกฎหมายของจักรพรรดิโดยการแอบจัดพิธีสมรสให้กับคู่บ่าวสาว 

เรื่องนี้คงเป็นวิธีการแพร่ศาสนาให้กับคนรุ่นใหม่ที่ได้ผลไม่น้อยและเป็นการสนับสนุนอย่างลับ ๆ ของคริสตจักร มีบาทหลวงหลายคนที่ต่อต้านจักรพรรดิในเรื่องนี้ แต่ในบรรดาบาทหลวงเหล่านั้นมีเพียงวาเลนตินัสหรือวาเลนไทน์ที่ถูกจับกุมและต้องถูกโทษแบบเชือดไก่ให้ลิงดู 

การถูกประหารชีวิตทั้งที่เป็นการทำหน้าที่บาทหลวงตามปกติเลยทำให้วาเลนตินัสได้รับการบันทึกเป็น ‘มรณสักขี’ คือตายโดยยึดมั่นในความรักต่อพระคริสต์ และก็ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็น ‘นักบุญวาเลนไทน์’ (Saint Valentine) เมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคกลางเป็นต้นมา    

ส่วนที่ว่าในระหว่างถูกจับกุมคุมขังนักบุญท่านนี้ได้พบรักกับลูกสาวผู้คุม ก่อนถูกนำตัวไปประหารเขาได้เขียนจดหมายสารภาพรักกับเธอโดยลงท้ายจดหมายนี้ว่า ‘From your Valentine’ นั้นก็อย่างที่บอกเป็นการรวมกระแสเรื่องเล่าที่สองเข้ากับกระแสที่หนึ่ง 

เมื่อการมีคู่รักต่างเพศเป็นเรื่องต้องห้าม แล้ววาเลนไทน์กลายมาเป็นวันสำคัญในโลกตะวันตกได้อย่างไร แน่นอนเราทราบกันว่า ผลจากความขัดแย้งและปีนเกลียวกันระหว่างฝ่ายจักรวรรดิกับคริสตจักรนั้น จบลงโดยคริสตจักรเป็นฝ่ายชนะ 

ทว่ากว่าที่จะได้ชัยชนะในศึกนี้ ก็เช่นเดียวกับกรณีวันเทศกาลฮาโลวีน ในแง่ที่คริสตจักรต้องทำแนวร่วมเป็นพวกเดียวกับพวกเพแก้นส์ (คนนอกศาสนา) ในหมู่คนเหล่านี้มีงานเทศกาลที่เรียกว่า Lupercalia ที่จะคล้ายกับ Valentine ของชาวคริสต์อยู่ด้วย 

การกำหนดให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นวันวาเลนไทน์ ก็เป็นการกำหนดโดยยึดเอาวัน Lupercalia นั่นแหล่ะมาเป็นวันสำคัญของตนด้วย นอกเหนือจากที่มีความเชื่อกันว่าเป็นวันที่วาเลนตินัสถูกประหารชีวิต    

 

‘วันแห่งความรัก’ นอกสังคมตะวันตก & จากวันที่ 7 เดือน 7 มาเป็น 14 กุมภาพันธ์ (ได้ไง?)

ในอารยธรรมสังคมตะวันออก พวกเอเชียตะวันออกอย่างจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ดูจะเป็นพวกเดียวที่มีวัฒนธรรมเนื่องใน ‘วันแห่งความรัก’ ในแบบฉบับของตนเองมาก่อนหน้าที่จะผนวกรวมเข้าเป็นกระแสเดียวกับวาเลนไทน์ของโลกตะวันตก   

วัฒนธรรมจีนกำหนดให้วันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ (ตรงกับวันที่ 7 เดือนกรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ) เป็น ‘วันแห่งความรัก’ หรือเทศกาล ‘ซีซีเจี๋ย’ อ้างอิงตำนานจากความรักข้ามชนชั้นข้ามภพข้ามชาติกันระหว่างเด็กเลี้ยงวัว (หนิวหลาง) กับ สาวทอผ้า (จื่อหนี)

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งเมื่อนานมาแล้วเง็กเซียนฮ่องเต้เกิด ‘รมณ์บ่จอย’ เห็นท้องฟ้าแล้วเบื่อหน่ายว่าช่างจืดชืดไม่มีสีสันเอาซะเลย จึงเรียกธิดาทั้ง 7 ของตนมาให้ไปทอผ้าให้ท้องฟ้าได้ใช้ห่มในเวลาต่าง ๆ เช่นเวลาฟ้ารุ่งสางเป็นชุดสีแบบหนึ่ง เวลากลางวันเป็นอีกแบบ เวลาค่ำก็อีกแบบ เวลาฝนจะตกก็เป็นสีอีกแบบ แตกต่างกันไป 

เทพธิดาทั้ง 7 นั้นก็ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อทำงานทอผ้าให้ท้องฟ้า และในระหว่างทำงานทอผ้าอยู่นั้น ‘จื่อหนี่’ เทพธิดาคนเล็กสุดก็เกิดเบื่อหน่าย เลยชิ่งหนีผละจากงานออกไปเที่ยวเล่นในโลกมนุษย์เป็นบางเวลา แล้วก็ไปปะกับหนุ่มเลี้ยงวัว (บางฉบับว่าเลี้ยงควาย แต่ช่างเถอะ ใครจะไปรู้) นางก็เกิดชอบปิ๊งเจ้าหนุ่มน้อยคนนั้น    

ก็งานเข้า เมื่อเจ้าน้องวัวของหนิวหลางเกิดไปรู้เห็นว่าเจ้านายของตนเป็นที่พึงใจแก่เทพธิดาแสนสวยเช่นนั้น จึงทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อพ่อชักให้โดยทันที เจ้าวัวบอกหนิวหลางว่า ถ้าไปเอาเสื้อของนางฟ้ามาได้ นางฟ้าจะแต่งงานด้วย หนิวหลางก็ไปที่สระน้ำที่นางฟ้าลงมาเล่นอาบน้ำ แล้วหยิบเอาเสื้อผ้านางมา ให้นางสัญญาว่าจะแต่งงานกับตนถึงจะยอมคืนเสื้อผ้าให้ (ดูเจ้าเด็กเลี้ยงวัวมันทำกับพี่นางฟ้า เฮ้อ...) ความจริงจื่อหนีมีฤทธิ์จะไม่รับปาก เสกเอาเสื้อผ้ามาคืนเองก็ได้ แต่นางก็แอบชอบเจ้าหนุ่มคนนี้อยู่เหมือนกันเลยสมยอมไป (นั่นแหน่ะ) 

จื่อหนีกับหนิวหลางแต่งงานอยู่กินด้วยกันจนมีลูกแล้ว วันหนึ่งเง็กเซียนเกิดสังเกตเห็นว่า ทำไมลูกสาวตนมี 7 คน เหลือ 6 คน คนเล็กหายไปไหน เมื่อไต่สวนทวนความจนรู้แน่แล้วว่านางละทิ้งฐานันดรนางฟ้าหนีจากสวรรค์ไปเป็นเมียของมนุษย์คนหนึ่ง เง็กเซียนก็ส่งทหารสวรรค์ไปจับกุมจื่อหนีกลับคืนสวรรค์ 

หนิวหลางก็ออกติดตามหาจื่อหนีไปทั่ว เหล่านกสงสารจึงรวมตัวกันเป็นบันไดให้หนิวหลางเดินขึ้นไปบนสวรรค์จนได้พบกับจื่อหนีอีกในที่สุด ทีนี้พ่อตา (เง็กเซียน) จึงเกิดใจอ่อน ยอมอนุญาตให้ทั้งสองได้พบกันได้แต่ก็เพียงปีละครั้ง ในวันที่ 7 เดือน 7 เท่านั้น 

ของไทยมีเรื่องทำนองนี้ที่คล้ายคลึงกันไหม? ใช่แล้วคงมีคนเอะใจว่า เรื่องมันแลดูคล้ายพระสุธนกับนางมโนราห์ยังไงชอบกล แต่ทว่าตำนานเด็กเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้านี้ก็เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ในวัฒนธรรมจีน จนน่าเชื่อว่าเรื่องพระสุธน-นางมโนราห์ต่างหากที่อาจได้แรงบันดาลใจไปจากตำนานจีนเรื่องนี้       

อิทธิพลวัฒนธรรมจีนมีต่อเอเชียตะวันออกไม่น้อยดังที่เราทราบกัน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มีตำนานทำนองเดียวกันนี้ และเคยกำหนดให้วันที่ 7 เดือน 7 (กรกฎาคม) เป็นวันแห่งความรักของหนุ่มสาวเช่นกัน แต่ก็เลิกไปเมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกแพร่เข้ามา จากวันที่ 7 เดือน 7 ก็เปลี่ยนมาใช้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ตามปฏิทินสากล 

แต่หนุ่มสาวชาวเอเชียตะวันออกก็มีการปรับเปลี่ยนวาเลนไทน์ให้เป็นแบบของตนเองไปมากเหมือนกัน อย่างกรณีญี่ปุ่นที่มีการสร้างวัน White day ขึ้นมาควบคู่กับ Valentine day วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์ สาวญี่ปุ่นจะมีประเพณีน่ารัก ๆ อย่างการมอบช็อกโกแลตให้แก่ผู้ชายที่ชอบ เป็นการบอกโดยนัยว่า ‘ฉันรักเธอนะ มาคบกัน เป็นแฟนกับฉันไหม’ ได้ไม่ต้องพูดให้เขินอายม้วนกัน จัดไปจ้ะสาวน้อย!  

หลังจากนั้น อีกหนึ่งเดือนต่อมาคือวันที่ 17 มีนาคม จะเป็นวันไวท์เดย์ ผู้ชายจะต้องเป็นฝ่ายหาช็อกโกแลตมามอบให้แก่หญิงสาวคืนบ้าง ถ้าผู้ชาย ‘Say Yes’ รับรัก เธอก็จะต้องมอบช็อกโกแลตหรือสิ่งของที่มีค่ามากกว่าที่ผู้หญิงมอบให้มาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ถ้า ‘Say No’ ก็จะให้ช็อกโกแลตหรือของเท่ากัน ทีนี้ความเศร้าก็จะมาเยือน       

ปัจจุบันวาเลนไทน์ยังเป็นวันต้องห้ามของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม มองว่าเป็นประเพณีส่งเสริมการประพฤติผิดทางกาม ส่งเสริมวัฒนธรรมตะวันตก

 

วาเลนไทน์ในสังคมไทย

น่าสังเกตว่า วาเลนไทน์เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่หนุ่มสาวชาวไทยมิใช่น้อยเลย แตกต่างจากวัฒนธรรมวันสำคัญอื่น ๆ เช่น ฮาโลวีน ที่จะไม่ป็อปเท่าไหร่เลย ดังที่ผู้เขียนเคยอภิปรายไว้แล้วว่าเพราะเหตุใด ทำไม และอย่างไร (ดู กำพล จำปาพันธ์. ‘ฮาโลวีนกับประวัติศาสตร์ฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?’. The People.co เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 )     

แต่ก็น่าสังเกตอีกเหมือนกันว่า วาเลนไทน์ในไทยจริง ๆ ยังเป็นวัฒนธรรมต้องห้ามในทางพุทธศาสนา มีอคติที่แพร่หลายมาจากที่ไหนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ว่า วาเลนไทน์เป็นวันเสียตัวของวัยรุ่น เช่นเดียวกับวันลอยกระทงและสงกรานต์ ตลอดที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐและคณะสงฆ์ต่างวางท่าทีนิ่งเฉย ไม่ต่อต้านแต่ก็ไม่สนับสนุน 

ทั้งนี้ เข้าใจได้ในแง่ที่ว่า พุทธศาสนาในไทยยังคงมองความรักของหนุ่มสาวเป็นเรื่องตัณหาราคะ กาเม เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการบรรลุสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ แถมยังมีคติความเชื่อเรื่องพรหมจรรย์ ที่ถูกแปลความหมายอย่างง่าย ๆ ว่าคือการเวอร์จิ้นยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ทุกอย่างเกี่ยวกับความรักหนุ่มสาวดูเป็นเรื่องลบเรื่องร้ายไปเสียหมด เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ไม่มีมิติของความสุข 

ก็ขนาด ‘บุดด้า ศากยมุนี’ ก็ยังเคยต้องทิ้งลูกเมียไปถึงจะบรรลุธรรม แถมในอดีตชาติก็เคยบริจาคลูกเมียเป็นทานมาแล้วด้วยอีกต่างหาก พุทธศาสนาไม่ได้มองความรักเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของมนุษย์ เป็นหลักคิดสืบทอดกันมาจากพื้นฐานความเป็นศาสนาที่มีต้นกำเนิดจากอินเดียโบราณ ไม่ใช่มีแต่พุทธที่คิดแบบนี้ พราหมณ์ก็คิดก็เชื่อแบบนี้ พระศิวะบางปางถึงได้มีตำนานว่าเคยเปิดดวงตาที่สามเพื่อเผาพระกามเทพให้ไหม้เป็นจุณ      

วัฒนธรรมวันสำคัญของไทยส่วนใหญ่ยังอิงกับวันสำคัญทางศาสนา พุทธศาสนาไม่เคยต้องผ่านช่วงเวลาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่จะต้องต่อสู้เพื่อให้หนุ่มสาวได้มีสิทธิครองคู่อยู่กินกันอย่างเสรี เหมือนเช่นที่คริสต์ศาสนาเคยมีจนนำมาสู่การเกิดวัฒนธรรมวาเลนไทน์ ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น 

โดยที่พุทธไม่เคยผ่านกระบวนการทำให้เป็นทางโลกย์ (Secularize) แบบนี้ พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ยังคงไม่มีมุมมองแบบสมัยใหม่เกี่ยวกับความรักหนุ่มสาว ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามจากบางส่วนที่จะนิยามให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก แต่ทว่ามาฆบูชาก็ไม่อาจเทียบได้กับวาเลนไทน์ ชาวพุทธไทยกลับนิยามความรักไปที่ความรักต่อพ่อแม่บุพการีเหนือความรักหนุ่มสาว ซึ่งกลับเป็นการใช้มาฆบูชาต่อต้านวาเลนไทน์อยู่โดยนัย  

ทั้งนี้ เพราะวัฒนธรรมวันสำคัญของไทยยังเป็นเรื่องศาสนา ไม่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องทางโลกย์ (Secularize) เหมือนอย่างโลกตะวันตกและเอเชียตะวันออก วันสำคัญทางพุทธศาสนาจึงกลายเป็นวันของคนเฒ่าคนแก่ไม่ใช่วันของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เมื่อเกิดปัญหาความรัก หนุ่มสาวในสังคมไทยจึงไม่สามารถจะไปพึ่งพาบุคลากรของวัดวาอารามที่มีอยู่มากมายทั่วทุกมุมถนนหนทางนั้นได้ 

เมื่อวัดไม่ตอบโจทย์ พระก็ช่วยไม่ได้ แถมไปหาแต่ละองค์ก็อาจจะเจอเรื่องเฮงซวยแบบ ‘เขื่อนแตก’ หรือ ‘ยางรัดผมแก้ปวดหัว’ ไปอีก ไม่ได้อยากไปนิพพาน ไม่ได้อยากไปสวรรค์บนชั้นฟ้าใด ๆ อยากมีสวรรค์เป็นของตนเองบนโลกนี้และชาตินี้ จะทำอย่างไร ไปผ่อน ไปดาวน์ ได้จากที่ไหนกันล่ะทีนี้?  ความรักดี ๆ เซเว่นไม่มีซะด้วยสิ!          

 

พระตรีมูรติ-สทาศิวะ ณ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เทพแห่งความรักองค์ใหม่?

การไปไหว้เทวรูปอินเดียที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อขอพรเนื่องในวันสำคัญของตะวันตกของหนุ่มสาวชนชั้นกลางสายมูในกรุงเทพฯ นับเป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่ชนิดแบบใหม่ไฉไลเอี่ยมอ่อง ก่อนหน้านี้ลัทธิพิธีที่นิยมกันในหมู่ชาวกรุงคือลัทธิพิธีเสด็จพ่อร.5 ซึ่งสูญสิ้นเอกราชอธิปไตยโดยสัมบูรณ์ไปแล้ว เมื่อสวนอัมพรและลานพระบรมรูปทรงม้าถูกกั้นรั้วเป็นเขตพระราชฐานห้ามเข้า 

หลายปีก่อนโน้นสมัยยังเป็นเด็กหนุ่มละอ่อนเรียนอยู่สามย่าน เดินผ่านไปมาตัดผ่านไปขึ้นรถที่สยาม ผ่านตรงหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ก็จะเห็นแต่ลานโล่งว่างเปล่า ตกเย็นถึงจะคึกคักมีลานเบียร์มีการออกร้านอาหารของกินต่าง ๆ (ไม่ค่อยจะได้ซื้อกินหรอกครับ เพราะขึ้นชื่อเรื่องแพงและไม่อร่อย จะกินก็ต้องข้ามฝั่งเลยบิ๊กซีไปทางประตูน้ำโน่น) 

ไม่มีฝูงชนอายุไล่เลี่ยกับเราที่ยังเป็นหนุ่มน้อย (สมัยนั้น) มานั่งพนมมือสวดภาวนา ไม่มีธูปเทียนดอกไม้ขายกันเกลื่อนเหมือนอย่างทุกวันนี้ ที่ที่คนจะไปไหว้กันเยอะ ช่วงโน้นแถวนี้ต้องยกให้พระพรหมที่แยกเอราวัณ 

อันนั้นคือสุดจัด มีทั้งนางรำ มีทั้งคณะทัวร์จากต่างประเทศ โด่งดังเรื่องขอลูก ความรักก็ขอได้ เพราะเข้าเกณฑ์ ‘พรหมลิขิต’ ทำนองไปเร่งเร้าให้พระพรหมท่านรีบ ๆ เอาเนื้อคู่มาหาซะทีเถอะ (ถ้ามันมาเกิดแล้ว) ไม่ต้องให้รอแล้วรออีกไปจวนจะถึงชาติหน้าตอนบ่าย ๆ อยู่แบบนี้    

ส่วนเทวรูปที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ที่เพิ่งมาฮิตกันนี้ พีกในพีกไปอีกก็ตรงที่ท่านมีชื่อเรียกว่า ‘พระตรีมูรติ’ แต่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาศาสนาหลายท่าน อาทิ อาจารย์คมกฤช อุ้ยเต็กเค่ง, อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ต่างก็ท้วงติงมาแล้วว่า นั่นท่านคือ ‘พระสทาศิวะ’ หรือ ‘พระศิวะปัญจมุขี’ เป็นพระศิวะในรูปสูงสุดคือปาง 5 เศียร อันพระตรีมูรตินั้นหมายถึงการปรากฏกายของเทพทั้งสามองค์ (พระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะ) พร้อมกันโดยนัดหมาย

บทความของทั้งสองท่านเผยแพร่ออนไลน์ด้วย ก็เห็นแชร์กันไปเยอะ จนน่าเชื่อว่าไม่น่าจะมีใครไม่รู้แล้วล่ะว่านั่นคืออริราชศัตรูของพระกามเทพ แต่ก็ไม่เห็นว่าความมู ๆ เกี่ยวกับเทวรูปองค์นี้จะแผ่วลงแต่อย่างใดเลย จึงสงสัยว่าจะมีอะไรลึก ๆ ที่มากกว่ากฤดาภินิหารของเทวรูปองค์นี้เสียแล้ว

เอาง่าย ๆ เทวรูปแบบนี้ไม่ได้มีที่นี่ที่เดียว ที่อื่นก็มี ก็ไม่เห็นไปมูหรือไปขออะไรจากท่าน และที่สำคัญวันสำคัญวันที่ท่านจะขลังจะจัดเต็มให้ได้ยังต้องเป็นวันอย่าง ‘วาเลนไทน์ 14 กุมภา’ ไปอีก ‘พื้นที่’ (Space) กับ ‘เวลา’ (Time) ที่มาบรรจบกันตรงนั้นคงมีความหมายอะไรซ่อนเร้นอยู่หรือเปล่า?         

เมื่อระลึกย้อนทวนดูความมู ๆ ทั้งหลายในที่อื่น ๆ เราก็จะพบออกบ่อยไปในกรณีสังคมไทย ๆ ความหมายของรูปเคารพที่คนไหว้เชื่อถือมักไม่ได้เป็นไปตามการจัดประเภทหรือความหมายของผู้สร้าง ผู้สร้างรูปเคารพเมื่อสร้างเสร็จไปแล้วก็มักจะสูญสิ้นอำนาจในการเป็นผู้กำหนดนิยามความหมายของรูปเคารพนั้น ฝูงชนที่ไหว้ตลอดจนผู้อื่นต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการกำหนดความหมายให้แก่รูปเคารพนั้นว่าท่านคืออะไร มีคุณวิเศษที่จะสามารถอำนวยอวยการสิ่งใดให้แก่คนไปไหว้ได้ ทำนองเดียวกับที่ผู้แต่งวรรณกรรมหมดอำนาจในการกำหนดความหมายของวรรณกรรมที่ตัวเองแต่ง (Author is dead) มีรายละเอียดยังไงไปถามนักวรรณกรรมศึกษาดูเอาเถิด!     

ตัวอย่างปรากฏการณ์แบบนี้นั้นมีมากมาย เทพตนหนึ่งยืนชี้นิ้วไปที่ภูเขาแห่งหนึ่งในพม่า พี่ไทยก็บอกเป็น ‘เทพทันใจ’ อะไรแบบนี้ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดมีขึ้นมา เคยมีมานานแล้วด้วย อย่างเทวรูปองค์หนึ่งที่ปราสาทแห่งหนึ่งตรงกลางเมืองลพบุรี เป็นรูปพระนารายณ์สี่กรชัด ๆ คนก็ว่าท่านเป็น ‘พระกาฬ’ หลวงพ่อโต พระประธานวัดพนัญเชิง อยุธยา มีชื่อตามเอกสารประวัติศาสตร์ว่า ‘พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง’ คนก็ไม่เรียก ไปถามหาไปเถอะ ไม่มีใครบอกได้หรอก แต่ถ้าถามหา ‘ซำปอกง’ คนจะร้องอ๋อ! ขึ้นมาทันที

ในศาลเจ้าจีนกลางตลาดเมืองอู่ทอง เราก็เห็นอยู่ว่าเป็นเทวรูปอินเดีย แต่ท่านก็ถูกเรียกเป็น ‘เจ้าพ่อ’ เห็นเป็นศาลเจ้าจีนและเรียก ‘เจ้าพ่อหลักเมือง’ อยู่ตลาดเมืองตราดหรืออย่างตลาดพระประแดง พอเข้าไปดูจริง ๆ อ้าว กลับเป็น ‘ศิวลึงค์’ ไปอีก 

ดูวิปริตผิดเพี้ยนไปจากขนบไปหมดสิ้น แต่นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะน้อยใจไปทำไม ในเมื่อนี่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของการให้ความหมายต่อรูปเคารพในสังคมประเทศนี้ มีมาก่อนการเกิดขึ้นขององค์ความรู้แบบศาสตร์วิชาสมัยใหม่ใด ๆ ไม่รู้กี่ปีกี่ชาติภพมาแล้ว   

จะเห็นได้ว่า สำหรับเรื่องความรักของหนุ่มสาวนั้น พุทธไม่ใช่คำตอบ ดังนั้น จึงต้องฝากให้ ‘ผี’ และ ‘เทพ’ ช่วยดูแลให้แทน

และก็น่าสงสัยยิ่งนักว่าเทวรูปตรงหน้าเซ็นทรัลเวิลด์จะคือสิ่งนี้คือเป็นทั้งเทพและผีแบบ ‘Two stop service’ แต่ความเป็นผีของท่านจะเริ่ม ‘เฮี้ยน’ อย่างหนักและมีนัยสำคัญก็หลังจากกรณีราชประสงค์ 2553 คือการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกตรงนั้นจะถูกเข้าใจว่า ‘เป็นการสังเวยอำนาจหรือเป็นที่มาแห่งอำนาจของผีที่ปกปักรักษาที่นี่’ ก็ไม่แปลก เพราะสิ่งสำคัญสำหรับการเกิดอาถรรพ์ความแรงนั้นนอกไปกว่าตัวเทวรูปก็คือ ‘สถานที่’ ที่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับความตาย    

อีกอย่างก่อนหน้ากรณีราชประสงค์ แม้จะมีคนไปไหว้ แต่ก็ไม่มากมหาศาลจนกลายเป็นลัทธิพิธีใหม่จนอาจเทียบได้กับลัทธิพิธีเสด็จพ่อร.5 ที่สวนอัมพรเมื่อหลายปีก่อน คนไทยนั้นได้ชื่อว่าไม่แคร์ถูกผิดสำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐนำกำลังอาวุธไปสังหารประชาชน คนไทยแคร์อำนาจและบารมีที่จะมากำหนดถูกผิดหรือบันดาลให้โชคลาภสิ่งต่าง ๆ แก่ตน ผีตรงที่เกิดเหตุแบบนั้นจึงศักดิ์สิทธิ์และมีอานุภาพมากตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้   

เมื่อเป็นผีที่มีอำนาจนำความตายมาให้ก็บันดาลสุขให้คนเป็นได้เช่นกัน และยิ่งมีฤทธานุภาพมากขึ้นไปอีกเพราะก่อนเป็นห้างสรรพสินค้าที่นั่นเคยเป็นวังมาก่อน และก็เป็นวังที่มีพระตรีมูรติเป็นเทพปกปักรักษามาก่อนด้วย นั่นแหล่ะที่โดนใจคนไทยสายมูใจเกินร้อย 

เมื่อดูจากตรงนี้จะเห็นความเข้าคอนเซปต์ไปหมด ไม่งั้นไม่ไปขอความรักจาก ‘เทพแห่งการทำลายล้าง’ หรือ ‘ผีที่นำความตาย’ มาให้แก่ผู้คนเช่นนี้ได้ แต่ท่านก็ไม่ใช่ผีไทยแบบสัมบูรณ์ ท่านเป็นผีลูกครึ่งเกิดจากการมิกซ์ผสมผสานกัน อีกครึ่งคือความเป็นเทพแบบตะวันตก (ในนามอินเดีย)

พระศิวะนั้นถูกแปลงให้เป็นเทพโลดโผนในเรื่องเพศมาก ยิ่งกว่าขุนแผน มีทั้งเมียดีเมียเด่นอย่างพระแม่อุมา เมียร้ายอย่างเจ้าแม่กาลี เมียอย่างพระนารายณ์ในปางที่แปลงเป็นนางโมหิณี และเมียช้าง (ที่บางตำนานว่าเป็นแม่ของพระพิฆเนศ) แถมพระศิวะในปางสูงสุดย่อมมีอำนาจเหนือพระพรหมผู้เป็นที่มาของ ‘พรหมลิขิต’ ได้อีกด้วย ‘พระตรีมูรติ’ นั้นเป็นภาคที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะ เพราะเพิ่งสร้างเมื่อตะวันตกเข้ายึดครองอินเดีย ทำนองเทียบเคียงกับ ‘พระตรีเอกานุภาพ’ ของชาวคริสต์    

นอกจากนี้ เทพตามคติดั้งเดิมของตะวันตก เทพก็คือเทพ ทุกองค์สามารถบันดาลอะไรให้แก่เหล่ามนุษย์น้อยได้หมด ถึงจะมีอะโฟร์ไดต์ มีคิวปิด มีเฟรย่า แต่ทั้งสามก็ไม่ใช่องค์เดียวที่จะกำหนดชะตาความรักของหนุ่มสาวชาวมนุษย์ นี่จึงเป็นไอเดียของวาเลนไทน์แบบดั้งเดิมที่สุด คือย้อนกลับไปหาวัฒนธรรมแบบ Lupercalia ของตะวันตก    

อย่างไรก็ตาม การใช้สถานที่ที่มีคนตายและวันแห่งความรักในลักษณะเช่นนี้ นอกเหนือจากความรักก็คือ ‘ความเหี้ยม’ และ ‘โนสน-โนแคร์’ เกี่ยวกับความอยุติธรรมที่ถูกฟูมฟักอยู่ภายในสำนึก ท่ามกลางบรรยากาศความรักแบบเทิร์นกลับไปสู่โรมันสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 5 

เห็นไหม? ความรักและการมีคู่ของมนุษย์ช่างเป็นเรื่องซับซ้อน กระทบถึงทั้งพระ ทั้งเทพ ทั้งผี พัวพันอิรุงตุงนังกันไปหมด แต่ถึงกระนั้นก็ตามสบาย ขอให้ได้ ให้สมหวัง จัดไป อย่าให้แผ่วครับ!

 

ภาพ: ภาพวาดเกี่ยวกับนักบุญวาเลนไทน์ จากช่วงศตวรรษที่ 19 ไฟล์จาก Getty Images

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. ‘ฮาโลวีนกับประวัติศาสตร์ฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?’ The People.co เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ‘มาเข้าใจ ‘พระตรีมูรติ-สทาศิวะ’ กันใหม่อีกสักครั้ง’ มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2563  

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. ‘พระตรีมูรติ ในอินเดีย ไม่ใช่รูปรวมเทพเจ้าทั้งสาม เหมือนที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์’ มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 20-26 ตุลาคม 2560

Adetunji, Jo. ‘The ‘real’ St. Valentine was no patron of love’ in (Published: February 13, 2018). 

Bulla, Clyde R. and Kwas, Susan E. The Story of Valentine's Day. HarperCollins Publishers, 1999. 

Cavazzi, Franco. ‘Emperor Claudius II Gothicus’ in https://roman-empire.net/people/claudius-ii-gothicus/ (Searched: February 10, 2023).  Lee, Sally A. A Short History of Valentine's Day. Capstone Press, 2015.

Sabuda, Robert. Saint Valentine. Simon & Schuster Australia, 2000. 

Skaermas, Nancy J. The Story of Valentine's Day. WorthyKids, 2000.