เจาะโลกโจรสลัด และชีวิต ‘เจิ้งอี้ส้าว’ ตำนานโจรสลัดหญิงแห่งทะเลจีนใต้ ศตวรรษที่ 19

เจาะโลกโจรสลัด และชีวิต ‘เจิ้งอี้ส้าว’ ตำนานโจรสลัดหญิงแห่งทะเลจีนใต้ ศตวรรษที่ 19

โลกโจรสลัดในอดีตสะท้อนสภาพสังคมและการค้านอกเหนือจากภาพจำในปัจจุบัน โจรสลัดหญิงจีนที่โด่งดังมีชื่อ ‘เจิ้งอี้ส้าว’ หรือ ‘ชิงชิห์’ ตำนานโจรสลัดหญิงแห่งทะเลจีนใต้ ยุคศตวรรษที่ 19

  • โจรสลัดในแง่หนึ่งคือหนทางหลบหนีจากสังคมชนชั้นเจ้าขุนมูลนายและปกครองอย่างกดขี่ มาสู่ทะเลที่มีเสรีภาพมากกว่า
  • ‘เจิ้งอี้ส้าว’ หรือ ‘ชิงชิห์’ คือโจรสลัดหญิงจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และสะท้อนเรื่องสังคมที่ลื่นไหลและหลากหลายในหมู่โจรสลัด

ชาวจีนกับโจรสลัดในอุษาคเนย์

ชาวจีนอพยพที่เรารู้จักกันดี มักจะมาในรูปพ่อค้า แรงงาน ช่างฝีมือ จำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการเป็นขุนนาง แต่นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาของชาวจีนอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักหรือพูดถึงกันเท่าไหร่นัก คือชาวจีนที่มีอาชีพเป็นโจรสลัดอยู่ในน่านน้ำทะเลจีนใต้

การเข้ามาของ ‘สลัดจีน’ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอาชญากรรมในท้องทะเลในอดีต จากเดิมที่โจรสลัดที่กุมน่านน้ำแห่งนี้เป็นคนมลายูบ้าง ชวาบ้าง บูกิสบ้าง ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า ‘สลัดแขก’ นอกจากนี้ก็มี ‘สลัดเขมร’ และ ‘สลัดญวน’ แต่มีจำนวนไม่มาก เทคโนโลยีเรือไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าสลัดจีน เนื่องจากสลัดจีนมักเป็นชาวมาเก๊าและไหหลำ ซึ่งชำนาญการเดินเรือและเป็นชาวทะเลมาแต่เดิม ในพงศาวดารจีนซึ่งถูกดัดแปลงไปเป็นวรรณกรรมสามก๊ก ก็มีตัวละครชื่อ ‘กำเหลง’ เป็นโจรสลัดที่หันมาเข้าฝ่ายเล่าปี่กับขงเบ้ง     

ทางตอนใต้บริเวณคาบสมุทรมลายูอย่างแคว้นปัตตานี ‘หลินเต้าเซียน’ (Lin Tao Sien) หรือ ‘หลิมโต๊ะเคี่ยม’ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มลายูปัตตานี มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับการสถาปนาอำนาจของรายาปัตตานี บ้างก็ว่าเป็นผู้สร้างปืนใหญ่ให้กับปัตตานี บ้างก็ว่าเป็นผู้สร้างสถานที่สำคัญอย่างมัสยิดกรือเซะ บ้างก็ว่าเป็นผู้นำชุมชนจีนในคาบสมุทรมลายู ซึ่งส่วนนี้ถูกขยายไปสนับสนุนและผูกโยงเข้ากับตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประเด็นสำคัญสำหรับในที่นี้ก็คือว่า หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้นี้เป็นบุคคลเดียวกับที่มีชื่อตามบันทึกจดหมายเหตุจีนว่าเป็นโจรสลัดลี้ภัยมาจากเมืองจีน    

หลิมโต๊ะเคี่ยม จะเป็นโจรสลัดอย่างที่จดหมายเหตุจีนกล่าวไว้จริงหรือไม่ เรื่องนี้ก็ยังเป็นปริศนาอีกเช่นกัน แต่ที่แน่ ๆ ชนชั้นปกครองแถบคาบสมุทรมลายูก็มีประวัติพัวพันธ์กับโจรสลัด ได้ชื่อว่าใช้โจรสลัดเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมและปกครองชายฝั่งมาตั้งแต่เมื่อครั้งจักรวรรดิทางทะเลอย่างศรีวิชัยล่มสลายในช่วงแรก ๆ ‘นักรบศรีวิชัย’ ก็คือโจรสลัดเหล่านี้ที่เมื่อศรีวิชัยล่มสลาย ก็ผันตัวเองไปรับใช้ชนชั้นปกครองใหม่ในท้องถิ่นของคาบสมุทรและหมู่เกาะต่าง ๆ 

ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โจรสลัดนับเป็นอีกเรื่องที่ถูกปกปิด ไม่เป็นที่เปิดเผย  เพราะบันทึกของชนชั้นนำจำเป็นต้องปิดบังการดำรงอยู่ของคนเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในด้านหลักฐานสำหรับใช้ในการศึกษาและเขียนงานทางประวัติศาสตร์ แต่สำหรับในโลกตะวันตกช่วงหลังมานี้ไม่เป็นอย่างนั้น โจรสลัดเป็นเรื่องที่มีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่มาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ถูกนำมาดัดแปลงเข้ากับยุคสมัยเสมอ เช่น นำมาแต่งเป็นนวนิยาย ทำเป็นหนัง ละคร การ์ตูน ซีรีส์ หรือแม้แต่ล่าสุดมีทำเป็นเกมออนไลน์เป็นที่นิยมแพร่หลาย ในขณะที่วรรณกรรมไทยแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่เด่น ๆ มีเพียงโจรสลัดในเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ เช่น ‘โจรสุหรั่ง’ ก็ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงหรือเน้นให้เห็นกันเท่าไหร่นัก

ยุคการค้าทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่มีข้อเสนอกันว่าอยู่ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ถือเป็น ‘ยุคคลาสสิค’ (Classical times) โจรสลัดมักถูกจัดประเภทเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพ่อค้า ถือเป็นภัยต่อการค้าทางทะเล แต่เมื่อพิจารณาว่าสิ่งที่โจรสลัดปล้นไปนั้นโดยมากก็คือ ‘สินค้า’ เมื่อได้สินค้ามาแล้วก็จะต้องเอาไปขายสู่ตลาด โจรสลัดก็คือ ‘พ่อค้า’ ประเภทหนึ่งของยุคการค้าทางทะเลนั่นเอง 

บทบาทของพ่อค้าโจรสลัดยังมีความสำคัญในแง่การกระจายสินค้า ไม่ให้การบริโภคกระจุกตัวอยู่แต่ภายในศูนย์กลางอำนาจอีกด้วย เพราะแหล่งตลาดสำคัญของพ่อค้าโจรสลัดคือตลาดตามหัวเมืองชายขอบ ซึ่งที่จริงตามระบบเศรษฐกิจไพร่ของรัฐพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเมืองเหล่านี้คือผู้ผลิตสินค้าส่วยที่จะส่งเข้าสู่เมืองหลวง จากนั้นพ่อค้าชั้นนำที่เมืองหลวงจึงค่อยนำมาขายต่อให้แก่ชาวต่างประเทศ ระบบนี้เรียกกันว่า ‘การค้าผูกขาดของหลวง’ (Royal monopoly system)

ดังนั้น การปล้นสินค้าเหล่านี้แล้วนำกลับไปขายให้แก่ตลาดหัวเมือง จึงเป็นการคืนสินค้าที่หัวเมืองผลิตได้นั้นกลับสู่หัวเมืองเอง และโจรสลัดก็คือ ‘ผู้ประกอบการค้าเสรี’ (Free trader) ประเภทหนึ่งนั่นเอง   

นั่นหมายความว่า เราต้องมองประวัติศาสตร์ของโจรสลัดในมุมใหม่ แตกต่างจากมุมของทางการในปัจจุบัน เพราะโลกอดีตที่มีโจรสลัดเป็นตัวละครสำคัญของยุคนั้นแตกต่างอย่างสุดขั้วกับโลกปัจจุบัน กลุ่มคนที่ถูกเข้าใจอย่างเหมารวมว่าเป็นผู้ร้ายตามโครงเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลัก ในอดีตอาจไม่ใช่ผู้ร้ายดังที่เขาหลอกลวงกัน

อย่างไรก็ตาม โจรสลัดคือมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่กับเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมแบบหนึ่ง การปล้นชิงสินค้าในเรือระหว่างที่เรือลำดังกล่าวกำลังแล่นอยู่ในท้องทะเล ไม่อาจเทียบได้กับการปล้นชิงทรัพยากรในนามกฎหมายและระเบียบของบ้านเมือง และเมื่อสังคมบนบกใช้ระบบการปกครองอย่างกดขี่มีเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นวรรณะ คนซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบหรือด้อยโอกาสในสังคมจำนวนมากจึงหลบหนีออกสู่ทะเลไปแสวงหาเสรีภาพและชีวิตที่ดีกว่า

ถึงแม้ว่าการเป็นโจรสลัดแล่นเรืออยู่ในท้องทะเลจะเต็มไปด้วยอันตราย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทะเลเป็นพื้นที่มหาศาลอันปลอดพ้นจากการคุกคามของอำนาจรัฐในสมัยนั้น    

เนื่องจากการเป็นโจรสลัดมักมาพร้อมกับการมีทักษะความสามารถในการใช้ความรุนแรง แต่ไม่เสมอไป  เพราะบางครั้งก็ปรากฏโจรสลัดที่มีจุดเด่นเรื่องอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการ การเจรจาต่อรอง การค้าขาย การข่าวสาร เพราะต้อง ‘ดีล’ กับผู้คนอยู่เป็นอันมาก ทักษะความชำนาญที่นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรงนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้มีโจรสลัดที่ผันตัวเองไปเป็นผู้ปกครอง เช่น ฟิลิปส์ เดอ บริโต อี นิโคเต (Filipe de Brito e Nicote) โจรสลัดโปรตุเกสที่ไปยึดเมืองท่าสิเรียมทางตอนใต้ของพม่าแล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ มักคู (Mac Cu) อดีตโจรสลัดที่ผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าและเจ้าเมืองฮาเตียน เจิ้งอี้ส้าว (Zheng Yi Sao) โจรสลัดหญิงกวางตุ้งชื่อดัง (ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป) ต่างก็เป็นแบบฉบับของโจรสลัดที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยทักษะที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง   

พ่อค้ากับโจรสลัดบางครั้งอยู่ในตัวคน ๆ เดียวกัน เมื่อแล่นเรือไปพบเรือศัตรู พ่อค้าในเรือลำดังกล่าวก็พร้อมจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นโจรสลัดทำการปล้นเรือศัตรู ข้อหาสำคัญหนึ่งในช่วงก่อนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเป็นข้อหาว่าด้วย ‘การกระทำอันเป็นโจรสลัด’ (Piracy) ข้อหานี้ใช้ทั่วไปในทางสากล

เมื่อออกญาพิชิตซึ่งเป็นขุนนางอยุธยาได้ใช้เรือธงของสมเด็จพระนารายณ์ไปทำการปล้นสะดมภ์เรือฮอลันดา รวมถึงการนำกำลังไปบุกปล้นชิงเอาสินค้าแล้วเผาสถานีการค้าของฮอลันดา แล้วฮอลันดาแจ้งไปยังราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ ออกญาพิชิตก็ถูกลงโทษประหารชีวิต

เมื่อชาวสยามในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ทำการบุกยึดเรือของพ่อค้าอังวะที่เมืองมะริด พระเจ้าอลองพญาขอคืนเรือและสินค้า แต่ถูกปฏิเสธ พม่าจึงเริ่มเปิดศึกกับอยุธยาจนนำไปสู่สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310

เมื่อวงการค้านานาชาติต่างเห็นว่า การกระทำของชาวสยามที่เมืองมะริดนั้นมีลักษณะเป็น Piracy  ข้อความหนึ่งที่มักปรากฏในเอกสารแต่งตั้งเจ้าเมืองตามหัวชายฝั่งทะเลสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็คือการกำชับบทบาทหน้าที่ของเจ้าเมืองในการกวดขันโจรผู้ร้ายปล้นชิงในทะเล อำนวยความสะดวก และสร้างความปลอดภัยแก่พ่อค้าและเรือที่สัญจรไปมาในย่าน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า Piracy มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสยามมากเพียงใด      

             

ยุคทองของโจรสลัดในคริสต์ศตวรรษที่ 18

โดยมากโจรสลัดจะถูกมองในแง่ลบแง่ร้ายเป็นผู้ร้าย แต่ในประวัติศาสตร์ตะวันตกและจีน โจรสลัดกลับมีภาพลักษณ์โรแมนติกและบทบาทที่ค่อนข้างหลากหลาย งานประวัติศาสตร์โจรสลัดตะวันตกมักจะถือว่าต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็น ‘ยุคทอง’ ของโจรสลัด (Golden age of the pirates) ก่อนจะหดหายและสลายไปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ก่อนจะเกิดยุคของโจรสลัดโซมาเลียและจากแถบชายฝั่งแอฟริกาในยุคปัจจุบัน ที่ถือว่าคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคทองของโจรสลัดไม่ใช่เพราะช่วงนี้มีโจรสลัดออกอาละวาดเยอะ  หากแต่เพราะความรุ่งเรืองจนถึงกับเกิด ‘สาธารณรัฐโจรสลัด’ (Republic of pirates) ขึ้นที่เมืองท่านัสซาว (Nassau) ในหมู่เกาะบาฮามาส (Bahamas) ใกล้แหลมฟอริด้าของทะเลแคริบเบียน (Caribbean)    

จุดเริ่มต้นนั้นมาจากสงครามอังกฤษ-สเปนที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 80 ปีในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยในช่วงปลายสงครามซึ่งส่วนใหญ่รบกันทางทะเล สมรภูมิครอบคลุมมาจนถึงชายฝั่งทวีปอเมริกา เพราะต่างฝ่ายต่างแย่งชิงผลประโยชน์จากการค้นพบโลกใหม่

อังกฤษได้สร้างอาวุธลับชนิดหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ‘สลัดหลวง’ (Privateers) เป็นกองเรือรบกึ่งอิสระปฏิบัติการในลักษณะกองโจร ออกเที่ยวปล้นเรือสเปนที่แล่นไปมาระหว่างยุโรปกับอเมริกาใต้ แต่เมื่อสงครามยุติ อังกฤษไม่ได้รับคนเหล่านี้กลับคืนสู่สังคม อีกทั้งยังมีความพยายามปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองเรือเหล่านี้ในช่วงสงคราม 

สุดท้าย คนเหล่านี้ก็ไปรวมตัวกันอยู่ที่ทะเลแคริบเบียน จากเครื่องมือที่ใช้กำราบศัตรูก็หันมาโจมตีจักรวรรดิอังกฤษเสียเอง จาก ‘สลัดหลวง’ (Privateers) ก็กลายเป็น ‘โจรสลัด’ (Pirates) อย่างที่เรารู้จักกันในภายหลังในที่สุด จึงกล่าวได้ว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการก่อกำเนิดของ ‘สาธารณรัฐโจรสลัด’ ในโลกตะวันตกก็คือจักรวรรดิอังกฤษนั่นเอง โดยที่คนเหล่านี้โดยมากมาจากชนชั้นแรงงานมีฐานะยากจนในสังคมอังกฤษ การเป็นโจรสลัดนอกจากเป็นช่องทางแสวงหารายได้ เขยิบฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นการตอบโต้ชำระแค้นต่อระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษเวลานั้นอีกด้วย    

เรื่องราวของโจรสลัดทะเลแคริบเบียนในประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก อาจจะไม่เหมือนกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่โด่งดังอย่างเรื่อง The pirates of Caribbean หรืออย่างซีรีส์ดังของช่อง Starz อย่างเรื่อง Black Sails ซึ่งสร้างจากนวนิยายดังเรื่อง Treasure Island ประพันธ์โดย Robert Louis Stevenson ไม่มีเรือที่บรรจุอยู่ในขวดโหลดขนาดห้อยคอได้อย่างเรือ Black Pearls ไม่มีแม่มด หมอผี อาถรรพ์คำสาปต่าง ๆ เรือปีศาจอย่างเรือ Flying Dutchman แต่เรื่องราวของมนุษย์ตัวเป็น ๆ ที่เผชิญโลกและพยันตรายต่าง ๆ อย่างองอาจกล้าหาญนั้นกลับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่าในนิยายหรือซีรีส์เรื่องใด    

คำถามหนึ่งที่นักสตรีศึกษามีต่อนักประวัติศาสตร์การเดินเรือ (Maritime historian) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์โจรสลัดมายาวนานอย่างคำถามที่ว่า ในโลกซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘โลกของผู้ชาย’ อย่างโลกโจรสลัดนั้นมีผู้หญิงอยู่หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าโลกของโจรสลัดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้นมีลักษณะเป็น ‘โลกที่กลับตาลปัตร’ (Reversal world) กับโลกที่เป็นอยู่บนผืนแผ่นดินในช่วงเวลาเดียวกันแทบจะทั้งหมดทั้งมวล    

ตัวอย่างของความกลับตาลปัตรของโลกโจรสลัดเมื่อเปรียบเทียบกับโลกบนผืนแผ่นดิน มีตั้งแต่การสร้างเมืองท่านัสซาวในแถบนิวโพรวิเดนส์ (New Providence) ให้กลายเป็น ‘สาธารณรัฐ’ เมื่อ ค.ศ.1706 (ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติอเมริกาในค.ศ.1776 ฝรั่งเศส ค.ศ.1789 โปรตุเกส ค.ศ.1910 รัสเซีย ค.ศ.1917 จีน ค.ศ.1912)

โคลิน วูดาร์ด (Colin Woodard) นักประวัติศาสตร์การเดินเรือชาวอเมริกัน ผู้เขียนงานวิชาการอันโด่งดังเรื่อง ‘The Republic of Pirates: Being the True and Surprising Story of the Caribbean Pirates and the Man Who Brought Them Down’ ได้แสดงให้เห็นว่าโจรสลัดนัสซาวในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นผู้บุกเบิกการใช้ระบบประชาธิปไตยในยุคที่บนผืนแผ่นดินยังไม่มีระบบประชาธิปไตย

ตำแหน่งกัปตันเรือตลอดจนผู้บังคับบัญชาคนสำคัญมาจากการโหวตกันในหมู่ลูกเรือ เมื่อเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือเกิดการตัดสินใจผิดพลาดอย่างใดขึ้น ลูกเรือมีสิทธิโหวตออกจากตำแหน่งและจับปล่อยทิ้งกลางทะเลได้ทุกเมื่อ ความเท่าเทียมกันจึงบังเกิดขึ้นไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว คนผิวสีและคนพื้นเมืองจำนวนมากจึงหลบหนีระบบทาสมาอยู่กับพวกโจรสลัด 

แถมบางกลุ่มเช่นกองเรือภายใต้แซมมวล เบลามี (Samuel Bellamy) หรือ ‘แบลค แซม เบลามี’ (Black Sam Bellamy) ยังมีพฤติการณ์ต่อต้านการค้าทาส มุ่งโจมตีและปล้นสะดมภ์เรือค้าทาสที่แล่นไปมาในแถบสามเหลี่ยมอาฟริกา-อเมริกา-ยุโรป การปลดปล่อยทาสและอนุญาตให้คนผิวสีทำงานร่วมกับคนผิวขาวในเรือแบบเท่าเทียมกัน อีกทั้งแซม เบลามี กับพรรคพวกยังประกาศชัดเจนถึงเจตนาเป็นกลุ่มต่อต้านสังคมกดขี่ของยุโรปเวลานั้น โดยมุ่งเน้นปล้นคนรวยช่วยคนจน ทำให้เบลามี กับพรรคพวกได้รับสมญาว่า ‘โรบิน ฮู๊ด แห่งท้องทะเล’ (Robin Hood of the sea) เช่นเดียวกับกรณีวิลเลียม คิดด์ หรือ ‘กัปตันคิด’ (Captain William Kidd) กับลูกเรือในช่วงก่อนหน้าไม่กี่ปี 

และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้ชนชั้นนำอังกฤษ บริษัทอีไอซี (British East India Company) ตลอดจนชนชั้นนายทุนพ่อค้าในยุโรปและอาณานิคมอเมริกา ซึ่งได้ผลประโยชน์จากการค้าทาส รู้สึกอดรนทนไม่ได้ พยายามส่งเรือรบออกปราบปรามและทำลายแหล่งลี้ภัยอย่างเมืองท่านัสซาว     

การปลดปล่อยทาส ทำลายระบบการค้าทาส ปล้นคนรวย ยังทำให้โจรสลัดจากสาธารณรัฐนัสซาวได้ชื่อว่าเป็น ‘นักปฏิวัติสังคม’ (Social revolutionary) โดยเนื้อหาอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เข้าร่วมกับโจรสลัดกลุ่มเบลามีคนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตจากพายุที่ทำให้เรือจม เป็นชาวพื้นเมืองอเมริกา (American native ซึ่งคนไทยมักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่า ‘อินเดียนแดง’) เขาเป็นชาวเผ่ามิสกิโต (Miskito) ชื่อ ‘จอห์น จูเลียน’ (John Julian) ถูกขายเป็นทาสให้กับ ‘จอห์น ควินซี’ (John Quincy) ซึ่งเป็นปู่ของประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอเมริกาคือ ‘จอห์น ควินซี อดัมส์’ (John Quincy Adams) 

กลุ่มของเบลามีนับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในหมู่โจรสลัดจากสาธารณรัฐนัสซาว ยึดเรือและปลดปล่อยทาสได้ถึง 53 ลำภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เบลามี ค่อนข้างเป็นโจรสลัดที่สุภาพและปฏิบัติต่อเชลยด้วยความปรานี อนุญาตให้กัปตันและลูกเรือที่ถูกปล้นเข้าร่วมกับโจรสลัด 

รีเบคก้า ไซมอน (Rebecca Simon) นักประวัติศาสตร์สตรีผู้ศึกษากระบวนการเกิดขึ้นของโลกาภิวัฒน์ผ่านประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเดินเรือและบทบาทโจรสลัดในโลกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ใช้คำถามที่หลายคนสงสัยใคร่รู้มาเป็นชื่อหนังสืออันเกิดจากผลงานค้นคว้าของเธอชื่อว่า ‘ทำไมเราจึงรักโจรสลัด’ (Why We Love Pirates?) ได้แสดงคำตอบโดยชี้ให้เห็นความเป็นผู้บุกเบิกและมาก่อนกาลของโจรสลัด อย่างกลุ่มโจรสลัดภายใต้การนำของวิลเลียม คิดด์ (William Kidd) โจรสลัดทะเลแคริบเบียนรุ่นแรกเริ่มที่พบหลักฐานก่อนการเกิดสาธารณรัฐนัสซาว เมื่อ ค.ศ.1706  

คิดด์ กับพวกตัดสินใจเป็นโจรสลัดเพราะรู้สึกรับไม่ได้กับการที่บ้านของพวกเขาคืออาณานิคมอเมริกา ถูกปล้นชิงทรัพยากรไปเป็นของอังกฤษที่อยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร โดยอาศัยช่องทางผ่านคือทะเลแคริบเบียน คิดด์ กับพวกจึงโจมตีเรือสินค้าอังกฤษ ยึดสินค้าสำคัญ เช่น พริก, ผ้าขนสัตว์, ไวน์, เหล็ก, ทองแดง, ไม้, แร่ธาตุ, อัญมณีต่าง ๆ แล้วนำกลับไปขายคืนให้แก่อาณานิคมอเมริกา จึงมีการมองกันว่าโจรสลัดรุ่นนั้นคือพวกเห็นต่างจากจักรวรรดิอังกฤษและลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรม ซึ่งเป็นการกรุยทางสู่การปฏิวัติอเมริกาในปลายศตวรรษเดียวกันนั้น      

แน่นอนว่าโจรสลัดจากสาธารณรัฐนัสซาวมิได้มีเฉพาะกลุ่มของเบลามี ยังมีคนอื่น ๆ อีกที่ปรากฏชื่อที่สำคัญ ๆ มีบันทึกหลักฐานกล่าวถึงไว้หลายคน อาทิ เบนจามิน ฮอร์นิโกลด์ (Benjamin Hornigold), เฮนรี เจนนิ่งส์ (Henry Jennings), ชาร์ลส์ เวน (Charles Vane), พอลเกร็พ วิลเลียมส์ (Palgrave Williams) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับแซม เบลามี, เอ็ดเวิร์ด แทตช์ หรือ ‘สลัดเคราดำ’ (Edward Thatch or famous name to know that “Blackbeard”), แบล็ค ซีซาร์ (Black Ceasar) โจรสลัดผิวสีผู้ติดตามสลัดเคราดำ, แจ๊ค แรคแฮม หรือคาลิโก แจ๊ค (Jack Rackham or Caligo Jack) ซึ่งถูกนำบุคลิกไปแปลงเป็นกัปตันแจ๊ค สแปร์โร ในหนัง The pirates of Caribbean  

ไม่พบข้อมูลตัวเลขว่าในจำนวนนี้มีผู้หญิงกี่คน อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงที่ปรากฏชื่อเป็นโจรสลัดหญิงที่โด่งดังในยุคนั้นซึ่งเป็นสมาชิกของสาธารณรัฐนัสซาวอยู่ 2 คน คือ แมรี รีด (Mary Read) กับแอนน์ บอนนี (Anne Bonny) ในยุคใกล้กันต่อมาอีกฝั่งหนึ่งคือบริเวณทะเลจีนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จรดจีนแผ่นดินใหญ่ มีอีกหนึ่งโจรสลัดหญิงที่โด่งดังชื่อ ‘ชิงชิห์’ (Shing Shih) หรือ ‘เจิ้งอี้ส้าว’ (Zheng Yi Sao)  

 

ผู้หญิงในโลกโจรสลัด

จากที่สังคมมีการแบ่งงานกันทำขั้นพื้นฐานคือการแบ่งงานตามเพศสถานะ ผู้หญิงมักมีบทบาทคู่เคียงกับผู้ชายอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว งานในเรือก็ไม่เว้น อีกทั้งสังคมกลาสีเรือไม่กีดกันผู้หญิงอยู่เป็นทุนเดิม เพราะมีงานในหน้าที่เฉพาะที่ผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชายโดยทั่วไป เช่น คนครัว, คนซักเสื้อผ้า, คนรับใช้, สายข่าว, หมอและพยาบาล, บ้างก็เป็นการโดยสารเรือโดยติดตามคนรัก สามี พ่อ ลูก ฯลฯ

แต่สำหรับในสังคมโจรสลัดผู้หญิงมีบทบาทมากไปกว่านั้น เป็นบทบาทที่เกินไปกว่าสังคมบนบกปกติจะยอมรับได้ เช่น การเป็นนายเรือหรือระดับบังคับบัญชาที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การที่ต้องต่อสู้เผชิญภัยอันตรายต่าง ๆ ตลอดจนความรุนแรงทางกายภาพ ทำให้มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเลือกที่จะสวมบทบาทข้ามเพศ เช่น การแต่งกายเป็นบุรุษ มีทั้งแบบที่ปลอมตัวขึ้นเรือกับแบบที่เปิดเผยโดยคนในเรือต่างก็รู้ว่าคนผู้นั้นเป็นสตรี แต่ไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะสตรีผู้นั้นมักจะมีทักษะความสามารถในการใช้อาวุธป้องกันตัวไม่ต่างจากผู้ชาย 

ถ้าเป็นภาษาปัจจุบันมีคำเรียกที่ตรงกันกับลักษณะผู้หญิงแบบนี้คือ ‘ทอมบอย’ นอกจากการถืออาวุธอย่างปืน หอก ดาบ ซึ่งในสังคมบนบกไม่อนุญาตแล้ว กางเกงยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สื่อถึงบทบาทสตรีเหล่านี้  เมื่อผู้หญิงสามารถสวมกางเกง ใช้อาวุธ และมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายได้ นั่นคือข้อพิสูจน์ว่า ‘ความเป็นเพศ’ (หญิง-ชาย) เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องสรีระร่างกายทางธรรมชาติ   

‘ความเป็นชาย’ (masculinity) กับ ‘ความเป็นหญิง’ (femininity) เป็นเรื่องที่สามารถสลับข้ามไปมาได้ โดยที่เพศที่กำหนดโดยสังคมบนบกไม่สามารถใช้เป็นตัวตัดสินได้เท่ากับเพศที่เลือกเป็น แมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี ต่างก็สวมความเป็นชายและบางครั้งก็เขยิบไปใช้เพศสถานะแบบอื่น กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่ทั้งสองที่ริมชายหาดของเกาะ Burgh ประเทศอังกฤษ โดยโปรโมตทั้งสองในฐานะสตรีข้ามเพศ และหรือ ‘โจรสลัดเลสเบี้ยน’ (Lesbian pirate) บ้างก็เสนอว่าทั้งสองเป็นตัวอย่างคู่รักเพศเดียวกันในยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้าที่วัฒนธรรมวิคตอเรียจะมีบทบาทกำหนดมาตรฐานและครอบงำสังคม   

อย่างไรก็ตาม ประวัติเรื่องราวของแมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี หลายอย่างยังคงเป็นปริศนาคลุมเครือ ความที่ทั้งสองมีชีวิตโลดแล่นในประวัติศาสตร์ในแบบที่ต่างจากคนในระบบสังคมทั่วไป ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้นำไปใช้อ้างอิงสร้างอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์แก่ความแตกต่างหลากหลายทางเพศในภายหลัง

โจ สแตนด์ลีย์ (Jo Standley) นักสตรีศึกษาที่สนใจศึกษาประเด็นเรื่อง Gender ในประวัติศาสตร์โจรสลัดมานาน เคยให้ความเห็นโดยสรุปย่อว่า ไม่มีแบบฉบับเฉพาะตายตัวของความเป็นโจรสลัดหญิง แต่ละกรณีมีทั้งข้อเหมือน-ข้อแตกต่าง และมีความหลากหลายอยู่ในแบบฉบับของการเป็นโจรสลัดหญิง ขึ้นอยู่กับเธอแต่ละคนจะเลือกสวมบทบาทเป็นอะไรในแต่ละช่วงด้วย ในตัวคน ๆ เดียวนั้นอาจเป็นทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนรักเพศเดียวกัน แม่ เมีย คนรัก ชู้ โสเภณี สายลับ แม่ครัว ช่างฝีมือ ทหาร คนหาปลา ฯลฯ

นอกจากนี้ โจ สแตนด์ลีย์ ยังเสนอด้วยว่า การออกท่องทะเลของผู้หญิงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงการแสวงหาความร่ำรวย ติดตามสามี ลูก หากแต่ยังต้องการเดินทางผจญภัยและแสดงบทบาทท้าทายโลกที่ครอบงำโดยผู้ชายอีกด้วย

พูดง่าย ๆ คือในจำนวนนี้มีผู้หญิงบางคนที่เข้าไปอยู่ในโลกของโจรสลัดเพื่อเป็นขบถต่อต้านสังคมที่เป็นอยู่บนบกนั้นโดยตรงอยู่ด้วย สาเหตุที่โลกของโจรสลัดดึงดูดผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็เพราะเป็นโลกที่ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดบทบาทหน้าที่ตายตัวแบบสังคมบนบก ทุกคนสามารถเลือกหนทางชีวิตและสวมบทบาทที่อยากจะเป็นได้ เพียงแต่กฎของโจรสลัดนั้นมีลักษณะเป็นกฎธรรมชาติต้องคำนึงถึงความอยู่รอดปลอดภัยเป็นสำคัญ บทที่นิยมเลือกกันจึงเป็นบทของ ‘ผู้ชายเทียม’ คือการแต่งกายและใช้บุคลิกแบบผู้ชาย ทำให้ความเป็นชายไม่ถูกผูกขาดเฉพาะเพศชาย 

กรณีศึกษาของโจ สแตนลีย์ นั้น เน้นวิเคราะห์ชีวประวัติของโจรสลัดหญิงในโลกตะวันตกอย่างแมรี รีด และแอนน์ บอนนี ในอีกฝั่งฟากหนึ่งของโลกอีกราว 50 ปีหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐนัสซาว ได้เกิดโจรสลัดหญิงชื่อดังขึ้นในแถบทะเลเอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ กรณีของโลกตะวันตก ยุคทองของโจรสลัดอาจเป็นคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ในโลกตะวันออก ยุคทองของโจรสลัดคือในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโจรสลัดในโลกตะวันตกได้มีอิทธิพลต่อการเกิดโจรสลัดในโลกตะวันออกหรือไม่  แม้จะมีข้อมูลว่าทะเลแถบอุษาคเนย์ก็เคยมีเรือของโจรสลัดจากทะเลแคริบเบียนเคยแล่นติดตามเรือสินค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเข้ามาในบางช่วงก็ตาม    

ภาพวาดกองเรือสลัดกวางตุ้งขณะโจมตีเรือสินค้า จะเห็นว่ามีใช้ปืนไฟและปืนใหญ่แบบตะวันตก ภาพจาก triotriotrio/wikimedia commons สิทธิ์ใช้งาน CC BY-SA 3.0

ผู้หญิงกับโจรสลัดในทะเลจีน-อุษาคเนย์ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

กรณีแมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก ซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องเสรีภาพและสิทธิทางเพศมานานพอสมควร แต่ในอีกฝั่งฟากของโลกอย่างแถบทะเลจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งเป็นเขตบริเวณที่มีโจรสลัดจีนเป็นใหญ่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับสาธารณรัฐนัสซาวในโลกตะวันตก ในหมู่โจรสลัดจีนก็มีผู้หญิงปรากฏชื่อเป็นโจรสลัดเช่นกันแถมเป็นระดับผู้นำกองทัพซึ่งเป็นที่ยำเกรงของราชสำนักต้าชิงอีกด้วย

‘เจิ้งอี้ส้าว’ คือผู้หญิงคนดังกล่าว ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่โจรสลัดจีนว่า ‘มาดามเจิ้ง’ (Madam Zheng) ได้รับสมญาว่า ‘ราชินีโจรสลัดแห่งทะเลจีน’ (Pirate queen of the China sea)

ในขณะที่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถือเป็น ‘ยุคทอง’ (Golden age) ของโจรสลัดในประวัติศาสตร์ยุโรป ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในช่วงหัวเลี้ยวก่อนการเข้ามาสถาปนาระบอบอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาติตะวันตก บริเวณทะเลจีนใต้ในช่วงเวลานั้นก็คือได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของโจรสลัดจีนในมณฑลทางใต้เช่นกัน

เพราะเหตุใดการเกิดขึ้นของยุคทองโจรสลัดทั้งสองฟากฝั่งของโลกจึงอยู่ในเส้นเวลาที่แตกต่างกันเช่นนั้น  ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับในที่นี้ สิ่งที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากจนสามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันได้สำหรับในที่นี้ก็คือ ‘ยุคทอง’ ทั้งสองนี้เป็นยุคที่ผู้หญิงมีบทบาทสูงแม้แต่ในโลกที่ได้ชื่อเป็นโลกของผู้ชายเช่นกัน    

ความที่โจรสลัดจีนภายใต้ตระกูลเจิ้งถือกำเนิดรุ่นหลังโจรสลัดนัสซาว และแม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่ากลุ่มโจรจีนสลัดจะได้เคยรับรู้เกี่ยวกับโจรสลัดนัสซาวในโลกตะวันตกมาก่อนหรือไม่  แต่ปรากฏว่าโจรสลัดจีนก็มีเทคโนโลยีหลายชนิดแบบที่โจรสลัดนัสซาวเคยใช้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรือกำปั่นท้องแบน อาวุธปืนไฟทั้งแบบสั้น แบบยาว และปืนใหญ่ แม้แต่ดาบที่เห็นจากภาพวาดโดยมากก็เป็นดาบแบบตะวันตก ไม่ใช่ดาบจีน 

อย่างไรก็ตาม ในยุคการค้าทางทะเล เทคโนโลยีตะวันตกก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่หลั่งไหลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน จึงไม่เป็นการยากที่โจรสลัดจีนจะมีอาวุธเหล่านี้ใช้ สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับโจรสลัดตะวันตก ก็คือโจรสลัดจีนเดิมใช้ธงสีต่าง ๆ หลากหลาย

แต่เมื่อเจิ้งอี้ (สามีเจิ้งอี้ส้าว) ได้ผนวกรวมกลุ่มโจรธงสีต่าง ๆ เข้าด้วยกันภายใต้กลุ่มธงแดงแล้ว ธงแดงก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของโจรสลัดจีน ไม่ใช้ธงสีดำแบบโจรสลัดตะวันตก    

‘เจิ้งอี้ส้าว’ (Zheng Yi Sao) หรือชื่อเดิมว่า ‘ชิงชิห์’ (Ching Shih) ผู้นำยุคทองของโจรสลัดกวางตุ้งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เกิดเมื่อปีค.ศ.1775 (พ.ศ.2318) ในมณฑลทางแถบตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ฐานะยากจนและถูกขายเป็นโสเภณีอยู่ในซ่องนางโลมแห่งหนึ่ง ต่อมาได้พบกับเจิ้งอี้ (Zheng Yi) ผู้นำโจรสลัดกลุ่มธงแดงเมื่อค.ศ.1801 (พ.ศ.2344)  

เจิ้งอี้ตกหลุมรักชิงชิห์และขอเธอแต่งงาน ชิงชิห์ตอบตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า เธอจะต้องเป็นหุ้นส่วนของกิจการ ทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งของเขาที่ได้จากการปล้นต้องเป็นของเธอ และเธอจะต้องมีอำนาจเทียบเท่ากับเจิ้งอี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ค่อนข้างแปลกประหลาด อย่างไรก็ตามเจิ้งอี้ก็ตอบตกลง

แม้ว่าเจิ้งอี้จะเป็นโจรสลัด แต่ก็จัดว่าเป็นคนมีหน้ามีตาพอสมควร เพราะเป็นสมาชิกของตระกูลเจิ้งซึ่งมีอิทธิพลในวงการค้าทางทะเล ตระกูลนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองย้อนไปถึงเจิ้งเฉิงกง (Zheng Chenggong) หรือ ‘โคซิงก้า’ (Coxinga) ผู้นำทัพหมิงต่อต้านราชวงศ์ชิง ซึ่งยกพลข้ามทะเลไปตั้งมั่นอยู่ที่เกาะไต้หวัน  และในเวลาต่อมาหลานของเจิ้งเฉิงกงคนหนึ่งคือมักคู (Mac cu) ยังเป็นผู้ก่อตั้งเมืองท่าฮาเตียนขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างกัมพูชา เวียดนาม และสยามอีกด้วย   

เจิ้งเฉิงกงนั้นแต่งงานกับเจ้าหญิงในราชวงศ์หมิง ตระกูลเจิ้งจึงมีศักดิ์เป็นเชื้อพระวงศ์หมิงพลัดถิ่น ดังนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่คนอย่างเจิ้งอี้ จะหาภรรยาที่สูงศักดิ์จากบางตระกูลในจีน แต่เจิ้งอี้ ก็เลือกชิงชิห์  ซึ่งเป็นโสเภณีต่ำต้อย เรื่องนี้จึงถูกอธิบายอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นเพราะความรัก แต่หากพิจารณาดูบุคลิกความเฉลียวฉลาดและความสามารถในการบริหารของชิงชิห์แล้ว ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เจิ้งอี้ ตัดสินใจเลือกชิงชิห์ ก็เป็นได้ 

เหตุการณ์ต่อมาก็พิสูจน์ว่าเจิ้งอี้ คิดถูกแล้วที่เลือกเธอ อีกทั้งการเปลี่ยนชื่อแซ่มาเป็นตระกูลเจิ้ง ยังนับว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่เกิดประโยชน์ต่อเธอเองในฐานะหุ้นส่วนอย่างมาก    

แต่หลังแต่งงานไม่นาน ในปี ค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) เจิ้งอี้ เสียชีวิตจากการสู้รบที่เวียดนาม ช่วงแรกเมื่อผู้นำอย่างเจิ้งอี้เสียชีวิตลงนั้น โจรสลัดธงแดงซึ่งเป็นกลุ่มแกนสำคัญของโจรสลัดกวางตุ้งก็เกิดความระส่ำระสายพอสมควร

ระบบการเมืองภายในของโจรสลัดกวางตุ้งแตกต่างจากโจรสลัดนัสซาวอยู่ตรงที่โจรสลัดกวางตุ้งอยู่ในวัฒนธรรมแบบจีนมีการปกครองโดยยึดถือเครือญาติและวงศ์ตระกูลแบบคณาธิปไตย ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตยมีการโหวตแบบโจรสลัดนัสซาว เจิ้งอี้ส้าว ในฐานะหุ้นส่วนของเจิ้งอี้ จึงได้เข้าพบบรรดาผู้อาวุโสของตระกูลเจิ้ง เพื่อขอความสนับสนุนและรับรองอำนาจให้นางเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากสามี  อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมแบบ โจ สแตนด์ลีย์ (Standley, 1995) และลอร่า ดันคัมเบ ก็ต้องบอกว่า เจิ้งอี้ส้าว ได้เข้าไปสวม ‘กางเกง’ ของเจิ้งอี้นั่นเอง  

ไม่ปรากฏข้อมูลว่า เจิ้งอี้ส้าว โน้มน้าวตระกูลเจิ้งอย่างไร ในการขอเป็นผู้นำทัพโจรสลัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนในเวลานั้น เจิ้งอี้ส้าว อาจจะเคยแสดงให้คนในตระกูลเจิ้งเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นผู้มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำก็เป็นได้ เนื่องจากนางอยู่ในฐานะหุ้นส่วนของกิจการ ไม่ใช่หญิงรับใช้หรือภรรยาหลังบ้านตามอย่างหญิงในวัฒนธรรมจีนทั่วไป 

เมื่อเจิ้งอี้ นำกองเรือออกไปปล้น เจิ้งอี้ส้าวคือผู้ควบคุมดูแลและจัดสรรผลประโยชน์ จากที่โจรสลัดเป็นโลกของความรุนแรง มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงตัดสินกันในเรื่องต่าง ๆ การมีผู้นำที่เฉลียวฉลาดมีไหวพริบในการเจรจาต่อรองจึงเป็นประโยชน์ ทำให้ความรุนแรงไม่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นจนกระทบธุรกิจ 

ทั้งนี้ โลกของโจรสลัดแท้จริงแล้วเป็นโลกของธุรกิจการค้าอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อปล้นได้สินค้ามาแล้วก็จะต้องนำเอามาขายต่อในท้องตลาด ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ยังมีตลาดการค้าที่ไม่สนใจที่มาของสินค้าอยู่เป็นอันมาก ตลาดเหล่านี้จึงเป็นแหล่ง ‘ปล่อยของ’ ที่โจรสลัดปล้นได้มา 

บทบาทของเจิ้งอี้ส้าวในหมู่โจรสลัดในชั้นแรก ๆ จึงคือบทบาททางการค้า คือเป็นผู้ติดต่อประสานและ ‘ปล่อยของ’ ให้แก่โจรสลัด สำหรับโลกตะวันออกเป็นที่ยอมรับกันว่า การค้านั้นเป็นบทบาทที่ผู้หญิงมีความชำนาญมากกว่าผู้ชาย   

เมื่อเจิ้งอี้ เสียชีวิตลง ตระกูลเจิ้งจึงเปิดโอกาสให้แก่เจิ้งอี้ส้าว ขึ้นมาเป็นผู้นำ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการคงสภาพการบริหารจัดการที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยเจิ้งอี้ยังมีชีวิตอยู่ การเลือกเจิ้งอี้ส้าว จึงเป็นทางออกหนึ่งของตระกูลเจิ้งในการจัดการปัญหาความระส่ำระสายภายในของธุรกิจที่เกิดขึ้นหลังเจิ้งอี้ เสียชีวิต 

ขณะเดียวกัน ใช่ว่าเจิ้งอี้ จะไม่มีทายาทที่เป็นผู้ชาย เพราะมีบุตรบุญธรรมคือ ‘จางเป๋า’ (Zhang Pao) แต่จางเป๋านั้นกล่าวกันว่า เป็นคนบุคลิกไม่นิยมแสวงหาอำนาจลาภยศ ไม่ปรารถนาจะเป็นผู้นำ มีฝีมือในการสู้รบและการบัญชาการกองเรือที่ได้รับถ่ายทอดมาจากเจิ้งอี้ แต่ก็ไม่มีทักษะความชำนาญทางการค้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่มโจรสลัดกวางตุ้งเวลานั้น

เดิมทีเมื่อบิดาบุญธรรมเสียชีวิต จางเป๋าตั ดสินใจจะเลิกจากการเป็นโจรสลัดไปใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ต้องยังอยู่เป็นโจรสลัดต่อมาจนสิ้นชีวิต เพราะในเวลาต่อมาเขาแอบมีสัมพันธ์อย่างลับ ๆ เป็นชู้รักกับแม่บุญธรรมคือเจิ้งอี้ส้าว ในทางกลับกันก็กล่าวได้ว่าเจิ้งอี้ส้าว ใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือในการผูกมัดจางเป๋าให้อยู่ต่อและจงรักภักดีต่อเธอ ทุกสิ่งอย่างจึงดำเนินต่อมาได้ โดยจางเป๋าเป็นผู้บังคับบัญชานำกองเรือออกปล้น เมื่อได้สินค้ามาก็นำเข้าส่วนกลางให้เจิ้งอี้ส้าวแจกจ่ายแบ่งปัน

จากตัวเลขของทางการจีนระบุว่า โจรสลัดกลุ่มนี้มีกำลังคนเข้าร่วมมากถึงราว 8 หมื่นคน (บางแหล่งระบุตัวเลขไว้ที่ 7 หมื่นคน บางแหล่งระบุไว้ที่ 5 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนเรือที่อยู่ภายใต้โจรสลัดกลุ่มนี้มักจะตรงกันที่ 1,200 ลำ) ภายใต้การนำของเจิ้งอี้ส้าว ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของโจรสลัดกวางตุ้ง ได้เกิดการปฏิรูปสังคมโจรสลัดจากระบบยึดติดตัวบุคคลและพวกพ้องมาสู่การสร้างกฎระเบียบ การจัดการปกครองภายในด้วยกฎเกณฑ์ที่ยอมรับทั่วกัน ทรัพย์สินที่ปล้นได้มาจะต้องส่งเข้าส่วนกลางก่อนแล้วจึงแบ่งปันกัน หากยักยอกทรัพย์ หลบหนีการสู้รบ โทษตัดหู ห้ามทรมานเชลยที่จับมาได้ ห้ามข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงที่ตกเป็นเชลย ผู้ชายที่จับเชลยหญิงได้มีสิทธิขอเอานางไปเป็นภรรยาได้ แต่ผู้หญิงคนนั้นจะต้องเต็มใจ และเข้าพิธีแต่งงานรับเข้าบ้านและตระกูลตัวเองอย่างเป็นทางการ ไม่มีการบังคับฝืนใจ ผู้ใดฝ่าฝืนกฎเหล่านี้มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต ด้วยการปกครองภายในเช่นนี้ทำให้กลุ่มเจิ้งอี้ส้าว มีความเข้มแข็งและเป็นที่ยำเกรงแม้แต่กับทางการต้าชิง โปรตุเกสที่มาเก๊า อังกฤษที่เซี่ยงไฮ้และสิงคโปร์

กลุ่มเจิ้งอีส้าว เป็นโจรสลัดที่มีเครือข่ายปฏิบัติการครอบคลุมมาจนถึงทะเลจีนใต้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีชาวจีนโพ้นทะเลในแถบชายฝั่งเวียดนาม ตอนใต้กัมพูชา หัวเมืองชายทะเลตะวันออกของสยาม คาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมและเป็นเส้นสายด้านข่าวสารให้กับกองทัพโจรสลัดภายใต้เจิ้งอีส้าวเป็นอันมาก เจิ้งอี้ส้าว ได้วางคนของตนเองอยู่ในเมืองท่าสำคัญเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการ เพราะนอกจากกองเรือและอาวุธ สิ่งสำคัญและจำเป็นไม่น้อยต่อความอยู่รอดปลอดภัยและความได้เปรียบในปฏิบัติการแต่ละครั้งก็คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ

เรือพ่อค้าที่ไหนจะออกท่าเรือที่ไหนอย่างไร เรือใดเป็นเรือก้ง (เรือส่งเครื่องราชบรรณาการ) ที่ปกติจะต้องงดเว้นจากการถูกปล้น เพราะเมื่อเรือก้งถูกปล้นจะทำให้ราชสำนักต้าชิงไม่อาจนิ่งเฉยดูดาย จะเป็นเหตุให้ต้าชิงต้องส่งกำลังมาปราบปราม การไม่ปล้นเรือก้ง เป็นนโยบายที่ทำให้กลุ่มเจิ้งอี้ส้าว ได้รับการพระราชอภัยโทษ เนื่องจากทางการต้าชิงเห็นว่า เป็นกลุ่มมีคุณธรรมที่ยังพอจะเจรจาต่อรองและพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งก็เป็นเวลาหลังจากต้าชิงส่งกองทัพมาปราบปรามอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 ปีไม่สำเร็จ  

อาศัยความได้เปรียบได้เทคโนโลยีอาวุธ ชัยภูมิ และการข่าวแม่นยำ กองเรือรบภายใต้เจิ้งอี้ส้าว สามารถตีกองทัพเรือจีนแตกพ่ายกลับไปได้หลายครั้ง ช่วงนั้นเป็นเวลาที่จักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มคุกคามจีนอย่างหนัก ต้าชิงจึงหันมาเจรจาสงบศึกกับโจรสลัด เพื่อไม่ให้เกิดศึกสองด้าน อีกทั้งต้าชิงยังหวั่นเกรงว่าโจรสลัดอาจจะหันไปเข้ากับจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้เป็นภัยต่อต้าชิงมากยิ่งขึ้น จึงยื่นข้อเสนอพระราชทานอภัยโทษ ให้วางอาวุธแล้วกลับไปใช้ชีวิตปกติ เจิ้งอี้ส้าว ตกลงรับข้อเสนอ เมื่อวางอาวุธแล้วได้หันไปประกอบอาชีพเปิดบ่อนการพนันจนเสียชีวิตในปีค.ศ.1844 (พ.ศ.2387)

ข้อน่าสังเกตก็คือ วิธีการยุติปัญหาโจรสลัดของต้าชิงนับว่ามีความคล้ายคลึงกับวิธีการที่อังกฤษเคยใช้สยบโจรสลัดนัสซาวมาก่อนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อย่างการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการสู้รบปราบปรามมานับกว่าทศวรรษ นับแต่เบนจามิน ฮอร์นิโกลด์ กับพวกแก๊งฟลายอิ้ง ก่อตั้งสาธารณรัฐนัสซาวขึ้นเมื่อ ค.ศ.1706 แม้สาธารณรัฐแรกนี้จะถูกทำลายลงในอีก 12 ปีหลังการก่อตั้ง แต่ต่อมาได้กลายเป็นเงื่อนไขและแรงบันดาลใจแก่การปฏิวัติอเมริกาในศตวรรษเดียวกัน 

ราชสำนักต้าชิงในช่วงเวลาซึ่งกำลังเผชิญการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตก จะได้เคยศึกษาวิธีรับมือและจบปัญหาโจรสลัดของอังกฤษในช่วงเวลาก่อนหน้าที่ตนจะต้องมาเผชิญกับโจรสลัดกวางตุ้งภายใต้การนำของเจิ้งอี้ส้าวหรือไม่ อย่างไร ไม่มีข้อมูลหลักฐานที่จะนำมาวิเคราะห์ในเรื่องนี้ได้ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจเกิดจากความคล้ายคลึงกันของประสบการณ์ในแง่ที่ว่าการรับมือกับกลุ่มซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายธรรมดานั้น การใช้วิธีปราบปรามด้วยกำลังความรุนแรงมีแต่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐและชนชั้นนำขยายตัวใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องของเจิ้งอี้ส้าว ในประวัติศาสตร์จีนเมื่อเทียบกับเรื่องของแมรี รีด และแอนน์ บอนนี นับว่ายังเป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่พูดถึงหรือมีงานศึกษาเท่าที่ควร  ทั้งนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับที่จีนยังคงเป็นสังคมปิดและเผด็จการอย่างมากดังที่ทราบกัน

 

บทสรุปและส่งท้าย: ผู้หญิงกับขบถและนักปฏิวัติสังคมที่มาในรูปโจรสลัด

เมื่อสังคมบนบกเป็นสังคมชนชั้นเจ้าขุนมูลนายและปกครองอย่างกดขี่ ทำให้ผู้คนจำนวนมากสมัยนั้นตัดสินใจออกสู่ทะเลเพื่อแสวงหาเสรีภาพและชีวิตที่ดีกว่า ทะเลถึงแม้เต็มไปด้วยอันตรายแต่ปลอดภัยในแง่การปกครองสังคม เพราะเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่อำนาจรัฐสมัยนั้นยังแผ่ไปไม่ถึง การออกท่องทะเลผจญภัยกลายเป็นสัญลักษณ์โรแมนติกของการต่อสู้ดิ้นรนครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ 

ขณะเดียวกันการขยายตัวของการค้าทางทะเลนำมาซึ่งการการเกิดอีกชนชั้นคือ ‘พ่อค้ากระฎุมพี’ (Bourgeoisie trader) ซึ่งก็ทำให้เกิดอีกกลุ่มขึ้นมาควบคู่กันคือ ‘โจรสลัด’ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือพ่อค้าเสรีประเภทหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น การที่กลุ่มโจรสลัดทะเลแคริบเบียนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมา มีการใช้ระบบการปกครองภายในแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการโหวตเลือกผู้นำ พร้อมกับการปล้นเรือค้าทาส ทำการปลดปล่อยทาสเป็นจำนวนมาก ทำให้โจรสลัดเหล่านี้กลายเป็น ‘นักปฏิวัติทางสังคม’ (Social revolutionary) โดยเนื้อหาสาระ  

ในหมู่โจรสลัดทะเลแคริบเบียนมีผู้หญิงเข้าร่วมด้วย เพราะโลกของโจรสลัดเป็นโลกที่กลับตาลปัตร แตกต่างและตรงกันข้ามกับโลกสังคมบนบกที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น เรื่องหนึ่งที่กลับตาลปัตรนั้นก็คือผู้หญิงสามารถมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชาย เรื่องราวของโจรสลัดหญิงที่สวมกางเกงและแสดงบทบาทเป็นชายได้เท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความเป็นเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติของสรีระร่างกาย หากแต่เป็นเรื่องการครอบงำทางวัฒนธรรม ความเป็นหญิง-ชายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างและกำหนดบทบาทมาตรฐานโดยสังคมวัฒนธรรม เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอีกสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างก็ทำให้นิยามความเป็นชาย-หญิงนั้นต่างกันด้วย 

การที่โลกของโจรสลัดเป็นโลกที่กลับตาลปัตรสลับขั้วคนละแบบแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับสังคมบนบกในช่วงเวลายุคสมัยเดียวกัน ทำให้เมื่อผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมได้ผลักโลกของโจรสลัดออกไปไกลกว่ามิติเรื่องชนชั้น กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นไม่สำคัญ ชนชั้นยังคงเป็นประเด็นที่เห็นอยู่ในประเด็นเกี่ยวกับชีวิตของโจรสลัดอยู่นั่นแหละ เพียงแต่การมีส่วนร่วมของผู้หญิงได้ขยายมิติทางเพศให้เห็นมากขึ้นตามมาด้วย ถ้าจะหาว่าอะไรคือข้อแตกต่างระหว่างโจรสลัดชายกับหญิง เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือประเด็น Sexuality

ทั้งแมรี รีด แอนน์ บอนนี และเจิ้งอี้ส้าว ต่างรู้จักใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือเข้าถึงอำนาจ ปลดปล่อยตนเองจากการพันธนาการของระบบชายเป็นใหญ่ ไม่ยึดติดกับระบบผัวเดียวเมียเดียว แม้ว่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แมรี รีด กับแอนน์ บอนนี ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยเดียวกันและมีช่วงเวลาสุดท้ายในทะเลอยู่ในเรือลำเดียวกัน ทั้งสองมีความสัมพันธ์แบบคู่รักเลสเบี้ยนหรือไม่ อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่เห็นร่วมกันระหว่างนักประวัติศาสตร์การเดินเรือกับนักสตรีศึกษาที่สนใจก็คือว่า ศึกษาประวัติเรื่องราวชีวิตของโจรสลัดหญิง ต่างเห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศในชุมชนโจรสลัดซึ่งมีลักษณะเป็นโลกที่กลับตาลปัตรนั้นมีความหลากหลายและลื่นไหลอย่างมาก ยากจะกำหนดรูปแบบพฤติกรรมและวิถีชีวิตอย่างตายตัวได้ แม้ในตัวคน ๆ เดียวก็ตาม เพราะพวกเขา/เธอเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมนุษย์ที่มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา       

การเป็นโจรสลัดหรือขบถต่อสังคมอย่างถึงรากไม่เพียงทำให้เธอเหล่านี้มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์  หากแต่ในชีวิตจริงของพวกเธอเองก็ประสบความสำเร็จและพบความสุขบนวิถีทางที่แตกต่างไปจากที่สังคมกำหนด คือกรณีที่สะท้อนให้เห็นว่าคนเราแตกต่างได้โดยไม่จำเป็นว่าชีวิตจะต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรมเสมอไป เพียงแต่ต้องเข้าใจเงื่อนไขแวดล้อมต่าง ๆ  รู้จักใช้สิ่งที่ตัวเองมีหรือเป็นให้เป็นประโยชน์ และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้เท่านั้นเอง 

 

ภาพ: ภาพวาดจำลองโจรสลัดหญิงจากหนังสือ Pirates: An Illustrated History of Privateers, Buccaneers & Pirates from the Sixteenth Century to the Present ไฟล์ public domain

อ้างอิง:

Becker, Helaine. Pirate Queen: A Story of Zheng Yi Sao. Canada: Canlit Books, 2020.

Clements, Jonathan. Coxinga: And the Fall of the Ming Dynasty. New York: Sutton Publishing, 2005.

Dolin, Eric J. Black Flags, Blue Waters: The Epic History of America's Most Notorious Pirates. New York: Liveright, 2019.

Duncombe, Luara S. Pirate Women: the Princesses, Prostitutes, and Privateers Who Ruled the Seven Seas. London: Hardcover, 2017.

Hanna, Mark G. Pirate Nests and the Rise of the British Empire, 1570-1740. North Carolina: The Omohundro Institute of Early American History and Culture and the University of North Carolina Press, 2017.

Hao, Zhidong. Macau History and Society. Hong Kong: Hong Kong University Press, 2011.

Johnson, Steven. Enemy of All Mankind: A True Story of Piracy, Power, and History's First Global Manhunt. New York: Riverhead Books, 2020.

Klein, Shelly. The Most Evil Pirates in History. Singapore: Barnes & Noble, 2006.

Konstam, Augus. The Pirate World: A History of the Most Notorious Sea Robbers. New York: Osprey Publishing, 2019.

Little, Benerson. The Golden Age of Piracy: The Truth Behind Pirate Myths. London: Hardcover & E-Book, 2021.

McIsacc, Molly. “Ching Shih: The Former Prostitute Turned Ruthless Pirate Who Put Blackbeard to Shame” (Online, 27 August 2019) https://historydaily.org/ching-shih-the-pirate-queen (Searched, 29 April 2021).   

Murray, Dian H. Pirates of the South China Coast 1790-1810. Stanford: Stanford University Press, 1987.

Parker, Philip. The Great Trade Routes: a History of Cargoes and Commerce over Land and Sea. China: Conway, 2012.

Pringle, Patrick. The Story of Great Age of Piracy. New York: Norton, 1953.

Pusteblume, Sarah. “Zheng Yi Sao: Pirate Queen of the Qing Dynasty” (Online, 4 April 2018) http://historyheroines.com/2018/04/04/zheng-yi-sao/ (Searched, 29 April 2021).

River, Charles. History’s Famous Women Pirates: Grace O’Malley, Anne Bonny and Mary Read. New York: Groundwood Books, 2012.

Rose, Jamaica , Michael. The Book of Pirates. Utah: Gibbs Smith, 2010.

Simon, Rebecca. Why We Love Pirates? The Hunt for Captain Kidd and How He Changed Piracy Forever (Maritime History and Piracy, Globalization, Caribbean History). New York: Mango Press, 2020.

Smith, Amy. “Meet Ching Shih: the prostitute-turned-pirate who banned rape in her 50,000-man fleet” (Online, 25 July 2018) https://www.newhistorian.com/2018/07/25/ching-shih-pirate-lord/ (Searched, 29 April 2021).

Standley, Jo. Bold in Her Britches: Women Pirates Across the World. San Francisco: Pandora Press, 1995.  

Weatherly, Myra. Women of the Sea: Ten Pirate Stories. Greensboro: Morgan Reynolds Incorporated, 2006.

Wolters, O. W. The Fall of Srivijaya in Malay History. New York: Cornell University Press, 1970.

Woodard, Colin. The Republic of Pirates: Being the True and Surprising Story of the Caribbean Pirates and the Man Who Brought Them Down. New York: Houghton Mifflin Harcour, 2007.