ค้นข้อมูล ‘วันมาฆบูชา’ พระ 1,250 รูป มารวมตัวกัน ‘โดยมิได้นัดหมาย’ ด้วยสาเหตุอะไรได้บ้าง?

ค้นข้อมูล ‘วันมาฆบูชา’ พระ 1,250 รูป มารวมตัวกัน ‘โดยมิได้นัดหมาย’ ด้วยสาเหตุอะไรได้บ้าง?

‘วันมาฆบูชา’ อีกหนึ่งวันสำคัญทางศาสนาที่ชาวพุทธน้อมรำลึกเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ซึ่งรวมถึงเรื่องพระภิกษุ 1,250 รูปมารวมกันโดยมิได้นัดหมาย แล้ว ‘การรวมกันโดยมิได้นัดหมาย’ มีข้อมูลบ่งชี้ถึงสาเหตุที่มาไว้อย่างไรบ้าง?

  • เหตุการณ์เรื่อง ‘พระภิกษุ 1,250 รูปมารวมกันโดยมิได้นัดหมาย’ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ ‘วันมาฆบูชา’ วันสำคัญของชาวพุทธโดยเฉพาะในไทย
  • ข้อมูลบ่งชี้เรื่อง ‘พระภิกษุ 1,250 รูปมารวมกันโดยมิได้นัดหมาย’ มีแตกต่างหลากหลายแหล่งกันออกไป เช่นเดียวกับมุมมองของบุคคลต่าง ๆ ที่เคยวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญส่วนนี้ไว้ 

‘วันมาฆบูชา’ ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวันที่ชาวพุทธโดยเฉพาะในไทยได้น้อมระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในสมัยพุทธกาล 4 ประการหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘จาตุรงคสันนิบาต’ คือการประชุมพร้อมกันแห่งองค์ 4 ได้แก่

  1. พระภิกษุจำนวน 1,250 รูปได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา
  3. พระภิกษุเหล่านั้นอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (คือผู้ที่พระพุทธเจ้าอุปสมบทให้)
  4. วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ และเมื่อครบองค์ 4 แล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

เชื่อว่าหลายคนยังไม่ทราบว่า ‘วันมาฆบูชา’ เพิ่งจะถูกกำหนดขึ้นมาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาเมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง สืบเนื่องในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชาตั้งแต่แรก ซึ่งปรากฏข้อมูลผ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ พระนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนิพนธ์นี้เป็นการเล่าเรื่องราวพระราชพิธีที่จัดขึ้นในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงเลือกวันเพ็ญเดือน 3 จัดพระราชกุศลมาฆบูชา และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พุทธศาสนิกชนในไทยก็มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

แต่การกำหนดวันมาฆบูชาที่แสดงให้น้อมระลึกถึงจาตุรงคสันนิบาตและการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้าตามที่กล่าวมานั้น เชื่อได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ศึกษาในเรื่องจาตุรงคสันนิบาตมาอย่างดี เพราะพระองค์เองเคยบวชศึกษาพระปริยัติธรรมตลอด 27 พรรษา จึงสามารถศึกษาค้นคว้ารวบรวมเนื้อหาเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตไว้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงในวันมาฆบูชานี้ไว้ได้

หากจะเจาะคำว่า ‘จาตุรงคสันนิบาต’ กลับไม่พบคำนี้ในพระไตรปิฎก แต่กลับถูกพบในคัมภีร์อรรถกถามัชฌิมนิกาย ทีฆนขสูตร ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาต โดยมีเนื้อหาดังนี้

ภควา ปน อิมํ เทสนํ สุริเย ธรมาเนเยว นิฏฺฐเปตฺวา คิชฺฌกูฏา โอรุยฺห เวฬุวนํ คนฺตฺวา สาวกสนฺนิปาตํ อกาสิ  [จตุรงฺคสมนฺนาคโต สนฺนิปาโต] อโหสิ

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อดวงอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ ทรงจบเทศนานี้ แล้วเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวก ได้มีสันนิบาตประกอบด้วยองค์ 4

หลังจากนั้นท่านก็อธิบายถึงองค์ 4 ประการ ได้แก่อะไรบ้าง ว่า

ตตฺริมานิ องฺคานิ  มาฆนกฺขตฺเตน ยุตฺโต ปุณฺณมีอุโปสถทิวโส, เกนจิ อนามนฺติตานิ หุตฺวา อตฺตโนเยว ธมฺมตาย สนฺนิปติตานิ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ, เตสุ เอโกปิ ปุถุชฺชโน วา โสตาปนฺนสกทาคามิอนาคามิสุกฺขวิปสฺสกอรหนฺเตสุ วา อญฺญตโร นตฺถิ  สพฺเพ ฉฬภิญฺญาว,  เอโกปิ เจตฺถ สตฺถเกน เกเส ฉินฺทิตฺวา ปพฺพชิโต นาม นตฺถิ, สพฺเพ เอหิภิกฺขูเยวาติ

องค์ 4 เหล่านี้คือ วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำประกอบด้วยมาฆนักษัตร, ภิกษุ 1,250 รูป ประชุมกันตามธรรมดาของตน ๆ ไม่มีใครนัดหมายมา, ภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้อภิญญาหกทั้งนั้น, มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ.

และได้พบคำที่มีความหมายคล้าย ๆ กับคำว่า จาตุรงคสันนิบาต ในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย มหาปทานสูตร ว่า 

สาวกสนฺนิปาตปริจฺเฉเท วิปสฺสิสฺส ภควโต [ปฐมสนฺนิปาโต จตุรงฺคิโก] อโหสิ, สพฺเพ เอหิภิกฺขู, สพฺเพ อิทฺธิยา นิพฺพตฺตปตฺตจีวรา, สพฺเพ อนามนฺติตาว อาคตา, อิติ เต จ โข ปณณรเส อุโปสถทิวเส

พึงทราบวินิจฉัยในการกำหนดการประชุมสาวก การประชุมครั้งแรกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ได้ประกอบด้วยองค์ 4 คือ  ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ, ภิกษุทั้งหมดมีบาตรและจีวรบังเกิดด้วยฤทธิ์, ภิกษุทั้งหมดไม่ได้นัดหมายกันมา, อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกันในวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ

ข้อความนี้แม้จะกล่าวถึงพระวิปัสสีพุทธเจ้าเท่านั้น แต่อนุมานได้ว่า แม้ในคราวของพระโคดมพุทธเจ้าก็มีการปฏิบัติทำนองนี้เหมือนกัน เพราะว่าการประชุมแห่งพระสาวกทั้งหลายเพื่อฟังโอวาทปาฏิโมกข์ ไม่ว่าในพุทธกาลสมัยใดก็ตาม ก็มีการประชุมเช่นนี้เหมือนกัน นั่นหมายความว่า เหตุการณ์สำคัญ 4 ประการหรือจาตุรงคสันนิบาตนั้น ได้ถูกใส่เพิ่มเข้ามาโดยพระอรรถกถาจารย์นั่นเอง

ในเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตนั้น พระภิกษุจำนวน 1,250 รูปที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย หากดูผิวเผินแล้วพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเชื่อไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สาเหตุนั้นอาจเป็นไปได้ว่า การเล่าพุทธประวัติของอาจารย์บางพวกบางครั้งอาจข้ามเนื้อหาที่สำคัญหรือข้อมูลเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตมีไม่มากพอ จึงทำให้ผู้ศึกษาตามเข้าใจผิดได้ว่า การประชุมกันโดยมิได้นัดหมายของเหล่าพระสาวกในครั้งนั้นเกิดจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

แต่เมื่อกล่าวถึงพระภิกษุจำนวน 1,250 รูปตามเอกสาร จะพบว่าพระอรรถกถาจารย์ได้ขยายความไว้ใน ในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย มหาปทานสูตร โดยตั้งคำบาลีว่า ‘อฑฺฒเตรสานิภิกฺขุสตานิ’ ซึ่งท่านอธิบายว่า

“ในคราวสมัยการประชุมกันของพระโคดมพระพุทธเจ้า ได้มีพระอรหันต์จำนวน 1,250 ผู้มาร่วมประชุมกัน ประกอบไปด้วย บุราณชฎิล (ชฎิล 3 พี่น้องมีอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น) จำนวน 1,000 รูป และบริวารของพระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ) จำนวน 250 รูป ดังนั้นคำว่า ภิกษุทั้งหมด ที่ปรากฏในข้อความนี้ คือพระอรหันตขีณาสพ 1,250 รูป”

ข้อความที่แสดงมานี้ จะพบได้ว่า ภิกษุผู้ที่ในจำนวน 1,250 รูปทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งสิ้น ถึงแม้ในข้อความที่แสดงมานี้ ไม่มีคำว่า ‘ผู้ได้อภิญญา’ แต่เมื่อไปดูในคัมภีร์อรรถกถา มัชฌิมนิกาย ทีฆนขสูตร ระบุว่า “เป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา” ซึ่งตรงกับเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตที่บอกไว้ว่า “พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา”

และเมื่อไปดูวิธีการอุปสมบทของท่านเหล่านั้นก็ล้วนอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทให้ ตามประวัติการอุปสมบทของกลุ่มบุราณชฎิล หรือชฎิล 3 พี่น้อง ที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปโปรดแสดงธรรมแก่ท่านเหล่านั้นหลังจากที่ตรัสรู้ใหม่ ๆ และชฎิลเหล่านั้นได้ฟังธรรมก็ได้บรรลุธรรม จึงทูลขอการอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ทรงอุปสมบทให้ชฎิลเหล่านั้น จำนวน 1,000 รูป

ส่วนอีก 250 รูปที่เป็นบริวารของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาว่า อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาเหมือนกัน แต่ว่าตามประวัติเฉพาะบุคคล ยังไม่ปรากฏชัดเท่าที่ควรว่าอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาในเวลาใด แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจเป็นช่วงที่ภิกษุ 250 รูปนั้น เมื่อครั้งเป็นปริพพาชกหนีออกจากสัญชัยปริพพาชก ผู้เป็นอาจารย์เก่า ไปเป็นบริวารติดตามพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ

ต่อมา ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าร่วมกับพระสารีบุตรที่พระองค์ทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพพาชกที่ถ้ำสูกรขาตา แล้วได้บรรลุธรรมจึงได้รับการอุปสมบทเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาก็เป็นได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภิกษุ 1,250 รูป มีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตขีณาสพผู้ได้อภิญญา ทั้งได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา แต่การประชุมกันโดยมิได้นัดหมายของเหล่าพระสาวกนั้น ก็ชวนให้สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรว่า ท่านเหล่านั้นจะมาประชุมพร้อมเพียงกันโดยมิได้นัดหมาย

อันที่จริงในเรื่องนี้มีโบราณาจารย์หลายท่านได้วินิจฉัยไว้หลายนัย อย่างในคัมภีร์อรรถกถามัชฌิมนิกาย ทีฆนขสูตร ท่านอธิบายไว้ว่า “การที่ไม่มีใครนัดหมายมาเป็นเพราะการประชุมนี้เป็นการประชุมตามธรรมดา”

ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาต มีข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย มหาปทานสูตร ว่า

“พระผู้มีพระเจ้าทรงทราบถึงการบรรลุพระอรหัตของพระสารีบุตรแล้ว เสด็จขึ้นไปยังเวหาสไปปรากฏ ณ พระวิหารเวฬุวัน พระเถระรำพึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปไหนหนอ พอทราบความที่พระองค์ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน แม้ท่านเองก็เหาะสู่เวหาสไปปรากฏ ณ พระวิหารเวฬุวันเหมือนกัน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายถึงการประชุมนั้น จึงตรัสว่า ภิกษุ 1,250 รูปเป็นต้น นี้คือกำหนดการประชุมของพระสาวก”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อความนี้จะอิงไปทางอภินิหารไปบ้าง เพราะเมื่อว่าโดยคุณสมบัติของพระอรหันตขีณาสพผู้ได้อภิญญาแล้ว ภิกษุจำนวน 1,250 รูปซึ่งมีคุณสมบัติเช่นนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะไปยังเวฬุวนาราม แม้จะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม และเมื่อทราบถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเวฬุวนารามเพื่อทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ จึงทยอยมารวมตัวเพื่อที่จะมาฟังโอวาทปาฏิโมกข์ด้วยอิทธิฤทธิ์ของตนนั่นเอง อย่างที่พระสารีบุตรก็ใช้ฤทธิ์เหาะไปยังเวฬุวนาราม

และยังมีปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาอีกท่านหนึ่งในยุครัชกาลที่ 5 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ได้วินิจฉัยในความตอนหนึ่งแห่งหนังสือพุทธประวัติ มัชฌิมโพธิกาลไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“มหาสันนิบาตนี้ได้มีแล้ว ณ เวฬุวนาราม ในวันมาฆปุรณมี ดิถีเพ็ญแห่งมาฆมาส คือเดือนสาม ที่เป็นวันทำพิธีศิวาราตรีของพวกพราหมณ์เวลาบ่าย การประชุมนี้ มีชื่อเล่าลือมาในพระศาสนา จนถึงยกขึ้นกล่าวเป็นพระเกียรติของพระศาสดา ในมหาปทานสูตร และเป็นอภิรักขิตสมัยที่ทำบูชาของวัดทั้งหลาย เรียกว่ามาฆบูชา พิจารณาองค์สี่และความยกย่องประกอบกัน น่าจะสันนิษฐานเห็นว่า พระสาวกผู้มาประชุมนั้น คือพระสาวกผู้อันพระศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ในชนบททั้งหลาย ต่างมาเพื่อเฝ้าเยือนพระศาสดา แต่เผอิญมามากด้วยกันจนเกิดความรู้สึกประหลาดและชื่นบานของพระศาสดาและพระสาวก ผู้ได้พบกันและกัน

เมื่อสาวกมาอยู่พร้อมกันมากเช่นนี้เป็นโอกาสที่สมควรดี พระศาสดาจึงได้ตรัสให้มีประชุมและทรงแสดงหัวใจพระศาสนาเพื่อพระสาวกจะได้ถือเอาเป็นหลักสำหรับสอนพระศาสนา”

เมื่อพิจารณาจากข้อวินิจฉัยนี้ ทำให้เห็นว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีความเชื่อว่า ในวันที่เป็นการประชุมจาตุรงคสันนิบาตนั้น เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 3 (มาฆมาส) ซึ่งเป็นวันที่พวกพราหมณ์ทำพิธีศิวาราตรี (บูชาพระศิวะ) ซึ่งส่วนใหญ่ในภิกษุ 1,250 รูป ก็อยู่ในตระกูลพราหมณ์มาก่อน เพราะโดยปกติแล้ว ครั้งเมื่อสมัยเป็นพราหมณ์ ไม่ว่าตนจะอยู่ที่ใดก็ตาม เมื่อถึงวันนี้จะต้องมารวมตัวกันประกอบพิธี พอถึงคราวเมื่อตนเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาก็ยึดถือเอาธรรมเนียมเดิมที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่มาปรับเปลี่ยนใช้ในพุทธศาสนาแทน

ผู้เขียนจึงสรุปว่า การมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายของพระสาวกเหล่านั้น นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาให้ความเห็นหลัก ๆ ไว้ 2 ทาง คือ

(1) ทางอภินิหารที่ค่อนข้างเข้าใจได้ยากเพราะเป็นเรื่องการใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เฉพาะบุคคลและ

(2) ทางธรรมเนียมประเพณีที่คนในสมัยนั้นปฏิบัติกันเป็นปกติไม่ได้อิงอภินิหาร 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นถึงการประชุมจาตุรงคสันนิบาตทั้ง 2 ก็มีความเหมือนกันอยู่ คือเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตในวันมาฆบูชานั้นเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ ไม่ว่าพระสาวกผู้มาประชุมทั้งหลายเหล่านั้นจะมาด้วยฤทธิ์หรือไม่ได้มาด้วยฤทธิ์ก็ตามก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ หากมิได้มาด้วยฤทธิ์ยิ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เข้าไปอีก เพราะในสมัยนั้นไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีเครื่องมือสื่อสารใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ภิกษุก็สามารถมารวมตัวกันได้พร้อมเพรียงกันได้ถึง 1,250 รูป ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความพร้อมด้านเครื่องมือสื่อสาร การจะให้มาพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ก็เป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ของตัวเอง แต่การมาประชุมของพระสาวกเหล่านั้น มีจุดประสงค์เพื่อที่จะมาฟังโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และจะได้นำไปประกาศเผยแผ่ส่งต่อให้รุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งมาถึงคนรุ่นปัจจุบันอย่างพวกเราได้รับทราบว่า แท้จริงแล้ว หลักพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคือ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ             กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ                 เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.

การไม่ทำความชั่ว ทำความดีให้เต็มเปี่ยม บำเพ็ญจิตใจของตนให้ผ่องใส นี่เป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

 

ภาพ: ภาพประกอบเนื้อหา ภาพจิตรกรรมพระพุทธเจ้าขณะสั่งสอนสาวก ไฟล์จาก Getty Images

อ้างอิง:

84000.org (1)

84000.org (2)

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง, 2463.

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส. พุทธประวัติ มัชฌิมโพธิกาล (พุทธประวัติเล่ม ๒). กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2493.

พงษ์ศิริ ยอดสา และวิไลพร สุจริตธรรมกุล. จาตุรงคสันนิบาต (1): ที่มาของพุทธประเพณีมาฆบูชาในสังคมไทย. ธรรมธารา วารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (ฉบับรวมที่ 15) ปี พ.ศ. 2565. https://so01.tci-thaijo.org