23 มี.ค. 2566 | 16:32 น.
- กว่า 90 ปีที่โบ๊เบ๊เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะชาวบ้านละแวกนั้นขาดแคลนสินค้า
- ความนิยมของตลาดโบ๊เบ๊ทำให้ต้องขยายมาเรื่อย ๆ จนมีโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ และสร้างแลนด์มาร์กใหม่ โบ๊เบ๊ สเตชั่น
นึกถึงกลิ่นอายตลาดริมคลองที่มีเรือแล่นผ่านไปมา เสียงเจี๊ยวจ๊าวจากพ่อค้าแม่ค้าที่มาค้าขายเสื้อผ้าและเครื่องใช้อื่น ๆ หลายประเภทตั้งแต่เช้ามืดและวนไปตลอดทั้งวัน ตลาดเสื้อผ้าเก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทยต้องยกให้กับ ‘ตลาดโบ๊เบ๊’ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ยังมีสงครามโลกครั้งที่ 2 จนตอนนี้ก็เปลี่ยนผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ
ในวันที่ โบ๊เบ๊ กำลังปฏิวัติตัวเองปั้นแลนด์มาร์กใหม่ให้กับกรุงเทพฯ ที่ใจกลางชุมชนโบ๊เบ๊ สร้าง ‘โบ๊เบ๊ สเตชั่น’ ตลาดในร่มที่ดูดีกว่าสะดวกสบายขายของตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ The People นึกย้อนไปถึงยุคของตลาดโบ๊เบ๊ในช่วงเริ่มต้นที่มาจากชาวบ้านละแวกนั้นมาแบขายของกับดิน วิถีดั้งเดิมของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ
โบ๊เบ๊เกิดในยุคสงคราม
มีข้อมูลอ้างว่า ตลาดโบ๊เบ๊เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2470 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรยากาศในตอนนั้นยังเป็นชาวบ้านละแวกนั้นที่ออกมาค้าขายแบขายกับดิน ไม่มีโต๊ะไม่มีแผงลอยเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งย้อนไปจุดเริ่มต้นจริง ๆ ว่าเพราะอะไรชาวบ้านถึงเริ่มค้าขายกัน
งานวิจัยของ ‘บุญยง ชื่นสุวิมล’ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสินค้าที่ขาดแคลนอยู่มาก ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึง ของกินที่ต้องมีในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น ชาวบ้านชุมชนโบ๊เบ๊จึงเริ่มทยอยเอาเสื้อผ้าสภาพดี เครื่องนุ่งห่มอื่น ๆ ที่พอจะขายได้ออกมาแบขายหรือบางครั้งก็เอาไปแลกกับ ไข่, น้ำตาล, น้ำดื่ม ฯลฯ
มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ตั้งแผงขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บริเวณตรอกขี้เถ้า และก็ได้ย้ายมาเรื่อย ๆ จนมาถึงลานดินหน้าวัดบรมนิวาสฯ ที่ติดกับคลองแสนแสบ สภาพแวดล้อมในช่วงนั้นไม่เป็นระเบียบ ข้างของร้านค้ากระจัดกระจาย ซึ่งทางวัดจึงเริ่มเข้ามาจัดระเบียบและเก็บค่าเช่าที่
พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนก็ย้ายมาเรื่อย ๆ จนมาถึงโบ๊เบ๊ที่มีชุมชนอาศัยอยู่หลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ดังนั้น บริเวณโบ๊เบ๊ ก็จะมีโรงงานตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ โรงซ่อมเรือ, โรงเลื่อย, โรงปูนกินหมาก, โรงกระทะ, โรงต้มถั่ว เป็นต้น
ในปี 2515 ถือว่าเป็นยุคแห่งผ้ายีนส์ ที่เริ่มเข้ามาในเมืองไทยและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งก็จะมีนิสิตนักศึกษาที่นิยมใส่กางเกงยีนส์จนกลายเป็นแฟชั่นของสังคม ในยุคดังกล่าวกางเกงยีนส์ยอดนิยมคือ Hara Ranger และ Levy โดยมีแหล่งจำหน่ายที่สำคัญคือ เซ็นทรัลและไดมารู สำหรับแหล่งผลิตยีนส์แหล่งใหญ่อยู่ที่ยศเส เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 2 โรง โดยในช่วงปี 2524-2540 นับเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดของตลาดกลางในฐานะที่เป็นตลาดค้าส่งย่านโบ๊เบ๊ ทำให้ยุคนั้นกลายเป็นยุคที่มีการค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทยีนส์มากที่สุดในกรุงเทพฯ
หลังจากนั้น ในปี 2535 ตลาดโบ๊เบ๊เริ่มขยายออกไปข้ามสะพานเจริญราษฎร์ เป็นบริเวณ ‘โบ๊เบ๊ทาวเวอร์’ ซึ่งเดิมเรียกว่าตลาดผลไม้หลังตลาดมหานาค และปัจจุบันก็ยังมีอยู่
โบ๊เบ๊มาจากชื่อเรียกเสียงเพี้ยน
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ bobaestation ได้เล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อ ‘ตลาดโบ๊เบ๊’ เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า ‘บ๊งเบ้ง’ ซึ่งชื่อนี้น่าจะมีที่มาเมื่อนานมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเก่าตั้งแต่สมัยแรก ๆ ที่เปิดตลาด โดยพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาค้าขายก็มักจะส่งเสียงโหวกเหวกจนกระทั่งแถบนี้ได้ชื่อเรียกว่า ‘ตลาดบ๊งเบ้ง’ นั่นเอง
ขณะเดียวกัน ถ้าดูจากจากตัวอักษรจีน 母 馬 ที่ปรากฏอยู่บนป้ายชื่อตลาดที่อยู่บนสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมทุกสะพานแล้ว อักขระจีน 母 馬 นั้นออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋วได้ว่า ‘บ๋อแบ้’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘แม่ม้า’
จึงมีการสันนิษฐานว่า อีกความหมายหนึ่งของชื่อโบ๊เบ๊ ก็น่าจะเป็นการเรียกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า ‘บ๋อแบ้’ ส่วนคำถามว่าทำไมต้องเป็น ‘แม่ม้า’ ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า แม่ม้าคืออะไร และทำไมต้องชื่อนี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับโบ๊เบ๊ เราจึงคิดว่า บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหากเราเก็บเป็นความลับ หรือสิ่งที่ไขข้อสงสัยไม่ได้มันก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้อยากค้นหาต่อไปเรื่อย ๆ ได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าใหญ่ที่สุดของโบ๊เบ๊ น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวในรอบ 96 ปีก็ว่าได้นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งตลาดโบ๊เบ๊ยุคแรก ก็คือ โบ๊เบ๊ สเตชั่น ที่จะเป็นตลาดในร่มรูปแบบใหม่ย่านโบ๊เบ๊ที่จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดให้บริการในเฟสแรกวันที่ 30 มีนาคม 2566 นี้
เชื่อว่า โบ๊เบ๊ สเตชั่น ก็อาจจะเข้ามาสร้างเสน่ห์ใหม่ ๆ ให้กับตลาดโบ๊เบ๊ได้ต่อจากนี้ จากที่เคยเป็นตลาดค้าส่งเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และไม่ได้เน้นแค่เสื้อผ้าแฟชั่นแบบ ‘ประตูน้ำ – แพลตินั่ม’ แต่เป็นเสื้อผ้าทุกประเภทรวมศูนย์อยู่ที่นี่ ดังนั้น การปฏิวัติครั้งนี้น่าสนใจตรงนี้การดึงดูดกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาจะมากขึ้น ไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าแต่จะเป็นกลุ่มคนเที่ยวที่อยากไปชิว หรืออยากจะแค่กินเที่ยวช้อปก็ได้
อ้างอิง: