ช่วง ‘สงกรานต์’ สมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ ‘มนุษย์อยุธยา’ ทำอะไรต่างจากยุคปัจจุบันบ้าง?

ช่วง ‘สงกรานต์’ สมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ ‘มนุษย์อยุธยา’ ทำอะไรต่างจากยุคปัจจุบันบ้าง?

ประเพณี ‘สงกรานต์’ ที่ฮิตในยุคปัจจุบัน หากย้อนไปในอดีต มนุษย์สมัยอยุธยา ทำกิจกรรมแตกต่างจากยุคนี้อย่างไร และสงกรานต์ตามความหมายในปัจจุบันนั้น สืบทอดมาจากยุคไหนกันแน่ จะรัตนโกสินทร์ หรืออยุธยา

  • ประเพณีสงกรานต์ในปัจจุบันมีความหมายที่แตกต่างจากสงกรานต์ในอดีต 
  • เมษายนในอดีตมักเป็นเดือนแห่งความทุกข์ นำมาสู่การประดิษฐ์ประเพณีเพื่อให้ผู้คนพบความสงบท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย จากเดิมที่ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงต้องระวังเหตุเพทภัยต่าง ๆ ก็เปลี่ยนมาสู่ประเพณีแห่งความสุขและความร่มเย็นในสมัยรัตนโกสินทร์

‘มนุษย์อยุธยา’ กับ เดือนสี่-เดือนห้า

เช่นเดียวกับสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ในแง่ที่ประเพณีการละเล่นหรือกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ มักจะอิงแบบขนบธรรมเนียมที่เรียกว่า ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ หรือดัดแปลงแก้ไขมาจากพระราชพิธีสิบสองเดือนอีกต่อหนึ่ง ยิ่งเป็นประเพณีที่ยึดโยงกับมิติเวลาฤดูกาลด้วยแล้ว พระราชพิธีสิบสองเดือนยิ่งมีความสำคัญเกี่ยวข้อง 

‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ หรือ ‘ทวาทศมาส’ เป็นความพยายามที่จะสร้างระบบแบบแผนการดำเนินกิจกรรมเนื่องในการพระราชพิธีให้เป็นความต่อเนื่องเรียงลำดับไปตามเวลาแบบตามปฏิทิน เป็นงานประจำของราชสำนักที่กำหนดขึ้นคร่าว ๆ เพื่อความสะดวกในการจัดเตรียมการ เพราะการจัดทำพระราชพิธีถือเป็นหัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของการปกครองแบบอยุธยา 

ตามปฏิทินจันทรคติที่สืบมาจากคติพราหมณ์ จะถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็น ‘วันเถลิงศก’ หรือ ‘วันขึ้นปีใหม่’ เดือน 5 เริ่มในเดือนมีนาคมหรือบางปีจะเป็นเดือนเมษายน มี 29 วัน ตามคตินี้บางครั้งจะเรียกช่วงเวลาดังกล่าวซ้อนทับกับเดือน 4  ขณะที่ปฏิทินจีน เดือน 5 จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน

เข้าใจว่าคติที่ถือว่าสงกรานต์คือเดือน 5 สืบเนื่องจากอิทธิพลของปฏิทินจีน แต่ทั้งปฏิทินจีนและปฏิทินไทย (ที่สืบมาจากพราหมณ์) เมื่อเทียบกับปฏิทินเกรกอเรียนของโลกตะวันตก ล้วนแต่ไม่ตรงกับเดือนเมษายนเสียทีเดียว แต่เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเดือนที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างปฏิทินจีนกับไทย เมื่อไทยหันมาใช้ปฏิทินตะวันตก ก็เลยถือว่าสงกรานต์อยู่ในเดือนเมษายน และกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์

ประเด็นนี้มีความสำคัญ เพราะเมื่ออ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า หลักฐานบางชิ้นกล่าวถึงประเพณีแบบสงกรานต์อยู่ในเดือน 4 แต่หลักฐานอีกชิ้นกลับบอกว่าอยู่ในเดือน 5 ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะผู้บันทึกหลักฐานสับสน เป็นเพราะขึ้นกับว่าผู้บันทึกอิงตามปฏิทินคติใดเป็นสำคัญ ถ้าเป็นคติพราหมณ์แบบเดิมจะเป็นเดือน 4 แต่ถ้าอิงตามปฏิทินจีนก็จะต้องเป็นเดือน 5 และคำว่า ‘เดือนสงกรานต์’ หรือ ‘ช่วงสงกรานต์’ ก็จึงกลายเป็นคำกลาง ๆ ที่รู้กันว่าหมายถึงเดือนสี่หรือเดือนห้า

ช่วงสงกรานต์ใน ‘กฎมณเฑียรบาล’

หลักฐานแรกสุดเกี่ยวกับการพระราชพิธีสมัยอยุธยาคือ ‘กฎมณเฑียรบาล’ ตามที่มีต้นฉบับตกทอดอยู่ในประชุมกฎหมายเก่าที่รวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 อย่างที่รู้จักกันในชื่อ ‘ประชุมกฎหมายตราสามดวง’ กฎมณเฑียรบาลแรกตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในนั้นได้กล่าวถึงการจัดงานพิธีในช่วงเดือนสี่ว่า ‘ลดแจตรออกสนามการพระราชพิทธีเผดจ์ศก’  

ถอดความออกมาได้เป็น 4 คำสำคัญคือ

(1) ‘ลดแจตร’ ตรงกับ ‘รดเจตร’ คำว่า ‘รด’ ก็คำเดียวกับ ‘รดน้ำ’ ส่วน ‘เจตร’ มาจาก ‘เจ-ตะ-ระ’ หมายถึง สิ่งที่คิด หรือจิตใจ หรือสติปัญญา ตัวพิธีกรรมจะมีการอาราธนาพระสงฆ์มารดน้ำขอพระสักการะ

(2) ‘ออกสนาม’ ก็คือเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพระราชพิธี 

(3) ‘พระราชพิทธี’ ตรงกับ ‘พระราชพิธี’ อันนี้ไม่ต้องแปล 

(4) ‘เผดจ์ศก’ ตรงกับ ‘เผดจศก’ หรือ ‘เถลิงศก’ หมายถึง ตัดปี, สิ้นปี, เริ่มปีใหม่

รวมความแล้วก็หมายถึงการพระราชพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกเป็นประธานรดน้ำสักการะบุคคลผู้เป็นสติปัญญา ซึ่งสมัยอยุธยา ปัญญาชนจะอยู่ในรูปพระภิกษุสงฆ์ 

ในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น ยังไม่ปรากฏมีพิธี ‘สํพรรษฉิน’ (สัมพัจฉรฉินท์) น่าจะเพราะสมัยเมื่อแรกตรากฎมณเฑียรบาลในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยังไม่มีพิธีนี้ เพิ่งมีในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นพิธีที่ได้รับอิทธิพลจากประเพณีจีนที่มีตรุษจีน พิธีสัมพัจฉรฉินท์เรียกอีกอย่างว่า ‘พิธีตรุษ’  

 

ช่วงสงกรานต์ใน ‘โคลงทวาทศมาส’

หลักฐานชิ้นต่อมาคือ ‘โคลงทวาทศมาส’ แต่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ โดยมีรายนามกวีผู้แต่งร่วมกัน 3 คน (ที่คาดว่าเป็นขุนนางในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์) คือ ขุนพรหมมนตรี, ขุนศรีกระวีราช และขุนสารประเสริฐ ได้มีการแยกพระราชพิธีเผด็จศกออกเป็นอีกพิธีหนึ่งต่างหากแล้วเรียกเป็น ‘พิธีตรุษ’ เช่นที่มีโคลงกวีระบุไว้ดังนี้:  

ฤดูเดือนสี่ซั้น          มาดล แม่ฮา

ตรุษโตรษเรียมแดยัน    ด่าวดิ้น

ทั้งนี้เข้าใจว่า ‘พิธีตรุษ’ ในสมัยพระนารายณ์ยังไม่ได้เป็นพิธีแบบจีนอย่างเต็มที่ เพราะยังอิงกับ ‘พระราชพิธีเผด็จศก’ ยังไม่พบคำว่า ‘สํพรรษฉิน’ (สัมพัจฉรฉินท์) ในช่วงดังกล่าวนี้ เป็นเช่นนี้คาดว่าเพื่อความสะดวก เนื่องจากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการย้ายประทับที่ลพบุรี จึงให้มีอีกพิธีแทรกเข้ามา โดยมิได้เสด็จมาออกสนามเป็นประธานด้วยพระองค์เอง จากจุดนี้ทำให้ตัวพิธีกรรมเป็นอิสระจากราชสำนักระดับหนึ่ง และน่าเชื่อว่าเป็นเหตุให้กลายเป็น ‘พิธีไพร่’ ไปในเวลาต่อมาด้วย 

 

ช่วงสงกรานต์ใน ‘นิราศธารโศก’

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ‘พิธีตรุษ’ ได้ปรากฏเป็น ‘การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์’ อย่างเต็มที่ ดังปรากฏใน ‘นิราศธารโศก’ พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ดังนี้:   

เดือนสี่พิธีตรุษ         เจ้างามสุดผุดผาดดี

ชำระพระชินสีห์               หมดผงเผ่าข้าวบิณฑ์ถวาย

การบุญผคุณมาศน้อง     นารี

ขาวสุดผุดผาดดี           ส่องแก้ว

ชำระสระสรงสี            พุทธรูป

ผงเผ่าเถ้าหมดแล้ว        แต่งข้าวบิณฑ์ถวาย

แน่นอนว่า สตรีผู้อยู่ในโคลงกวีนี้ที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ทรงชมว่า ‘เจ้างามสุดผุดผาดดี’ นั้นอาจจะไม่ใช่ใครอื่นคือ ‘เจ้าฟ้าสังวาลย์’ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ช่วงมีพิธีการจะเป็นช่วงเดียวกับที่หนุ่มสาวทั้งในหมู่เจ้านายและไพร่ต่างมีโอกาสได้พบเจอหน้าค่าตากันในชุดแต่งกายแบบ ‘จัดเต็ม’ คือเต็มเกียรติยศ หรือแบบที่เป็นความสวยหล่อในยุคสมัย 

 

ช่วงสงกรานต์ใน ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’

หลักฐานอีกชิ้นที่กล่าวถึงการพระราชพิธีของราชสำนักในช่วงเดือนสงกรานต์คือ ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ ซึ่งเป็นหลักฐานจากที่พม่าได้สอบถามข้อมูลจากเชลยชาวโยเดีย (อยุธยา) หลังเสียกรุง พ.ศ.2310 ได้กล่าวถึงการจัดงานประเพณีสงกรานต์อยู่ในเดือน 5 (ตามปฏิทินจีน) และมีคำว่า ‘สัมพัจฉรฉินท์’ เป็นชื่อพิธีสำคัญดังที่ตัวบทหลักฐานระบุไว้อย่างละเอียดดังนี้:

“เดือน 5 พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาเจริญพระพุทธมนต์ 3 วัน และสวดอาฏานาฏิยสูตร เวลาสวดมนต์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระมหามงคลอันผูกต่อกับสายสิญจน์ ครั้นถึงวันคำรบ 3 ซึ่งสวดอาฏานาฏิยสูตร เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยรบทั้งกำแพงพระราชวังและกำแพงพระนคร เมื่อเสร็จการพิธีแล้ว ให้เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์สรรพาวุธมาประน้ำมนต์และประน้ำมนต์ช้างต้นม้าต้นด้วย เป็นเสร็จการพระราชพิธี 12 ราศี ซึ่งมีตามตำรากรุงศรีอยุธยาเพียงเท่านี้”

นอกจากนี้อีกแห่งหนึ่ง ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ ยังได้กล่าวรายละเอียดเพิ่มเติมว่าในช่วงดังกล่าวนี้ยังมีการทำ ‘พระราชพิธีละแลงสุก’ (เถลิงศก) ขึ้นแยกอีกต่างหากจากพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โดยที่มีคำว่า ‘สงกรานต์’ (พระราชพิธีละแลงสุกเมื่อสงกรานต์) ปรากฏในหลักฐานดังความต่อไปนี้:

“เดือน 5 พระราชพิธีละแลงสุก (เถลิงศก) เมื่อสงกรานต์ (1) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จไป สรงน้ำพระ (พุทธปฏิมากร) ศรีสรรเพชญ์ (เทวรูป) พระพิฆเนศวร โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำและรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตและจตุปัจจัยทานที่ในพระราชวงัทั้ง 3 วัน ทรงก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย ตั้งโรงท่อทานเลี้ยงพระและราษฎรซึ่งมาแต่จตุรทิศ มีเครื่องโภชนาหารคาวหวานน้ำกินน้ำอาบและยารักษาโรค พระราชทานทั้ง 3 วัน”

คำว่า ‘สัมพัจฉรฉินท์’ หมายถึง สิ้นปี ตัดปี (เก่า) มีรากศัพท์จากภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ‘สัมพัจฉร’ แปลว่า ปี, ‘ฉินท’ แปลว่า ตัด, ขาด รวมความแล้วเป็นพิธีตัดปี, สิ้นปี  ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับคำว่า ‘ตรุษ’

การเกิดพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษ) แทรกขึ้นในเดือน 5 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกเหนือจากที่เคยมีพิธีรดเจตร (ตามกฎมณเฑียรบาล) ในสมัยอยุธยาต้น สะท้อนความเป็นที่นิยมของคติปฏิทินแบบจีน ที่ปะปนเข้ามามีบทบาทในคติพราหมณ์ที่สยามได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียและศรีลังกา 

น่าสังเกตด้วยว่า การสวดอาฏานาฏิยสูตร (สวดมนต์ไล่ผี) มีแทรกอยู่ในพิธีหลวงเมื่อสมัยอยุธยาปลายด้วย พร้อมกันนั้นยังได้มีการยิงปืนใหญ่ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เป็นการใช้ประโยชน์จากเสียงปืนใหญ่ในฐานะเครื่องช่วยบอกเวลาเป็นครั้งแรก ๆ ก่อนที่จะมีการยิงปืนใหญ่ทุกวันในเวลาเทียงตรงในสมัยรัชกาลที่ 5 จนเป็นเหตุให้เกิดการเรียกบ้านเรือนที่อยู่ห่างไกลไม่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ในเวลากลางวันนั้นว่า ‘ไกลปืนเที่ยง’ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการยิงปืนใหญ่บอกเวลาสิ้นปีกับการสวดมนต์ไล่ผีในสมัยอยุธยาตอนปลาย  แต่ไม่พบการกระทำดังกล่าวนี้ในช่วงที่มีโรคระบาดแบบที่ทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 โดยปกติแล้วช่วงเดือน 5 ถือเป็นช่วงเถลิงศกใหม่ ทั้งพระราชพิธีหลวงและราษฎร ถือปฏิบัติคล้ายคลึงกัน คือทำบุญตักบาตร ทำทาน ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระและเทวรูปซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

‘มนุษย์กรุงเทพ’ กับช่วงสงกรานต์

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จาก 2 หลักฐานเกี่ยวกับการพระราชพิธีคือ ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ หรือ ‘เรื่องนางนพมาศ’ วรรณกรรมแต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 กับ ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 

 

ช่วงสงกรานต์ใน ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’

‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ หรือ ‘เรื่องนางนพมาศ’ ระบุชัดว่า “ครั้นเดือน 4 ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โลกสมมุติ เรียกว่า ตรุษฝ่ายพุทธศาสน์” 

ต่อจากนั้นพรรณนาว่าประเพณีสำคัญตรงนี้คือ มีสวดมนต์เย็น ‘เจริญพระอาฏานาฏิยสูตร’ มีโรยทรายรอบพระราชวังเป็นสัญลักษณ์ป้องกันอาถรรพณ์ต่างๆ แล้วมีการละเล่น  ในหมู่ไพร่ราษฎรนั้น:

“เหล่านักเลงก็เล่นมหรสพเอิกเกริกสมโภชบ้านเมืองเป็นการนักขัตฤกษ์ บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิงก็แต่งตัวนุ่งห่ม ประดับกายอ่าโถง พากันมาเที่ยวดูแห่ดูงาน นมัสการพระในวันสิ้นปีแลขึ้นปีใหม่เป็นอันมาก”

แม้ว่าเราจะพออนุมานกันได้ว่า พิธีไพร่ในช่วงสงกรานต์สมัยก่อนก็จะปฏิบัติคล้ายคลึงกันนั่นแหล่ะ แต่ก่อนหน้า ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ก็ไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้โดยตรง 

 

ช่วงสงกรานต์ใน ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’

สมัยรัชกาลที่ 5 ตามพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ ปรากฏรายละเอียดพระราชพิธีในช่วงสงกรานต์ว่า มีการสังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่, พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา), พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน, พระราชพิธีสงกรานต์

จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ได้มีคำว่า ‘พระราชพิธีสงกรานต์’ แยกออกมาเป็นอีกพิธีหนึ่งต่างหาก  ส่วนพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระราชนิพนธ์เรื่อง ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ ได้อธิบายว่า:

“เป็นการพิธีประจำปีสำหรับพระนคร ทำเพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนครและพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนราษฎร”

 

กล่าวโดยสรุป

แม้ว่าหลักฐานเกี่ยวกับช่วงสงกรานต์ในสมัยอยุธยาจะมีไม่มาก และที่มีก็ไม่มีรายละเอียดที่จะช่วยให้ทราบได้หมดสิ้นว่าในช่วงวันดังกล่าวนั้น ‘มนุษย์อยุธยา’ เขาทำอะไร ไม่ทำอะไร แต่เท่าที่มีอยู่ก็จะเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการจัดทำพิธีกรรมสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มากพอสมควร แม้แต่ในสมัยอยุธยาเอง    

ช่วงเดือนสี่ถึงเดือนห้าเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปี ประเพณีการรดน้ำดำหัวก็พบมีในหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว แต่ไม่มีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างอีกทุกครึกโครม พิธีกรรมส่วนใหญ่เป็นพิธีศาสนา เพราะเป็นช่วงที่มีความยากลำบากจากสภาพภูมิอากาศ แถมยังมีโรคระบาดและสงครามที่ทำให้ผู้คนพบความสูญเสียมากก็ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้  โดยตัวระบบราชการที่มุ่งเน้นการจัดเตรียมการต่าง ๆ ในรอบปีต่อปี ทำให้สงครามในประวัติศาสตร์อยุธยาครั้งสำคัญมักเกิดในช่วงสงกรานต์ด้วย ตั้งแต่การการศึกสงครามกับพม่า จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ก็เกิดในเดือนเมษายน 

เมษายนจึงเป็นเดือนแห่งความทุกข์ ซึ่งนำมาสู่การประดิษฐ์ประเพณีเพื่อให้ผู้คนพบความสงบท่ามกลางความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากรัฐและชนชั้นนำ เป็นช่วงที่ต้องอยู่อย่างสงบเสงี่ยม เน้นการทำบุญ เพื่อให้จิตใจสงบ ไม่เน้นการละเล่นสนุกสนานเหมือนอย่างในช่วงหลังแต่อย่างใด 

ช่วงที่สนุกสนานจะอยู่ในช่วงเดือน 12 น้ำขึ้นเต็มตลิ่ง หลังจากนั้นน้ำจะลดลงเรื่อย ๆ เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพืชผล อาหารจึงไม่ขาดแคลน อากาศก็มีความชิ้นพอเหมาะพอดี ไม่ร้อนอบอ้าว ไม่หนาวจนเกินไป จึงมีประเพณีการละเล่นสนุกสนานมีการทำโคมลอยตามท้องน้ำที่เรียกว่า ‘ลดชุดลอยโคม’ หรือ ‘ตามประทีป’ ผู้คนจึงค่อยมีความสุขสนุกสนาน  มีคู่เลือกคู่อยู่กินกันก็จึงมักเป็นช่วงนี้ ถือเป็นฤกษ์ดี เป็นมงคล แต่สำหรับเดือนเมษายนนั้นเป็นตรงกันข้าม เป็นเดือนที่ผู้คนจะต้องตั้งสติระวังเหตุเภทภัยต่าง ๆ ไม่มีอารมณ์จะมารื่นเริงสนุกสนาน 

ดังนั้น เมื่อชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์คิดอ่านเกี่ยวกับการฟื้นประเพณีเก่า ประเพณีแรก ๆ ที่พวกเขาระลึกถึงจึงคือประเพณีในเดือนสิบสอง และผลของการรื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดประเพณีใหม่อย่างการลอยกระทงตามมา 

จากเดิมที่ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ต้องระวังเหตุเพทภัยต่าง ๆ ก็เปลี่ยนมาสู่ประเพณีแห่งความสุขและความร่มเย็นในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่ได้หมายความว่าผู้คนมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม หากแต่หมายถึงลำพังการมีประเพณีแห่งความสุขในเดือนสิบสองเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะเยียวยาจิตใจผู้คน 

และเพราะสงกรานต์เป็นช่วงที่พิธีกรรมของชนชั้นนำมีน้อยและไม่เคร่งเท่าช่วงเดือนอื่น ๆ จึงทำให้ง่ายต่อการปรับปรุงแก้ไขจนนำมาสู่การมี ‘ประเพณีไพร่’ แทรกขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับที่มี ‘ประเพณีหลวง’ หรือ ‘พิธีราชสำนัก’ จนกลายเป็นสงกรานต์ในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันในที่สุด    

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: แฟ้มภาพประกอบเนื้อหา ไฟล์จาก NATION PHOTO

อ้างอิง:

กฎหมายตราสามดวง (จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกระวีราช และขุนสารประเสริฐ. โคลงทวาทศมาส. นครปฐม: ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2552.

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์: พระประวัติและพระนิพนธ์บทร้อยกรอง. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2552.

นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2513.

ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง : คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2561.

ประชุมจดหมายเหตุโหร 3 ฉบับ. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2551.  

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551.

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. ‘พระราชพิธี 12 เดือน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา’ ใน https://lek-prapai.org/home/view.php?id=851 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559).

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ‘คติเดือนสี่สิ้นปีเก่าที่หายไป’ ใน https://www.matichonweekly.com/culture/article_19048 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559).