ค่าย ‘บางระจัน’ มีใครรอดชีวิตบ้าง? ดูหลักฐาน-ข้อเท็จจริงของบางระจัน และมายาคติชาตินิยม

ค่าย ‘บางระจัน’ มีใครรอดชีวิตบ้าง? ดูหลักฐาน-ข้อเท็จจริงของบางระจัน และมายาคติชาตินิยม

เรื่องราวของค่าย ‘บางระจัน’ หลักฐานฝั่งไทยบันทึกไว้อย่างไร ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ทั้งสาเหตุค่ายแตก ผู้รอดชีวิต และผู้นำชุมชน มีหลักฐานอย่างไร บทความนี้จะพาไปดูข้อมูล พร้อมข้อสังเกตต่อมุมมองแบบชาตินิยม

  • เรื่องค่าย ‘บางระจัน’ ปรากฏในหลักฐานของไทยหลายชิ้น แต่ละชิ้นมีระบุเนื้อความและสะท้อนเหตุการณ์แตกต่างกันในรายละเอียด
  • รายละเอียดและความเข้าใจเกี่ยวกับค่ายบางระจันในหมู่คนทั่วไปเปลี่ยนแปลงตามห้วงเวลาจากอิทธิพลหลายประการ 

‘บางระจัน’ เป็นใคร มาจากไหน?

ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 อยุธยาได้วางแผนรับศึกแบ่งเป็น 2 ชั้น 2 ขั้นตอน ถ้าแบ่งตามแง่มุมชั้นหลังก็ต้องแบ่งเป็น ‘แผนเอ’ และ ‘แผนบี’ จากเอกสาร ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ และ ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ แสดงให้เห็นว่า อยุธยาดำเนินแผนเอ โดยทุ่มกำลังไปที่บทบาทของหัวเมืองหน้าด่านอย่างเมืองกาญจนบุรีและราชบุรีเพื่อหวังให้กองทัพพม่าล่าถอยกลับไป

การที่กองทัพพม่าที่ยกมาในครั้งนี้มิใช่กองทัพนำโดยกษัตริย์ แบ่งเป็น 2 ทัพ นำโดยเนเมียวสีหบดี กับมังมหานรธา คงมีผลต่อการที่ฝ่ายอยุธยามองว่าอาจไม่เป็นทัพใหญ่ จึงคิดอ่านว่าหากทุ่มกำลังไปที่ราชบุรีกับกาญจนบุรี พม่าก็คงแตกถอยกลับไป ไม่ต้องเหนื่อยยากถึงเมืองหลวง 

แต่ปรากฏว่าราชบุรีกับกาญจนบุรีกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และเสียหายอย่างยับเยิน ดังนั้น อยุธยาจึงเปลี่ยนมาใช้แผนบี นั่นคือใช้ไม้ตายเก่าแก่ของอยุธยา อย่างชัยภูมิเกาะเมืองน้ำล้อมรอบ เพื่อหวังประวิงเวลาเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง พม่าก็จะถอยทัพกลับไปเอง 

ในระหว่างแผนทั้งสองนั้น จากหลักฐานพม่า มีอันหนึ่งซึ่งเป็นอีกแผนซ้อนกลางอยู่ นั่นคือการสร้างค่ายขึ้นรอบกรุงตามเส้นทางที่พม่าจะเดินทัพผ่าน สำหรับเป็นค่ายไว้ปล้นสะดมพม่าแบบที่เรียกว่า ‘ขัดตาทัพ’ คือเป็นค่ายไว้สำหรับก่อกวนดึงความสนใจของข้าศึก ทำลายแหล่งเสบียงอาหาร และสร้างความเสียหายให้แก่ข้าศึกในระหว่างทาง เพื่อลดศักยภาพตัดกำลังของกองทัพข้าศึกลง หนึ่งในค่ายแบบนี้ก็คือ ‘ค่ายบ้านระจัน’ หรือ ‘ค่ายบางระจัน’ ในบริเวณรอยต่อ 3 หัวเมือง คือ วิเศษไชยชาญ, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี 

แต่ปรากฏว่าการข่าวของอยุธยาขาดความแม่นยำ พม่าแม่นกว่า เมื่อรู้ว่าตรงจุดไหนจะมีค่ายยกออกมาสกัดขัดตาทัพ ก็เดินอ้อมเลี่ยงไป ไม่ผ่านไปปะทะ ถึงแม้ค่ายแบบนี้จะเป็นค่ายเล็กค่ายน้อยมีกำลังไม่มาก แต่ก็สามารถจะสร้างความเสียหายให้แก่ทัพใหญ่ได้เหมือนกัน เพราะค่ายแบบนี้จะรบแบบกองโจรได้คล่องแคล่วว่องไว โดยเฉพาะในเขตป่าเขา ผิดกับทัพใหญ่ที่จะตกเป็นเป้าได้ง่าย 

ดังนั้น เพื่อรักษากำลังคนเอาไว้สำหรับงานใหญ่อย่างการบุกตีเมืองหลวง พม่ายอมเดินเลี่ยงเส้นทางที่จะปะทะกับค่ายแบบนี้ พม่าก็ไปถึงอยุธยาและเปิดยุทธการล้อมกรุงได้โดยไม่ต้องสูญเสียอีก หลังจากต้องรบกับเมืองหน้าด่านอย่างราชบุรีกับกาญจนบุรีมาแล้ว ทัพหนึ่งขึ้นเหนือ อีกทัพลงใต้ เมื่อถึงชานพระนคร ทัพมังมหานรธาก็ไปตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่บางไทรและสีกุก ทัพเนเมียวสีหบดีไปตั้งอยู่ที่ปากน้ำประสบ แล้วทั้งสองทัพก็ส่งทัพเล็กทัพน้อยสร้างค่ายออกรายล้อมกรุง 

แน่นอนว่าเรื่องที่อยุธยามีชัยภูมิเป็นเกาะแม่น้ำล้อมรอบ รวมถึงจะมีช่วงน้ำเหนือไหลบ่าลงมาท่วมรอบเมืองนั้น ก็เป็นที่รู้กันอยู่ในหมู่แม่ทัพนายกองของพม่าตั้งแต่ก่อนยกทัพผ่านด่านเข้ามาแล้ว พม่าจึงไปตั้งค่ายอยู่บนที่ดอน รื้ออิฐวัดไปสร้างแนวป้อมปราการ ‘มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า’ นิยามเรียกสิ่งนี้ว่าคือการสร้างเมืองล้อม ทำให้อยุธยาเปรียบเหมือนปลาที่อยู่ในแห จากไม้ตายก็กลายเป็นจุดอ่อน 

ระหว่างนั้นแม้ข้าศึกจะมิได้ใช้เส้นทางผ่านไปในย่านบางระจัน แต่ชาวค่ายก็ได้ติดต่อกับกรุง ทางกรุงได้เคยสั่งให้ค่ายขัดตาทัพต่าง ๆ สลายตัวแยกย้ายกลับบ้านช่องของตนไปเสีย หรือไม่ก็หลบเข้าป่าไป เพราะไม่มีความจำเป็นแล้ว หรือหากจะสู้กับพม่าก็ให้มากรุงศรี แต่การไปกรุงศรี ก็ไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะเวลานั้นพม่าเริ่มเปิดยุทธการล้อมกรุงแล้ว จึงเหลือทางเลือกเพียงสลายตัวไปอยู่ในที่ปลอดภัยตามคำสั่ง ค่ายอื่น ๆ ก็ได้สลายตัวไปตามคำสั่งเป็นที่เรียบร้อย 

ตัวอย่างกลุ่มที่หลบหนีเข้าป่าไปในเวลานั้นก็เช่น ‘ลาวลำพูนไชยบ้านบางลาง’ ตอนเหนือของเกาะเมืองอยุธยา ‘ลาวเก่าบ้านม่วงหวาน’ ทางตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ต่างพากันอพยพไปหัวเมืองตะวันออก (ไปตะวันออกเป็นกลุ่มแรก ๆ ก่อนพระยาตากสิน) ที่หัวเมืองด่านทางอย่างราชบุรีเอง ‘หลวงยกกระบัตรราชบุรี’ ตามเอกสาร ‘อภินิหารบรรพบุรุษ’ เมื่อน้องชายซึ่งเป็นมหาดเล็กหลบหนีออกจากอยุธยาไปหาพี่ชายที่แขวงราชบุรี (ปัจจุบันคือที่อัมพวา จ.สมุทรสงคราม) ก็พบว่าพี่ชายได้พาครอบครัวและพรรคพวกหลบหนีเข้าป่า  ต้องติดตามค้นหาอยู่นานกว่าจะได้พบ   

แต่บางระจันไม่ยอมทำเช่นนั้น พวกเขายืนกรานจะสู้ต่อ!!!   

 

บางระจันสู้เพื่ออะไร?

ทำไมบางระจันจึงไม่ยอมยกเลิกภารกิจสลายค่ายไปตามคำสั่ง?

ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า คนที่บางระจันเวลานั้นคือใคร มาจากไหน?     

‘บ้านระจัน’ ถึงแม้จะมีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ดังจะเห็นได้จากมีวัดโพธิ์เก้าต้นที่พระอาจารย์ธรรมโชติมาจำพรรษา หรืออย่างวัดเขาบวช ที่อยู่ไม่ไกลกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ต้องสงสัยว่า อาจเป็นวัดเดิมที่พระอาจารย์ธรรมโชติเคยอยู่อีกวัดหนึ่ง ควบคู่กับที่มีความเชื่อว่า วัดดังกล่าวนี้คือ ‘วัดเขาขึ้น’ หรือ ‘วัดเขานางบวช’ ในย่านเดิมบางนางบวช (สมัยนั้นเป็นเขตแขวงหนึ่งของเมืองสรรคบุรี ภายหลังมาขึ้นกับสุพรรณบุรี ตั้งเป็นอำเภอเดิมบางนางบวช มาจนถึงปัจจุบัน) 

อีกอย่าง ย่านบางระจันก็อยู่ในเส้นทางแม่น้ำน้อย ก่อนถึงบ้านชัณสูตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย เป็นโรงผลิตสินค้าส่งออกแห่งหนึ่งของอยุธยา บางระจันจึงเป็นที่ที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่มาแต่เดิม ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นค่ายสำหรับขัดตาทัพพม่า 

เมื่อตั้งเป็นค่ายแล้ว จึงได้มีคนจากย่านใกล้เคียง อาทิ แขวงวิเศษไชยชาญ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สรรคบุรี มารวมตัวกันอยู่ที่นั่น ในจำนวนนี้ถ้าสังเกตจะพบว่า คนที่มามีผู้มียศตำแหน่งนำหน้าชื่อเป็น ‘ขุน’ ‘พระ’ ‘พัน’ ‘หมื่น’ ‘พระยา’ รวมอยู่ด้วย และคนเหล่านี้ก็อยู่ในฐานะระดับนำของค่ายทั้งสิ้น

พวกเขาโดยมากคือขุนนางชั้นผู้น้อยและระดับกลางของหัวเมืองชั้นในอย่างวิเศษไชยชาญ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สรรคบุรี ซึ่งก็เป็นธรรมดาเมื่อมีขุนนางมียศบรรดาศักดิ์เข้ามาในชุมชนของตน ชาวบ้านที่เวลานั้นล้วนเป็นไพร่ ก็ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง

ในจำนวนนี้ขุนนางระดับสูงก็มีเช่น ‘ขุนสรรค์’ เป็นเจ้าเมืองสรรคบุรี ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นค่ายที่เกิดจากการก่อตั้งของอยุธยาแต่แรกแล้ว อย่างขุนสรรค์กับขุนนางหัวเมืองชั้นในจะไม่มีเหตุผลให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเมืองของตนเองมาปกป้องหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่น บางระจัน อีกท่านที่เป็นขุนนางระดับสูง เป็นถึง ‘พระยา’ ก็เช่น ‘พระยารัตนาธิเบศร์’ ผู้เป็นตัวแทนติดต่อประสานกับทางกรุงศรีและเป็นผู้เรี่ยไรวัตถุดิบสำหรับหล่อปืนใหญ่ให้  

ดังนั้น ที่เข้าใจกันไปว่าชาวค่ายบางระจันเป็นชาวบ้านล้วน ๆ นั้นผิดถนัดเลย และเมื่อเป็นการต่อสู้โดยมีขุนนางหัวเมืองเป็นแกนนำ ก็เข้าใจได้ในแง่วัตถุประสงค์ พวกเขาคือกลุ่มคนที่ต้องการสร้างความดีความชอบเพื่อให้เจ้านายในกรุงได้เห็นอยู่ด้วยนั่นเอง       

 

แพ้เพราะอยุธยาไม่ให้ปืนใหญ่จริงหรือ?

เนื่องจากอยุธยาจะต้องเปลี่ยนแผนรับศึกหันไปใช้ไม้ตายคือชัยภูมิเมืองหลวง อีกทั้งยังได้มีคำสั่งให้บรรดาค่ายรอบกรุงที่จัดตั้งขึ้นนั้นสลายตัวแยกย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานั้นพม่าได้ยกไปถึงและเปิดยุทธการล้อมกรุงแล้ว เมื่อชาวค่ายบางระจันส่งคนมาขอปืนใหญ่ 2 กระบอกจากอยุธยา ก็ถูกปฏิเสธ เพราะเห็นว่าช้าเร็วค่ายบางระจันจะต้องแตกพ่ายอย่างแน่นอน การส่งปืนใหญ่ไปให้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ยังได้ระบุว่า เรื่องบางระจันขอปืนใหญ่นี้ได้มีการเปิดประชุมปรึกษาหารือกันเป็นวาระสำคัญ ไม่ได้เพิกเฉยหรือละเลยไปแต่อย่างใด เช่นที่มีเนื้อความระบุว่า

“ชาวบ้านค่ายระจันให้เข้ามาขอปืนใหญ่ 2 บอก ปรึกษากราบทูลว่า ถ้าค่ายบ้านระจันเสียแก่พม่า พม่าจะเอาปืนเข้ามารบกรุง’  และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขายังได้กล่าวสรุปเอาไว้ด้วยว่า  ถ้าให้ปืนแก่บางระจันไป ก็จะ ‘เหมือนหนึ่งให้กำลังแก่ข้าศึก”

ที่อยุธยาไม่ได้ส่งปืนใหญ่ไปให้ก็นับว่ามีเหตุผลอยู่ ลำพังแค่ปืนใหญ่ 2 กระบอกกับกำลังคนค่ายเพียงพันคน จะไปมีผลพลิกโฉมสงครามจากแพ้เป็นชนะได้อย่างไร และการที่พระยารัตนาธิเบศร์ได้ไปออกเรี่ยไรจัดหาวัตถุดิบมาหล่อปืนใหญ่ให้ค่ายบางระจัน 2 กระบอกตามที่ต้องการ มีปืนใหญ่ใช้แล้ว ผลก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่คาด 

ส่วนที่ไปสร้างประเด็นว่าปืนใหญ่ที่หล่อเอง 2 กระบอกนั้นทำขึ้นอย่างเร่งด่วน ไม่แข็งแรงทนทานต่อการใช้งานจนเมื่อยิงแล้วแตกใส่พวกเดียวกัน ปืนใหญ่ที่หล่อมานานสมัยนั้นใช้ยิงมากเข้าก็ร้อนจนแตกได้เหมือนกัน อย่างเรื่องพระเจ้าอลองพญา ที่เคยยกทัพมาตีอยุธยาแล้วถูกปืนใหญ่แตกใส่ขณะบัญชาการรบ ก็เป็นตัวอย่างว่า ต่อให้เป็นปืนที่อยุธยาส่งให้ ยิงมากไม่ได้หยุดพัก ก็แตกใส่พวกเดียวกันได้ 

การสรุปว่า บางระจันแพ้เพราะอยุธยาไม่ให้ปืนใหญ่ จึงเป็นการสรุปที่ง่ายและฉาบฉวยเกินไป แต่อย่างว่า ก็มีวงดนตรีดังทำเพลง ‘บางระจันวันเพ็ญ’ ออกมาร้องเสียกระหึ่มขนาดนั้น 

“ก็กรุงศรีมิให้เขาหยิบยืมปืน

จึงมิอาจหยัดยืนรักษาค่ายบางระจัน

บางระจัน บางระจัน บางระจัน

มิอาจยืนอยู่ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง”

แน่นอนว่าอยุธยามีชนักปักหลังเรื่องการแย่งชิงอำนาจภายใน การเหยียดบุลลี่ไพร่ การปกครองอย่างกดขี่ต่อหัวเมือง แต่มาคิดและเชื่อกันเข้าไปได้ไงว่า ที่บางระจันแพ้นั้นแค่เพราะไม่ได้ปืนใหญ่ 2 กระบอก 

แล้วนั่นวันเพ็ญเดือนสิบสองมาเกี่ยวอะไรด้วย คงต้องไปถาม ‘น้าแอ๊ด คาราบาว’ (ยืนยง โอภากุล) ผู้แต่งเพลง ‘บางระจันวันเพ็ญ’ เอาเองล่ะกัน!!! 

 

พลีชีพตายหมดจริงไหม?

ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับเก่าก่อนชำระ ได้ระบุถึงฉากสุดท้ายของค่ายบางระจันเอาไว้ว่า “ไพร่พลล้มเป็นอันมาก” ขณะที่ฉบับชำระสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เพิ่มเติมคำว่า ‘ตาย’ ลงไป เป็นว่า “ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก” ถือว่าความหมายไม่ผิดเพี้ยนไปกว่ากัน 

‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ในรัชกาลที่ 4 ได้ขยายความเพิ่ม โดยระบุว่า

“ฝ่ายชาวบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้ ไม่มีใครช่วยอุดหนุน ก็เสียใจย่อหย่อนฝีมือลง เห็นจะสู้รบต้านทานพม่าไม่ได้ แต่ตั้งต่อรบพม่ามาแต่เดือน 4 ปลายปีระกา สัปตศก จนถึงเดือน 8 อัฐศก ได้ห้าเดือน เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามกับพม่าเสียไปอีก ต่างคนต่างก็พาครอบครัวหนีไปจากค่าย ที่ยังอยู่นั้นน้อย ผู้คนก็เบาบางลง’ และเมื่อพม่าเข้ายึดค่ายได้แล้ว ‘ที่จับเป็นไปได้นั้นก็มาก บรรดาครอบครัวชายหญิง เด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น”

สรุปคือพระราชพงศาวดารบอกแค่ว่า มีคนตายมาก แต่ไม่ได้ตายหมด ที่หนีออกนอกค่ายไปได้ก็มี ที่ถูกจับเป็นเชลยไปก็มาก!!! 

ใน ‘พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า’ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับศึกบางระจันไว้มากที่สุด ก็บอกแต่เพียงว่า “พวกชาวบ้านบางระจันตายเสียเป็นอันมาก” ซึ่งก็ทำนองเดียวกับพระราชพงศาวดาร แต่นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้ระบุเป็นนัยว่า มีผู้รอดชีวิตจากศึกครั้งนั้นอยู่ ดังที่ทรงระบุไว้ว่า

“ที่เหลือตายหนีพม่าไปได้บ้าง พม่าจับเอาไปเป็นเชลยบ้าง”       

ทั้งนี้ เพราะมีข้อมูลต่อมาในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี กล่าวถึงขุนนางที่มีบทบาทอย่าง ‘พระยาสรรค์’ เป็นน้องชายของ ‘ขุนสรรค์’ หนึ่งในแกนนำค่ายบางระจัน ไม่เพียงรอดชีวิต ยังไปเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อีกด้วย 

ส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติ หลักฐานไทยมิได้กล่าวถึงว่าหายไปไหน ใน ‘พระราชพงศาวดารพม่า’ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ระบุว่า พระอาจารย์ได้พลีชีพไปพร้อมกับชาวค่ายบางระจัน แต่การเป็นพระภิกษุสงฆ์ ถึงจะมีจุดยืนเข้าข้างฝ่ายอยุธยาอย่างไร ก็ไม่น่าจะจับดาบลุกขึ้นมาฟาดฟันกับพม่าด้วยตนเองแบบที่หลักฐานพม่าระบุถึง

เมื่อหลักฐานลายลักษณ์อักษรมีช่องว่างขึ้นแบบนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดการเติมช่องว่างนั้นด้วย ‘ตำนาน’ มีเรื่องเล่าว่าพระอาจารย์ธรรมโชติหลบหนีออกจากค่ายบางระจันได้ทัน แล้วกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเขานางบวชตามเดิมจนมรณภาพ บ้างก็ว่าหลบหนีไปอยู่อีสาน บ้างก็ว่าหลบไปอยู่จำปาสัก ล้วนแต่สรุปว่าพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นผู้รอดชีวิตจากค่ายบางระจันทั้งสิ้น ไม่มีว่าถูกจับเป็นเชลยไปพม่า กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวโยเดีย เช่นเดียวกับเชลยชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ซึ่งต้องมีชาวบางระจันรวมอยู่ด้วย เพราะมีข้อมูลหลักฐานว่ามีชาวบางระจันถูกพม่าจับไปเป็นเชลยอยู่ 

ในเมื่อหลักฐานระบุไว้แบบนี้ แต่ที่เชื่อกันเป็นตุเป็นตะว่าพลีชีพตายหมดนั้น คงเป็นอีกกรณีที่พวกหนังละครมามีผลต่อความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของผู้คน โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องบางระจัน กำกับโดย ‘พี่ปื๊ด’ (ธนิตย์ จิตนุกูล) หนังดังเมื่อปี พ.ศ.2543 ยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้งและ Y2K

ในภาพยนตร์เรื่องบางระจัน เวอร์ชั่นดังกล่าวยังมีการสร้างภาพให้สุกี้พระนายกอง ผู้นำทัพพม่าไปตีค่ายบางระจันจนชนะนั้นเป็นคนโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ฆ่าไม่เว้นแม้แต่เด็ก สตรี และคนชรา ทั้งที่ในประวัติศาสตร์ สุกี้คือผู้นำมอญในอยุธยา ที่มีเหตุผลให้ต้องย้ายข้างไปเข้ากับพม่า เพราะมอญเวลานั้นถูกอยุธยากดขี่ข่มเหงมาก ดังจะเห็นได้จากกรณีกบฏมอญ พ.ศ.2303 เพียง 5 ปีก่อนหน้าที่พม่าจะยกมาล้อมกรุง   

 

พงศาวดารกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าไว้อย่างไร?

ตามเนื้อเรื่องในพระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระ กล่าวถึงกรณีศึกบางระจันเอาไว้แค่เพียงดังต่อไปนี้:

“ขณะนั้นพระอาจารย์วัดเขานางบวชมาอยู่ ณ วัดบ้านระจัน ชาวบ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี อพยพหนีเข้ามาพึ่งพระอาจารย์นั้นเป็นอันมาก ฝ่ายพม่าไปเกลี้ยกล่อม ชาวค่ายบ้านระจันแต่งกันลงมา ฆ่าพม่าตายเสียกลางทางเป็นอันมาก  พม่าจึงแบ่งกันทุกค่ายยกขึ้นไปจะรบ  ฝ่ายชาวค่ายบ้านระจันยกออกตั้งอยู่นอกค่าย  พอพม่ายกเข้ามาก็ขับกันออกไปไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายเป็นอันมาก...

พม่ายกไปตีค่ายบ้านระจันทำการกวดขันขึ้นกว่าเก่า  ชาวบ้านค่ายระจันให้เข้ามาขอปืนใหญ่ 2 บอก ปรึกษากราบทูลว่า ถ้าค่ายบ้านระจันเสียแก่พม่า พม่าจะเอาปืนเข้ามารบกรุง จะให้ไปนั้นมิบังควร ครั้นรุ่งขึ้นพม่ายกไปตั้งค่าย ณ บ้านขุนโลก นายจันท์เขี้ยวคุมพรรคพวกออกมาตีพม่า ฆ่าพม่าตายเป็นอันมาก ประมาณสัก 500 ตัว ก็ต้องปืนตายในที่รบ...

อนึ่งพระยารัตนาธิเบศร์ออกไปไรทอง หล่อปืนใหญ่ขึ้น ณ บ้านระจัน 2 บอก ครั้นพม่ายกไปตีอีก ค่ายบ้านระจันก็แตก ไพร่พลล้มเป็นอันมาก”

พระราชพงศาวดารฉบับขำระในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ก็ระบุตรงกับฉบับก่อนชำระ ไม่มีการปรับแก้ไขข้อมูลอย่างใด แหล่งข้อมูลที่ละเอียดไปกว่าข้างต้นนี้มีที่มาชั้นแรกเริ่มจาก ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นงานที่มีการเติมชื่อบุคคล สถานที่ และรายละเอียดของเหตุการณ์เข้าไปเป็นอันมาก 

นอกจากขุนสรรค์, พันเรือง, นายจันท์หนวดเขี้ยว, พระยารัตนาธิเบศร์, พระอาจารย์ธรรมโชติ ที่มีชื่อปรากฏมาแต่เดิม ก็มีเพิ่มนายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงสิงห์บุรี, นายดอก บ้านกรับ, นายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล, นายทองเหม็นขี่ควาย, นายทองแสงใหญ่ เป็นต้น 

ไม่ปรากฏว่า ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ซึ่งเป็นฉบับชำระต่อจากฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ได้ข้อมูลเพิ่มเติมไปกว่าฉบับเก่ามาจากที่ไหน เนื่องจากเป็นงานเขียนในขนบพระราชพงศาวดารจึงมิได้อ้างอิงเอาไว้  

อย่างไรก็ตาม บางระจันตามความรับรู้และความเชื่อของผู้คนในรุ่นหลังมิได้มีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชพงศาวดาร หากแต่มาจากพระนิพนธ์เรื่อง ‘พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า’ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

การที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก่อนหน้าที่จะทรงพระนิพนธ์งานชิ้นนี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เคยเสด็จออกตรวจราชการท้องที่ต่าง ๆ มาก เป็นเหตุให้ทรงได้รับทราบเรื่องราวตำนานของท้องถิ่นหลายแห่ง นำมาผนวกรวมเข้ากับเรื่องในพระราชพงศาวดาร 

ถึงแม้ว่าพระนิพนธ์ ‘พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า’ จะทรงอ้างว่ามีข้อมูลจากเพียง 2 แหล่งคือ พระราชพงศาวดารไทย กับเอกสาร ‘มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า’ ที่พระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน สุพินทุ) และนายต่อ แปลจากภาษาพม่าเป็นภาษาไทยถวาย แต่เนื้อความใน ‘มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า’ กลับไม่มีเรื่องศึกบางระจันแต่อย่างใด    

พระนิพนธ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในชุดประชุมพงศาวดารภาค 6 เมื่อพ.ศ.2460 แต่ฉบับที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขจนสมบูรณ์คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2471 ช่วงทศวรรษ 2460-2470 เป็นช่วงที่เริ่มมีการเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งจะนำไปสู่การปฏิวัติ พ.ศ.2475 ในช่วงนั้นมีเสียงตามสื่อหนังสือพิมพ์และฎีกาของราษฎรเข้าสู่ส่วนกลางเป็นอันมาก รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการเขียนประวัติศาสตร์แบบมีสามัญชนรวมอยู่ด้วย ก็เป็นกระแสมาตั้งแต่ยุคปัญญาชนสยามอย่างเทียนวรรณ วรรณโภ หรืออย่าง กศร. กุหลาบ (คือกุหลาบ ตฤษณานนท์ ไม่ใช่ กุหลาบ สายประดิษฐ์) จนถึงกรณีกบฏร.ศ.130 ที่ถือเป็น ‘รุ่นพี่’ ของคณะราษฎร เป็นต้น 

ภายใต้กระแสสังคมช่วงทศวรรษ 2460-2470 นั้นเอง มีผลทำให้เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงพระนิพนธ์ผลงานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้ของพระองค์ จำเป็นจะต้องเพิ่มบทบาทสามัญชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่ไม่ใช่สามัญชนในมุมเดียวกับที่กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต้องการจะเห็น เป็นชาวบ้านสามัญชนตามอย่างที่ชนชั้นนำต้องการจะให้เป็น คือเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองจนตัวตาย    

ในแง่นี้เรื่องบางระจัน มีความคล้ายคลึงกับเรื่องนายขนมต้ม (ดูบทความเรื่องนายขนมต้มในลิงก์นี้) ตรงที่แท้จริงแล้วหลักฐานว่าไว้นิดเดียว แต่ผู้เขียนเล่าภายหลังใส่รายละเอียดเข้าไปมาก จนเกิดเป็นอีกเรื่องหนึ่งแทรกปนอยู่กับเรื่องเดิม ต่างกันตรงที่เรื่องนายขนมต้ม ผู้แต่งคือ คมทวน คันธนู และเรื่องที่แต่งขึ้นนั้นก็แต่งในฐานะนวนิยาย แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นชนชั้นนำที่มาสวมเสื้อคลุมของนักประวัติศาสตร์ และงานนิพนธ์ของพระองค์ก็นำเสนอในฐานะงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ 

เนื้อความเดิมของ ‘พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ’ เล่าเรื่องมาถึงเพียงศักราช 1060 (พ.ศ.2241) รัชกาลพระเจ้าเสือ มีบานแพนกระบุไว้ว่า “เพียงเท่านี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป”

พระราชพงศาวดารฉบับนี้เมื่อลำดับเรื่องมาถึงรัชกาลพระเจ้าเสือ พ.ศ.2241 แล้วจากนั้นก็กล่าวย้อนกลับไปรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชา และพระเจ้าเสือ ในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง จากนั้นจึงกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชกาลต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศน์ ตามลำดับ 

‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว’ ผู้ทรงรับสั่งให้พระยาพิพิธพิชัยแต่งพระราชพงศาวดารต่อจากฉบับเดิมที่เคยมีมาในสมัยอยุธยาปลายนั้นคือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กรุงธนบุรี ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ‘พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)’ เนื้อความตั้งแต่เหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชา พระเจ้าเสือ (ในเวอร์ชั่นที่ 2) จนถึงพระเจ้าเอกทัศน์ เป็น ‘พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมัยธนบุรี’ และทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องบางระจันมีจุดเริ่มต้นหรือหลักฐานแรกอยู่ใน ‘พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมัยธนบุรี’ นี้ด้วย    

ทั้งเจ้าพระยาพิพิธพิชัย ผู้แต่งครึ่งหลังของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผู้ชำระพระราชพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ 1 จนนำมาสู่พระราชพงศาวดารอีกฉบับหนึ่ง ต่างก็เป็นคนร่วมสมัย ทันเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310  ในขณะที่ผู้ชำระพระราชพงศาวดารที่ให้กำเนิด ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ นั้น เป็นคนอีกรุ่นหลังที่รู้เห็นเหตุการณ์ผ่านตัวหนังสือและคำบอกเล่าเป็นสำคัญ 

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีพื้นเพมาจากสามัญชน เป็นเหตุให้พระราชพงศาวดารให้ความสำคัญกับบทบาทสามัญชนมากกว่าแต่ก่อน อีกทั้งชาวบางระจันบางส่วนที่รอดชีวิตจากศึกครั้งนั้นยังได้มาเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อีก เช่น ‘พระยาสรรค์’ ข้อมูลเกี่ยวกับศึกบางระจันที่พระยาพิพิธพิชัยนำมาเรียบเรียงพระราชพงศาวดารก็น่าจะได้จากการสอบถามพระยาสรรค์ผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังในสมัยปลายธนบุรี พระยาสรรค์ผู้นี้กลับเป็นกบฏยกกำลังมาบุกกรุงธนบุรี ถอดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ออกจากกษัตริย์ให้ผนวชชำระเคราะห์เมือง 3 เดือน แล้วจำคุกไว้ ซึ่งนั่นทำให้เกิดเงื่อนไขแก่การทำรัฐประหารซ้อน โดยอีกกลุ่มที่กุมกองทัพยกไปกัมพูชา ได้ย้อนกลับมาเข้าควบคุมสถานการณ์ นำไปสู่การสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325       

 

บางระจันกับมายาคติทางชาตินิยม (แบบไทยและอุษาคเนย์)  

ตามนัยของพระราชพงศาวดาร บางระจันเป็นการรวมตัวกันโดยมีพระภิกษุสงฆ์คือพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นผู้นำ ในลักษณะเดียวกับ ‘กบฏไพร่’ หรือ ‘ขบถผู้มีบุญ’ ที่เคยมีมาในสมัยอยุธยา ต่อมาถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘ขบวนการกู้ชาติ’ ที่ไม่ประสบผลสำเร็จในยุคหลังปฏิรูปและการเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมตะวันตก 

‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ได้แสดงให้เห็นการแต่งพระราชพงศาวดารในส่วนของเรื่องบางระจัน ตามขนบการสร้างผู้มีบุญอยู่ 2 กรณี กรณีแรกคือ ‘นายทองเหม็น’ ภาพตามพระราชพงศาวดารฉบับนี้คือ ขี่ควายเผือก (ไม่ใช่ควายดำแบบในหนัง) และเป็นคนหนังเหนียว ฟันแทงยิงไม่เข้า ที่ต้องเป็น ‘กระบือเผือก’ ก็เพื่อให้เข้าขนบ ‘สามัญชนผู้มีบุญ’ ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา เป็นสามัญชนคู่ตรงข้ามกับ ‘กษัตริย์ผู้มีบุญ’ หรือ ‘จักรพรรดิราช’ ที่พาหนะสำคัญคือ ‘ช้างเผือก’ ดังที่พระราชพงศาวดารเล่าไว้ดังนี้:

“วันหนึ่งนายทองเหม็นกินสุราเมาขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า พระนายกองขับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าในกลางทัพแต่ผู้เดียว แทงพลพม่ารามัญตายเป็นหลายคน พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้ เข้ารุมฟันแทงนายทองเหม็นไม่เข้า นายทองเหม็นสู้รบอยู่ผู้เดียวจนสิ้นกำลัง พม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น”

อีกกรณีคือพระอาจารย์ธรรมโชติ ที่ตามนัยของพระราชพงศาวดาร จะเห็นได้ว่าเป็นผู้นำตามขนบขบวนการผู้มีบุญแบบเดียวกับที่เคยมีมาอย่างกบฏญาณพิเชียร กบฏธรรมเถียร หรือแม้แต่อย่างเจ้าพระฝางสวางคบุรี และมหาดา วัดพระราม สมัยธนบุรี เพียงแต่พระอาจารย์ธรรมโชติไม่ถูกวางโครงเรื่องให้เป็นผู้ร้ายแบบกรณีอื่นข้างต้น ยิ่งเมื่อมีการนำเอากรอบคิดทางชาตินิยมมาใช้มองกันแล้ว พระอาจารย์ธรรมโชติยิ่งกลายเป็นผู้นำของขบวนการคนรักชาติ เกิดเป็นข้อยกเว้น ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งที่พระอาจารย์ธรรมโชติทำนั้นมิได้แตกต่างจากผู้นำขบถผู้มีบุญคนอื่น ๆ  

นอกจากนี้ ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ยังอธิบายสาเหตุความพ่ายแพ้ของบางระจัน เป็นเพราะ ‘ของ’ ที่พระอาจารย์ธรรมโชติปลุกเสกให้นั้นเกิดเสื่อมลงหมดสิ้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ดังนี้:

“พระอาจารย์ธรรมโชตินั้นกระทำสายสิญจน์มงคลประเจียดกะตรุดต่างๆ แจกให้คนทั้งปวง แต่แรกนั้นมีคุณอยู่คง แคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน ที่นับถือแท้บ้าง ไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบะเดชะลง ที่อยู่คงบ้าง ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง และตัวพระอาจารย์นั้นที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี ที่ว่าหายสูญไปก็มี ความหาลงเป็นแน่ไม่”

คำว่า ‘สำส่อน’ ที่พระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวนี้พาดพิงถึงชาวค่ายบางระจัน สะท้อนมุมมองว่าในยุคสมัยเมื่อชำระและแต่งพระราชพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ชาวค่ายบางระจันในมุมมองของชนชั้นนำสยามเวลานั้นยังไม่ได้ยอมรับหรือยกย่องพวกเขาเท่าไหร่เลย ถึงกับหาว่าที่ต้องพ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูไปนั้นเพราะประพฤติตัวไม่ดีผิดศีลธรรมกันเอง จนทำให้ ‘ของเสื่อม’ เป็นต้น 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชนชั้นนำมองชาวบางระจันต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างพระยาพิพิธพิชัยและสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ที่มองว่า ชาวบางระจันเป็นการต่อสู้ที่มีขุนนางหัวเมืองชั้นในเป็นแกนนำ ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 4 มองว่าเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน แต่ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา เป็น ‘ชาวบ้านสามัญชนผู้มีบุญ’  

คนรุ่นนั้นยังคงมองว่าสงครามระหว่างอยุธยากับพม่าในครั้งนั้นเป็นสงครามระหว่างกษัตริย์ อยุธยาที่แพ้ไปนั้นเป็นความพ่ายแพ้ของกษัตริย์คือราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ไม่ประพฤติตัวอยู่ในครรลองครองธรรมเป็นเสาหลักแก่บ้านเมืองจนนำมาความวิบัติล่มสลายมาให้ พม่าเป็นแต่เพียงปลายเหตุ ต้นเหตุนั้นอยู่ที่ ‘เสาหลัก’ ไม่ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม การณ์จึงเป็นว่า กษัตริย์แพ้ แต่ไพร่มิได้แพ้ด้วย    

แต่เมื่อถึงยุค ‘อัศวพาหุ’ (รัชกาลที่ 6) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพถูกปลดจากตำแหน่งเสนาบดีมาเป็นผู้อำนวยการหอสมุดวชิรญาณ และได้เริ่มแต่งพระนิพนธ์ชิ้นสำคัญอย่าง ‘พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า’ เป็นช่วงที่ชนชั้นนำสยามเวลานั้นมีแนวคิดใหม่ในการมองบทบาทของชาวบางระจันแล้ว นั่นคือแนวคิดชาตินิยม จึงได้หันมายกย่องชาวบางระจันในฐานะ ‘วีรชนของชาติ’ (National hero)  

การต่อสู้กับพม่าครั้งนั้นก็ได้รับการอธิบายให้ความหมายใหม่ว่า พวกเขาเป็น ‘ขบวนการกู้ชาติ’ และพม่าก็คือภาพตัวแทน (representation) ของเจ้าลัทธิอาณานิคม แบบเดียวกับที่ประเทศในอุษาคเนย์ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  หรือก็คือในยุคสมัยเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ ‘พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า’ นั่นเอง    

การเขียนประวัติศาสตร์ที่แปลความหมายให้ ‘กบฏไพร่’ เป็น ‘ขบวนการของผู้รักชาติบ้านเมือง’ นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ กบฏชยาซานที่ต่อต้านอังกฤษในประวัติศาสตร์พม่า ขบถกมดำที่ต่อต้านฝรั่งเศสในประวัติศาสตร์ลาว กบฏเตยเซินต่อต้านราชวงศ์เหงียนในประวัติศาสตร์เวียดนาม  ต่างก็ล้วนได้รับการสร้างชุดคำอธิบายแบบนี้ 

เพียงแต่กรณีชยาซาน กมดำ และเตยเซิน ความหมายที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ลืมที่จะนำเสนอประเด็นเรื่องคลาส (ชนชั้น) ขบวนการเหล่านี้ต่อต้านชนชั้นนำเก่าของตนด้วย  นอกเหนือจากต่อต้านลัทธิอาณานิคมตะวันตก ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้เพื่อชาติล้วน ๆ แบบที่ชนชั้นนำไทยที่มาเป็นนักประวัติศาสตร์นำเสนอแต่อย่างใด 

เมื่อเป็นเรื่องชาติบ้านเมือง สาเหตุความพ่ายแพ้จึงมาลงล็อคอยู่ที่การขาดความสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แม้ว่าพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะมิได้อธิบายว่าบางระจันแพ้เพราะอยุธยาไม่ให้ปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่การขาดความสนับสนุนช่วยเหลือจากอยุธยา ก็ถูกนำมาใช้อธิบายโยงไปว่าคือการแตกแยกขาดความสามัคคีของคนไทยสมัยนั้น จึงเป็นเหตุให้ต้องเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก    

และเมื่อถูกทำให้เป็นเรื่องชาติโดยที่ชาติไทยสยามมิได้มีนิยามหมายถึงประชาชน หมายถึงชนชั้นนำ เรื่องที่ถูกสร้างภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าวนี้จึงง่ายที่จะถูกฉกฉวยเอาไปใช้เป็นประโยชน์แก่คนส่วนน้อยผู้เสวยสุขบนภาษีจากคนหมู่มากในสังคมในนาม ‘ชาติบ้านเมือง’

จะเห็นได้ว่าการยกย่องบางระจันที่เพิ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้บางระจันกลายเป็นขบวนการกู้ชาติ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถูกใช้แสดงให้เห็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อขาดความสมานสามัคคี บางระจันกลายเป็นนิทานเรื่องเล่าประจำชาติและแบบอย่างที่ของชาวบ้านสามัญชนในแบบที่ชนชั้นนำอยากจะเห็นหรือฝันให้จะให้เป็น เป็นชาวบ้านสามัญชนที่เสียสละเพื่อชาติจนยอมพลีชีพ การเขียนประวัติศาสตร์แม้จะให้พื้นที่แก่สามัญชน ยังต้องดูด้วยว่าสามัญชนที่ว่านั้นเป็นอย่างไร พวกเขาเป็นศูนย์กลางของชาติหรือหมายถึงส่วนรวมจริงหรือไม่ ในเมื่อชาติในสังคมประเทศนี้ยังมิได้หมายถึงประชาชนกันอย่างแท้จริง        

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: อนุสาวรีย์บางระจัน แฟ้มภาพ จาก NATION PHOTO

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. ‘มองมวยไทยและเคส ‘นายขนมต้ม’ กับประวัติศาสตร์ ‘ชกเพื่อนบ้าน’ กีฬาหรือการปะทะรูปแบบใหม่?’ The People.co เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555.

คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.

คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุคส์, 2556.

นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550. 

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2563.

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2516. 

มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า นายต่อแปล. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุคส์, 2562.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544.