เมื่อสยามเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก 2476 ร่องรอย 90 ปีแห่งความหลัง เดินทางสู่เลือกตั้ง 2566

เมื่อสยามเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก 2476 ร่องรอย 90 ปีแห่งความหลัง เดินทางสู่เลือกตั้ง 2566

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยามเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ร่องรอย 90 ปีความหลัง สู่เลือกตั้ง 66 กว่าจะผ่านมาถึงการเลือกตั้งในไทยแบบปัจจุบัน สภาพบรรยากาศการเลือกตั้งในอดีตเป็นอย่างไร

  • สยามเกิดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อ 2476 นับจากปีนั้นมาถึงปี 2566 เป็นเวลาร่วม 90 ปีแล้วที่ชาวไทยได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
  • การเลือกตั้งครั้งนั้นเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศยุคแรกแย้มประชาธิปไตยซึ่งมีบางส่วนแตกต่าง และบางส่วนเกิดขึ้นคล้ายคลึงกับบรรยากาศในปัจจุบัน

นับตั้งแต่สยาม/ไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แน่นอนว่าในกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสิ่งขาดไม่ได้ก็คือ การเลือกตั้ง (Election) ที่เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนที่จะเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเอง

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ประเทศไทยต้องผ่านการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2476 และกำลังจะมีวาระครบรอบ 90 ปี ในปีนี้ แม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งในไทยและกลับถูกให้ความสนใจน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นช่วงเริ่มต้นของพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย

ดังนั้น บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม/ไทย อย่างกระชับ ถือเป็นเกร็ดความรู้ก่อนเข้าคูหาจะได้ทราบว่า กว่าจะผ่านมาถึงการเลือกตั้งในแบบปัจจุบัน การเลือกตั้งในอดีตนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

การรับรู้เรื่องเลือกตั้งและผู้แทนราษฎรในสยามก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475

ก่อนที่จะดำเนินมาถึงการเลือกทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ. 2476 นั้น สยามได้เคยผ่านประสบการณ์การรับรู้เรื่องราวของการเลือกตั้งมาบ้างแล้ว ซึ่งมีงานที่ศึกษาการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามอย่างเป็นระบบชี้ให้เห็นว่า การรับรู้เรื่องราวการเลือกตั้งนั้นสามารถสืบย้อนกลับไปไกลได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการรับรู้เรื่องเลือกตั้งบ้างแล้วในหมู่ชนชั้นนำ ดังจะเห็นได้ว่ามีการสืบค้นพบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังบันทึกของ ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townend Harris) นักการทูตชาวอเมริกันที่เดินทางมาเจรจายังสยาม ในบันทึกนั้นแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามได้ทรงถามแฮร์ริสว่า “การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นเมื่อไหร่ [และ] เมื่อใดประธานาธิบดีคนใหม่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง” [1]

ต่อมาการรับรู้ดังกล่าวนี้ได้แพร่กระจายยังกลุ่มปัญญาชนดังที่เทียนวรรรณ ได้เรียกร้องให้สยามมี ‘ปาลิเมนต์’ อันเป็นพื้นที่ตัวแทนของราษฎร เขาได้เขียนบทความเสนอว่าควร “… จะตั้งปาลิเมนต์ อนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนรัฐบาลได้, ในข้อที่มีคุณแลมีโทษทางความเจริญแลไม่เจริญนั้น ๆ ได้ ตามเวลาที่กำหนดอนุญาติไว้ ในความฝันที่เราฝันมานี้, ในชั้นต้นจะโหวตเลือกผู้มีสติปัญญาเป็นชั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด, ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อนกว่าจะได้ดำเนินให้เป็นปรกติเรียบร้อยได้” [2]

แม้ว่าการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะเริ่มเป็นที่รับรู้ในสยามแล้ว ทว่าก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เพราะตามทัศนะของชนชั้นสยามนั้น ต่างเห็นว่าสยามยังไม่พร้อมที่มีลักษณะการปกครองดังกล่าว และเห็นว่าการปกครองของสยามนั้นดีและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในสังคมแล้ว [3] ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนในพระราชนิพนธ์โคลงวิชชุมาลี ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ของรัชกาลที่ 6 อันเป็นการอธิบายสุภาษิตละติน Ad consilium ne accessis antoequam voceries. ที่มีความหมายว่า อย่าด่วนไปเข้าสภาจนกว่าจะมีผู้เรียกร้อง ว่า

“อย่าด่วนไปเข้าสู่         สภา

จนกว่าจะมีผู้                เรียกร้อง

ภาษาละตินว่า              ดูชอบ กลนอ

ผู้ฉลาดควรต้อง            ไตร่ดู” [4]

ก่อกำเนิดผู้แทนราษฎรในสยามหลังการปฏิวัติ 2475

แม้ว่าภายในสังคมสยามสยามจะผ่านการรับรู้และเรียกร้องให้มีระบอบการปกครองแบบที่มีตัวแทน แต่ก็หาได้มีมีรูปร่างชัดเจนไม่ กระทั่งสยามเกิดการปฏิวัติ 2475 สภาที่มีผู้แทนราษฎรได้ปรากฎขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อคณะราษฎรได้เชิญเสนาบดี และปลัดทูลฉลองเข้าร่วมประชุมในเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึง “ธรรมนูญการปกครอง” ที่กำลังจะจัดทำขึ้นในเร็ววัน และจะกำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องเลือกตั้งตามความเห็นชอบของราษฎร แต่จะกระทำโดยเร็วไม่ได้

เบื้องต้นในสมัยที่ 1 จะให้ผู้ก่อการร่วมเป็นสมาชิกชั่วคราวก่อน “แต่ผู้ก่อการก็รู้สึกว่า คณะก็ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่มาก” จึงคิดจะเชิญผู้ใหญ่ และผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ เข้าร่วม ต่อมาเมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อย ในสมัยที่ 2 จะให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนของตน และคณะราษฎรเองจะตั้งผู้แทนจำนวนเท่ากัน เพื่อเป็นการระวังให้นโยบายของรัฐบาลได้ดำเนินไปเพื่อราษฎร และในสมัยที่ 3 เมื่อราษฎรได้รับการศึกษาตามหลักสูตรใหม่มีจำนวนมากกว่าเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนพลเมืองทั้งหมด และไม่เกินระยะเวลา 10 ปี จะให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั้งหมด [5]

เห็นได้ว่าก้าวแรกของพัฒนาการประชาธิปไตยของที่ที่เปิดให้ให้มีตัวแทนของราษฎรได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรนั้นประกอบไปด้วย ผู้แทนประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้แทนประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง กำหนดให้มีรูปแบบสภาเป็นแบบ สภาเดียว เพราะเมื่อตรึกตรองแล้ว เนื่องจากเพิ่งมีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ไม่มีประเพณีบังคับ การมีสภาเดียวนั้นจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และการมี สองสภา อาจชักช้าโตงเตง และประเทศที่เพิ่งมีรัฐธรรมนูญใหม่ ๆ ก็มักมีแต่สภาเดียว “เมื่อตกลงใจดั่งนี้จึ่งได้ดำเนิรการในทางให้มีสภาเดียว” [6]

อย่างไรก็ตาม ในห้วงแรกของระบอบประชาธิปไตยนั้นมีคำครหาว่าการกำหนดให้มีผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง โดยกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลนั้นเป็น “ดิกเตเตอร์” (Dictator) จึงมีการเสนอให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลเมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้สภาพิจารณา [7] ซึ่งปรีดี พนมยงค์ ต้องชี้แจงต่อที่ประชุม โดยได้ให้เหตุผลถึงการเลือกให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อย่างละเอียดว่า (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)

“เมื่อมีผู้เสนอญัติเช่นนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้คณะราษฎรแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า การที่ให้มีสมาชิกผะสมในสมัยที่ 2 นั้น ไม่ใช่ประสงค์ที่จะหวังอำนาจ ความข้อนี้มีผู้เข้าใจไปต่าง ๆ สุดแต่เขาจะกล่าวหา ว่าประสงค์เป็นดิกเตเตอร์ (Dictator) บ้าง อะไรบ้าง ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเลย การที่เราจะจำต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่ง ก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎรในขณะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่ายังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริสุทธิ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎรเอง เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎรอาจเป็นผู้ที่มีกำลังในทางทรัพย์ ราษฎรเมื่อยังไม่ได้รับการศึกษาก็อาจจะหลงไปว่า ผู้นั้นประสงค์จะป้องกันประโยชน์ของราษฎร แต่ผลสุดท้าย เขาอาจคิดถึงประโยชน์ฉะเพาะหมู่เหล่าของเขาหาได้คิดถึงราษฎรตลอดจนตนยากจนด้วยไม่

คณะราษฎรปฏิญานได้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ฉะนั้นจึ่งได้วางเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อใดราษฎรได้มีการศึกษาจบประถมศึกษามากกว่ากึ่งจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงแล้ว บทบัญญัติฉะเพาะกาลนี้ก็เป็นอันเลิกทันที และแม้ว่าจะยังไม่ถึงจำนวนนั้นก็ตาม แต่เมื่อถึงกำหนด 10 ปีแล้วซึ่งคณะราษฎรหวังว่า จะจัดบำรุงการศึกษาให้ได้จำนวนมาก บทบัญญัติเฉพาะกาลนี้ก็เป็นอันต้องเลิกเหมือนกัน ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดำเนิรไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริงไม่เลือกว่าคนมั่งมีหรือคนจน อันเป็นจุดหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นจุดมุ่งหมายของคณะราษฎรซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้” [8]

หลังจากปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงต่อที่ประชุมได้ขอให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของคณะราษฎร เพราะสมาชิกสภาหลายท่านก็ไม่ใช่พวกผู้ก่อการ แต่ท้ายที่สุดที่ประชุมได้ตกลงว่าไม่จำเป็นต้องมีการลงคะแนนในที่ประชุม เนื่องจากเห็นตรงกันว่าจำเป็นที่จะต้องมีพี่เลี้ยงไปพลางก่อน จึงมีการขอถอนญัตติดังกล่าวออกไปในที่สุด

 

สยามในยามของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

ทีนี้ เมื่อได้ข้อสรุปประเภทของผู้แทนราษฎรที่จะต้องประกอบไปด้วยผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ซึ่งจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ความน่าสนใจของการเมืองไทยหลังการปฏิวัติ 2475 คือมีการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองผ่านการออกแบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ผู้ลงคะแนน อายุ วิธีการเลือกตั้ง วิธีการคำนวนคะแนนการเลือกตั้ง ฯลฯ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วส่งผลต่อรูปแบบสภา และการควบคุมสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า โดยนับตั้งแต่หลังการปฏิวัติ ไปจนกว่าจะได้เลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 สยามผ่านการเขียนและแก้ไขใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน [9] ขนานกับมรสุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในวันที่ 1 เมษายน 2476 ส่งผลความคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องเลื่อนออกไป ดังที่ ยาสุกิจิ ยาตาเบ นักการทูตญี่ปุ่นได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“…การรัฐประหารวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1933 ส่งผลให้สภาผู้แทนราษฎรถูกปิด พวกหัวรุนแรงถูกขับไล่ และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามพระราชกฤษฎีกา…สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะมีขึ้นในกลางเดือนเมษายน ได้มีประกาศให้เลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดเพราะว่าเตรียมการไม่ทัน ฉะนั้นจึงคาดคะเนไม่ได้ว่าเมื่อใดจะมีการเลือกตั้ง เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในท่าทีต่อระบอบรัฐธรรมนูญของรัฐบาลใหม่…” [10]

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด ฝ่ายคณะราษฎรก็สามารถกลับมามีอำนาอีกครั้งเมื่อฝ่ายคณะราษฎรที่นำโดยพระยาพหลพลพยุหสนายึดอำนาจในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ในคราวนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง กระทั่งมีการแก้ไขแล้วเสร็จประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476  “พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2” [11] รายละเอียดในมาตรา 4 กำหนดไว้ว่า (1) ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในตำบลเลือกตั้งผู้แทนตำบล ๆ ละหนึ่งคน (2) ผู้แทนตำบลในจังหวัดเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดละ 1 คน หากจังหวัดใดมีประชากรเกินกว่า 200,000 คน ให้เลือกผู้แทนราษฎรเพิ่มอีก 1 คน ทุก ๆ 200,000 คน

วิธีการเลือกตั้งดังกล่าวนี้เป็น “การเลือกตั้งทางอ้อม” ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ประชาชนไม่ใช่ผู้เลือกผู้แทนราษฎรเอง แต่เป็นการส่งตัวแทนซึ่งเป็นผู้แทนตำบลไปเลือกผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งสองระดับ ซึ่งการเลือกตั้งผู้แทนตำบลนั้นจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม -15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยจะจัดวันใดวันหนึ่งในช่วงเวลานี้ ส่วนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนั้นจะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม พ.ศ. 2476 [12]

เป็นที่แน่นอนว่าสยามท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังมีการเลือกตั้งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ราษฎรอย่างล้นหลามแน่นอน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น ฝ่ายรัฐบาลได้เน้นย้ำความสำคัญของผู้แทนราษฎร ดังจะเห็นว่าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 กองโฆษณา ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ในแถลงการณ์ดังกล่าวได้อธิบายถึงความสำคัญของตำแหน่งผู้แทนราษฎรว่า

“… สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนี้เป็นบุคคลที่สำคัญมาก ที่ว่าสำคัญมากก็เพราะป็นผู้แทนของราษฎรทั้งจังหวัด หรือผู้แทนราษฎรตั้งแต่สองแสนขึ้นไปในนานาประเทศที่เจริญรุ่งเรืองสมาชิกสภาผู้ราษฎรได้รับความยกย่องนับถือเป็นอันมาก โดยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน่วยหนึ่งในการปกครองประเทศ สยามจะรุ่งเรืองต่อไปให้ทันเทียมชาติและประเทศทั้งหลายในโลกนี้ ก็เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเหตุนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสิทธิของราษฎรที่จะต้องใช้และต้องกระทำด้วยวิจารณญานอันดีที่สุด เพื่อให้ได้ตัวผู้แทนของตนให้ดีจริง ๆ สำหรับควบคุมราชการแผ่นดินให้ดำเนินไปในลู่ทางที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป…” [13]

ส่วนของคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้แทนราษฎรในยุคนั้น คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีวาจาสัตย์ มีความสุจริต มีความสันโดษ ไม่เคยมีชื่อเสียงเสื่อมเสียแต่ประการใดและต้องเป็นผู้ที่ยกย่อง ส่งเสริมรัฐธรรมนูญด้วยน้ำใจอันบริสูทธิ์จริง [14]

ควรบันทึกด้วยว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามนั้น ถือได้เป็นพื้นที่ที่ได้ให้คนในสังคมได้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แม้ว่าจะยังไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรง แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรการดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่สงขลา ในวันที่ 9 ธันวาคม โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติได้รายงาน ว่า

“การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของจังหวัดนี้ทำกันแล้ว นายเจือ ศรียาภัย ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรโดยได้รับคะแนน 37 คะแนน จากคะแนนทั้งหมด 106 คะแนน พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรความเป็นไปในการเลือกผู้แทนราษฎรของจังหวัดนี้ตลอดเวลา การเลือกตั้งครั้งแรกของไทยคราวนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่เรียบร้อย แม้จะมีการร้องเรียนตามมาอีกบ้าง โดยผู้ร้องเรียนในครั้งนั้นได้ร้องเรียนไปยังสภาฯ ตามที่ได้มีการบันทึกไว้” [15]

นอกจากการจัดการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามนั้น คือการปฏิบัติต่อผู้ชนะการเลือกตั้ง ที่จะต้องเป็นผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ยังสภา ซึ่งมีผู้ที่เคยมีประสบการณ์กับบรรยากาศของสยามในยามเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ได้บันทึกถึงบรรยากาศจังหวัดเชียงใหม่ ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชชยาภัย) ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีผู้แทนราษฎร 2 ท่าน อีกท่านหนึ่งได้รับเลือกเข้าไปพร้อมกัน คือพระพินิจธนากร อดีตข้าราชการบำนาญ เขาได้บรรยายถึงบรรยากาศของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อมีผู้แทนราษฎรสมัยแรก ว่า

“แห่ผู้แทนอย่างเจ้าหลวงก็ไม่ปาน”

“…คิดดูเถิดว่าการมาถึงเมืองไทยของระบอบประชาธิปไตยนั้น โก้เก๋พิลึกกึกกือเหลือเกิน ผู้แทนราษฎรอย่างคุณหลวงศรีประกาศ โชคดีกว่าบรรดาผู้แทนราษฎรรุ่นหลัง ๆ นี้มากโข เพราะได้รับการเทอดทูนไว้อย่างเจ้าหลวงก็ยังไม่เท่า ทางการจังหวัดเชียงใหม่จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองต้อนรับ มีบายศรีรับขวัญผูกข้อมือ อันเป็นงานมโหฬารเสร็จแล้วผู้แทนราษฎรทั้งสอง คือคุณหลวงกับพระพินิจธนากร ก็ได้ขึ้นนั่งบนหลังช้างประดับประดาแพรวพราวไปตามถนนสายต่าง ๆ รอบเมือง ไปสิ้นสุดเอาทีสถานีรถไฟเชียงใหม่ เพื่อเดินทางไปประชุมสภาฯ ที่พระนคร…” [16]

“…ผู้เขียนซึ่งสมัยคุณหลวงฯ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนมีอายุย่างเข้า 13 ขวบเท่านั้น แต่ก็รู้ดีว่าคุณหลวงเป็นใครสำคัญอย่างไร ชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ ‘ยุพราชวิทยาลัย’ที่ผู้เขียนเรียนอยู่ก็พลอยฟ้าพลอยฝนตื่นเต้นไปกับชีวิตแรกเริ่มทางการเมืองของคุณหลวง [อาจารย์ใหญ่] จัดขบวนแห่รถยนต์และนักเรียน บางคนแต่งแฟนซีไปร่วมขบวนแห่ด้วย…นำนักเรียนไปเล่นดนตรีไทยบรรเลงที่บ้านคุณหลวงด้วย

…ผู้เขียนอยู่ในชุดจำอวดตัวตลกที่อาจารย์อำนวยเคยใส่นั่งหน้าบังโคนรถยนต์กับจเรเลี้ยวไปตามถนนต่าง ๆ ทางฟากตะวันออกแม่น้ำปิง มาสิ้นสุดเอาที่บ้านคุณหลวงศรีฯ ซึ่งตอนกลางคือก็มีการเลี้ยงฉลองชัยอย่างสนุกสนานครึกครื้น คุณหลวงกับคุณนายเรือนแก้ว วิชชยาภัย ได้กล่าวต้อนรับทุกคนในคณะที่ไปร่วมอวยชัยให้พรคับคั่ง…” [17]

นอกจากนี้แล้ว การเลือกตั้งในอดีตของสยามก็ตามมาด้วยการร้องเรียนเฉกเช่นเดียวกับปัจจุบัน ดังตัวอย่างของ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดปทุมธานี เขาผู้นี้ร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เขาร้องเรียนว่า นายกระจาย รัชตะวรรณ ผู้สมัครอีกคน ได้ใช้เอกสารที่ออกจากฝ่ายข้าราชการเกี่ยวกับการปราบกบฎ เนื่องจากในระหว่างมีการเลือกตั้งสยามได้เกิดเหตุการณ์ ‘กบฎบวรเดช’ ในเดือนตุลาคม ผู้สมัครคนดังกล่าวได้นำเอกสารนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางเลือกตั้ง กระทั่งเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง [18]

อย่างไรก็ดี สุดท้ายก็มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎสมัยที่ 2 ที่มีผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง78 คน และแต่งตั้ง 78 คน ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476

 

เรื่อง: ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า / [email protected]

ภาพ: แฟ้มภาพประกอบเนื้อหา ภาพบรรยากาศช่วงปฏิวัติ 2475 ไฟล์จาก Universal History Archive / Contributor

เชิงอรรถ:

[1] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัย เรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564, 17.

[2] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมืองการปกครองไทย (2417-2477), (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), 145.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, การเมืองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475, ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2523), 66-67. 

[4] เรื่องเดียวกัน, 65-66.

[5] เอกสารอัดสำเนาจากศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษา สถาบันพระปกเกล้า และ หจช., สร. 0201.16/21 

[6] นรนิติ เศรษฐบุตร, เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475, (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2542),18.

[7] เรื่องเดียวกัน, 165. 

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 166. 

[9] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัย เรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม, บทที่ 5.

[10] ยาสุกิจิ ยาตาเบ, บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557). 

[11] ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 50, 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476, 435. 

[12] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัย เรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม,85-86. 

[13] แถลงการณ์เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, (ม.ป.ท.: กองโฆษณาการ, 2476), หน้า 3-4. 

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 10-13. 

[15] นรนิติ เศรษฐบุตร, บทบาทผู้แทนราษฎรสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2564), 150. 

[16] อนุสรณ์ศรีประกาศ, (เชียงใหม่ : คนเมืองการพิมพ์, 2512), ไม่ปรากฎเลขหน้า. 

[17] เรื่องเดียวกัน. 

[18] หจช., สร.0201.8/14.