06 มิ.ย. 2566 | 18:06 น.
- ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐอเมริกา กับจีน แตกต่างกันไปตามยุคสมัย และสภาพแวดล้อมทางการเมืองในแต่ละยุค ขณะที่ในยุคนี้ มีคนบางกลุ่มหวาดกลัวสหรัฐฯ มากกว่าจีน
- สงครามเย็นเป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯ และจีน
ความสัมพันธ์สามเส้า (สยาม-จีน-อเมริกา) แบบ ‘หักปากกาเซียน’
ในบรรดามิตรประเทศจากทั่วโลก ความสัมพันธ์ระหว่างสยามประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษผิดแผกแตกต่างไปกว่าความสัมพันธ์ที่สยามประเทศไทยมีต่อประเทศอื่น ๆ ที่อาจเปรียบเทียบกันได้ก็คือความสัมพันธ์ที่มีกับจีน ช่วงไหนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาดำเนินไปในแง่บวกหรือความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็มักจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ความสัมพันธ์กับจีนเป็นไปในแง่ลบ และในทางกลับกัน ช่วงเวลาไหนที่ไทยเป็นมิตรเหนียวแน่นกับจีน ก็มักจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชนชั้นนำไทยดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาไปในทางลบ
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกตะวันตกกับจีนในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกตะวันออกนั้น มีสถานภาพในเวทีนานาชาติเป็นคู่ตรงข้ามกันอยู่ แต่เรื่องนี้จะพบว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับประเทศไทยที่ปกติมักจะดำเนินความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจในลักษณะ ‘รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง’ หรือพูดภาษาคนใต้ ๆ ก็ต้องเรียกว่า ‘อยู่เป็น’ แต่เมื่อต้องดีลกับความสัมพันธ์อเมริกา-จีน ดูเหมือนไทยจะทิ้งตำราว่าด้วยการอยู่เป็น หันไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เน้นอยู่ตรงกลางหรือ ‘ประสานผลประโยชน์’ ระหว่างสองฝ่าย
อะไรทำให้ ‘ความฉลาดแบบไทย ๆ’ ไม่ได้ถูกนำเอามาใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์กึ่งกลางหรือสามเส้า (ไทย-จีน-อเมริกา) หรือเพราะเหตุใด ทำไมการดำเนินความสัมพันธ์แบบ ‘อยู่เป็น’ ในกรณีอเมริกา - จีน จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าอาจเป็นวิธีการที่จะไม่ได้ผลหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้ จนเรียกได้ว่าเป็นกรณีที่ ‘หักปากกาเซียน’ ด้านความสัมพันธ์ไทยกับนานาชาติมานักต่อนักแล้ว เพราะมักไม่เป็นไปตามขนบที่เคยปฏิบัติกันมาในกรณีอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ
ความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับจีนยาวนานกว่าความสัมพันธ์ที่มีกับอเมริกา ชาวจีนติดต่อค้าขายกับสยามประเทศมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยหรือก่อนอโยธยาเสียอีก จากการที่คนจีนมักมีฐานะมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก็เป็นเหตุให้มักถือกุมอำนาจเป็นใหญ่ในสังคมไทยสยามเช่นกัน เลยอาจเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ ‘คุยกันรู้เรื่อง’ กว่าอีกซีกโลกหนึ่ง แต่นั่นจะเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่ฟังขึ้นจริงหรือ?
ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะก่อตั้งประเทศมาเมื่อปี ค.ศ.1776 ตรงกับ พ.ศ.2319 สมัยกรุงธนบุรี แต่ทว่าอารยธรรมตะวันตกที่อเมริกาเป็นผู้สืบทอดมานั้น ก็เป็นกลุ่มชนที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยามประเทศมาช้านานก่อนสมัยสุโขทัยและอโยธยาอีกเช่นกัน ดังเราจะพบตะเกียงโรมัน เหรียญเงินโรมัน เป็นโบราณวัตถุสมัยทวารวดี
ความเก่าแก่ยาวนานอาจไม่ใช่เหตุผล หรืออย่างน้อยก็มีเหตุผลในทางประวัติศาสตร์อย่างอื่น ไม่ใช่ประเด็นเรื่องความเก่าแก่ยาวนาน ซึ่งชนชั้นนำผู้กำหนดนโยบายมักไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มากพอที่จะนำเอาไปปรับประยุกต์ใช้แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า ระหว่างจีนกับอเมริกา ที่ต่างก็ดำเนินความสัมพันธ์กับไทยสยามมาอย่างเข้มข้น แต่ทว่าจีนกลับไม่ถูกพิจารณาในฐานะมหาอำนาจครอบงำหรือชาติที่จะเข้ามายึดครอง ตรงข้ามกับชาติตะวันตกและอเมริกา
สัมพันธภาพระหว่างสยามกับ ‘กรุงอเมริกา’ ในระยะแรกเริ่ม
เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะก่อตั้งประเทศเมื่อ ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319) ตรงกับสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ เป็นคนร่วมยุคสมัยเดียวกัน แต่สร้างประเทศบนแนวทางที่แตกต่างกันสิ้นเชิง แม้ว่าทั้งสองจะต่างก็มีพื้นเพมาจากสามัญชนเหมือนกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โดยขนบธรรมเนียมของชาวสยาม ทำให้ต้องสถาปนาราชวงศ์ใหม่และตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ในขณะที่กลุ่มนักปฏิวัติเสรีนิยมที่สนับสนุนปธน.จอร์จ วอชิงตัน มีภูมิหลังเป็นกลุ่มที่เห็นต่างจากราชวงศ์อังกฤษ จึงก่อตั้งประเทศด้วยระบอบสาธารณรัฐ
สหรัฐอเมริกาเริ่มส่งคณะทูตเข้ามาติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวิทยาการกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามลำดับคือ พ.ศ.2376 ได้ส่งคณะทูตนำโดย ‘เอดมัน รอเบิตส์’ (Edmund Roberts) เข้ามา พ.ศ.2393 ได้ส่ง ‘โยเสฟ บาเลสเตีย’ (Joseph Balestier) เป็นทูตเข้ามา และต่อมา พ.ศ.2399 ก็ได้ส่ง ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส’ (Townsend Harris) เป็นทูตเข้ามาเจรจาปรับปรุงสนธิสัญญา
คำว่า ‘กรุงอเมริกา’ ที่ปรากฏในสนธิสัญญาฉบับแปลภาษาไทย ต่อมาได้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมโดยได้ปรากฏอยู่ใน ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือเรื่องนางนพมาศ’ ที่คาดว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 แต่เนื้อความและฉากเรื่องอ้างอิงย้อนหลังกลับไปเป็นยุคสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันภายหลังว่าเป็นเรื่องแต่งในสมัยสุโขทัยไป
แต่ที่จริงคำว่า ‘กรุงอเมริกา’ ที่ปรากฏในงานประพันธ์ดังกล่าวนี้เอง ก็เป็นร่องรอยหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือเรื่องนางนพมาศนี้เป็นเรื่องแต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 เป็นแน่ ไม่เก่าไปกว่านั้น เพราะไม่มี ‘กรุงอเมริกา’ ในสมัยสุโขทัย เพิ่งมีในสมัยธนบุรีและก็เพิ่งจะเข้ามาติดต่อค้าขายและทำสนธิสัญญากับสยามในสมัยรัชกาลที่ 3
นอกเหนือจากการเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการโดยรัฐต่อรัฐแล้ว ฝ่ายพ่อค้าเอกชนและคริสตจักรสมัยนั้นก็ได้ส่งคนเข้า ๆ ออก ๆ ไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างสยามกับอเมริกาอยู่เป็นประจำ เมื่อโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) หรือ ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช’ พ่อค้าเอกชนชาวสกอตแต่มีถิ่นฐานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้พาเด็กแฝดตัวติดกันคือ ‘อิน-จัน’ ย้ายประเทศออกจากสยามไปอยู่อเมริกา อิน - จันกลายเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวอเมริกันรู้จักสยามประเทศ
อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อมูลของ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ นายห้างหันแตรจอมห้าว ชีวิตพลิกเพราะเรือกลไฟ
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายศาสนจักรของสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งบุคคลสำคัญเข้ามาเผยแผ่ศาสนา กลุ่มแรกที่เข้ามาไม่ประสบความสำเร็จ อาจเพราะเป็นกลุ่มที่เคร่งศาสนามากเกินไป แต่ภายหลังเมื่อส่งหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เข้ามา ก็ปรากฏว่าหมอบรัดเลย์กลายเป็น ‘เซเลบ’ ของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น ถึงแม้ว่าที่จริงหมอบรัดเลย์จะไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาเช่นเดียวกับกลุ่มแรกที่เข้ามา แต่เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีอย่างการพิมพ์ บวกกับบทบาทในการเป็นหมอรักษาโรค โดยเฉพาะการปลูกฝีรักษาโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ก็ทำให้หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน เป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางทั้งในหมู่ชนชั้นนำและไพร่ราษฎร
การเป็นชนชาติใหม่ที่เข้ามาสยาม ตลอดจนเรื่องราวการก่อตั้งประเทศของอเมริกา เป็นที่ประทับใจแก่ชนชั้นนำ ในจำนวนนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น ‘กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ หรือ ‘เจ้าฟ้าจุฑามณี’ ได้แสดงพระองค์เป็นเจ้านายสายนิยมอเมริกา - อเมริกันนิยม นอกจากเป็นเจ้านายที่มีความสนิทสนมกับหมอบรัดเลย์แล้ว ยังทรงเรียนรู้วิทยาการต่อเรือจากตำราที่ได้จากมิชชันนารีอเมริกัน จนสามารถต่อเรือกลไฟโดยสั่งนำเข้าเครื่องยนต์และอะไหล่ประกอบมาจากนิวยอร์ก ทรงมีรูปภาพเขียนสีน้ำมันรูปปธน.จอร์จ วอชิงตัน อยู่ที่ผนังห้องรับแขกในพระราชวังที่ประทับ (ปัจจุบันคือพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ) คาดว่าเป็นรูปเดียวกับที่เทาน์เซนด์ แฮร์ริส ทูตอเมริกาที่เข้ามาเมื่อ พ.ศ.2399 นำมามอบให้
ด้านพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศและผนวชเป็น ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ ก็ได้เคยแสดงพระองค์เป็นเจ้านายสยามที่เปิดรับชาวอเมริกันเช่นกัน เมื่อทรงให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกคู่พระทัย วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาส ก็ได้ให้วาดภาพนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นภาพรุ่นบุกเบิกของจิตรกรรมที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า ‘ภาพปริศนาธรรม’ ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า ‘ภาพกาก’ คือภาพที่วาดนอกขนบไทยประเพณีเดิมที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องพุทธประวัติและชาดก
เมื่อขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงส่งพระราชสาส์นติดต่อไปมากับปธน.สหรัฐอเมริกาเป็นประจำ ถึงกับเคยส่งช้างไปมอบให้แก่อับราฮัม ลินคอล์น ในช่วงที่ยังมีสงครามระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ เพื่อตัดสินว่าอเมริกาจะยังมีทาสอีกหรือไม่ แนวคิดเรื่องการปลดปล่อยทาสและอุดมการณ์เสรีนิยมแบบที่คนรุ่นอับราฮัม ลินคอล์น สนับสนุนอยู่นี้ ‘แหม่มแอนนา’ หรือ ‘แอนนา เลียวโนแวนส์’ (Anna Leonowens) ซึ่งเป็น ‘พระอาจารย์ฝรั่ง’ ของเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในเวลาต่อมา) ก็เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ไม่แปลกใจเลยว่านี่คือต้นทางแนวคิดและนโยบายเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5
เปิดศักราชยุค ‘หันหลังให้จีน-หันหน้าให้ตะวันตก’ & ความพยายามเอาอเมริกาเข้ามาถ่วงดุลย์
เมื่อราชวงศ์ชิงเสื่อมอำนาจและพ่ายแพ้ต่อมหาอำนาจตะวันตกในสงครามฝิ่น ค.ศ.1839-1842 (พ.ศ.2382-2385) ชนชั้นนำสยามก็ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงระดับโลกสากลแล้วว่า โลกยุคเก่าก่อนหน้านั้นดังที่เคยเป็นมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ย้อนกลับไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ได้เปลี่ยนฉากไปแล้วอย่างสิ้นเชิง จีนที่เคยมีอำนาจเป็นมหาอำนาจได้กลายเป็น ‘คนป่วยแห่งเอเชีย’ (Sick man of Asia) พร้อมกันนั้นก็ได้เกิดมหาอำนาจใหม่ที่เป็นชาติตะวันตก
ช่วงที่สยามต้องรับมือกับ ‘ภัยฝรั่ง’ ในช่วงแรกเริ่มระบบโลกยุคอาณานิคม สิ้นสุดไปพร้อมกับวาทะทิ้งท้ายอย่างพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 3 ที่ว่า
“การศึกสงคราม ข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะประกาศให้สยามเลิกส่งเรือไปจิ้มก้องเมืองจีน เลิกนโยบายผูกขาด หันมาทำการค้าเสรีกับชาติตะวันตกผ่านการทำสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสนธิสัญญาเบาริง พ.ศ.2398 ซึ่งทำให้อังกฤษเข้ามามีบทบาทต่อการค้าของสยามมาก ชาติตะวันตกอื่น ๆ ต่างก็ขอปรับปรุงแก้ไขสนธิสัญญาที่เคยทำกับสยามก่อนหน้านั้นให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันหรือสอดคล้องกับที่สยามทำกับอังกฤษ
แต่แม้จะสร้างสัมพันธไมตรีกับอังกฤษมาก สยามก็ไม่ละเลยอเมริกา เพราะรู้ดีว่าสองชาตินี้เวลานั้นไม่ถูกกันและแข่งขันกันอยู่ในที นอกจากนี้ ยังมีฝรั่งเศสอีกชาติที่มีบทบาทมาก ราชสำนักสยามหวั่นเกรงว่าการดำเนินความสัมพันธ์โดยเอนเอียงไปทางอังกฤษมากเกินไป อาจเป็นเหตุให้ถูกฝรั่งเศสและอเมริกาคุกคามได้ จึงรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศควบคู่กับไปการเปิดการค้าเสรีกับอังกฤษ และเนื่องจากหวั่นกลัวว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศใหญ่จะคุกคามสยาม สยามก็ใช้วิธีพยายามดึงเอาอเมริกาเข้ามาถ่วงดุล
ตัวบทเนื้อความในพระราชสาส์นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีไปถึงปธน. แฟรงคลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce) แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อพ.ศ.2399 ก็จะเห็นประเด็นตรงนี้ได้ไม่ยาก ดังความต่อไปนี้: (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)
“ขอให้ผู้ครองยุไนติศเตศอเมริกาซึ่งเป็นบ้านเมืองใหญ่มีอำนาจมาก แลเป็นเมืองตั้งอยู่ในยุติธรรมยั่งยืนมั่นคง จงเป็นที่พึ่งอันดีแก่แผ่นดินสยาม ซึ่งมีอำนาจเล็กน้อยพอประมาณนี้ ด้วยความที่มีไมตรีปรานีเอาใจใส่ถาถามหาความที่จริงที่แท้ เมื่อเวลาไรๆ ลางทีหากจะมีถ้อยความเกี่ยวข้องต้องข่มขู่ แต่อำนาจในทางทะเลใหญ่อันใดอันหนึ่งที่จะมีมาแต่บ้านเมืองใหญ่ๆ อันอื่นที่มีอำนาจมาก ขออย่าได้เพิกเฉยละเลยเสียไม่เอาเป็นธุระ หรืออย่างหนึ่งเมื่อใดมีผู้ไปฟ้องกล่าวโทษผู้ครองข้างสยามอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ขอให้ไถ่ถามแลพิจารณาพิพากษาโดยยุติธรรมที่เที่ยงถ่องแท้ อนึ่งชาวสยามประเทศนี้ ย่อมเป็นคนกึ่งดีกึ่งร้ายตลอดมาชั่วอายุโง่เขลามากมายด้วยกัน ไม่รู้จักอย่างธรรมเนียมที่ดี เมื่อมาสมคบค้าขายกับชาวอเมริกันแลชาวประเทศอื่นที่มีขนบธรรมเนียมบ้านเมืองผิดกัน เกลือกบางจำพวกจะเข้าใจผิดแล้ว จะพูดผิดๆ ทำผิดๆ ไปบ้าง ก็ถ้าการอันนั้นไม่เป็นการอันใหญ่โตสำคัญนัก กรุงสยามปรารถนาขอให้ผู้ครองเมืองท่านจงอดโทษเสียบ้างโดยสมควรด้วย ปรกติธรรมดาของคนเป็นอันมากในพื้นบ้านพื้นเมืองสองฝ่ายผิดอย่างนักบัดนี้กรุงสยามขอแก่ท่านมาเสียแต่เดิม ให้ช่วยกรุณาคิดอ่านในการเช่นนี้ให้เป็นฉบับแบบแผนแก่ผู้ครองเมืองของท่านสืบไปในภายหน้า
บัดนี้แผ่นดินสยามนี้ก็พึ่งเปิดเผยแก่บ้านเมืองที่มีอำนาจในทะเลหลายเมือง เพราะความเล่าลือด้วยสิ่งที่เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสยามนี้ แต่คนชาวสยามทั้งไพร่ทั้งผู้ดีโดยมากยังตั้งอยู่ในความเขลาไม่ฉลาดนัก รู้จักการทางค้าขาย แลทำนุบำรุงรักษาบ้านเมืองให้ดี บัดนี้กรุงสยามขอแสดงความขอบคุณมาโดยความซื่อสัตย์สุจริต”
(พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังประเทศอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส อ้างใน กำพล จำปาพันธ์. ‘ข่าเจือง: กบฏผู้มีบุญในพระราชอาณาเขตสยาม พ.ศ.2415-2436.’ (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552), หน้า 196-197)
หลังวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 มายาคติการเสียดินแดนและเกลียดฝรั่ง
ความพยายามในการดึงเอาอเมริกาเข้ามาคานอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศสที่ต่างก็กำลังล่าอาณานิคมกันอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ดำเนินไปโดยที่ชนชั้นนำสยามสมัยนั้นก็มีวิธีคิดว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจตะวันตกที่ไม่เหมือนกับอีกสองประเทศ อเมริกาไม่ล่าอาณานิคม แต่นั่นอีกด้านหนึ่งก็หมายถึงอเมริกาไม่ได้มีผลประโยชน์ในสยามมากพอที่จะดึงดูดความสนใจให้ส่งกำลังมาช่วยเหลือในยุคนั้น ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เวลานั้นยังมุ่งเน้นไปที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ใกล้ญี่ปุ่นมากกว่า
แม้ว่าพ่อค้าเอกชนกับมิชชันนารีชาวอเมริกันจะเข้ามามีบทบาทซึมลึกมากอยู่หลายด้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การแพทย์ การศึกษา แต่เวลานั้นทางการอเมริกาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เหตุการณ์วิกฤติการณ์ร.ศ.112 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พังทลายวิเทโศบายแบบอังกฤษ-ฝรั่งเศส-อเมริกา
ฝรั่งเศสที่เคยดำเนินความสัมพันธ์อย่างรุ่งเรืองเฟื่องฟูในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่แล้วไม่กี่สิบปีต่อมาก็ตกต่ำลงในสมัยสมเด็จพระเพทราชา นโยบายการค้าและการต่างประเทศยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้นำพาสยามหวนกลับไปหาจีนอีกครั้ง นโยบายนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 และภายหลังจากเกิดวิกฤติการณ์ร.ศ.112 รัชกาลที่ 5 ก็พยายามไปดึงเอารัสเซียเข้ามาแทนที่อเมริกา แต่รัสเซียก็เกิดการปฏิวัติ ค.ศ.1917 ในเวลาต่อมา
อารมณ์ความรู้สึกแบบ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ ต่อฝรั่งมังค่า เกิดขึ้นและดำเนินเรื่อยมาก็จากกรณีวิกฤติการณ์ร.ศ.112 ซึ่งมาบรรจบกับอีกกระแสวาทกรรมอย่างการเสียดินแดน และอารมณ์ความรู้สึกนี้ได้ถูกส่งผ่านไปยังผู้นำคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 ด้วย ความพยายามในการทวงคืนดินแดนจนนำไปสู่สงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศสในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยจากภาวะอารมณ์ความรู้สึกข้างต้นนี้ ผู้นำคณะราษฎรเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจากประเทศฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกันก็เกลียดชังฝรั่งเศสเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลวาทกรรมเสียดินแดน
สงครามอินโดจีนเพื่อทวงคืนดินแดนจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส นับเป็นหนึ่งในสงครามไม่กี่ครั้งที่ไทยเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตกโดยตรง นอกจากเป็นความพยายามกอบกู้เกียรติภูมิชนชาติไทยที่เสียดินแดนไปแล้ว ยังเป็นการแสดงความเหนือกว่าของระบอบใหม่ที่เกิดจากการปฏิวัติ 2475 เมื่อการเสียดินแดนเกิดขึ้นภายใต้ยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ได้ดินแดนกลับคืนมาในยุคระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ
ทว่าขณะเดียวกันนั้นเอง ไทยก็ได้รับรู้ถึงอำนาจใหม่ที่มาจากฝั่งตะวันออกคือญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ไทยได้ดินแดนคืน โดยที่กองทัพไทยไม่ได้ชนะฝรั่งเศสแบบขาดลอย และเมื่อญี่ปุ่นขึ้นบกในสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพไทยก็ต้องจำยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไปพม่าและอินเดีย ก่อนจะดำเนินการต่อต้านอย่างลับ ๆ ทั้งจากฝ่ายเสรีไทยนำโดยปรีดี พนมยงค์ และฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม เองที่หน้าฉากยอมเข้ากับญี่ปุ่น แต่หลังฉากก็มีแผนจะขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไปเช่นกัน
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยที่เคยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ กลับกลายเป็นประเทศฝ่ายชนะสงครามไปด้วย สร้างความประหลาดใจงุนงงในเวทีนานาชาติ แต่หากมองในแง่วิเทโศบายแบบไทย ๆ จะพบว่าเป็นวิธีการดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี่คือผลพวงของการย้อนกลับไปนำเอาอเมริกาเข้ามาถ่วงดุลดังที่ชนชั้นนำเมื่อต้นรัตนโกสินทร์เคยทำมาก่อน เพราะเบื้องหลังขบวนการจารชนเสรีไทยนั้นมีกองทัพสหรัฐฯ สนับสนุนอยู่
ต่อมา เมื่อกลุ่มเสรีไทยเข้ามามีบทบาททางการเมืองหลังสิ้นสุดสงครามโลก อเมริกาก็กลับเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยสยามอีกครั้ง พร้อมกับการเปิดศักราชสู่อีกยุคถัดมาคือช่วงสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์
ยุคสงครามเย็นและช่วงเว้นว่างประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์
หลังรัฐประหาร 2490 โค่นเสรีไทยแล้วนำจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงอิทธิพลที่มากขึ้นของขบวนการฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในไทยที่ต่างก็เห็นตนเป็นศัตรู นอกจากนี้ ผลจากการรัฐประหารนำมาสู่ระบอบขุนศึก จอมพล ป. ต้องอยู่ท่ามกลางผู้นำทางกำลังอาวุธ 2 ฝ่าย ตำรวจยุคมีรถถังและแหวนอัศวินอย่างพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และทหารฝ่ายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักถึงความพยายามจะเข้ามามีบทบาทอีกครั้งทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาผ่านองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีโต้ (Southeast Asia Treaty Organization or SEATO) ด้วยภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นยุคสงครามเย็น
จอมพล ป. ภายหลังจากกลับจากการเยือนสหรัฐอเมริกา ก็ได้ปรับปรุงการเมืองภายในให้เป็นไปในแนวประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบอเมริกันมากขึ้น เปิดให้ใช้สนามหลวงเป็นสถานที่ไฮปาร์ค และจัดการเลือกตั้ง ทว่าการเลือกตั้งเมื่อกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500 กลับเป็นสิ่งที่ถูกนำเอาไปใช้โค่นล้มจอมพล ป. เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มีเรื่องการกล่าวหาว่าทุจริตมาก นำไปสู่รัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นจะไม่มีผลเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ไทยเคยมีกับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยจะยังคงต่อต้านคอมมิวนิสต์ต่อไป
ยิ่งต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์กลับจากเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาและรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจรวบอำนาจ เลิกรัฐธรรมนูญ เลิกสภา ตั้งตัวเป็นเผด็จการ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ประสบการณ์จากช่วงจอมพล ป. เปิดประชาธิปไตยแล้วทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายเติบโตตามมาด้วย คงเป็นบทเรียนให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม - กษัตริย์นิยมในไทยตลอดจนขวาอเมริกันที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับไทยมากพอสมควร จนนำไปสู่การทำลายพื้นที่ตรงกลางที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างระบอบประชาธิปไตยเสีย
ช่วงนี้จอมพลสฤษดิ์ได้หันไปจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม - กษัตริย์นิยม ทำการจับกุมและปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้ายในไทย ทำให้พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) หันไปดำเนินยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง ปราบในเมืองไม่พอ ในส่วนของชนบท รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคง อาศัยการพัฒนาชนบทให้กลายเป็นเมือง เพื่อที่คนชนบทจะได้ไม่ไปเข้ากับขบวนการคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ รัฐบาลเผด็จการไทยยังมีส่วนร่วมกับการรุกรานเวียดนาม โดยอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานสำหรับส่งกำลังสนับสนุนและเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในสงครามเวียดนาม
การเข้ามามีบทบาทมากจนถึงกับมีการฐานทัพอยู่ในประเทศไทย ทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายนำเอาไปเป็นประเด็นโจมตีสหรัฐอเมริกาว่าเป็น ‘จักรวรรดินิยมใหม่’ (New imperialism) งานเก่าของฝ่ายซ้ายไทยที่เขียนขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490-2500 ได้รับการรื้อฟื้นตีพิมพ์ซ้ำ ชิ้นเด่น ๆ สำคัญ ๆ ก็เช่น ‘ไทยกึ่งเมืองขึ้น’ ของอรัญญ์ พรหมชมภู (อุดม สีสุวรรณ) ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ (เดิมมีคำว่า ‘ในยุคปัจจุบัน’) ของสมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์)
เมื่อมองบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่ขยายเข้ามามีอิทธิพลมากในช่วงสงครามเย็น ก็จะเห็นว่าอเมริกาในฐานะจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นแบบใหม่ที่ฝ่ายซ้ายทั้งในไทยและจีน ต่างโจมตีกันนั้นดูเป็นจริงและสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และขณะเดียวกันนั้นก็จะเห็นได้ว่า ‘จีนแดง’ มีภาพพจน์เป็นคู่ตรงข้ามกับอเมริกาในช่วงนั้น
จีนที่เคยขูดรีดสยามให้ต้องจิ้มก้องเป็นเวลาช้านาน หายไปจากมุมมองของฝ่ายซ้ายไทย แทนที่ด้วยจีนคอมมิวนิสต์ที่ดูเป็นฝ่ายก้าวหน้า (ในสมัยนั้น) จากมุมมองของปัญญาชนไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการยึดครองโดยดูจากการทหารเป็นหลัก การที่อเมริกามีฐานทัพในประเทศไทย อเมริกาเป็นตัวแบบที่เข้ากับมุมมองดังกล่าวนี้พอดี ในขณะที่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยสมัยนั้นก็ยังไม่มีวิธีคิดว่าจีนคอมมิวนิสต์จะขยายอำนาจครอบงำและเป็นจักรวรรดินิยมได้เหมือนกัน
หลังสงครามเย็น (Post-cold war): จาก ‘ซ้าย’ กลายเป็น ‘ขวา’ & กลัวอเมริกา-ไม่กลัวจีน
ที่กล่าวมานั้นเป็นยุคสงครามเย็นที่ศัตรูของชนชั้นนำไทยคือขบวนการคอมมิวนิสต์ จึงดึงเอาอเมริกาเข้ามาสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านความช่วยเหลือทางการทหาร เงินทุน บุคลากร (เทคโนแครต) เทคนิควิทยาการเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ฯลฯ
แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ศัตรูของชนชั้นนำไทยเปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นอีกครั้งแบบกลับตาลปัตร หันไปดึงเอาจีนเข้ามาเพื่อต่อต้านอเมริกา เมื่อเป้าหมายอยู่ที่การกำจัดศัตรูภายใน ทุกสิ่งอย่างที่เป็นประโยชน์ก็ถูกนำเอาไปใช้ได้หมด ไม่เว้นแม้แต่มรดกตกค้างจากแนวคิดของขบวนการฝ่ายซ้ายไทยในอดีตอย่างการเชียร์จีน-แอนตี้อเมริกา โดยไม่แคร์ว่าพวกเขาไม่ใช่ทายาทที่ชอบธรรมของขบวนการฝ่ายซ้าย หากแต่เป็นตรงกันข้าม
ตามขนบของชาตินิยมไทย ศัตรูของชาติต้องมีตัวตนจริงแต่ไม่แข็งแกร่งเกินไปหรืออ่อนปวกเปียกเกินไป ถ้าแข็งแกร่งจนต่อต้านได้ยาก พวกเขาจะพาคนไปซูฮกอ่อนน้อมหมอบกราบและยอมจิ้มก้องแต่โดยดี แล้วค่อยหาหนทางจัดการอย่างลับ ๆ กันต่อไป ไม่สู้ซึ่งหน้าอย่างสง่าผ่าเผย แต่หากศัตรูอ่อนแอจนไม่มีทีท่าหรือว่าจะเคยคุกคามไทยได้มาก่อน เช่น ประเทศที่อยู่ห่างไกลอย่างแอฟริกา เม็กซิโก แคนาดา นิวซีแลนด์ ภูมิปัญญาแบบไทยแท้จะไม่เอามาเป็นอริราชศัตรู
ศัตรูที่ดีที่ลงล่องปล่องชิ้นกับขนบนี้คือศัตรูแบบพม่า แต่ไม่ใช่พม่ายุคตีกรุงศรีอยุธยาแตก เป็นพม่าในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์หลังจากที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากบรรดางานเขียนทางประวัติศาสตร์ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ สารคดีทางประวัติศาสตร์ ที่นำเอาพม่ามาสร้างเป็นศัตรูนั้นล้วนเกิดในยุคที่พม่าสูญสิ้นศักยภาพจะคุกคามไทยได้จริงไปแล้ว
ในช่วงหลังสงครามเย็น (Post-cold war period) อเมริกาก็ถูกทำเหมือนพม่านั่นแหละ คือเป็นศัตรูที่เคยมีอำนาจคุกคามในอดีต แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ศัตรูที่มีตัวตนและเคยมีอำนาจคุกคามแต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วแบบนี้นี่แหล่ะ เหมาะแก่การนำเอามาสร้างความกลัวแบบกลวง ๆ เป็นที่สุด และความกลัวแบบกลวง ๆ แบบนี้ก็เป็นแหล่งสร้างความชอบธรรมชั้นเลิศแก่ชนชั้นนำไทยมาแต่ไหนแต่ไร
กับอเมริกาจะด่า จะกล่าวหาอะไรไปต่าง ๆ นานา จริงบ้างเท็จบ้างยังไง ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่กับจีน แม้จะทำอย่างเดียวกับเจ้าอาณานิคมในอดีตแต่เข้มข้นกว่ามากอย่างไร คนไทยก็จะ ‘ฉลาดในการประสานผลประโยชน์’ กล่าวคือจะทำเหมือนช่วงญี่ปุ่นขึ้นบก ต่อเมื่อศัตรูเปลี่ยน หรือจีนดรอปลงบ้าง จีนก็อาจจะถูกทำเหมือนอเมริกาและญี่ปุ่นในภายหลังอีกหรือไม่
อย่าลืมว่า ครั้งหนึ่งจีนในประเทศนี้ก็เคยถูกมองเป็น ‘ยิวแห่งบุรพทิศ’ กันมาแล้ว สิ่งที่แน่นอนและยั่งยืนคงมั่นในประเทศนี้ก็คือความไม่มีอะไรแน่นอนหรือเปล่า?
ยังคงต้องติดตามกันต่อไป...
อ้างอิง:
กำพล จำปาพันธ์. ‘ข่าเจือง: กบฏผู้มีบุญในพระราชอาณาเขตสยาม พ.ศ.2415-2436.’ วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.
กำพล จำปาพันธ์. ‘ชำระข้อมูล โรเบิร์ต ฮันเตอร์ นายห้างหันแตรจอมห้าว ชีวิตพลิกเพราะเรือกลไฟ’ https://www.thepeople.co/blogs/read/50200 (เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 4 สิงหาคม 2565).
กำพล จำปาพันธ์. ‘หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) : มิชชันนารีอเมริกันกับการจัดการโรคระบาดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2563), หน้า 128-139.
จดหมายเหตุเรื่องทูตอเมริกันเข้ามาในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2393. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนา, 2466.
จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย. กรุงเทพฯ: บพิตร, 2517.
ฉลอง สุนทราวาณิชย์. รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2516.
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สมมติ, 2566.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ความทรงจำ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2504.
ทรงชัย ณ ยะลา. เศรษฐศาสตร์การเมือง (ภาคพิสดาร) ตอนที่หนึ่ง ‘วิวาทะว่าด้วยสังคมกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินาของไทย’. กรุงเทพฯ: น้ำหยาด, 2524.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2503.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2507.
บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. ‘ภัยฝรั่ง’ สมัยพระนั่งเกล้า. กรุงเทพฯ: มติชน, 2550.
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม. แปลโดย ป่วน อินทุวงศ์, พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, 2475.
พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังประเทศอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ประมวลศิลป์, 2502.
เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสุดจอมพล ป. พิบูลสงคราม). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2542.
ส. ธรรมยศ (แสน ธรรมยศ). Rex Siamen Sium หรือพระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547.
อรัญญ์ พรหมชมภู (อุดม สีสุวรรณ). เส้นทางสังคมไทย (ไทยกึ่งเมืองขึ้น). กรุงเทพฯ: อักษร, 2522.