แกะรอย ‘กรมหลวงรักษ์รณเรศ’ เจ้านายที่ถูกประหาร เพราะเป็น ‘ชายรักชาย’ จริงหรือ?

แกะรอย ‘กรมหลวงรักษ์รณเรศ’ เจ้านายที่ถูกประหาร เพราะเป็น ‘ชายรักชาย’ จริงหรือ?

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ’ หรือ ‘หม่อมไกรสร’ เจ้านายองค์สุดท้ายในไทยที่ถูกประหารด้วยท่อนจันทน์ มีคำกล่าวกันถึงสาเหตุว่าสืบเนื่องจากเพศสภาพ แต่นั่นเป็นสาเหตุโดยตรงจริงหรือ?

  • ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ’ หรือ ‘หม่อมไกรสร’ รับโทษประหารด้วยท่อนจันทน์ ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่องนี้ถูกกล่าวขานต่อมาว่า สาเหตุของการรับโทษคือพฤติกรรม ‘ชายรักชาย’
  • สาเหตุของโทษประหารถูกตั้งคำถามเมื่อมีหลักฐานอีกจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นชายรักชายบางกรณีไม่เป็นเหตุให้ต้องโทษถึงขั้นประหารแต่อย่างใด

ย้อนหลังไปในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2391 ราชสำนักที่กรุงเทพฯ ได้ส่งกำลังชายฉกรรจ์ฝีมือดีจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อจับกุมตัวเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งประทับอยู่ที่นั่นในเวลานั้น มายังกรุงเทพฯ ทำการสอบสวน ก่อนจะตัดสินลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต โดยก่อนประหารได้ให้ถอดยศฐาบรรดาศักดิ์ออกจนเหลือชั้นเป็นเพียง ‘หม่อม’ 

เจ้านายพระองค์นั้นคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ’ หรือ ‘พระองค์เจ้าไกรสร’ หรือ ‘หม่อมไกรสร’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1  

โดยลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากภายหลังจากนั้นมาได้เกิดมีเทคนิควิธีการประหารชีวิตเจ้านายด้วยวิธีอย่างอื่น กรมหลวงรักษ์รณเรศจึงกลายเป็นเจ้านายองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้ใช้บริการท่อนจันทน์ ณ วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ นับจากปีแรกที่มีหลักฐานปรากฏการใช้ท่อนจันทน์ปลงพระชนม์เจ้านาย คือ พ.ศ.1931 เจ้านายพระองค์แรกที่ได้ใช้บริการท่อนจันทน์คือ ‘พระเจ้าทองลัน’ พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพงั่ว) เป็นระยะเวลากว่า 460 ปี (1931-2391) ที่เจ้านายทั้งชั้นพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์องค์แล้วองค์เล่าที่ต้องสังเวยพระชนม์ชีพให้กับท่อนจันทน์ 

ทั้งนี้ การประหารกรมหลวงรักษ์รณเรศ มีประเด็นที่เป็นที่กล่าวขานสืบมาเกี่ยวกับสาเหตุที่นำไปสู่การถูกจับกุมและต้องโทษถึงขั้นประหาร ความเชื่อที่เกิดจากตัวบทพระราชพงศาวดารมีส่วนด้วยมิใช่น้อยที่ทำให้การประหารเจ้านายด้วยท่อนจันทน์องค์สุดท้ายนี้เป็นที่พูดถึงกัน ด้วยเหตุว่าเป็นการประหารที่มีตัวบทระบุถึงเพศสภาพของผู้ถูกประหาร แต่นั่นเป็นสาเหตุของการที่เจ้านายพระองค์นี้ต้องถูกประหารด้วยวิธีโบราณเช่นนั้นจริงหรือ? ในเมื่อก็มีหลักฐานอีกเป็นจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นชายรักชายไม่เป็นเหตุให้ต้องโทษถึงขั้นประหารแต่อย่างใดเลย

ก่อนจะพิจารณาในลำดับต่อไปว่า สาเหตุที่แท้จริงของการประหารกรมหลวงรักษ์รณเรศคืออะไร ก่อนอื่นขอให้อ่านข้อความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ที่บันทึกเล่าเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดเสียก่อน ไม่งั้นจะไม่เข้าใจว่าผู้เขียนกำลังโต้แย้งอะไร

ตัวบทพระราชพงศาวดาร

‘พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3’ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้กล่าวถึงกรณีการสำเร็จโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศร รวมถึงชนวนเหตุที่นำไปสู่การจับกุมพระองค์กับบริวารบ่าวไพร่คนสนิท เอาไว้ดังความต่อไปนี้: [เน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]

“ครั้นมาถึงเดือน 1 พระยาธนูจักรรามัญทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย กล่าวโทษกรมหลวงรักษรณเรศว่า ชำระความของตัวไม่ยุติธรรม กดเอาบุตรชายว่าเป็นผู้ร้ายย่องเบาลักเอาเงินทองสมิงพิทักษ์เทวาไป เงิน 20 ชั่ง สมิงพิทักษ์เทวาเป็นโจทก์ จึ่งโปรดให้ประชุมเสนาบดีชำระใหม่ ก็ได้ความจริงว่า บุตรพระยาธนูจักรมิได้เป็นผู้ร้าย ผู้ร้ายนั้นคือบุตรเขยของสมิงพิทักษ์เทวานั่นเอง

ครั้นสมิงพิทักษ์เทวาโจทก์แพ้แก่พระยาธนูจักร ทรงขัดเคืองกรมหลวงรักษรณเรศรว่า ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมกดขี่หักหาญถ้อยความผิดๆ อย่างนี้คงมีหลายเรื่องมาแล้ว เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน

จึ่งให้ตระลาการค้นหาความอื่นต่อไปได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศรชำระคดีของราษฎรมิได้เป็นยุติธรรม ด้วยพวกละครรับสินบนทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย แล้วก็คงหักเอาชนะจงได้ แล้วเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง จนชั้นแต่ลอยกระทงก็ไปลอยกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง เอาธรรมเนียมที่ในหลวงทรงลอย เจ้าพวกละครห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพชรแทนหม่อมห้าม เกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ที่ผู้ใดไม่ฝากตัวก็พยาบาทไว้ ตั้งแต่เล่นละครเข้าแล้ว ก็ไม่ได้บรรทมข้างในด้วยหม่อมห้ามเลย บรรทมอยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงพวกละคร จึ่งรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกย้ายกันไถ่ถาม ได้ความสมกันว่าเป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือเจ้าละครและมือท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไว้ให้สัมภวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เป็นแต่เท่านั้น

แล้วโปรดให้ตระลาการถามกรมหลวงว่า เป็นเจ้าใหญ่นายโตเล่นการเช่นนี้สมควรอยู่แล้วหรือ กรมหลวงรักษรณเรศรให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้นไม่เกี่ยวข้องต่อการแผ่นดิน

ถามอีกข้อ 1 ว่า เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมากจะคิดกบฏหรือ กรมหลวงให้การว่า ไม่ได้คิดกบฏ (ตรงนี้สำนวนบ่งให้เห็นว่า คงจะมีคำถามอีกคำ 1 ว่า ถ้าไม่คิดกบฏก็เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้ทำไม จึ่งตอบว่า) คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร

ถามอีกข้อ 1 ว่า ถ้าได้อย่างนั้นแล้วจะเอาผู้ใดเป็นวังหน้า ให้การว่าคิดไว้จะเอากรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร์

ทรงพระราชดำริปรึกษาด้วยพระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีว่า กรมหลวงรักษรณเรศรมีความผิดหลายอย่าง ทั้งบังเอาเงินเบี้ยหวัดและเงินขึ้นวัดพระพุทธบาทปี 1 ก็หลายสิบชั่งเป็นอาณาประโยชน์ จะเลี้ยงไว้ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระราชวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีกราบทูลว่า จะไม่เอาโทษเสียจะเลี้ยงไว้ก็ไม่เป็นที่ไว้ใจ เหมือนตีอสรพิษให้หลังหักระวังยาก

ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือน 1 ขึ้น 3 ค่ำ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตระลาการนำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศรว่า การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึ่งได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ 25 ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดินให้ตัวระลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวได้ทำราชการมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนถูกหนังสือทิ้งด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำคัญพระทัยว่าได้เป็นเพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ยังแต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งไว้วางพระราชหฤทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา และตัวประพฤติการคดๆ โกงๆ เอาสินบนในการชำระถ้อยความแล้วตั้งขุนนาง ก็ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่บ้าง ก็ได้ทรงเตือนสติเป็นหลายครั้งหลายคราว ว่าอย่าทำให้ราษฎรเขาติฉินนินทาหมิ่นประมาทได้ อย่าให้ชื่อชั่วอยู่ในแผ่นดินเหมือนตัวประพฤติการไม่อยู่กับเมียดังนี้ ก็มีผู้มาพูดว่าทั้งผู้ชายผู้หญิง ข้างผู้ชายนั้นก็มีกรมขุนรามอิศเรศร เป็นต้น จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชา ฝ่ายผู้หญิงเมียของตัวที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็มาเล่าให้เขาฟังออกเซ็งแซ่ไป ว่าตัวไม่อินังขังข้อกับลูกเมีย มาหลงรักอ้ายคนโขนคนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึ่งทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่ง (เตากวาง) รักงิ้ว จะซ่องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวเสียว่า ทำดังนี้ไม่งามไม่ดี ความก็จะอื้ออึงไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้ความอัปยศ

แล้วทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนกรมหลวงเทพพลภักดิ์ก็ประพฤติการไม่อยู่กับลูกเมียเหมือนกันเช่นนี้ สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ทรงทราบทุกๆ พระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์ประการใดไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งมิได้เอาพระทัยเป็นพระราชธุระ ด้วยสำคัญพระทัยว่าเขาประพฤติให้เหมือนพี่ชาย เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเลือก เป็นคนอุบาทว์บ้านเมืองแล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยความโลภ เจตนา ให้ขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งฝ่ายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องฦาไปทั่วนานาประเทศทั้งปวงหาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก

แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่คนเขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน

จึ่งโปรดถอดออกเสียจากที่กรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญา แล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อ ณ วันพุธเดือน 1 แรม 3 ค่ำ อายุได้ 58 ปี แต่บ่าว 3 คน ขุนวุฒามาตย์ ขุนศาลคน 1 เป็น 4 คนด้วยกัน ไปประหารชีวิตเสียที่สำเหร่ในวันเดียวกัน”

 

จากวัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ ถึง วัดปิตุลาราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา  

การเสด็จไปประทับอยู่ฉะเชิงเทราของกรมหลวงรักษ์รณเรศ ไม่ใช่การไปโดยเป็นการตัดสินพระทัยไปด้วยพระองค์เอง หากแต่เป็นนโยบายในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลานั้นโดยตรง เพราะช่วงนั้นยังเป็นช่วงมีศึกสงครามยาวนานกับเวียดนามในดินแดนกัมพูชาที่เรียกว่า ‘อานาม-สยามยุทธ์’ ผลัดกันแพ้ชนะเรื่อยมา 

จนกระทั่งในช่วงหลังชนชั้นนำสยามเริ่มเห็นว่าเวียดนามเข้มแข็งทางการทหารมากขึ้น เนื่องจากหันไปเน้นสร้างแสนยานุภาพทางการรบทางเรือแทนที่จะเน้นทางบกเหมือนสยาม เวียดนามชำนาญทางเรือเดินทะเลมากกว่าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์เหงียนสืบทอดมาจากเหงียนฟุกอันห์หรือพระเจ้าเวียดนามซาลอง  ซึ่งเคยมาพำนักลี้ภัยอยู่กรุงเทพฯ และหัวเมืองตะวันออก ทำให้รู้เส้นทางทางทะเลแถบอ่าวสยามมาก 

ชนชั้นนำสยามจึงหวั่นวิตกว่า หากทัพบกที่นำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เกิดเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าเสียที สยามอาจจะต้องรับมือกับกองทัพเรือของเวียดนาม จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรปรับปรุงหัวเมืองตะวันออกที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพไว้เพื่อป้องกันการรุกของเวียดนาม หัวเมืองหลักที่อยู่ในแนวเส้นทางยกทัพหากว่าเวียดนามจะบุกมามี 3 หัวเมือง คือ สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี

ในส่วนของเมืองสมุทรปราการ รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศไปปรับปรุงป้อมปราการให้พร้อมสำหรับรับศึกที่มาจากทางทะเลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเป็นเมืองด่านทางใต้ในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนจะเข้าสู่ตัวเมืองหลวงที่กรุงเทพฯ โดยตรง จึงเป็นบริเวณที่มีการสร้างแนวป้องกันเอาไว้อยู่ตลอด ขณะที่หัวเมืองถัดไปที่อยู่ในแนวตั้งรับอย่างฉะเชิงเทรากับจันทบุรี ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับศึก 

ในส่วนของจันทบุรี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางตระกุลบุนนาค โดยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค ควบ 2 ตำแหน่ง เป็นที่ทั้งเจ้าพระยาพระคลังกับสมุหพระกลาโหม) ได้พาบุตรชายคนสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นขำ บุนนาค, ช่วง บุนนาค, วอน บุนนาค ฯลฯ ไปปรับปรุงเมืองจันทบุรี นำไปสู่การสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ที่เขาเนินวง เนื่องจากเห็นว่าเมืองจันทบุรีที่ตั้งอยู่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรีมาแต่เดิมนั้นเป็นจุดอันตราย ยากแก่การจัดการรักษาป้องกัน ตระกูลบุนนาคจึงเสนอแผนงานย้ายเมืองจันทบุรีมาอยู่ที่เขาเนินวง 

ขณะเดียวกันราชสำนักก็ส่งกรมหลวงรักษ์รณเรศไปยังฉะเชิงเทรา เพื่อปรับปรุงเมืองฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองหน้าศึก กรมหลวงรักษ์รณเรศก็ได้ย้ายเมืองฉะเชิงเทราจากที่เดิมที่ตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้มาเป็นบ้านเสาทอน (โสธร) สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการขึ้นใหม่ 

การย้ายเมืองของตระกูลบุนนาค ไม่ได้รับความร่วมมือจากคนจันทบุรีเท่าที่ควร เพราะพื้นที่เขาเนินวงอยู่ลึกเข้าไปตอนในมากเกินไป ไม่เหมาะกับอาชีพการค้าขายของชาวจันทบุรี เมืองจันทบุรีจึงไม่ได้ขยายตัวตามมายังบริเวณเขาเนินวง เมืองจันทบุรีที่เขาเนินวงจึงเป็นเมืองป้อมปราการทางทหารล้วน ๆ เมืองใหม่ที่เพิ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงกลายเป็นเมืองร้างและเขตโบราณสถานดังในปัจจุบัน ในขณะที่เมืองจันทบุรีเก่าที่ตั้งอยู่ตัวเมืองจันทบุรีเดิมซึ่งมีพัฒนาการสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นเมืองจันทบุรีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นำทัพมาตีเมื่อพ.ศ.2310        

แต่เมืองฉะเชิงเทราที่บ้านเสาทอน ซึ่งกรมหลวงรักษ์รณเรศให้ย้ายจากปากน้ำเจ้าโล้มานั้น เป็นตรงกันข้ามกับเมืองจันทบุรีใหม่ที่ค่ายเนินวง ไม่เพียงไม่กลายเป็นเมืองร้าง หากแต่กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจสังคมของย่านฉะเชิงเทราแทนที่ฉะเชิงเทราเดิม สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศคือผู้สร้างเมืองฉะเชิงเทราในบริเวณย่านตัวเมืองฉะเชิงเทรารุ่นปัจจุบันอย่างแท้จริง 

เพราะเหตุดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสฉะเชิงเทรา ทอดพระเนตรเห็นเมืองใหม่ที่กรมกลวงรักษ์รณเรศสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นย่านที่มั่งคั่งรุ่งเรืองสืบมา รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระราชทานนาม ‘วัดเมือง’ หรือ ‘วัดท้ายเมือง’ ที่กรมหลวงรักษ์รณเรศสร้างคราวเดียวกับที่สร้างเมืองฉะเชิงเทราใหม่ว่า ‘วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์’ หมายถึง วัดที่พระปิตุลา (ลุง) ของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 5) เป็นผู้สร้าง เพราะกรมหลวงรักษ์รณเรศมีศักดิ์เป็น ‘พระปิตุลา’ ของพระองค์ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิใช่เจ้านายพระองค์แรกที่ทราบและชื่นชมกรมกลวงรักษ์รณเรศ ก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ก็เคยมีบันทึกกล่าวถึงกรมหลวงรักษ์รณเรศไว้ว่า ‘พระองค์ท่านเปนจอมปราชญ์ จินตะกระวีบัณฑิตย์ ชาติ์ราชตระกูลสุริยวงศ์อันประเสริฐ’ โดยที่ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และปราชญ์สยามอย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ ต่างก็ทราบว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศนั้นทรงมีรสนิยมทางเพศเช่นใด นั่นก็เพราะว่าคนแต่ก่อนนั้นมิได้รังเกียจคนที่มีความประพฤติแบบชายรักชาย   

 

ตัวจึงตายเพราะเป็น ‘ชายรักชาย’ จริงหรือ?

ข้อที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นเจ้านายที่เจริญพระชันษาควบคู่มากับเจ้านายองค์อื่น ๆ และยังได้เคยปฏิบัติราชกิจคู่เคียงกับรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น ‘กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์’ ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งรัชกาลที่ 3 และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมาจะไม่ทรงทราบว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นชายรักชาย พระราชพงศาวดารเขียนทำนองว่าเพิ่งจะทรงทราบก็เมื่อกรมหลวงรักษ์รณเรศเสด็จไปประทับอยู่เมืองฉะเชิงเทราแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เมื่อมองดูความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างเจ้านายชายรุ่นเดียวกันในสมัยนั้น 

ที่สำคัญประเด็นที่เป็นหลักฐานชี้ยันว่า การเป็นเจ้านายชายรักชายนั้นไม่เป็นเหตุให้ถูกนำตัวมาประหาร ก็จะเห็นได้จากที่พระราชพงศาวดารยังมีเนื้อความกล่าวพาดพิงถึงพระองค์เจ้าอภัยทัต (กรมหลวงเทพพลภักดิ์) พระเชษฐาของกรมหลวงรักษ์รณเรศว่าก็มีพฤติกรรมแบบชายรักชายเช่นกัน โดยพระองค์เจ้าอภัยทัตได้รับราชการเป็นเจ้ากรมคชบาล (กรมช้าง) ประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาเป็นหลัก คล้ายคลึงกับที่กรมหลวงรักษ์รณเรศเองในช่วงบั้นปลายก็เสด็จไปประทับอยู่ฉะเชิงเทราเป็นหลัก ไม่ได้ประทับอยู่เมืองหลวง 

พฤติกรรมอย่างเดียวกัน แต่คนหนึ่งถูกประหาร อีกคนไม่เพียงไม่ถูกประหาร แต่ยังได้รับเกียรติยกย่องจากพระราชวงศ์ในฐานะเจ้านายผู้มีคุณูปการอย่างมากต่อการฟื้นกรมช้างขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ยังปรากฏศาลเคารพของพระองค์อยู่ทางทิศเหนือติดกับเพนียดคล้องช้างที่อยุธยามาเท่าทุกวันนี้ แน่นอนว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศก็เป็นที่เคารพยกย่องแก่ชาวฉะเชิงเทราเช่นกัน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา หลังจากที่ทรงพระราชทานนาม ‘วัดเมือง’ เป็น ‘วัดปิตุลาราชรังสฤษฎิ์’

 

นัยของ ‘พระเจ้าเตากวาง’ และพระไพรีพินาศ

ไม่เพียงเท่านั้น การรับรู้ถึงความมีอยู่ของชายรักชายในหมู่ชนชั้นนำสยามเวลานั้น ก็ยังมีสายพระเนตรสอดส่องไกลไปจนถึงเมืองจีน ดังจะเห็นได้จากที่พระราชพงศาวดารอ้างถึงพระกระแสรับสั่งที่มีถึงกรมหลวงรักษ์รณเรศในเชิงเปรียบเทียบว่า 

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึ่งทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่ง (เตากวาง) รักงิ้ว จะซ่องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวเสียว่า ทำดังนี้ไม่งามไม่ดี ความก็จะอื้ออึงไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้ความอัปยศ” 

นัยที่หยิบยกเรื่องพระเจ้าเตากวางนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยึดอำนาจ หมายถึงกรมหลวงรักษ์รณเรศกำลังมีแผนการจะทำอย่างเดียวกับพระเจ้าเตากวาง อย่างการชิงราชบัลลังก์    

ประเด็นนี้ สุพจน์ แจ้งเร็ว บ.ก.ศิลปวัฒนธรรม ก็เคยเขียนบทความเรื่อง ‘รัชกาลที่ 3 กับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และเรื่อง ‘มิดเม้น’ ของเจ้านาย’ ตีพิมพ์ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2550 ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประหารกรมหลวงรักษ์รณเรศเอาไว้ว่า

“มิได้อยู่เพียงที่หม่อมไกรสรฉ้อฉลเงินแผ่นดิน หรือชอบ ‘เป็นสวาท’ กับผู้ชายชาวคณะละครของตน, มิได้อยู่เพียงที่หม่อมไกรสร เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเลือก หรือ เป็นคนอุบาทว์บ้านเมือง แล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ด้วยความโลภเจตนา, อย่างที่ทรงบริภาษเท่านั้น, หากข้อใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ความมักใหญ่ใฝ่สูงของหม่อมไกรสรที่หมายจะขึ้นครองแผ่นดินเสียเองเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว.”

ตามความในพระราชพงศาวดารนอกจากพาดพิงถึงประเด็นชายรักชายแล้ว ยังได้ระบุถึงพระราชกระทู้ถามจากรัชกาลที่ 3 โดยตรงอีกด้วย เช่นว่า “โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตระลาการนำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศรว่า การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึ่งได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ 25 ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดินให้ตัวระลึกถึงความหลังดู”

นอกจากรัชกาลที่ 3 แล้ว พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) ก็ยังเป็นเจ้านายอีกพระองค์ที่ทรงขัดเคืองพระทัยต่อกรมหลวงรักษ์รณเรศ เนื่องจากกรมหลวงรักษ์รณเรศได้แสดงพระองค์เป็นปฏิปักษ์คอยกลั่นแกล้งพระองค์เสมอมา กระทั่งเมื่อกรมหลวงรักษ์รณเรศถูกประหารแล้ว พระวชิรญาณภิกขุทรงตั้งนามพระพุทธรูปองค์หนึ่งว่า ‘พระไพรีพินาศ’ และตั้งนามเจดีย์องค์หนึ่งว่า ‘พระไพรีพินาศเจดีย์’

เมื่อพ.ศ.2507 ได้มีการบูรณะเจดีย์นี้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีการค้นพบว่าภายในพระเจดีย์มีกระดาษแผ่นหนึ่งประทับตราสีแดง เขียนข้อความหน้าหนึ่งว่า จงมีนามว่าพระไพรีพินาศเจดีย์เทิญ” และอีกหน้าหนึ่งมีว่า “เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ” ซึ่งปีแรกทำเจดีย์นี้ตรงกับพ.ศ.2391 ซึ่งเป็นปีที่กรมหลวงรักษ์รณเรศถูกประหารพอดี จึงเป็นอันเข้าใจกันว่า ‘คนไพรี’ ที่มาถึงกาล ‘พินาศ’ เมื่อคราวสร้างเจดีย์และได้พระพุทธรูปมานี้ก็คือกรมหลวงรักษ์รณเรศนั่นเอง 

เพราะอะไร ทำไม กรมหลวงรักษ์รณเรศถึงไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพระวชิรญาณภิกขุ และการทะเลาะขัดแย้งกับพระวชิรญาณภิกขุนั้นเองก็เป็นชนวนเหตุให้รัชกาลที่ 3 ทรงไม่สบายพระทัยเกี่ยวกับพฤติการณ์ของกรมหลวงรักษ์รณเรศ  เพราะเวลานั้นเป็นช่วงปลายรัชกาล 

พ.ศ.2391 นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงเจริญพระชนมายุได้ 61 พรรษาเข้าสู่วัยชรา แม้จะทรงพระพลานามัยแข็ง ยังมิได้ทรงพระประชวรหนัก แต่ ณ ปีดังกล่าวนั้น เรื่องว่าผู้ใดจะสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนชาวเมืองพูดถึงกัน (อย่างลับ ๆ) แล้ว 

ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ราชสมบัติเวลานั้นก็มีพระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ, พระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4), กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระปิ่นเกล้าฯ), กรมหลวงรักษ์รณเรศ ในจำนวนผู้อยู่เกณฑ์จะได้ราชสมบัติทั้ง 4 พระองค์นี้ กรมหลวงรักษ์รณเรศอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้มากที่สุด  เพราะเป็นเจ้านายที่มีกำลังคนในสังกัดมาก รองลงมาคือพระปิ่นเกล้าฯ แต่พระปิ่นเกล้าฯ ก็ ทรงโปรดแต่การสนุก” ไม่งานราชการ 

ขณะที่พระวชิรญาณภิกขุ แม้จะทรงเป็นที่เคารพรักแก่เหล่าขุนนางและปวงประชาราษฎรมาก แต่พระองค์ก็ห่างเหินจากงานราชการ และพระปิ่นเกล้าฯ ก็จะสนับสนุนพระเชษฐาของพระองค์คือพระวชิรญาณภิกขุ 

ดังนั้น เมื่อกรมหลวงรักษ์รณเรศถูกกำจัด ก็เหลือเพียง 2 พระองค์ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ราชสมบัติ ดูเผิน ๆ เหมือนรัชกาลที่ 3 จะทรง ‘เคลียร์ทาง’ ให้ราชสมบัติตกแก่พระวชิรญาณภิกขุ แต่ที่จริงการกำจัดกรมหลวงรักษ์รณเรศออกจากสมการก็มีผลทำให้พระองค์เจ้าอรรณพอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ราชสมบัติมากขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน แต่เพราะการกำจัดกรมหลวงรักษ์รณเรศออกไปเช่นนี้ทำให้ขุนนางกลุ่มตระกุลบุนนาคหันไปให้ความสนับสนุนพระวชิรญาณภิกขุแทนที่จะสนับสนุนพระองค์เจ้าอรรณพ หรืออาจเป็นเพราะทรงพระประชวรหนักจนเสด็จสวรรคตเสียก่อน ยังไม่ทันที่จะทรง ‘วางหมาก’ อย่างใดให้แก่พระราชโอรสของพระองค์ก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มขุนนางใหญ่และ ‘คนไพรี’ ที่ทรงถือเป็น ‘ชาติเวร’ ของพระองค์ถูกกำจัดไปแล้ว พระวชิรญาณภิกขุก็ทรงไม่มั่นพระทัย จึงทรงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับราชบัลลังก์ของพระองค์โดยการตั้งพระปิ่นเกล้าฯ เป็นกษัตริย์วังหน้าในคราวเดียวกับที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ 5 ปีภายหลังจากการประหารกรมหลวงรักษ์รณเรศนั่นเอง     

 

ภาพ: (ซ้าย) รัชกาลที่ 3 (ขวา) รัชกาลที่ 4 และภาพประกอบเนื้อหา คู่กับฉากหลังเป็นภาพถ่ายวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ไฟล์จาก Nickdhapana สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 3.0

อ้างอิง:

ก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์). อานามสยามยุทธ: ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมร และญวน. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2564.

กำพล จำปาพันธ์. ‘การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 42, ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2564), หน้า 74-91.

กำพล จำปาพันธ์. ‘ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 22-24’ วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2563.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538.

ปิยนาถ นิโครธา (บุนนาค). ‘บทบาทของเสนาบดีแห่งตระกูลบุนนาคในการปกครองประเทศสยามตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตน์โกสินทร์ (พ.ศ.2325-2416).’ วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (อ.ม.) แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2513.

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดฉะเชิงเทรา. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542.

สุพจน์ แจ้งเร็ว. ‘รัชกาลที่ 3 กับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และเรื่อง ‘มิดเม้น’ ของเจ้านาย’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28, ฉบับที่ 11 (กันยายน 2550), หน้า 78-99.