‘ไททานิก’ เรือแห่งความฝันกับตำนานโศกนาฎกรรมที่ไม่มีวันจมหายไป

‘ไททานิก’ เรือแห่งความฝันกับตำนานโศกนาฎกรรมที่ไม่มีวันจมหายไป

‘ไททานิก’ เรือแห่งความฝันกับตำนานโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันจมหาย กับชะตากรรมหลังเรือล่มของ ‘ไวท์ สตาร์ ไลน์’

  • เหตุผลที่เรือลำนี้ถูกเรียกขานในสมัยนั้นว่าแทบจะ ‘ไม่มีวันจม’ ก็เพราะการก่อสร้างที่ตั้งใจทำให้น้ำไม่สามารถเข้าเรือได้
  • เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้เป็นประธานบริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ และเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตนั้น เสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เขาถูกเรียกว่าเป็น ‘คนขี้ขลาด’ ที่หนีลงเรือชูชีพในขณะที่เด็กและผู้หญิงอีกหลายชีวิตไม่สามารถขึ้นเรือได้ทันเวลา

หากพูดถึงโศกนาฏกรรมทางทะเลที่ไม่มีวันลืมลง หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึง ‘เหตุการณ์เรือไททานิก’ กันเป็นแน่ โศกนาฎกรรมนี้นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปกว่า 1,500 คน ตามมาด้วยความโศกเศร้าและความสูญเสียของผู้รอดชีวิต และเป็นบทเรียนเตือนใจครั้งสำคัญสำหรับบริษัทเดินเรือทุกแห่งรอบโลก 

สำหรับบทความนี้ เราจะพาทุกคนย้อนเวลาไปกว่าร้อยปีที่แล้ว เพื่อทำความรู้จักกับเรือเดินสมุทรลำใหญ่จากกลุ่มบริษัท ‘ไวท์ สตาร์ ไลน์’ กว่าจะมาเป็นเรือลำนี้ ต้องแลกอะไรไปและผ่านอะไรมาบ้าง รวมไปถึงเหตุการณ์หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้นด้วย

ยุคทองของการเดินเรือ

ยุคเอ็ดวาร์เดียน (Edwardian era) หรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถือเป็นยุคทองของการสร้างเรือ วิวัฒนาการอันก้าวหน้าในเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลได้ในระยะเวลาไม่นานและปลอดภัยกว่าแต่ก่อน และด้วยเหตุนี้ เรือสำราญสุดหรูก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้ากระเป๋าหนัก และเป็นจุดที่แต่ละบริษัทต่างก็พยายามแข่งขันกันเพื่อให้เรือของตัวเองหรูหรามากที่สุด

บริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ (White Star Line) ก่อตั้งขึ้นในปี 1869 โดย ‘โธมัส เฮนรี อิสเมย์’ (Thomas Henry Ismay) ชาวอังกฤษ โดยเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทขนส่งทางบกก่อน ใช้เวลาไม่นาน บริษัทของโธมัสก็กลายเป็นบริษัทชั้นนำในการนำโดยสารผู้โดยสารข้ามมหาสมุทร และในปี 1908 บริษัทก็ดูแลเรือทั้งหมดสามสาย ได้แก่ RMS Olympic, RMS Titanic และ RMS Gigantic โดยคุณลักษณะเด่นของเรือจากบริษัทนี้คือความโอ่อ่าหรูหราอลังการ ความสะดวกสบายที่มากกว่าความเร็ว

(โธมัส เฮนรี อิสเมย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไวท์ สตาร์ ไลน์)

บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบเรือไททานิกคือช่างสร้างเรือจากเบลฟาสต์ที่ชื่อ ‘ฮาร์แลนด์’ และ ‘วอลฟฟ์’ (Harland and Wolff) แต่หัวใจหลักของทีมคือสถาปนิกที่ชื่อ ‘โธมัส แอนดรูว์’ (Thomas Andrew) ซึ่งโธมัสคนนี้ได้มาแทนหัวหน้าสถาปนิกคนก่อนนั่นคือ ‘คาร์ลิสล์’ (Carlisle) ผู้ที่กลายมาเป็นที่ปรึกษาของโปรเจ็กต์แทน และเพราะคาร์ลิสล์คนนี้นั่นเอง เรือไททานิกถึงถูกออกแบบมาอย่างสง่างาม และดีไซน์ที่สามารถทำให้เรือลำนี้จุเรือชูชีพได้เป็นสองเท่า (แต่ก็ถูกปัดตกไป)

การสร้างเรือที่ไม่มีวันจม

ไททานิกใช้เวลาการสร้างกว่า 26 เดือน สิ่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นคือ ‘กระดูกงูเรือ’ (keel) ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังและอยู่ที่ด้านใต้ของเรือ และตัวลำเรือก็ถูกสร้างตามมา ภายในตัวเรือมีหม้อน้ำยี่สิบเก้าหม้อ เตาเผาร้อยห้าสิบเก้าเตา ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานกับเครื่องยนตร์ขนาดใหญ่สองเครื่อง ปล่องลมยาว 20 เมตร จำนวน 4 ปล่องบนเรือ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจที่ว่าเรือลำนี้จะไม่มีเรือลำไหนทัดเทียมได้ และไททานิกก็ได้กลายมาเป็นสิ่งที่สามารถเคลื่อนไหวได้ที่สร้างด้วยมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุด แน่นอนว่าความคาดหวังกับเรือลำนี้ก็สูงมาก

เหตุผลที่เรือลำนี้ถูกเรียกขานในสมัยนั้นว่าแทบจะ ‘ไม่มีวันจม’ ก็เพราะการก่อสร้างที่ตั้งใจทำให้น้ำไม่สามารถเข้าเรือได้ ภายในเรือมีกำแพงกั้นน้ำอยู่ 15 ด้าน ซึ่งจะแบ่งตัวเรือเป็น 16 ส่วน ดังนั้น ถึงแม้จะมี 4 ส่วนที่ถูกน้ำท่วม เรือก็จะยังสามารถลอยได้อยู่ดี แต่อย่างไรก็ตาม กำแพงกั้นน้ำนั้นสูงเพียง 10 ฟีตเหนือแนวน้ำ จึงทำให้น้ำสามารถเดินทางจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่งได้ ส่งผลให้การสร้างกำแพงกั้นน้ำนั้นไม่ได้ช่วยให้เรือลำนี้ไม่มีวันจมได้อยู่ดี

ในเดือนพฤษภาคม ปี 1911 ไททานิกถูกส่งตัวให้สำหรับขั้นตอนของการตกแต่งภายใน ความยิ่งใหญ่และหรูหรานี้ยังไม่เคยมีใครเลียนแบบได้จนถึงทุกวันนี้ ทุกอย่างภายในตัวเรือนั้นถ้าไม่ใช่ของใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครใช้ ก็เป็นของที่ถูกทำขึ้นสำหรับใช้ในเรือลำนี้โดยเฉพาะ โดยของทุกอย่างถูกคิดมาแล้วว่าจะช่วยให้การเดินทางของผู้โดยสารทุกคนสะดวกสบายมากที่สุด 

ในทุก ๆ ห้องสวีทหรือห้องในเรือจะมีระบบประปา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำหรับผู้โดยสารชั้น 3 ในยุคนั้นแทบจะไม่มีกันที่บ้าน ถ้าจะพูดถึงบริเวณที่เป็นที่จดจำเกี่ยวกับความหรูหรามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘บันไดในโถง’ สำหรับผู้โดยสารชั้น 1 ซึ่งเป็นบันไดที่ได้รับแสงสว่างจากแสดงธรรมชาติจากภายนอกผ่านโดมแก้ว และส่องแสงยามกลางคืนด้วยแสงคริสตัล
(ภาพฉากโถงบันไดบนเรือไททานิค จากหนังเรื่อง Titanic 1997)

ภายหลังจากไททานิคจมลงสู่ใต้ทะเล

หลังจากที่เรือไททานิกจมลงใต้ก้นมหาสมุทร มีเพียง 330 ร่างเท่านั้นที่ถูกค้นพบจากจำนวนผู้เสียชีวิต ญาติบางส่วนเดินทางมาระบุตัวญาติของตนที่เสียชีวิตก่อนจะนำร่างนั้นเดินทางไปประกอบพิธี ในขณะที่อีกหลายร่างไม่สามารถระบุตัวตนได้ จึงมีเพียงหลุมศพไร้ชื่อที่จารึกไว้เพียงว่าพวกเขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ส่วนสำหรับร่างไหนที่สภาพเกินกว่าจะกู้กลับคืนมาได้แถมยังระบุตัวตนไม่ได้ ก็จะถูกฝังลงในทะเล การระบุตัวตนนั้นส่วนมากจะสังเกตจะสิ่งของที่มีอยู่ติดตัว ซึ่งส่วนมากที่ระบุไม่ได้ก็จะเป็นร่างของลูกเรือหรือผู้โดยสารชั้น 3 ที่มีของส่วนตัวติดตัวอยู่น้อยมากไปจนถึงไม่มีเลย

(ภาพเรือไททานิกกำลังจมลงใต้ก้นมหาสมุทร ผู้โดยสารบางส่วนได้ขึ้นเรือเล็ก)

แทบจะทันทีที่ข่าวของไททานิกแพร่ออกไป ทั้งสหรัฐและอังกฤษต่างก็รีบสืบสวนเหตุการณ์หายนะในครั้งนี้ การสอบสวนของสหรัฐ นำโดย สมาชิกวุฒิสภา ‘วิลเลียม อัลเดน สมิธ’ (William Alden Smith) เริ่มขึ้นภายใน 4 วัน โดยที่วิลเลียมได้เข้าพบและสอบสวนเรือที่เข้าช่วยเหลือไททานิก ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ รวมถึงประธานของบริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นคือ ‘เจ. บรูซ อิสเมย์’ (J. Bruce Ismay) และนำตัวไปที่ศาล 

สาเหตุหลักที่เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ มีข้อสรุปเกิดขึ้นอย่างหนึ่งว่า กัปตัน ‘เอ็ดเวิร์ด สมิธ’ (Edward Smith) ของไททานิกนั้นไม่สนใจต่อคำเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็ง และความขาดความรู้ของลูกเรือในเรื่องของการอพยพโดยเรือชูชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีคำกล่าวอ้างว่ากัปตันของเรือ SS Californian ซึ่งเป็นเรือที่อยู่ใกล้ไททานิกนั้นปฏิเสธที่จะตอบกลับสัญญาณขอความช่วยเหลือ

เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้เป็นประธานบริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ และเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตนั้น เสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เขาถูกเรียกว่าเป็น ‘คนขี้ขลาด’ ที่หนีลงเรือชูชีพในขณะที่เด็กและผู้หญิงอีกหลายชีวิตไม่สามารถขึ้นเรือได้ทันเวลา รวมทั้งมีข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัดว่า อิสเมย์คือคนที่กดดันกัปตันเอ็ดเวิร์ดให้เพิ่มความเร็วของเรือ เพื่อที่ไททานิกจะได้ถึงนิวยอร์คไวกว่ากำหนด และเอาชนะสถิติของเรือพี่น้องของไททานิกจากบริษัทของตัวเองอย่าง RMS Olympic 

หลังจากที่เขารอดมาได้ เขาต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจากความช็อครวมไปถึงกระแสโจมตีที่รุนแรง มีรายงานว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าและหายหน้าไปจากวงการอยู่นับปี รวมไปถึงการที่ห้ามพูดถึงเรื่องราวของไททานิกภายในครอบครัวของเขาด้วย

กลุ่มผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมนี้รวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องไวท์ สตาร์ ไลน์ ร้องเรียนค่าเสียหายกว่า 16 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากศาลสูงสุดของสหรัฐตัดสินว่าเหตุผลของการจมของเรือนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด ทำให้เงินค่าเสียหายที่ถูกจ่ายไปนั้นกลายเป็นจำนวน 664,000 ดอลลาร์แทน

บริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ ใช้ทั้งพลังงานและเวลาอย่างมากในการจัดการเรื่องทางกฎหมายหลังจากเหตุการณ์ไททานิก แต่ทั้งการสอบสวนในสหรัฐและอังกฤษได้ข้อสรุปว่า ในทางกฎหมาย ไม่สามารถโทษไวท์ สตาร์ ไลน์ กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หลังจากนั้น 3 ปี ไวท์ สตาร์ ไลน์จั ดการยกเครื่องเรือโอลิมปิคใหม่ทั้งหมดเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด รวมไปถึงเรื่อลำอื่น ๆ ในเครือ แม้จะเป็นที่ครหากับโศกนาฏกรรมนี้ แต่บริษัทก็ยังสามารถประกอบการและทำเงินต่อได้ เหตุการณ์ไททานิกไม่ใช่จุดจบของบริษัท เพราะพวกเขายังคงดำเนินธุรกิจต่อ ทั้งเป็นสายเรือหลักในการขนย้ายสิ่งของจนถึงปี 1934 และในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในสหรัฐ ไวท์ สตาร์ ไลน์ ได้รวมบริษัทเข้ากับ ‘คูนาร์ด ไลน์’ (Cunard Line) ซึ่งนับว่าเป็นคู่แข่งกันและกันมานาน

เหตุการณ์ในความทรงจำของผู้คนจากทั่วทั้งโลก

เหตุผลที่ชัดเจนและแน่นอนของการปะทะระหว่างไททานิคและภูเขาน้ำแข็งที่นำไปสู่การจมนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ทำให้มีการพัฒนาของความปลอดภัยในการเดินทะเล และมีการสร้างเรือโดยสารที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานมากขึ้น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (SOLAS) ถูกเขียนขึ้นในปี 1914 อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ของเรือไททานิค และเรือทุกลำต้องมีเรือชูชีพที่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสาร รวมไปถึงต้องมีการจับตามองและสแตนด์บายผ่านวิทยุตลอด 24 ชั่วโมง 

แม้จะเป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่ไม่น่าเกิดขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้การเดินเรือและชีวิตของผู้คนท่ามกลางมหาสมุทรนั้นปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเชื่อว่าทุก ๆ คนก็คงไม่อยากให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และเพื่อนมนุษย์ทุกคนอีกเลย


ภาพ: Getty Images
เรื่อง: บัณฑิตา อดุลโภคาธร

อ้างอิง: 

https://www.historyextra.com/period/edwardian/what-happened-after-sinking-titanic/
https://www.historyextra.com/period/edwardian/where-how-titanic-ship-build-white-star-line-belfast/
https://www.titanicandco.com/titanic/titanicindex.html
https://www.history.com/topics/early-20th-century-us/titanic#the-building-of-the-rms-titanic
https://mollybrown.org/building-the-titanic/
https://www.whitestarhistory.com/aftertitanic