การค้นพบ ‘กวนเกษียรสมุทร’ ที่ขอนแก่น จุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อีสานในอนาคตอันใกล้

การค้นพบ ‘กวนเกษียรสมุทร’ ที่ขอนแก่น จุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อีสานในอนาคตอันใกล้

การค้นพบ ‘กวนเกษียรสมุทร’ และซากโบราณสถานกลางทุ่งนาที่บ้านหนองโก ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ทำให้แวดวงประวัติศาสตร์ในไทยสนใจเป็นพิเศษ และมีมุมมองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อีสาน

  • การค้นพบ ‘กวนเกษียรสมุทร’ และซากโบราณสถานกลางทุ่งนาที่บ้านหนองโก ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ทำให้เกิดหัวข้อการแลกเปลี่ยนในทางประวัติศาสตร์ และอีกหลายมิติ
  • หากพิจารณาข้อมูลบางส่วน พบแนวโน้มว่า กวนเกษียรสมุทร จะเป็นจุดเปลี่ยนด้านความรับรู้ต่อประวัติศาสตร์อีสานในอนาคตต่อไป

(เหมือนจะเป็น) ‘บทนำ’

แม้ว่าอาจจะดูเร็วไปในการที่จะนำเสนอประเด็นวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการ สำหรับกรณีการพบซากโบราณสถานกลางทุ่งนาแห่งหนึ่งที่บ้านหนองโก ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น แต่เนื่องจากหากรอให้มีข้อมูลหลักฐานสมบูรณ์พร้อมแล้วถึงค่อยมีงานวิชาการออกมาแล้วล่ะก็ คงต้องรอไปจนชาติหน้าตอนบ่าย ๆ ถึงจะสามารถมีงานเขียนทางวิชาการออกมาได้ 

ในความเป็นจริงไม่มีสักที่หรอกที่จะมีข้อมูลหลักฐานสมบูรณ์พร้อม ตรงข้าม เพราะความที่ยังขาดแคลนอะไรแบบนั้นต่างหากที่ก่อให้เกิดช่องว่างให้แก่ความพยายามที่จะเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปนั้น สำหรับผู้เขียนแล้วยังเป็นเรื่องท้าทายที่จะนำเสนอการวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการในท่ามกลางความขาดแคลนดังกล่าวนี้ 

โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นว่า การพบร่องรอยโบราณสถานประเภทปราสาทเขมรในบริเวณจังหวัดที่ถือเป็นย่านใจกลางของภาคอีสานของประเทศไทยนั้น จะก่อเกิดเป็นจุดเปลี่ยนอย่างไรในแง่ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ในสนาม (Field) ที่เกี่ยวข้อง เมื่อ ‘โลกศักดิ์สิทธิ์’ ตามคติความเชื่อมาปรากฏซ้อนทับและนำเสนออยู่คู่กับ ‘โลกสามัญ’ ในความเป็นจริง      

ในงานชิ้นสำคัญของอาร์เธอร์ มาร์วิค (Arthur Marwick) ที่ใช้อภิปรายถึงวิธีวิทยาของประวัติศาสตร์ อย่างเล่ม ‘The New Nature of History: Knowledge, Evidence, Language’ ได้กล่าวไว้ที่หนึ่งว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับงานศิลปกรรมตั้งอยู่บน 3 ทิศทางดังนี้:

(1) ศิลปกรรม (ที่ทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่อดีต) สามารถใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมได้เป็นอย่างดี

(2) ประวัติศาสตร์สามารถให้รายละเอียดบริบทเกี่ยวกับสังคมอดีตซึ่งผลิตรูปแบบการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมชิ้นนั้น ๆ ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงมีคุณูปการต่อการศึกษาศิลปกรรมด้วย 

(3) ศิลปกรรมสามารถศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องชี้วัดประสบการณ์เฉพาะของคนในสังคมอดีต หรือนักประวัติศาสตร์หลายคนตระหนักถึงความสำคัญของการผลิต การจัดตั้งองค์กร ระบบอุปถัมภ์หรือสนับสนุน ตลอดจนการบริโภคงานศิลปกรรมที่มีความเฉพาะเจาะจงในสังคมอดีต   

‘โนนพระแท่น’ บนเส้นทางรอยต่อประวัติศาสตร์กัมพูชา-สยาม

สิ่งที่เราทราบกันอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับภูมิภาคที่กลายมาเป็น ‘อีสาน’ ของไทยในปัจจุบันนี้ก็คือว่า เมื่อครั้งอดีตราวก่อนปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ร่นขึ้นไป บริเวณดังกล่าวนี้เป็นปริมณฑล (Mandala) หนึ่งของเขมรโบราณ ปรากฏร่องรอยหลักฐานทั้งแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเช่น จารึกต่าง ๆ และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือสิ่งปลูกสร้าง อาทิ:

‘ปราสาท’ หรือที่ในภาษาชาวอีสานเรียกว่า ‘กู่’ บางที่เรียกว่า ‘ธาตุ’ มีทั้งแบบก่อศิลาแลง ก่อหินทราย และก่อด้วยอิฐ ทั้งแบบปราสาทยอดเดียว แบบสามยอด แบบห้ายอด แบบอโรคยาศาล แบบธรรมศาลาหรือบ้านมีไฟ 

‘สระบาราย’ และระบบชลประทานทั้งขนาดเล็กและใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งแบบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส แบบวงกลมมน แบบกรุด้วยศิลาแลง แบบกรุด้วยอิฐ แบบเป็นคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน

‘เตาเผาเครื่องเคลือบ’ แหล่งผลิตสินค้าออกสำคัญของยุคสมัย พบตั้งแต่ในเขตอ.นางรอง อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ จนถึง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเตาเผาเหล่านี้ก็ถูกส่งออกไปตามเส้นทางการค้าทั้งภายในและภายนอก ทั้งทางบกและทางทะเล 

‘ถนนโบราณ’ ทั้งเชื่อมภายในและภายนอก จนถึงประเภทที่เรียกว่า ‘ราชมรรคา’ (Royal road) ตามจารึกปราสาทพระขรรค์  คือถนนหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย ผ่านเขตที่ราบสูงโคราช บางส่วนของเทือกพนมดงเร็ก จนถึงที่ราบทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) และถนนหลวงราชมรรคาก็มาพร้อมกับนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘ธรรมศาลา’ หรือ ‘บ้านมีไฟ’ หรือ ‘ที่พักคนเดินทาง’ เป็นอาคารปราสาทหินอีกประเภทหนึ่งตั้งอยู่ตามรายทาง ควบคู่กับปราสาทหินประเภทที่เป็นสถานพยาบาลที่เรียกว่า ‘อโรคยาศาล’ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัดของภาคอีสาน      

โบราณสถานโนนพระแท่น ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ตามภาพข่าวมีลักษณะเป็นเนินดินกลางทุ่ง โบราณวัตถุเป็นหินทรายแดงทั้งแบบที่ไม่ปรากฏลวดลายและแบบที่มีลวดลาย แบบที่มีลวดลายมี 4 แท่ง รูปอสูรฉุดนาค 2 แท่ง รูปเทพฉุดนาคอีก 2 แท่ง  ทั้ง 4 แท่งประกอบกันเป็นลักษณะของรูปเล่าเรื่องกูรมาวตาร ปางที่พระวิษณุอวตารเป็นเต่า ตอนกวนเกษียรสมุทร จากรูปแบบเศียรเทพและอสูร นักโบราณคดีที่ไปตรวจสอบได้กำหนดอายุว่า แรกสร้างในสมัยนครวัดถึงบายน ราวพศว.17-18 

ตามข้อมูลทั้งเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและหนังสือพิมพ์ ต่างระบุถึงการยืนยันจากคนในพื้นที่ว่าศิลาเหล่านี้อยู่ในสถานที่มาแต่เดิม เป็นที่ที่ชาวชุมชนในละแวกย่านกันไว้สำหรับเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทำบุญตามประเพณี ชื่อ ‘โนนพระแท่น’ ก็เป็นชื่อที่ใช้เรียกสถานที่นี้มาแต่เดิม แต่ต่อให้มีข้อมูลบอกเล่าว่าเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นก็ยากจะเชื่อ เพราะศิลาที่มีน้ำหนักแบบนี้ไม่ใช่ของที่ใครจะเคลื่อนมาจากที่อื่นได้ง่าย ๆ และไม่มีเหตุผลที่จะเคลื่อนย้ายมาไว้ในสถานที่แบบนั้น 

มีกรณีหลายแห่งที่พบว่า บริเวณที่มีหินปราสาทตั้งอยู่โดด ๆ นั้น ใต้ดินมีแนวโบราณสถานตั้งอยู่ ตัวอย่างก็เช่นเมื่อไม่นานมานี้ที่เนินเขาขนาดย่อมแห่งหนึ่งใน ต.มาบคล้า อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี มีรูปโยนีและชิ้นส่วนสถาปัตย์ปรากฏอยู่เหนือพื้นดินบนยอดเขา ชาวบ้านตั้งศาลขึ้นไหว้สักการะ เนื่องจากจันทบุรีมีเมืองโบราณก่อนยุคพระนครอยู่ที่อ.เมือง จ.จันทบุรี ที่รู้จักกันดีคือ ‘เมืองเพนียต’  ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานแบ่งเป็น 2 แนวว่า โบราณวัตถุที่พบนั้นเคลื่อนย้ายมาจากเมืองเพนียต หรือว่าเป็นของอยู่ในพื้นที่มาแต่แรก ถ้าเป็นแบบหลังนั่นหมายความว่า บริเวณตรงที่พบโบราณวัตถุนั้นใต้ดินจะต้องมีโครงสร้างสถาปัตย์อะไรซ่อนอยู่เป็นแน่ 

เมื่อผู้เขียนกับมิตรสหายคือ คุณวริศ อุดมเวช นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจันทบุรี ได้ไปสำรวจ ก็พอดีช่วงนั้นเป็นฤดูฝน ฝนตกชะหน้าดิน พบเศษชิ้นส่วนอิฐ กระเบื้องดินเผา และร่องรอยวัตถุอื่น ๆ อยู่ตามหน้าดินปะปนกับดินลูกรัง ทำให้พวกเราเชื่อว่าเนินเขาบริเวณนั้นคงมีซากโบราณสถานประเภทปราสาทซ่อนอยู่ใต้ดิน และเมื่อค้นเอกสารประวัติศาสตร์และแผนที่โบราณ เราก็พบว่าบริเวณศาลเจ้าพ่อหินโม่นั้นอยู่ในเขตย่านที่เป็นด่านทางทิศเหนือของเมืองจันทบุรี เป็นทางแยกสามแพร่งจากจันทบุรีจะขึ้นเหนือตรงไปยังเขตจังหวัดสระแก้ว ซึ่งในยุคเขมรยังรุ่งเรืองอยู่นั้น ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกงจนถึงตอนใต้ของเขาบรรทัดเหนือ เป็นเขตอิทธิพลของราชวงศ์เชยษฐปุระ ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม

ในขณะที่จากบริเวณด่านศาลเจ้าพ่อหินโม่ไปทางทิศตะวันออกจะเป็นเส้นทางโบราณมุ่งตรงไปถึงแม่น้ำพระตะบองในอาณาจักรกัมพูชา เป็นเหตุผลให้มีสิ่งอันเป็นหมุดหมาย (Landmark) สำหรับการเดินทางไปมาค้าขายระหว่างผู้คนจากจันทบุรี สระแก้ว และพระตะบอง เส้นทางนี้ยังมีความสำคัญเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และปัจจุบันก็กำลังเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่รู้จักกันในชื่อ ‘ด่านชายแดนบ้านแหลม’ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่คาดกันว่าจะมาแทนที่ ‘ด่านชายแดนโรงเกลือ’ ที่อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  ในอนาคตอันใกล้นี้         

 

นี่ขอนแก่น! (ลุ่มแม่น้ำชีก็มีปราสาทแบบเขมร)

จากตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานโนนพระแท่น ที่อยู่ในพื้นที่ ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น จะพบว่าอยู่ในเส้นทางเชื่อมระหว่างลุ่มแม่น้ำมูลในเขตอีสานใต้กับแม่น้ำชีในเขตอีสานตอนบน ไม่ไกลจากเนินพระแท่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านอ.พล เข้าสู่เขตอ.เปือยน้อย มีปราสาทแบบเขมรยุคร่วมสมัยนครวัดตั้งอยู่ที่นั่นคือ ‘ปราสาทเปือยน้อย’ หรือ ‘ธาตุกู่ทอง’ (ชาวอีสานนิยมเรียกปราสาทว่า ‘กู่’ เรียกเจดีย์ว่า ‘ธาตุ’)

แม้ว่าปราสาทเปือยน้อยไม่ใช่ปราสาทที่มีขนาดใหญ่โตเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับปราสาทที่อื่น ๆ แต่ไม่เหมือนที่อื่น ๆ ตรงที่มีลักษณะร่วมกับปราสาทสมัยนครวัดหรือก่อนหน้านั้นที่พบหลายแห่งในภาคอีสาน ที่โดดเด่นก็อย่างเช่น ปราสาทพนมวัน จ.นครราชสีมา, ปราสาทศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์, ปราสาทบ้านพลวง จ.สุรินทร์, ปราสาทยายเหงา จ.สุรินทร์, ปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์, ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์, ปราสาทปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ, ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ, ปราสาทนารายณ์เจงเวง จ.สกลนคร เป็นต้น 

ปกติแล้วปราสาทที่มีจำนวนมากในอีสาน มักอยู่ในรูปของอโรคยาศาล สร้างในพศว.18 ปราสาทเปือยน้อยถือเป็นปราสาทขนาดกลาง เป็นศาสนสถานประจำชุมชนเหมือนวัด ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ ไม่ใช่สถานที่เพื่ออำนวยการสัญจรของผู้คนเหมือนอย่างปราสาทบ้านมีไฟในที่อื่น ๆ 

นักประวัติศาสตร์โบราณคดีทราบกันดีว่า ศูนย์กลางการปกครองในแถบอีสานยุคเขมรพระนครนั้นอยู่ที่พิมาย และยังมีข้อมูล (จากจารึกสด๊กก๊อกธม) อีกว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พิมายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเมืองพระนครยุคราชวงศ์มหิธรปุระ และราชวงศ์นี้ (ตามความในจารึกปราสาทพนมรุ้ง) รวมถึงเครือข่ายเมืองของพิมายในอีสานคือพื้นภูมิหลังของมหาราชในประวัติศาสตร์กัมพูชาผู้ยิ่งใหญ่ 2 พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัดในพศว.17 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครธมในพศว.18      

บริเวณโนนพระแท่น-ปราสาทเปือยน้อยนั้นอยู่ในเส้นทางระหว่างพิมายขึ้นเหนือไปยังภูเพ็ก สะพานนาคราช-ชาลานาคราช (สะพานขอม) และปราสาทนารายณ์เจงเวงในเขตสกลนคร ซึ่งจะต่อไปได้จนถึงเมืองซายฟองในเขตนครหลวงเวียงจัน สปป.ลาว จากเดิมเราเชื่อกันว่าเส้นทางการแผ่อิทธิพลของเขมรจะขึ้นเหนือไปตามลำน้ำโขงจากจำปาสัก แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างแก่งหลี่ผี ก็ทำให้ยากจะเชื่อว่าการเดินทางขึ้นเหนือไปเมืองซายฟองและจนถึงหลวงพะบาง (อย่างในรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้ม) นั้นจะสามารถกระทำได้โดยผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง และนี่คือคำตอบโดยอ้อมว่าทำไมพระพุทธรูปสำคัญอย่าง ‘พระบาง’ จึงมีพุทธลักษณะเป็นศิลปะแบบเขมร 

ประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจในอดีต จะเห็นว่าแหล่งที่พบปราสาทเขมรมากนั้นอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำมูลถึงเขาพนมดงเร็ก (ที่มีปราสาทพระวิหารตั้งอยู่) และในบริเวณอุบลราชธานีตลอดถึงลาวใต้ตามสองฝั่งแม่น้ำโขง แต่ส่วนบริเวณอีสานตอนบนแถบลุ่มแม่น้ำชี ซึ่งมีขอนแก่นอยู่ตรงกึ่งกลางนั้น พบโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมเขมรอย่างเบาบางและวัฒนธรรมแบบทวารวดียังคงปรากฏอยู่อย่างเข้มข้น 

ลักษณะดังกล่าวทำให้นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า อีสานตอนบนเป็น ‘เขตสะสม’ (ตามคำเรียกของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม) คือเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีคนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมปะปนกันอย่างอิสระ จนสั่งสมวัฒนธรรมและพัฒนารัฐตลอดจนรูปแบบสังคมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา 

เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีแหล่งวัฒนธรรมแบบนั้นตั้งอยู่ได้ท่ามกลางการปิดล้อมของอีกกลุ่มวัฒนธรรมที่เป็นศัตรูกัน เส้นทางไหนที่คนลุ่มแม่น้ำชีใช้ติดต่อกับทวารวดีที่ภาคกลางของสยาม จะผ่านพิมายไปยังศรีเทพและลพบุรีได้ยังไง และเหตุใดเขมรยุครุ่งเรืองจึงยอมให้มีเขตอิสระเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการเกลือจากอีสานตอนบนโดยเฉพาะบริเวณแอ่งสกลอยู่ด้วย พูดง่าย ๆ คือบริเวณขอนแก่นอาจเป็นจุดหมายปลายทางหรือจุดเริ่มต้นของการเดินทางอยู่ด้วยเหมือนกัน  ไม่ใช่เพียงเป็นเส้นทางผ่านของผู้คนต่างถิ่นเท่านั้น 

มุมมองการจัดแบ่งประเภทในแบบดังกล่าวนี้ (เขตสะสม) ทำให้ปราสาทเปือยน้อยดูไม่เข้าพวก เหมือนเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่โดด ๆ แยกต่างหากจากกลุ่มปราสาทอื่น ๆ ที่มักตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำมูล เทือกเขาพนมดงเร็ก และแม่น้ำโขง  แต่เมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะมีโบราณสถานอยู่ที่โนนพระแท่น ก็ทำให้ปราสาทเปือยน้อยมิใช่ปราสาทหลังเดียวที่ตั้งอยู่เดี่ยวโดดแยกจากเพื่อนอยู่ในจังหวัดขอนแก่นและลุ่มแม่น้ำชีเพียงลำพังอีกต่อไป              

เหตุปัจจัยอีกอย่างที่นำมาสู่ความเชื่อเรื่องเขตสะสมในอีสานตอนบน ก็คือภาวะแล้งกันดารน้ำ ไม่มีน้ำใช้ตลอดปีของเขตลุ่มแม่น้ำชี  ทำให้คนภายนอกไม่อยากเดินทางผ่าน กระทั่งไม่เหมาะจะตั้งชุมชน และเลยไม่มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองหรือรัฐเกิดขึ้นในย่าน แต่แง่มุมก็เป็นการนำเอาเหตุปัจจัยที่เกิดภายหลังในช่วงกึ่งพุทธกาลไปใช้มองอดีต เพราะก่อนหน้าทศวรรษ 2500 ยังปรากฏว่า อีสานเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ร่นขึ้นไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่เกิดกบฏผู้มีบุญแพร่หลาย ถึงมีข้อมูลเรื่องความแห้งแล้งกันดารน้ำ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าตามห้วยหนองคลองบึงบางแห่งแห้งขอด ที่เหลือก็เป็นตำนานกล่าวถึงยุคไกลโพ้นอย่างเช่นที่ว่า เขมรเคยอยู่ที่สกลนครแต่มีอยู่ช่วงหนึ่งแล้งกันดารน้ำติดต่อกันถึง 7 ปี  เขมรจึงได้อพยพกลับไปอยู่กัมพูชา แต่นั่นก็ดูเป็นตำนานเรื่องเล่าภายหลังเพื่ออธิบายสาเหตุการถูกทิ้งร้างไปของปราสาทหินที่พบในพื้นที่    

อย่างไรก็ตาม นั่นคือปัญหาเรื่องน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ยังพบแหล่งน้ำอีกเป็นจำนวนมากที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ผ่านการใช้แรงงานคนจำนวนมากขุดขึ้น บริเวณที่ตั้งของปราสาทเขมรนั้นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้ก็คือ ‘สระบาราย’ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เขมร-กูย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิมก่อนกลุ่มวัฒนธรรมลาวจะขยายตัวลงมาครองอีสาน นับเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการสร้างแหล่งน้ำประเภทนี้ขึ้นไว้ใช้ในชุมชน และในการสร้างแหล่งน้ำประเภทนี้จำเป็นต้องมีระบบการควบคุมแรงงาน นั่นหมายถึงมีการปกครองเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง       

สิ่งอันแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ปราสาทเปือยน้อยกับโนนพระแท่น (ที่เพิ่งพบใหม่นี้) ก็คือทับหลังที่ปราสาทเปือยน้อยมีรูปพระวิษณุบรรทมเหนือพญาอนันตนาคราช ปรากฏดอกบัวขึ้นจากพระนาภีมีพระพรหมอยู่บนดอกบัวนั้น และที่ปลายพระบาทปรากฏรูปพระลักษมีชายาของพระวิษณุ ซึ่งถือกำเนิดจากการกวนเกษียรสมุทร 

ดังนั้น ถึงแม้ว่าขอบเขตเมืองเก่าในย่านขอนแก่นอาจจะไม่เท่ากับจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน แต่จากร่องรอยโบราณสถานที่เปือยน้อยกับแวงน้อย แสดงความเชื่อมโยงและตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมร่วมกัน  ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างคนในย่านเส้นทางเชื่อมระหว่างลุ่มแม่น้ำมูลกับลุ่มแม่น้ำชี

การตั้งเมืองขอนแก่นโดยลาวกลุ่มจารย์แก้ว (ศิษย์พระครูโพนสะเม็ก) ในรุ่นพศว.24 จากงานศึกษาของอาจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัต จะเห็นได้ว่ายังยึดโยงอยู่กับที่ตั้งของชุมชนเมืองโบราณในรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยจากแหล่งน้ำและเส้นทางเกวียน เพราะชุมชนเก่ามักตั้งอยู่ตรงบริเวณที่มีทั้งสองอย่าง (แหล่งน้ำและเป็นชุมทางเกวียน) จึงเหมาะแก่การตั้งเมือง ซึ่งจะพัฒนาจนสามารถจัดรูปการปกครองภูมิภาคแบบจังหวัดในชั่วเวลาอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา  

แน่นอนว่า การมีศาสนสถานตั้งอยู่มาแต่เก่าก่อนในย่านย่อมเป็นประโยชน์ในแง่การเป็นศูนย์รวมจิตใจ คนลาวที่เข้ามาตั้งเมืองจึงกลายเป็นกลุ่มที่รักษ์และหวงแหนปราสาทเขมรในท้องถิ่นของตนเอง หลายแห่งสร้างตำนานเรื่องเล่าขึ้นมาเชื่อมต่อกับภูมิสถาน ทำให้โบราณสถานเกิดมีชีวิตชีวาขึ้นมา บางแห่งที่ไม่ได้มีชุมชนรุ่นหลังเข้าไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่แวดล้อม ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกที่จะกลายเป็นปราสาทร้างไร้การดูแล        

การค้นพบ ‘กวนเกษียรสมุทร’ ที่ขอนแก่น จุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อีสานในอนาคตอันใกล้

กวนเกษียรสมุทรในอีสานและกัมพูชา

เนื่องจากว่าประติมากรรมรูปสลักที่โนนพระแท่น จ.ขอนแก่นนี้เป็นรูปกวนเกษียรสมุทร จึงก่อให้กระแสความสนใจต่อรูปกวนเกษียรสมุทรในที่อื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบกัน เพจเฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ได้รวบรวมประติมากรรมรูปกวนเกษียรสมุทรจากที่ต่าง ๆ ทั้งในอีสานของไทยและในกัมพูชา

ในอีสานมีพบรูปกวนเกษียรสมุทรตามที่ต่าง ๆ ดังนี้:  

(1) ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย)

(2) กู่สวนแตง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย)

(3) กู่แดง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ (ยังอยู่กับตัวปราสาท)

(4) ปรางค์กู่ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ (ยังอยู่กับตัวปราสาท)

(5) ปราสาทบ้านปราสาท อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ (ยังอยู่กับตัวปราสาท)  

เมื่อนับรวมกับที่เพิ่งพบที่บ้านโนนพระแท่นอีกก็รวมเป็น 6 แห่ง

ในกัมพูชามีดังนี้:  

  1. ปราสาทตาพรหม (Ta Prohm of Tonle Bati) จังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่กับตัวปราสาท)
  2. ปราสาทพนมตาเมียะ (Phnom Ta Mau) จังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่ในสถานที่)
  3. ปราสาทพนมดา จังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา (ปัจจุบันอยู่ที่ Musée Guimet, Paris) 
  4. ทับหลังไม่ทราบแหล่งเดิม ปัจจุบันอยู่ที่ Museum of Oriental art กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี
  5. ทับหลังไม่ทราบแหล่งเดิม ปัจจุบันอยู่ที่ Nelson-Atkins Museum of Art รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา
  6. ปราสาทวัดเอกพนม จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่กับตัวปราสาท)
  7. ปราสาทสนัง (Sneung) จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่ในสถานที่)
  8. ปราสาทวัดพระอินทร์โกสีย์ จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่กับตัวปราสาท)
  9. ปราสาทเขาพระวิหาร จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่กับตัวปราสาท)
  10. ปราสาทเบงเมเลีย จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่ในสถานที่)
  11. ปราสาทบันทายฉมาร์ จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา (อนาสโตลิซิสขึ้นใหม่ในสถานที่)
  12. ปราสาทนครวัด จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่ในสถานที่)
  13. ปราสาทพระพิธู จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา (ยังอยู่ในสถานที่)

ส่วนใหญ่อยู่ในรูปทับหลัง ยกเว้นที่ปราสาทนครวัด อยู่ในรูประเบียงภาพสลัก ใกล้กับโซนที่มีภาพเล่าเรื่องรามายณะ ภาพกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และบ้านเมืองต่าง ๆ ที่ยกมาช่วยชาวกัมพูชารบกับจามปา ซึ่งในจำนวนนี้มีภาพสลักกองทัพหนึ่งมีจารึกเป็นชื่อภาพว่า ‘นี่เสียมกุก’ รวมอยู่ด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีภาพกวนเกษียรสมุทรที่เป็นประติมากรรมตรงริมสองฝั่งของถนนที่เข้าสู่ประตูเมืองนครธม ช่วงที่มีการทำรูปสลักแบบนี้กันมากนั้นอยู่ในช่วงสมัยนครวัดถึงบายน หรือเฉพาะกว่านั้นก็เป็นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1656-1693) ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ.1724-1761)   

 

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 17 กับการเมืองของ ‘กวนเกษียรสมุทร’ แบบนครวัด

กัมพูชายุคพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถือเป็นช่วงรุ่งเรืองที่สุดของคติไวษณพนิกาย เรื่องราวของพระวิษณุถูกนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลาย และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็แสดงพระองค์ในโลกหลังความตายผ่านการสร้างปราสาทนครวัด โดยนำเอาชีวประวัติเรื่องราวของพระองค์ไปบรรจุไว้ร่วมกับภาพอวตารของพระวิษณุ 

‘จารึกปราสาทพนมรุ้ง’ ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เล่าภูมิหลังของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แสดงร่องรอยความเกี่ยวข้องระหว่างพระองค์กับราชวงศ์กษัตริย์ที่ครองแคว้นในอีสานอย่าง ‘มหิธรปุระ’ จารึกนี้เนื้อความกล่าวถึง ‘พระเจ้ากษิตีนทราทิตย์’ นัดดาผู้มหัศจรรย์และน่าเคารพแห่งพระเจ้าหิรัณยวรมัน ได้ก่อกำเนิดพระราชาผู้ประเสริฐคือ ‘ศรีสุรยวรมัน’ จากธิดาของธิดาแห่งหิรัณยลักษมี

‘ศรีสูรยวรมัน’ ตามจารึกปราสาทพนมรุ้งนี้เชื่อว่าคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเมื่อราชวงศ์มหิธรปุระมีศูนย์กลางอยู่ที่วิมายปุระหรือพิมาย ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกัมพูชา (เมืองหลวงของเขมรมีการเปลี่ยนย้ายไปมาหลายครั้ง ตามแต่ว่ากษัตริย์พระองค์ใดโปรดประทับอยู่ที่ใด เมื่อราชวงศ์มหิธรปุระก่อนพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นิยมประทับอยู่ที่พิมาย พิมายก็เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรตามนัยนี้) 

ก่อนหน้าจะขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนครและสร้างปราสาทนครวัด พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ประทับอยู่ที่ราบสูงโคราช ปราสาทหินพิมายเป็นต้นแบบให้กับปราสาทนครวัด รูปประติมากรรมและหรือร่องรอยศาสนสถานโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับคติไวษณพนิกายซึ่งแพร่หลายในอีสานช่วงพศว.16-17 จึงสัมพันธ์กับการขยายอำนาจและเครือข่ายเมืองภายใต้การนำของราชวงศ์มหิธรปุระ ในขณะที่บริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังยึดถือคติไศวนิกาย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 คือผู้นำของแคว้นมหิธรปุระหรือฝ่ายนับถือไวษณพนิกาย ภายหลังเมื่อฝ่ายไศวนิกายที่เมืองพระนครอ่อนแอและเสื่อมอำนาจลง ราชบัลลังก์เมืองพระนครก็ตกเป็นของฝ่ายไวษณพนิกายที่นำโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

แต่เมื่อขึ้นครองราชย์และสร้างปราสาทนครวัดขึ้นแล้ว พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็เช่นเดียวกับกษัตริย์องค์อื่นที่ต้องแสดงพระองค์เป็นผู้นำของทั้งสองฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ (ไศวนิกาย vs. ไวษณพนิกาย/ยโสธรปุระ vs. มหิธรปุระ) โดยมีศัตรูร่วมกันคือจามปา เพื่อชี้ให้เห็นภาพความสมานฉันท์ดังกล่าวนี้ การกวนเกษียรสมุทรที่มีการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างเทพกับอสูร จึงถูกนำเสนอภายใต้บริบทที่เข้ากันได้กับการเมืองภายในของอาณาจักรกัมพูชาเวลานั้นได้เป็นอย่างดี นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างทับหลังและประติมากรรมนูนต่ำรูปกวนเกษียรสมุทรที่แพร่หลายในอีสานและกัมพูชา 

อย่างไรก็ตาม ภาพเสนอกวนเกษียรสมุทรอาจจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงสมัยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ยังมีอำนาจครองเมืองพระนครอยู่ แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กวนเกษียรสมุทรก็เสื่อมมนต์ขลังไปด้วย ความสมานฉันท์ระหว่างไศวนิกายกับไวษณพนิกายที่มีภาพตัวแทนเป็นเทพกับอสูรในกูรมาวตาร ไม่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับพราหมณ์ที่มีภูมิหลังต่างกัน ทายาทของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จึงไม่อาจสืบอำนาจได้ต่อมา ต้องถูกพราหมณ์ไศวนิกายยึดอำนาจไปถวายให้แก่เชื้อสายเจ้านายที่นับถือคตินิกายอย่างเดียวกับตน

ศัตรูอย่างจามปา ไม่ใช่ศัตรูคู่แข่งขันที่ชนชั้นนำเขมรสร้างขึ้นมาอย่างลอย ๆ เพื่อความสมานฉันท์ หากแต่เป็นศัตรูที่มีแสนยานุภาพสามารถทำลายอาณาจักรกัมพูชาได้จริง ความเป็นอริราชศัตรูกันระหว่างเขมรกับจาม มีอะไรคล้ายคลึงกับที่อยุธยากับพม่า เป็นศัตรูคู่แข่งขันกันในภายหลัง แต่ทั้งนี้ด้วยบริบทที่ต่างกัน  จะมีหลายสิ่งอย่างที่ไม่อาจเทียบเคียงได้ลงรอยเดียวกันได้ 

ถึงแม้ว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะเคยชนะศึกกับจามปา ด้วยกองทัพเครือข่ายขนาดใหญ่โตดังที่ทรงสร้างแคปชั่นอวดเอาไว้ในระเบียงปราสาทนครวัด แต่ด้วยความที่ทรงตระหนักดีว่าภัยคุกคามที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในมิใช่ภายนอก พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แม้จะมีอานุภาพมากก็ไม่อาจทำลายล้างจามปาลงได้  จำเป็นต้องคงให้จามปาตั้งอยู่สืบต่อมาเพื่อคานกับศัตรูภายในอาณาจักรของพระองค์เอง เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคต และจามปาเกิดเข้มแข็งขึ้นอีกครั้งภายใต้การนำของพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 4 จามปาก็ส่งกองทัพเข้าโจมตีเมืองพระนครจนแตกพ่ายลงอีก 

 

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพศว.18 กับการเมืองของ ‘กวนเกษียรสมุทร’ แบบบายน

ก่อนหน้าจะขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร เราทราบจากจารึกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงมีพื้นเพภูมิหลังเป็นเชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระ มีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในปลายรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นั้นทรงเป็นแม่ทัพยกไปทำศึกกับจามปา มีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ครองแคว้นในที่ราบสูงโคราช 

ตรงนี้ที่มีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในอีสานบางส่วนเคลมว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นคนอีสาน เป็นคนโคราช เป็นคนสุรินทร์ จึงถูกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งที่ไม่ถูกนั้นก็เพราะความเป็นคนอีสาน เป็นคนจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ตามความนิยมจัดประเภทคนในสังคมปัจจุบันนั้นเป็นของใหม่ที่มีภายหลังเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้  ไม่ได้มีมายาวนานตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แม้เป็นพื้นที่เดียวกัน แต่อีสานสมัยโน้นเป็นคนละเรื่องละราวกับอีสานภายใต้การปกครองของล้านช้างและต่อมาก็คือสยาม อย่างในช่วงหลังเขมรเสื่อมอำนาจไปแล้ว

ถึงจะเป็นทายาทของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่เพียงไม่สืบทอดไวษณพนิกาย กลับนำเอาคติพุทธมหายานหรือที่ชาวเขมรเรียกว่า ‘บายน’ (Bayon) เข้ามาปฏิรูปสังคมกัมพูชา นำไปสู่การสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ศิลปะบายน’ (Bayon art) แน่นอนว่านั่นเกิดขึ้นคู่เคียงมากับการทำลายล้างอิทธิพลของพราหมณ์ที่มีต่ออาณาจักรกัมพูชาทั้งหมด 

จิตร ภูมิศักดิ์ เคยนำเสนอบทวิเคราะห์ตำนานยอดนิยมหนึ่งของชาวเขมรเรื่อง ‘พระเจ้าสังขจักร’ กษัตริย์ผู้เคยประหารพญานาคด้วยพระขรรค์ของพระองค์เอง ก่อนสิ้นใจตาย พญานาคได้พ่นพิษใส่จนเนื้อตัวเต็มไปด้วยแผลผุพองเป็นโรคเรื้อน จิตรถอดรหัสนัยได้ว่า พระเจ้าสังขจักรนั้นคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พญานาคที่ถูกประหารนั้นก็คือพราหมณ์อำมาตย์ราชครู ที่มีอำนาจในอาณาจักรกัมพูชายุคนั้น 

ในเมืองนครธม ใกล้พระราชวังหลวง มีลานแห่งหนึ่งถูกเรียกโดยอิงกับตำนานนี้ว่า ‘พระเจ้าขี้เรื้อน’ และเรียกประติมากรรมรูปบุคคลนั่งชันเข่าอยู่ที่หน้าลานนี้ว่า ‘พระเจ้าขี้เรื้อน’ แต่ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) โต้แย้งว่าประติมากรรมดังกล่าวนี้คือรูปพระยม และบริเวณถัดจากลานด้านหลังไปนั้นเป็นศาสนสถานมีภาพสลักเล่าเรื่องนรกภูมิตามคติไตรภูมิ     

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทำให้เรื่องของพระเจ้าสังขจักรในตำนานที่ประหารพญานาคนั้น ลงรอยกันได้กับเรื่องของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในประวัติศาสตร์ก็คือการเป็นกษัตริย์ที่ทำลายล้างอำนาจของฝ่ายพราหมณ์ที่หยั่งรากมั่นคงในประวัติศาสตร์อารยธรรมกัมพูชามาช้านาน

การค้นพบ ‘กวนเกษียรสมุทร’ ที่ขอนแก่น จุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อีสานในอนาคตอันใกล้

เพราะอะไร ทำไม พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทำเช่นนั้น?        

เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) เคยนำเสนอข้อมูลหลักฐานและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่ว่า พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 กษัตริย์ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งถูกพราหมณ์ยึดอำนาจไปถวายให้แก่พระเจ้ายโศวรมันที่ 2 นั้นเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 การยึดอำนาจของพราหมณ์ดำเนินไปอย่างดุเดือดกระทั่งมีความเป็นไปได้ว่าพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 จะสวรรคตในระหว่างศึกต่อต้านการรัฐประหารในครั้งนั้น พราหมณ์อำมาตย์ที่ขึ้นสู่อำนาจจากศึกในครั้งนี้จึงเป็นศัตรูคู่อาฆาตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 

ขณะเดียวกัน ในเขตที่ราบสูงโคราชได้เกิดคติความเชื่อแขนงใหม่ที่มีอิทธิพลอยู่ในย่านนั้นมาได้ช่วงหนึ่งแล้ว คือพุทธมหายาน รูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์ที่พบในแถบที่ราบสูงโคราชมีอายุเก่าไปกว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นเวลากว่า 1-2 ร้อยปี เพียงแต่ยังเป็นคติที่นับถือกันในหมู่ไพร่ราษฎร ชนชั้นปกครองยังคงนับถือพราหมณ์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อต้องการกำลังสนับสนุนจากไพร่ราษฎรเหล่านี้ก็เปลี่ยนศาสนาหันไปนับถือพุทธมหายาน พร้อมกันนั้นก็ได้ขอความสนับสนุนจากฝ่ายพุทธเถรวาทหรือชาวเสียมในภาคกลางที่เขมรเรียกว่า ‘ศามพูกะ’ หรือ ‘ทวารวดี’ (ภาษามคธ) 

แล้วจังหวะโอกาสที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รอคอยมาได้สักพักหนึ่งนั้นก็มาถึง เมื่อกองทัพจามปาภายใต้การนำของพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 4 ได้ยกมาตีเมืองพระนครแตกพ่ายไป พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็เคลื่อนทัพลงใต้ไปขับไล่จามแล้วสถาปนาเมืองนครธมขึ้นเป็นศูนย์กลางแทนที่นครวัด จากนั้นแผนการปฏิรูปก็ได้เริ่มต้นขึ้นนำไปสู่ยุคแห่งการสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปะบายน’ (Bayon art) ไม่เพียงแต่ภายในเขตที่ราบทะเลสาบเขมรเท่านั้น ยังพบการแพร่ขยายของศิลปกรรมแบบนี้กระจายทั่วไป 

จากจุดนี้ ในส่วนของประติมากรรมรูปกวนเกษียรสมุทร และภาพเล่าเรื่องปกรณัมพราหมณ์ ที่แม้จะยังคงมีการสร้างสรรค์อยู่สืบต่อมา แต่ได้เปลี่ยนนัยความหมายจากการนำเสนอภาพความสมานฉันท์ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ไปเป็นภาพความแตกแยกวุ่นวายและเป็นมิจฉาทิฐิ ตำแหน่งที่ตั้งของประติมากรรมเล่าเรื่องได้เขยิบจากภายในระเบียงปราสาทมาเป็นที่หน้าประตูทางเข้าเมือง อสูรกับเทพฉุดนาคกันคนละฝั่ง ในขณะที่ภายในตัวปราสาทเป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพเนื่องในศาสนาพุทธนิกายมหายาน พุทธอยู่ข้างในและบนที่สูงสุด พราหมณ์อยู่รอบนอก เมื่อมองในแง่คติจักรวาลวิทยานั่นหมายความว่าพุทธมหายานได้สถาปนาตนอยู่เหนือโลกและจักรวาลของพราหมณ์    

ความหมายของกวนเกษียรสมุทรถูกนำเสนอใหม่ แสดงให้เห็นความฉ้อฉลของลัทธิพราหมณ์ ตามเนื้อเรื่องกูรมาวตาร เมื่อฝ่ายเทพตระหนักว่า ลำพังพวกตนไม่มีกำลังพอที่จะเคลื่อนหมุนเขามันทระ พระวิษณุในฐานะผู้นำฝ่ายเทพได้เป็นตัวแทนไปขอให้พวกอสูรมาช่วยฉุดดึงพญานาควาสุกรีข้างหนึ่ง พวกเทพจะฉุดดึงอีกข้างหนึ่ง พระวิษณุจะอวตารเป็นเต่ายักษ์ไปรองรับเขามันทระไว้ โดยพระวิษณุได้สัญญาไว้ว่า เมื่อได้น้ำอมฤตออกมาแล้วจะแบ่งให้อสูรกับเทพได้กินคนละครึ่ง 

ฝ่ายอสูรเห็นว่า พระวิษณุเป็นเทพผู้ใหญ่จึงตกลงจะไปช่วย แถมยังยอมฉุดตรงเศียรนาค ทำให้โดนพิษพญานาคจนใบหน้าและเนื้อตัวเป็นแผลผุพองน่าเกลียดน่ากลัวไปอีก 

ครั้นพอกวนจนได้น้ำอมฤตออกมาแล้ว พวกเทพก็เอาไปกินฝ่ายเดียว ไม่แบ่งให้อสูรกินด้วย และในการกวนเกษียรสมุทรยังได้ให้กำเนิดนางอัปสรขึ้นมากมาย พวกเทพก็ต่างเอาไปเป็นชายากันหมด นางอัปสรที่รูปโฉมงดงามมากที่สุดคือพระลักษมี พระวิษณุก็เอาไปเป็นชายาด้วย พวกอสูรที่ไม่พอใจจะต่อสู้แย่งชิงเอาน้ำอมฤตและนางอัปสรก็ไม่ได้ เพราะเจ็บป่วยจากการถูกพิษพญานาคและอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากการฉุดกวนไปอีก

โดยสรุปการกวนเกษียรสมุทรในยุคบายนจึงเป็นการนำเสนอให้เห็นภาพความชั่วร้ายและฉ้อฉลไม่ทำตามสัญญาของฝ่ายเทพซึ่งมีพระวิษณุให้ท้ายด้วยนั่นเอง               

‘อีสาน’ และ ‘เสียม’ จากยุคเขมรพระนครสู่สยามอยุธยา     

จากภาพสลักในหินทรายที่พบที่โนนพระแท่น จ.ขอนแก่น รูปแบบเศียรเทพและอสูรค่อนข้างใกล้เคียงกับเศียรพระพุทธรูปบายน แต่วัสดุเป็นชิ้นส่วนสถาปัตย์ตัวปราสาท อาจเป็นทับหลัง หรือราวสะพาน ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ต่างจากประติมากรรมกวนเกษียรสมุทรที่ประตูทางเข้าเมืองนครธม ที่สลักเป็นรูปเทพกับอสูรยุดนาคคนละฝั่ง เทพกับอสูรไม่ได้อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าของแผ่นศิลาเหมือนอย่างโนนพระแท่น 

ดังนั้น ถ้ามองในแง่วิวัฒนาการรูปแบบแล้ว รูปกวนเกษียรสมุทรที่โนนพระแท่นน่าจะมีอายุแรกสร้างในช่วงปีก่อนหน้าการสร้างปราสาทบายนที่นครธม อาจเป็นช่วงที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังประทับอยู่ที่แคว้นมหิธรปุระ      

ความแตกต่างระหว่างกลุ่มบ้านเมืองในเครือข่ายทวารวดีกับเขมรพระนครในทางการเมืองการปกครองอย่างหนึ่งก็คือ เขมรพระนครมีแนวคิดจักรวรรดิขนาดใหญ่ ผู้ปกครองแผ่อำนาจไปไกลสุดเท่าที่จะทำได้  เมืองที่กษัตริย์จักรพรรดิประทับอยู่ถือเป็นศูนย์กลางอำนาจ ในขณะที่ทวารวดีเป็นกลุ่มที่ยังยึดถือการปกครองแบบนครรัฐ (City-state) แต่ละเมืองมีอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ตามนี้ยุคที่จักรวรรดิเขมรมีศูนย์กลางที่เข้มแข็งอย่างสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แคว้นมหิธรปุระในอีสานหรือภาคเหนือของเขมรโบราณนั้นก็คือแคว้นหนึ่งที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิเขมร 

แต่อำนาจของจักรวรรดินี้มิได้มีความต่อเนื่อง ขึ้นกับบุญบารมีของแต่ละพระองค์ อำนาจและบารมีของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กับของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่ได้ถ่ายทอดไปให้เป็นของรัชทายาทได้ ดังนั้น มหิธรปุระในอีสานก็เช่นเดียวกับแคว้นอื่น ๆ (มีแคว้นลวปุระที่ภาคกลางของสยาม แคว้นเศรษฐปุระที่ลาวใต้ แคว้นเชยษฐปุระที่ภาคตะวันออกของสยาม เป็นต้น) ที่บางช่วงสมัยเกิดศูนย์กลางเข้มแข็งขึ้นที่เมืองพระนครหรือที่อื่นก็ไปขึ้นต่อ บางช่วงเมื่อศูนย์กลางดังกล่าวอ่อนแอหรือเสื่อมอำนาจลงก็หันไปขึ้นกับศูนย์กลางอื่น หรือบางช่วงก็ตั้งตัวเป็นอิสระสร้างความเข้มแข็งขึ้นจากภายในของตนเองได้ อย่างเช่นกรณีแคว้นศรีจนาศะ ในตอนใต้ของที่ราบสูงโคราชในเขตจ.นครราชสีมา ซึ่งมีจารึกระบุเรียกว่า ‘กัมพุชเทศ’ หมายถึงดินแดนเขมรที่เป็นอิสระ (จากการปกครองของเขมรพระนคร)

โจว ต้ากวน (Zhou Daguan) ราชทูตต้าหยวน ผู้เดินทางมาเมืองนครธมเมื่อ พ.ศ.1839 ได้บันทึกกล่าวถึงพวกเสียมที่อยู่ทางตอนเหนือของอาณาจักรได้ก่อกบฏขึ้น ตรงนี้กลายเป็นร่องรอยให้สืบย้อนกลับไปจนถึงคำว่า ‘เสียมกุก’ ที่ปรากฏในระเบียงปราสาทนครวัดย้อนหลังไปกว่า 2 ศตวรรษ

เบอร์นาร์ด ฟิลิปป์ โกรส์ลิเยร์ (Bernard Philippe Groslier) ถึงได้มั่นใจว่า ‘เสียมกุก’ ดังกล่าว หมายถึงชาวกูยในเขตบ้านเมืองฝั่งตะวันออกของที่ราบสูงโคราชจรดเทือกเขาพนมดงเร็ก ตรงกับแถบจังหวัดสุรินทร์-ศรีสะเกษในปัจจุบัน ตามร่องรอยที่โจวต้ากวนระบุว่า พวกเสียมอยู่ทางทิศเหนือของอาณาจักร และถึงแม้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ จะแสดงให้เห็นอย่างน่าเชื่อถือมาแล้วว่า ‘เสียม’ กับ ‘สาม’ หรือ ‘สยาม’ เป็นคำเดียวกัน วิวัฒน์คลี่คลายและสืบเนื่องกันได้อย่างไร ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ    

อย่างไรก็ตาม ‘เสียมกุก’ นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันแบ่งเป็นหลายแนวด้วยกัน ยากจะหาข้อยุติ หลักฐานของโจวต้ากวนอาจไม่สามารถใช้ยืนยันว่าเสียมกุกคือที่ราบสูงโคราชได้ เพราะอาจเป็นการบันทึกตามมุมมองของคนนครธมที่มองคนเหนือของอาณาจักรตนเป็นอื่นไปแล้วในเวลานั้น คือไปเข้ากับพวกเสียม หรือเป็นพวกเดียวกับพวกเสียมไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ผิด เหมือนโจวต้ากวนได้คาดการณ์ล่วงหน้าไปโดยปริยาย เพราะในอีกไม่นานหลังจากสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ได้ส่งกองทัพ มีขุนศรีไชยราชมงคลเทพเป็นแม่ทัพ ยกไปพิมายกับพนมรุ้ง ปรากฏว่าผู้ครองเมืองทั้งสองยอมอ่อนน้อมเป็นไมตรีกับอยุธยา นับเป็นครั้งแรกที่สยามอยุธยาแผ่อิทธิพลไปถึงเขตที่ราบสูงโคราช       

 

สู่มรดกร่วมทางวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา & อดีตและอนาคต  

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอนที่บริเวณขอนแก่นจะพบมีโบราณวัตถุหายากเนื่องในวัฒนธรรมเขมรโบราณ อยู่ในเส้นทางคมนาคมโบราณเชื่อมต่อกันระหว่างลุ่มแม่น้ำมูลกับลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำโขง การพบโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมเขมรในดินแดนประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด ในเมื่อเป็นดินแดนที่ขอมหรือเขมรเคยมีอำนาจและตั้งรกรากอยู่อาศัยมาแต่เก่าก่อน ก่อนที่ลาวจะขยายลงมาและวัฒนธรรมสยามจากเขตที่ราบภาคกลางจะขยายขึ้นไป 

ดินแดนหลายแห่งก็เป็นเช่นนี้ แต่เดิมเคยเป็นของชนชาติหนึ่งตั้งมั่นอยู่อย่างรุ่งเรือง เมื่อผ่านกาลเวลาไปได้ช่วงหนึ่งก็มักจะถึงคราวเสื่อมถอย หากกลุ่มผู้อำนาจในหลักในวัฒนธรรมที่กำลังพบความเสื่อมถอยอยู่นั้นปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ ก็อยู่รอดปลอดภัยและตั้งมั่นอยู่ได้มั่นคงต่อมา แต่หากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ ก็ถึงกาลวิบัติล่มสลาย และต้องยอมถอยฉากให้กับกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่าเข้ามาแทนที่ 

‘อีสาน’ หรือ ‘อิสาณ’ (เขียนแบบเก่า) เป็นชื่อทิศที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง นั่นหมายความว่าความเป็นอีสานในแบบที่เรารู้จักกันในชั้นหลังมานี้เป็นอีสานในแบบที่มีจุดเริ่มเมื่อขึ้นกับสยามแล้ว ‘อีสาน’ ไม่ใช่ ‘อีศานปุระ’ อันนั้นอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา และ ‘อีศาน’ ในที่นั้นหมายถึงพระอิศวร แต่เดิมก่อนหน้าจะขึ้นกับสยาม บริเวณนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของล้านช้างมาก่อน ก่อนหน้าที่ชาวล้านช้างจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมือง มีชาวกูยและเขมรสร้างสมอารยธรรมอยู่ในพื้นที่มาแต่เก่าก่อน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พิมาย ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับเขมรพระนครสูงมาก กระทั่งว่ามหาราช 2 พระองค์ในประวัติศาสตร์กัมพูชาอย่างพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีเทือกเถาเหล่ากอและฐานอำนาจอยู่ในพื้นที่ และโบราณสถานโนนพระแท่นก็แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาในยุคสมัยของมหาราชสองพระองค์ดังกล่าว 

โบราณสถานและศิลปวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมเขมรที่พบทั้งในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน เคยขึ้นป้ายและจัดประเภทให้เป็น ‘ศิลปะลพบุรี’ แทนที่จะบอกตรง ๆ ว่า ‘ศิลปะเขมร’ ช่วงหลังหลายแห่งหันมาใช้คำว่า ‘ศิลปะร่วมแบบเขมร’ ตามที่ ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ เคยเสนอเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่เพิ่งได้รับการตอบรับเมื่อไม่นานมานี้ และก็ออกจะดูประดักประเดิดอย่างเช่นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมปราสาทศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ก็ยังพบป้ายระบุถึงที่นี่ว่า ‘ศิลปะลพบุรี (เขมรในประเทศไทย แบบนครวัด)’

ไม่เห็นทางว่าลพบุรีจะเคยมีอำนาจปกครองมาจนถึงลุ่มแม่น้ำชี อาจมีปฏิสัมพันธ์กับลุ่มแม่น้ำมูลบ้าง แต่ไม่อาจกำหนดให้เป็นของลพบุรีไปได้ เพราะตามหลักฐานคือจารึกปราสาทพิมานอากาศ ได้ระบุไว้ชัดว่า ลวปุระหรือลพบุรีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้นเป็นเมืองยุพราช เพราะ ‘นฤปตินทรวรมัน’ พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองอยู่เมืองนี้โดยมีสร้อยพระนามว่า ‘ลโวทเยศ’ ดังนั้น ลพบุรีก็เขมรด้วยเหมือนกัน 

แต่เขมรในยุคโบราณกับเขมรที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบันนี้ก็คนละเรื่องกัน ประเทศกัมพูชาเป็นรัฐชาติที่เพิ่งถือกำเนิดหลังเป็นเอกราชจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส เพียงแต่รัฐชาติที่เกิดภายหลังมักจะสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง ผ่านการอ้างความต่อเนื่องหรือสืบทอดมาจากรัฐโบราณในอดีต รัฐชาติกัมพูชาอ้างถึงนครวัดนครธม เช่นเดียวกันรัฐชาติไทยสยามที่เพิ่งถือกำเนิดภายหลังก็อ้างเป็นทายาทสืบทอดความเก่าแก่โบราณมาจากอยุธยา จากสุโขทัย จากทวารวดี ในช่วงหลังนี้ยิ่งเตลิดเปิดเปิงกันไปอ้างไกลถึงสุวรรณภูมิกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการแขวนป้าย ‘ศิลปะลพบุรี’ ก็เพราะในอดีตมีความเชื่อว่า ถ้าบอกเป็นเขมรแล้วก็อาจเป็นเหตุให้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสสามารถเคลมเอาไปเป็นเมืองขึ้นได้ ความหวั่นวิตกในลักษณะนี้ปัจจุบันพัฒนามาสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสไม่ได้เคลม คนที่เคลมในปัจจุบันกลับเป็นชาวประเทศที่ในอดีตเคยเป็นเมืองขึ้นของยุคอาณานิคมตะวันตก กลายเป็นอดีตเมืองขึ้นมาเคลมแทนเจ้าอาณานิคม 

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ใช่ย่อย บ้างก็เลยเถิดไปถึงขั้นว่า ขอมไม่ใช่เขมร คนไทยสร้างนครวัด ฯลฯ แทนที่จะคิดไปอีกขั้น กลับจมอยู่กับลัทธิคลั่งชาติความเป็นไทย จึงต่างคนก็ต่างเคลมกันไปมา

คงต้องเปิดใจให้มากขึ้น ของที่พบจะได้เป็น ‘มรดกร่วมทางวัฒนธรรม’ (Cultural heritage) สะท้อนสายสัมพันธ์ที่เพื่อนบ้านข้างเคียงในอุษาคเนย์มีร่วมกันในอดีต สลายเส้นพรมแดนของรัฐชาติต่อไป      

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: ภาพถ่ายโดย อชิรวิชญ์ อันธะพันธ์

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์ และ วริศ อุดมเวช. ‘ศาลหินปริศนากับชุมชนโบราณบนเส้นทางประวัติศาสตร์จันทบุรี-สระแก้ว-พระตะบอง’ วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 48 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2565), หน้า 136-146.   

กำพล จำปาพันธ์. ‘กัมโพช: ละโว้-อโยธยาในเอกสารล้านนา’ วารสารมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557), หน้า 74-82.

กำพล จำปาพันธ์. ‘โกสินารายณ์: ปริศนาว่าด้วย ‘ศามพูกะ’ และ ‘เสียน’’ วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2563), หน้า 133-143.

กำพล จำปาพันธ์. ‘ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมของเมืองลพบุรี ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา’ มติชนอเคเดมี https://www.matichonacademy.com/tour-story (เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 1 เมษายน 2563).  

โกรส์ลิเยร์, เบอร์นาร์ด ฟิลิปป์ (Bernard-Philippe Groslier). นี่เสียมกุก (Syam Kuk). แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Benedict Anderson, แปลเป็นภาษาไทยโดย กุลพันธ์ มานิตยกุล, เอเลียต แฮร์ส, อัครพงษ์ ค่ำคูณ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2545.

จิตร ภูมิศักดิ์. ตำนานแห่งนครวัด. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2545.

แชนด์เลอร์, เดวิด พี. (David P. Chandler). ประวัติศาสตร์กัมพูชา (A History of Cambodia). แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, วงเดือน นาราสัจจ์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540.

เซเดส์, ยอร์ช (George Cœdès). เมืองพระนคร นครวัด นครธม (Angkor: an Introduction). แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

ต้ากวน, โจว. (Zhou Daguan). บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด, กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

ทะเบียนโบราณสถานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2529.

ธิดา สาระยา. เมืองประวัติศาสตร์: พิมาย เขาพระวิหาร อุบล ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2538.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548.

ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน: แฉหลักฐานโบราณคดีพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2533.

สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). ทุ่งกุลา: อาณาจักรเกลือ 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. กรุงเทพฯ: 2546.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2537.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2483 เล่มที่ 1. ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2557.

Bonheur, Albert Le. Of Gods, Kings, and Men: Bas-reliefs of Angkor Wat and Bayon. London: Serindia Publications, 1995.

Bunker, Emma C. and Latchford, Douglas. Khmer Bronzes: New Interpretations of the Past. Chicago: Art Media Resources, 2011.

Ishizawa, Yoshiaki. Along the Royal Roads to Angkor. New York: Weatherhill, 1999. 

Jacques, Claude. ‘The historical development of Khmer culture from the death of Suryavarman II to the 16th century’ in Clark, Joyce (ed.). Bayon: New Perspectives. Bangkok: River Books, 2007.

Marwick, Arthur. ‘The Art as Sources: Use and Abuse of the Art’ in The New Nature of History: Knowledge, Evidence, Language. London: Palgrave, 2001.

Maxwell, TS. ‘Religion at the time of Jayavarman VII’ in Clark, Joyce (ed.). Bayon: New Perspectives. Bangkok: River Books, 2007. 

Vickery, Michael. Society, Economics, and Politics in Pre-Angkor Cambodia: the 7th-8th Centuries. Tokyo: The Centre for East Asian Cultural Studies for Unesco, The Tokyo Bunko, 1998.