‘ลบเธอ..ไม่ให้จำ’ การยกเลิก ‘วันชาติ 24 มิ.ย.’ สมัยจอมพลสฤษดิ์ มรดกที่ ‘ตายแล้ว แต่ยังอยู่’

‘ลบเธอ..ไม่ให้จำ’ การยกเลิก ‘วันชาติ 24 มิ.ย.’ สมัยจอมพลสฤษดิ์ มรดกที่ ‘ตายแล้ว แต่ยังอยู่’

การยกเลิก ‘วันชาติ 24 มิถุนายน’ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการเมืองอย่างแนบแน่น ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนเรื่องความทรงจำว่าด้วยการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรในสังคมไทย

  • จอมพลสฤษดิ์ ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ในประกาศมีเนื้อหาระหว่างบรรทัดสื่อถึงการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน
  • การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ความทรงจำว่าด้วยการปฏิวัติ 2475 และความทรงจำว่าด้วยคณะราษฎรในสังคมไทย

ปฏิเสธมิได้ว่า แม้มรดกทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จะจบสิ้นหรือล้มหายตายจากไปจากความทรงจำของสังคมไทยแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ทว่า ก็ยังมีมรดกทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรบางอย่างที่อยู่ในอาการซึ่งเรียกได้ว่า ‘ตายแล้ว แต่ยังอยู่’ ดังเช่น ‘วันชาติ 24 มิถุนายน’ 

แม้วันที่ 24 มิถุนายน จะมีความสำคัญในฐานะวันเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 แต่ทว่า วันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะ ‘วันชาติ’ ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี พ.ศ. 2481 มิได้เป็นผลที่ขึ้นโดยตรงจากการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในทันที เนื่องจากจะเห็นได้ว่า การกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ถึง 6 ปี และโดยบริบททางการเมืองของการกำหนดวันชาติในปี พ.ศ. 2581 ก็มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่อง ‘ชาตินิยม’ เป็นหลัก รวมทั้งวันที่ 24 มิถุนายน ก็มิใช่ ‘ตัวเลือกแรก’ ของวันที่จะถูกกำหนดให้เป็นวันชาติด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ได้ถูกกำหนดให้เป็น วันชาติ จากข้อเสนอของหลวงพิบูลสงคราม [1] ก็ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า วันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำที่รัฐบาลพระยาพหลฯ ให้การยอมรับและให้ความสำคัญ รวมทั้งในปีต่อมา (พ.ศ. 2482) ภายใต้รัฐบาลใหม่ของหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งได้มีการจัดเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน เป็นปีแรก ก็มีการจัดงานฉลองวันชาติกันอย่างยิ่งใหญ่ [2]

อย่างไรก็ดี วันชาติ 24 มิถุนายน มีลมหายใจอยู่เพียงประมาณ 20 ปี ก็ถูก ‘ยกเลิก’ ไปในปี พ.ศ. 2503 ในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยต้องกล่าวว่า ก่อนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง วันชาติ 24 มิถุนายน ได้ถูกลดความสำคัญลงไปมากพอสมควรแล้ว นับตั้งแต่การสิ้นยุคสมัยทางการเมืองของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในปี พ.ศ. 2487 การสิ้นยุคสมัยของคณะราษฎรจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ที่ได้ส่งผลสำคัญต่อประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ในการถูกฝ่ายอนุรักษนิยมวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีเป็นอย่างมาก [3] รวมทั้ง ในปี พ.ศ. 2496 คณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ช่วงที่สอง) ก็มีมติให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็น ‘วันต้นไม้ประจำปีของชาติ’ ทับซ้อนลงไปอีก

 

การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน 

การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2503 นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการเข้าใจพลวัตประวัติศาสตร์ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ กล่าวคือ ภายใต้ข้อถกเถียงเล็ก ๆ ในทางวิชาการที่ว่า การยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ของ ‘คณะปฏิวัติ’ ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ มิได้มีความหมายเป็นไปตามทฤษฎีการปฏิวัติตามคำนิยามวิชาทางรัฐศาสตร์ จึงทำให้ในบางตำราทางวิชาการรัฐศาสตร์ – ประวัติศาสตร์ของไทย นิยามการยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาฯ ของจอมพลสฤษดิ์ ว่าเป็น ‘การรัฐประหาร’ [4]

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาฯ มีนัยมากกว่าที่จะประเมินด้วยแนวคิด/ความหมายตามนิยามทางวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน เพราะคำว่า ‘ปฏิวัติ’ เป็นคำที่จอมพลสฤษด์ตั้งใจและจงใจใช้อย่างมีนัยสำคัญในฐานะวาทศิลป์ (rhetoric) ทางการเมือง กล่าวคือ เป็นกลวิธีการใช้ภาษาเพื่ออธิบายการกระทำทางการเมืองของตนว่า มีเป้าหมายที่จะยกเลิกระบบ สถาบัน และวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพราะจอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า เป็นมรดกการเมืองของคณะราษฎรจากการปฏิวัติ 2475 ซึ่งมีความไม่เหมาะสมกับสภาพบริบททางสังคมและวัฒนธรรมการเมืองไทย ดังนั้น คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ จึงมีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างและวางรากฐานระบบ สถาบัน และวัฒนธรรมการเมืองในลักษณะ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ’ ที่เหมาะสมกับสังคมไทย

จึงเห็นได้ว่า หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ จอมพลสฤษดิ์มิได้เพียงแต่ยกเลิกระบบและสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่าง รัฐธรรมนูญ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมือง หากแต่ยังพยายาม ‘ขุดรากถอนโคน’ มรดกประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ให้หมดสิ้นไปด้วย และหนึ่งในมรดกของคณะราษฎรที่จอมพลสฤษดิ์ได้ทำการขุดรากถอนโคน ก็คือ วันชาติ 24 มิถุนายน

กระแสการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน เกิดขึ้นนับตั้งแต่ภายหลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ ที่แม้จอมพลสฤษดิ์ จะใช้โอกาสเนื่องในวันชาติ 24 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2502 แถลงผลงานของคณะปฏิวัติในรอบ 8 เดือนแรก แต่ก็จะพบว่า จอมพลสฤษด์ ย่อมมิได้เอ่ยถึงความสำคัญของวันชาติ 24 มิถุนายน ในฐานะวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และแน่นอนว่า ย่อมไม่มีการกล่าวถึงคณะราษฎรแต่อย่างใด  [5]

ด้วยความกระอักกระอ่วนใจที่จะกล่าวถึงวันชาติ 24 มิถุนายน ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 จึงมีความเป็นไปได้ว่า คงเป็นเหตุทำให้มีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้พยายามเปิดประเด็นเรื่อง ‘เปลี่ยนวันชาติ’ รวมทั้งจากการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของ พลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า วันชาติ 24 มิถุนายน เป็นประเด็นที่มีการปรารภกันในคณะรัฐมนตรีมาแล้วตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งสำหรับความเห็นส่วนตัวของพลเอกประภาส ก็มีความเห็นว่า 

“วันปฏิวัติรัฐประหารไม่ควรถือเอาเป็นวันชาติ เพราะถือว่าเป็นวันคนไทยร่วมกันก็ได้ เป็นวันแตกกันก็ได้ ”[6]

อนึ่ง มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ว่า หนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดประเด็นเรื่องการเปลี่ยนวันชาติ ในปี พ.ศ. 2502 ก็คือหนังสือพิมพ์ไทรายวัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์ โดย ไทรายวัน ได้นำเสนอประเด็นนี้ภายหลังผ่านพ้นวันชาติในปี พ.ศ. 2502 ไปเพียงไม่นานว่า ‘สมควรจะถือวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติหรือไม่’ โดยได้แสดงความเห็นว่า

“วันชาติจะต้องไม่ใช่วันของผู้ก่อการ ไม่ใช่วันรัฐประหาร และไม่ใช่วันของคณะปฏิวัติ แต่หากเป็นวันของคนทุก ๆ คนที่มาร่วมจิตร่วมใจในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อประเทศชาติ เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า วันชาติเป็นวันของผู้ก่อการ ซึ่งเราเห็นว่าจะลบล้างความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้นได้เช่นไร นี่เราหมายความถึงการตัดความรู้สึกเป็นเขาเป็นเรา ออกไปเสีย ไม่ใช่ผู้ก่อการ ไม่ใช่ปฏิวัติรัฐประหาร การลบล้างความรู้สึกเช่นนี้เสียได้ก็แต่โดยเลือกวันที่เหมาะสม ให้เป็นวันชาติจริง ๆ ของประเทศไทยแทนวันที่ 24 มิถุนายน”  [7]

กระนั้น จอมพลสฤษดิ์ ก็ยังมิได้สั่งการ/ดำเนินการในเรื่องวันชาติ 24 มิถุนายน โดยทันที จอมพลสฤษดิ์เพียงแต่ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า “ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นรีบด่วนอะไร ผมต้องคิดเรื่องทำไมยุงจะไม่กัดพวกคุณ บ้านเมืองสะอาด น้ำไหลไฟสว่างเสียก่อน เรื่องวันชาติค่อยคิดกันทีหลัง” [8]

แต่ทั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ ก็ให้ข้อมูลว่า ได้มีผู้เสนอเรื่องเปลี่ยนวันชาติเป็น 3 ข้อด้วยกัน คือ วันชาติของไทยควรจะอยู่ในเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ 3 สมัย คือ หนึ่ง ยุคสุโขทัย ตอนพ่อขุนรามคำแหงรวมอาณาจักรแหลมทอง สอง การประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสาม การตั้งกรุงธนบุรีของพระเจ้าตากสิน ซึ่งทรงเป็นการประกาศอิสรภาพจากพม่าเหมือนกัน

จนในปีต่อมา ก่อนวันชาติปี พ.ศ. 2503 จะเดินทางมาถึง ประเด็นเรื่อง ‘เปลี่ยนวันชาติ’ ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดยจากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 มีนาคม 2503 พบว่า คณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องวันชาติเป็นวาระพิจารณา เนื่องจากมีบทความของหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์นำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงวันชาติ ซึ่งเป็นความเห็นที่ใกล้เคียงกับ ‘ความดำริ’ ของจอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ วันชาติ 24 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2503 ที่กำลังจะเดินทางมาถึง ก็คงจะต้องมีการประกอบพิธีวันชาติ 24 มิถุนายน ต่อไปตามเดิม 

โดยผลปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาเสนอความเห็น ประกอบด้วย พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ และกรรมการประกอบไปด้วย หลวงวิจิตรวาทการ (ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) นายสัญญา ธรรมศักดิ์ พระยาอนุมานราชธน เลขาธิการสำนักพระราชวัง ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการบริหารของนายกรัฐมนตรี [9]

ประเด็นเรื่องวันชาติ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองตลอดช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2503 โดยมีการนำเสนอและให้ความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายบนหน้าหนังสือพิมพ์ และคณะกรรมการก็ได้รับความคิดเห็นต่าง ๆ นำไปพิจารณา จากรายข่าวของหนังสือพิมพ์ไทรายวันและสยามรัฐในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2503 ให้ข่าวว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เสนอให้วันชาติไทย ควรจะเป็นวันที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งราชวงศ์สุโขทัย ประกาศตัดสินพระทัยไม่ขึ้นกับอาณาจักรขอม  [10]

และจากบทความของ สามน กฤษณะ ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ซึ่งเป็นบทความที่ได้เขียนขึ้นภายหลังจากคณะกรรมการฯ มีมติเรื่องวันชาติออกมาแล้วว่า ได้มีการเสนอวันอื่น ๆ อีกเช่น วันพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ วันพระเจ้าตากสินกู้อิสรภาพ และที่สำคัญคือ หม่อมราชวงศ์คึกฤกธิ์ ปราโมช เป็นผู้ได้เสนอให้เป็น ‘วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน’ โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤกธิ์ ได้เสนอไว้ก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาวันชาติก่อนแล้ว [11]

ในท้ายที่สุด จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องวันชาติในวันที่ 16 พฤษภาคม 2503 ก็สรุปผลว่า ที่ประชุมมีมติให้ ‘วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ’ ซึ่งน่าสนใจว่า ตามทัศนะของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มติของคณะกรรมการฯ “นับได้ว่าเป็นมติที่ผิดไปจากความคาดหมายของวงการทั่วไป” แต่ก็เห็นว่า “น่าพิจารณาอยู่มาก” เพราะวันชาติ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติของคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายในภายหลังคือ ก่อให้เกิดความแตกแยกของบุคคลภายในชาติ ขณะที่มติให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ นั้น

“นับว่า ตัดปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งทั้งหลายเสียได้ นอกจากนั้นยังแสดงว่าคณะกรรมการเล็งเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า สิ่งสำคัญซึ่งสามารถดำรงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างบุคคลในชาติทุกสมัยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศประการหนึ่ง ที่สามารถยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นได้ สามารถที่จะชักจูงคนในประเทศให้เกิดความเชื่อถือมีความมั่นใจในความเป็นอยู่ ตลอดจนมีความภูมิใจ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบกันมาไม่ขาดสาย” [12]

ต่อจากนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ได้มีการนำเสนอวาระผลการพิจารณาเรื่องวันชาติ พร้อมด้วยร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผลก็ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และในวันต่อมา (21 พฤษภาคม 2503) จอมพลสฤษดิ์ ก็ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยมีการตีพิมพ์ลงใน ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 พฤษภาคม 2503 ความว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสนามสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภาพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503 
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี”
[13]

เป็นเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นการ ‘เปลี่ยนวันชาติ’ แต่ทว่า เมื่ออ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้แบบ ‘ระหว่างบรรทัด’ จะเห็นได้ว่า มิใช่เป็นการเปลี่ยนวันชาติ หากแต่คือการ ‘ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน’ เป็นการเฉพาะ และในขณะเดียวกันก็จะเห็นได้ว่า การกำหนด ‘วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์’ ก็มิได้เป็นการ ‘แทนที่’ วันชาติ 24 มิถุนายน หากแต่เป็นการกำหนดให้ถือเป็นวันอีกวันหนึ่ง ให้เป็น ‘วันเฉลิมฉลองของชาติไทย’ 

น่าสนใจว่า ข้อสังเกตในเรื่องนี้ได้ปรากฏในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ด้วยเช่นกัน ดังที่ พิมพ์ไทย ได้กล่าวว่า “หลายคนดูเหมือนเข้าใจผิดไปว่า คณะกรรมการชุดนี้เสนอแนะให้รวมวันชาติเข้าไปในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระมหากษัตริย์ แต่ความจริงหาใช่เช่นนั้นไม่”

และหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลในการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ด้วยว่า “เมื่อได้ยกเลิกวันชาติไปแล้วโดยคำนึงถึงความแสลงต่อความสามัคคีธรรมในชาติตามเหตุผลที่กล่าวนั้น จึงน่าเชื่อว่าคงจะมีการพิจารณาถึงความแสลงในเรื่องที่เกี่ยวโยงมาจากเหตุการณ์ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้ทั่วถึงต่อไป” 

แม้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวนี้จะเป็นเพียงเอกสารหนึ่งในเอกสารหลายร้อยหลายพันและหลายหมื่นฉบับในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่ก็นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้มีการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ก็ดูเหมือนว่าการกำหนดวันชาติของไทยอย่างเป็นทางการ มิได้เกิดขึ้นเลยจนกระทั่งปี พ.ศ. 2560 [15]

ในขณะเดียวกัน การกำหนดวันพระราชสมภพให้เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงมิติทางการเมืองวัฒนธรรมในการรื้อฟื้นนิยามความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่นิยามและความหมายของคำว่า ชาติ ได้กลับเข้ามาพันผูกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ธำรงเป็นศูนย์กลางหรือเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของชาติอีกครั้ง นับตั้งแต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475  [16]

การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน จึงเสมือนเป็นลมหายใจอันรวยรินของความทรงจำว่าด้วยการปฏิวัติ 2475 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ก่อนคณะปฏิวัติจะหามร่าง วันชาติ 24 มิถุนายน เข้าสู่เตาเผาทำการฌาปนกิจอย่างเด็ดขาดในอีกหนึ่งเดือนถัดมา เมื่อรัฐบาลออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2503 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2503 เพื่อ “ยกเลิกการหยุดราชการ ในวันที่ 24 มิถุนายน” เพราะ “ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยแล้ว”  [17] และตามมาด้วยประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน 2503 ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ ที่เคยให้ชักและประดับธงชาติในวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน  [18]

ในทางประวัติศาสตร์การเมือง การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ จึงส่งผลต่อประวัติศาสตร์ความทรงจำว่าด้วยการปฏิวัติ 2475 และความทรงจำว่าด้วยคณะราษฎรในสังคมไทย ดังที่งานศึกษาของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ วิเคราะห์ว่า

“กระบวนการทางการเมืองและการบริหารราชการในสมัยดังกล่าว นับว่ามีผลสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ ‘วันชาติ ที่แปลว่าประชาชน’ สิ้นสุดลงไป และวันชาติที่เน้นอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอย่างเป็นทางการและเป็นกิจจะลักษณะ เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องตราบจนปัจจุบัน เพราะทำให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี มิได้เป็นวันหยุดราชการไทย รวมทั้งเรื่องดังกล่าวมีผลต่อความทรงจำร่วมกัน (Collective memory) ของเยาวชนคนไทย และได้เป็นรากฐานหรือปัจจัยสำคัญของการตีความใหม่ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร (People Party) ว่ามิได้มีบทบาทอันใดในการวางรากฐานให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทยอีกด้วย” [19]

ดังนั้น หากวันชาติ 24 มิถุนายน คือมรดกทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร การ ‘ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน’ ก็ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งก็น่าสนใจว่า ภาพปรากฏการณ์ว่าด้วยวิวาทะเรื่อง วันชาติ 24 มิถุนายน ที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เขียนกำลังร่ายระบำนิ้วอยู่บนแป้นพิมพ์ (คีย์บอร์ด) คอมพิวเตอร์ในขณะนี้ (เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566) ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงอาการความทรงจำทางประวัติศาสตร์ว่าด้วย ‘วันชาติ 24 มิถุนายน’ ของสังคมไทย ที่ตกอยู่ในอาการที่เรียกได้ว่า ‘ตายแล้ว แต่ยังอยู่’

 

เรื่อง: อิทธิเดช พระเพ็ชร

ภาพ: จอมพลสฤษดิ์ ประกอบกับฉากหลังเป็นธงชาติไทย

เชิงอรรถ:

[1] ดูการอภิปรายเรื่อง วันชาติ อย่างละเอียดและลึกซึ้ง ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ‘ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา’, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน, 2547): 71-121.

[2] ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, เฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482, เข้าถึงใน https://www.the101.world/thai-national-day-24th-june/

[3] ดูประเด็นนี้ใน ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (2475-2500), (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556).

[4] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556), 3.

[5] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, ‘คำปราศรัยในวันชาติ’ ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502-2504, คณะรัฐมนตรีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พระนคร, สำนักนายกรัฐมนตรี, 2506), 14 -24.

[6] สารเสรี 15 กรกฎาคม 2502

[7] ไทรายวัน 16 กรกฎาคม 2502 (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

[8] ชาวไทย 18 กรกฎาคม 2502

[9] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ‘ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา’, 117.

[10] ไทรายวัน 7 พฤษภาคม 2503 ; สยามรัฐ 7 พฤษภาคม 2503.

[11] สามน กฤษณะ, ‘วันชาติใหม่’, สยามนิกร 27 พฤษภาคม 2503 

[12] สยามรัฐ 19 พฤษภาคม 2503 

[13] ราชกิจจานุเษกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 43 (24 พฤษภาคม 2503), 1452 – 1453. (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

[14] พิมพ์ไทย 24 พฤษภาคม 2503 

[15] ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 44 ง (10 กุมภาพันธ์ 2560).

[16] โปรดดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ‘แนวคิดชาติบ้านเมือง: กำเนิด พัฒนาการ และอำนาจการเมือง’, ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2549), 35-41.

[17] ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 77 ตอนที่ 49 ง (9 มิถุนายน 2503), 1.

[18] ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, เฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482, อ้างแล้ว.

[19] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ‘แนวคิดชาติบ้านเมือง: กำเนิด พัฒนาการ และอำนาจการเมือง’, 41