21 ก.ค. 2566 | 19:02 น.
- เวิ้งนาครเขษม เป็นย่านการค้าในตำนานของไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์
- เดิมทีที่นี้เคยถูกเรียกว่า ‘เวิ้งท่านเลื่อน’ และหลังประกาศเลิกทาสมีอีกชื่อว่า ‘ตลาดโจร’ หรือชาวต่างชาติเรียกติดปากว่า ‘Thief Market’
- ก่อนหน้านี้ เวิ้งนาครเขษม มีชื่อเสียงเป็นศูนย์รวมของเครื่องดนตรี เครื่องครัว เครื่องทองเหลือง และของโบราณ
- ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ ทาง AWC บริษัทในเครือของ‘เจ้าสัวเจริญ - เจริญ สิริวัฒนภักดี’ ได้พัฒนาเพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของไชน่าทาวน์
อัตลักษณ์และวัฒนธรรมไชน่าทาวน์ในกรุงเทพมหานครถูกถ่ายทอดเป็นฉากหลังใน MV เพลง Haegeum ของศิลปินระดับโลกอย่าง Agust D หรือ Suga แห่งวง BTS
Haegeum หรือ แฮกึม แปลได้ 2 ความหมาย ความหมายหนึ่งคือ ‘การแข็งข้อ’ อีกความหมายคือ ‘เครื่องสายแบบดั้งเดิมของเกาหลี’ เพลงฮิปฮอปเพลงนี้เลือกใช้แฮกึมนำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘เสรีภาพ’ โดยใช้มรดกทางวัฒนธรรมมาตีความเพื่อ ‘เล่าใหม่’ บนท่วงทำนองฮิปฮอป
การนำมรดกทางวัฒนธรรมมาตีความเพื่อเล่าใหม่ ดูจะสอดคล้องอย่างบังเอิญกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสถานที่ที่ MV เลือกใช้ถ่ายทำ
ภายหลัง MV เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2566 กลุ่มแฟนคลับที่เรียกว่า ARMY ออกแรงสืบค้นโลเคชั่นของมิวสิกวิดีโอจนพบว่า MV ถ่ายทำในประเทศไทย พวกเขาตามรอยสถานที่ถ่ายทำเพื่อไปเช็กอินถ่ายรูป แต่กลับพบว่า ‘เวิ้งนาครเขษม’ เป็นที่ดินส่วนบุคคล ถูกล้อมรั้วกั้นไว้ไม่ให้ผู้ไม่มีกิจใดเข้าไป
ดีลใหญ่บนที่ดิน 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา
ที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษม 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยในเครือ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ ดีลนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ชนะการประมูลอาคารพาณิชย์เก่าประมาณ 440 คูหาจากราชสกุลบริพัตร ในราคาประมาณ 4,507 ล้านบาท
การพัฒนาโครงการชะงักงันอยู่หลายปี กว่าที่ผู้เช่าชุดสุดท้ายจะย้ายออกจากพื้นที่ เวลาก็ล่วงมาถึงปี 2559 หลายปีต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์อีกครั้งในปี 2564 เมื่อ AWC เข้าลงทุนในโครงการเวิ้งนาครเขษม มูลค่ารวมกว่า 16,595.5 ล้านบาท โดยซื้อหุ้นสามัญในบริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด มูลค่าในการซื้อหุ้นประมาณ 8,265 ล้านบาท
เป้าหมายของ AWC คือการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (mixed-use development) ที่จะมีทั้งโรงแรมระดับลักชัวรี พื้นที่ค้าปลีก และแลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนเยาวราช
โครงการเวิ้งนาครเขษม ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ใกล้สถานีสามยอด รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินตัดกับสายสีม่วงใต้ แม้โครงการยังอยู่ในระหว่างปรับปรุงและพัฒนา แต่ราคาประเมินที่ดิน ณ ปัจจุบันมีราคาตารางวาละ 1.42 ล้านบาท โดย mixed-use development โครงการนี้ประกอบด้วย โรงแรมระดับลักชัวรี, โรงแรมแบบบูติก, Branded Residence หรือคอนโดมิเนียมที่บริหารโดยแบรนด์โรงแรมลักชัวรี, Branded Residence ที่บริหารโดยแบรนด์โรงแรมบูติก และพื้นที่ค้าปลีก โดยมี ‘เจดีย์จีน’ สูงไม่เกิน 8 ชั้น เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเยาวราช
“เราเน้น global partner มาบริหารโรงแรม โดยเราเป็นผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เอง แต่มอบการบริหารให้มืออาชีพที่มีทั้งแบรนด์และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับระดับสากล” วัลลภา ไตรโสรัส (สิริวัฒนภักดี) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC กล่าวถึงแนวทางการบริหารโครงการ
เมื่อแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาเป็นพันธมิตรบริหารจัดการโครงการบนทำเลที่มีมรดกทางวัฒนธรรม โครงการนี้จึงนำเสนอพล็อตเรื่องการอนุรักษ์เรื่องราวประวัติศาสตร์ของทำเลและจุดกำเนิดของเวิ้งนาครเขษม เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
แต่ ‘ตัวละคร’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ไม่ได้ถูกนำเสนอไว้ในข้อมูลโครงการที่จะต้อนรับลูกค้าผู้มาเยือน Heritage of Asia City แห่งนี้
Last Day of Bangkok Trams
ในความทรงจำของสังคมไทย ‘เวิ้งนาครเขษม’ เป็นย่านการค้าที่มีประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 - 5 บางบรรทัดของเรื่องราวชาวจีนพาดผ่านและอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร
การสร้างถนนเจริญกรุง หรือ New Road ในรัชกาลที่ 4 สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์การขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ถนนสายใหม่ถูกตัดขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักของชาวสยามในเวลานั้น ขุนนางในรัชกาลที่ 4 ถูกมอบหมายเดินทางไปเมืองสิงคโปร์เพื่อศึกษารูปแบบการสร้างตึกริมถนน นับเป็นการเริ่มต้นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่และเป็นการเกิดขึ้นของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในพระนคร
รถรางสายบางคอแหลมวิ่งบนถนนเจริญกรุงเป็นสายแรกเมื่อปี พ.ศ. 2431 ก่อนที่ระบบรถรางจะเชื่อมต่อการคมนาคมทางบกกับทางน้ำเป็นโครงข่ายการเดินทางรอบตัวเมืองชั้นในจนไปถึงตัวเมืองชั้นนอกทั้งสิ้น 11 สาย
เมื่อถึงรัชกาลที่ 7 ย่านธุรกิจการค้าบนถนนเจริญกรุงก็เติบโตจนทำให้เมืองต้องขยาย ที่ดินมีราคาสูง ความแออัดของถนนเจริญกรุงทำให้ต้องตัดถนนและขยายเมืองออกไป ราษฎรถูกผลักให้ออกมาอยู่อาศัยนอกใจกลางเมืองมากขึ้นตามการขยายตัวของเมือง
ใจกลางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครถูกย้ายจากถนนเจริญกรุงมาสู่ถนนสีลมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศไทยเดินหน้าการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมในสมัยต้นทศวรรษ 2500
การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพฯ ทำให้รถรางถูกยกเลิกการให้บริการใน พ.ศ. 2511 เพราะกลายเป็นพาหนะที่กีดขวางการจราจรและไม่เหมาะสมกับยุคสมัยอีกต่อไป
ในวันสุดท้ายที่รถรางวิ่งให้บริการ ‘แท้ ประกาศวุฒิสาร’ ผู้สร้างภาพยนตร์คนสำคัญและยังเป็นผู้ใช้บริการรถรางมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ออกตระเวนทั่วกรุงเทพฯ พร้อมช่างถ่ายภาพยนตร์คู่ใจ บันทึกภาพรถรางสายที่ออกวิ่งรอบเมืองตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง วัดโพธิ์ ฯลฯ จนไปสุดที่สถานีสุดท้าย เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
“วันสุดท้ายของรถรางของผมได้มาสิ้นสุดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า” แท้ บรรยายความอาลัยลงในภาพยนตร์ ‘Last Day of Bangkok Trams’
“เราเคยได้ยินเสียงรถราง ได้ยินเสียงระฆังรถราง แต่เสียงนั้นก็จะเงียบหายไปตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน”
สิ้นเสียงรถรางมาแล้วร่วม 50 ปี แต่ป้ายหยุดรถรางยังคงหลงเหลืออยู่แถวถนนเยาวราช ช่วงเวิ้งนาครเขษม
แรงงานจีนแห่งคลองโอ่งอ่าง
ตัวตนของเวิ้งนาครเขษม ในปีที่ ‘แท้ ประกาศวุฒิสาร’ และ ‘โสภณ เจนพานิช’ ตระเวนบันทึกภาพรถรางลงในฟิล์มภาพยนตร์ ได้กลายเป็นตลาดการค้าสำคัญของกรุงเทพมหานครแล้ว มีทั้งเครื่องดนตรี เครื่องครัว เครื่องทองเหลือง ของโบราณตั้งแต่หนังสือเก่า แผ่นเพลงเก่า ไปจนถึงอาหาร
กระแสดนตรีและวัฒนธรรมอเมริกันถูกนำเข้าสังคมไทยพร้อมกับบรรยากาศสงครามเย็น ว่ากันว่าที่เวิ้งนาครเขษมคือตลาดแรกที่มีการนำเครื่องดนตรีจากโลกตะวันตกเข้ามาขาย
“ที่นี่ก็มีการนำเข้าเครื่องดนตรีมาขายเป็นแห่งแรก ทั้งที่แต่ก่อนไม่มีเลย รู้สึกเจ้าแรกที่นำมาก็ร้าน แต้เซ่งเฮง ย่งเสง” วิศิษฐ์ เตชะเกษม กล่าว
แต่หากย้อนกลับไปในช่วงรัชกาลที่ 5 ชาวจีนแต้จิ๋วได้อาศัยอยู่บริเวณคลองโอ่งอ่างกันมาหลายรุ่นแล้ว บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นแรงงานสำคัญในการสร้างเมืองใหม่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ด้วยเกรงว่าชาวจีนเหล่านี้จะกระด้างกระเดื่องและส่งผลเสียต่อการเมือง จึงบังคับให้ชาวจีนเหล่านี้อาศัยอยู่ส่วนนอกสุดของคูเมืองชั้นนอก ซึ่งก็คือคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน
เหตุที่ชื่อ ‘คลองโอ่งอ่าง’ ก็มาจากการค้าขายเครื่องโถ โอ่ง อ่าง กระเบื้องลายครามของชาวจีนในย่านนั้นนั่นเอง ชุมชนชาวจีนในย่านนี้จะกลายมาเป็นตัวละครสำคัญใน ‘เวิ้งนาครเขษม’ ในเวลาต่อมา
ตลาดโจรหลังยกเลิกทาส
ก่อนหน้านั้นที่ดินตรงที่เรียกกันว่า เวิ้งนาครเขษม แต่เดิมเคยถูกเรียกว่า ‘เวิ้งท่านเลื่อน’ เมื่อมีการตัดถนนผ่านที่ดิน คุณหญิงเลื่อนฤทธิ์จึงขายที่ดินส่วนนี้ให้ตกเป็นของหลวง ดูแลโดยพระคลังข้างที่ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ขุดสระขนาดใหญ่และทำเป็นสวนสำหรับเป็นที่พักผ่อนของผู้คน เรียกกันว่า ‘วังน้ำทิพย์’
หลังการล้มเลิกการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อประกาศเลิกทาส ข้าราชบริวารแสวงหาแนวทางชีวิตใหม่ออกมาทำมาหากิน บางส่วนได้รับเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้เป็นสมบัติสร้างเนื้อตั้งตัว จึงนำสิ่งของต่าง ๆ ออกมาขาย บางส่วนถูกลักลอบขโมยออกมาขายบริเวณวังน้ำทิพย์ จึงทำให้มีอีกชื่อว่า ‘ตลาดโจร’ ชาวต่างชาติเรียกติดปากว่า ‘Thief Market’
หลังได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณนี้เป็นมรดกจากรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อนุญาตให้ชาวจีนที่อาศัยในย่านนั้นนำสินค้ามาวางขายบริเวณพื้นที่รอบเวิ้งน้ำ ชาวจีนเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘จุยเจี่ยเก็ง’ หรือ ‘วังน้ำทิพย์’ เป็นการค้ายุคบุกเบิกของเวิ้งนาครเขษม ที่แปลว่า ‘ที่รื่นรมย์ของชาวเมือง’
เวิ้งไม่เคยหลับใหล
เวิ้งนาครเขษม มีการปรับพื้นที่โดยถมบึงเป็นเวิ้งกว้าง จัดพื้นที่ให้ชาวจีนที่อาศัยจับจองอยู่มาแต่เดิมได้เช่าอาศัยเป็นที่ทำกิน การสร้างอาคารในยุคแรกออกแบบรูปทรงแบบตะวันตก มีลายปูนปั้นตามวงกรอบประตูหน้าต่าง มีช่องระบายความร้อนและความชื้น สลักเสลาด้วยไม้อย่างวิจิตรงดงาม หลังคากระเบื้องว่าว รอบสถานที่มีซุ้มประตูไม้สักฉลุลวดลายตามศิลปะ สถาปัตยกรรมตะวันตกที่กำลังเป็นที่นิยมในเวลานั้น
“เวิ้งฯ แต่เดิมขายของเก่าทั้งนั้น พวกคุณพระ คุณหลวง เจ้าคุณเดินหาซื้อของ สมัยก่อนวางขายกันระเกะระกะ พื้นเป็นดินเป็นโคลนเลนเลอะเทอะ ตั้งเป็นแผงขายกัน ไม่มีชื่อร้านหรือยี่ห้อ จนมาเป็นห้องแถวไม้แรก ๆ พอเปลี่ยนมาเป็นตึกก็แต่งร้านกันใหม่ เราลำบากกันมาก่อน ไม่ใ่ช่มาแล้วเป็นอาเสี่ยเลย” ผู้ค้าในชุมชนเวิ้งฯ ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ ‘ณ เวิ้งนาครเขษม’
ความเป็นศูนย์กลางการค้าของย่านเยาวราชทำให้การค้าขายในย่านเวิ้งนาครเขษมเปรียบเสมือนเมืองที่ไม่หลับใหล เพราะทำให้มหานครมีเสียงเพลง นักดนตรีต่างซื้อเครื่องดนตรีที่เวิ้งนาครเขษม
ผู้คนผลัดเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่น กรุงเทพฯ พัฒนาไปข้างหน้าทั้งบนดินและใต้ดิน แต่กว่า 440 ครัวเรือนในเวิ้งนาครเขษม เป็นชุมชนหนึ่งที่หลีกไม่พ้นผลกระทบจากการพัฒนาเมือง เมื่อสำนักงานบริพัตรตัดสินใจไม่ต่ออายุให้กับผู้เช่าที่จะหมดลงในเดือนกันยายน 2555 และประกาศประมูลขายที่ดินเวิ้งนาครเขษม
ในที่สุด บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ได้เข้าซื้ออาคารพาณิชย์เก่าประมาณ 440 คูหา บนพื้นที่ 14 - 1 - 91 ไร่ บริเวณถนนเจริญกรุงซอย 8 - 10 มาจากราชสกุลบริพัตร ในราคาประมาณ 4,507 ล้านบาท
ท่ามกลางการต่อต้านและต่อรองของชุมชนชาวจีนผู้เช่าที่ดินผืนนี้มาหลายชั่วอายุคน
ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก
เป็นอีกครั้ง ‘ระบบราง’ ได้หวนกลับมายังย่านเยาวราช แต่คราวนี้ระบบรางได้มุดลงใต้ถนน
ระบบขนส่งประเภทรางได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ย่านเยาวราชมาเมื่อครั้งเปิดให้บริการเมื่อปี 2431 การสร้างระบบรางในตอนนั้นทำให้เยาวราชกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ
การสร้างรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลในปี 2547 ได้นำพาผู้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามายังย่านเยาวราชได้สะดวกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนผ่านสถานีหัวลำโพง การสร้างส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็จะยิ่งทำให้การค้าขายคึกคักไปมากกว่าเดิม และยังเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินเข้าไว้ด้วยกัน
แต่ในทางกลับกัน การสร้างรถไฟฟ้าต้องแลกด้วยการรื้อถอนอาคารบ้านเรือนบางส่วนซึ่งมีประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชนคนจีนในย่านเหล่านั้น
แม้ว่า ‘เวิ้งนาครเขษม’ จะไม่ถูกไล่รื้อเพื่อนำที่ดินมาสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ก็ประสบปัญหาเจ้าของที่ดินรื้อไล่ชุมชนเช่นเดียวกับชุมชนเจริญไชยและชุมชนเวิ้งเลื่อนฤทธิ์
สำนักงานบริพัตรผู้เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษมไม่ต่อสัญญาสิทธิการเช่าแก่ชาวชุมชน พวกเขาต้องการขายที่ดินนี้แก่นายทุนอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่มูลนิธิจุมภฎ - พันธุ์ทิพย์ เจ้าของที่ดินชุมชนเจริญไชยปรับระยะเวลาสัญญาเช่าที่ดินให้เหลือน้อยลง และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้บริหารจัดการที่ดินชุมชนเวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเยื้องกับชุมชนเวิ้งนาครเขษม ก็ไม่ต่อสัญญาและดำเนินการขายที่ดินให้นายทุนเข้ามาบริหารที่ดิน
นี่คือชะตากรรมร่วมกันของ ‘ตัวละคร’ ผู้โลดแล่นบนฉากที่ความทรงจำของชุมชนค่อย ๆ หลอมรวมเข้ากับประวัติศาสตร์ ตีมูลค่าออกมากลายเป็นที่ดินราคาแพงสมกับทำเลทอง
ทุนทางวัฒนธรรมกับเรื่องเล่าเรื่องใหม่
ประวัติศาสตร์ ความทรงจำ สถาปัตยกรรม และชีวิตชาวจีน ดูเหมือนจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และผู้เช่าดั้งเดิมในชุมชนเวิ้งนาครเขษมต่างก็อ้างอิงถึงเพื่อเป้าหมายของตน ฝ่ายหนึ่งอ้างถึงทุนทางวัฒนธรรมในมุมของการตีความเพื่อเล่าใหม่ผ่านโครงการขนาดใหญ่ที่ดึงเอาแบรนด์ระดับโลกมาผสมกับมรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม
ในช่วงเวลาที่มีการต่อรองและยื้อยุดกันระหว่างปี 2554 - 2559 ฝ่ายผู้เช่าเดิมในเวิ้งนาครเขษมใช้พล็อตเรื่องอีกแบบ เป็นเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการบุกรุกของทุนผู้มองไม่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ฝ่ายผู้เช่าใช้สิทธิที่มีอย่างชอบธรรมปกป้องชุมชนเพื่อแสดงเจตนาที่จะอนุรักษ์และพัฒนาเวิ้งนาครเขษมบนต้นทุนเดิมที่สร้างมากว่า 100 ปี
สมศักดิ์ ทรงธรรมกุล ผู้เป็นประธานชุมชนเวิ้งนาครเขษมปี 2555 - 2557 เขียนถึงเวลาช่วงท้ายที่ใกล้เข้ามาไว้ในหนังสือ ‘ณ เวิ้งนาครเขษม’
“ผมไม่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีตามกาลเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เห็นคุณค่าของย่านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือการเปลี่ยนแปลงที่ขาดจิตสำนึกและกินทุนของประเทศ”
ปฏิกิริยาที่น่าสนใจของชุมชนอย่างหนึ่งคือการรวมกลุ่มตั้งบริษัท เวิ้งนาครเขษม จำกัด ขึ้นมาเมื่อปี 2554 เพื่อระดมเงินแข่งประมูลกับผู้แข่งขันรายอื่นที่ล้วนเป็นทุนขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนพวกเขาพ่ายแพ้การประมูลในปีถัดมา
“สุดท้ายแล้วถ้าต่อสู้ไม่ได้ เราก็ต้องย้าย นาทีสุดท้ายประวัติศาสตร์ต้องพลิกแพลงไป โดยที่เราต้องจำยอม อย่างที่คนรุ่นใหม่บอกว่าบ้านเมืองจะเจริญย่อมมีการเปลี่ยนแปลง” ผู้เช่าวัย 88 เป็นผู้กล่าวประโยคนี้ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เมื่อปี 2555
นอกจากการระดมทุนในชุมชนเพื่อต่อสู้ในการประมูล ชุมชนเวิ้งนาครเขษมยังใช้ทุนทางวัฒนธรรม อารมณ์ร่วมของสังคม และการอ้างถึงสิทธิมนุษยชน ในการต่อรองกับทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของชุมชน
“ในเรื่องของประวัติศาสตร์มันเป็นสิ่งที่สร้างมาเป็น 100 ปี ไม่ใช่ 5 - 6 ปีสร้างได้” วิศิษฐ์ เตชะเกษม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อปี 2554 “ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอยู่ กลับไม่รักษาไว้ เห็นเงินเป็นเรื่องสำคัญ”
เรื่องนี้เดินทางไปถึงกรรมการสิทธิมนุษยชน รับประกันความชอบธรรมในการใช้สิทธิชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับรัฐและเอกชน
นี่คือร่องรอยการต่อสู้เพื่อปกปักรักษาประวัติศาสตร์ชุมชนของผู้เช่าที่ดินเดิมบริเวณเวิ้งนาครเขษม ซึ่งในปี 2566 เรื่องเล่าของพวกเขาเลือนจางหายไปจากเวิ้งนาครเขษมที่ในตอนนี้รอเวลาที่จะฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
เจ้าสัวผู้หลงใหลประวัติศาสตร์
มีความสัมพันธ์บางประการระหว่างความทะเยอทะยานทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือเจ้าสัวเจริญกับความหลงใหลในกลิ่นอายประวัติศาสตร์
แนวทางการพัฒนาโครงการเวิ้งนาครเขษมที่เน้นการอนุรักษ์เรื่องราวประวัติศาสตร์ของทำเลและจุดกำเนิดของเวิ้งนาครเขษมไว้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว นี่ไม่ใช่แลนด์มาร์คแรกของ AWC แต่พวกเขาเคยพัฒนาโครงการ Asiatique บนทำเลที่มีประวัติศาสตร์ท่าเรือริมน้ำและโกดังเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 มาก่อน
ข้อมูลในเว็บไซต์ของเอเชียทีค ได้ให้ภาพการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์ไว้อย่างชวนตราตรึง “ในวันนี้ ณ ผืนแผ่นดินเดิม อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ อีสท์ เอเชียติก ได้ถูกเนรมิตให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โครงการไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แลนด์มาร์คใหม่ล่าสุดของกรุงเทพมหานคร”
วิรัตน์ แสงทองคำ มองความพยายามเชื่อมโยงประวัติศาสตร์สังคมไทยยุคอาณานิคมกับการลงทุนทางธุรกิจในยุคปัจจุบันของธุรกิจอสังหาฯ ของเจ้าสัวว่า “น่าทึ่ง มีสีสัน เป็นจินตนาการต่อเนื่อง จากภาพพ่อค้าเชื้อสายจีน เริ่มต้นจากสองมือเปล่า กับธุรกิจอิทธิพลจากสัมปทานการค้าสุราในยุคไม่นานนัก กลับย้อนเวลาไปเชื่อมต่อกับร่องรอยและกลิ่นอายประวัติศาสตร์สำคัญของสังคมไทย”
‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ เติบโตมาในย่านทรงวาด เขาน่าจะมีความทรงจำร่วมกันกับชาวจีนในย่านการค้าบนเกาะรัตนโกสินทร์ไม่มากก็น้อย และอาจจะเป็นนักธุรกิจผู้หนึ่งที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ไม่มากก็น้อยด้วยเช่นกัน
นอกจากท่าเรืออีสท์ เอเชียติก ในปี 2544 เจริญซื้อกิจการ ‘เบอร์ลียุกเกอร์’ กิจการเก่าอายุร่วม 100 ปี และในกรณีเวิ้งนาครเขษมเมื่อปี 2555 ซึ่งนอกจากจะเป็นการซื้อขายที่ดินราคาแพงที่สุดของประเทศ วิรัตน์ยังมองว่า สิ่งที่อาจจะมากไปกว่าการเป็นเจ้าของสถิติดีลที่แพงที่สุดก็คือเรื่องราวชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์
“สำหรับเจริญ สิริวัฒนภักดี อาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเพิ่มขึ้น” วิรัตน์ระบุไว้ในบทความ ‘เจริญ นาครเขษม’
เจริญ สิริวัฒนภักดี ในมุมมองของนักเขียนเรื่องธุรกิจผู้นี้ มองว่า เจ้าสัวเป็น 'คนสุดท้าย' ที่สามารถสร้างโอกาสครั้งใหญ่จากความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์และสัมปทานเมื่อ 3 - 4 ทศวรรษที่แล้ว ได้ก้าวไปไกลมากทีเดียว ในฐานะผู้มีความมั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย” ท้ายบทความของวิรัตน์ระบุ
แต่ไม่ว่าจะก้าวไปไกลเพียงใด ความท้าทายครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อการระบาดครั้งใหญ่ได้เปลี่ยนความหมายของชีวิต งาน การเดินทาง ฯลฯ ของผู้คนไปทั่วโลก แต่ AWC ภายใต้การนำของ วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวของเจ้าสัวกลับตัดสินใจเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ทั้ง Asiatique เฟส 2 และเวิ้งนาครเขษม หวังให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ไชน่าทาวน์
ซึ่งประวัติศาสตร์บนที่ดินขนาด 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวาต่อจากนี้ จะมีพล็อตเรื่องแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เล่า
.
เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ : Nation Photo
.
อ้างอิง :
.
ประชาชาติธุรกิจ. (2566). เวิ้งนาครเขษม ย่านค้าขายเก่าแก่ของไทย สู่ฉากใน MV ของ ชูก้า BTS
ถนัดกิจ จันกิเสน. (2564). เผยโฉมโรงแรมใน เวิ้งนาครเขษม ที่ดินแปลงประวัติศาสตร์ของ ‘เจ้าสัวเจริญ’ เตรียมเปิดปี 2569 ภายใต้ชื่อ อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์
ผู้จัดการออนไลน์. (2564). AWC ปั้น ‘เวิ้งนาครเขษม’ สู่ ‘เมืองมรดกแห่งเอเชีย’ มิกซ์ยูสหมื่นล้าน เผยโฉมปี 2569 ภายใต้แบรนด์ ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล แบงค็อก ไชน่าทาวน์’
อรวรรณ หอยจันทร์. (2564). วัลลภา ไตรโสรัส แม่ทัพ AWC POWER OF LAND DEVELOPER
อาทิพร ผาจันดา. (2564). 100 ปี ถนนเจริญกรุงกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2411 - 2511)
อุรฉัตร อร่ามทอง. (2555). แนวทางการพัฒนาอาคารเก่าแก่ในย่านพาณิชยกรรม : กรณีศึกษาเวิ้งนาครเขษม
อิทธิพร ขำประเสริฐ. (2566). การวิเคราะห์ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเมือง
นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์. (2554). ย่านไชน่าทาวน์เยาวราช : พื้นที่การนำเสนออัตลักษณ์เชิงซ้อนของวัฒนธรรมความเป็นจีนในสังคมไทยร่วมสมัย
Piyachai. (2562). ถอดบทเรียน รถราง ระบบขนส่งมวลชนในอดีต
มติชนออนไลน์. (2554). เปิดความในใจ ‘ผู้เช่าที่เวิ้งนาครเขษม’ ลั่นกัดฟันสู้เพื่อ ‘ตำนานบรรพบุรุษ’ แม้รู้อาจพ่าย ‘นายทุน’
ไทยรัฐออนไลน์. (2554). กู๊ดบายประวัติศาสตร์ ทุนนิยมโกยเงิน แปลงร่าง ‘เวิ้งนาครเขษม’
มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์. (2559). ‘เวิ้งนาครเขษม มรดกแห่งรัตนโกสินทร์’ ในกระแสธารทุนนิยม
วิรัตน์ แสงทองคำ. (2555). เจริญ นาครเขษม