24 ก.ค. 2566 | 11:50 น.
- ‘เจคอบ ฟาน แดร์ ไฮเด’ วิศวกรดัตช์ เจ้ากรมคลองคนแรกของสยาม เสนอแผนจัดการน้ำให้ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5
- ข้อเสนอของไฮเด เกิดจากการศึกษาการขุดคลองในบริเวณภาคกลางที่ดำเนินมาก่อนหน้าเขาเพียงไม่กี่ปี ลองมาดูกันว่า ข้อเสนอของนายไฮเด เหมาะสมกับไทยหรือไม่ และข้อเสนอของเขาสำเร็จหรือล้มเหลว
ปฐมบทตะวันตกในสยาม
ในหมู่ชาวต่างชาติจากโลกยุโรปที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับสยามอย่างยาวนาน ชาวดัตช์หรือฮอลันดาจากเนเธอร์แลนด์เป็นชาติที่เข้ามามีบทบาทมาก พ่อค้าชาวเวนิสเป็นพวกแรกที่เข้ามาทางเมืองท่ามะริด แต่ไม่ได้สานสัมพันธ์ต่อเนื่อง โปรตุเกสเข้ามาจากมะละกาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น มีลูกหลานสืบทายาทมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์คือชุมชนบ้านฝรั่งกุฎีจีน สเปนที่เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันหลังโปรตุเกส แต่เนื่องจากสเปนขยายอิทธิพลจากมะนิลาเข้าไปยังราชสำนักพระเจ้ากรุงละแวกของกัมพูชา จึงเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระนเรศวรซึ่งต้องการโจมตีเมืองละแวก ความสัมพันธ์จึงไม่ได้ราบรื่น
ฝรั่งเศสเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่เข้ามา แต่กลายเป็นชนชาติที่เป็นที่จดจำในหมู่ชาวสยาม เพราะเกิดกระทบกระทั่งกันในครั้งปฏิวัติผลัดแผ่นดินจากราชวงศ์ปราสาททองของสมเด็จพระนารายณ์ มาเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่เคยสร้างสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์จะครองราชย์ยาวนานอยู่จนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และตลอดช่วงที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสนั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนรัชกาล แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงพระ ‘เข็ดหลาบ’ กับสยาม ประกอบกับการขยายอำนาจโพ้นทะเลเป็นนโยบายที่มีค่าใช้จ่ายมาก ได้ไม่คุ้มเสีย กว่าที่ฝรั่งเศสจะกลับมาอีกก็มาในแบบศัตรูอย่างในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ.112
อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสที่ยังคงอยู่ในสยามสืบเนื่องทำงานฝังรากอยู่ในหัวเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี อยุธยา นั้นคือบาทหลวงมิชชันนารี ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนามากนัก แต่ค่อนข้างที่จะเป็นที่นิยมในด้านการแพทย์การรักษาพยาบาล ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการนำเข้าเทคโนโลยีแปลก ๆ ใหม่ ๆ
ย้อนกลับมาที่เรื่องของชาวดัตช์ เข้ามาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่กว่าจะได้จัดตั้งสถานีการค้าที่เรียกว่า ‘บ้านฮอลันดา’ (Ban Holanda) ในกรุงศรีอยุธยา ก็เมื่อได้ช่วยกรุงศรีรบกับปัตตานี เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงได้ทรงพระราชทานที่ดินให้แปลงหนึ่งตั้งอยู่ห่างจากเกาะเมืองอยุธยาทางใต้เป็นระยะทางราว 2 กม. สถานีการค้าบ้านฮอลันดาลักษณะก็เช่นเดียวกับ ‘โรงสินค้า’ ของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวสก็อตสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ ‘กินบุญเดิม’ จากที่พ่อค้าดัตช์เคยสร้างทำไว้ในสมัยอยุธยา
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง โรเบิร์ต ฮันเตอร์ นายห้างหันแตรจอมห้าว ชีวิตพลิกเพราะเรือกลไฟ
การมีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาตั้งสถานีการค้าเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้แสดงออกถึงความเป็นเมืองท่านานาชาติแบบที่อยุธยาเคยเป็น แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่อยุธยาใหม่ สิ่งที่เรียกว่า ‘โรงสินค้า’ นั้นชื่อทับศัพท์ที่เรียกกันในหมู่ชาวต่างชาติร่วมสมัยคือ ‘Factory’ ยังไม่ถือเป็น ‘ห้างสรรพสินค้า’ (Mall) ดังนั้น ที่มีผู้เสนอว่าโรงสินค้าของฮันเตอร์คือ ‘ห้างสรรพสินค้าแรกของสยาม’ จึงผิดถนัด
นายช่าง 'เอนยิเนีย' ชาวดัตช์
สถานีการค้าบ้านฮอลันดาที่อยุธยา ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่เพื่อทำนุบำรุงความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่ในฐานะ ‘สถานีการค้า’ เหมือนอย่างในอดีต หากแต่คือโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรื่องราวการเข้ามาบุกเบิกของพ่อค้าดัตช์ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์อยุธยาให้เป็นเมืองท่านานาชาติ ได้ถูกนำเสนออย่างเป็นระบบผ่านนิทรรศการถาวรภายในอาคารบ้านฮอลันดา
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงเป็นข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับการ ‘ปรุ๊พ’ (proof) โดยนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาบทบาทของดัตช์ในสยาม มีผลงานตีพิมพ์เกี่ยวข้อง เช่น รศ.ดร. ธีรวัติ ณ ป้อมเพชร และ ผศ.ดร. ภาวรรณ เรืองศิลป์
และในการจัดแสดงนิทรรศการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ดัตช์กับสยาม เรื่องราวของมิสเตอร์เจคอบ โฮมัน วาน เดอ ไฮเด (Jacob Homan van der Heide) เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งนำเสนอเป็นทอปปิค (topic) ท้าย ๆ เมื่อผู้เขียนได้รับทุนทำวิจัยให้เขียนประวัติศาสตร์บทบาทของดัตช์ ก็ได้รับคอมเมนต์จากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไปศึกษาข้อมูลจากนิทรรศการบ้านฮอลันดามา แล้วเสนอแก่ผู้เขียนว่า น่าจะเขียนยาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ไฮเดเข้ามามีบทบาท
แต่เนื่องจากว่างานวิจัยชิ้นนั้น ผู้เขียนมุ่งโฟกัสอยู่ที่ประเด็นบทบาทดัตช์ในสมัยอยุธยา จึงยังไม่ได้มาจนถึงสมัยที่ไฮเดเข้ามา จนกระทั่งเมื่อผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกแล้วต้องอ่านงานเกี่ยวกับการขุดคลองในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้หยิบเอางานของไฮเดและกลุ่มงานที่อภิปรายประเด็นใกล้กันนั้นมาปัดฝุ่นอ่านแกะรอยดู
เดิมไฮเดเป็นข้าราชการของอาณานิคมดัตช์ ประจำอยู่ที่ปัตตาเวีย (Batavia) (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) มูลเหตุที่ ‘นายช่างเอนยิเนีย’ ชาวดัตช์ผู้นี้จะได้เข้ามารับราชการอยู่ในสยามสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ก็เนื่องจากว่าช่วงเป็นยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยตามอย่างเจ้าอาณานิคม แต่กิจการงานเมืองที่ทรงเรียนรู้ไม่ได้ศึกษาจากประเทศเจ้าอาณานิคมโดยตรง หากแต่ศึกษาจากการจัดการของเจ้าอาณานิคมในอาณานิคมที่พวกเขาปกครองอีกต่อหนึ่ง
เหตุนี้สถานที่ที่ทรงเสด็จประพาสเพื่อศึกษาดูงานที่แรก ๆ จึงเป็น ชวาภายใต้การปกครองของดัตช์ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2413 ถึงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2414 (ตามระบบปฏิทินแบบเก่าที่นับเริ่มปีใหม่ในเดือนเมษายน จึงเสด็จประพาสครั้งนี้เพียง 20 วันเท่านั้น ไม่ได้ใช้เวลานานถึง 2 ปี) ครั้งที่ 2 เสด็จใน พ.ศ.2439 และครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสชวาคือ พ.ศ.2444 อีก 1 ปีต่อมาหลังการเสด็จประพาสครั้งสุดท้ายดังกล่าวนี้เอง ที่ทรงให้ว่าจ้าง ‘มิสเตอร์ไฮเด’ ซึ่งเป็นวิศวกรเคยทำงานกับบริษัท Waterstaat of Netherlands India ที่เมืองปัตตาเวีย เข้ามาศึกษาและวางแผนการจัดการน้ำในสยาม ไฮเดปฏิบัติงานอยู่ในสยามจนถึง พ.ศ.2452 รวมเวลาที่อยู่สยามคือ 7 ปี
ก่อนจะเป็นกรมชลประทาน
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่รัชกาลที่ 5 จะทรงเสด็จประพาสศึกษาดูงานการจัดการปกครองชวาโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ เป็นช่วงเดียวกับที่การจัดการน้ำด้วยวิธีการขุดคลองที่ดำเนินสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึง ณ เวลานั้น เกิดปัญหาบางประการ เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเอกชนคือบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม (Siam Canals, Lands, and Irrigation Company) มีการขุดลอกคลองเก่าและขุดคลองใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วภาคกลาง
แต่ขณะเดียวกันการขยายตัวของการคมนาคมทางบก ความต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ประชากรก็เพิ่มขึ้นจนเป็นแรงงานให้กับภาคเกษตรมาก แต่ที่ดินสำหรับเพาะปลูกกลับพบว่ามีจำนวนจำกัดและยังรกร้างอยู่มาก การขุดคลองแบบไม่มีทิศทางและเป้าหมายชัดเจนเป็นจำนวนมากนอกจากสิ้นเปลืองแรงงานแล้ว ยังอาจกลายเป็นอุปสรรคของการคมนาคมทางบกและการเกษตรเสียเอง
บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาดำเนินงานขุดคลองเมื่อ พ.ศ.2431 เริ่มลงมือขุดคลองเมื่อพ.ศ.2433 มีระยะเวลาดำเนินการตามสัมปทาน 25 ปี โครงการประกอบด้วยการสร้างระบบคูคลองในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะเขตปทุมธานีที่เรียกว่า ‘ทุ่งรังสิต’ โดยได้ขุดคลองสายใหญ่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไปยังแม่น้ำนครนายก พร้อมกับการสร้างประตูระบายน้ำสำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูก และสร้างประตูเรือสัญจรเพื่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำตลอดทั้งปี
หลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการมาได้ประมาณ 10 ปีเศษ เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้เดินทางไปตรวจราชการที่ทุ่งรังสิต เมื่อพ.ศ.2442 แล้วพบว่า ทุ่งรังสิตจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงการชลประทานเป็นการด่วน แต่ชาวสยามเวลานั้นขาดความชำนาญและการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่อย่างเดิมประสบปัญหา เกณฑ์คนมาใช้งานได้ไม่เต็มที่เหมือนอย่างแต่ก่อน ต้องว่าจ้างแรงงานจีน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง การปรับปรุงวิธีการขุดคลองจึงต้องทำอย่างเป็นระบบรอบคอบ
เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จ้างนายช่างชลประทานชาวต่างประเทศมาศึกษาพิจารณา และแก้ไขเรื่องการจัดหาน้ำในบริเวณทุ่งรังสิตให้ดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ เมื่อเสด็จกลับจากประพาสชวา พ.ศ.2444 ทรงเห็นว่า การจัดการน้ำของชาวดัตช์ที่ปัตตาเวียได้ผลดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้างนายช่างชาวดัตช์จากปัตตาเวีย กระทรวงต่างประเทศได้ติดต่อ ‘มิสเตอร์ไฮเด’ หรือ ‘นายไฮเด’ เข้ามา
พ.ศ.2445 ได้มีการตั้ง ‘กรมคลอง’ ขึ้นมาสำหรับดูแลบริหารจัดการการขุดคลองแทนที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม และในคราวเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ไฮเดเป็น ‘เจ้ากรมคลอง’ คนแรก
กรมนี้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมทดน้ำ’ และได้แต่งตั้งอาร์ ซี อาร์ วิลสัน หรือ ‘มิสเตอร์วิลสัน’ เป็นเจ้ากรมทดน้ำนี้เมื่อ พ.ศ.2457 ตกถึงสมัยรัชกาลที่ 7 กรมนี้ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ‘กรมชลประทาน’ เมื่อพ.ศ.2470 และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นที่มีผู้เสนอว่าไฮเดคือ ‘อธิบดีกรมชลประทานคนแรก’ นั้นอาจไม่ถูกในแง่ชื่อ แต่ถูกในแง่ที่จริงเป็นกรมเดียวกันนั่นแหล่ะ และถูกในแง่ที่รูปแบบการจัดการน้ำของกรมชลประทานที่ตั้งขึ้นภายหลังนั้นดำเนินงานตามแนวคิดและวิธีการที่ไฮเดเคยเสนอไว้
แนวคิดการจัดการน้ำของไฮเด
แนวคิดและวิธีการจัดการน้ำของไฮเดที่เสนอไว้จากการศึกษาการขุดคลองในเขตที่ราบภาคกลางของสยามเป็นอย่างไรนั้น อาจเห็นได้จาก 2 กรณี คือ
กรณีที่หนึ่ง, ไฮเดได้เสนอว่าลำพังการขุดคลองอย่างเก่าของสยามไม่สามารถตอบสนองความต้องการน้ำในการเกษตรได้ ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทดน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาท แนวคิดนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นนำสยาม เพราะเห็นว่าจะเกิดอุปสรรคกระทบต่อการคมนาคมทางน้ำอันเปรียบเสมือน ‘เส้นโลหิตใหญ่’ ของสยาม แต่ได้เปลี่ยนไปสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำป่าสักที่บริเวณตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า ‘เขื่อนพระราม 6’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงให้สร้างเขื่อนนี้เมื่อกรมคลองได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทดน้ำแล้ว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเขื่อนเจ้าพระยาของไฮเดได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อพ.ศ. 2495
กรณีที่สอง, แนวคิดของไฮเดปรากฏตามรายงานขนาดยาวที่เขาเสนอต่อกระทรวงเกษตราธิการเมื่อ พ.ศ.2452 ภายหลังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อเล่มว่า ‘J. Homan Van Der Heide. January 24, 1903. General Report on irrigation and drainage in the Lower Menam Valley. Engineer of the Waterstaat of Netherlands India, temporarily placed at the disposal of the Siamese Government, Bangkok.’ ฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2555 ใช้ชื่อว่า ‘รายงานโครงการทดน้ำไขน้ำสำหรับเขตรที่ราบแห่งลาดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้’
ตามรายงานฉบับนี้ไฮเดได้แสดงความคิดเห็นว่า ระบบคูคลองแต่เดิมของสยามนั้น มักจะขุดจากตะวันออกไปตะวันตก จนตัดเป็นมุมฉากกับการไหลของน้ำตามธรรมชาติซึ่งจะไหลจากเหนือลงใต้ ดังนั้น ตลิ่งคลองจึงสกัดกั้นการไหลของน้ำไม่ให้เข้าที่นา ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับการเติบโตของข้าว
ยิ่งไปกว่านั้น คลองเหล่านี้มักจะขุดขึ้นโดยดึงน้ำจากทุ่งนาให้ไหลไปลงแม่น้ำ มากกว่าที่จะให้น้ำไหลจากแม่น้ำเข้าสู่ทุ่งนา นอกจากนี้ การขุดคลองของสยามยังมุ่งเน้นความสำคัญด้านความสะดวกแก่การคมนาคมเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะใช้ในการเกษตรกรรมตามที่ควร บางครั้งคลองจึงกลายเป็นอุปสรรคของเกษตรกรรมเพราะดึงน้ำไปจากเรือกสวนไร่นา
เพราะเหตุใดไฮเด จึงเสนอเช่นนั้น?
งานที่ปรับจากวิทยานิพนธ์ของเดวิด บรูซ จอห์นสตัน (David Bruce Johnston) เรื่อง ‘สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473’ (Rural Society and the Rice Economy in Thailand, 1880-1930) ได้ขยายประเด็นชี้ให้เห็นบริบททางสังคมในช่วงที่ไฮเดเข้ามาศึกษาการจัดการน้ำของสยามนั้น ในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ก่อนทำสนธิสัญญาเบาริง พ่อค้าต่างชาติให้ความสำคัญแก่น้ำตาลมากกว่าข้าว เพราะการผลิตน้ำตาลบริเวณภาคกลางตอนล่าง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จรดหัวเมืองชายทะเลตะวันออก มีการขยายตัวสร้างผลกำไรแก่นักลงทุนมากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แต่ในชั่วเวลาไม่นานในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 หลังเกิดกรณีกบฏอั้งยี่ขึ้นแล้วโรงงานผลิตน้ำตาลตลอดจนไร่อ้อยต่างได้รับผลกระทบเสียหายมาก
เนื่องจากการทะลักของน้ำเค็มหลังจากขุดคลองแสนแสบที่ขวางทางน้ำเหนือ ย่านบางน้ำเปรี้ยวซึ่งเป็นย่านที่เติบโตขึ้นหลังขุดคลองแสนแสบซึ่งแต่เดิมคาดหมายกันว่าจะเป็นแหล่งปลูกอ้อยต่อเนื่องกับเขตอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำบางปะกง แต่การทะลักของน้ำเค็มทำให้บางน้ำเปรี้ยวไม่เหมาะแก่การปลูกอ้อย ปลูกได้แต่อ้อยรสจืด แต่การปลูกข้าวได้ผลดี ดังนั้นพื้นที่เดิมที่เคยคาดหวังจะปลูกอ้อยก็เปลี่ยนมาปลูกข้าวกันแทน ซึ่งได้ราคาดีกว่า
ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏอั้งยี่ ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับกิจการน้ำตาลมากขึ้นไปอีก อัตราค่าจ้างแรงงานในไร่อ้อยถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามมาด้วย โดยที่ทางการไม่ยอมปล่อยกู้เหมือนเคยเพราะกลัวจะซ้ำรอยกบฏอั้งยี่ ชาวจีนโดยเฉพาะแต้จิ๋วที่มีทุนน้อยผละจากโรงงานน้ำตาลหันไปปลูกข้าวแทน ประกอบกับน้ำตาลสยามกำลังเจอคู่แข่งอย่างชวาและฟิลิปปินส์ที่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้สะดวกกว่าอีกด้วย
วิจารณ์แนวคิดของไฮเด
ปัจจุบันการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักของแนวคิดและวิธีการจัดการน้ำของไฮเดนั้น สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนตลอดจนส่งผลต่อการพังของระบบนิเวศของประเทศนี้เพียงใด ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้รายละเอียดกันแล้ว เพราะเห็นกันมามากแล้ว (สามารถคีย์หาอ่านได้จากวิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย ที่มีอยู่เป็นอันมากตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ) จุดสำคัญอันเป็นข้อบกพร่องของแนวคิดและวิธีการจัดการน้ำแบบไฮเดก็คือ ความเชื่อมั่นต่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบเจ้าอาณานิคมว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะสร้างความสุขสมบูรณ์ให้แก่ชาวประเทศโลกที่ยังด้อยพัฒนา
สำหรับวิศวกรยุคไฮเด วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีถูกจัดประเภทเป็นคู่ตรงข้ามของ ‘ธรรมชาติ’ และอยู่ในฐานะตัวแปรที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แทนที่จะคิดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับธรรมชาติ การสร้างเขื่อนขวางทางน้ำธรรมชาติเพื่อหวังกักเก็บน้ำเอาไว้ จึงเกิดขึ้นจากแนวคิดที่อยู่บนฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ข้อเสนอจากการศึกษาของไฮเดจึงเป็นการศึกษาที่มีธงคำตอบรอไว้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว และข้อเสนอที่เป็นคำตอบแก่ชนชั้นนำสยามเวลานั้นก็คือ ‘เขื่อน’ แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ข้อเสนอนี้ (เขื่อน) กลับก่อปัญหาผลกระทบให้แก่สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในเวลาต่อมา น้ำยังท่วมภาคกลาง การเพาะปลูกในหลายพื้นที่ก็ยังไม่ได้น้ำในพื้นที่ที่ควรได้ ไหนจะวิถีประมงพื้นบ้าน แหล่งอาหาร ทรัพยากร การคมนาคมทางน้ำ ที่ถูกทำลายไปอย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้อีก
ที่สำคัญ ข้อเสนอของไฮเดเกิดจากการศึกษาการขุดคลองในบริเวณภาคกลางที่ดำเนินมาก่อนหน้าเขาเพียงไม่กี่ปี คือการขุดคลองของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามช่วง 1 ทศวรรษก่อนเขาเข้ามา แต่ไฮเดกลับเสนอเป็นรูปแบบการจัดการสำหรับทั่วประเทศ บนพื้นฐานข้อมูลที่บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการขุดคลองในสยามว่า ไม่ได้ดำเนินการขุดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตรนั้น จัดว่าไฮเดสอบตกประวัติศาสตร์การขุดคลองเข้าอย่างจัง
การเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นศูนย์กลาง ทำให้ไฮเดไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิธีการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองที่ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการหาของป่าตามธรรมชาติมาสู่การเพาะปลูกกันมากอย่างในแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและลุ่มแม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี
กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตมาสู่การเพาะปลูกของคนในพื้นที่ ยังส่งผลโดยตรงทำให้เครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก กลายเป็นสินค้าสำคัญขึ้นมาในย่านด้วย อาทิ การเกิดความต้องการในการซื้อขายควาย ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับการค้าควายของภาคอีสานเข้ามาในย่าน แหล่งซื้อควายอยู่ที่สระบุรี นครราชสีมา และพระตะบอง
การทำเกวียนแถบระยอง ชลบุรี ที่ขยายเข้าไปยังพื้นที่ตอนในซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมากขึ้น สำหรับเป็นพาหนะในการลำเลียงสินค้า ข้าวของเครื่องใช้ และในการเดินทางติดต่อไปมาระหว่างเขตตัวเมืองใหญ่ตามริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เกิดความจำเป็นในการสร้างระบบชลประทานเพื่อผันน้ำเข้าสู่เรือกสวนไร่นา เช่น ที่ชายเขาสละบาป จันทบุรี ซึ่งมีการปลูกพริกไทยกันมากนั้น ดังที่เอกสารรายงานของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ระบุว่า บริเวณนี้ “มีการทดน้ำจากเครือข่ายสายน้ำสั้นๆ เข้าสู่พื้นที่ราบ”
ตลอดจนการขุดสระขุดคลองขึ้นเพื่อใช้ในการชลประทาน คลองแสนแสบที่เดิมขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 เพื่อใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารให้แก่กองทัพในสงครามอานาม-สยามยุทธ์ แต่เมื่อสงครามยุติไปแล้วกลับปรากฏว่า คลองนี้กลับกลายเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงขนส่งข้าวที่ปลูกกันมากในหัวเมืองตะวันออกมายังกรุงเทพฯ รวมทั้งทำให้เกิดการบุกเบิกที่ดินในย่านที่เคยรกร้างมานานตั้งแต่ทุ่งบางกะปิ หัวหมาก มีนบุรี ทุ่งไผ่ดำ ลำลูกกา บึงพระอาจารย์ ไปจนถึงบางขนาก บางน้ำเปรี้ยว บางแตน และโยทะกา เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตสินค้าจากวิธีหาของป่ามาสู่การเพาะปลูกบนที่ดิน ยังส่งผลทำให้เกิดระบบชลประทานขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 การขุดคลองในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์จากเดิมในสมัยอยุธยาถึงต้นกรุงเทพฯ การขุดคลองโดยมากเพื่อการคมนาคม เพื่อการค้ากับต่างประเทศ จึงเป็นการขุดคลองลัดเสียโดยมาก เพื่อยุทธศาสตร์การทหารป้องกันเมืองจากข้าศึก จึงมักไม่ขุดไปที่รกร้าง หากแต่นิยมขุดไปยังที่มีชุมชนผู้คนอยู่อาศัย ไม่มีแนวคิดกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงน้ำน้อยหรือขาดแคลน การขุดคลองก็เพื่อระบายน้ำไม่ให้หลากท่วมข้าวกล้าในนาเป็นเวลานานเกินไปจนข้าวเน่าเสีย
แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เริ่มมีแนวคิดให้ความสำคัญกับการขุดคลองเพื่อการเกษตรควบคู่กับการขนส่งลำเลียงสินค้าจากพื้นที่เพาะปลูกไปยังตลาดในตัวเมือง เพราะสมัยรัชกาลที่ 3 คนจีนปลูกพริก ทำสวนยกร่อง คนลาวปลูกข้าวกันมาก จึงเกิดแนวคิดชลประทานแบบใหม่ขึ้น เพราะข้าว, อ้อย, พริกไทย, สวนผักต่าง ๆ ที่นิยมทำกันในช่วงนี้ต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในพ.ศ.2386 รัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชโองการให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ อาทิ เจ้าพระยาพระคลัง, เจ้าพระยาพลเทพ, เจ้าพระยามหาโยธา, พระยาราชสุภาวดี, พระยาสุรเสนา เกณฑ์ไพร่พลไป “ทำทำนบกักน้ำไว้ทำนา” ด้วยเหตุผลที่ระบุไว้ดังนี้:
“การปิดน้ำเป็นการแผ่นดินการใหญ่สำคัญ ให้เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพลเทพ เจ้าพระยามหาโยธา พระยาราชสุภาวดี พระยาสุรเสนา ตรวจตราดูแลกำชับกำชาข้าราชการ เจ้าเมืองกรมการ ให้ตั้งใจช่วยราชการ... ปิดคลองลงทำนบดิน ยกคันคลองบรรจบที่สูง ที่ทำยังไม่แล้วก็ให้เร่งรัดทำให้แล้ว ที่แห่งใดตำบลใดจะต้องไขน้ำ ปิดน้ำ ยกคันกั้นน้ำ ก็ให้ทำทั่วกันทุกตำบล ให้ผู้ใหญ่แยกกันไปตรวจตราดูทุกหน้าที่ แลบัดนี้น้ำก็เคลื่อนลดอยู่แล้ว ถ้าการปิดน้ำช้าไป น้ำในคลองจะไหลออกเสีย ให้เร่งรีบทำให้โดยเร็ว ทำให้มั่นคง ขังน้ำในท้องนาไว้ให้จงได้ ให้มีน้ำเลี้ยงต้นข้าวอยู่กว่ารวงจะสุก”
(หสช. จ. ร.3 จ.ศ.1205 เลขที่ 61 ร่างสารตรา อ้างใน กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 22-24”, หน้า 423)
ดังที่เจมส์ ซี. อินแกรม (James C. Ingram) เสนอไว้ในงานวิทยานิพนธ์ของเขาที่ชื่อ “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970” (Economic Change in Thailand 1850-1970) ว่า ผลประโยชน์ที่ทางการจะได้จากการข้าวและโภคภัณฑ์อื่น ๆ จากการเพาะปลูกของราษฎรในช่วงนั้น เป็นแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้ทางการใส่ใจที่จะจัดระบบชลประทานกักเก็บน้ำให้ราษฎรได้ใช้ทำการเกษตร หากปล่อยให้น้ำมากเกินไปจนหลากท่วมที่นาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ต้องงดเว้นการเก็บส่วยอากรเหมือนอย่างที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือหากน้ำน้อยเกินไปจนการเพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควรก็ทำให้ทางการจัดเก็บผลประโยชน์ได้น้อยลง
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมหลากหลายชนิดมากขึ้น เนื่องจากทางการมีความต้องการเงินตราเพื่อใช้จ่ายในราชสำนัก ภาษีเหล่านี้แรกเริ่มเดิมทีได้ให้ชาวจีนรับเหมาช่วงไปจัดเก็บ ต่อมาภาษีเหล่านี้กลายเป็นรายได้ของรัฐแทนรายได้จากการผูกขาดการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ รูปแบบวิธีการจัดเก็บก็ค่อย ๆ พัฒนาจนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงตรงนี้คงไม่จำเป็นต้องบอกแล้วว่า ระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สวนทางกับความย่อหย่อนของรูปแบบวิธีการจัดการให้ผู้รับภาษีจะต้องนำเอารายได้จากการจัดเก็บมาดำเนินนโยบายสาธารณะที่เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มากอย่างแท้จริงนั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมไทยสยามมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: ภาพถ่าย Mr. J. Homan van der Heide ประกอบกับภาพฉากหลังเป็นลำคลองในสมัยปัจจุบัน
หมายเหตุ: เนื้อหานี้เผยแพร่เมื่อสิงหาคม 2565
อ้างอิง:
กรมชลประทาน. “ประวัติกรมชลประทาน” (แหล่งข้อมูลออนไลน์) กรมชลประทาน (เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562).
กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 22-24” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2563.
จอห์นสตัน, เดวิด บรูซ (David Bruce Johnston). สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473 (Rural Society and the Rice Economy in Thailand, 1880-1930). แปลโดย พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530.
ศิลปากร, กรม. สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน. แปลโดย รัตติกาล สร้อยทอง และสำเนียง ศรีเกตุ, กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2557.
สุนทรี อาสะไวย์. ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2475. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
อินแกรม, เจมส์ ซี. (James C. Ingram). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970 (Economic Change in Thailand 1850-1970). แปลโดย สุภาภรณ์ จรัลพัฒน์ ชิเกโตมิ และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.
ไฮเด, เย โฮมาน วาน เดอ. รายงานโครงการทดน้ำไขน้ำ: สำหรับเขตรที่ราบแห่งลาดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2556 (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2555).
Brummelhuis, Han Ten. King of the Waters: Homan van der Heide and the Origin of Modern Irrigation in Siam. Leiden: KITLV Press, 2005.
Cruysse, Dirk van der. Siam and the West, 1500-1700. Translated in English by Michael Smithies, Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books, 2002.
Heide, J. Homan Van Der. General Report on Irrigation and Drainage in the Lower Menam Valley (Engineer of the Waterstaat of Netherlands India, temporarily placed at the disposal of the Siamese Government, Bangkok: 24 January 1903). Bangkok, Thailand: Ministry of Agriculture Kingdom of Siam, 1903.