‘นิทานเวตาล’ การเปลี่ยนผ่านจากอินเดียยุคบริติชราช สู่อาณานิคมในสยาม ถึงบริบทคณะราษฎร

‘นิทานเวตาล’ การเปลี่ยนผ่านจากอินเดียยุคบริติชราช สู่อาณานิคมในสยาม ถึงบริบทคณะราษฎร

การปรากฏของ ‘ครูกายแก้ว’ ทำให้ชาวไทยนึกถึง ‘เวตาล’ ใน ‘นิทานเวตาล’ ซึ่งปรากฏในอินเดียยุคบริติชราช มาสู่อาณานิคมภายในสยาม และแนวร่วมมุมกลับของคณะราษฎรในโลกวรรณกรรม ดูกันว่าเรื่องนี้สะท้อนประวัติศาสตร์ ทัศนะของผู้คนแต่ละยุค แต่ละพื้นที่อย่างไรบ้าง

  • รูปปั้นและสิ่งเคารพที่ถูกเรียกว่า ครูกายแก้ว ปรากฏขึ้นในสังคมไทยและเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก นำมาสู่การพูดถึงลักษณะของ เวตาล 
  • เวตาล คือปีศาจชนิดหนึ่ง อดีตเคยเป็นมนุษย์ ปรากฏใน ‘นิทานเวตาล’ นิทานเก่าแก่ที่เชื่อกันว่ามีความเป็นมานับพันปี
  • โครงเรื่องหลักของนิทานเวตาล เป็นเรื่องราวการโต้ตอบตอบปัญหาระหว่างพระเจ้าวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชเชนี กับปีศาจที่เรียกกันว่า ‘เวตาล’ เนื้อหามีลักษณะนิทานซ้อนนิทาน พัฒนาการของนิทานเวตาล เชื่อมโยงกับบริบทของผู้คน สังคม ประวัติศาสตร์ และยุคสมัย

(1) บทนำและปัญหา

การปรากฏตัวของรูปเคารพบุคคลสีดำทะมึน มีเขี้ยวเล็บและปีก ณ กลางกรุง เมื่อไม่นานมานี้ สร้างความฉงนแก่ผู้คนเป็นที่มาของการถกเถียงว่า ประติมากรรมรูปปั้นที่มีชื่อเรียกกันว่า ‘ครูกายแก้ว’ นี้คืออะไร นอกจาก ‘การ์กอยล์’ ของโลกตะวันตก ก็คือ ‘เวตาล’ ของโลกตะวันออก เพราะลักษณะที่พ้องกัน เนื่องจากการ์กอยล์เป็นสัตว์ประหลาดเกือบจะสัมบูรณ์ ไม่เหมือนเวตาลที่มีรูปเป็นคนแต่มีปีกและเขี้ยวเล็บ 

ดังนั้น จึงเกิดแนวโน้มที่คนไทยจะมองครูกายแก้วเป็นเวตาลค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เพราะอิทธิพลความรับรู้จากวรรณกรรมยอดฮิตที่ถูกนำมาถ่ายทอดกันในชั้นเรียนประถมและมัธยมศึกษาอยู่หลายปีตลอดช่วงที่ผ่านมา เมื่อผู้เขียนโพสต์ถามมิตรสหายในเฟซบุ๊ก ครูโฆษิต แสงสิง ศิษย์ของผู้เขียน ก็กรุณาบอกด้วยความมั่นใจว่า รูปประหลาดของชาวมูเมืองกรุงล่าสุดนี้คือ ‘เวตาล’ ไม่ผิดแน่ แต่คนกลับเข้าใจเป็นอื่นไป

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ใช่จะสืบหาว่าครูกายแก้วคืออะไรแน่ แต่จะพิจารณาวรรณกรรมสำคัญที่อยู่ในความรับรู้ของคนไทยอย่าง ‘นิทานเวตาล’ โดยตระหนักว่าอุบัติการณ์แบบมู ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ (ตั้งแต่ครูกายแก้วถึงเทพสี่หูห้าตา) ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนไทยนับถืออะไรแปลก ๆ แบบนั้น ถ้าให้ยกตัวอย่างสิ่งที่มีเรื่องเล่าและรูปประติมากรรมไม่น่านับถือจนถึงน่าเกลียดน่ากลัวแต่คนไทยก็กราบไหว้นับถือก็อย่างเช่น ชูชก, พระยม, เจ้าแม่กาลี, ลูซิเฟอร์, พระโค, ตะกวด, คางคก ฯลฯ

อันที่จริงเมื่อเห็นรูปครูกายแก้วแล้วคนไปย้อนรำลึกถึงเวตาล โดยที่เวตาลก็ปรากฏในแบบเรียนไทยมาตลอด ก็เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยของการนำเอาสิ่งอันมีรูปลักษณ์ไม่ไปในทาง ‘โอ้ปป้า’ มาให้ความหมายในเชิงบวก ‘หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4’ ซึ่งมีเรื่องเวตาลเป็นเนื้อหาการเรียนการสอน จัดพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อ พ.ศ.2561 เป็นตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้ได้ดี 

หากนับย้อนหลังจากปี 2561 ไปจนถึงปี 2461 อันเป็นปีแรกที่ ‘นิทานเวตาล’ ปรากฏขึ้นในโลกบรรณภพภาษาไทย ก็จะเป็นระยะเวลา 100 ปีพอดี ตลอด 100 ปีที่ผ่านมาก็พบมีการตีพิมพ์นิทานเรื่องนี้ทั้งเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปและเป็นการพิมพ์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยมาหลายครั้งหลายคราด้วยกัน เวตาลไม่เคยหายไปจากความทรงจำรับรู้ของคนไทย

แม้จะเป็นวรรณกรรมที่แปลและเรียบเรียงขึ้นโดยเจ้านายชั้นสูงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายหลังเมื่อเกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ‘นิทานเวตาล’ ก็ยังคงได้รับความนิยมเรื่อยมา ผิดกับวรรณกรรมเรื่องอื่นที่เป็นผลิตผลของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามมักจะถูก ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน’ (Wind of change) พัดพาไปจนไม่เหลือร่องรอยความทรงจำแก่ผู้คน

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจกว่าคำถามว่าครูกายแก้วใช่เวตาลหรือไม่ ในทางกลับกัน คำถามว่าทำไมเรื่องเวตาลซึ่งก็เป็นเรื่องของตัวประหลาดไม่น่านับถือเหมือนกันนั้น กลับกลายเป็นเรื่องยอดนิยมในแบบเรียนและโลกวรรณกรรมไทย จนแม้แต่ ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน’ อย่างการอภิวัฒน์ 2475 ไม่เพียงไม่สามารถพัดให้สูญหายไปได้ กลับยิ่งทวีความแพร่หลายสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

 

(2) นิทานเวตาล-เวตาลปัญจวิงศติ & จากอินเดียไปอังกฤษแล้วย้อนมาไทย  

‘นิทานเวตาล’ หรือ ‘เวตาลปัญจวิงศติ’ หมายถึง นิทานของเวตาล 25 เรื่อง เป็นวรรณกรรมสันสกฤต ซึ่งเล่าขานโดยกวีชื่อ ‘ศิวทาส’ นักเล่านิทานของอินเดียโบราณ คล้าย ‘อีสป’ ของโลกตะวันตก เป็นนิทานซ้อนนิทาน หมายความว่าเป็นการเล่านิทานโดยให้ตัวละครในนิทานนั้นเล่าเรื่องอีกต่อหนึ่ง ที่พิเศษคือตัวละครผู้เล่าเรื่องในชั้นแรกนั้น มักเป็นอมนุษย์หรือภูตผีปีศาจหรือบางเรื่องก็เป็นเรื่องเล่าของเทพยดา     

กล่าวกันว่า ‘นิทานเวตาล’ ได้ถูกเล่าขานกันต่อมากว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว แต่ปัจจุบันยังหาต้นฉบับแรกไม่พบ พบแต่ฉบับที่เล่ากันภายหลัง อย่างไรก็ตาม ‘นิทานเวตาล’ มีเค้ารอยที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องเล่าของอินเดียโบราณก่อนพุทธศาสนาจะถือกำเนิดขึ้น ชื่อกวีผู้เรียบเรียงคือ ‘ศิวทาส’ นั้น ไม่ได้หมายถึงว่าผู้เรียบเรียงมีวรรณะเป็นทาสหรือศูทร หากแต่เป็นพราหมณ์ที่นับถือไศวนิกาย

ผิดกับนิทานอีสปที่ผู้เล่า (อีสป) นั้นเป็นทาสที่ต่อมาได้เปลี่ยนสถานภาพจากทาสเป็นอิสรชน เมื่อเรื่องเล่าของเขาเกิดเป็นที่นิยมผู้คนยกย่องมาก นายทาสกรีกจำต้องปล่อยเขาเป็นไทตามความฝันของเขา  เพื่อหลีกเลี่ยงคำตำหนิติเตียนจากประชาชนที่นิยมอีสป 

เป็นอันว่า เวตาลนั้นมีกำเนิดแรกสุดเป็นนิทานของพราหมณ์ พุทธก็สร้างนิทานของตนเองขึ้นมาเพื่อบอกเล่าและสอนคติธรรมเช่นกันคือ ‘นิทานชาดก’ ที่เล่าเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีอยู่เกือบ 500 เรื่อง/500 ชาติ เป็นต้น  

โครงเรื่องหลักของนิทานเวตาล เป็นเรื่องราวการโต้ตอบตอบปัญหาระหว่างพระเจ้าวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชเชนี กับปีศาจที่เรียกกันว่า ‘เวตาล’ ซึ่งจะนำเข้าไปสู่นิทานย่อยต่าง ๆ แทรกอยู่ในเรื่องรวม 25 เรื่อง ลักษณะดังกล่าวยังคล้ายกับ ‘นิทานอาหรับราตรี’ หรือ ‘พันหนึ่งราตรี’ ซึ่งเป็นนิทานชุดในซีกโลกอาหรับที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกชุดหนึ่ง

สำหรับนิทานเวตาลฉบับภาษาไทย พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) หรือนามปากกาว่า ‘น.ม.ส.’ (ลำดับต่อไปขออนุญาตเรียกเจ้านายพระองค์นี้ตามนามปากกานี้) ได้แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2461 แจกในงานศพหม่อมพัฒน์ รัชนี ณ กรุงเทพ แต่นิทานเวตาลฉบับ น.ม.ส. แปลและเรียบเรียงไว้เพียง 10 เรื่อง โดยแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ไม่ได้แปลจากฉบับภาษาสันสกฤต   

ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้า พ.ศ.2461 ย้อนหลังกลับไปจนถึงช่วงก่อนสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง หลังกรุงศรีอยุธยาแตกหมาด ๆ และอยู่ยังในสมัยกรุงธนบุรี ชาวกรุงธนฯ ก็ยังมีโอกาสได้รู้จักและสัมผัสกับนิทานชุดเวตาลนี้ไปบางเรื่องแล้ว เพราะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ครั้งยังเป็นหลวงสรวิชิต (หน) ผู้ชำนาญอักษรศาสตร์ได้แปลและเรียบเรียงเรื่องแรกของนิทานเวตาลมาเป็นโคลงกวีที่รู้จักกันในนาม ‘ลิลิตเพชรมงกุฏ’

ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานฟื้นฟูศิลปะวรรณคดีที่เคยรุ่งเรืองแต่ครั้งก่อนกรุงแตก นั่นหมายความว่าจะต้องมีต้นฉบับเก่าของนิทานเรื่องนี้แพร่อยู่ในสมัยอยุธยาแล้วด้วย เพียงแต่ต้นฉบับสูญหายไปจนหลวงวิชิต (หน) ต้องรับพระบรมราชโองการจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ให้แปลและเรียบเรียงเป็นโคลงกวีขึ้นใหม่ ดังนั้น หากจะนับย้อนถึงฉบับ ‘ลิลิตเพชรมงกุฎ’ นิทานชุดนี้จะมีอายุมากกว่ากรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงของเราทั้งหลายเสียอีก 

นอกจากนี้ คนวัย Gen X เมื่อตอนเป็นเด็กราว พ.ศ.2532 จะมีละครเรื่อง ‘ปริศนาของเวตาล’ นำแสดงโดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ รับบทเป็นพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ออกอากาศทุกเย็นวันเสาร์ ทางช่อง 7 เป็นละครพื้นบ้านแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ นักแสดงแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นแขกอินเดียกันแบบจัดหนักจัดเต็ม พร้อมเอฟเฟกต์ฉากป่าช้าผีหลอกชวนขนพองสยองเกล้า แต่ก็ชอบดูกัน ชนิดติดกันงอมแงม แถมยังมีฉบับการ์ตูน เข้าใจว่าเพิ่งมีทำเมื่อไม่กี่ปีมานี้ 

สิ่งที่ทำความประหลาดใจให้แก่ผู้เขียนจึงไม่ใช่ประเด็นครูกายแก้วเป็นเวตาลหรือไม่ หากแต่เรื่องของเวตาลเองกลับมีประเด็นน่าสนใจในความย้อนแย้งยิ่งกว่ามาก เพราะหากจะหาวรรณคดีเรื่องใดที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุดแล้ว คงต้องยกให้เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่ง แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้จดจำเนื้อเรื่องทั้งหมดได้ แต่ตัวประหลาดอมนุษย์มีเขี้ยวเล็บและปีกคล้ายค้างคาวแล้วล่ะก็ ภาพจำที่คนไทยมักจะนึกถึงจึงหลีกไม่พ้น เจ้าเวตาลนี้นั่นแหละ...   

อนึ่ง การศึกษาแกะรอยการแปลงวรรณกรรมต่างประเทศมาสู่โลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย ตลอดจนอิทธิพลบทบาทต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของไทย ไม่ใช่ประเด็นใหม่ มีผู้ศึกษาไว้พอสมควรมาบ้าง  อย่างเช่นงานของกรรณิการ์ สาตรปรุง ที่ศึกษาการดัดแปลงวรรณกรรมจีนเรื่อง ‘ไซฮั่น’ ‘สามก๊ก’ และ วรรณกรรมมอญเรื่อง ‘ราชาธิราช’  ผู้เขียนเองก็เคยศึกษาการชำระพระมหาชนกชาดกที่เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทยก่อนหน้าที่จะเกิดฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9  เพียงแต่งานทั้งสองนี้ ชิ้นแรกเป็นงานศึกษาวรรณกรรมช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และชิ้นหลังเป็นงานศึกษาช่วงก่อนทศวรรษ 2520     

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (ไฟล์ public domain)

(3) ลักษณะของเวตาล  

ตามเนื้อเรื่องระบุว่า “เมื่อเข้าไปถึงโคนต้นไม้พระราชาก็หยุดพิศดูศพซึ่งแขวนอยู่บนกิ่งอโศก ศพนั้นลืมตาโพลง ลูกตาสีเขียวเรือง ๆ ผมสีน้ำตาล หน้าสีน้ำตาล ตัวผอมเห็นโครงเป็นซี่ๆ ห้อยเอาหัวลงมาทำนองค้างคาว แต่เป็นค้างคาวตัวใหญ่ที่สุด เมื่อจับถูกตัวก็เย็นชืดเหนียวๆ เหมือนงูปรากฏหนึ่งว่าไม่มีชีวิต แต่หางซึ่งเหมือนหางแพะนั้นกระดิกได้ พระวิกรมาทิตย์ทอดพระเนตรเห็นเช่นนี้ ก็ทรงคิดในพระราชหฤทัยว่า ตัวที่ห้อยอยู่นั้นคือเวตาล”  

ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 น.ม.ส. ได้อธิบายไว้ตามที่ค้นคว้ามาเพิ่มเติมระบุว่า “คำธิบายลักษณะเวตาลได้ยินว่าในศิวะปุราณะ แต่ในเวลาที่เขียนนี้หาฉบับไม่ได้ในกรุงเทพฯ ส่วนในภาษาอังกฤษมีในสมุดตำราเทวรูปของโคปีนาถเรา แต่เมื่ออ่านดูก็ไม่ได้ความแจ่มแจ้ง เมื่อเป็นดังนี้จึ่งต้องค้นในที่ต่างๆ ได้ความที่โน่นบ้างที่นี่บ้างมาผสมกัน เบอร์ตันกล่าวไว้ว่ารูปเวตาลคล้ายค้างคาว มีหางท่อนสั้นเหมือนหางแพะ เขียนรูปเป็นค้างคาวตัวใหญ่เกาะห้อยหัวลืมตา สีตาเป็นสีน้ำตาลเจือเขียว ขนสีน้ำตาล หน้าสีน้ำตาล ตัวผอมเห็นโครง เมื่อจับเข้าก็เย็นชืดแลเหนียวคล้านๆ งู ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายว่ามีชีวิต นอกจากหางที่กระดิกฟาดไปมา

มอเนียร์วิลเลียมส์แลวามศิวรามอัปตะ กล่าวในดิกชันนารีเพียงว่า เวตาลเป็นผีชนิดหนึ่งซึ่งสิงศพ ไม่ชี้แจงอะไรอีก

กถาสลิตสาคร (ตรังค์ 12) กล่าวว่าเวตาลมีกลิ่นเหมือนเนื้อโสโครก บินไปบินมาดำเหมือนกลางคืน ความดำแข่งคู่กันกับควันอันเป็นกลุ่มขึ้นจากไฟเผาศพ

หนังสืออื่นๆ ที่กล่าวลักษระเวตาล ได้พบอีกสองสามแห่ง พูดคล้ายๆ กันไม่มีอะไรแปลกออกไป พึ่งมาได้คำอธิบายพิสดารของพราหมณ์ศรีมเหศวรภัฏฏ เมื่อพิมพ์สมุดนี้เกือบจะไม่แล้วดังนี้

เวตาลอยู่ในจำพวกมรุตคณะ เป็นบุตรนางอทิติ เป็นผู้ตามพระรุทระเป็นเจ้าแลนางภัทรา มีปกติเป็นผู้ท่องเที่ยวอยู่ตามหนอง ตามพุ่มไม้ ตามป่ารกแลป่าที่มืดอับ บางทีไปกับลมพายุแลฟ้ามัว เวลาเที่ยวมักจะเป็นเวลากลางคืนสงัด (ถ้าอธิบายตามความรู้สมัยนี้ เวตาลก็คือผีกระสือ คือแกซในหนองขึ้นมากระทบออกซิเย็นในอากาศก็ทำให้เกิดแสงเป็นดวง)

ขนาดของเวตาลสูงประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต กว้างฟุตครึ่งหนาตั้งแต่อกถึงหลังครึ่งฟุตถึง 1 ฟุต ผมบนหัวยาวแลดก ขนที่ตัวยาวแลยืนเหยียด หัวกลม หน้ารูปไข่ ตากลมแลถลน จมูกยาวเป็นขอเหมือนปากเหยี่ยว ปากอ้า แก้มตอบ คางแลขากรรไกรกว้าง ฟันเป็นซ่อม แขนแลมือสั้น ขาสั้น ท้องพลุ้ย เล็บคม ปีกมีแรงมาก

(รูปที่ปกสมุดเล่มนี้ เขียนตามทำนองที่อธิบายนี้ แต่ในรูปเวตาลนั่งแท่น ชะรอยจะเป็นรูปเวตาล เมื่อได้เข้ารับราชการอยู่กับพระวิกรมาทิตย์แล้ว)

เมื่อเวลาเวตาลบินหาอาหารในเวลากลางคืน มันบินอ้าปากเป็นไฟ ทำให้สัตว์ตกใจเผ่นขึ้นจากที่ซ่อน มันก็โฉบกิน

เวตาลเป็นข้าพระรุทระเป็นเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อใครท่องมนต์สรรเสริญพระรุทระ มันก็ไม่ทำร้าย เช่นนางจันทรมตีแบกศพโรหิตากษะผู้เป็นโอรสไปเผาในเวลาเที่ยงคืน มันก็ไม่ทำร้าย แลนางทมยันตีเที่ยวตามพระนลกลางป่าองค์เดียว มันก็ไม่ทำไมเหมือนกัน

ส่วนพระวิกรมาทิตย์นั้นทรงโยคะเรียกว่าไวตาลียโยคะ ได้เวตาลมาเป็นมนตรีใช้ชิด เป็นเครื่องเพิ่มพูนอำนาจไปในนานาประเทศชั่วกาลนาน”

เป็นอันสรุปได้ว่า เป็นปีศาจรูปร่างกึ่งมนุษย์กึ่งค้างคาวนั่นแลขอรับ ผู้ใดใคร่กราบ กราบ (เอาที่ท่านสบายใจ) และหรือท่านใดจะเอาไปเปรียบเทียบกับรูปครูกายแก้วดูว่าใช่ ไม่ใช่ ยังไง ก็แล้วแต่ ตามสบายนะขอรับ...       

 

(4) พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ‘เดอะแบก’ ของนิทานเวตาล (และอินเดียโบราณ)    

เรื่องราวโดยย่อของ ‘นิทานเวตาล’ นั้นมีอยู่ว่า พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ครองกรุงอุชเชนีได้มีข้อตกลงกับโยคีนาม ‘ศานติศีล’ ให้ไปนำเอาปีศาจเวตาลที่ต้นอโศกในป่าช้าทางทิศใต้ของเมือง มาให้ตนเพื่อทำพิธีสำคัญที่จะทำให้ตนได้อำนาจฤทธาวิเศษเป็นใหญ่ในโลกแห่งภูตผีวิญญาณ พระเจ้าวิกรมาทิตย์เป็นผู้มีความกล้าหาญไม่หวั่นเกรงพยันตรายใด ๆ ได้เดินฝ่าซากศพและภูตผีวิญญาณจนไปถึงต้นอโศก พบเวตาลห้อยหัวอยู่บนต้นอโศกนั้นจึงปีนขึ้นไปเอาเวตาลใส่ย่าม แล้วเดินจะไปยังริมแม่น้ำโคทาวารี ซึ่งมีโยคีศานติศีลทำพิธีอยู่ แต่ในระหว่างเดินไปนั้น เวตาลได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะเล่านิทานให้พระเจ้าวิกรมาทิตย์ฟัง แล้วจะถามคำถาม ถ้าพระเจ้าวิกรมาทิตย์นิ่งเฉยไม่ตอบคำถาม ก็จะสามารถนำเวตาลไปถึงแม่น้ำโคทาวารีได้ แต่หากตอบคำถาม เวตาลจะลอยกลับไปยังต้นอโศก

เรื่องราวที่เวตาลเล่าเต็มไปด้วยการยั่วยุให้พระเจ้าวิกรมาทิตย์แสดงพระสติปัญญาความรอบรู้และจิตใจเที่ยงธรรม ทำให้เวตาลเองรู้สึกประทับใจขึ้นเรื่อย ๆ ต่อคำตอบของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ จนบอกความลับว่าโยคีที่พระองค์มี ‘ดีลลับ’ กันอยู่นั้นกำลังคิดปองร้ายจะปลงพระชนม์พระองค์เป็นเครื่องบูชายัญแก่เจ้าแม่ทุรคา และเวตาลได้บอกวิธีจัดการกับโยคี เมื่อพระเจ้าวิกรมาทิตย์นำเวตาลไปให้แก่โยคีแล้ว ก็ได้ปฏิบัติตามที่เวตาลบอกเอาไว้ จึงเอาชนะโยคีได้สำเร็จ   

ถึงแม้ว่าชื่อเรื่องจะชื่อ ‘นิทาน (ของ) เวตาล’ แต่ตัวเอกของเรื่องจะเห็นว่าไม่ใช่เวตาล หากคือพระเจ้าวิกรมาทิตย์ เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหายกย่องวีรกษัตริย์ของอินเดียโบราณ ในด้านความเพียร ความกล้าหาญ อดทน มีขันติธรรม และจิตใจเป็นธรรม วินิจฉัยตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ อย่างยุติธรรม อันเป็นคุณสมบัติโดดเด่นที่พระมหากษัตริย์พึงมีในทัศนะของพราหมณ์     

ตัวอย่างของจิตใจเป็นธรรมก็อย่างเช่นที่ทรงวินิจฉัยเรื่องของท้าวทันตวัตว่า “เป็นเจ้าครองแผ่นดินชนมายุไม่น้อย ควรจะรอบรู้การงานทั้งปวง ไม่ควรจะหลงเชื่ออุบายตื้น ๆ ยังมิทันได้ตรึกตรองให้ละเอียดก็ให้นำพระราชธิดาไปปล่อยกลางป่าเช่นนี้ ควรติเตียนเป็นอันมาก” คำตอบของพระองค์เป็นที่ชอบใจแก่เวตาล นอกจากจะได้ลอยกลับสู่ต้นอโศกแล้ว เวตาลยังเกิดความปีติที่ได้ฟังกษัตริย์ติเตียนกษัตริย์ด้วยกัน “เวตาลได้ยินรับสั่งก็หัวเราะด้วยเสียงอันดัง กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าจะกลับไปที่ต้นอโศกเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยได้ยินพระราชาติเตียนพระราชาง่ายดายถึงเพียงนี้’ ”  

ทั้งนี้ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ก็ยังแสดงพระองค์เป็นตัวแทนของกษัตริย์ทั้งปวง เมื่อเวตาลแสดงปัญญาเล่าเรื่องความผิดพลาดบกพร่องของกษัตริย์ในฐานะผู้นำแคว้นในอินเดีย พระเจ้าวิกรมาทิตย์ก็ทรง “ขุ่นพระหฤทัยในข้อที่เวตาลกล่าวดูหมิ่นปัญญาพระราชาทั้งปวง”  

เดิมเวตาลมีความมุ่งหมายจะให้พระเจ้าวิกรมาทิตย์ต้องปีนต้นอโศกและเดินไปมาอยู่เช่นนั้นจนสิ้นพระชนม์ แต่แล้วเวตาลก็เกิดความเบื่อหน่าย ประกอบกับประทับใจในคำตอบของพระเจ้าวิกรมาทิตย์  กษัตริย์ผู้ซึ่งตนไม่เคยได้พบได้เข้าเฝ้าเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ดังที่เวตาลกล่าวว่า “เพราะเหตุว่าข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาหลายเที่ยวแล้ว แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่อยากทูลถามสักที ถ้าทรงตอบได้พระปัญญาก็มากยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีในพระราชาทุกพระองค์ใด”

ทั้งนี้เวตาลได้เตือนว่า “คำสรรเสริญนั้นเป็นไปในทางที่ชมว่าทรงรู้สึกความโง่แลลดหย่อนราชมานะอันเป็นคุณความดีซึ่งถ้ามีในตัวใครผู้นั้นย่อมมีความสุขในโลก” และ “ข้าพเจ้ามีประสงค์จะฝึกฝนความเพียรของพระองค์ให้ทวียิ่งๆ ขึ้น จึงจะเล่านิทานเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่งเป็นเครื่องบำรุงพระเศียรดื้อแลพระปัญญา”

จากความทรงจำฉบับละครเรื่อง ‘ปริศนาของเวตาล’ ออกอากาศทางช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2532 จะเพิ่มเติมประเด็นบทรำพึงรำพันในกระแสสำนึกของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ โดยนำเสนอว่าเพราะเหตุว่าทรงเป็นกษัตริย์ไม่มีเพื่อน ไม่มีผู้ใดกล้าเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ ตามความเป็นจริง  มีแต่สรรเสริญเยินยอพระองค์ ไม่มีผู้ใดกล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือโต้แย้งความเห็นของพระองค์ พระเจ้าวิกรมาทิตย์จึงสนุกไปกับเรื่องเล่า คำถาม และการสนทนาถกเถียงกับเวตาล 

 

(5) ‘แวมไพร์ฮินดู’ & ริชาร์ด เอฟ. เบอร์ตัน (Richard F. Burton) กับการสร้างความรู้แบบบริติชราช (British Raj) (อาณานิคมอังกฤษที่อินเดีย)

ดังที่กล่าวแล้วว่า นิทานเวตาลฉบับที่รู้จักกันดีอย่างฉบับ น.ม.ส. นั้นแปลและเรียบเรียงมาจากฉบับภาษาอังกฤษของเซอร์ริชาร์ด เอฟ เบอร์ตัน (Sir. Richard Francis Burton) นายทหารชาวอังกฤษของอินเดียยุคบริติชราช (British Raj) (คืออินเดียยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) มีจำนวน 9 เรื่อง และแปลจากสำนวนแปลของ ซี.เอช. ทอว์นีย์ (C. H. Tawney) อีก 1 เรื่อง ทำให้ฉบับภาษาไทยของ น.ม.ส. มีนิทานเวตาลทั้งหมด 10 เรื่อง  

น.ม.ส. ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ.2461) ได้กล่าวถึงมูลเหตุที่เลือกฉบับเบอร์ตันไว้ว่า “ถ้าใครอ่านนิทานเวตาลในภาษาอังกฤษ อ่านฉบับของเบอร์ตันสนุกกว่าฉบับอื่น ถ้าจะเปรียบกับเครื่องเพชรพลอยที่ทำเป็นวัตถุสำหรับประดับกาย ก็เหมือนกับพลอยแขกอย่างดี ซึ่งช่างฝรั่งเอาไปฝังไว้ในเรือนทองคำอันมีรูปแลลายงดงามถูกตาผู้ดูที่มิใช่แขก ถึงผู้อ่านไม่ใช่ฝรั่งก็เห็นดีอย่างฝรั่งได้ เพราะอ่านภาษาอังกฤษ ส่วนในฉบับภาษาไทยนี้ ได้ใช้ฉบับเบอร์ตันเป็นหลักในการเรียบเรียง ถ้าจะเอาเทียบกับฉบับที่แปลตรงมาจากสันสกฤตหรือหินที จะเห็นผิดกันมาก เพราะในฉบับภาษาอังกฤษมีสำนวนความคิดแลโวหารของเบอร์ตันปะปนอยู่ก็มากชั้นหนึ่งแล้ว ซ้ำในภาษาไทยมี น.ม.ส. ปนลงไปอีกชั้นหนึ่งเล่า อนึ่ง เรื่องในฉบับไทยนี้ บางเรื่องไม่มีในฉบับเบอร์ตัน บางเรื่องในฉบับของเบอร์ตันไม่ได้เอามาลงในหนังสือนี้”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาฟังก์ชั่นการใช้งานจะพบว่า ฉบับเบอร์ตันเหมาะสมกว่าฉบับอื่น ๆ แม้แต่ฉบับดั้งเดิมในภาษาสันสกฤตซึ่งสมัยน.ม.ส. อาจจะยังพอหาต้นฉบับได้ หากแต่ฉบับภาษาสันสกฤตนั้นมีฟังก์ชั่นทางศาสนา จึงอาจไม่เหมาะสำหรับการเป็นวรรณกรรมทางโลกย์ตามที่น.ม.ส. มุ่งหวังนำเอามาใช้งาน 

นิทานเวตาลฉบับเบอร์ตันเป็นฉบับที่มีการดัดแปลงเข้ากับรสนิยมและฟังก์ชั่นการใช้งานในโลกตะวันตกยุคที่อังกฤษยังปกครองอินเดีย การเลือกแปลเฉพาะบางส่วนไม่แปลทั้งหมดและที่แปลมานั้นก็ยังมีการเรียบเรียงให้เข้ากับรสนิยมคนในโลกอาณานิคมไปอีก พูดง่าย ๆ คือฉบับเบอร์ตันเป็นฉบับอาณานิคม  ตัวอย่างการปรับเนื้อหาให้เข้ากับรสนิยมของคนยุคอาณานิคมก็เช่น การเพิ่มตัวละครและสตอรีในโลกตะวันตกแทรกเข้ามาในเนื้อเรื่องของวรรณกรรมตะวันออก (ในที่นี้คือเรื่องนิทานเวตาล)

ตัวอย่างของตัวละครและสตอรีที่ว่านี้ก็เช่น การล่าแม่มด, หมอผี, ผีดูดเลือด (แวมไพร์), สตรีที่ผมเหมือนงู (ตรงกับลักษณะของเมดูซ่า), การลงโทษผู้ต้องหาโจรผู้ร้ายด้วยวิธีจับตอกตะปูแล้วขึงประจาน ซึ่งชวนให้นึกถึงวิธีเดียวกันนี้ที่โรมันทำกับพระเยซูคริสต์ เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างคำอธิบายที่เทียบเคียงให้เวตาลซึ่งเดิมเป็นปีศาจอินเดียให้กลายเป็น ‘แวมไพร์’ ของตะวันตก จากเดิมที่เป็นปีศาจกึ่งมนุษย์กึ่งค้างคาว ในส่วนที่กึ่งค้างคาวก็ง่ายที่จะอธิบายว่าเป็น ‘แวมไพร์ฮินดู’ (Vampire of Hindu) แต่ที่จริงโลกปกรณัมฮินดูโบราณไม่มีผีดูดเลือดคน ภายใต้การสร้างชุดคำอธิบายต่อเวตาลในฐานะ ‘แวมไพร์ฮินดู’ จึงเป็นการสร้าง ‘แวมไพร์ตะวันตก’ (Western Vampire) ขึ้นในวรรณกรรมของชาวอินเดียที่ถูกยึดครอง

เมื่ออินเดียมีตัวละครของตะวันตกอยู่ในโลกวรรณกรรมความเชื่อด้วยเสร็จสรรพ นั่นก็หมายถึงความชอบธรรมที่ชาวอังกฤษจะเป็นใหญ่เหนือชาวอินเดียพื้นถิ่น ผิดกับฉบับดั้งเดิมที่เป็นวรรณกรรมศาสนา พระเจ้าวิกรมาทิตย์ตัวเอกที่เอาชนะเล่ห์เพทุบายของเวตาลได้นั้น มีเรื่องว่าชาวอินเดียเชื่อว่าคือพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 แห่งราชวงศ์คุปตะ (ครองราชย์ราว พ.ศ. 919-960) ยิ่งมีการค้นพบว่า กษัตริย์พระองค์นี้มีพระนามตามจารึกว่า ‘จันทรคุปตวิกรอาทิตยวงศ์’ ยิ่งทำให้คนอินเดียพากันเชื่อว่า พระเจ้าวิกรมาทิตย์ (ในนิทาน) กับพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (ในประวัติศาสตร์) เป็นบุคคลคนเดียวกัน 

การแปลงบุคคลในประวัติศาสตร์มานำเสนออยู่ในรูปของตัวละครวรรณกรรมมุขปาฐะ มีตัวอย่างประกอบเพื่อความเข้าใจมากมายหลายกรณี พวกชนอุษาคเนย์นี้แหล่ะที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน แต่ถึงแม้จะนำเอาบุคคลจริงมาเป็นวรรณกรรมก็ไม่ใช่ว่าจะคงเรื่องแบบเรื่องจริงไปเสียทั้งหมด เอามาเฉพาะบางส่วนหรือตัดต่อไปตามคติที่อยากบอกเล่าแก่ชาวโลก 

ขุนแผนแสนสะท้านอาจจะเคยมีตัวตนและก่อขบถคล้ายที่ปรากฏใน ‘ขุนช้างขุนแผน’ แต่ขุนแผนในวรรณกรรมก็เป็นตัวละครวรรณกรรมไปแล้วอย่างสัมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงความเป็นคนในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกัน ‘พระเจ้าอู่ทอง’ หรือ ‘ท้าวอู่ทอง’ ที่มีเรื่องตำนานและวรรณกรรมท้องถิ่นทั่วภาคกลางก็ไม่ใช่บุคคลเดียวกับ ‘สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1’ กษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ‘พระเจ้าสังขจักร’ ก็ไม่ใช่ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 7’ แบบเป๊ะ ๆ แต่มีโครงเรื่องบางส่วนที่ยังคงต้องยึดโยงกันอยู่ เช่น ขุนแผนในละครก็ยังคงเป็นขบถไพร่ พระเจ้าอู่ทองก็ยังต้องเป็นผู้หนีมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าสังขจักรที่ประหารเหล่านาคก็ยังคงคล้ายพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปราบพวกพราหมณ์ที่เป็นอริกับพระองค์ 

ถึงแม้พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 ในประวัติศาสตร์จะไม่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับปีศาจในป่าช้าใด ๆ แต่เนื่องจากเวตาลนั้นเป็นปีศาจที่เพิ่งเกิดมีหลังจากการแพร่วัฒนธรรมความเชื่อของชาวชาติตะวันตกเข้ามาในอินเดียตามรอยเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช  และพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 นั้นโปรไฟล์ในประวัติศาสตร์ของพระองค์ก็คือกษัตริย์ผู้เป็นผู้นำการฟื้นฟูวัฒนธรรมอินเดียก่อนการรุกรานของตะวันตก พูดง่าย ๆ ก็คือพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 ทรงเป็นอย่างที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นในประวัติศาสตร์อยุธยา คือการเอาชนะศัตรูและกอบกู้บ้านเมืองหลังจากถูกยึดครอง 

ในบริบทนี้ เวตาลที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ (หรือพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2) เอาชนะมาได้อย่างฉิวเฉียดแบบถึงขั้นเกือบจะทรงพระตุยเย่ไปนั้น ก็ถูกชาวอินเดียโบราณนาม ‘ศิวทาส’ ประพันธ์สร้างขึ้นเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของชาวชาติตะวันตกนั่นเอง 

แง่นี้จึงไม่แปลกอันใด ที่นักล่าอาณานิคมตะวันตกท่านหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอินเดียอย่างเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน จะรู้สึกอดรนทนไม่ไหว ต้องจัดเรื่องนี้ขึ้นใหม่ เปลี่ยนให้เวตาลมีภาพลักษณ์ที่ดูดีมีชาติตระกูลขึ้นมา โดยมีอดีตชาติเป็นบุตรพ่อค้าน้ำมัน แต่ถูกโยคี (พวกที่ภายนอกทำเป็นเคร่งศาสนาแต่ในใจปรารถนาการฆ่าฟันและหลงใหลอำนาจลาภยศ แต่คนอินเดียพื้นเมืองกลับให้ความเคารพนับถือนั้น) เป็นคนสร้างเวตาลขึ้นมาให้เป็นปีศาจ 

พูดง่าย ๆ ก็คือแทนที่เวตาลจะเป็นปีศาจชั่วร้ายแบบสัมบูรณ์เหมือนอย่างในเวอร์ชั่นดั้งเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นชั่วร้ายเพราะถูกพวกผู้ทรงศีลที่พวกเอ็งนับถือกันนั่นแหละทำให้เป็น เหมือนเวลาที่เราพูดถึงใครบางคนก็จะมีบอกว่า “จริง ๆ แล้วท่านเป็นคนดี แต่ถูกทำให้ร้ายไปงั้น ๆ แหละ”               

 

(6) ‘ตัวเป็นไทยใจเป็นทาส’ & น.ม.ส. (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) กับการทำให้เป็นอาณานิคมสยาม (Siamese colonize) 

ผู้แปลฉบับภาษาไทย (น.ม.ส.) มีภูมิหลังเป็นถึงเจ้านายสายวังหน้า เป็นพระราชโอรสในพระองค์เจ้าบวรวิไชยชาญ น.ม.ส.จึงมีศักดิ์เป็นหลานสายตรงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่น.ม.ส. เป็นเจ้านายที่เจริญพระชันษาในยุคที่พระองค์เจ้าบวรวิไชยชาญสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และตำแหน่งกษัตริย์วังหน้าก็ถูกยกเลิกไปแล้วด้วย 

ความรู้ในชั้นแรกของ น.ม.ส.ได้มาจากการถ่ายทอดของสตรีฝ่ายในวังหน้าตามธรรมเนียม ก่อนจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ร่วมกับเจ้านายชายคนอื่น ๆ ต่อมาเมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมแล้ว ก็ได้ถูกส่งไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเครมบริดจ์ โดยเข้าเรียนในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์

แต่ความสนใจจริง ๆ ของน.ม.ส. นั้น เป็นเรื่องวรรณคดีและอักษรศาสตร์ เช่นเดียวกับเจ้านายคนอื่น ๆ ที่ถูกส่งไปเรียนต่อต่างประเทศในรุ่นเดียวกัน ที่ต้องเข้าเรียนในสาขาวิชาตามที่รัฐบาลสยามกำหนด  เพื่อได้กลับมาปฏิบัติงานตามตำแหน่งการงานที่วางบทบาทหน้าที่เอาไว้ ถึงจะเป็นเจ้านายแต่ก็ใช่ว่าจะเลือกเรียนได้ตามอัธยาศัย ยิ่งเป็นเจ้านายเชื้อสายอริเก่าของรัชกาลที่ 5 อย่างพระองค์เจ้าบวรวิไชยชาญด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีสิทธิเลือก 

น.ม.ส.เรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เพียงปีครึ่ง ยังไม่ทันได้เรียนจบ ก็ต้องบินกลับประเทศมารับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีพระคลัง อย่างไรก็ตาม ความใฝ่พระทัยในงานอักษรศาสตร์และวรรณคดีนั้น ทำให้น.ม.ส. เป็นปัญญาชนสยามผู้หนึ่งที่บุกเบิกอักษรศาสตร์ จากการศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นนักเขียนและนักแปลคนสำคัญผู้หนึ่งของยุคปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงหลัง 2475 (สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2488)

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จากคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2461 น.ม.ส.มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ก่อนหน้าจะมีฉบับแปลของพระองค์ในภาษาไทยนี้ ฉบับแปลของเบอร์ตัน ก็เป็นอีกฉบับหนึ่ง และก่อนเบอร์ตันก็มีฉบับสันสกฤตเดิมอยู่ก่อนอีกต่อหนึ่งด้วย แต่ละฉบับล้วนมีอะไรเป็นของตัวเอง เบอร์ตันปรับให้เข้ากับรสนิยมชาวตะวันตก และในฉบับภาษาไทย น.ม.ส.ก็ปรับเข้ากับสยามอีกต่อหนึ่งด้วยเหมือนกัน จนกล่าวได้ว่า ไม่ใช่การ ‘แปล’ แบบเคร่งครัดตามตัวบท หากแต่เป็นการ ‘แปลง’ ทางวัฒนธรรม 

‘นิทานเวตาล’ ถึงแม้จะมีต้นทางมาจากอินเดียและอังกฤษ ก็ถูกทำให้กลายมาเป็นวรรณกรรมไทยในเวลาต่อมา สิ่งที่ไม่มีในฉบับสันสกฤตและฉบับเบอร์ตัน ที่เห็นได้ชัดนั้นก็มีตั้งแต่การแต่งโคลงกลอนสำนวนไทยแทรกเข้าไปในเนื้อเรื่อง จนถึงโลกทัศน์ความคิดที่อธิบายเบื้องหลังพฤติกรรมของตัวละคร ก็เป็นโลกทัศน์ไทยและยกย่องความเป็นไทย อธิบายนัยตรงข้ามว่าหมายถึงอิสระไม่เป็นทาส แต่น.ม.ส.ก็เลี่ยงที่จะอธิบายถึงทาสที่เป็นชนชั้นแรงงาน พระองค์อธิบายหมายถึง ‘ทาสเทวี’ ที่ถูกล่ามไว้ด้วยสายโซ่ที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ไม่เหมือนทาสที่เป็นชนชั้นแรงงานที่ถูกผูกมัดด้วยระบบการเกณฑ์แรงงานหรือแม้แต่ระบบค่าจ้างเงินเดือน   

ความเป็นทาสเทวีในหมู่ตัวละครที่เป็นชายแท้ ถูกให้ความหมายในทางลบ ร้ายยิ่งกว่าการเป็นทาสชนชั้นแรงงานเสียอีก ดังที่มีความตอนหนึ่งซึ่ง น.ม.ส. เพิ่มเติมไปกว่าฉบับอื่น ๆ เช่นที่ให้เวตาลกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ความรักเป็นของมีอำนาจยิ่งยวด แม้บุรุษผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจก็ไม่พ้นความข่มขี่แห่งความรักไปได้ ชายบางคนมียศมีเกียรติมีทรัพย์มีคุณความดีทุกประการ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นไทยแก่ตน จะประพฤติอย่างไรประพฤติได้ไม่ผิดคลองธรรม จะทำอะไรทำได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย ชายเช่นนี้จะเลือกมิตรเลือกสหายก็เลือกได้ตามใจชอบ หรือเมื่อเลือกไม่ได้ดั่งนึก ก็คงจะเป็นด้วยฝ่ายโน้นปราศจากลักษณะที่จะเป็นเพื่อนสนิทกันได้  ไม่มีอันใดเป็นเครื่องเสื่อมเสียแก่ความเป็นไทยแห่งตน ชายที่อิสระเช่นนี้เมื่อความรักเข้ามาครอบงำก็กลับกลายหมด ความเป็นไทยแก่ตนก็เสื่อมถอย เพราะหัวใจไปถูกมัดตรึงตราเสียแล้ว แม้คนที่ไม่กลัวเทวดา แลไม่เกรงเดชพระอินทร์ เพราะไม่ได้ทำอะไรที่พระสวรรคบดีจะตำหนิโทษได้ก็กลับมากลัวสตรีตัวนิดเดียวซึ่งเป็นที่รักของตน ไม่ใช่เพราะหญิงมีอำนาจวาสนายิ่งกว่าเทวดาแลพระอินทร์ เป็นเพราะตกเป็นทาสแห่งความรัก หัวใจถูกโซ่ล่ามไว้แน่นหนา ตัวเป็นไทยใจเป็นทาสเสียแล้ว”

ชายแท้ผู้ตกอยู่ในอาการแบบ ‘คนคลั่งรัก’ ที่น.ม.ส. นำเสนอไว้นี่เอง เป็นตำนานที่มาของวาทกรรม ‘ตัวเป็นไทย (แต่) ใจเป็นทาส’ สำหรับน.ม.ส. ทาสชนิดนี้เป็นทาสที่ตกอยู่ความลำบากยากเข็ญเสียยิ่งกว่าทาสที่เป็นชนชั้นแรงงาน และโดยตัวมันเองก็เป็นการนำเอาเรื่องทาสมาล้อเลียนเสียดสี ทำนองว่าถึงจะเป็นไทยก็ใช่ว่าจะได้เป็นอิสรเสรีที่แท้จริงไม่ 

การยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงานไพร่-ทาส ในประวัติศาสตร์สยามถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย แต่ในความพยายามสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ให้ทันสมัยโดยมีเป้าหมายจะให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศนั้นก็เป็นเหตุให้มีการนำเอาระบบแบบเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกใช้ในการปกครองชนพื้นเมืองในประเทศที่ถูกยึดครองมาปรับใช้ภายในการปกครองของตนเอง เพราะ ‘นานาอารยประเทศ’ ที่ว่านี้ก็คือชาติตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคมอยู่ในอินเดียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานั้นนั่นเอง

การปฏิรูปทางการเมืองการปกครองเพื่อความทันสมัยในยุคนั้นที่ขยายมาสู่โลกวรรณกรรมจึงเท่ากับการสถาปนาความชอบธรรมให้แก่การปกครองแบบอาณานิคมของสยามต่อชนผู้ใต้ปกครองเองด้วย 

แม้ว่าภายหลังจะมีการอภิวัฒน์ 2475 แต่เมื่อรัฐชาติที่สถาปนาภายหลังนี้ยังคงใช้โครงสร้างอำนาจและระบบความสัมพันธ์ภายในที่จัดวางไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้ง ‘อาณานิคมสยาม’ ขึ้นมา วรรณกรรมยุคนั้นก็ให้แบบแผนความสัมพันธ์แก่รัฐชาติสืบต่อมาได้เช่นเดียวกับที่เคยให้สิ่งเดียวกันนี้ภายใต้ยุคอาณานิคมแบบเก่าก่อนหน้านั้น      

 

(7) From ‘Absolutism state’ to ‘Constitution king’ & นิทานเวตาลในฐานะแนวร่วมมุมกลับของคณะราษฎร  

พระเจ้าวิกรมาทิตย์ยังไงก็เป็นตัวแทนของกษัตริย์ในโลกวรรณกรรม ขณะที่เวตาลนั้นดูจะเป็นขุนนางที่มีชาติกำเนิดเดิม (เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์) เป็นบุตรของพ่อค้าน้ำมัน (เข้าใจว่าเป็นน้ำมันสำหรับทำอาหารผัด ๆ ทอด ๆ ไม่ใช่น้ำมันแบบที่ปตท.ไปขุดมาขายให้เติมรถวิ่ง) ข้อน่าสังเกตก็คือ ในเรื่องมีการบอกถึงบทบาทหน้าที่ปกติของเวตาลไว้ด้วยว่า “เวตาลนั้นได้รับความนับถือว่าเป็นภูติที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูแลประชาชนในท้องถิ่น” และรูปวาดปกก็วาดในท่วงท่าเวตาลนั่งอยู่บนแท่นบัลลังก์แบบขุนนางคนสำคัญในท้องพระโรง เข้าใจว่าอ้างอิงตอนสุดท้ายภายหลังจากจัดการกับโยคีตัวร้ายไปแล้วทรงรับสั่งกับเวตาลว่า “เมื่อข้าเรียก เจ้าจงมาทันที”  ทำนองแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ 

จากประวัติศาสตร์อินเดียโบราณที่ยุคราชวงศ์คุปตะโดยเฉพาะสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) เป็นยุคกลับมาฟื้นฟูศิลปวิทยาการของชาวภารตทวีปจนรุ่งเรืองและมั่งคั่งอีกช่วงหนึ่ง สำหรับชาวอินเดียโบราณที่อยู่กับโลกปกรณัมมาก อาจเชื่อว่าเบื้องหลังความรุ่งเรืองของช่วงสมัยดังกล่าวนี้เพราะกษัตริย์มีที่ปรึกษาที่ไม่ธรรมดาคือเป็นอมนุษย์ที่รอบรู้อย่างเวตาลเป็นต้น 

มิพักต้องบอกกล่าวด้วยว่า ความรุ่งเรืองของภารตทวีปช่วงราชวงศ์คุปตะนี้ส่งผลต่ออุษาคเนย์ในยุคโบราณก่อนสุโขทัยที่เรียกว่า ‘ทวารวดี’ ด้วย การขยายตัวของวัฒนธรรมอินเดียระดับสากลในช่วงนั้นก็ไม่แปลกที่จะนำไปสู่คำอธิบายในทางตำนานถึงที่มาของกษัตริย์ครองโลก ภายหลังจากที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์กำราบโยคีนอกรีตกับอมนุษย์ลงได้ ตำนานลักษณะนี้ในอุษาคเนย์ที่พอจะเปรียบเทียบกันได้มากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราบพราหมณ์ ที่กลายไปเป็นตำนานพระเจ้าสังขจักรฟาดฟันกับพระยานาค เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ก็เป็นอันว่าเวตาลเป็นตัวแทนของขุนนางที่ปรึกษาของกษัตริย์อย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ แม้จะเป็นตัวแทนของกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ แต่เมื่อพิจารณาว่ายุคสมัยที่นิทานเวตาลได้รับความนิยมนี้ ในอินเดียเป็นยุคบริติชราช และในสยามก็เป็นยุคหลังปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางและต่อมาคือการสถาปนารัฐชาติไทย คำถามคือพระเจ้าวิกรมาทิตย์ทรงเป็น ‘ไอดอล’ ของพระมหากษัตริย์อย่างไร ในเมื่อเป็นวรรณกรรมยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กลับมาเป็นที่นิยมในยุคหลังสถาปนารัฐชาติไทยหลัง 2475 แล้วด้วย 

‘ชาติไทย’ มิได้มีความหมายถึงประชาชน ยังปะปนกับความเชื่อต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ชาติใด ๆ ที่มีความหมายแบบนั้นก็ไม่จำเพาะที่จะต้องใช้นิทานโบราณอย่างเวตาลมาซัปพอร์ตแต่อย่างใด 

จากตัวบทของเรื่องในนิทานเวตาลจะพบว่า มีความลื่นไหล ย้อนแย้ง และกำกวมในหลายจุดด้วยกัน  และจากที่มีลักษณะดังกล่าวชวนให้คิดว่านิทานแต่ละเรื่องในทั้งหมดทั้งสิ้น 25 เรื่องนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เล่าโดยคน ๆ เดียว มีหลายคนเล่าเอาไว้แล้วถูกนำมารวบรวมเข้าด้วยกัน  หลายเรื่องแสดงให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของเจ้านายชั้นปกครอง แต่กลับแสดงให้เห็นตรงกันข้ามกับขุนนาง ซึ่งเป็นคนเฉลียวฉลาด

เช่น เรื่องพุทธิศริระ ขุนนางของพระวัชรมงกุฏ ในเรื่องแรกที่เวตาลเล่า เป็นขุนนางที่ฉลาด ส่วนกษัตริย์ที่เป็นนายเหนือหัวกลับโง่เขลาเบาปัญญา หลงเชื่อคำลวงกระทั่งทำร้ายนางปัทมาวดี ซึ่งเป็นชายา บางครั้ง เวตาลก็กล่าวอย่างตรงไปตรงมาด้วยไม่กลัวความผิดจะต้องถูกลงโทษเหมือนอย่างมนุษย์ปุถุชน เช่นว่า “ถ้าพระราชายึดถือเอาทรัพย์สมบัติทั้งปวงของประชาราษฎร์ไปเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง ดั่งนี้ใครจะได้อะไรเป็นที่พึ่งพำนักเล่า”

บางช่วงมีแต่งเป็นโคลงกวีไทย (ไม่มีในฉบับภาษาอื่น) นำเสนอสิ่งอันพึงระวัง 5 อย่าง ซึ่ง 1 ใน 5 อย่างที่ว่านี้มีเรื่องข้อพึงระวังเกี่ยวกับกษัตริย์ด้วยในข้อ 5 ดังนี้:

“ใครจะไว้ใจอะไรก็ตามใจเถิด

แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า

หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา

สองสัตว์เขี้ยวเล็บงาอย่าวางใจ

สามผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย

สี่ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้

ห้ามหากษัตริย์ทรงฉัตรชัย

ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอยฯ”

พระเจ้าวิกรมาทิตย์เองก็มีบทหนึ่งรำพึงว่า “อำนาจแลความเป็นพระราชาของเรานี้ ถ้าจะยั่งยืนอยู่ได้ด้วยต้องทำลายชีวิตคนถึงปานนี้ ก็สิ้นความสำราญแลเป็นบาป มิได้ผิดอะไรกับถูกแช่ง เราคงจะครองราชัยไปก็หายุติธรรมมิได้” กล่าวคือ ‘อำนาจ’ ไม่เพียงมาพร้อมกับ ‘ความชอบธรรม’ (Legitimacy) ยังต้องใช้มันเพื่ออำนวยคามยุติธรรมด้วย จึงจะเป็นอำนาจที่ถูกที่ควร 

คำกล่าวของนางมัทนเสนา ยังมีตอนหนึ่งระบุถึง ‘กลียุค’ ว่ามีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับสถาบันอำนาจ เช่นว่า “กลียุคมาถึงเป็นแน่เสียแล้ว แลตั้งแต่ขึ้นต้นกลียุคมา ความเท็จเกิดในโลกมากขึ้น แลความจริงลดน้อยลงไป คนใช้ลิ้นกล่าววาจาที่เกลี้ยงเกลาแต่ใช้ใจเป็นที่เลี้ยงมายา ศาสนามลายไป ความชั่วช้าทารุณเกิดมากขึ้น แลแผ่นดินก็ให้พืชผลน้อย พระราชาทรงเรียกค่าปรับจากราษฎร พราหมณ์ประพฤติไปในทางละโมบ บุตรไม่ฟังคำแห่งบิดา พี่น้องไม่ไว้ใจกันเอง ไมตรีสิ้นไปในหมู่มิตร ความจริงไม่มีในใจผู้เป็นนาย บ่าวเลิกการรับใช้ ชายทิ้งเสียซึ่งคุณแห่งชาย แลหญิงก็สิ้นความละอาย”

ลักษณะความสัมพันธ์ตลอดจนบทสนทนาระหว่างพระเจ้าวิกรมาทิตย์กับเวตาล ที่เปรียบเสมือนภาพแทนของกษัตริย์กับขุนนางชั้นที่ปรึกษาใกล้ชิด จนถึงกับฝ่ายหลังสามารถต่อล้อต่อเถียงด้วยได้โดยไม่เกรงกลัวจะต้องพระราชอาญา และพระเจ้าวิกรมาทิตย์ยังต้องใช้ความมานะพยายาม อดทน และมีขันติธรรมอย่างยิ่งในการเอาชนะเวตาลนี้ เป็นภาพที่ชวนให้นึกเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับขุนนางภายใต้ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitution king)

การที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ต้องอดทนนิ่งเฉย แม้จะถูกหมิ่นแคลนหาว่าอ่อนด้อยสติปัญญา ไม่มีความรู้ จะนำความสำเร็จในบั้นปลายมาให้นั้นเป็นแก่นหลักใจกลางสำคัญที่สุดของเนื้อเรื่องเลยก็ว่าได้ ดังเช่นที่เวตาลกล่าวว่า “ลิ้นคนนั้นตัดคอคนเสียมากต่อมากแล้ว” “การแสดงปัญญาให้คนโง่ฟังไม่มีประโยชน์” และ “ข้าพเจ้าขอทูลแนะนำเสียแต่ในบัดนี้ว่า พระองค์จงสงบความหยิ่งในพระหฤทัยว่าเป็นผู้มีความรู้ เมื่อเกิดมาเป็นคนโง่แล้วก็จงยอมโง่เสียเถิด มิฉะนั้นพระองค์จะมิได้ประโยชน์ซึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้วไม่มีใครจะอำนวยได้”

อย่างไรก็ตาม แม้จะฉายภาพให้เห็นลักษณะสำคัญของพระมหากษัตริย์แบบ Constitution king แต่บางแห่งก็นำเสนอภาพลักษณ์และเรื่องราวที่ค่อนข้างไปในทางผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จตามแบบเจ้าชีวิต (Absolute monarchy) เช่นที่ทรงทำตามคำแนะนำของยักษ์ปัถพีบาลที่บอกว่า “จงระวังอย่าเชื่อคำผู้มีสำนักในหมู่คนตาย แลทรงจำใส่พระราชหฤทัยไว้ว่า ผู้ใดมุ่งจะฆ่าชีวิตพระองค์ พระองค์อาจตัดหัวผู้นั้นเสียก่อนได้โดยครองธรรม ต่อนั้นไปจะทรงครอบครองสกลโลกด้วยความสุข ปรากฏพระนามไปชั่วกาลนาน” บางแห่งก็ยังสรุปไว้ด้วยว่า “บุรุษพึงฆ่าคนซึ่งตั้งใจจะฆ่าตนได้โดยคลองธรรม”

เรื่องนี้ (ความขัดแย้งกันอยู่ในที) อาจเป็นเพราะเป็นวรรณกรรมที่มีต้นทางแรกสุดจากยุคที่ความยุติธรรมยังแสดงออกโดยวิธีตาต่อตา-ฟันต่อฟัน ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การที่มีสองส่วนดังกล่าวข้างต้นนี้เองเป็นที่มาของการที่วรรณกรรมเรื่องนี้มีที่ทางอยู่ได้ทั้งภายใต้แนวคิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยุคที่มีแนวคิดกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ขึ้นกับว่าผู้อ่านหรือผู้จะนำไปใช้ว่า จะเอาส่วนไหนไปซัปพอร์ตตนเอง   

หากถามว่า แล้ว น.ม.ส. ผู้แปลงวรรณกรรมเรื่องนี้ล่ะ คิดเห็นไปในทางไหน? บทบาทในฐานะที่ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการองคมนตรีที่ปรึกษาในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงเดียวกับที่แปลเรื่องเวตาล อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้นึกถึงบทบาทของเวตาลต่อพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ผู้ช่วยให้พระเจ้าวิกรมาทิตย์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในสากลโลกพระองค์หนึ่ง (ตามเรื่องในวรรณกรรม)

ในอีก 10 ปีต่อมา (คือในเรือนพ.ศ.2471) ภายหลังจากเปลี่ยนรัชกาลมาเป็นรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยกันมาก  พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าของนามปากกา ‘น.ม.ส.’ ยังคงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการองคมนตรีที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินเช่นเดิม ได้ทรงกล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘สัมโมทนียกถาในเรื่องปาลิเม็นต์’ ณ สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2471 ความตอนหนึ่งระบุเกี่ยวกับ ‘ปาลิเม็นต์’ ของการปกครองที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบไว้ว่า:

ส่วนแห่งปาลิเม็นต์อันสำคัญยิ่ง คือพระเจ้าแผ่นดินนั้น ทรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐสภา และทรงไว้พระองค์เดียวซึ่งอำนาจปฏิบัติการปกครองบ้านเมืองตามกฎหมาย’ และอีกแห่งหนึ่งก็กล่าวในทำนองเดียวกันนี้ว่า: ‘อันที่จริงที่เรียกว่าพระราชดำรัสนั้นในสมัยนี้ไม่สู้จะเป็นความจริง เพราะอัครเสนาบดีเป็นคนเขียนเสมอ พระเจ้าแผ่นดินมีส่วนน้อยนัก ในสมัยโบราณพระราชดำรัสเป็นคำกล่าวของพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ ตามรูปการ คือพระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกปาลิเม็นต์ เพื่อจะทรงกำหนดงานให้ทำ จึงมีปรากฏในรับสั่งในเวลาที่ให้เลือกสปีเกอร์ว่า จะโปรดให้ทราบพระราชประสงค์ ที่โปรดให้เรียกประชุมปาลิเม็นต์นั้น”

จากปาฐกถาข้างต้น จะเห็นว่า น.ม.ส. มองระบบรัฐสภา (ปาลิเม็นต์) เป็นเพียงเครื่องมือที่แสดงออกถึงอำนาจทางการเมืองการปกครองของพระมหากษัตริย์ ยังไม่ใช่การเมืองการปกครองแบบที่คงไว้ซึ่งหลักการอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น หากจะมองว่า น.ม.ส. เป็นผู้หนึ่งที่เสนอระบอบประชาธิปไตยก่อน 2475 ก็บอกเช่นนั้นไม่ได้ แม้จะเป็นผู้ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาหัวข้อเรื่อง ‘ปาลิเม็นต์’ มาก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียง 4 ปีก็ตาม   

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า น.ม.ส. จะเป็นผู้ให้กำเนิดนิทานเวตาลฉบับภาษาไทยที่เป็นที่นิยมมากสุด  แต่น.ม.ส. ก็ไม่ใช่ผู้ที่จะสามารถผูกขาดการให้ความหมายต่อนิทานเวตาล รวมถึงภาพลักษณ์ของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ได้เพียงผู้เดียว ในแวดวงวรรณกรรมศึกษา เขาเสนอไว้กันตั้งนานแล้วว่า เมื่อผลงานออกสู่สาธารณะ ผู้ประพันธ์ (รวมทั้งผู้แปล) ก็หมดสิ้นอำนาจในการที่จะตีความวรรณกรรมเรื่องนั้นไปแล้ว (ว่ากันว่าต้นทางของการศึกษาวรรณกรรมในแง่มุมนี้มาจากข้อเสนอเรื่อง ‘The Death of the Author’ ของ Roland Barthes นักวิชาการชาวฝรั่งเศส)

แม้จะเป็นวรรณกรรมที่แปลงเข้าสู่โลกภาษาไทยเพื่อซัปพอร์ตระบอบอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิ์ของสยาม แต่เมื่อเกิดการอภิวัฒน์ 2475 ที่วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่เพียงไม่ถูก ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน’ พัดพาให้ปลิวหายไป กลับเป็นที่นิยมแพร่หลายต่อมา กระทั่งแม้แต่พื้นที่สำคัญอย่างแบบเรียนภาษาไทย  เด็กเยาวชนรุ่นหลังความเปลี่ยนแปลงอย่างช่วง 2475 เป็นต้นมา ก็ยังได้เรียนได้อ่านเรื่องนี้อยู่ จนถึงการปรากฏในรูปแบบละครจักร ๆ วงศ์ ๆ และการ์ตูนในช่วงหลังเมื่อไม่นานมานี้ 

ภาพลักษณ์และสตอรีบางชุดของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ที่มีขันติต่อผู้เห็นต่าง ๆ และสนทนากับอมนุษย์ได้แบบมีสติปัญญาไหวพริบเท่าเทียมกันนั้น ไปกันได้กับภาพของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภาพของพระมหากษัตริย์ตามจินตนาการความฝันในอุดมคติหรือสิ่งที่อยากเห็นอยากให้เป็นของผู้คนในช่วงหลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง    

กล่าวโดยสรุป นิทานเวตาลมีเส้นทางที่ค่อนข้างย้อนแย้ง อย่างน้อย ๆ 3 ตลบด้วยกันคือ ตลบแรก, จากงานวรรณกรรมเพื่อศาสนาในโลกสันสกฤต ถูกแปลงเข้าสู่โลกวิชาการของอินเดียยุคบริติชราช โดยนักวิชาการและนายทหารคนสำคัญของอังกฤษที่สนับสนุนการล่าอาณานิคมอย่างเซอร์ริชาร์ด เอฟ. เบอร์ตัน เกิดนิทานเวตาลฉบับตะวันออกนิยม (Vetal Orientalism) ที่ถูกสร้างและครอบงำโดยนักวิชาการตะวันตก 

ตลบที่สอง, คือการแปลงมาสู่โลกภาษาไทยในยุคอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม โดยบทบาทของเจ้านายชั้นสูงและเป็นเจ้านายสายวิชาการ-วรรณกรรม อย่างเช่นพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เกิดฉบับเวตาลที่เป็นที่นิยมแพร่พลายและเป็นที่ทรงจำในสังคมไทยสยาม

ตลบที่สาม, คือการตีความเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมสยามหลังการอภิวัฒน์ 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเป็นวรรณกรรมที่นำเสนอภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และขุนนางใหม่ภายใต้ระบอบใหม่ 

ถึงตรงนี้, ดูเหมือนผู้เขียนจะสามารถจบบทความลงได้แล้ว  แต่ทว่ายังมีประเด็นอื่นอีกที่ทำให้ต้องไปต่อ ยังไม่อาจจบลงได้เพียงเท่านี้ แต่หากท่านใดรู้สึกเออเร่อ ไม่ไหวแล้ว พักไปเล่นกับแมว หรือลอยกลับไปสู่ต้นอโศกของตนเองเสีย ณ บัดนี้ ก็ตามสบายเถิดนะขอรับ...

             

(8) ‘ความยุติธรรมบางทีก็ไม่ยุติธรรม’ ความจริงซ้อนนิทาน VS Gender แทรกวรรณกรรม  

ในเชิงเนื้อหา ปริศนาที่เวตาลหยิบยกมาท้าทายพระสติปัญญาของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ ก่อนจะเล่าเรื่อง เวตาลเน้นย้ำอยู่ทุกตอนว่า เรื่องที่ตนจะเล่าต่อไปนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องจริง เช่นตอนหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า “ข้าพเจ้าจะเล่านิทานซึ่งเป็นเรื่องจริงถวายในบัดนี้ พระองค์จงฟังเถิด” นั่นเป็นทัศนะอย่างเก่าที่คนยังนิยมแปลงความจริงมาสู่นิทาน หรืออีกนัยหนึ่ง ตรงนี้สะท้อนการรับรู้ความจริงที่แตกต่างจากคนในยุคปัจจุบัน เป็นความจริงเหนือผัสสะ มีทั้งเรื่องชุบชีวิตคนตายแล้วฟื้น เรื่องยักษ์ พระอินทร์ เรื่องสัตว์พูดภาษาคนได้ เป็นต้น 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ม.ส. ผู้แปล/แปลง ได้อธิบายไว้ในปาฐกถาเรื่อง ‘นิทานเก่าๆ’ แสดงไว้ ณ สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2468 (7 ปีหลังตีพิมพ์นิทานเวตาลฉบับน.ม.ส. ครั้งแรก) ใจความตอนหนึ่งระบุว่า

“ตามที่กล่าวว่านิทานเก่ามีอายุหลายพันปีก็มีนั้น ที่กล่าวกันว่าทราบอายุแห่งนิทาน ก็ทราบได้แต่เพียงที่มีหนังสือเป็นหลักฐาน นิทานที่มีมาก่อนเวลามีหนังสือ เราก็ทราบอายุไม่ได้ แท้ที่จริงนิทานรุ่นเก่าๆ โดยมากได้เล่าสืบต่อกันมาช้านาน จึงมีผู้เขียนลงเป็นหนังสือ ที่มีความจริงเป็นมูลก็มีมาก แต่เมื่อเล่าสืบกันมาหลายต่อเข้า ก็มีความเชื่อว่าจริง เข้าไปปนความจริง ยังมีความที่อยากจะให้คนเชื่อว่าจริง เข้าผสมอีก”

‘ความจริง’ ที่ว่า มีมุมมองเรื่อง ‘ความจริงเกี่ยวกับชีวิต’ รวมอยู่ด้วยหลายที่หลายตอนด้วยกัน  นอกเหนือจากความเหนือจริงต่าง ๆ ชีวิตนั้นมีเพศ (Gender) เข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาหนักอกยากแก่การพิจารณาตามสติปัญญาของมนุษย์บางเรื่องที่เวตาลหยิบยกมาเล่าแก่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ นอกจากปัญหาเรื่องชนชั้นวรรณะในสังคมอินเดีย ก็คือปัญหาเรื่องเพศ ความเป็นหญิง-เป็นชาย และ LGBTQ+ ทำให้นิทานเวตาลมีประเด็นที่จัดว่า ไปไกลกว่าบรรดาปกรณัมต่าง ๆ ของอินเดียโบราณ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการเป็นจุดตั้งต้นของระบบระเบียบจารีตประเพณีโบราณให้แก่โลกตะวันออก 

ตัวอย่างปัญหาข้างต้นนี้ เช่นเรื่องของมนัสวี เป็นมนุษย์ที่มีลักษณะเพศประหลาดตามมุมมองผู้เล่า (เวตาล) วันหนึ่งแต่งกายและมีกิริยาเป็นชาย แต่อีกวันกลับเป็นหญิง สลับเปลี่ยนไปแบบนี้ วันที่เป็นชายวันหนึ่งเกิดไปได้เสียกับธิดาของกษัตริย์แห่งเมืองที่มนัสวีอาศัยอยู่ ครั้นต่อมา เมื่อพระธิดาทราบว่ามนัสวีเป็นพวก ‘ลักเพศ’ (คำเก่าที่ใช้ในทางลบ) ก็หมดสิ้นความรักที่เคยมีให้ แล้วไปแต่งงานกับบุตรพราหมณ์ซึ่งเป็นชายแท้ แต่ไม่นานพระธิดาเกิดตั้งครรภ์ มนัสวีก็ไปแสดงตัวว่าเป็นสามีและเป็นบิดาของบุตรในครรภ์ของนาง 

เวตาลเล่ามาถึงตรงนี้แล้วหยุดไปตั้งคำถามแก่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ว่า หากพระองค์เป็นกษัตริย์ เจ้าชีวิตของคนทั้งสาม (มนัสวี พระธิดา บุตรพราหมณ์) พระองค์จะตัดสินให้พระธิดาไปเป็นภรรยาของมนัสวีหรือบุตรพราหมณ์ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ตอบว่า บุตรพราหมณ์ แต่เหตุผลมิได้เพราะเอนเอียงเข้าข้างชายแท้ด้วยกัน หรือไม่ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของคน LGBTQ+ เพียงแต่ว่าพระเจ้าวิกรมาทิตย์เห็นว่ามนัสวีหลอกลวงพระธิดาที่ไม่ได้บอกให้พระนางทราบแต่แรกว่าเขาเป็นชาว LGBTQ+ จึงไม่ยุติธรรมแก่นาง หากนางจะต้องตกเป็นภรรยาของชายใดเพราะความหลอกลวงเช่นนั้น 

เมื่อได้ยินคำอธิบายดังกล่าว เวตาลไม่ได้หัวเราะเหมือนเช่นครั้งที่ถามปัญหาครั้งอื่น ๆ ก่อนลอยกลับไปต้นอโศก เวตาลกล่าวทิ้งท้ายว่า นั่นแหละ ‘ความยุติธรรมบางทีก็ไม่ยุติธรรม’

อีกกรณีคือเรื่องของนางมุกดาวลี บุตรีของพราหมณ์ ผู้รู้มนต์วิเศษสามารถชุบชีวิตคนได้ วันหนึ่งสามีสุดที่รักของนางเสียชีวิต ถูกฆ่าตายในระหว่างต่อสู้กับโจร ศพคอขาดทั้งคู่อยู่ข้าง ๆ โจร นางรีบนำเอาศีรษะของทั้งสองมาต่อเข้ากับตัวใหม่ แล้วร่ายมนต์ชุบชีวิต แต่เนื่องจากเป็นเวลามืด นางไม่ทันได้สังเกตให้ดี จึงสลับศีรษะกับตัว กลายเป็นว่า ศีรษะของสามีนางไปต่อกับร่างกายโจร และโจรถูกชุบชีวิตให้ศีรษะต่อกับร่างของสามีนางแทน

เวตาลก็ถามพระเจ้าวิกรมาทิตย์ว่า นางมุกดาวลีควรจะเป็นภรรยาใคร ระหว่างสามีที่มีศีรษะแต่ตัวเป็นโจร กับสามีที่ศีรษะเป็นโจร พระเจ้าวิกรมาทิตย์ตอบว่า สามีที่มีศีรษะ เพราะสมองอยู่กับศีรษะนั้น แต่เวตาลแย้งว่า ร่างกายเป็นที่อยู่ของวิญญาณ ฉะนั้น ควรจะให้นางอยู่กับสามีที่มีตัวไม่ใช่หรือ? 

เท่านั้นยังไม่พอ ปัญหาทางปรัชญาข้อสุดท้าย (ตามฉบับเบอร์ตันและน.ม.ส.) ก็เป็นเรื่องเพศสถานะอีกเช่นกัน เมื่อท้าวมหาพลมีพระมเหสีที่แม้ชราแต่แลดูอ่อนเยาว์ประดุจเด็กสาว มีธิดาแล้วก็ยังไม่แก่ พระมเหสีกับธิดาแลดูเป็นดั่งพี่กับน้อง มากกว่าจะเป็นแม่กับลูก อยู่มาเมื่อท้าวมหาพลถูกโจรฆ่าตาย สองแม่ลูกระหกระเหินไปในป่า แล้วไปพบกับท้าวจันทรเสนกับพระราชบุตร ทั้งสองได้รับพระนางเป็นชายา โดยท้าวจันทรเสนอภิเษกสมรสกับพระธิดา พระราชบุตรอภิเษกกับพระมเหสี ลูกกลับเป็นเมียพ่อ แม่กลับเป็นเมียลูก ลูกกลับเป็นแม่เลี้ยงของผัว แม่กลับเป็นลูกสะใภ้ของผัว

เรื่องมันชุลมุนชุลเกเช่นนี้ไม่พอ ทั้งสองคู่ยังมีลูกเกิดมาอีก เวตาลถามพระเจ้าวิกรมาทิตย์ว่า ลูกท้าวจันทรเสนที่เกิดจากธิดาท้าวมหาพน กับลูกมเหสีของท้าวมหาพนที่เกิดกับพระราชบุตรของท้าวจันทรเสนนั้น จะนับญาติกันอย่างไร 

ปัญหาข้อนี้ผู้ที่พลาดไม่ใช่พระเจ้าวิกรมาทิตย์ หากแต่เป็นเวตาล เพราะคราวนี้ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ที่แม้จะได้รับฟังเรื่องราวที่เวตาลเล่ามาก็ไม่ตอบประการใด เป็นไปได้ว่า จะทรงเบื่อหน่ายการที่ต้องกลับไปปีนต้นอโศกนำเอาเวตาลกลับมาอีก หรือไม่ก็สุดปัญญาของพระองค์ไปแล้วจริง ๆ สำหรับปัญหานี้    

แล้วท่านผู้อ่านล่ะ จะตอบว่าอย่างไร หากเป็นผู้ที่ต้องตอบปัญหานี้แทนพระเจ้าวิกรมาทิตย์ขึ้นมา สำหรับผู้เขียนขอยอมรับว่าสุดปัญญา (ฮา)       

           

(9) อำนาจคือความรู้ vs. อำนาจของ ‘ความไม่รู้’ (ความไม่รู้คืออำนาจ)  

เมื่อถึงจุดหนึ่ง พระเจ้าวิกรมาทิตย์ก็ได้เรียนรู้ว่า การอวดตัวว่า รู้นั้นเป็นโทษ  การรู้จักเงียบ นิ่งเฉย ต่างหากคืออำนาจ และเงื่อนไขที่จะนำความสำเร็จมาให้ ความรู้ไม่เท่ากับอำนาจเสมอไป  บางครั้งความไม่รู้ต่างหากที่เป็นอำนาจ ดังที่มีบทสนทนาว่า “ลิ้นคนนั้นตัดคอคนเสียมากต่อมากแล้ว” “การแสดงปัญญาให้คนโง่ฟังไม่มีประโยชน์” และ “ข้าพเจ้าขอทูลแนะนำเสียแต่ในบัดนี้ว่า พระองค์จงสงบความหยิ่งในพระหฤทัยว่าเป็นผู้มีความรู้ เมื่อเกิดมาเป็นคนโง่แล้วก็จงยอมโง่เสียเถิด มิฉะนั้นพระองค์จะมิได้ประโยชน์ซึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้วไม่มีใครจะอำนวยได้”

‘ความไม่รู้’ ที่ว่านี้ไม่ใช่ความไม่มีความรู้ หากแต่คือมีความรู้แต่ไม่อวดรู้ แสดงตัวว่ารู้อย่างถูกกาละ (เวลา) เทศะ (พื้นที่) และกับบุคคลที่พึงแสดงตัวให้เป็นที่ประจักษ์ว่ารู้ (จริงๆ) มุมมองต่อท่าทีความรู้-ความไม่รู้เช่นนี้ นอกจากในการแปลงวรรณกรรมเวตาลแล้ว น.ม.ส.ได้เคยแสดงไว้ที่หนึ่งคือจากปาฐกถาเรื่อง ‘ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าซิวิไลซ์’ ทรงแสดง ณ สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2575 (6 เดือนหลังจากอภิวัฒน์ 2475 เวลานั้นทรงมีตำแหน่งเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา) ได้ลงท้ายสรุปปาฐกานี้ไว้ว่า: (คงการสะกดคำตามเอกสารดั้งเดิม - กองบรรณาธิการ)  

“ทีนี้ฉันจะชี้แจงว่าทำไมจึงนำเอาเรื่องที่ไม่รู้อะไรแน่มาพูด แลพูดในทางที่น่าจะทำให้ผู้ฟังหลายคนเกิดพะวงสงสัย ทำให้เชื่อความรู้ของตนเองน้อยเข้า ฉันได้พูดจริงๆ บ้าง พูดเล่นๆ บ้าง ทั้งหมดเป็นเรื่องยั่วสงกาเพื่อเตือนกันเองว่า อย่าเพ่อนึกว่าเราเป็นผู้รู้เร็วไปนัก สิ่งที่เรานึกว่าเรารู้แต่เมื่อเอาเข้าจริงยังไม่รู้นั้นมีมาก ถ้าเอาเผลอตัวทะนงว่ารอบรู้แจ่มแจ้งในวิชาซึ่งเรารู้เท่าหางอึ่ง ใช้ความรู้น้อยของเราประหนึ่งว่ารู้มาก ก็จะพากันเข้าป่าเข้ารกห่างพระศรีอารยธรรมไปทุกที นับประสาแต่อะไร แต่เพียงคำที่เราพูดกันจนคุ้นหูยังไม่รู้อะไรแน่ ความรู้ตัวว่ายังไม่มีความรู้นั้น นับว่าเป็นวิชาส่วนหนึ่ง อวิชาอย่างลึกเหลือหยั่งก็คือความไม่รู้ตัวว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอวิชชา... คนโง่รู้ตัวว่าโง่ อาจเป็นบัณฑิตได้ แต่คนโง่ที่เข้าใจว่าตัวเป็นบัณฑิต นั่นแลเรียกว่าคนโง่แท้”

โดยบริบทประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาเมื่อ น.ม.ส. กล่าวเช่นนี้นั้น ‘คนโง่’ ที่คิดและเชื่อว่าตนกำลังนำความศิวิไลซ์มาให้แก่ชาติบ้านเมืองที่ว่านี้ จะทรงหมายถึงผู้มีอำนาจใหม่ที่มาจากการเปลี่ยนผ่านเมื่อครั้งเดือนมิถุนายน พ.ศ.2475 หรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด 

 

(10) บทสรุปและส่งท้าย: สมมติถ้าครูกายแก้วเป็นเวตาล (แล้วจะยังไงต่อ-ตกลงมูได้ไหม?)  

ย้อนกลับมาประเด็นที่เปิดไว้ตอนต้นของบทความ ก็คือว่า จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า หากกลุ่มคนที่นับถือครูกายแก้วเชื่อว่า ครูกายแก้วเป็นเวตาล ปัญหาอย่างที่เกิดแก่ลัทธินี้อาจไม่มีก็ได้ เพราะเหตุว่าเวตาลมีในระบบความเชื่อเก่าแก่และถูกดัดแปลงปรุงแต่งให้เข้ากับบรรยากาศทางสังคมวัฒนธรรมหลากหลายเสมอมา จะมาเป็นรูปให้ใครกราบไหว้ขอพรบ้าง ก็ไม่เป็นปัญหา 

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับ เคยเตือนเราเมื่อหลายปีมาก่อนนี้แล้วในกรณี ‘ลัทธิพิธีเสด็จพ่อร.5’ ว่า การที่คนธรรมดาสามัญจะมาเรียกตัวเองเป็น ‘ลูก’ ของอดีตพระมหากษัตริย์ และเรียกพระมหากษัตริย์พระองค์ใดว่า ‘พ่อ’ นั้น ไม่ใช่เรื่องวิปริตผิดเพี้ยนอันใดไป หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจแยกออกมาต่างหากว่า กลุ่มผู้นับถือหรือเชื่อในลัทธิพิธีดังกล่าวนี้พวกเขาต้องการสื่ออะไรกับสังคม หรือเกิดปัญหาอะไรขึ้นถึงทำให้ศาสนาหรือลัทธิพิธีต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่ตอบโจทย์ผู้คน

หากเป็นเวตาล คนปัจจุบันก็อาจจะยังพอไหว้ได้อยู่ เพราะเวตาลมีคุณวิเศษหลายอย่าง เด่นในเรื่องสติปัญญาความเฉลียวฉลาดไหวพริบในการแก้ปัญหา ด้านค้าขายร่ำรวย เวตาลก็ได้อีก เพราะเวตาลเดิมเป็นบุตรพ่อค้า ด้านอำนาจยศฐา เวตาลก็ได้อีก เพราะเป็นขุนนางระดับชั้นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์อย่างพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ด้านความรัก เวตาลก็มีในสตอรีของตนเองอยู่หลายเรื่อง แม้แต่ด้าน LGBTQ+ ยังมีเลย

หากเป็นเวตาล ก็ไม่ขัดกับหลักศาสนา นอกจากที่เวตาลเป็นตัวละครในศาสนาพราหมณ์เดิมแล้ว ยังมีสตอรีว่าเดิมเป็นคนดีและสุดท้ายก็ตัดสินใจทำดี ย้ายข้างจากฝ่ายอธรรม (โยคี) มาเข้าข้างฝ่ายธรรมะ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) ถึงรูปกายภายนอกน่าเกลียด แต่ภายในเป็นคนดี อนุโลมให้นับถือได้เหมือนเช่นกรณีชูชก ที่จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากไปขอกัณหากับชาลี หากแต่ทนถูกเมีย คือนางอมิตตาดากดดันไม่ได้ หรือจะนับถือชูชกว่า เป็นผู้ที่ทำให้พระโพธิสัตว์ได้บรรลุทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ก็ว่าไป 

ที่สำคัญ หากเป็นเวตาล ผู้จะนับถือก็ต้องพึงรู้จักสำเหนียกด้วยว่า จะมาทำพิธีบูชายัญไม่ได้ เพราะเวตาลต่อต้านการบูชายัญเป็นที่สุด ถึงได้แนะพระเจ้าวิกรมาทิตย์ให้ทำลายพิธีที่โยคีนอกรีตจะทำถวายเจ้าแม่ทุรคา ดังนั้น หากเป็นเวตาล ลูกหมาลูกแมวก็จะปลอดภัย หายห่วง สาวกผู้นับถือจะได้ไม่เป็นอริกับมวลมหาประชาชนคนรักหมาแมวจากทั่วสากลโลก  

ปัญหาคือประชาชนชาวมูไทย ๆ บางพวกไม่ค่อยใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้เท่าไร  ที่มูได้เลยไม่มู ที่มูกันกลับไปมูอะไรไม่รู้ อะไรที่ไม่มีหลักไม่มีฐาน มูไปก็ไม่ช่วยส่งเสริมขวัญกำลังใจ ที่จริงจะมูได้ก็มูไปไม่ผิด เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ตรงข้ามหากมูอย่างมีสติ มีหลักมีฐาน ไม่เคลมมั่ว เคารพผู้เห็นต่าง เห็นคุณค่าทุกสรรพชีวิต ไม่เบียดเบียน-ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ก็จะมูได้อย่างมั่นใจ ด้วยเพราะมีคำอธิบายต่อสังคมเป็นมั่นคง

ลัทธิพิธีอะไรก็ตาม หากจรรโลงชีวิตให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและสันติ ย่อมไม่เป็นปัญหาว่า จะไม่มีสิทธิมีพื้นที่ในสังคม สังคมคนจะเท่ากันก็ต้องยอมให้ความแตกต่างดำรงอยู่ด้วยได้ ส่วนพวกจะไหว้รูปอะไร ต้นไม้หรือสัตว์ประหลาดอะไร โอ๊ย... นั่นของมันมีอยู่คู่มนุษยชาติมาแต่โบราณดั้งเดิม ไม่รู้กี่พันปีมา ไม่รู้ ไปถามไอต้าวนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา หรือนักอะไรก็แล้วแต่ จะรู้จะเห็นได้ว่า คนหลายชาติพันธุ์ทั่วโลกก็มี ก็รู้จักกัน Animism และหรือ Totemism เนี่ย (อ่ะนะครับ)     

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ยุค ‘ครูกายแก้ว’ กับความเชื่อ-ศรัทธา-คำสอนเรื่องรูปเคารพในหมู่ชาวพุทธดั้งเดิม

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: ภาพวาดเวตาล บนปกหนังสือนิทานเวตาล

อ้างอิง:

Brodie, Fawn McKay. ‘Sir Richard Burton: British scholar and explorer’ in  Britannica (searched in 08, 22: 2023). 

Burton, Richard F. Vikram and the Vampire or Tales of Hindu Devilry. London: Tylston and Edwards, 1893.

กรรณิการ์ สาตรปรุง. ราชาธิราช สามก๊ก และไซ่ฮั่น : โลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541.

กำพล จำปาพันธ์. ‘การชำระ ‘พระมหาชนก’ ในประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่’ เว็บไซต์ประชาไท. เผยแพร่ครั้งแรก วันที่ 11 พฤษภาคม 2557 สืบค้นได้จาก Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ‘ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5’. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 14, ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2536), น. 76-98.

ประชุมปกรณัมภาคที่ 4 เรื่องเวตาลปกรณัม. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2467.

พิทยาลงกรณ์, กรมหมื่น พระราชวรวงศ์เธอ. นิทานเวตาล. พระนคร: โรงพิมพ์ไท, 2461.

พิทยาลงกรณ์, กรมหมื่น พระราชวรวงศ์เธอ. ประชุมปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์. พระนคร: รวมสาส์น, 2513.  

พิทยาลงกรณ์, กรมหมื่น พระราชวรวงศ์เธอ. ยุคกลางในยุโรป: พงศาวดารและนิทานเทียบพงศาวดารเรื่องพระเจ้าชาลมาญพร้อมด้วยนิทานเวตาล. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2499.

พิทยาลงกรณ์, กรมหมื่น พระราชวรวงศ์เธอ. สามเรื่องเอกของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2478.

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. เวตาลปัญจวิงศติ: นิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์ยี่สิบห้าเรื่อง. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2543.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.). หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว, 2561.