04 ก.ย. 2566 | 12:08 น.
- ศตวรรษที่ 18 มีช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่า ยุคทองของโจรสลัด จนถึงกับเกิด ‘สาธารณรัฐโจรสลัด’ (Republic of pirates) ขึ้นที่เมืองท่านัสซอ (Nassau) ในหมู่เกาะบาฮามาส
- โลกของโจรสลัดในอดีตเสมือนเป็นโลกที่กลับตาลปัตร เมื่อระเบียบต่าง ๆ ที่ใช้ในสังคมโจรสลัดหลายมุมเกิดขึ้นในขณะที่สังคมบนบกยังไม่ปรากฏให้เห็นแพร่หลาย
- วิถีชีวิตของโจรสลัดกลายเป็นแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การสร้างวรรณกรรมและสื่อทางวัฒนธรรมหลายชิ้น
โจรสลัดในประวัติศาสตร์การเดินเรือนานาชาติ
ยุคการค้าทางทะเล (Maritime trade) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่มีข้อเสนอกันว่าอยู่ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ถือเป็น ‘ยุคคลาสสิค’ (Classical times) (Parker, 2012: chapter 2) โจรสลัดมักถูกจัดประเภทเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพ่อค้า ถือเป็นภัยต่อการค้าทางทะเล
แต่เมื่อพิจารณาว่าสิ่งที่โจรสลัดปล้นไปนั้นโดยมากก็คือ ‘สินค้า’ เมื่อได้สินค้ามาแล้วก็จะต้องเอาไปขายสู่ตลาด โจรสลัดก็คือพ่อค้าประเภทหนึ่งของยุคการค้าทางทะเลนั่นเอง (Pringle, 1953: 136-137)
บทบาทของพ่อค้าโจรสลัดยังมีความสำคัญในแง่การกระจายสินค้าไม่ให้การบริโภคกระจุกตัวอยู่แต่ภายในศูนย์กลางอำนาจอีกด้วย เพราะแหล่งตลาดสำคัญของพ่อค้าโจรสลัดคือตลาดตามหัวเมืองชายขอบ ซึ่งที่จริงตามระบบเศรษฐกิจไพร่ของรัฐพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเมืองเหล่านี้คือผู้ผลิตสินค้าส่วยที่จะส่งเข้าสู่เมืองหลวง จากนั้นพ่อค้าชั้นนำที่เมืองหลวงจึงค่อยนำมาขายต่อให้แก่ชาวต่างประเทศ ระบบนี้เรียกกันว่า ‘การค้าผูกขาดของหลวง’ (Royal monopoly system)
ดังนั้น การปล้นสินค้าเหล่านี้แล้วนำกลับไปขายให้แก่ตลาดหัวเมือง จึงเป็นการคืนสินค้าที่หัวเมืองผลิตได้นั้นกลับสู่หัวเมืองเอง และโจรสลัดก็คือ ‘ผู้ประกอบการค้าเสรี’ (Free trader) ประเภทหนึ่งนั่นเอง
นั่นหมายความว่า เราต้องมองประวัติศาสตร์ของโจรสลัดในมุมใหม่ แตกต่างจากมุมของทางการในปัจจุบัน เพราะโลกอดีตที่มีโจรสลัดเป็นตัวละครสำคัญของยุคนั้นแตกต่างอย่างสุดขั้วกับโลกปัจจุบัน
กลุ่มคนที่ถูกเข้าใจอย่างเหมารวมว่า เป็นผู้ร้ายตามโครงเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลัก ในอดีตอาจไม่ใช่ผู้ร้ายดังที่เขาหลอกลวงกัน อย่างไรก็ตาม โจรสลัดคือมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่กับเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมแบบหนึ่ง การปล้นชิงสินค้าในเรือระหว่างที่เรือลำดังกล่าวกำลังแล่นอยู่ในท้องทะเล ไม่อาจเทียบได้กับการปล้นชิงทรัพยากรในนามกฎหมายและระเบียบของบ้านเมือง
เมื่อสังคมบนบกใช้ระบบการปกครองอย่างกดขี่มีเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นวรรณะ คนซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบหรือด้อยโอกาสในสังคมจำนวนมากจึงหลบหนีออกสู่ทะเลไปแสวงหาเสรีภาพและชีวิตที่ดีกว่า ถึงแม้ว่าการเป็นโจรสลัดแล่นเรืออยู่ในท้องทะเลจะเต็มไปด้วยอันตราย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทะเลเป็นพื้นที่มหาศาลอันปลอดพ้นจากการคุกคามของอำนาจรัฐในสมัยนั้น
เนื่องจากการเป็นโจรสลัดมักมาพร้อมกับการมีทักษะความสามารถในการใช้ความรุนแรง แต่ไม่เสมอไป เพราะบางครั้งก็ปรากฏโจรสลัดที่มีจุดเด่นเรื่องอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการ การเจรจาต่อรอง การค้าขาย การข่าวสาร เพราะต้อง ‘ดีล’ กับผู้คนอยู่เป็นอันมาก
ทักษะความชำนาญที่นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรงนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้มีโจรสลัดที่ผันตัวเองไปเป็นผู้ปกครอง เช่น ฟิลิปส์ เดอ บริโต อี นิโคเต (Filipe de Brito e Nicote) โจรสลัดโปรตุเกสที่ไปยึดเมืองท่าสิเรียมทางตอนใต้ของพม่าแล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ มักคู (Mac Cu) อดีตโจรสลัดที่ผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าและเจ้าเมืองฮาเตียน เจิ้งอี้ส้าว (Zheng Yi Sao) โจรสลัดหญิงกวางตุ้งชื่อดัง (ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป) ต่างก็เป็นแบบฉบับของโจรสลัดที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยทักษะที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง
พ่อค้ากับโจรสลัดบางครั้งอยู่ในตัวคน ๆ เดียวกัน เมื่อแล่นเรือไปพบเรือศัตรู พ่อค้าในเรือลำดังกล่าวก็พร้อมจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นโจรสลัดทำการปล้นเรือศัตรู ข้อหาสำคัญหนึ่งในช่วงก่อนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเป็นข้อหาว่าด้วย ‘การกระทำอันเป็นโจรสลัด’ (Piracy) ข้อหานี้ใช้ทั่วไปในทางสากล (Pringle, 1953)
เมื่อออกญาพิชิตซึ่งเป็นขุนนางอยุธยาได้ใช้เรือธงของสมเด็จพระนารายณ์ไปทำการปล้นสะดมภ์เรือฮอลันดา รวมถึงนำกำลังไปบุกปล้นชิงเอาสินค้า แล้วเผาสถานีการค้าของฮอลันดา ฮอลันดาแจ้งไปยังราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ ออกญาพิชิตก็ถูกลงโทษประหารชีวิต
นอกจากนี้ Piracy ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยอย่างกรณีการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 เมื่อพ่อค้าสยามกลุ่มหนึ่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้บุกยึดเรือของพ่อค้าอังวะที่เมืองมะริด พระเจ้าอลองพญาขอคืนเรือและสินค้า แต่ถูกปฏิเสธ พม่าจึงเริ่มเปิดศึกกับอยุธยาจนนำไปสู่สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310
เมื่อวงการค้านานาชาติต่างเห็นว่า การกระทำของชาวสยามที่เมืองมะริดนั้น มีลักษณะเป็น Piracy ข้อความหนึ่งที่มักปรากฏในเอกสารแต่งตั้งเจ้าเมืองตามหัวชายฝั่งทะเลสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็คือ กำชับบทบาทหน้าที่ของเจ้าเมืองในการกวดขันโจรผู้ร้ายปล้นชิงในทะเล อำนวยความสะดวก และสร้างความปลอดภัยแก่พ่อค้าและเรือที่สัญจรไปมาในย่าน
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า Piracy มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสยามมากเพียงใด
‘ยุคทอง’ (Golden age) ของโจรสลัดตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 18
โดยมาก โจรสลัดจะถูกมองในแง่ลบแง่ร้ายเป็นผู้ร้าย แต่ในประวัติศาสตร์ตะวันตกและจีน โจรสลัดกลับมีภาพลักษณ์โรแมนติกและบทบาทที่ค่อนข้างหลากหลาย งานประวัติศาสตร์โจรสลัดตะวันตกมักจะถือว่าต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็น ‘ยุคทอง’ ของโจรสลัด (Golden age of pirates) ก่อนจะหดหายและสลายไปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ก่อนจะเกิดยุคของโจรสลัดโซมาเลียและจากแถบชายฝั่งอาฟริกาในยุคปัจจุบัน
ที่ถือว่าคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคทองของโจรสลัดไม่ใช่เพราะช่วงนี้มีโจรสลัดออกอาละวาดเยอะ หากแต่เพราะความรุ่งเรืองจนถึงกับเกิด ‘สาธารณรัฐโจรสลัด’ (Republic of pirates) ขึ้นที่เมืองท่านัสซอ (Nassau) ในหมู่เกาะบาฮามาส (Bahamas) ใกล้แหลมฟอริด้าของทะเลแคริบเบียน (Caribbean) (Woodard, 2007; little, 2021; Konstam, 2019)
จุดเริ่มต้นนั้นมาจากสงครามอังกฤษ-สเปนที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 80 ปี ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 (Hanna, 2017: 110-125) โดยในช่วงปลายสงครามซึ่งส่วนใหญ่รบกันทางทะเล สมรภูมิครอบคลุมมาจนถึงชายฝั่งทวีปอเมริกา เพราะต่างฝ่ายต่างแย่งชิงผลประโยชน์จากการค้นพบโลกใหม่ อังกฤษได้สร้างอาวุธลับชนิดหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ‘สลัดหลวง’ (Privateers) เป็นกองเรือรบกึ่งอิสระปฏิบัติการในลักษณะกองโจร ออกเที่ยวปล้นเรือสเปนที่แล่นไปมาระหว่างยุโรปกับอเมริกาใต้ แต่เมื่อสงครามยุติ อังกฤษไม่ได้รับคนเหล่านี้กลับคืนสู่สังคม อีกทั้งยังมีความพยายามปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองเรือเหล่านี้ในช่วงสงคราม
สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ไปรวมตัวกันอยู่ที่ทะเลแคริบเบียน จากเครื่องมือที่ใช้กำราบศัตรูก็หันมาโจมตีจักรวรรดิอังกฤษเสียเอง จาก ‘สลัดหลวง’ (Privateers) ก็กลายเป็น ‘โจรสลัด’ (Pirates) อย่างที่เรารู้จักกันในภายหลังในที่สุด (Hanna, 2017: 42-45)
จึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการก่อกำเนิดของ ‘สาธารณรัฐโจรสลัด’ ในโลกตะวันตกก็คือจักรวรรดิอังกฤษนั่นเอง โดยที่คนเหล่านี้ โดยมากมาจากชนชั้นแรงงานมีฐานะยากจนในสังคมอังกฤษ การเป็นโจรสลัดนอกจากเป็นช่องทางแสวงหารายได้ เขยิบฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นการตอบโต้ชำระแค้นต่อระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษเวลานั้นอีกด้วย
โลกของโจรสลัดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้นมีลักษณะเป็น ‘โลกที่กลับตาลปัตร’ (Reversal world) กับโลกที่เป็นอยู่บนผืนแผ่นดินในช่วงเวลาเดียวกันแทบจะทั้งหมดทั้งมวล (Johnson, 2020) ตัวอย่างของความกลับตาลปัตรของโลกโจรสลัดเมื่อเปรียบเทียบกับโลกบนผืนแผ่นดิน มีตั้งแต่การสร้างเมืองท่านัสซอในแถบนิวโพรวิเดนส์ (New Providence) ให้กลายเป็น ‘สาธารณรัฐ’ เมื่อ ค.ศ.1706 (ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติอเมริกาในค.ศ.1776 ฝรั่งเศส ค.ศ.1789 โปรตุเกส ค.ศ.1910 รัสเซีย ค.ศ.1917 จีน ค.ศ.1912)
โคลิน วูดาร์ด (Colin Woodard) นักประวัติศาสตร์การเดินเรือชาวอเมริกัน ผู้เขียนงานวิชาการอันโด่งดังเรื่อง ‘The Republic of Pirates: Being the True and Surprising Story of the Caribbean Pirates and the Man Who Brought Them Down’ (Woodard, 2007) ได้แสดงให้เห็นว่า โจรสลัดนัสซอในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นผู้บุกเบิกการใช้ระบบประชาธิปไตยในยุคที่บนผืนแผ่นดินยังไม่มีระบบประชาธิปไตย
ตำแหน่งกัปตันเรือตลอดจนผู้บังคับบัญชาคนสำคัญมาจากการโหวตกันในหมู่ลูกเรือ เมื่อเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือเกิดการตัดสินใจผิดพลาดอย่างใดขึ้น ลูกเรือมีสิทธิโหวตออกจากตำแหน่งและจับปล่อยทิ้งกลางทะเลได้ทุกเมื่อ ความเท่าเทียมกันจึงบังเกิดขึ้นไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว คนผิวสีและคนพื้นเมืองจำนวนมากจึงหลบหนีระบบทาสมาอยู่กับพวกโจรสลัด
แถมบางกลุ่มเช่นกองเรือภายใต้แซมมวล เบลามี (Samuel Bellamy) หรือ ‘แบลค แซม เบลามี’ (Black Sam Bellamy) ยังมีพฤติการณ์ต่อต้านการค้าทาส มุ่งโจมตีและปล้นสะดมภ์เรือค้าทาสที่แล่นไปมาในแถบสามเหลี่ยมอาฟริกา-อเมริกา-ยุโรป การปลดปล่อยทาสและอนุญาตให้คนผิวสีทำงานร่วมกับคนผิวขาวในเรือแบบเท่าเทียมกัน
อีกทั้งแซม เบลามี กับพรรคพวก ยังประกาศชัดเจนถึงเจตนาเป็นกลุ่มต่อต้านสังคมกดขี่ของยุโรปเวลานั้น โดยมุ่งเน้นปล้นคนรวยช่วยคนจน ทำให้เบลามีกับพรรคพวกได้รับสมญาว่า ‘โรบิน ฮูด แห่งท้องทะเล’ (Robin Hood of the sea) (New England Historical Society, 2020)
เช่นเดียวกับกรณีวิลเลียม คิดด์ หรือ ‘กัปตันคิด’ (Captain William Kidd) กับลูกเรือในช่วงก่อนหน้าไม่กี่ปี (Simon, 2020) และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้ชนชั้นนำอังกฤษ บริษัทอีไอซี (British East India Company) ตลอดจนชนชั้นนายทุนพ่อค้าในยุโรปและอาณานิคมอเมริกาซึ่งได้ผลประโยชน์จากการค้าทาสรู้สึกอดรนทนไม่ได้ พยายามส่งเรือรบออกปราบปรามและทำลายแหล่งลี้ภัยอย่างเมืองท่านัสซอ
การปลดปล่อยทาส ทำลายระบบการค้าทาส ปล้นคนรวย ยังทำให้โจรสลัดจากสาธารณรัฐนัสซอได้ชื่อว่าเป็น ‘นักปฏิวัติสังคม’ (Social revolutionary) โดยเนื้อหาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เข้าร่วมกับโจรสลัดกลุ่มเบลามีคนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตจากพายุที่ทำให้เรือจมเป็นชาวพื้นเมืองอเมริกา (American native ซึ่งคนไทยมักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่า ‘อินเดียนแดง’) เขาเป็นชาวเผ่ามิสกิโต (Miskito) ชื่อ ‘จอห์น จูเลียน’ (John Julian) ถูกขายเป็นทาสให้กับ ‘จอห์น ควินซี’ (John Quincy) ซึ่งเป็นปู่ของประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอเมริกาคือ ‘จอห์น ควินซี อดัมส์’ (John Quincy Adams) (Anonymous work, 2013)
กลุ่มของเบลามีนับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในหมู่โจรสลัดจากสาธารณรัฐนัสซอ ยึดเรือและปลดปล่อยทาสได้ถึง 53 ลำภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เบลามี ค่อนข้างเป็นโจรสลัดที่สุภาพและปฏิบัติต่อเชลยด้วยความปรานี อนุญาตให้กัปตันและลูกเรือที่ถูกปล้นเข้าร่วมกับโจรสลัด
รีเบคก้า ไซม่อน (Rebecca Simon) นักประวัติศาสตร์สตรีผู้ศึกษากระบวนการเกิดขึ้นของโลกาภิวัฒน์ผ่านประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเดินเรือและบทบาทโจรสลัดในโลกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ใช้คำถามที่หลายคนสงสัยใคร่รู้มาเป็นชื่อหนังสืออันเกิดจากผลงานค้นคว้าของเธอชื่อว่า ‘ทำไมเราจึงรักโจรสลัด’ (Why We Love Pirates?) (Simon, 2020) ได้แสดงคำตอบโดยชี้ให้เห็นความเป็นผู้บุกเบิกและมาก่อนกาลของโจรสลัด อย่างกลุ่มโจรสลัดภายใต้การนำของวิลเลียม คิดด์ (William Kidd) โจรสลัดทะเลแคริบเบียนรุ่นแรกเริ่มที่พบหลักฐานก่อนการเกิดสาธารณรัฐนัสซอ เมื่อ ค.ศ.1706
คิดด์กับพวกตัดสินใจเป็นโจรสลัดเพราะรู้สึกรับไม่ได้กับการที่บ้านของพวกเขาคืออาณานิคมอเมริกา ถูกปล้นชิงทรัพยากรไปเป็นของอังกฤษที่อยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร โดยอาศัยช่องทางผ่านคือทะเลแคริบเบียน คิดด์กับพวกจึงโจมตีเรือสินค้าอังกฤษ ยึดสินค้าสำคัญ เช่น พริก, ผ้าขนสัตว์, ไวน์, เหล็ก, ทองแดง, ไม้, แร่ธาตุ, อัญมณีต่าง ๆ แล้วนำกลับไปขายคืนให้แก่อาณานิคมอเมริกา จึงมีการมองกันว่าโจรสลัดรุ่นนั้นคือพวกเห็นต่างจากจักรวรรดิอังกฤษและลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรม ซึ่งเป็นการกรุยทางสู่การปฏิวัติอเมริกาในปลายศตวรรษเดียวกันนั้น
อีกกรณีคือ กัปตันชาร์ลส์ จอห์นสัน (Captain Charles Johnson) ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์โจรสลัดชื่อเล่มว่า ‘A General History of the Robberies and Murders of the Most Notorious Pirates’ ได้ระบุถึงคำกล่าวของเบลามี หลังจากที่เขายึดเรือของกัปตันเบียร์ (Captain Beer) มาได้ เบลามี ต้องการให้เรืออยู่กับกัปตันของเรือต่อไป แต่ว่าลูกเรือของเขาไม่ยอม ต้องการให้เผาเรือทิ้ง เพราะกัปตันเบียร์ ปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นโจรสลัด ถ้าปล่อยเรือลำดังกล่าวไว้แล้วตกเป็นของราชนาวีอังกฤษ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือขนทาสข้ามทะเลอีกเช่นเคย เบลามี จึงมีคำกล่าวที่กลายมาเป็นแรงบันดาลแก่โจรสลัด/นักปฏิวัติสังคมในเวลาต่อมาต่อกัปตันเบียร์ดังนี้:
“เราขอโทษด้วยที่ไม่อาจจะยกเรือลำนี้คืนให้แก่ท่านได้ เพราะว่ามันไม่ใช่การตัดสินใจของเราคนเดียว เราจำต้องจมเรือนี้ทิ้งซะ แม้ว่าท่านจะเป็นเพียงสุนัขรับใช้ แต่ว่าท่านก็ยอมรับกฎหมายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้คนรวย พวกคนเจ้าเล่ห์กลิ้งกลอก คดโกง และท่านเองก็รับใช้คนพวกนั้น พวกนั้นปล้นคนจนโดยอาศัยกฎหมายปกป้อง แต่เราปล้นพวกคนรวยโดยอาศัยความกล้าในการปกป้องตนเอง ทำไมท่านไม่มาเป็นสหายของพวกเราล่ะ ดีกว่าไปหลบอยู่ด้านหลังของพวกคนคดโกงเหล่านั้น” (Anonymous work, 2013 ต้นฉบับเอกสารนี้ภาษาอังกฤษดู New England Historical Society, 2020)
แน่นอนว่าโจรสลัดจากสาธารณรัฐนัสซอมิได้มีเฉพาะกลุ่มของเบลามี ยังมีคนอื่น ๆ อีกที่ปรากฏชื่อที่สำคัญ ๆ มีบันทึกหลักฐานกล่าวถึงไว้หลายคน อาทิ เบนจามิน ฮอร์นิโกลด์ (Benjamin Hornigold), เฮนรี เจนนิ่งส์ (Henry Jennings), ชาร์ลส์ เวน (Charles Vane), พอลเกร็พ วิลเลียมส์ (Palgrave Williams) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับแซม เบลามี, เอ็ดเวิร์ด แทตช์ หรือ ‘สลัดเคราดำ’ (Edward Thatch or famous name to know that ‘Blackbeard’), แบล็ค ซีซาร์ (Black Ceasar) โจรสลัดผิวสีผู้ติดตามสลัดเคราดำ, แจ็ค แรคแฮม หรือคาลิโก แจ็ค (Jack Rackham or Caligo Jack) ซึ่งถูกนำบุคลิกไปแปลงเป็นกัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ ในหนัง The Pirates of Caribbean
ไม่พบข้อมูลตัวเลขว่า ในจำนวนนี้มีผู้หญิงกี่คน อย่างไรก็ตามมีผู้หญิงที่ปรากฏชื่อเป็นโจรสลัดหญิงที่โด่งดังในยุคนั้นซึ่งเป็นสมาชิกของสาธารณรัฐนัสซออยู่ 2 คน คือ แมรี รีด (Mary Read) กับแอนน์ บอนนี (Anne Bonny) ในยุคใกล้กันต่อมาอีกฝั่งหนึ่งคือบริเวณทะเลจีนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จรดจีนแผ่นดินใหญ่ มีอีกหนึ่งโจรสลัดหญิงที่โด่งดังชื่อ ‘ชิงชิห์’ (Shing Shih) หรือ ‘เจิ้งอี้ส้าว’ (Zheng Yi Sao)
ผู้หญิงกับ LGBTQ+ ในโลกโจรสลัดตะวันตกทะเลแคริบเบียน
จากที่สังคมมีการแบ่งงานกันทำขั้นพื้นฐานคือการแบ่งงานตามเพศสถานะ ผู้หญิงมักมีบทบาทคู่เคียงกับผู้ชายอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว งานในเรือก็ไม่เว้น อีกทั้งสังคมกลาสีเรือไม่กีดกันผู้หญิงอยู่เป็นทุนเดิม เพราะมีงานในหน้าที่เฉพาะที่ผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชายโดยทั่วไป เช่น คนครัว, คนซักเสื้อผ้า, คนรับใช้, สายข่าว, หมอและพยาบาล, บ้างก็เป็นการโดยสารเรือโดยติดตามคนรัก สามี พ่อ ลูก ฯลฯ
แต่สำหรับในสังคมโจรสลัดผู้หญิงมีบทบาทมากไปกว่านั้น เป็นบทบาทที่เกินไปกว่าสังคมบนบกปกติจะยอมรับได้ เช่น การเป็นนายเรือหรือระดับบังคับบัญชาที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การที่ต้องต่อสู้เผชิญภัยอันตรายต่างๆ ตลอดจนความรุนแรงทางกายภาพ ทำให้มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเลือกที่จะสวมบทบาทข้ามเพศ เช่น การแต่งกายเป็นบุรุษ มีทั้งแบบที่ปลอมตัวขึ้นเรือกับแบบที่เปิดเผยโดยคนในเรือต่างก็รู้ว่าคนผู้นั้นเป็นสตรี แต่ไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะสตรีผู้นั้นมักจะมีทักษะความสามารถในการใช้อาวุธป้องกันตัวไม่ต่างจากผู้ชาย
ถ้าเป็นภาษาปัจจุบันมีคำเรียกที่ตรงกันกับลักษณะผู้หญิงแบบนี้คือ ‘ทอมบอย’ นอกจากการถืออาวุธอย่างปืน หอก ดาบ ซึ่งในสังคมบนบกไม่อนุญาตแล้ว กางเกงยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สื่อถึงบทบาทสตรีเหล่านี้ เมื่อผู้หญิงสามารถสวมกางเกง ใช้อาวุธ และมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายได้ นั่นคือข้อพิสูจน์ว่า ‘ความเป็นเพศ’ (หญิง-ชาย) เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องสรีระร่างกายทางธรรมชาติ
‘ความเป็นชาย’ (masculinity) กับ ‘ความเป็นหญิง’ (femininity) เป็นเรื่องที่สามารถสลับข้ามไปมาได้ โดยที่เพศที่กำหนดโดยสังคมบนบกไม่สามารถใช้เป็นตัวตัดสินได้เท่ากับเพศที่เลือกเป็น แมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี ต่างก็สวมความเป็นชายและบางครั้งก็เขยิบไปใช้เพศสถานะแบบอื่น กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่ทั้งสองที่ริมชายหาดของเกาะ Burgh ประเทศอังกฤษ โดยโปรโมตทั้งสองในฐานะสตรีข้ามเพศ และหรือ ‘โจรสลัดเลสเบี้ยน’ (Lesbian pirate) บ้างก็เสนอว่า ทั้งสองเป็นตัวอย่างคู่รักเพศเดียวกันในยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้าที่วัฒนธรรมวิคตอเรียจะมีบทบาทกำหนดมาตรฐานและครอบงำสังคม
โดยในการเปิดตัวอนุสรณ์สถานดังกล่าวซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) เว็บไซต์หลายสำนักข่าวได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น สเปคตรัมดอทคอม (https://spectrumth.com) ได้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้เอาไว้มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้:
“ภาพประติมากรรมที่คุณเห็นในรูปนี้ คือ ‘Anne Bonny’ (แอนน์ บอนนี) และ ‘Mary Read’ (แมรี รีด) คู่รักโจรสลัดหญิงแห่งมหาสมุทรแคริบเบียนที่ถือว่ามีชื่อเสียงมากในยุคศตวรรษที่ 18 โดยทางประเทศอังกฤษเตรียมเปิดตัวให้ชมได้ต้นปี 2021 นี้ เพื่อรำลึกถึงผู้หญิงและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ถูกมองข้ามและหายไปจากประวัติศาสตร์
‘พวกเธอชนะขีดจำกัดทางเพศและสร้างความประหลาดใจให้กับคนสมัยนั้น’ – นี่คือคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์ ‘Kate Williams’ ที่กล่าวถึงคู่รักโจรสลัดหญิงกับการ ‘ล่าสมบัติมีค่า’ ได้มากมาย และ ‘ทิ้งคนรักนับไม่ถ้วน’ ไว้เบื้องหลัง พวกเธอทั้งคู่เป็นผู้บุกเบิกที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองในสังคมที่ระบบชายเป็นใหญ่ยังเข้มข้น โดย ศาสตราจารย์เคท วิลเลียมส์ ยังย้ำถึงความสำคัญของการขุดข้นเปิดเผยเสียงและเรื่องราวของผู้หญิงและ LGBT+ ในอดีตที่ถูกซ่อนไว้ด้วย...
ประติมากรรมชิ้นนี้ถูกทำขึ้นโดย ‘Amanda Cotton’ ประติมากรชาวอังกฤษ ที่ออกแบบสัมผัสของตัวรูปปั้นแตกต่างกันเพื่อเสนอคาแรคเตอร์ของสองโจรสลัดหญิงทั้งสองคนที่ไม่เหมือนกัน โดยกล่าวว่า ‘ประติมากรรมนี้เป็นสิ่งที่แทนถึงนิสัยของแอนน์ ซึ่งเหมือนไฟ และนิสัยของแมรี ซึ่งเหมือนดิน… เมื่ออยู่แยกกัน เธอทั้งสองคนเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้ แต่เมื่อสองคนนี้มาอยู่ด้วยกันก็ไม่มีใครสามารถหยุดได้อย่างน่าเกรงกลัว ความหลงใหลของแอนน์ปลุกไฟความมุ่งมั่นของของแมรี ความอดทนของแมรีก็ช่วยนำทางให้แอนน์มีเส้นทางไป เมื่อมารวมกันก็ระเบิดออกเหมือนภูเขาไฟที่ห้ามไม่อยู่...”
อย่างไรก็ตาม ประวัติเรื่องราวของแมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี หลายอย่างยังคงเป็นปริศนาคลุมเครือ ความที่ทั้งสองมีชีวิตโลดแล่นในประวัติศาสตร์ในแบบที่ต่างจากคนในระบบสังคมทั่วไป ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้นำไปใช้อ้างอิงสร้างอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์แก่ความแตกต่างหลากหลายทางเพศในภายหลัง
โจ สแตนด์ลีย์ (Jo Standley) (Standley, 1995: 35-48) นักสตรีศึกษาที่สนใจศึกษาประเด็นเรื่อง Gender ในประวัติศาสตร์โจรสลัดมานาน เคยให้ความเห็นโดยสรุปย่อได้ว่า ไม่มีแบบฉบับเฉพาะตายตัวของความเป็นโจรสลัดหญิง แต่ละกรณีมีทั้งข้อเหมือน-ข้อแตกต่าง และมีความหลากหลายอยู่ในแบบฉบับของการเป็นโจรสลัดหญิง ขึ้นอยู่กับเธอแต่ละคนจะเลือกสวมบทบาทเป็นอะไรในแต่ละช่วงด้วย ในตัวคน ๆ เดียวนั้นอาจเป็นทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนรักเพศเดียวกัน แม่ เมีย คนรัก ชู้ โสเภณี สายลับ แม่ครัว ช่างฝีมือ ทหาร คนหาปลา ฯลฯ
นอกจากนี้ โจ สแตนด์ลีย์ (Standley, 1995: 35-48) ยังเสนอด้วยว่า การออกท่องทะเลของผู้หญิง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงการแสวงหาความร่ำรวย ติดตามสามี ลูก หากแต่ยังต้องการเดินทางผจญภัยและแสดงบทบาทท้าทายโลกที่ครอบงำโดยผู้ชายอีกด้วย พูดง่าย ๆ คือ ในจำนวนนี้มีผู้หญิงบางคนที่เข้าไปอยู่ในโลกของโจรสลัดเพื่อเป็นขบถต่อต้านสังคมที่เป็นอยู่บนบกนั้นโดยตรงอยู่ด้วย
สาเหตุที่โลกของโจรสลัดดึงดูดผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็เพราะเป็นโลกที่ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดบทบาทหน้าที่ตายตัวแบบสังคมบนบก ทุกคนสามารถเลือกหนทางชีวิตและสวมบทบาทที่อยากจะเป็นได้ เพียงแต่กฎของโจรสลัดนั้นมีลักษณะเป็นกฎธรรมชาติต้องคำนึงถึงความอยู่รอดปลอดภัยเป็นสำคัญ บทที่นิยมเลือกกันจึงเป็นบทของ ‘ผู้ชายเทียม’ คือการแต่งกายและใช้บุคลิกแบบผู้ชาย ทำให้ความเป็นชายไม่ถูกผูกขาดเฉพาะเพศชาย
ในช่วงที่ถูกจับกุมก็มีข้อมูลว่า แมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี ต่างกำลังตั้งครรภ์อยู่ นอกเหนือจากข้ามเพศไปสวมบทบาทเป็นชายแล้ว ทั้งสองต่างก็มีคนรักเป็นเพศชายและมีความสัมพันธ์ทางเพศ (sex) กับเขาจนตั้งครรภ์ บ้างก็มีข้อมูลในเชิงโต้แย้งว่า ทั้งสองใช้สรีระทางเพศของผู้หญิงเป็นเครื่องมือทางอำนาจอย่างหนึ่ง เพราะคนรักของแอนน์ บอนนี มักจะเป็นกัปตันเรือที่มีความสามารถและทรงอำนาจอยู่ในท่ามกลางโจรสลัดด้วยกันอยู่ด้วย อาทิ เบนจนมิน ฮอร์นิโกลด์ ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐโจรสลัด, เอ็ดเวิร์ด แทตช์ ผู้โด่งดังเป็นที่รู้จักในนาม ‘สลัดเคราดำ’ และคนสุดท้ายซึ่งเป็นพ่อของเด็กในท้องเธอคือ แจ็ค แรคแฮม หรือคาลิโก แจ็ค (ดูรายละเอียดประวัติชีวิตของแมรี รีด กับ แอนน์ บอนนี ใน River, 2012; Duncombe, 2017)
แมรี รีด เป็นหนึ่งในหญิงชนชั้นแรงงานอีกเป็นอันมาก ที่หลีกหนีความยากจนบนบก เริ่มต้นชีวิตในเรือโดยการปลอมแปลงแต่งกายเป็นผู้ชาย เพื่อมาทำงานในเรือ ได้ผ่านการฝึกฝนจนมีทักษะความชำนาญทั้งในการเดินเรือ การเอาตัวรอด ไปจนถึงการฟันดาบ ยิงปืน โจรสลัดมากมายเริ่มต้นจากการเป็นคนงานในเรือพ่อค้าธรรมดา ๆ ก่อนจะย้ายไปอยู่กับสลัดหลวง จากความชำนาญในฐานะสลัดหลวงแล้วก็มักจะหันไปเป็นโจรสลัด เพราะมีอิสระและทำรายได้ดีกว่า
แน่นอนว่าเพราะเป็นผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาสะสวย ก็มักจะมีเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ (Sexuality) มีผู้ชายเข้ามาพัวพัน การบริหารเสน่ห์ยังคงเป็นทักษะที่โจรสลัดหญิงใช้กับผู้ชายในชุมชนโจรสลัด เซ็กซ์ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องผูกมัดผู้หญิงให้ตกเป็นสมบัติของผู้ชาย แต่เซ็กซ์ในหมู่โจรสลัดหญิงมีลักษณะตรงกันข้าม พวกเธอเห็นอำนาจของเซ็กซ์ที่มีต่อผู้ชายและใช้มันเป็นประโยชน์ ทำให้เซ็กซ์กลับมารับใช้ความพึงพอใจของผู้หญิงมากกว่าตอบสนองความต้องการด้านกามารมณ์ของผู้ชาย ไม่ยึดติดกับระบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) เมื่อทะเลาะขัดแย้งหรือมีความพึงพอใจในชายอื่น หมดรักแล้วก็สามารถสลัดทิ้งชายคนหนึ่งไปหาชายอีกคนได้โดยง่าย ไม่ถือว่าสูญเสียคุณค่าตัวตนหรือตกเป็น ‘หม้าย’ ที่ไร้เกียรติแต่อย่างใด
คนรักของแมรี รีด คนสุดท้ายนั้นคือชาวดัตช์ที่ตกเป็นเชลยในเรือ ไม่ใช่ชายชาตรีสู้รบหรือเก่งกาจในการใช้ความรุนแรงตามแบบฉบับโจรสลัดชายทั่วไป มีเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนในเรื่องนี้เป็นอย่างดีคือ เมื่อคนรักคนสุดท้ายที่เธอท้องด้วยนั้น ถูกท้าดวลตัวต่อตัว แมรี รีด แก้ปัญหาโดยการไปดวลกับคนที่มาท้านั้นเอง และก็ฆ่าศัตรูของคนรักเธอเสีย เพราะถ้าปล่อยให้เกิดการดวลกันขึ้นมา แมรี รีด รู้ว่าคนรักของเธอจะพ่ายแพ้และถูกฆ่าตาย นั่นคือมีการสลับขั้วบทบาท แมรี รีด รับบทเป็นผู้ชาย คนรักของเธอซึ่งมีบอดี้ชายกลับกลายบทเป็นผู้หญิง และแมรี รีด ก็แสดงบทบาทปกป้องคนรักของตนเยี่ยงบุรุษปกป้องสตรี แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า เพศวิถีของคนแต่ละช่วงยุคมีความหลากหลายและลื่นไหลพอสมควร ไม่จำเป็นต้องมีบทบาทอยู่แค่เป็นชายหรือหญิงเท่านั้น
Target (เป้าหมาย) ของแมรี รีด มักจะเป็นชายอ่อนแอหรืออาจเป็นผู้ชายธรรมดาไม่เหมือนผู้ชายตามมาตรฐานความเป็นชายแบบที่มีในหมู่โจรสลัด เป็นคนที่ดูไร้อำนาจ ไม่มีความสามารถแบบที่ผู้ชายในสังคมโจรสลัดมักเป็นกัน จนน่าสงสัยว่าอาจจะเพราะแมรี รีด ต้องการให้ชายคนธรรมดานั้นเป็นผู้นำพาเธอออกไปจากโลกของโจรสลัดก็เป็นได้
ขณะที่ Target ของแอนน์ บอนนี มักเป็นชายที่มีอำนาจและเป็นกัปตันเรือเสียส่วนใหญ่ ทำให้เมื่ออยู่ในเรือ ก็เป็นที่รู้กันว่า แอนน์ บอนนี เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงในเรือลำดังกล่าว ถ้าเปรียบเรือเหมือนบ้านของเหล่าโจรสลัด แอนน์ บอนนี มักจะเล่นบทหลังบ้านที่ทรงอำนาจ การมีอำนาจเหนือชายที่เป็นกัปตันอาจจะเป็นทั้งวิธีเอาตัวรอดควบคู่กับเข้าถึงอำนาจไปในตัว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเหตุผลของการมีเซ็กซ์จนตั้งครรภ์ของทั้งสองคืออะไรก็ตาม การตั้งครรภ์ก็เปิดโอกาสให้ใช้ความเป็นหญิงเป็นเครื่องช่วยรอดชีวิตในช่วงสุดท้าย เพราะกฎหมายอังกฤษสมัยนั้นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับสิทธิเลื่อนการพิจารณาโทษ ทำให้ทั้งสองรอดพ้นจากการถูกประหารโดยวิธีแขวนคอ
ในระหว่างการพิจารณาคดีความอยู่นั้น ทั้งแมรี รีด และ แอนน์ บอนนี ต่างถูกบีบคั้นให้ต้องยอมรับสารภาพว่า การไปเป็นโจรสลัดนั้นเป็นความหลงผิด จะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เพราะทางการยังเชื่อว่าผู้หญิงที่ไปเป็นโจรสลัดนั้นถูกล่อลวงโดยผู้ชาย ไม่ปรากฏว่าทั้งสองได้ยอมรับสารภาพตามที่ถูกบีบคั้นนั้นแต่อย่างใด แม้ว่าสุดท้ายแล้วแมรี รีด จะเสียชีวิตไปในระหว่างคลอดลูกในคุก ส่วนแอนน์ บอนนี มีเรื่องเล่าจากอีกมุมหนึ่งว่า บิดาเธอซึ่งเป็นผู้พิพากษาได้วิ่งเต้นอย่างลับ ๆ จนช่วยเธออกจากคุกไปได้ แล้วเปลี่ยนชื่อ-สกุล และมีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงยุคก่อเกิดสาธารณรัฐบนบกคือสหรัฐอเมริกาหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1776
คดีความของแอนน์ บอนนี ได้รับเลื่อนกำหนดการลงโทษออกไปหลายครั้ง ก่อนที่เธอจะหายตัวไปจากคุกอย่างลึกลับและไม่มีใครติดตามจับกุมกลับมา จากหนังสือ ‘Oxford Dictionary of National Biograghy’ อ้างข้อมูลจากหลักฐานเกี่ยวกับเชื้อสายของแอนนี บอนนี มีความเป็นไปได้ว่า บิดาของแอนนี บอนนี มาพาเธอออกไปจากคุก แล้วกลับไปยังเมืองชาร์ลสทาวน์ เธอให้กำเนิดลูกคนที่สองของแจ็ค แรคแฮม และในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1721 เธอก็ได้แต่งงานใหม่กับชายคนหนึ่งชื่อ Joseph Burleigh มีลูกด้วยกัน 10 คน เธอเสียชีวิตในวัย 80 ปี เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1782 (หลังจากอเมริกาเป็นเอกราชกว่า 6 ปี)
บทสรุปและส่งท้าย: ว่าด้วยความสำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ 18
เรื่องราวของโจรสลัดในโลกตะวันตกคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือเป็น ‘ยุคทอง’ ของโจรสลัดในประวัติศาสตร์การเดินเรือนานาชาติด้วยนั้น ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำในรูปแบบนวนิยาย ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน มากมายหลายเรื่องด้วยกัน ที่เด่น ๆ ก็เช่น The Pirate of Caribbean, Black Sails (Treasure Island), Pirates: The Last Royal Treasure, Pirate kingdom และล่าสุดนี้คือเรื่อง One Piece
แน่นอนว่าเรื่องของโจรสลัดในประวัติศาสตร์กับในโลกบันเทิงคดีนั้นคนละเรื่องละราวกัน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เพราะประวัติศาสตร์ของโจรสลัดนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราวในอีกมิติคู่ขนาน
นอกจากเรื่องของทองคำหรือขุมทรัพย์โจรสลัดแล้ว สิ่งที่ทำให้เรื่องของโจรสลัดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไม่เคยจางหายไปคือ การที่เรื่องราวของพวกเขามีประเด็นเกี่ยวข้องกับความพยายามในการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกในอีกศตวรรษต่อมาคือระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐคนธรรมดากับระบบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสียงคนเท่ากัน
นอกจากนี้ ภายในสังคมโจรสลัดยังให้รูปแบบความเป็นไปได้ของชีวิตแบบอื่นที่แตกต่างไปจากชีวิตบนสังคมบก สิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ กลับเป็นสิ่งที่สังคมพวกโจรสลัดปฏิบัติกันมา อย่างเช่นการคัดเลือกผู้นำในหมู่ชาวทะเลนั้นได้มีหวนกลับไปใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงแบบกรีกโบราณ การปลดปล่อยทาส การสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง-LGBTQ+ เป็นต้น
ทะเลอาจเป็นที่ที่อันตรายเต็มไปด้วยความเสี่ยงภัย แต่เนื่องจากเป็นที่ที่ผู้คนสามารถค้นพบเสรีภาพของตนเอง ในยุคสมัยหนึ่งผู้คนถึงได้ออกทะเลกันมาก เพื่อพ้นจากอำนาจรัฐและการปกครองกดขี่ และเมื่อคนอพยพย้ายจากบนบกไปสู่ทะเลมากเข้า สังคมบนบกก็จำต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยนแก้ไขตนเอง
ท้ายที่สุดแล้ว คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน เมื่อนักปฏิวัติและปฏิรูปสังคมยังอยู่ในรูปของโจรและกบฏสังคม
ในประวัติศาสตร์โลกตะวันตกจึงมีมุมมองว่า โจรและกบฏสังคมในช่วงเวลานั้นหาได้เป็น ‘โจรผู้ร้าย’ ตามที่ฝ่ายบ้านเมืองเขาหลอกลวงกันแต่อย่างใดไม่ พวกนี้มีมิติของกลุ่มคนที่มาก่อนกาล
อย่างไรก็ตาม ความเป็นผู้มาก่อนกาลเวลานั้นมีข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาไม่อาจปฏิวัติสังคมได้สำเร็จ แม้จะก่อความเปลี่ยนแปลงไปบางส่วนแล้วก็ตาม
ภาพ: ภาพวาดสมมติ แอน บอนนีย์ (ซ้าย), แจ็ค แรคแฮม หรือคาลิโก แจ็ค (Jack Rackham or Caligo Jack) และแมรี รีด (ขวา) ไฟล์จาก The Print Collector/Print Collector/Getty Images
อ้างอิง:
Anonymous Work. (2020). ‘Female Pirate Lovers’ (Online, 18 November 2020) https://spectrumth.com/2020/12/09/female-pirate-loversAA/ (Searched, 29 April 2021).
Anonymous Work. (2013). ‘Sam Bellamy’ (Online, 30 July 2013) https://krezeegamer.com/2013/07/30/sambellamy/ (Searched, 29 April 2021).
Banerji, Urvija. (2016). ‘The Chinese Female Pirate Who Commanded 80,000 Outlaws : Ching Shih, who lived and pillaged during the Qing Dynasty, has been called the most successful pirate in history’ (Online, 6 April 2016) https://www.atlasobscura.com/articles/the-chinese-female-pirate-who-commanded-80000-outlaws (Searched, 29 April 2021).
Becker, Helaine. (2020). Pirate Queen: A Story of Zheng Yi Sao. Canada: Canlit Books.
Burgess, John. (2010). Stories in Stone: the Sdok Kok Thom Inscription & the Enigma of Khmer History. Bangkok: River Book.
Clements, Jonathan. (2005). Coxinga: And the Fall of the Ming Dynasty. New York: Sutton Publishing.
Dolin, Eric J. (2019). Black Flags, Blue Waters: The Epic History of America's Most Notorious Pirates. New York: Liveright.
Duncombe, Luara S. (2017). Pirate Women: the Princesses, Prostitutes, and Privateers Who Ruled the Seven Seas. London: Hardcover.
Hanna, Mark G. (2017). Pirate Nests and the Rise of the British Empire, 1570-1740. North Carolina: The Omohundro Institute of Early American History and Culture and the University of North Carolina Press.
Hao, Zhidong. (2011). Macau History and Society. Hong Kong: Hong Kong University Press.
Johnson, Steven. (2020). Enemy of All Mankind: A True Story of Piracy, Power, and History's First Global Manhunt. New York: Riverhead Books.
Klein, Shelly. (2006). The Most Evil Pirates in History. Singapore: Barnes & Noble.
Konstam, Augus. (2019). The Pirate World: A History of the Most Notorious Sea Robbers. New York: Osprey Publishing.
Little, Benerson. (2021). The Golden Age of Piracy: The Truth behind Pirate Myths. London: Hardcover & E-Book.
McIsacc, Molly. (2019). ‘Ching Shih: The Former Prostitute Turned Ruthless Pirate Who Put Blackbeard to Shame’ (Online, 27 August 2019) https://historydaily.org/ching-shih-the-pirate-queen (Searched, 29 April 2021).
Murray, Dian H. (1987). Pirates of the South China Coast 1790-1810. Stanford: Stanford University Press.
New England Historical Society. (2020). ‘Black Sam Bellamy, the Pirate Who Fought Smart, Harmed Few, Scored Big’ (Online, 1 December 2020) https://www.newenglandhistoricalsociety.com/black-sam-bellamy-pirate-fought-smart-harmed-scored-big/ (Searched, 29 April 2020).
Parker, Philip. (2012). The Great Trade Routes: a History of Cargoes and Commerce over Land and Sea. China: Conway.
Pringle, Patrick. (1953). The Story of Great Age of Piracy. New York: Norton.
Pusteblume, Sarah. (2018). ‘Zheng Yi Sao: Pirate Queen of the Qing Dynasty’ (Online, 4 April 2018) http://historyheroines.com/2018/04/04/zheng-yi-sao/ (Searched, 29 April 2021).
River, Charles. (2012). History’s Famous Women Pirates: Grace O’Malley, Anne Bonny and Mary Read. New York: Groundwood Books.
Rose, Jamaica M. (2010). The Book of Pirates. Utah: Gibbs Smith.
Sakurai, Yumio and Takako Kitagawa. (1999). ‘Ha Tien or Banteay Meas in the Time of the Fall of Ayutthaya’ in Breazeale, Kennon (ed.). From Japan to Arabia: Ayutthaya’s Maritime Relations with Asia. Bangkok: The Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities Textbooks Project.
Simon, Rebecca. (2020). Why We Love Pirates? The Hunt for Captain Kidd and How He Changed Piracy Forever (Maritime History and Piracy, Globalization, Caribbean History). New York: Mango Press.
Smith, Amy. (2018). ‘Meet Ching Shih: the prostitute-turned-pirate who banned rape in her 50,000-man fleet’ (Online, 25 July 2018) https://www.newhistorian.com/2018/07/25/ching-shih-pirate-lord/ (Searched, 29 April 2021).
Standley, Jo. (1995). Bold in Her Britches: Women Pirates Across the World. San Francisco: Pandora Press.
Syukri, Ibrahim. (2005). History of the Malay Kingdom of Patani. translated by Conner Bailey and John N. Miksic. Chiang Mai: Silkworm Books.
Weatherly, Myra. (2006). Women of the Sea: Ten Pirate Stories. Greensboro: Morgan Reynolds Incorporated.
Wolters, Oliver W. (1970). The Fall of Srivijaya in Malay History. New York: Cornell University Press.
Woodard, Colin. (2007). The Republic of Pirates: Being the True and Surprising Story of the Caribbean Pirates and the Man Who Brought Them Down. New York: Houghton Mifflin Harcourd.