‘ควง อภัยวงศ์’ สมาชิกคณะราษฎร ผู้ร่วมตั้งพรรคประชาธิปัตย์ บนเส้นทางสู่หัวหน้าพรรคคนแรก

‘ควง อภัยวงศ์’ สมาชิกคณะราษฎร ผู้ร่วมตั้งพรรคประชาธิปัตย์ บนเส้นทางสู่หัวหน้าพรรคคนแรก

‘ควง อภัยวงศ์’ สมาชิกคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการเมื่อ 2475 แต่เมื่อขัดแย้งกับ ปรีดี พนมยงค์ นายควง จับมือกับพี่น้องปราโมช ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

  • ควง อภัยวงศ์ สมาชิกคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการเมื่อ พ.ศ. 2475 รับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์ที่วัดเลียบ
  • ภายหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายปรีดี พนมยงค์ นายควง จับมือกับ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติไม่นาน การขับเคี่ยวแข่งขันทางการเมืองถูกเปรียบเปรยว่าเป็นประหนึ่ง ‘สามก๊ก’ 3 นายกรัฐมนตรี อดีตนักเรียนฝรั่งเศสผู้ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กล่าวคือ จาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ‘โจโฉผู้เฟื่องอำนาจ’ ปรีดี พนมยงค์ เป็น ‘เล่าปี่ แม่ทัพผู้ไร้แผ่นดินครอง’ และ ควง อภัยวงศ์ เป็น ‘ซุนกวน’ [1]

กล่าวจำเพาะ ‘ซุนกวน’ หรือหลวงโกวิทอภัยวงศ์ นายพันตรี ควง อภัยวงศ์ กำเนิดแต่ครอบครัวขุนนางเก่า ตระกูลอภัยวงศ์นับว่า มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์จักรี นับตั้งแต่ต้นสกุลคือ ‘เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์วิเศษสงครามรามนรินทร์อินทบดีฯ (แบน-ในแผ่นดินก่อนหน้า คือสมัยพระเจ้าตากสินครองบรรดาศักดิ์ ‘พระยายมราช’)’ ผู้สำเร็จราชการกรุงกัมพูชาสมัยในหลวงรัชกาลที่ 1 ไล่เรียงลงมาคือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (นอง) ซึ่งเป็นทวดนายควง

ต่อมา คือเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) เป็นปู่ และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ทั้งหมดปกครองมณฑลบูรพา (เขตกัมพูชา 5 จังหวัด พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ มงคลบุรี และ ระสือ) [2]

จนถึงรัชกาลที่ 5 หลังจากเสียดินแดนไม่นาน บิดาของนายควง เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ได้อพยพย้ายข้ามมาจังหวัดปราจีนบุรี ขณะนั้นนายควง อายุได้ 4 ขวบ เขาเกิดที่เมืองพระตะบอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2445 มารดาชื่อ รอด อภัยวงศ์ [3]

เมื่อเริ่มการศึกษา ปี พ.ศ. 2450 ด.ช.ควง เข้าโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2454 ย้ายเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ สอบไล่ได้ชั้น 3 แผนกฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2461 ได้เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนสำเร็จวิชาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัย École centrale de Lyon  เมื่อปี พ.ศ.2470

ระหว่างเรียนอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนี้เอง นายควง ได้รู้จักกับสองนักเรียนทุนรัฐบาลคนสำคัญ คือ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.) และนายปรีดี พนมยงค์

กระนั้น ปรีดี ย้อนรำลึกว่า เขาไม่ได้เอ่ยปากชักชวนนายควงเข้าร่วมก่อการขณะยังอยู่ฝรั่งเศส หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ พี่สาวของนายควง คือหม่อมเชื่อม(ต่างมารดา เกิดจากคุณหญิงสอิ้ง) คือชายาพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พื้นเพครอบครัวนายควงมีความใกล้ชิดกับฝ่ายเจ้ามากเกินไป

ภายหลังเรียนจบ เข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่างผู้ช่วยโทกองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงโกวิทอภัยวงศ์’ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 ด้วยความสนิทสนมที่ปรีดี มีต่อนายควง ในระดับที่เป็นหนึ่งในสองเพื่อนเจ้าบ่าวในงานสมรสของนายควง กับคุณหญิงเลขา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2475 (ก่อนวันปฏิวัติเพียงเดือนเศษ) อีกทั้งหน้าที่การงานของนายควง คือการทำงานด้านการสื่อสาร ปรีดี จึงชักชวนเขาเข้าร่วมก่อการ ( 3 เดือนก่อนก่อการ)

โดยภารกิจของนายควง เมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คือการนำคณะผู้ก่อการ ‘ตัดสายโทรศัพท์’ ที่วัดเลียบ เพื่อมิให้ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้นสื่อสารถึงกันและกันได้ นายควง ย้อนรำลึกถึงปฏิบัติการครั้งนั้นไว้ว่า

“...เราถอนหายใจยาวพร้อมกัน 4 น.ครึ่ง ผ่านไปแล้วข้าพเจ้ายกมือขึ้นเป็นสัญญาณ อันเป็นฤกษ์งามยามดีของเรา แล้วสัญญาณแห่งการปฏิวัติก็อุบัติขึ้น สายโทรศัพท์ทางด้านนอกได้ถูกตัดลงแล้ว!...” [4]

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายควง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อ พ.ศ.2478 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยครั้งแรก ปีเดียวกันนั้นเอง ต่อมา เจริญก้าวหน้าด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง คือ พ.ศ.2481 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ

ภายหลังข้อพิพาทอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศส วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2484 นายควง ได้รับพระราชทานยศพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร และเป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพบก ทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนจากรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2484 เหตุการณ์นี้ทำให้นายควง เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ด้วยฐานะบุตรของอดีตผู้ปกครองมณฑลบูรพาก่อนจะเสียไปให้ฝรั่งเศส

นายควง กล่าวไว้ในครั้งนั้นว่า “รู้สึกภาคภูมิใจยิ่งที่เมื่อ 34 ปีมาแล้วบิดาของตนได้เป็นผู้อัญเชิญธงไทยกลับสู่ประเทศไทย แต่บัดนี้ตนสามารถที่จะนำธงไทยกลับคืนไปสู่ถิ่นเดิม”

ในปีเดียวกันนั้น นายควง ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และถัดมา พ.ศ.2485 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กระทั่งถึงจุดสูงสุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487

เบื้องหลังการขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองครั้งแรก คือการจับมือร่วมกันระหว่างปรีดี กับนายควง เพื่อโค่นสหายรักจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อสงครามยุติ นายควง ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังวันสันติภาพเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2488 จนได้กลับมาดำรงแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปีถัดมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2489 ครั้งนี้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในฐานะ ส.ส.ประเภทที่ 1 (ก่อนหน้านั้น นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเขาเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2 สองวาระ)

อย่างไรก็ดี ครั้งนี้ นายควงเริ่มขัดแย้งกับปรีดี อย่างหนัก เมื่อเชื่อว่า พรรคพวกของฝ่ายหลังเล่นการเมืองในสภาจนนายควง จำต้องลาออกจากตำแหน่งอีกเพียงเดือนเศษถัดมา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ศกนั้น พร้อมทั้งการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อมาของนายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นเหตุให้นายควง จับมือกับสองพี่น้องปราโมช คือ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในเดือนถัดมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2489

นายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม อดีต ส.ส.พรรคนี้ให้เกร็ดข้อมูลเสริมไว้ว่า “ความจริงวันกำเนิดพรรคประชาธิปัตย์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2489 แต่ตรงกับวันจักรี จึงได้ถือเอาวันที่ 5 เมษายน เป็นวันที่ระลึกพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมา เพราะวันที่ 6 ตรงกับวันจักรี ไม่สะดวกที่สมาชิกจะมาพบปะโดยพร้อมเพรียงกัน” [5]

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เล่าไว้ชวนขบขันในวันเชิญนายควง ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคว่า “การตั้งพรรคประชาธิปัตย์ คุณควง รับโดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าให้กูเป็นแล้วมึงอย่าไปด่าหลวงประดิษฐ์ฯ เขานะ ไอ้เราก็บอกว่าไม่ด่าหรอกครับ คึกฤทธิ์บอก เสร็จแล้วคนที่ด่าหลวงประดิษฐ์เป็นคนแรกก็คือคุณควง เพราะหลวงประดิษฐ์แกไม่ให้เป็นนายกฯ แกสู้ไปเอาหลวงธำรงฯ และใครต่อใครมา คุณควงแกเลยด่าใหญ่ ด่าที่หน้าพระรูปรัชกาลที่ 1 ตอนหาเสียง” [6]

ถัดจากการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เพียงหนึ่งเดือน ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ทว่า ถัดมาเพียงหนึ่งเดือนในวันที่ 9 มิถุนายน ได้บังเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดกรณีสวรรคต จนเป็นเหตุให้นายปรีดี ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

ระหว่างนั้น ผลงานโดดเด่นของนายควง ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ คือการนำทีมอภิปรายถล่มรัฐนาวาของหลวงธำรงฯ จนซวนเซเป็นประวัติกาลถึง 8 วัน 8 คืน ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม พ.ศ.2490  และเพียงไม่กี่เดือนถัดมา เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารที่สนับสนุนจอมพล ป. ในเบื้องต้นได้เชิญนายควง ขึ้นบังหน้าด้วยการยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ให้เพื่อสร้างความชอบธรรม

ทว่า ครั้นนายควง ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารในสมัยที่ 4 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 กลับเป็นการครองอำนาจเพียงระยะเวลาแสนสั้น เมื่อปรากฏคณะนายทหารที่สนับสนุนจอมพล ป. นำกำลังเคาะบ้านนายกควง เพื่อ ‘จี้ให้ลาออก’ ณ วันครบรอบ 2 ปีก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันจักรี 6 เมษายน พ.ศ.2491 และนับเป็นการสิ้นสุดเส้นทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลของนายควง เพราะหลังจากนั้น อีกสองทศวรรษจนถึงวันอสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2511 เขาก็ไม่เคยหวนกลับคืนสู่การเป็นรัฐบาลอีกเลย โดยสามารถแบ่ง 20 ปีสุดท้ายของนายควง ได้ดังนี้

 

10 ปีแรก พ.ศ.2491-2501

หลังลงจากตำแหน่งนายกฯ นายควง ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนเมื่อจอมพล ป. ก่อรัฐประหารตนเองทางวิทยุเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ทิ้ง และนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 กลับมาปรับปรุงใช้ นายควง ได้แบนไม่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนั้น

ระหว่างพักงานการเมืองระยะนี้ นายควง ได้รับการตั้งฉายานานา ไม่ว่าจะเป็น ‘นายกฯ เสื้อเชิ้ต’ เนื่องจากความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง หรือ ‘โหรหน้าสนามกีฬา’ เนื่องจากบ้านพักของท่านอยู่ในซอยเกษมสันต์ หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ และมักออกมาทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าเสมอ

จนกระทั่งเมื่อพระราชบัญญัติพรรคการเมืองประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2498 นายควง ได้กลับมานำทัพประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งกึ่งพุทธกาลเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 แต่พ่ายแพ้ต่อพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. และถึงแม้ต่อมาปีเดียวกันนั้น จอมพล ป. พ้นจากอำนาจด้วยการรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกวาด ส.ส.ทั้งหมดของพระนครและจังหวัดธนบุรีได้ในการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร แต่โดยรวมก็ยังต้องพ่ายแพ้แก่พรรคทหารของจอมพลสฤษดิ์ จนตกเป็นฝ่ายค้านในสภาที่มีพลเอกถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับจากปีใหม่ พ.ศ.2501

และในท้ายที่สุด เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ก่อการรัฐประหารตนเองเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ปลายปีเดียวกันนั้น ประเทศไทยต้องถูกปกครองโดยไร้การเลือกตั้งอีกหนึ่งทศวรรษนับจากนั้น

 

10 ปีสุดท้ายของชีวิตช่วง พ.ศ.2501-2511 นับจากรัฐประหารครั้งสุดท้ายของจอมพลสฤษดิ์

ดังว่า นายควง ต้องกลายเป็นคนว่างงานทางการเมือง บุญชนะ อัตถากร เคยถามจอมพลสฤษดิ์ ถึงสาเหตุที่มิได้ตั้งนายควง ให้มีตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลยุคปฏิวัติ 2501 เลย

ซึ่งสฤษดิ์ ตอบว่า “นายควงก็เป็นคนดี แต่พรรคพวกไม่ยอมให้เอาเข้ามา” และเป็นระยะนี้เองที่นายควง ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าที่ญี่ปุ่น แต่ความสัมพันธ์ของคู่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ฟื้นคืน เมื่อจอมพลผู้นิราศเขียนจดหมายถึงบุตรชายถึงการพบกันครั้งนั้นไว้ว่า

“26 มิถุนายน 2504....วันนี้ น.ควง(1) กับเมียมาหาที่บ้าน คุยว่านายกญี่ปุ่นกับ รมต.ต่างประเทศต้อนรับ คุยสนุก ซึ่งเราก็ไม่ได้ถาม พ่อเลยยินดีด้วยที่ได้ต้อนรับดีมีเกียรติ มาก็พูดยุแหย่ตลอดเวลา นับว่าขาดทุนไปวันหนึ่ง จะมาก็ไม่บอกก่อน มีลูกไม้ ส่งหลานมาก่อนล่วงหน้า ที่จริงเราไม่อยากพบ เพราะพูดมาก ไร้สาระ โกหกมากด้วยตามเคย

(1) นายควง อภัยวงศ์ อดีตหัวหน้าพรรค ‘ประชาธิปัตย์’ พรรคที่ ‘โกหกประชาชนเป็นใหญ่’ ” [7]

(ใน (1) คือเชิงอรรถจากเอกสารต้นฉบับ สืบค้นต้นฉบับได้จากเชิงอรรถ [7])

ครั้นถัดมาอีก 2 ปี เมื่อนายควง แสดงปาฐกถาสำคัญเรื่อง ‘ชีวิตของข้าพเจ้า’ ณ หอประชุมคุรุสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 อดีตสหายรักอย่างนายปรีดี ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยหลายประเด็น เช่นว่า “ประการหนึ่งนายควงฯ พยายามเอาข้าพเจ้าเป็นตัวประกอบการตลกด้วย อาทิคำพูดตอนหนึ่งของนายควงฯ มีว่า ‘ที่ผมเรียกหลวงประดิษฐ์ฯว่าอาจารย์นั้น ความจริงไม่ได้เป็นอาจารย์ของผมหรอก เราเป็นเพื่อนกัน...แต่แกเป็นคนมีโปรแกรมมากเหลือเกิน เราก็ตั้งนิคเนมแกว่า อาจารย์...” [8]

บั้นปลายชีวิตนายควง ป่วยด้วยโรคมะเร็งและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2511 สิริอายุได้  66 ปี ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ฉบับรัฐบาลจอมพลถนอมเพียง 3 เดือนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 ซึ่งเรียกได้ว่าสายไปเสียแล้ว ขณะพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระกรุณาเสด็จไปเยี่ยมนายควง นายควง ลงจากเตียงเองโดยไม่ให้ใครพยุง ไปก้มกราบสมเด็จพระราชินีฯ ที่ใกล้พระบาท และสะอื้นกราบทูลขอพระราชทานฝากกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งสุดท้าย

 

เรื่อง: นริศ จรัสจรรยาวงศ์

ภาพ: ควง อภัยวงศ์ รวบรวมจากเอกสารเก่า

เชิงอรรถ:

[1] ฟรีเพรสส์ (นามแฝง), นักการเมืองสามก๊ก 4 เล่มชุด พ.ศ.2492-2493 (พระนคร: สหกิจ).

[2] สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร, บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง 2491 วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ.2521,  น.8.

[3] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควงอภัยวงศ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2511, (โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์). น.13.

[4] ควง อภัยวงศ์, การต่อสู้ของข้าพเจ้า, พ.ศ.2501. (เจริญธรรม), น.29-30.

[5] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, นายควง อภัยวงศ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์, พ.ศ.2522, (เรืองศิลป์), น.65.

[6] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, นักเลงมาก็ต้องนักเลงไป สัมภาษณ์ในประชาชาติ 1 ก.ย.2517 ดูในรวมบทสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในประชาชาติรายวันฉบับวันอาทิตย์, พ.ศ.2518, (ประพันธ์สาสน์),น.200.

[7] อ.พิบูลสงคราม, จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 5, (ศุนย์การพิมพ์),น.708.

[8] คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่อง ของ นายปรีดี พนมยงค์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ ณ วัดใหม่อัมพร จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517,น.75.