ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 2) อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เป็นเมืองเก่าร้างไปเมื่อไหร่ อย่างไร?

ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 2) อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เป็นเมืองเก่าร้างไปเมื่อไหร่ อย่างไร?

ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 2) ครั้งนี้จะพาไปดูข้อมูลว่า เมืองเก่านั้นร้างไปเมื่อไหร่ เกิดอะไรขึ้นกับศรีเทพในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดอย่างไร และทำไม?

  • มรดกโลกศรีเทพ ในวันนี้เหลือเพียงซากปรักหักพัง ทำให้เกิดคำถามว่า หากซากที่เหลือไว้ยังสื่อให้เห็นถึงความโอ่อ่าใหญ่โต ทำไมอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่จึงล่มสลายกลายเป็นเมืองร้าง
  • คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับศรีเทพในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในที่นี้แบ่งออกได้เป็นคำอธิบายแบบกว้าง ๆ 2 (+1) แบบ

บทนำและปัญหา

มรดกโลกศรีเทพ เป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยร่องรอยความโอ่อ่าใหญ่โต มากด้วยศิลปกรรมโบราณ ล้วนแต่เป็นภาพสะท้อนความรุ่งเรืองในอดีตกาล ส่วนซากปรักหักพังเหลือทิ้งไว้เป็นปริศนาที่ชวนให้หลายคนพยายามไขกันเรื่อยมา ปริศนาว่าเพราะเหตุใด ทำไม อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงมีอันต้องล่มสลายกลายเป็นเมืองร้างไป?  

กว่าจะมีการค้นพบและเริ่มให้ความสำคัญก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสด็จตรวจมณฑลเพชรบูรณ์ และได้เสด็จมาสืบหาเมืองโบราณแห่งหนึ่งที่เคยปรากฏชื่อในทำเนียบหัวเมืองสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่เมืองนี้กลับหายไปในภายหลังสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา แล้วก็มาพบเมืองโบราณชื่อบ้านเรียกว่า ‘เมืองอภัยสาลี’ แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่าเมืองนี้คือเมืองเดียวกับเมืองที่ชื่อ ‘ศรีเทพ’ ที่เคยปรากฏชื่อในทำเนียบหัวเมืองเก่านั้น   

จากสภาพที่เห็น ของโบราณในเมืองศรีเทพและบริเวณโดยรอบรัศมี 15 กม. ล้วนมีอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลปกรรมเนื่องในวัฒนธรรมแบบบายนเป็นของชิ้นที่มีอายุอ่อนสุดที่พบในเมืองโบราณศรีเทพ ไม่พบของในรุ่นสุโขทัยหรืออยุธยา คำถามที่ตามมาติด ๆ กันคือ เกิดอะไรขึ้นกับศรีเทพในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19

อ่านเรื่อง ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 1) ความสำคัญของเมืองศรีเทพในประวัติศาสตร์ไทย-สากล

คำอธิบายต่อปัญหานี้ ที่ผ่านมาแบ่งได้เป็นกว้าง ๆ 2(+1) คำอธิบาย คือ

(1) คำอธิบายของชาวบ้านในพื้นที่

และ (2) คำอธิบายจากนักวิชาการ โดยเฉพาะสำหรับในที่นี้คือ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายล่าสุดเพิ่มเติมเข้ามาเป็นแนวทางใหม่ในการพิจารณาปัญหานี้ นับเป็นคำอธิบายที่ (3) รายละเอียดมีดังลำดับต่อไปนี้

(1) คำอธิบายตามมุมมองของชาวบ้านในพื้นที่

เมื่อคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ บริเวณเมืองศรีเทพ มีชาวบ้านตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณรอบนอกของคูเมืองก่อนแล้ว และคณะเดินทางของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ให้เป็นไกด์นำทัวร์ แต่ปรากฏว่าแรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเห็นว่าคงจะเป็นพวกไปได้ลายแทงมาขุดหาสมบัติ ถ้าบอกผิด ไม่ได้สมบัติกลับไปแล้ว ผีบรรพชนผู้ฝังสมบัติไว้จะโกรธเคืองแล้วบันดาลให้เกิดความทุกข์เข็ญขึ้นกับพวกตน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า ไม่ได้เป็นพวกได้ลายแทงมาขุดหาสมบัติอยู่พักหนึ่ง ชาวบ้านจึงค่อยให้ความร่วมมือและนำคณะของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเข้าชมเมือง และชี้จุดว่ามีสิ่งของสำคัญอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง

อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้ว คณะผู้บุกเบิกรุ่นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้นำเอาของแปลก ๆ จำพวกรูปสลัก เทวรูป พระพุทธรูป กลับไปพระนครด้วย (ของบางส่วนภายหลังยังได้มีการนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครทุกวันนี้) ทั้งนี้ โดยใช้วิธีรับซื้อโบราณวัตถุรูปแปลกๆ จากชาวบ้าน นับได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองทรงเป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อวัตถุโบราณ แต่สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามปรามในเรื่องนี้

ประเด็นสำคัญสำหรับตรงนี้คือ มีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบ ๆ เมืองโบราณแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะไปพบเมืองนี้ สถานที่สำคัญในเมืองศรีเทพบางแห่งเช่น ‘ปรางค์สองพี่น้อง’ ‘เขาคลังใน’ ‘เขาคลังนอก’ ‘เขาคลังหน้า’ ‘ปรางค์ฤาษี’ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่า สถานที่เหล่านี้ เดิมทีในยุคที่ยังรุ่งเรืองอยู่นั้นมีชื่อว่าอะไรบ้าง หน่วยงานที่ดูแลจัดการบริหารจึงได้ใช้ชื่อชาวบ้านเรียกนี้เรียกกันสืบมาเท่าทุกวันนี้  

เมื่อเป็นแหล่งโบราณที่มีชาวบ้านอยู่อาศัย ต่อมาจึงได้มีการสืบถามความรู้และมุมมองของคนในละแวกย่านที่มีต่อเมืองโบราณแห่งนี้ และเช่นเดียวกับหลายที่ มุมมองของชาวบ้านเป็นสิ่งที่จะเห็นได้จากตำนานเรื่องเล่าของท้องถิ่น เกี่ยวกับสาเหตุการล่มสลายของเมืองศรีเทพ ชาวบ้านศรีเทพเล่าโดยผูกโยงกับผีบรรพชนในท้องถิ่น แต่ที่พิเศษเฉพาะคือ ผีบรรพชนของท้องถิ่นศรีเทพอยู่ในรูปของพระฤาษี มีศาลพระฤาษีตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในย่าน ศาลสำคัญ ๆ นั้นก็เช่นที่ข้างปรางค์ฤาษี ภายในวัดป่าสระแก้ว

ตำนานเรื่องเล่าว่าด้วยสาเหตุความล่มสลายของเมืองโบราณศรีเทพมีชื่อเรียกว่า ‘ตำนานฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว’ เนื้อความมีดังต่อไปนี้:  

“ที่บนเขาใกล้เมืองศรีเทพ (อาจหมายถึงเขาถมอรัตน์-ผู้อ้าง) มีฤาษีสองตนเป็นเพื่อนรักกันมากสร้างกุฏิอยู่ใกล้กัน ฤาษีตนหนึ่งชื่อตาวัว อีกตนหนึ่งชื่อตาไฟ มีลูกศิษย์เป็นท้าวพระยาผู้ครองเมืองศรีเทพ วันหนึ่งฤาษีตาไฟบอกกับลูกของท้าวพระยา ผู้เป็นศิษย์ว่า น้ำในบ่อสองบ่อนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใครได้อาบน้ำในบ่อหนึ่งก็จะตาย แต่ถ้าเอาน้ำอีกบ่อหนึ่งมารด ก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ ลูกของท้าวพระยานั้นไม่เชื่อ ฤาษีตาไฟจึงตกลงจะทดลองให้ดู แต่ขอคำมั่นสัญญา จากลูกท้าวพระยานั้นว่า เมื่อฤาษีตาไฟตายลูกท้าวพระยาจะต้องเป็นผู้เอาน้ำบ่อที่สองมารดให้คืนชีวิตใหม่ ลูกท้าวพระยาก็ให้คำมั่นสัญญา ดังนั้นฤาษีตาไฟก็ลงไปในบ่อที่หนึ่ง แต่ฤาษีตาไฟต้องตายไป เพราะศิษย์ขาดความซื่อตรงไม่ทำตามสัญญาคือไม่เอาน้ำบ่อที่สองมารดให้ กลับหนีไปในเมืองเสีย

กล่าวถึงฤาษีตาวัวเคยไปมาหาสู่กับฤาษีตาไฟอยู่สม่ำเสมอ รู้สึกผิดสังเกตที่ไม่เห็นฤาษีตาไฟมาเยี่ยมเยียนก็ออกไปตามหา เมื่อผ่านบ่อน้ำที่ใครอาบน้ำบ่อนี้ตาย  ฤาษีตาวัวเห็นน้ำในบ่อเดือดพล่านก็ทราบว่า มีเหตุเพทภัยเกิดขึ้นและค้นพบศพฤาษีตาไฟในบ่อน้ำนั้น ฤาษีตาวัวจึงรีบไปตักน้ำอีกบ่อหนึ่งมารดซากศพของฤาษีตาไฟ ฤาษีตาไฟฟื้นคืนชีวิตจึงเล่าเรื่องที่เป็นมาให้ฤาษีตาวัวฟังแล้วว่าจะต้องแก้แค้นลงโทษลูกของท้าวพระยา ให้หนัก และจะลงโทษประชาชนทั้งหมดที่อยู่ใกล้เมืองและในเมืองอีกด้วย ฤาษีตาวัวเตือนสติว่าอย่าลง โทษรุนแรงถึงขั้นนั้นเลยแต่ฤาษีตาไฟไม่ฟัง  

จากนั้นจึงนิมิตวัวตัวหนึ่งขึ้นมาเอาพิษร้ายบรรจุในท้องวัวจนเต็ม แล้วจึงปล่อยวัวกายสิทธิ์ให้เดินรอบเมืองขู่คำรามด้วยเสียงอันกึกก้องตลอดเวลา ยามประตูเมืองเห็นผิด สังเกตก็รีบปิดประตูเมืองทันที วัวกายสิทธิ์เข้าเมืองไม่ได้ จึงเดินวนเวียนอยู่รอบหน้าประตูเมือง  พอประตูเมืองเปิดวัวกายสิทธิ์ซึ่งคอยทีอยู่แล้วนั้นก็ตรงรี่เข้าไปในเมือง พอถึงกลางใจเมือง ท้องวัวกายสิทธิ์ก็ระเบิดแตกออก พิษร้ายแรงที่อยู่ในท้องวัวไหลพุ่งทำลายคนในเมืองศรีเทพตายหมด เมืองศรีเทพจึงเป็นเมืองร้างตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา”

ศาลฤาษีตาไฟ และฤาษีหน้าวัว ภาพจาก กำพล จำปาพันธ์

น่าสังเกตว่า นอกจากศาลฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว ที่ปรางค์ฤาษีแล้ว ยังมีพบรูปโกลนฤาษี รูปคนหน้าวัวแบกอยู่ที่เขาคลังนอก รวมทั้งทับหลังรูปวัวโคนนทิ และยังพบโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นรูปเกี่ยวกับฤาษีและรูปวัว จึงเกิดความเชื่อว่า ที่มาของตำนานฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว อาจมาจากการที่ชาวบ้านพบรูปเกี่ยวกับทั้งสองมาก เลยนำเอาไปผูกเป็นเรื่องนิทานขึ้น ลักษณะนี้มีตัวอย่างเช่นที่เมืองเพนียต จ.จันทบุรี เป็นเมืองที่พบรูปสตรีมาก ก็ได้มีปราชญ์ชาวบ้านนำเอารูปที่พบนี้ไปผูกแต่งเป็นตำนานเรื่องพระนางกาไวขึ้นมา  

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อของชาวบ้านอีกสายหนึ่งที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของเมืองศรีเทพ กล่าวคือชาวบ้านมีความเชื่อว่า เป็นเมืองที่เทพยดาสร้างเอาไว้ก่อนที่จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ มนุษย์ (ชาวบ้าน) ที่รุกล้ำเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในคูเมืองจะทำให้เกิดภัยพิบัติ โรคร้ายจะมาเยือน จะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีอันเป็นไป จนถึงกับสติวิปลาสฟั่นเฟือน ทำให้มนุษย์ (ชาวบ้าน) ไม่กล้าเข้าไปรุกล้ำ ได้แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบนอก เข้าไปหาของป่าและล่าสัตว์บางชนิดได้ และมีการตั้งศาลขึ้นที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าเมือง เรียกว่า ‘เจ้าพ่อศรีเทพ’ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะมีงานบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพ เกิดเป็นงานบุญประจำปีของอำเภอศรีเทพไปด้วย

ตามความเชื่อในสายนี้แล้ว นับได้ว่า ศรีเทพคือ ‘เมืองเทพสร้าง’ ที่แท้ทรู!!!

แต่ก็ไม่มีคำอธิบายว่าเพราะเหตุใด ทำไม เมื่อสร้างแล้ว เทพถึงไม่อยู่ ไปอยู่สวรรค์แทน กลุ่มคนที่เล่าตำนานศรีเทพสองฉบับนี้ (ตำนานฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว กับตำนานศรีเทพเมืองเทพสร้าง) เป็นคนละกลุ่มกัน กลุ่มแรกอยู่มาก่อนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จมาพบเมือง ส่วนกลุ่มหลังดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากชื่อเมืองที่ได้จากพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว  

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อสายที่สองนี้ (เจ้าพ่อศรีเทพ) เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการดำรงรักษาเมืองศรีเทพอย่างเห็นได้ชัด คำอธิบายสาเหตุการร้างไปของเมืองศรีเทพตามตำนานความเชื่อสายนี้ ก็คือเทพยดาผู้สร้างเมืองได้ละทิ้งเมืองไปอยู่สวรรค์  การพบเทวรูปเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระศิวะ พระกฤษณะ พระวิษณุ พระสุริยเทพ ฯลฯ คงส่งผลต่อความเชื่อเช่นนี้ ประกอบกับชื่อศรีเทพ ชวนให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นเมืองของเทพเจ้า คำอธิบายนี้ไม่เป็นที่เชื่อกันในหมู่คนภายนอก

ขณะที่ความเชื่อสายแรก (ฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว) ได้รับการสานต่อ ถึงกับมีงานวิชาการออกมารองรับเลยทีเดียว เพราะเป็นคำอธิบายสาเหตุการล่มสลายของเมืองที่เกิดจากปัจจัยคือโรคห่าระบาด    

 

(2) คำอธิบายตามทฤษฎีของนักวิชาการ

คำอธิบายทางวิชาการแรกเริ่มเดิมทีก็อิงตามตำนานเรื่องเล่าของชาวบ้าน ดร. ควอริช เวลส์ (Quaritch H. G. Wales) ซึ่งเคยสำรวจเมืองศรีเทพเมื่อพ.ศ.2478-2479 แสดงความเห็นว่าตำนานฤาษีตาไฟ ฤาษีตาวัว นี้มีความจริงแทรกอยู่ อาจจะเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้น จนทำให้ผู้คนต้องทิ้งเมืองหนีไป

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายเรื่องเมืองร้างเพราะโรคระบาดนี้ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความสมเหตุสมผล  เพราะหากเป็นปัจจัยจากโรคระบาด เว้นว่างสัก 2-3 ปี คนก็จะกลับเข้ามาอยู่ใหม่ได้ ไม่ถึงกับจะต้องทิ้งเมืองหนีไปโดยสิ้นเชิงแบบนั้น อย่างเรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารหริภุญไชยลำพูน ที่ชาวเมืองเมื่อเผชิญโรคห่าระบาด ทิ้งเมืองไป 2 ปีแล้วก็กลับมาตั้งเมืองใหม่

หรืออย่างเรื่องในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เมื่อโรคห่าระบาดจนบุคคลสำคัญอย่างเจ้าแก้วเจ้าไท (น่าจะเป็นพระสังฆราชา แต่ภายหลังเข้าใจผิดกันว่าเป็นพระราชโอรส) สิ้นพระชนม์ ได้มีการฝังพระศพไว้ เมื่อผ่านเวลาไป 2 ปีเศษ และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้วก็ได้ให้ขุดพระศพขึ้นมาฌาปนกิจ แล้วได้ตั้งวัดขึ้นในสถานที่ฝังพระศพเดิมนั้น

แต่ศรีเทพไม่ได้กลับฟื้นคืนเป็นเมืองใหม่ขึ้นอีกเหมือนอย่าง ‘กรุงอโยธยา’ ที่กลายมาเป็น ‘กรุงศรีอยุธยา’ ภายหลังจากสถาปนากรุงขึ้นใหม่

แม้แต่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่มีความเชื่อว่าเคยเป็นเมืองร้างไปเพราะโรคห่าระบาด แต่สภาพที่ปรากฏกลับเป็นเมืองที่มีพัฒนาการในสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย ดังจะพบร่องรอยจากสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ โบราณสถานหมายเลข 1 (วัดปราสาท), เจดีย์ยอดเขาทำเทียม, เจดีย์วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม, เจดีย์พระธาตุเขาดีสลัก, พระละมุดในถ้ำเขาดีสลัก, พระพุทธบาทเขาดีสลัก, พระพุทธรูปหินทรายแดงที่พบที่เขาพระศรีสรรเพชญาราม เป็นต้น

ด้วยความที่ศรีเทพเป็นแหล่งทวารวดี คำอธิบายเรื่องการร้างไปของเมือง เลยมักจะได้รับการอธิบายผ่านมุมมองความเชื่อที่นักวิชาการมีต่อประเด็นการสลายตัวไปของวัฒนธรรมทวารวดีไปด้วย ผู้ที่อธิบายเช่นนี้ก็เช่น ธิดา สาระยา, ผาสุข อินทราวุธ, Pierre Dupont, Robert Lee Brown, Anna Bennett and Hunter Watson เป็นต้น

สาเหตุการล่มสลายของทวารวดีตามที่เคยมีนักวิชาการเสนอกันมานั้นมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ คือ (1) การรุกรานของเขมร (2) การเปลี่ยนเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ที่จะส่งผลทำให้การค้ากับโลกภายนอกเกิดอุปสรรคมาก จนทำให้ผู้คนต้องทิ้งถิ่นฐานย้ายไปตั้งรกรากในที่อื่นที่มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะดวกกว่า

ในด้านเหตุปัจจัยจากการรุกรานของเขมรนั้น ทวารวดีที่ศรีเทพดูจะสลายตัวไปเร็วกว่าภาคกลางตอนล่าง เพราะลพบุรีถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพมายึดไว้ได้ตั้งแต่ในพุทธศตวรรษที่ 15  ในขณะที่ทวารวดีในภาคกลางยังรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เมื่อลพบุรีถูกเขมรในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยึดไว้ได้แล้ว ผลกระทบก็เกิดขึ้นกับหัวเมืองที่อยู่ถัดขึ้นไปตามลำน้ำป่าสักคือศรีเทพ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ศิลปกรรมแบบเขมรที่พบในเมืองศรีเทพ ไม่ว่าจะเป็น ‘ปรางค์ศรีเทพ’ ซึ่งเป็นปรางค์ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองศรีเทพ รากฐานโครงสร้างผังเดิมของ ‘ปรางค์สองพี่น้อง’ และทับหลังที่จะพบอิทธิพลไศวนิกาย รวมถึง ‘ปรางค์ฤาษี’ ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างคูเมืองไปราว 3 กม. แต่อยู่ในแนวแกนทิศแบบตะวันออก-ตะวันตก ขนานกับเขาถมอรัตน์-เขาคลังนอก ล้วนแต่เป็นของมีอายุร่นไปได้ถึงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ก็คือเป็นช่วงหลังจากที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พิชิตเมืองละโว้หรือลพบุรีไว้ได้แล้ว  

แต่ทั้งนี้เมืองศรีเทพก็ยังตั้งอยู่สืบต่อมาจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ดังจะพบโครงสร้างแผนผังที่มีการปรับเปลี่ยนที่บริเวณปรางค์สองพี่น้องเป็นอโรคยาศาล และการปรับภายในช่องคูหาของปรางค์ศรีเทพเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพเนื่องในศาสนาพุทธนิกายมหายานอย่างที่นิยมทำในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

นั่นหมายความว่า แม้ว่าวัฒนธรรมทวารวดีจะสลายตัวหรือเสื่อมอำนาจลงไปแล้วก็ตาม แต่ศรีเทพก็ยังตั้งเป็นเมืองอยู่สืบต่อมาอีกกว่า 3 ศตวรรษ การรุกรานจากเขมรจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบจนทำให้เกิดความวิบัติล่มสลายไปแต่อย่างใด ตรงกันข้าม นั่นเป็นการเปลี่ยนวิถีความเชื่อจากแบบเก่า (คือทวารวดี) ไปสู่แบบใหม่ (คือพราหมณ์และต่อมาคือบายนแบบเขมร) คือเปลี่ยนไปตามที่เกิดมีมหาอำนาจใหม่เข้ามาในพื้นที่

ในแง่นี้ปรางค์ปราสาทแบบเขมรตลอดจนรูปเคารพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันนั้นก็อาจเป็นการปรับตัวเข้าหามหาอำนาจใหม่ที่ว่านี้ (คือเขมร) โดยคนศรีเทพเอง มากกว่าจะเป็นการที่เขมรมาบังคับให้เปลี่ยนตาม เพราะเมื่ออำนาจของเขมรสิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แต่บ้านเมืองในเขตภาคกลางหลายแห่งรวมทั้งลพบุรีและศรีเทพก็ยังหาได้ละทิ้งวัฒนธรรมแบบพราหมณ์เขมรกลับไปนับถือคติทวารวดีเก่าแต่อย่างใด     

การเปลี่ยนเส้นทางน้ำดูจะเข้าเค้าและสมเหตุสมผลกว่าสาเหตุปัจจัยอย่างอื่น ลำน้ำเหียง ลำสนธิ และคูคลองต่าง ๆ ในละแวกย่านศรีเทพ จะพบว่ามีขนาดเล็ก แคบ และตื้นเขินมาก ถ้าสภาพที่เห็นในปัจจุบันนี้ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มากนัก เราก็พอจะมองภาพออกว่า การที่ไม่มีเส้นทางน้ำขนาดใหญ่พอจะรับเรือขนส่งบรรทุกสินค้าตลอดจนการเติบโตของการค้าทางทะเลที่กำลังคึกคักอยู่ในช่วงเวลาโน้น จะส่งผลให้ศรีเทพกลายเป็นบริเวณตอนในที่ด้อยความเจริญกว่าใครเพื่อนได้ยังได้บ้าง

ไม่ใช่แต่เฉพาะกับเมืองศรีเทพ เมืองโบราณรุ่นเดียวกันต่างก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ จนน่าเชื่อว่าช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรืออาจเป็นต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่มีภัยพิบัติใหญ่ที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ขนานใหญ่ อย่างเมืองอู่ทอง ลำน้ำจระเข้สามพันที่เคยใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักก็ต้องพ่ายให้กับแม่น้ำท่าจีนไป เมืองนครปฐม ผู้คนก็เคลื่อนไปหาแม่น้ำนครไชยศรี ไม่อยู่ที่เดิม  เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ก็พบการเคลื่อนย้ายออกจากแหล่งน้ำเดิมไปอยู่กับแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างแม่น้ำบางคาง (แม่น้ำบางปะกงบริเวณอ.เมือง จ.ปราจีนบุรี)

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้  นอกจากศรีเทพแล้ว ยังมีอีกหลายเมืองที่ดรอปลงหรือสลายตัวไป อาทิ เมืองซับจำปา จ.ลพบุรี, เมืองจันเสน จ.นครสวรรค์, เมืองขีดขิน เมืองอู่ตะเภา จ.สระบุรี, เมืองพระรถ เมืองพญาเร่ จ.ชลบุรี, เมืองสิงห์ เมืองกลอนโด เมืองครุฑ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น ถ้าจะมีภัยพิบัติในช่วงนั้นก็ต้องเป็นพิบัติใหญ่หลวงโคตร ๆ ระดับน้อง ๆ กับภัยที่ทำไดโนเสาร์สูญพันธุ์กันเลยทีเดียว ภัยแบบนี้พันปีคงจะมีสักครั้งหนึ่ง เพราะส่งผลกระทบวงกว้างให้เกิดกับท้องที่ห่างไกลกันได้ถึงเพียงนั้น  

บางเมืองที่ลิสต์มาข้างต้นจะพบว่ายังตั้งอยู่ในลำน้ำใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ ขนาดกว้างและลึก ยังสามารถใช้แล่นเรือสัญจรได้อยู่ อย่างเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อยที่ไหลไปออกยังประเทศเมียนมาได้จนปัจจุบัน หรืออย่างเมืองพระรถ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่ถึงแม้จะเป็นปัญหาว่า แม่น้ำพานทองอยู่ที่ไหนแน่ แต่บริเวณก็ไม่ไกลจากทะเลและปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง

บางเมืองที่มีประเด็นว่าเกิดการเปลี่ยนเส้นทางน้ำกะทันหันจนคนต้องอพยพทิ้งเมืองหนีไป อย่างเช่นเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ก็กลับปรากฏว่ามีร่องรอยการอยู่อาศัยต่อเนื่องในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ แม่น้ำจระเข้สามพันที่ว่าเล็กลงนั้นก็ยังคงสำคัญ และเอาเข้าจริง ลำน้ำเหียงตลอดจนแนวคูคลองในเมืองศรีเทพ ถึงแม้ไม่มีขนาดใหญ่ แต่ยังใช้ประโยชน์ได้สืบมา อย่างน้อยชาวบ้านนาตะกรุด บ้านบึงนาจาน บ้านโคกสะอาด ก็พิสูจน์ให้เห็นตรงนี้ ไม่งั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองก็ไม่สามารถใช้เดินทางมาสำรวจเมืองศรีเทพได้หรอกครับ

งานศึกษาทางมานุษยวิทยาประยุกต์ที่นักมานุษยวิทยาเช่น ชนัญ วงษ์วิภาค เคยทำไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว ก็ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าจากความทรงจำของคนชราหลายคนในอ.ศรีเทพ ยังเล่าว่าราวทศวรรษ 2460 ยุคที่ยังไม่มีระบบชลประทานและยังไม่มีถนนสายสระบุรี-หล่มสัก ลำน้ำบริเวณบ้านนาตะกรุดยังคงเป็นตลาดท่าเรือส่งข้าวเปลือกและของป่าลงไปสระบุรี-กรุงเทพฯ

สรุปคือ ในช่วงหลังสิ้นพุทธศตวรรษที่ 18 มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นแน่นอน อาจมีภัยพิบัติเกิดขึ้นกับเมืองโบราณ และก็เป็นไปได้ที่จะเกิดมีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ แม่น้ำลำคลองสายหลักกลายเป็นสายรอง แต่ไม่ถึงกับวิบัติล่มจมขนาดไม่ตั้งเป็นเมืองอยู่ได้ต่อมา

เหตุปัจจัยที่นำความเสื่อมจนล่มสลายมาให้แก่เมืองโบราณ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพิจารณาสาเหตุปัจจัยจากระบบเศรษฐกิจสังคมเท่าที่ควร เราทราบกันดีว่าศิลปกรรมสวยงามแปลกตาที่เราพบเห็นตามเมืองโบราณนั้นมีมิติที่สะท้อนกำลังทางเศรษฐกิจอยู่ในตัวด้วย เศรษฐกิจดีผู้คนอยู่ดีกินดีก็มีกำลังเรี่ยวแรงมีแก่ใจให้กับการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม แต่หากช่วงไหนผู้คนทุกข์ยากต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนทำมาหาเลี้ยงชีพก็อาจไม่มีแก่ใจจะมาสนใจของเหล่านี้

บ้านเมืองอาจจะยังอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณทรัพยากรธรรมชาติ แต่ระบบการจัดการมีปัญหาทำให้ไม่สามารถกระจายทรัพยากรให้แก่ผู้คนได้ทั่วถึงกัน หรือเกิดความเสื่อมบางอย่างขึ้นภายในหมู่ชนชั้นนำ ประพฤติตนไม่เป็นที่น่าเคารพเชื่อถือในหมู่ไพร่บ้านพลเมือง ก็เป็นเหตุนำความเสื่อมทำให้บ้านเมืองถึงกาลวิบัติได้ทั้งสิ้น 

ไม่ใช่บังเอิญหรอกที่คนรุ่นอยุธยาจะมีเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ทำนายความเสื่อมของบ้านเมืองออกมาในลักษณะนั้น ตลอดจนถึงการที่ชนชั้นนำต้นกรุงเทพฯ ก็มีมุมมองต่อความล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาอยู่ในแนวเดียวกันแต่ต่างรายละเอียด (เพราะมุ่งเป้าด้อยค่าราชวงศ์ที่แล้วอย่างราชวงศ์บ้านพลูหลวงเสียเกินจริงไปหน่อย) นั่นก็เพราะความรู้ต่อประเด็นการล่มสลายของบ้านเมือง อาจมีต้นเค้าที่มาจากเรื่องในอดีตที่เมืองโบราณก่อนหน้ากรุงศรีอยุธยาเคยเผชิญมาแล้วด้วยเหมือนกัน      

ธรรมจักรเมืองศรีเทพ ภาพจาก กำพล จำปาพันธ์

(3) คำอธิบายตามมุมมองใหม่ล่าสุด

พุทธศตวรรษที่ 19-20 นั้นตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งนักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ อาทิ แอนโทนี รีด (Anthony Reid) มองว่าเป็นอีกสมัยที่เรียกว่า ‘ยุคการค้า’ (Age of commerce) เป็นช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ส่งผลทำให้สิ่งที่เคยเป็นมาในอดีตก่อนหน้านั้นสิ้นสุดไปแล้ว รีดใช้คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นจุดแบ่งระหว่าง ‘ยุคจารีต’ กับ ‘ยุคการค้า’ (ต่างจากนักวิชาการไทยที่ยังคงใช้คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นจุดแบ่งยุคจารีตกับสมัยใหม่)

แต่เนื่องจากรีด ไม่ได้ศึกษาศรีเทพ จึงไม่ได้อธิบายว่าศรีเทพเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคการค้า จึงเป็นภาระของเราเองในการใช้คอนเซปต์นี้มามองศรีเทพ      

สิ่งที่เรารู้อย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศตวรรษที่ 19/คริสต์ศตวรรษที่ 15 มีอะไรบ้าง?

ในทางสากล, ยุโรปเกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น  เพราะเป็นช่วงที่จักรวรรดิโรมันที่ตั้งอยู่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 จักรวรรดิแตกสลาย ยุโรปเข้าสู่ยุคกลาง (Middle age)  บาทหลวงคริสต์ที่มีอำนาจในยุโรปช่วงนั้นมุ่งความสนใจหลักไปที่การชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในตะวันออกกลาง (คือสงครามครูเสด) ยังไม่ค่อยสนใจพวกป่าเถื่อนในเอเชียมากนัก กว่าสเปนและโปรตุเกสจะแล่นเรือเข้ามาก็อีกนับศตวรรษหลังจากนั้น   

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในเอเชีย พบว่าอินเดียเก่าได้เสื่อมสลายตัวไปเพราะอิทธิพลการเข้ามาของจักรวรรดิมุสลิม อินเดียไม่ใช่อินเดียเดิมที่เคยยิ่งใหญ่และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ภูมิภาคอุษาคเนย์ดังที่เคยเป็นมาในสมัยทวารวดี หรือเขมรพระนคร หรือพุกาม หรือมัชปาหิต

จีนราชวงศ์ถังที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับบ้านเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ก็ถูกมองโกลรุกราน จีนปกครองโดยราชวงศ์หยวน ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าบรรณาการขาดช่วงตอนไป กว่าจะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ก็ในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งกว่าจะตั้งตัวได้ก็ล่วงมาจนถึงหลังเจิ้งเหอเดินเรือมาถึงแล้ว 

ศรีลังกากลายเป็นที่มั่นใหม่ของพุทธศาสนาเถรวาท แต่กว่าที่จะมีคนอย่างพระมหาเถรศรีศรัทธา ซึ่งเป็น ‘พระถังซัมจั๋งของสยามและลังกา’ ก็ว่าได้ เวลาก็ล่วงเลยมากว่าศตวรรษแล้ว

การเปลี่ยนแปลงชนชั้นนำและขนบความเชื่อถือหลักของบ้านเมืองใหญ่ข้างต้นนี้ ส่งผลโดยตรงต่อการสูญเสีย ‘คู่ค้า’ เก่าแก่ดั้งเดิมในระบบเศรษฐกิจสังคมของอุษาคเนย์ที่ดำเนินมาหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น  

ในอุษาคเนย์, เขมรพระนครหลังสิ้นรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 วัฒนธรรมบายนก็เสื่อมคลายมนต์ขลังลง ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มที่นับถือพราหมณ์ แต่ไม่อาจแทนที่อำนาจบารมีเดิมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงนี้เขมรอ่อนแอลงมาก จักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่มีอำนาจและรุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคต้องพบความเสื่อมสลายตัวไปเช่นกัน

ล้านนา พระเจ้าเม็งรายได้เขยิบจากเวียงกุมกามไปสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นใน พ.ศ.1839 ก่อนหน้านั้นพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกางหาวก็ได้รวมกำลังกันขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงไปแล้วสถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเมื่อ พ.ศ.1781 ต่อมา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ที่ครองลพบุรี ก็อพยพมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893  อีก 3 ปีต่อมา พระเจ้าฟ้างุ้มก็สถาปนาอาณาจักรล้านช้างโดยมีหลวงพะบางเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ.1896   

อยุธยากับล้านช้างดูจะเป็นตัวแปรสำคัญลำดับแรก ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อศรีเทพ แม้ว่าจะอยู่ใกล้ชิดติดกับสุโขทัยและพิษณุโลกมาก แต่การไม่พบร่องรอยศิลปกรรมแบบสุโขทัย กลับพบอยุธยาและล้านช้างในบริเวณตอนบนและตอนใต้ เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยถึงการที่ราชวงศ์สุโขทัยก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 22 ไม่ได้สนใจแผ่อิทธิพลเข้ามาในย่านบริเวณนี้ สอดคล้องกับความในจารึกสุโขทัยที่ว่ากองทัพของพญาลิไทที่บุกตะลุยมายังทิศตะวันออกของอาณาจักร มาถึงแค่ในแถบนครไทย-เพชรบูรณ์  ไม่ได้วกลงใต้มาศรีเทพด้วยแต่อย่างใด 

จากสถานการณ์สากลสู่สภาพภายใน จะเห็นได้ว่าศูนย์กลางวัฒนธรรมของโลกในเวลานั้นได้แปรเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง โลกยุคเก่าของจารีตโบราณที่เคยเป็นมาได้พังทลายลง  โลกใหม่ (ในสมัยนั้น) กำลังจุติขึ้นให้กำเนิดอีกยุคต่อมา ช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘ศรีเทพเก่า’ ร้างไปนั้น ก็เป็นช่วงเดียวกับที่มี ‘ศรีเทพใหม่’ เกิดขึ้นเช่นกัน 

แม้ว่างานของรีด จะเน้นยุคการค้าทางทะเล ให้ความสำคัญแก่เมืองท่าแถบคาบสมุทรและหมู่เกาะอย่างมาเลย์และชวา แต่จากงานของโยชิยูกิ มาซูฮาร่า ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐตอนในซึ่งแม้ไม่มีทางออกทางทะเลอย่างล้านช้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 ได้มีส่วนร่วมกับยุคการค้าจนก่อให้เกิดการพัฒนาคลี่คลายจาก ‘รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป’ ไปสู่ ‘รัฐกึ่งเมืองท่า’

ที่สำคัญ บรรดาสินค้าที่เมืองท่าชายฝั่งทะเลขนส่งออกสู่ตลาดโลกนั้น จำนวนมากก็เป็นสินค้าที่ผลิตจากดินแดนตอนใน ของป่าก็ได้มาจากเขตป่าเขา ทำให้หัวเมืองตอนในกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญตามมาด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยให้เมืองท่าที่มีทางออกทะเลขยายอำนาจเข้ามาควบคุมหัวเมืองตอนในไปในเวลาเดียวกันด้วย 

งานของไมเคิล วิกเคอรี (Michael Vickery) ก็เคยอธิบายกรณีการย้ายศูนย์กลางของกัมพูชายุคหลังเมืองพระนครล่มสลายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่บริเวณจตุรมุขและละแวกว่า มิได้มีสาเหตุเกิดจากการรุกรานของอยุธยาเท่านั้น เพราะแม้จะย้ายไปละแวกแล้วก็ยังไม่พ้นถูกอยุธยาส่งกองทัพมาตีได้อีก หากแต่เพราะบริเวณจัตุรมุขกับละแวกนั้นอยู่ในทำเลที่เหมาะแก่การค้ากับจีนในราชวงศ์หมิง พูดง่าย ๆ ก็คือที่ชาวกัมพูชาอพยพย้ายไปจากเมืองหลวงเก่าไปยังที่ใหม่นั้นก็เพราะมี ‘ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ’ คือการค้ากับจีนเป็นประเด็นหลัก   

นอกจากกรณีล้านช้างกับละแวกข้างต้นนี้แล้ว ถามว่าเมืองอย่างเวียงกุมกามของล้านนาได้หายไปไหนไหม ก็ไม่ใช่อย่างนั้น (สักหน่อย) เพราะเขาย้ายไปสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นที่เชิงดอยสุเทพติดลำน้ำแม่ปิงมากขึ้น การสถาปนากรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มีประเด็นว่า เคลื่อนย้ายมาจากเมืองเก่าคืออโยธยา ถามว่าแล้วอโยธยาได้ร้างหรือหายไปไหนไหม ก็ซ้อนทับกับกรุงศรีอยุธยานั่นแหละ (กรุงศรีอยุธยาใช่จะแค่เกาะเมืองซะที่ไหน ก็รวมบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสักและบริเวณโดยรอบด้วยตลอด ยกเว้นในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ไม่ได้นับรวมสถานที่นอกเกาะ)

การย้ายถิ่นฐานบ้านช่องของคนไปตามแต่ที่ไหนเป็นทำเลทำมาค้าขายคล่อง เดินทางสะดวก ปลูกพืชปลูกอะไรได้ผลดี เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เป็นเหมือนกันทั่วทั้งโลก ยิ่งมนุษย์ในอดีตที่ชีวิตขึ้นกับลมฟ้าอากาศและดินน้ำมาก ก็ยิ่งต้องแสวงหาที่ใหม่ ๆ ที่เหมาะแก่การยังชีพอยู่เสมอ ไม่มีอยู่ติดที่ใดที่หนึ่ง แต่แน่นอนมนุษย์ก็จะมีคอนเซปต์เกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอนของตน (ไม่งั้นไม่มีคนอยากกลับเข้าประเทศจนเป็นชนวนเหตุให้เกิดความว้าวุ่นอย่างทุกวันนี้หรอก)  

กรณีล้านช้าง, ละแวก, ล้านนา, อยุธยา, พะโค, ไดเวียด, มะละกา, ชวา คือตัวอย่างของรัฐที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเข้าหายุคการค้า ขณะที่เมืองอย่างศรีเทพเก่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าศรีเทพสลายตัวไปอย่างสิ้นเชิง พัฒนาการอย่างที่เกิดขึ้นอย่างในกรณีกัมพูชาหลังสมัยพระนคร ก็เกิดขึ้นกับศรีเทพในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเช่นกัน เพราะพบชุมชนเมืองแบบยุคการค้าอยู่ที่วิเชียรบุรี โดยที่มีร่องรอยหลักฐานถึงการสืบต่อวัฒนธรรมจากยุคศรีเทพเก่า  

วิเชียรบุรีคือศรีเทพสมัยอยุธยา คำว่า ‘วิเชียรบุรี’ เป็นชื่อใหม่ที่ได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนหน้านั้นยังใช้ ‘ศรีเทพ’ เป็นชื่อเมืองอยู่ ‘พระศรีถมอรัตน์’ ชื่อเจ้าเมืองวิเชียรบุรี ก็เป็นชื่อพ้องกับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพ จากการสำรวจของผู้เขียนก็พบร่องรอยวัฒนธรรมสมัยอยุธยาอยู่ที่วิเชียรบุรีเป็นอันมาก อ.ศรีเทพเองเป็นอำเภอใหม่เพิ่งตั้งเมื่อพ.ศ.2521 แยกจากอ.วิเชียรบุรี หลังจากมีถนนสายสระบุรี-เพชรบูรณ์เป็นเวลา 4 ปี (ถนนเส้นนี้ตัดเมื่อพ.ศ.2517)

ในเบื้องต้นจึงกล่าวได้ว่า ศรีเทพไม่ได้หายไปไหนไกล คนย้ายไปตั้งเมืองใหม่อยู่ที่วิเชียรบุรี วิเชียรบุรีคือทายาทสายตรงของศรีเทพโบราณนั่นเอง สรุปคือ ศรีเทพเสื่อมลง เปิดทางสู่อีกยุคหนึ่ง เป็นยุคการค้าที่จะวิวัฒน์มาสู่การเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ปกติเฉกเช่นเดียวกับเมื่อกรุงศรีอยุธยาสิ้นไปภายหลังจากเกิดเหตุการณ์กรุงแตกเมื่อ พ.ศ.2310 ก็เปิดทางสู่ยุคของกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับต่อมา   

เรื่องมันก็มีอยู่เท่านั้นเอง ทีนี้เราก็มาว้าวุ่นกันต่อว่า เมื่อย้ายไปวิเชียรบุรีแล้วเป็นไงบ้าง ไว้ค่อยเล่าในตอนที่ 3 เป็นลำดับต่อไป...  

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ/Facebook

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. ‘สงครามระหว่างอโยธยากับนครธม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) จากเอกสารประวัติศาสตร์ไทย กัมพูชา และชาติตะวันตก’ วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2560), หน้า 99-123.

ชนัญ วงษ์วิภาค. มานุษยวิทยาประยุกต์ในศรีเทพและศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2559.

ธิดา สาระยา. ทวารวดี: ต้นประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545.

ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี: การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542.

มาซูฮาร่า, โยชิยูกิ. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง: สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 จาก ‘รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป’ ไปสู่ ‘รัฐกึ่งเมืองท่า’. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. 

รีด, แอนโทนี. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680: เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม (Southeast Asia in the Age of Commerce, 1450-1680: Volume 1). แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ และคณะ, เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊ค, 2548.

ศิลปากร, กรม. เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2538.

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์. สมบัติเมืองเพชรบูรณ์. เพชรบูรณ์: แสงสว่างการพิมพ์, 2543.

Bennett, Anna and Watson, Hunter. Defining Dvaravati. Bangkok: Designated Areas for Sustainable Tourism Administration, 2020.

Briggs, Lawrence P. The Ancient Khmer Empire. Philadelphia: The Americn Philosophical Society, 1999.

Brown, Robert Lee. The Dvaravati Dharmacakras: a Study in the Transfer of Form and Meaning. University of California (Berkeley), 1981.

Dupont, Pierre. The Archaeology of the Mons of Dvaravati. translated from the French to English by Joyanto K. Sen, Bangkok: White Lotus, 2006.

Miksic, John N. and Goh, Geok Y. Ancient Southeast Asia. London: Taylor & Francis Group, 2017.

Vickery, Michael. ‘Cambodia and Its Neighborus in the 15th Century’ in Wade, Geoff and  Laichen, Sun. (ed.). Southeast Asia in the Fifteenth Century. Singapore: NUS Press, 2010.

Vickery, Michael. Cambodia after Angkor: the Chronicular Evidence for the Fourteenth to Sixteenth Centuries. Michigan: University of Michigan Ann Arbor Press, 1977.

Wales, H. G. Quaritch. Dvaravati: the Earliest Kingdom of Siam. London: Bernard Quaritch, 1969.