ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 1) ความสำคัญของเมืองศรีเทพในประวัติศาสตร์ไทย-สากล

ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 1) ความสำคัญของเมืองศรีเทพในประวัติศาสตร์ไทย-สากล

ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 1) ว่าด้วยความสำคัญของ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ในประวัติศาสตร์ไทย-สากล สำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ ยุคสมัย รายละเอียดต่าง ๆ ท่ามกลางวาระยื่นเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

  • เมืองโบราณศรีเทพกำลังตกเป็นประเด็นจากวาระยื่นเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกช่วงปี 2566 นอกจากจะเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีข้อถกเถียงที่สืบเนื่องมาจากแนวคิดชาตินิยม
  • ศรีเทพถือเป็นถิ่นที่มีร่องรอยของอารยธรรมก่อนสมัยสุโขทัยและอยุธยา เป็นยุคสมัยบ้านเมืองที่มี 2 วัฒนธรรมใหญ่ คือทวารวดี และเขมรพระนคร

ก่อนเขมร (แล้วไง?) & ‘ศรีเทพ’ กับอคติอันเนื่องมาจากความคลั่งชาติ (ที่เพิ่งสร้าง)

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เริ่มเป็นที่สนใจขึ้นอีกครั้งเมื่อมีการยื่นเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตามมาด้วยการโปรโมตเกทับเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา โดยการยกประเด็นว่า ศรีเทพเก่าแก่กว่านครวัด ดังที่ทราบกันดีว่า พักหลังมานี้ คนไทยกับคนกัมพูชามีเรื่องขัดแย้งกันข้ามพรมแดนด้วยเรื่องการเคลมมรดกทางวัฒนธรรม 

ชาวกัมพูชามักจะมีไม้ตายอยู่ที่รูประเบียงประสาทนครวัด-นครธม ทุกอย่างที่มีอยู่ในกำแพงนั้นเป็นต้องถือว่า มีต้นกำเนิดอยู่ที่กัมพูชาหมด คนไทยเองก็ดูจะไม่ลดราวาศอก ก็มีอะไรให้เคลมกลับไปไม่น้อยไปกว่ากัน ล่าสุดก็คือ ‘ศรีเทพ’

คำถามคือ ศรีเทพในฐานะมรดกโลกทางวัฒนธรรมจะมีความดีเด่นอย่างใดก็ด้วยเพราะเป็นของมีมาก่อนอีกที่หนึ่ง (อย่างนครวัด) กระนั้นหรือ? ทำไมต้องเป็นความดีเด่นที่เกิดจากการเปรียบเทียบแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่างนั้น? 

ในดินแดนประเทศไทย โบราณสถานมากมาย ตั้งแต่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว เมืองเพนียต จ.จันทบุรี ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา และปราสาทอีกหลายแห่ง (นับไม่หวาดไม่ไหว) ในแถบอีสานใต้ ก็มีอายุย้อนไปไกลกว่าปลายพุทธศตวรรษที่ 17 (ช่วงที่มีการสร้างปราสาทนครวัด) ทำไมถึงไม่นึกถึง หรือโปรโมตกันก่อนหน้านี้

ศรีเทพเป็นแหล่งโบราณสถานแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่พบร่องรอยวัฒนธรรมแบบทวารวดี แต่ทวารวดีควรจะถูกนำเสนอเป็นความภาคภูมิใจในแง่ความเก่าแก่กว่าเพื่อนบ้านอย่างนั้นหรือ? เพราะที่จริงกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมแบบทวารวดีก็ไม่ใช่คนไทยอีก   

ในกัมพูชาเอง ก็มีร่องรอยวัฒนธรรมเก่าแก่ก่อนหน้าหรือคู่เคียงมากับยุคทวารวดี ถึงแม้ว่าทวารวดีจะพบมากในดินแดนประเทศไทย ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยหรือประเทศไทยจะเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนี้ เพราะที่จริงเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอินเดียในราชวงศ์คุปตะ ความเป็นไทยกับความเป็นขะแมร์ที่ล้วนแต่เป็นอัตลักษณ์ทางชาตินิยมที่เพิ่งสร้าง เพิ่งมี เพิ่งเกิดในภายหลัง ต่างกำลังพบปัญหา เพราะเอาไปอ้างเป็นเจ้าของอดีต 

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนว่า คนไทยกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่ศรีเทพกำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจากยูเนสโก เพราะความเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้นหลักเกณฑ์ข้อสำคัญที่สุดมีอยู่ว่าจะต้องเป็นสถานที่อันมีความหมายสื่อไปในทางสากล สะท้อนประโยชน์ในระดับมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่ของชาติใดชาติหนึ่ง

ร่องรอยอารยธรรมเขมรในศรีเทพ

กลุ่มชนในวัฒนธรรมทวารวดีนั้น มีผู้เสนอกันมานานแล้วว่า มี ‘มอญโบราณ’ เป็นชนชั้นปกครองและเป็นประชากรหลัก มีไพร่เป็นกลุ่มเขมร และออสโตร-เอเชียติก รวมทั้งมีชาวต่างชาติเข้ามา อาทิ แขกอินเดีย, ชาวทมิฬ และสิงหลจากศรีลังกา, ชาวเปอร์เชีย และอาจมีชาวจีน รวมอยู่ด้วย ในขณะที่ในสังคมเขมร เป็นตรงกันข้าม คือเขมรและชาวอินเดีย ส่วนมอญและกลุ่มอื่น ๆ ก็เป็นไพร่ เป็นทาสเชลย เพราะเขมรเป็นสังคมมีทาส

พัฒนาการของแต่ละอาณาบริเวณย่านนี้เป็นแบบนี้ คือช่วงหนึ่งมีชนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ปกครอง แต่อีกช่วงก็อาจผลัดเปลี่ยนไปเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วแต่ว่า ช่วงไหนใครจะเหมาะสมหรือมีอำนาจกว่าคนอื่น ๆ ช่วงหนึ่งเชื่อถือวัฒนธรรมหนึ่ง แต่สักพักก็หันไปนับถือแบบอื่น ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เรารู้ว่า แรกเริ่มเดิมทีนับถือผีบรรพชน ต่อมา มีศาสนาจากอินเดียแพร่เข้ามา มีทั้งพราหมณ์และพุทธ พราหมณ์ก็มีนิกายสาขาย่อยออกไปอีก เป็นไศวนิกาย (นับถือพระศิวะ) บ้าง ไวษณพนิกาย (นับถือพระวิษณุ) บ้าง ที่เมืองศรีเทพยังพบมีเสาระนิกาย (นับถือพระอาทิตย์) ส่วนพุทธก็มีทั้งหินยานและมหายาน

แต่ละยุคสมัยไม่เคยมีลัทธิความเชื่อเพียงหนึ่งเดียว ล้วนแต่คละปะปน แม้จะมีศาสนาจากอินเดียแล้ว  ความเชื่อเรื่องผีก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่สืบมา และในช่วงที่นับถือพุทธอยู่ก็มีความเชื่อเรื่องเทพแบบฮินดูแทรกปะปนเข้ามา เป็นเรื่องปกติ เมื่อวัฒนธรรมความเชื่ออย่างหนึ่งเสื่อมลง ก็เปิดทางให้แก่อีกวัฒนธรรมหนึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่ 

ในเมืองโบราณศรีเทพ นอกจากวัฒนธรรมทวารวดี ก็ยังพบร่องรอยวัฒนธรรมเขมร เช่น ปราสาทปรางค์ศรีเทพ, ปราสาทปรางค์สองพี่น้อง, ปราสาทปรางค์ฤาษี, ทับหลังไศวนิกาย (รูปพระศิวะที่ปราสาทปรางค์สองพี่น้อง), บาราย, เทวรูป (พระอาทิตย์, พระศิวะ, พระกฤษณะ), ข้อความตามจารึก เป็นต้น     

การแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมเขมร น่าจะเกิดภายหลังจากที่พระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ยกทัพมายึดเมืองลพบุรีได้สำเร็จ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นส่งผลทำให้เมืองศรีเทพที่อยู่ถัดขึ้นไปตามลำน้ำป่าสักได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งปลูกสร้างและประดิษฐกรรมต่าง ๆ เนื่องในวัฒนธรรมเขมรที่พบในเมืองศรีเทพอาจเป็นได้ทั้งการเข้ามาพร้อมกับอำนาจภายนอก และ/หรืออาจเป็นการปรับตัวเข้าหากลุ่มอำนาจใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในลุ่มแม่น้ำป่าสัก   

เขาคลังนอก

การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของเขมรในศรีเทพ

อิทธิพลทางวัฒนธรรมของเขมรในเมืองศรีเทพ แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงกว้าง ๆ คือ (1) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 (2) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 และ (3) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18  

ช่วงที่หนึ่ง (พุทธศตวรรษที่ 12-14) เป็นช่วงที่อิทธิพลวัฒนธรรมแบบทวารวดียังคงเข้มข้นอยู่ในภาคกลางของสยามประเทศไทย ศรีเทพเองก็เช่นกัน ปรากฏร่องรอยอย่างเช่น คูเมืองแบบทวารวดี, โบราณสถานเขาคลังนอก, เขาคลังใน, ธรรมจักร, พระพุทธรูป, ประติมากรรมภาพสลักหินที่เขาถมอรัตน์ เป็นต้น

แต่อย่างที่บอกว่า ช่วงที่ชนชั้นนำนับถือพุทธแบบทวารวดีก็มีความเชื่อแบบพราหมณ์ปะปนอยู่ภายในสังคมศรีเทพด้วย และที่สำคัญ ชาวทวารวดีรับรู้ถึงการแผ่อำนาจของพระเจ้าภววรมันที่ 1 ของเจนละ ดังปรากฏความตาม จารึกบ้านวังไผ่ (จารึกศรีเทพหลักที่ 2)  อักษรปัลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ระบุว่า:  

“ในปีรัชสมัยแห่งศักราช... (ลบเลือน) อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน ผู้เป็นใหญ่เสมอพระเจ้าภววรมัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเป็นผู้มีคุณธรรมแผ่ไปในทุกทิศ ผู้มีปัญญาอันอบรมมาดีแล้ว ผู้มีความยินดี... ผู้มีเกียรติยศแผ่ไปในทุกทิศ ผู้มีอำนาจอันเป็นที่เกรงกลัวของศัตรูเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย ได้สร้างศิลาจารึกไว้ ในโอกาสที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์”

ถ้ำเขาถมอรัตน์

ช่วงที่สอง (พุทธศตวรรษที่ 15-17) เป็นช่วงที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาในเมืองศรีเทพโดยตรง และวัฒนธรรมเขมรได้เริ่มเข้ามาสลับขั้วขึ้นมามีบทบาทนำในสังคม ต่างจากช่วงก่อนหน้าที่ยังเป็นวัฒนธรรมกระแสรองและวัฒนธรรมต่างถิ่นอยู่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่วัฒนธรรมเขมรเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสักมาก ปรากฏร่องรอย เช่น ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์ฤาษี

ปรางค์ศรีเทพ

ปรางค์ศรีเทพ เป็นปราสาทแบบเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองศรีเทพ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17  ตั้งอยู่ภายในคูเมืองชั้นใน (เมืองใน) มีฐานศิลาแลงแบบบัวลูกฟัก 2 ชั้น มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน องค์ปรางค์สูงประมาณ 13 เมตร วัสดุที่ใช้ก่อองค์ปรางค์เป็นอิฐ ก่ออิฐแบบไม่สอปูน

ด้านหน้ามีซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง ทางขึ้นทำเป็นรูปกากบาทแบบเดียวกับโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมเขมรที่พบเห็นได้ทั่วไป ด้านหน้าปรางค์มี 2 อาคาร เป็นอาคารบรรณาลัย คาดว่าเดิมใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์หรือบทสวดของพราหมณ์ ตลอดจนไว้เก็บข้าวของเครื่องใช้สำคัญในพิธีกรรม พบร่องรอยการซ่อมแซมและปรับปรุงในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 ช่วงเดียวกับที่วัฒนธรรมแบบบายนเข้ามามีอิทธิพล   

ปรางค์ฤาษี

ปรางค์ฤาษี เป็นปราสาทตั้งอยู่นอกคูเมืองชั้นนอกไปราว 3 กม. แต่อยู่ในแกนทิศตรงกับเขาคลังนอกและเขาถมอรัตน์ตามลำดับ เป็นปรางค์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบริเวณย่านเมืองศรีเทพ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เป็นปราสาทที่ยังหลงเหลือแนวกำแพงซึ่งก่อด้วยศิลาแลง รวมทั้งฐานล่างของปรางค์ปราสาทก็ก่อด้วยศิลาแลง มี 2 กำแพงและ 2 ปรางค์คู่กัน ปรางค์ทางทิศใต้พังทลายเหลือแต่ส่วนล่างกับกรอบประตู ปรางค์ทางทิศเหนือยังสมบูรณ์ เหลือจนถึงชั้นยอด แต่ล่าสุด (พ.ศ. 2566) ที่ผู้เขียนไปพบมา เริ่มจะเอียงไปทางทิศตะวันตกจนเกือบ 45 องศาแล้ว กรมศิลปากรได้นำเหล็กมาค้ำยันไว้

ส่วนตัวองค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ไม่เหลือทับหลัง มีลักษณะที่ค่อนข้างแสดงความสัมพันธ์กับปราสาทยุคก่อนเมืองพระนครที่พบเห็นได้ในแถบอีสานใต้ และที่ใกล้กันอย่างปรางค์นางผมหอม อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ก็มีลักษณะเดียวกัน  

นอกจากนี้ ที่ตั้งของปรางค์นี้ยังอยู่ในเส้นทางที่จะออกจากเมืองศรีเทพไปยังเขาพังเหย ข้ามเขานี้ไปจะเป็นทางไปถึงเมืองพิมายในเขตลุ่มแม่น้ำมูน (ภายหลังเพี้ยนเป็น ‘มูล’) ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า เส้นทางที่วัฒนธรรมแบบเขมรแพร่เข้ามายังเมืองศรีเทพ นอกจากแพร่มาจากตอนใต้จากเมืองลพบุรีแล้ว ยังอาจแพร่มาจากลุ่มแม่น้ำมูน โดยเฉพาะในช่วงที่ราชวงศ์มหินธรปุระยังรุ่งเรืองอยู่ในอีสานใต้  

ชื่อ ‘ปรางค์ฤาษี’ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก ด้วยเชื่อว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของพระฤาษีในตำนานเมืองศรีเทพ คือฤาษีตาวัวกับฤาษีตาไฟ ใกล้กับปรางค์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็จึงเป็นที่ตั้งของศาลฤาษีตาวัวกับฤาษีตาไฟที่ว่านี้ ฤาษีทั้งสองนี้ได้ถูกนำมาผูกเรื่องอธิบายความล่มสลายของเมืองศรีเทพตามมุมมองของชาวบ้านด้วย 

ช่วงที่สาม (พุทธศตวรรษที่ 18) เป็นช่วงที่อาณาจักรกัมพูชาได้เปลี่ยนคติความเชื่อหลักในสังคมจากพราหมณ์ไวษณพนิกายที่อยู่เบื้องหลังการสร้างปราสาทนครวัด หันมานับถือพุทธศาสนาแบบมหายานหรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า ‘บายน’ (Bayon) โดยมีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้นำ 

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น ตามจารึกปราสาทพระขรรค์ได้ขยายอำนาจมายังภาคกลางของสยาม เรื่องที่สะท้อนเรื่องนี้คือการส่ง ‘พระชัยพุทธมหานาถ’ มายัง 6 เมืองสำคัญ อันได้แก่ ลโวทยปุระ (ลวปุระหรือลพบุรี), สุวรรณปุระ (สุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี), ศัมพูกปัฏฏนะ (คาดว่าคือบริเวณสระโกสินารายน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี), ศรีชัยราชปุระ (ราชบุรีที่บริเวณวัดมหาธาตุ), ศรีชัยสิงหปุระ (คาดว่าเป็นที่ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี), ศรีชัยวัชระปุระ (พริบพรีหรือเพชรบุรีที่บริเวณวัดกำแพงแลง) เป็นต้น  

ช่วงเวลานั้นยังเป็นช่วงเดียวกับที่มีการสร้าง ‘ราชมรรคา’ (Royal road) คือถนนหลวงเชื่อมต่อกันระหว่างเมืองพระนครกับวิมายปุระ (พิมาย) การเดินทางมาที่พิมายได้สะดวก ย่อมหมายถึงการเข้าถึงศรีเทพได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะอยู่ไม่ไกลกัน เพียงข้ามช่องเขาพังเหยมาไม่ไกลก็ถึง    

นอกจากนี้ ตามจารึกปราสาทพิมานอากาศ ยังพบว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ส่งพระราชโอรสนามว่า ‘นฤปตินทรวรมัน’ มาปกครองเมืองลวปุระ ช่วงนั้น ลวปุระหรือลพบุรีจึงมีฐานะเป็นเมืองยุพราชของอาณาจักรกัมพูชา

จากที่ลพบุรีนี้เอง เขมรได้แผ่ขยายอิทธิพลขึ้นเหนือไปยังสุโขทัย คาดว่า ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ ที่พ่อขุนบางกางหาวกับพ่อขุนผาเมืองยกทัพไปขับไล่นั้นมีสายสัมพันธ์กับนฤปตินทรวรมันที่ครองอยู่ลพบุรี รวมถึงอาจเกี่ยวข้องกับการสร้างศาสนสถานแบบอโรคยาศาลหลายแห่งในภาคกลางของสยาม รวมทั้งปรางค์สองพี่น้องในเมืองศรีเทพด้วย

ปรางค์สองพี่น้อง

ปรางค์สองพี่น้อง เป็นชื่อชาวบ้านเรียก เดิมไม่รู้ว่าชื่ออะไร ด้วยไม่มีหลักฐานระบุไว้ ประกอบด้วยฐานอาคารจำนวนหนึ่งมีส่วนที่เป็นปรางค์อยู่ 2 องค์ขนาบข้างกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ปรางค์พี่’ กับ ‘ปรางค์น้อง’ หรือ ‘ปรางค์ใหญ่’ กับ ‘ปรางค์เล็ก’ การมีปรางค์ 2 องค์ขนาบข้างกันเช่นนี้เคยพบที่ปราสาทเขาน้อยสีชมพู จ.สระแก้ว เดิมมีปรางค์ 2 องค์ก่อคู่กัน ภายหลังก่ออีกองค์ขึ้นเป็น 3 ปรางค์ ส่วนปรางค์สองพี่น้องของเมืองศรีเทพนี้คาดว่า เป็นผลมาจากการปรับแผนผังจากเดิมที่มีปรางค์เดียวและมีทางขึ้นทางทิศใต้ ก็ปรับเป็น 2 ปรางค์ และเปลี่ยนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศตรงกับแม่น้ำเหียงและเขาถมอรัตน์

กลุ่มอาคารบริเวณปรางค์สองพี่น้องคงมีการปรับเปลี่ยน 3 ช่วงด้วยกัน เพราะก่อนหน้าจะเป็นผังแบบอโรคยาศาล มีผังเก่าซ้อนอยู่ ช่วงแรกอยู่ตรงอาคารรูปกากบาทบริเวณกึ่งกลางหน้าปรางค์ สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์นิกายเสาระ เพราะพบรูปสุริยเทพ อายุราว พ.ศ.12-13

อาคารส่วนนี้และรูปสุริยเทพถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีเทพ เพราะยังไม่พบในแหล่งโบราณคดีรุ่นทวารวดีที่อื่น

ช่วงที่สอง มีการขยายอาคารร่นจากรูปกากบาทไปทางทิศตะวันออก บริเวณนี้ที่จริงมีอายุร่วมกับปรางค์ศรีเทพที่อยู่ใกล้ชิดติดกับเขาคลังใน เป็นอาคารเนื่องในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย ตามที่พบทับหลังรูปพระศิวะ แต่ภายหลังถูกดัดแปลงในช่วงที่สามให้เป็นอาคารใช้งานในวัฒนธรรมแบบบายน 

จากทับหลังที่ปรางค์เล็ก สะท้อนคติไศวนิกาย มีรูปพระศิวะประคองกอด (โอบเอว) พระแม่อุมาเทวี อยู่ยนหลังโคนนทิ ดูเป็นเรื่องประหลาด เพราะกลายเป็นว่า ทับหลังนี้มีอายุแก่ไปกว่าปรางค์ทั้งสอง ปรางค์ทั้งสองเป็นของสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ทับหลังเป็นของมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 แล้ว คาดว่าเป็นการนำเอาวัสดุทับหลังเก่ามาประดิษฐานบนปรางค์ที่สร้างใหม่ในพุทธศตวรรษที่ 18 ลักษณะเช่นนี้ (ทับหลังมีอายุแก่กว่าปรางค์) ก็มีตัวอย่างเช่น ปราสาทสระกำแพงน้อย จ.ศรีสะเกษ ที่มีทับหลังรูปพระพิรุณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 แต่ตัวอโรคยาศาลเป็นปราสาทรุ่นพุทธศตวรรษที่ 18 แสดงว่ากลุ่มวัฒนธรรมบายนเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ที่เคยเป็นของพราหมณ์มาก่อน หรือเป็นทายาทรุ่นหลังที่หันไปนับถืออย่างอื่น ไม่ถือพราหมณ์เหมือนอย่างบรรพชน  

ปรางค์สองพี่น้องโดยโครงสร้างแผนผังแล้วมีลักษณะตรงตามปราสาทที่เรียกกันว่า ‘อโรคยาศาล’ ที่นิยมสร้างในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดังนั้น จึงคาดได้ว่า รูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ปรางค์องค์ใหญ่นี้น่าจะเป็นรูปพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือพระสุริยไวโรจนะ พระโพธิสัตว์ด้านการแพทย์ สำหรับเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาล ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปรางค์ปราสาทแห่งนี้ อาจเป็นที่ศาลาหรืออาคารโถงที่อยู่ด้านข้างหรือด้านหน้าปราสาท   

บริเวณอโรคยาศาลนั้น หลายที่จะพบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่กล่าวถึงเหตุผลของการสร้างอโรคยาศาลเพื่อบำบัดปัดเป่าโรคภัยให้แก่ราษฎรว่า “โรคทางกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางจิตที่เจ็บปวดยิ่ง (ของพระองค์) เพราะความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง”

อย่างไรก็ตาม ที่ศรีเทพไม่พบจารึกดังกล่าวนี้ด้วยแต่อย่างใด ถึงกระนั้น โครงสร้างแผนผังของปรางค์สองพี่น้องก็สะท้อนคติแบบเดียวกับที่เป็นเบื้องหลังการสร้างอโรคยาศาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างไม่เป็นที่กังขา 

อำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในดินแดนสยามประเทศไทยยังคงเป็นที่ถกเถียงว่ามีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร สิ่งปลูกสร้างแบบบายนที่พบในดินแดนประเทศไทยรวมทั้งที่ศรีเทพนี้จะอธิบายอย่างไร แน่นอนว่ารัฐชาติตามแนวเส้นพรมแดนปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งมีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือภายหลังจากที่ชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานี้เอง 

ประเด็นที่พอจะอนุมานได้อย่างกลาง ๆ ซึ่งทุกฝ่ายรับได้ขณะนี้จึงเป็นมุมมองในลักษณะที่ว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ในอุษาคเนย์มีไม่เท่ากัน บางรัชสมัยมีอำนาจมาก ก็แผ่อิทธิพลไปไกล บางรัชสมัยมีอำนาจน้อย แผ่อิทธิพลไปไม่ได้ไกล เขตแดนก็น้อยตาม ดังนั้น ตามอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็เป็นอำนาจบารมีเฉพาะพระองค์ไปด้วย ไม่ได้มีทายาทสืบทอดอำนาจต่อมา

หลังสิ้นพุทธศตวรรษที่ 18 เขมรบายนเสื่อมอำนาจลง เมืองพระนครหันมาปกครองโดยกษัตริย์ที่นับถือพราหมณ์อีก และอำนาจของกัมพูชาที่เคยมีในแถบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ในสยามประเทศก็เสื่อมตาม ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่บ้านเมืองในแถบสยามประเทศต่างประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อเขมร เป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 19  และในช่วงเวลานี้เอง ศรีเทพกลายเป็น ‘เมืองขอม’ ไปด้วย ผู้คนอพยพย้ายถิ่นไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่รอบนอก อาทิ ไปที่ท่าโรง (วิเชียรบุรี), บัวชุม, ชัยบาดาล ก่อนที่ต่อมาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยาในเวลาต่อมา 

ทับหลังรูปพระศิวะประคองกอดพระแม่อุมาเทวี บนหลังโคนนทิ

‘ศรีเทพ’ อยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ไทย-สากล?

การแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมเขมรแบบบายนอาจสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ก่อนหน้านั้น การแพร่หลายของวัฒนธรรมเขมรยังมีประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรเขมรพระนคร เพราะในพุทธศตวรรษที่ 15 ปรากฏว่า พบจารึกที่ระบุถึงบางอาณาจักรว่า ‘นอกกัมพุชเทศ’ หมายถึงประเทศที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อการปกครองของกัมพูชา จารึกดังกล่าวนี้ระบุนามแว่นแคว้นประเทศของตนเองว่า ‘ศรีจานาศะ’ หรือ ‘จนาศะปุระ’

‘ศรีจนาศะ’ อยู่ที่ใด ยังคงเป็นปริศนาและมีข้อถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะเชื่อว่า ศรีจนาศะอยู่ที่บริเวณเมืองเสมา หรือโฆราฆะปุระ ในอ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ธิดา สาระยา ได้โต้แย้งไว้อย่างน่าสนใจว่า ดินแดนที่ถือเป็น ‘นอกกัมพุชเทศ’ ไม่น่าจะมีขอบเขตอยู่แค่ในตอนใต้ของเขตที่ราบสูงโคราชเท่านั้น น่าจะรวมถึงลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนบนซึ่งมีเมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางด้วย   

พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นอีกท่านที่เสนอว่า ศรีเทพมีลักษณะหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า เดิมอาจจะเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งในช่วงเวลาและขอบเขตพื้นที่ที่ตรงกับ ‘ทวารวดี’ ดังนั้น พิริยะ จึงปรับเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับทวารวดีขึ้นใหม่ โดยหันมามองว่าทวารวดีเป็น ‘อาณาจักร’ ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีศูนย์กลางหรือเมืองหลวงอยู่ที่ศรีเทพ ไม่ใช่บ้านเล็กเมืองน้อยที่กระจัดกระจายและรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ และเมืองหลวงของทวารวดีไม่ได้อยู่ที่นครปฐมหรืออู่ทอง ดังที่เคยเชื่อกันมา 

จากสภาพของเมืองโบราณศรีเทพ สถานที่สำคัญอย่างเขาคลังนอก เขาคลังใน ก็ทำให้เห็นเค้าว่า อาจจะมีพัฒนาการความสืบเนื่องบางประการมายังคติภูเขาทองในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ (เช่นที่วัดสระเกศ) รูปสลักอย่างที่พบที่เขาถมอรัตน์ ก็มีพบทั้งในวัฒนธรรมแบบทวารวดี แบบเขมร และแบบอยุธยา แบบทวารวดีนอกจากที่เขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพนี้แล้ว ยังพบที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี, ถ้ำฤาษีที่เขางู จ.ราชบุรี แบบเขมรพบที่ผามออีแดง เขาพระวิหาร, เขายักษ์ จ.สระแก้ว, พนมกุเลน ที่กัมพูชา แบบอยุธยาพบที่ถ้ำจีนถ้ำจาม เขางู จ.ราชบุรี เป็นรูปสลักพระพุทธรูปรุ่นอยุธยาตอนต้น (แบบอู่ทองหรืออโยธยา) สะท้อนว่าคติการสร้างรูปเคารพโดยการสลักผนังถ้ำนี้ยังมีทำสืบอยู่ต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนมุมมามองเช่นนี้ ความน่าสนใจก็เกิดขึ้นมา เมื่อนำเอาเมืองศรีเทพเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย อาจจะต้องปรับเปลี่ยนจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่เขยิบไปจากสุโขทัย เพราะสุโขทัยไม่ได้เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยอีกต่อไป ยังมีบ้านเมืองและอาณาจักรอื่นเคยตั้งอยู่ในดินแดนสยามประเทศมาก่อนหน้าสุโขทัยตั้งหลายร้อยปี แต่ประวัติศาสตร์ไทยตลอดช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร จึงลำดับพัฒนาการประวัติศาสตร์ของไทยผิดเพี้ยนไป    

แทนที่เมืองศรีเทพจะได้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยไปนานแล้วก่อนหน้าหรือปีเดียวกับที่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย อยุธยา และบ้านเชียง ได้เป็นไปตั้งแต่พ.ศ.2534 แต่เพราะไม่มีมุมมองต่อประวัติศาสตร์ของศรีเทพรวมถึงแหล่งรุ่นเดียวกันนี้ ศรีเทพก็ถูกละเลยเรื่อยมาจนกระทั่งเพิ่งจะมาเสนอให้ยูเนสโกรับรองเมื่อปีนี้เอง (พ.ศ.2566)

และไม่ใช่เพียงแค่ศรีเทพ ยังมีเมืองโบราณอื่น ๆ อีกที่ยังรอการยื่นให้ยูเนสโกพิจารณาต่อไป อาทิ เมืองอู่ทอง, ปราสาทเมืองสิงห์, พนมรุ้งและเมืองต่ำ, ศรีขรภูมิ, สระกำแพงใหญ่, พะเยา, เชียงแสน, เพนียต, สงขลา, นครศรีธรรมราช ฯลฯ 

เขาถมอรัตน์ มุมจากเขาคลังนอก

มรดกโลกคือ ‘มรดกร่วมทางวัฒนธรรม’ ที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นสากล

ความสำคัญที่ควรพูดถึง แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดหรือเฉไฉไปทะเลากับเพื่อนบ้านแทนก็คือ แท้ที่จริงแล้ว ศรีเทพเป็นถิ่นที่มีร่องรอยอารยธรรมก่อนสมัยสุโขทัยและอยุธยา เป็นยุคสมัยบ้านเมืองที่มี 2 วัฒนธรรมใหญ่คือทวารวดีกับเขมรพระนคร แต่นอกเหนือไปกว่านั้นก็มีทั้งช่วงที่เป็นอิสระ (นอกกัมพุชเทศ) ช่วงที่ขึ้นต่อหรืออยู่ภายใต้อำนาจของศูนย์กลางอื่นอย่างในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจะพบเห็นได้จากแหล่งโบราณย่านศรีเทพก็คือสภาพความหลากหลาย มีทั้งสิ่งอันเนื่องในคติผีบรรพชน (‘บรรพบุรุษ’ ไม่ได้ เพราะมีสตรีด้วย อย่างสตรีผู้มีฐานะมั่งคั่งซึ่งถูกเปิดหลุมอยู่ข้างเด็กและช้างนั้นเป็นต้น) พุทธศาสนาแบบหินยานหรือเถรวาทในยุคทวารวดี (พศว.11-16 หรือ 12-15 ในกรณีเมืองศรีเทพ) พุทธศาสนาแบบมหายานหรือบายนแบบในพุทธศตวรรษที่ 18 พราหมณ์นิกายเสาระที่นับถือพระอาทิตย์ พราหมณ์ไศวนิกาย และไวษณพนิกาย เป็นต้น

จารึกที่พบในเมืองศรีเทพและย่านที่สัมพันธ์กันอย่างวิเชียรบุรี ต่างมีลักษณะมุ่งนำเสนอหลักธรรมอันเป็นสากล อาทิ จารึกเยธรรมา เมืองศรีเทพ อักษรปัลวะ อายุราว พศว.12 ระบุว่า “พระมหาสมณเจ้า (หมายถึงพระพุทธเจ้าหรืออาจหมายถึงพระภิกษุผู้ใหญ่ในเมืองศรีเทพ) ทรงมีพระวาทะอย่างนี้ คือ ตรัสธรรมที่มีเหตุเป็นแดนเกิด อนึ่งตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น และตรัสอุบายเป็นเหตุดับ (ของธรรมเหล่านั้น)”

หรืออย่างกรณีจารึกศรีเทพหลักที่ 1 อักษรปัลวะ อายุราวพศว.12 ที่ระบุว่า “ทรัพย์และธรรมเหล่าใดอันท่านกล่าวแล้ว ธิดาของฤาษีนั้นไม่กระทำ... เขาเป็นผู้รู้ความรุ่งเรืองทั้งสิ้น อันใดของผู้มี... อันตนปกครองไว้แล้ว... อันผู้เป็นใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีประโยชน์ กระทำอยู่ บุญ (ความดี) ผู้เป็นใหญ่ในปาลวะทั้งสอง เป็นผู้ประกอบด้วยความสัตย์และความกรุณา”

แม้ว่าศรีเทพจะเป็นยุคที่มีกษัตริย์ แต่จะเห็นได้ว่ากษัตริย์ก็ไม่ได้มีอำนาจสูงสุด กษัตริย์อยู่ภายใต้หลักศาสนาและต้องอำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้ประพฤติธรรมทั้งมวล (ดังจะเห็นได้จากที่จารึกข้างต้นมีกล่าวถึง “ผู้เป็นใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีประโยชน์ กระทำอยู่ บุญ (ความดี) ผู้เป็นใหญ่ในปาลวะทั้งสอง เป็นผู้ประกอบด้วยความสัตย์และความกรุณา” เป็นต้น)  

เรามักนึกถึงศรีเทพแต่ในด้านที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมทวารวดี เวลานำเอาภาพเสนอก็มักเอารูปเขาคลังนอก ซึ่งเป็นแหล่งทวารวดี ไม่ได้นำเสนอสถานที่อย่างปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ที่อยู่ภายในคูเมืองชั้นใน หรืออย่างปรางค์ฤาษีที่อยู่นอกเมืองในตำแหน่งแกนทิศเดียวกับเขาคลังนอก แต่ที่จริง วัฒนธรรมเขมรก็มีอิทธิพลมาก  

การเป็นแหล่งวัฒนธรรมร่วมคือมีทั้งทวารวดีและเขมรต่างหาก เป็นสิ่งที่ยืนยันคุณค่าของกลุ่มโบราณสถานในเมืองศรีเทพได้เป็นอย่างดี เพราะสะท้อนการอยู่ร่วมกันได้ของกลุ่มคนที่มีความเชื่อที่แตกต่างกัน สิ่งนี้ต่างหากที่ควรได้รับการโปรโมต การเอาศรีเทพไปข่มเพื่อนบ้านต่างหากที่กำลังจะเป็นชนวนเหตุให้ศรีเทพด้อยคุณค่าลงโดยหารู้เท่าไม่ถึงการ   

อย่างไรก็ตาม เขมรที่ว่านี้ก็เป็นคนละเขมรกับที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เพราะเช่นเดียวกับประเทศไทย รัฐชาติกัมพูชาในรุ่นปัจจุบันก็เป็นผลิตผลเกิดจากการสร้างรัฐชาติเมื่อไม่นานมานี้ เพียงแต่ทั้งรัฐชาติไทยและรัฐชาติกัมพูชาต่างอ้างเป็นเจ้าของหรือนำเอาโบราณสถานและศิลปวัตถุที่หลงเหลือจากอดีตหรือบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่มาเป็นหลักฐานถึงความต่อเนื่องกับความยิ่งใหญ่ในอดีต 

สถานที่อย่างเมืองศรีเทพอาจสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยได้หลายอย่าง แต่ไม่ใช่ในนามของความคลั่งชาติ เกทับหรือข่มเพื่อนบ้าน เราควรใช้ของแบบนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ดังที่เคยมีตัวอย่างในอดีต ที่ไม่ว่ามอญหรือเขมร จีนหรือแขก หรือลาว ฯลฯ ต่างก็เคยอยู่ร่วมกันมาแล้ว ไม่ควรใช้ไปในทางยั่วยุให้เกิดการทะเลาะขัดแย้งกัน จึงจะเกิดการจรรโลงสร้างสรรค์คุณค่าที่แท้จริงของศรีเทพในฐานะ ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ สืบไป      

อ่านต่อตอน 2 ปริศนาเมืองศรีเทพ อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เป็นเมืองเก่าร้างไปเมื่อไหร่ อย่างไร? 

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: ภาพถ่ายปรางค์ศรีเทพ ไฟล์จาก กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง:

จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. แปลและรวบรวมโดย ชะเอม แก้วคล้าย, กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ, 2528.

ธิดา สาระยา. ‘ศรีเทพคือศรีจนาศะ’ ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.  

พิริยะ ไกรฤกษ์. ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, 2564.

วิชัย ตันกิติกร และคณะ. ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ: ผลการขุดค้นในปีพ.ศ.2531 ถึง พ.ศ.2534. เพชรบูรณ์: อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, 2534.

ศิวพงศ์ สีเสียดงาม. ‘ศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์’ วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

อนุรักษ์ ดีพิมาย. ‘พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองศรีเทพในฐานะเมืองตอนใน ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19’ วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2563.

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. จารึกที่เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์เพลส, 2534.

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2538.

เอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ. กรุงเทพฯ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมศิลปากร, 2564.