13 ต.ค. 2566 | 08:36 น.
- สงครามครูเสดครั้งที่ 3 มีสองบุคคลสำคัญในช่วงเวลานั้น คือ ซาลาดิน (Saladin) ผู้นำกองกำลังฝั่งมุสลิม และ ริชาร์ด ใจสิงห์ (Richard Lion Heart) กษัตริย์จากอังกฤษ ผู้นำกองกำลังชาวครูเสดฝั่งศาสนาคริสต์
- ริชาร์ดเลือกโจมตีโดยที่ชาวมุสลิมไม่ทันตั้งตัว จึงมีการโจมตีตอบโต้กันไปมา จนสุดท้ายทั้งสองฝ่ายตัดสินใจลงนาม หลังจากรบกันไปมา สนธิสัญญาจาฟฟา สงบศึกชั่วคราว ถอยคนละก้าว
- สนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดเวลานั้นเพื่อปกป้องบ้านเมือง
สงครามในประวัติศาสตร์ หลายครั้งลงเอยด้วยผลแพ้ - ชนะกันอย่างชัดเจน แต่มีหลายครั้งที่จบลงด้วยการเจรจาและลงนามพักรบ
การพักรบที่เกิดขึ้นและเป็นที่จดจำกันมากครั้งหนึ่งคือ การลงนามสนธิสัญญาจาฟฟา (Treaty of Jaffa) ยุติสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ในปี 1192 คู่ปรับครั้งนั้นคือซาลาดิน (Saladin) ผู้นำกองกำลังฝั่งมุสลิม และ ริชาร์ด ใจสิงห์ (Richard Lion Heart) กษัตริย์จากอังกฤษ ผู้นำกองกำลังชาวครูเสดฝั่งศาสนาคริสต์
สงครามครูเสดเริ่มต้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 กินเวลาระหว่างปี 1095 - 1291 ที่ฝั่งอิสลามและคริสต์ศาสนาต่างรบเพื่อแย่งชิงเมือง ‘เยรูซาเลม’ เมืองสำคัญของทั้งสองศาสนาที่มีผู้คน 3 กลุ่ม ได้แก่ ชาวยิว ชาวคริสเตียน และมุสลิม
ชนวนสำคัญของสงครามอันยาวนานนี้มาจากการที่พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 (Urban II) เรียกระดมพลในการประชุมที่เมืองเคลมองต์ (Clemont) ที่มีทั้งพระคาร์ดินัล อาร์ชบิชอป บิชอป นักบวชคาทอลิก อัศวินจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และชาวบ้านเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เพื่อช่วยเหลือจักรพรรดิอเล็กซิอุส (Alexius) แห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ และกอบกู้ ‘เยรูซาเลม’ จากการปกครองของพวกมุสลิมที่เวลานั้นเข้ามารุกราน
สงครามครูเสดครั้งแรกจึงเริ่มขึ้น…
การรบดำเนินมาต่อเนื่อง ครั้งแรกชาวคริสต์ได้รับชัยชนะ แต่ก็สร้างบาดแผลให้ทั้งชาวมุสลิมและชาวคริสต์ไว้ไม่น้อย ส่วนครั้งที่สองชาวมุสลิมชนะ แม้ว่าจะมีความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมด้วยกันเอง
หลังจากนั้น 38 ปี พอได้รับชัยชนะ การรบครั้งที่สามเริ่มต้นขึ้นเมื่อฝั่งคริสเตียนหวังทวงคืนพื้นที่กรุงเยรูซาเลมอีกครั้ง โดยมีซาลาดิน (Saladin) เป็นผู้นำกองกำลังฝั่งมุสลิม และ ริชาร์ด ใจสิงห์ (Richard Lion Heart) กษัตริย์จากอังกฤษ เป็นผู้นำกองกำลังชาวครูเสดของศาสนาคริสต์
ตอนนั้นกษัตริย์ริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (ริชาร์ด ใจสิงห์) นำกองกำลังออกตีเมือง และได้รับชัยชนะเล็กน้อย แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายหลักที่ต้องการพิชิตเยรูซาเลม ขณะที่พระเจ้าริชาร์ดยังวางกำลังอยู่ที่เอเคอร์ พระองค์คิดว่าจะเดินทางกลับอังกฤษ
ขณะที่ซาลาดินนำกองกำลังตีจาฟฟา พระเจ้าริชาร์ดรู้ข่าวเลยเตรียมกำลังพลมุ่งหน้าสู่จาฟฟาแทนที่จะกลับจากอังกฤษเพื่อรบขับไล่ชาวมุสลิมออกจากพื้นที่ พระเจ้าริชาร์ดเคลื่อนทัพทางเรือมาแบบที่กองกำลังฝั่งมุสลิมไม่ทันตั้งตัว
ตอนนั้นฝั่งริชาร์ดมีกำลังพลเพียง 2,000 คน รวมทั้งอัศวินเพียง 80 คน โดยมีม้าและล่อไม่กี่ตัว แต่สุดท้ายเขาก็สามารถรวมกำลังพลเพื่อสู้กับชาวมุสลิม 7,000 คน โดยการสร้างกองพลเล็ก ๆ ด้วยทหารราบและวางแนวยิงหน้าไม้อยู่ด้านหลังทหารราบ สร้างแนวหน้าอย่างแข็งแกร่งทำให้ชาวมุสลิมโจมตีได้ยาก รู้สึกหมดกำลังใจ แล้วอาศัยจังหวะนั้นโจมตีทันที
ถึงจะเป็นบุคคลสำคัญของศึกครั้งนี้ แต่ซาลาดินที่แอบมองวิธีรบของริชาร์ดอยู่ไกล ๆ ก็ชื่นชมแผนการรบของเขาอยู่ไม่น้อย
เล่ากันว่าเมื่อม้าของริชาร์ดบาดเจ็บ ซาฟาดิน น้องชายของซาลาดินยังมอบม้าตัวใหม่ให้เพื่อชื่นชมในความกล้าหาญกลางสนามรบของริชาร์ด
ริชาร์ดรับม้าของซาฟาดินมาแล้วสู้ต่อ พลทหารมุสลิมที่ตัดสินใจร่วมรบกับริชาร์ดก็เริ่มน้อยลงเพราะคิดว่าริชาร์ดไม่น่าจะชนะสงครามครั้งนี้ได้ แต่ริชาร์ดยังคงต่อสู้ในสงคราม ขณะเดียวกัน ด้วยเทคนิคการรบที่กะทันหันจนฝั่งมุสลิมไม่ทันตั้งตัว ทำให้ซาลาดินสูญเสียกำลังพลจำนวนมาก
มีรายงานว่า หลังสงครามจบลง ซาลาดินสูญเสียพลทหารไป 700 คน ม้า 1,500 ตัว ขณะที่ริชาร์ดสูญเสียทหารไป 200 คน
ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันไปมา เมื่อซาลาดินถอยทัพจากจาฟฟา การเจรจาเริ่มต้นขึ้น ซึ่งนำมาสู่ ‘สนธิสัญญาจาฟฟา’
สนธิสัญญาที่ลงนามในปี 1192 เพื่อประกาศสงบศึกประมาณ 2 - 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า เยรูซาเลมจะอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม ขณะเดียวกันต้องอนุญาตให้นักบวช ผู้แสวงบุญ และพ่อค้าชาวคริสต์เข้าเมืองแอสคาลอน (พื้นที่สงครามในสงครามครูเสดครั้งแรก) ที่เวลานั้นซาลาดินยึดครองไว้ได้
ทั้งยังเป็นสนธิสัญญาที่รับรองความปลอดภัยการเดินทางของชาวคริสต์และมุสลิมด้วย
ภายใต้สัญญาพักรบครั้งนี้ ซาลาดินและริชาร์ด ใจสิงห์ ก็ไม่ได้พอใจกับการลงนามสนธิสัญญาจาฟฟา แต่เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก ฝั่งอิสลามกำลังอ่อนแอลงจากภาวะสงคราม ส่วนริชาร์ดก็จำเป็นต้องกลับอังกฤษเพื่อจัดการปัญหาชิงบัลลังก์ในราชวงศ์
ระหว่างเดินทางกลับอังกฤษ ริชาร์ดถูกฝรั่งเศสจับตัวขังไว้ในปราสาทจนพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 ต้องมาช่วยจ่ายค่าไถ่ เขากลับมาครองบัลลังก์อีกครั้ง และหายตัวไปจากนอร์มังดี แต่มีรายงานว่า เขาใช้ชีวิต 5 ปีสุดท้ายในชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสโดยมีอาการบาดเจ็บ และเสียชีวิตในวัย 41 ปี
ส่วนซาลาดิน เมื่อสงครามจบลงก็กลับมาดูแลการซ่อมแซมบ้านเมืองจากสงคราม กลับมาอยู่กับครอบครัวที่เมืองดามัสกัส และเสียชีวิตในวัย 55 ปี
นี่คืออีกหน้าประวัติศาสตร์ที่นักรบตัดสินใจโดยใช้ทางเลือกถอยกันคนละก้าวเพื่อปกป้องพลเมืองและลดความสูญเสีย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป
เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ภาพ : แฟ้มภาพจาก Getty Images
อ้างอิง :